Skip to main content
sharethis

รายงานการประชุมปี'63-จดหมายถึงนายกฯ ปี'64 เผยหลายหน่วยงาน-ยูเนสโก้ เคยแสดงข้อกังวล โครงการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงฯ ผ่าเมืองเก่า 'อโยธยา' อาจทำให้แหล่งโบราณสถานเสียหาย พร้อมเสนอทำเส้นทางหลบ ด้าน 'ฆนัท' ส.ส.ก้าวไกล ถาม รฟท. ผ่านมา 2 ปี ทำไมยืนยันสร้างจุดเดิม แม้หลายฝ่ายขอให้ทบทวน

 

สืบเนื่องจากเมื่อ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 รับฟังความเห็นการศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลก (HIA - Heritage Impact Asessment) นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา)

โดยระหว่างการประชุมดังกล่าว นักวิชาการอิสระจากกลุ่ม 'Save อโยธยา' ได้เข้ามายื่นหนังสือให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาย้ายการก่อสร้างสถานีรถไฟอยุธยา เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างเดิมอยู่ในเขตเมืองเก่า ‘อโยธยาศรีรามเทพนคร’ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งคูเมืองด้านตะวันออกของเกาะเมืองเก่ากรุงศรีอยุธยา โดยทางกลุ่มกังวลว่าแรงสั่นสะเทือนจากการก่อสร้าง การวิ่งผ่านของรถไฟ หรือขุดเจาะเสาเข็มและตอม่อขนาดใหญ่ จะส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน

 

บันทึกเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 รับฟังความเห็นการศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา)

สำหรับเขตพื้นที่ที่เรียกว่า 'อโยธยาศรีรามเทพนคร' ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของที่ตั้งเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยาเดิม และมีความสำคัญในฐานะแหล่งขุดค้นโบราณคดี ซึ่งบ่งชี้การก่อตั้งอาณาจักรอยุธยา ยุคสมัยตอนต้น (สมัยราชวงศ์อู่ทอง) 

บริเวณที่จะสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง (ที่มา: เฟซบุ๊ก โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure)

28 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (28 เม.ย.) มีเอกสาร รายงานการประชุมหารือ เรื่อง เรื่อง กรณีการก่อสร้างสถานีของอยุธยา ของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เมื่อ 6 ต.ค. 2563 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งฝ่ายกรมศิลปากร และกระทรวงคมนาคม 

โดยเอกสารดังกล่าวบ่งชี้ว่า กรมศิลปากรมีการระบุมาตั้งแต่ปี 2563 ถึงข้อกังวลว่า การสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านโบราณสถานเมืองเก่า "อโยธยาศรีรามเทพนคร" และมีการเสนอให้มีการจัดทำ HIA ตามข้อกังวลของศูนย์มรดกโลกของยูเนสโก้ 

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวมีจำนวนทั้งหมด 5 หน้า มีทั้งหมด 3 วาระ โดยวาระที่เป็นการพูดคุยเรื่องการก่อสร้างสถานีรถไฟอยุธยา ของโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงฯ จะอยู่ในส่วนวาระที่ 2-3 

วาระที่ 2 เรื่องเพื่อทราบ

วาระที่ 2.1 การประชุมหารือที่ผ่านมา ในประเด็นการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง กรณีสถานีอยุธยา ของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กล่าวสรุปข้อหารือที่ผ่านมาในประเด็นความเหมาะสมของรูปแบบสถานีอยุธยา ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางกรมศิลปากร มีความห่วงกังวลในเรื่องรูปแบบการก่อสร้างที่ไม่เหมาะสม 

นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รรองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ได้ขอให้ วินีดา กัลยาณมิตร สถาปนิกผู้ออกแบบ ได้นำเสนอรายละเอียดรูปแบบของสถานีอยุธยาต่อที่ประชุม  

วาระที่ 2.2 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร กรณีสถานีอยุธยาของโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 

จากการประชุมของ คณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร ครั้งที่ 2/2563 เมื่อ 8 ก.ค. 2563 คณะกรรมการฯ มีมติโดย 1.แสดงความกังวลต่อพื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะอยู่ในพื้นที่ “โบราณสถานอโยธยา” ซึ่งปรากฏร่องรอยหลักฐานสำคัญ อาคารสถานีรถไฟพระนครศรีอยุธยา เป็นโบราณสถานซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียน การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรก่อน จึงจะดำเนินการก่อสร้างได้ 

2.กรมศิลปากร มีการพิจารณารูปแบบการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้ว มีความเห็นดังนี้ 2.1 ที่ตั้งของสถานีรถไฟความเร็วสูงใกล้พื้นที่มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา การสร้างสมควรคำนึงถึงบริบทความสำคัญของพื้นที่ และสมควรพิจารณาทางเลือกในการออกแบบสถานีอีกครั้งที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่เป็นแหล่งโบราณสถาน เช่น การให้ระบบรางผ่านลงใต้ดิน หรือให้ผ่านทางลอดที่กดลงใต้ดิน (คลองแห้ง) หรือพิจารณาเบี่ยงแนวเส้นทางออกไปเป็นเส้นทางใหม่ ไปจนถึงการย้ายสถานที่ตั้งสถานีรถไฟอยุธยาจากบริเวณที่วางแผนจะสร้างแต่เดิมไปยังสถานีรถไฟที่อยู่ถัดออกไป คือ สถานีรถไฟบ้านม้า หรือสถานีรถไฟบ้านโพธิ์ 

2.2 ในแง่สถาปัตยกรรม เห็นว่ารูปแบบอาคารสถานีมีขนาดใหญ่ ผืนหลังคาผืนใหญ่เป็นผืนเดียวไม่มีการลดทอนส่วน อาจมีผลกระทบต่อคุณค่าความเป็นมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ อาคารสถานีรถไฟความเร็วสูงที่โอบล้อมโบราณสถานสถานีรถไฟเดิมมีโครงสร้างคานคร่อมผ่านข้ามไปมา การออกแบบไม่ได้ส่งเสริมหรือให้ความสำคัญกับคุณค่าของโบราณสถานสถานีเดิม จึงไม่เห็นด้วยกับรูปแบบสถานีความเร็วสูงที่นำเสนอดังกล่าว 

2.3 เนื่องด้วยรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางตามโครงการฯ ดังกล่าว มีหลายพื้นที่ที่ผ่านเข้าไปใกล้เขตที่ตั้งโบราณสถาน เช่น โบราณสถานสถานีรถไฟบางปะอิน ทำให้โบราณสถานได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับสถานีรถไฟพระนครศรีอยุธยา ดังนั้น จึงขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยส่งรายละเอียดรูปแบบรางและอาคารสถานีในแนวเส้นทางเดินรถไฟความเร็วสูงตลอดทั้งเส้นทางให้กรมศิลปากรพิจารณาด้วย ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจมีต่อโบราณสถาน

วาระที่ 2.3 ข้อห่วงกังวลของศูนย์มรดกโลก องค์การยูเสโก้ ต่อกรณีสถานีอยุธยาของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา 

สถาพร เที่ยงธรรม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ศูนย์มรดกโลก องค์การยูเนสโก้ ได้มีหนังสือแจ้งมายังผู้แทนประเทศไทย เกี่ยวกับข้อห่วงกังวลถึงผลกระทบของโครงการรถไฟความเร็วสุูงฯ ที่มีต่อมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเมืองบริวาร โดยได้แจ้งรัฐบาลไทยให้มีการจัดส่งรายละเอียดการดำเนินงานไปยังศูนย์มรดกโลก และกำหนดให้รัฐบาลไทยจัดทำการศึกษาผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม หรือ HIA (Heritage Impact Assessment) ด้วย” 

วาระที่ 3 เรื่องเพื่อการพิจารณาแนวทางในการแก้ไขการก่อสร้างสถานีรถไฟอยุธยาของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงฯ ช่วงที่ผ่านจังหวัดอยุธยาจะส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก กรมศิลปากรจึงต้องมีพิจารณาอย่างเข้มงวดในประเด็นการก่อสร้างระบบเส้นทางคมนาคมขนาดใหญ่ใกล้พื้นที่มรดกโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ศูนย์มรดกโลก องค์การยูเนสโก้ กำลังให้การจับตามองอย่างใกล้ชิด และได้แสดงความกังวลมายังผู้แทนประเทศไทย ซึ่งรูปแบบสถานีอยุธยาที่กรมการขนส่งทางรางได้เสนอกรมศิลปากรเพื่อพิจารณาอนุมัตินั้นมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ตลอดจนความสูงของโครงสร้างทางวิ่งที่ปรากฏในแบบอาจส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการขยายเขตพื้นที่แหล่งมรดกโลกให้ครอบคลุมทั้งเกาะเมือง ในประเด็นนี้จึงเห็นว่าให้รัฐบาลตัดสินใจ

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาการอธิบดีกรมขนส่งทางราง แจ้งว่า โครงการบางส่วนได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว ซึ่งหากยังไม่มีข้อยุติในการกรณีสถานีรถไฟอยุธยา กระทรวงคมนาคมจำเป็นต้องชะลอ หรือไม่สร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยา        
 
นายพิเชษฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางราง ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่า ในอดีตเคยมีปัญหาในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ในกรณีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบริเวณย่านวัดมังกรกมลาวาส ซึ่งใกล้กับโบราณสถาน ท้ายที่สุดแล้วการร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาก็ทำให้การก่อสร้างสถานีวัดมังกรสำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างมาก

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงฯ และอาคารสถานี ซึ่งเดิมได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) ตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย ต่อมา ได้มีการปรับปรุงรูปแบบอาคารสถานีอยุธยา ซึ่งทางสถาปนิกไทยได้รับการว่าจ้างให้พัฒนาและจัดทำแบบรายละเอียด โดยได้ปรับปรุงแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่โดยปรับปรุงลักษณะหลังคาทรงจั่ว ซึ่งสะท้อนความเป็นไทยได้ดีกว่ามาปรับใช้ ซึ่งหากทางกรมศิลปากรเห็นชอบ หรือมีข้อแนะนำประการใด ทางกระทรวงคมนาคมโดยกรมการขนส่งทางรางยินดีดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ หลังจากการพัฒนาปรับปรุงแบบตามความเห็นของกรมศิลปากร จะได้ดำเนินการเพื่อขอปรับปรุงรายละเอียดในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อไป

นายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษ การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า แนวเส้นทางหรือระดับความสูงของรางที่ระดับประมาณ 21 เมตร ซึ่งเป็นข้อจำกัดของรางรถไฟความเร็วสูง เมื่อผ่านชุมชนจะต้องยกตัวเหนือทางแยก จุดตัดต่างๆ เพื่อป้องกันอันตราย รวมทั้งต้องยกตัวเหนือสะพาน ปรีดี-ธำรง ก่อนเข้าตัวสถานี ซึ่งไม่สามารถลดระดับความสูงของรางลงได้ เนื่องจากขบวนรถยาวประมาณ 40.5 เมตร อาจเกิดอันตราย

นายพิเชษฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางราง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า แนวรถไฟที่อยู่นอกเมืองหรือชานเมืองที่มีลักษณะระบบดินจะยกสูงขึ้นจากระดับพื้นดินเดิม หรือระดับน้ำทะเลประมาณ 3-7 เมตร เพื่อให้พ้นระดับน้ำทั้งที่ไม่สามารถให้ระบบรางมุดต่ำลงได้ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง และค่าดำเนินการก่อสร้างมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นสูงถึง 4 เท่า ไม่คุ้มค่าหลักเศรษฐศาสตร์    

สำหรับการเบี่ยงแนวเส้นทางรถไฟนั้น ต้องใช้งบประมาณสูงมากขึ้น เนื่องจากต้องทำโครงการใหม่ และมีการเวนคืนที่ดินใหม่ และต้องเริ่มกระบวนการศึกษาใหม่ทั้งหมด และมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร  เสนอความเป็นในที่ประชุมว่า จากการนำเสนอรูปแบบสถานี โดยวินีดา กัลยาณมิตร สถาปนิกผู้ออกแบบ พบว่ารูปแบบสถานีในครั้งที่เสนอในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วนั้น มีความเหมาะสมกว่ารูปแบบที่นำเสนอในปัจจุบัน เนื่องจากมีขนาดเล็ก และเรียบง่าย จึงเห็นควรให้นำรูปแบบในระยะแรกดังกล่าวข้างต้นมาปรับปรุง เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และเห็นสมควรแต่งตั้งคณะทำงานในการพิจารณาร่วมกันทั้งฝ่ายกระทรวงคมนาคม และกรมศิลปากร ทั้งนี้เนื่องจากการก่อสร้างดังกล่าวอาจส่งผลกระทบแหล่งมรดกโลกจึงต้องนำเสนออนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เพื่อพิจารณาตามลำดับ ทั้งในประเด็นของสถานีและโครงสร้างทางวิ่ง รวมถึงต้องศึกษา HIA ตามที่ศูนย์มรดกโลก องค์การยูเนสโก้ ให้ดำเนินการ  

นายพรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิกชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ได้แจ้งที่ประชุมว่า จะดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ทางภูมิสถาปัตยกรรม เพื่อประเมินผลกระทบทางภูมิทัศน์ (visual impact) อีกครั้ง หากดำเนินการก่อสร้างตามรูปแบบที่กำหนดไว้

นางสาวนัชญา วาจก์วิศุทธิ์ ผู้อำนวยการนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักสถาปัตยกรรม ได้แจ้งที่ประชุมว่า อย่างพึ่งตัดประเด็นในการพิจารณาตำแหน่งที่เหมาะสมในการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง โดยพิจารณาทางเลือกอื่นบริเวณสถานีบ้านม้า หรือสถานีบ้านโพธิ์ ซึ่งอยู่ถัดไปททางด้านเหนือ และใต้ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับโบราณและแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา 

มติที่ประชุม 1. ประเด็นโครงสร้างทางวิ่งให้คงตามแนวทางการออกแบบซึ่งเป็นการก่อสร้างในเขตที่การรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนด เนื่องจากได้ผ่านการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว อย่างไรก็ตาม หากกรมศิลปากรเห็นสมควรให้มีการศึกษาผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม (HIA) อันมีผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม กระทรวงคมนาคมยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ 

2. ประเด็นสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาให้พิจารณาจากรูปแบบที่กำหนดในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกรมศิลปากร กรมขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย ในการพิจารณาปรับปรุงรูปแบบสถานีให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น 

3. ประเด็นการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา เห็นควรให้พิจารณาพัฒนาตามความจำเป็น โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์ในเชิงสันทนาการ และการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเป็นหลัก ทั้งนี่ผลประโยชน์อันเกิดจากเศรษฐกิจและการค้าเป็นอันดับรอง 

4. ให้ดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม (HIA) โดยดำเนินการคู่ขนานไปกับการก่อสร้าง

5. มอบกรมศิลปากรนำความเห็นจากการประชุมครั้งนี้ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เพื่อพิจารณาลำดับต่อไป 

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นต่อรายงานการศึกษา HIA ทางกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดแล้วอย่างน้อย 2 ครั้งคือเมื่อ 10 มี.ค. 2566 และเมื่อ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีหลายฝ่ายเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อโครงการนี้จำนวนมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เสนอ 'คมนาคม' พิจารณาเส้นทางหลบมรดกโลก

ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ มติชน ออนไลน์ ระบุเมื่อ 27 เม.ย. 2566 ว่ามี การค้นพบเอกสาร ประทับตราว่า ‘ด่วนที่สุด’ เรื่องการดำเนินการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามโดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เมื่อวันที่ 6  ก.ค. 2564

แบบจำลองสถานีรถไฟอยุธยา แบบ 3 มิติ (ที่มา: โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure)

เอกสารดังกล่าว มีจำนวน 2 หน้า นอกจากนี้ ยังมีเอกสารแนบ เรื่อง ความเป็นมาของการดำเนินงานการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา

1. กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า ศูนย์มรดกโลก องค์การยูเนสโก้ ห่วงกังวลเกี่ยวกับการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งอาจกระทบต่อแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียง จึงขอให้ประเทศไทยในฐานะภาคี จัดทำรายการการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (Heritage Impact Assessment, HIAs) ก่อนดำเนินการและหารือกับศูนย์มรดกโลกก่อนเกิดปัญหาที่แก้ไม่ได้

2. คณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อ 24 พฤษภาคม 2564 มีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาการก่อสร้างสถานี ในทางเลือก แนวทางที่ 1 การก่อสร้างอุโมงค์ลอดผ่านพื้นที่มรดกโลก หรือ แนวทางที่ 2 การเปลี่ยนเส้นทางใหม่ โดยอ้อมพื้นที่มรดกโลก โดยมอบหมายให้กรมศิลปากร หารือกรมการขนส่งทางราง และการรถไฟแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำ HIAs

'ก้าวไกล' ถามทำไม 'คมนาคม' สร้างสถานีรถไฟจุดเดิม แม้หลายหน่วยงานทักท้วง

เมื่อ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ฆนัท นาคถนอมทรัพย์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนักวิชาการอิสระผู้ก่อตั้งแคมเปญ 'Save อโยธยา' ให้ความเห็นต่อโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงฯ ว่า แม้จะมีเอกสารส่งถึงนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาเลี่ยงเส้นทางรถไฟ แต่ทำไมทางกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงยังเพิกเฉยต่อมติดังกล่าว และสร้างสถานีรถไฟในจุดเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโบราณสถานอโยธยา 

ฆนัท ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทำไมทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงว่าจ้างคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดทำรายงาน HIA เริ่มปลายปี 2565 ทั้งที่ควรทำตตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. 2563 หลังมีมติที่ประชุมหารือ เรื่องการต่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา แต่ปล่อยเวลาล่วงเลยถึง 2 ปี ถึงเริ่มทำ HIA จนสถานีอื่นๆ สร้างไปคืบหน้า คล้ายกับเป็นการจงใจให้สังคมบอกว่าอยุธยาขวางความเจริญ จะมามัดมือชก ด้วยการกดดันว่าสถานีอื่นแล้วเสร็จไปมากแล้ว มองว่าการกระทำของกระทรวงคมนาคม เหมือนเป็นการมัดมือชกชาวอยุธยา จึงอยากให้ทางกระทรวงคมนาคมช่วยออกมาชี้แจงทั้ง 2 ประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net