Skip to main content
sharethis
ครม.อนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชน ในวงเงินไม่เกิน 1.19 แสนล้านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา แบบไร้รอยต่อ
 
 
เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เสนอ ดังนี้
 
1. อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า ค่าพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งดำเนินงานบริหารและซ่อมบำรุงโครงการ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนรวมเป็นเวลา 50 ปี และเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสารของโครงการ (RidershipRisk) จัดเก็บรายได้จากการพัฒนาพื้นที่โครงการ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ได้ให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว ทั้งนี้ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนของประกาศ กนศ. โดยเคร่งครัดต่อไป
 
2. อนุมัติให้ รฟท. มีอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก โดยรายละเอียดของการร่วมลงทุนอยู่ภายใต้หลักการของโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ได้รับอนุมัติไว้ในข้อ 1
 
3. อนุมัติค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ในกรอบวงเงินจำนวน 3,570.29 ล้านบาท โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณให้ รฟท. ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อการใช้จ่ายเงินจริงต่อไป
 
4. อนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชน ในวงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ที่เป็นมูลค่าปัจจุบันตามที่ตกลงในสัญญาร่วมลงทุน โดยทยอยจ่ายให้เอกชนหลักจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ ทั้งระบบแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี โดยกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยให้กำหนดเงื่อนไขการชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนตามผลการดำเนินงาน เกณฑ์ประเมินผลผลิตที่เอกชนต้องส่งมอบ (Output Specification) ระดับในการบริการ (Level of Service) และระยะทางของการเดินรถไฟความเร็วสูงฯ ทั้งนี้ กรณีมีเหตุจำเป็น อาจให้ทยอยจ่ายเงินดังกล่าวให้เอกชนหลังจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ บางส่วน โดยแบ่งจ่ายเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนกับเอกชนตามระยะทางของการเดินรถไฟความเร็วสูงฯ โดยในกรณีดังกล่าว กนศ. จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ
 
5. เห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ของ รฟท. เป็นจำนวนเงิน 22,558.06 ล้านบาท
 
6. เห็นชอบให้พื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ตั้งแต่สนามบินดอนเมืองถึงสุดเขตกรุงเทพฯ และรวมถึงสถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายนอกระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” เพิ่มเติม ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
 
7. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงการคลัง (กค.) สงป. รฟท. สกรศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
สำหรับสาระสำคัญของหลักการของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ของ รฟท. ตามประกาศ สกรศ. เรื่อง รูปแบบและรายละเอียดของรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ พ.ศ. 2560 ข้อ 3 (ก) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลสรุปไว้ดังนี้
 
1.วัตถุประสงค์ของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ
1.1 เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
1.2 เชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพฯ และระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา แบบไร้รอยต่อ
1.3 พัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ และบริการผู้โดยสาร บริเวณสถานีรถไฟแอร์พอร์ต เรลลิงก์  มักกะสัน ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway)  และพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชาเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร
 
2. ขอบเขตของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ประกอบด้วย 2 ส่วน 
2.1 ส่วนของระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นระบบขนส่งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร รวมระยะทางประมาณ  220 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ด้วยบริการรถไฟแบบด่วนพิเศษจอดบางสถานี และใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที ด้วยบริการรถไฟแบบปกติจอดทุกสถานี ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 147,000 คนต่อวัน ในปีที่เปิดให้บริการ (ปี 2566) ซึ่งส่วนของระบบขนส่งทางรถไฟดังกล่าว ประกอบด้วย
(1) โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์เดิมช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 8 สถานี ใช้ความเร็วรถไฟในเมืองสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(2) โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนต่อขยายช่วงท่าอากาศยานดอนเมืองถึง           พญาไท จำนวน 2 สถานี ใช้ความเร็วรถไฟในเมืองสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(3) โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ ถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา จำนวน 5 สถานี ใช้ความเร็วรถไฟระหว่างเมือง สูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน [ศูนย์ซ่อมบำรุงที่มีอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Suvarnabhumi Airport Rail Link and City Air Terminal: ARL)] และศูนย์ซ่อมบำรุงในบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา (ศูนย์ซ่อมบำรุงแห่งใหม่)
2.2 ส่วนของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสารและ             การดำเนินกิจการทางพาณิชย์ ประกอบด้วย
(1) บริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสันขนาดพื้นที่รวมประมาณ 150 ไร่ เป็นสถานีศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Main Station for EEC Gateway) โดยพื้นที่ดังกล่าวติดกับบริเวณโดยรอบ ดังนี้ ด้านทิศเหนือติดกับถนนจตุรทิศ ด้านทิศตะวันออกติดกับถนนอโศกมนตรี ด้านทิศใต้ติดกับถนนกำแพงเพชร 7 และด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดิน รฟท. ในส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงของ รฟท. ทั้งนี้ รูปแบบการพัฒนาที่ดินดังกล่าวจะเป็นลักษณะการเช่า  ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการเช่าเท่ากับ 50 ปี ซึ่งไม่เกินกว่าระยะเวลาของโครงการ
(2) บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชาขนาดพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ เป็นที่ดินว่างเปล่าของ รฟท. โดยพื้นที่ดังกล่าวติดกับบริเวณโดยรอบ ดังนี้ ด้านทิศเหนือติดกับทางหลวง  3241 ที่เชื่อมต่อเข้ากับตัวเมืองของอำเภอศรีราชา ด้านทิศตะวันออกติดกับที่ดินเอกชน ด้านทิศใต้ติดกับถนนศรีราชา-หนองยายบู่ และด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินเอกชน ทั้งนี้ รูปแบบการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นลักษณะการเช่าซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการเช่าเท่ากับ 50 ปี ซึ่งไม่เกินกว่าระยะเวลาของโครงการ
 
3. ระยะเวลาโครงการที่เหมาะสม คือ 50 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับภาครัฐและประหยัดงบประมาณ แบ่งเป็น
3.1 ระยะการพัฒนาโครงการฯ ได้แก่ งานการออกแบบและงานการก่อสร้าง เป็นระยะเวลา 5 ปี
3.2 ระยะการดำเนินงานของโครงการและงานการบำรุงรักษา เป็นระยะ  เวลา 45 ปี
 
ทั้งนี้ เงื่อนไขรายละเอียดเกี่ยวกับการเริ่มต้นและการสิ้นสุดการนับระยะเวลาดังกล่าว เป็นไปตามที่ รฟท. และเอกชนตกลงกัน 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net