Skip to main content
sharethis

'ฆนัท' พรรคก้าวไกล ตั้งคำถาม 'รฟท.' ทำไมสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงผ่านเขตโบราณสถานเมืองเก่า 'อโยธยา' แม้หลายหน่วยงานขอให้ทบทวน เจ้าตัวย้ำไม่ขวางความเจริญ แต่การพัฒนา ต้องไม่ทำลายวัฒนธรรม-คุณค่าทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ 

 

สืบเนื่องจากเมื่อ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 รับฟังความเห็นการศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลก (HIA - Heritage Impact Asessment) นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา)

โดยระหว่างการประชุม นักวิชาการอิสระจากกลุ่ม 'Save อโยธยา' ได้ยื่นหนังสือให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาย้ายการก่อสร้างสถานีรถไฟอยุธยา เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างเดิมอยู่ในเขตเมืองเก่า 'อโยธยาศรีรามเทพนคร' ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งด้านตะวันออกของเกาะเมืองเก่ากรุงศรีอยุธยา โดยทางกลุ่มกังวลว่าแรงสั่นสะเทือนจากการก่อสร้าง การวิ่งผ่านของรถไฟ หรือขุดเจาะเสาเข็มและตอม่อขนาดใหญ่ จะส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

27 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ ฆนัท นาคถนอมทรัพย์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และผู้ก่อตั้ง Save อโยธยาวันนี้ (27 เม.ย.) ต่อข้อสังเกตปัญหาข้อพิพาทโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟดังกล่าวมีปัญหาในหลายประเด็น 

ฆนัท นาคถนอมทรัพย์

มาตรา 44 ทำกระบวนการผิดเพี้ยน

ฆนัท ตั้งข้อสังเกตว่า เบื้องต้น โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ซึ่งระยะที่ 1 คือเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เริ่มขึ้นมาโดย คสช.ได้ใช้อำนาจพิเศษจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 ในการดำเนินโครงการความร่วมมือดังกล่าว 

ฆนัท ระบุต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อโครงการอนุมัติก่อนจะมีข้อมูลทั้งหมด และมาทำการประเมินทั้งรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และ HIA ตามมาทีหลัง สภาพการณ์ของมันเหมือนเป็นการมัดมือชก เมื่อพบว่าโครงการมีปัญหาทีหลัง แต่ลงนามในสัญญาโครงการไปแล้ว ก็ต้องดึงดันจะทำให้ได้

"พอมันใช้ ม.44 อนุมัติ ทำให้กระบวนการมันเพี้ยนไปหมด จากเดิมที่ต้องทำ EIA ก่อนทำโครงการเมกะโปรเจกต์แบบนี้ยังไง คือเรายังไม่ได้มีข้อมูลตรงนั้น แต่นี่อนุมัติให้สร้างไปก่อน แล้วค่อยทำประเมินตามหลัง" ฆนัท ระบุ และกล่าวด้วยว่า หากมีการทำ EIA หรือ HIA ก่อนทำโครงการก่อสร้าง เราอาจจะไม่ต้องมาเถียงกันแต่แรกว่าทำไมต้องมาสร้างสถานีรถไฟผ่านเขตโบราณสำคัญของอยุธยา เพราะเราเห็นข้อมูลทั้งหมดแล้วว่าควรสร้างสถานีรถไฟตรงจุดไหน 

ถาม 'คมนาคม' ทำไมต้องดึงดันสร้างบนเขตเมืองเก่า 'อโยธยา' ต่อ ท่ามกลางกระแสให้ทบทวน

ต่อมา ฆนัท ระบุต่อว่า เขามีข้อสังเกตต่อโครงการสร้างสถานีรถไฟฯ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีหน่วยงานมีข้อเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมให้มีการทบทวน และทำเส้นทางรถไฟอ้อมมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา แต่ทำไมทางกระทรวงคมนาคมถึงเพิกเฉยต่อข้อเสนอดังกล่าว และยืนยันจะสร้างในจุดเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองเก่า 'อโยธยา' 

บริเวณที่จะสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง (ที่มา: เฟซบุ๊ก โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure)

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ มีเอกสารมติที่ประชุมระหว่าง กรมศิลปากร และกระทรวงคมนาคม เมื่อ 6 ต.ค. 2563 นั้น ได้มีการแสดงข้อกังวลว่าโครงการสร้างสถานีรถไฟอยุธยา อาจส่งผลกระทบต่อแแหล่งโบราณสถานมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงมีความเห็นนักวิชาการที่เสนอให้ย้ายจุดก่อสร้างสถานี หรือทำเส้นทางเบี่ยง เพื่อเลี่ยงผลกระทบดังกล่าว 

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาอนุรักษ์มรดกโลก ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 23 ก.ค. 2564 เพื่อให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาแนวทางการสร้างเส้นทางลอดใต้ดิน หรือการเปลี่ยนแปลงเส้นทางรถไฟเพื่ออ้อมแหล่งมรดกโลก 

ฆนัท ระบุต่อว่า เขตเมืองเก่าอโยธยาศรีรามเทพนครตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองเก่าอยุธยา ถือเป็นแหล่งขุดค้นโบราณสถานช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. 1893) ซึ่งกรมศิลปากรยังไม่เคยมีการขุดสำรวจโบราณสถานอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้น อะไรที่อยู่ข้างล่างนี่ประเมินไม่ได้เลย ที่ยังไม่ได้คำตอบแล้วถ้าเกิดการก่อสร้างสถานีรถไฟ แรงสั่นสะเทือนจากการก่อสร้าง หรือการลงตอม่อ มันอาจทำลายหลักฐานชั้นใต้ดิน

ฆนัท ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รฟท.ทำรายงาน HIA ช้าเกินไปหรือไม่ เนื่องจาก รฟท.เริ่มว่าจ้างคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้จัดทำรายงาน HIA เมื่อปลายปี 2565 ซึ่งจริงๆ ควรทำตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. 2563 หลังมีมติที่ประชุมกรมศิลปากร เมื่อ 6 ต.ค. 2563 แต่กลายเป็นว่า รฟท. ปล่อยเวลาล่วงเลยถึง 2 ปีกว่า ถึงเริ่มมาทำ HIA ซึ่งทำให้เวลาในการทำรายงานเหลือน้อย ทำให้การศึกษาด้านผลกระทบอาจทำได้ไม่ครบทุกมิติ 

ฆนัท ระบุว่า โดยปกติการทำรายงานดังกล่าวอาจใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งจะทำให้เห็นว่ามันมีผลกระทบต่อโบราณสถานอาจจะไม่คุ้ม และจะได้ทำเส้นทางเลี่ยงไปทางอื่นได้ จึงอยากเรียกร้องให้ทางกระทรวงคมนาคมออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าว   

ฆนัท มีข้อสงสัยด้วยว่า ทาง รฟท.ต้องดึงดันสร้างสถานีรถไฟอยุธยาในจุดเดิมเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อเอื้อผลประโยชน์นักการเมืองในพื้นที่บางคนหรือไม่ เพราะจุดที่จะสร้างใกล้กับโรงแรมของ ส.ส.พรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งเขาจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการรอบขนส่งมวลชน (TOD) หากมีการสร้างสถานีรถไฟ แต่เรื่องนี้ทาง ฆนัท ยังไม่มีหลักฐานมายืนยันข้อสังเกตตรงนี้ 

ทางก้าวไกล เสนอด้วยว่า โครงการนี้ถ้าสร้างสถานีรถไฟอ้อมโบราณสถานตามความต้องการของชาวอยุธยา ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ตรงนั้นประสบปัญหารถติดมากอยู่แล้ว และติดข้อกำหนดทางสถาปัตยกรรมที่ไม่ให้สร้างสิ่งปลูกสร้างที่สูงเกินไปจากข้อกำหนด แต่กลับกันถ้าไปสร้างสถานีบริเวณถนนสายเอเชีย (ฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองเก่าอยุธยา) มันจะคุ้มค่ากว่า เพราะไม่กระทบโบราณสถาน และนำความเจริญขยายออกไปผ่านการลงทุนโครงการ TOD ของรัฐ รัฐใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะสามารถสร้างโรงแรมหรือคอมเพล็กซ์โดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อกำหนดด้านต่างๆ เพื่อหารายได้เข้ารัฐได้อย่างเต็มที่ รวมถึงสามารถสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือขนส่งมวลชนเข้ามาในเกาะเมืองเก่าอยุธยาก็ได้ 

คุณค่าของอยุธยา อยู่ที่โบราณสถาน

ต่อประเด็นที่ทางกระทรวงคมนาคมเคยระบุว่า การเบี่ยงเส้นทางอ้อมมรดกโลกอาจต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องทำโครงการเวนคืนที่ดิน และอื่นๆ ใหม่ทั้งหมดนั้น ฆนัท อยากให้รัฐมองว่า พื้นที่โบราณสถานเป็นพื้นที่ที่สำคัญ ซึ่งงบประมาณที่กระทรวงคมนาคมชี้แจงว่า ต้องใช้ 18,000 ล้านบาทนั้น ถ้าเทียบกับงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ 2 แสนล้านบาท หรือการซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ของจีนที่ราคาใกล้เคียงกัน ราคาของการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงใหม่ มันไม่ได้สูงเลยในความคิดของเขา 

นอกจากนี้ ฆนัท มองว่า คุณค่าของอยุธยาอยู่ที่แหล่งโบราณสถานที่สำคัญ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และส่วนนี้ได้สร้างกำไรให้กับธุรกิจท่องเที่ยวมหาศาล ซึ่งเขาอยากให้ภาครัฐคำนึงตรงจุดนี้ ฆนัท ระบุด้วยว่า เขาไม่ได้ทัดทานการพัฒนา แต่การพัฒนาโดยละทิ้งเมืองเก่า หรือวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในพื้นที่ เขาดูจะไม่เห็นด้วยนัก และหากสร้างไปแล้ว อยุธยาถูกถอดออกจากการเป็นมรดกโลก ซึ่งอันนี้จะส่งผลกระทบต่ออยุธยามากกว่า

"เวลาเราพูดว่าเราอ้างความเจริญของเก่าในอดีต นำความเจริญมาสู่อยุธยา ทำสำเร็จมาแล้วก็คือ การเป็นมรดกโลก และเรามีโอกาสอีกก้อนหนึ่งอยู่ตรงนั้น ยังไม่รู้เลยว่าข้างล่างมีอะไร แต่เราจะไปสร้างอะไรที่ทำลาย ซึ่งมันอาจจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้อีกเท่าหนึ่งเลยก็ได้ 

"ฉะนั้นเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท ในการเส้นทางอ้อมไป สร้างการขนส่งเข้ามายังเกาะเมือง ยังไงก็คุ้มกว่า เพราะยังไงก็ไม่ได้ไปทำลายโบราณสถานแน่ๆ และเงิน 18,000 ล้านบาท สำหรับงบฯ มันไม่มาก คุณซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่อง 14,000 หมื่นล้านบาท แล้ว งบฯ กลาโหมปีละ 2 แสนล้านบาท เอาไปยิงกระสุนทิ้ง ถ้าเทียบแบบนี้มันไม่ได้เยอะเลย 18,000 หมื่นล้านบาท" ฆนัท ทิ้งท้าย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net