Skip to main content
sharethis

นักวิชาการกลุ่ม 'Save อโยธยา' ยื่นหนังสือถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลางวงประชาพิจารณ์ ทบทวนการศึกษาผลกระทบรถไฟความเร็วสูงผ่านพื้นที่เมืองเก่าอโยธยา พร้อมลุยล่ารายชื่อคัดค้านผลการศึกษาต่อ

 

20 เม.ย. 2566 เว็บไซต์ มติชน ออนไลน์ รายงานวันนี้ (20 เม.ย.) ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น การศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของแหล่งมรดกโลกทาง นครประวัติศาสตร์ ครั้งที่ 2 ในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย

บริเวณที่จะสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง (ที่มา: เฟซบุ๊ก โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure)

กกชัย ฉายรัศมี รองผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในการเปิดการประชุม กล่าวตอนหนึ่งว่า การสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงย่อมมีผลกระทบหลายด้านเกิดขึ้นทั้งต่อชุมชน และประชาชน สืบเนื่องมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งมรดกโลกที่ต้องรักษาเอาไว้ แต่อีกมุมหนึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต้องมีการพัฒนาเพื่อความเจริญทั้งเศรษฐกิจ และสังคมให้ดีขึ้นควบคู่กันไป ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็นและการศึกษาผลกระทบให้รอบด้านละเอียด จึงมีความจำเป็นมาก

ขณะที่ รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ได้รายงานผลการรับฟังความเห็น ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม เมื่อครั้งที่ 1 โดยอยุธยาเป็นเมืองที่ทับซ้อนกันระหว่างเมืองเก่ากับเมืองที่กำลังมีการพัฒนา สิ่งปลูกสร้างหลายอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีรูปแบบการก่อสร้างที่เข้าไปในพื้นที่ใกล้กับอุทยานประวัติศาสตร์ และโบราณสถานในพื้นที่นอกเกาะเมือง การศึกษาผลกระทบ และมีเวลาในโครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ทำในเมืองไทยเป็นครั้งแรก และมีเวลาที่จำกัด

"เราได้ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของแหล่งมรดกโลกและสภาพปัจจุบัน ศึกษา เกี่ยวกับคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล การวิเคราะห์คุณค่าตามที่ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไม่ได้ศึกษาแค่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา หรือแค่เฉพาะในแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเท่านั้น เพราะการประเมินผลกระทบต้องมองถึงองค์รวมของเส้นทางรถไฟทั้งหมด" รศ.ดร.กรรณิการ์ ระบุ

ในช่วงของการเปิดรับฟังความคิดเห็น มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบแสดงความคิดเห็น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงมีนักวิชาการบางส่วนที่ประชุมผ่านระบบออนไลน์ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในความไม่ชัดเจนในข้อมูลการนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบทางวัฒนธรรม รวมถึงความคุ้มค่าในการลงทุนที่อาจจะต้องแลกการสูญเสียความงดงามทางวัฒนธรรม กับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดจากการมีรถไฟความเร็วสูง และสถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ในพื้นใกล้กับแหล่งวัฒนธรรม ข้อมูลน้อยเกินไป โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโบราณสถานในพื้นที่เมืองอโยธยา ที่อยู่นอกนครประวัติศาสตร์

ไชยวัฒน์ วรเชษฐวราวัตร อายุ 68 ปี อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะมีบ้านพักอยู่ใกล้กับแนวรถไฟปัจจุบันได้เข้ารับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 2 ครั้ง ยังไม่มีความชัดเจนว่า สถานีรถไฟความเร็วสูงจะเกิดขึ้นที่อยุธยาหรือไม่ ส่วนตัวอยากให้มี และการดำเนินการก่อสร้างก็มีการดำเนินการก่อสร้างตัวตอม่อของราวรถไฟมาแล้ว ไม่ได้แค่อยากให้รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านอยุธยาไป เสนอแนะให้ทำประชาพิจารณ์ ให้มีการลงคะแนนเสียงแบบเลือกตั้งไปเลยว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง

ธนกฤต กิตติธรรมกูล นายกสามคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในมุมมองของผู้ประกอบการท่องเที่ยว มองว่าการท่องเที่ยวกำลังถูกเอามาเป็นจำเลยอีกแล้ว ทุกโครงการที่จะเกิดขึ้นที่อยุธยา จะนำเสนอว่าส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยว ถ้าเรามีรถไฟความเร็วสูงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวมาก มาถึงสถานีอยุธยาแล้วจะเดินทางไปท่องเที่ยวในอยุธยาแบบไหน เรามีสถานที่ท่องเที่ยวรองรับเพียงพอไหม ศักยภาพพร้อมไหม หลายสถานที่ท่องเที่ยวหลายผู้ประกอบการ ติดขัดเรื่องปัญหาของการพัฒนา ด้วยข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ของกรมศิลปากร ตามระเบียบ ธุรกิจท่องเที่ยวต้องการเพิ่มเรื่องการจับจ่ายใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ไม่ได้ต้องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว

"แต่ในปัจจุบัน อยุธยามีนักเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก วันหยุด หรือเทศกาลต่าง เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก จนการจราจรติดขัด มีรถไฟความเร็วสูงมีสถานีรถไฟความเร็วสูง มันจะเพิ่มนักท่องเที่ยวได้มากจริงไหม แล้วเราพร้อมรองรับจำนวนนักเที่ยว ประชาชนที่จะเดินทางรถไฟความเร็วสูง จำนวนมากได้แล้วหรือยัง อยากให้มีการศึกษาตรงนี้ด้วย คนอยุธยาอยากมีรถไฟความเร็วสูง เราดีใจ แล้วการที่มีมรดกโลก เราได้อะไร หรือไม่มีแล้ว เราจะเสียอะไร ถ้าเราไม่มีมรดกโลก พอ UNESCO ประกาศว่า เราเป็นมรดกโลก เรามาถูกห้ามทำโน่นทำนี่ อยากให้นักวิชาการมาบอกให้ชัดเจนกว่านี้" ธนกฤต กล่าว

เฉลิม อภิวาท รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าว่า ส่วนตัวมองว่า เราจะเสียหายมาก ถ้าหากก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง และสถานีรถไฟความเร็วสูง มีผลทำให้อยุธยาถูกถอดออกจากมรดกโลก การศึกษาผลกระทบถ้าพบว่ามีผลกระทบ เลี่ยงได้ควรเลี่ยง หรือต้องใช้งบประมาณที่มากจากเดิม เพื่อรักษาความเป็นมรดกโลกเอาไว้ ทำให้รถไฟความเร็วสูงอยูคู่กับมรดกโลกให้ได้

ผศ.ปกาศิต เจิมรอด คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ส่วนตัวคิดว่าการมีรถไฟฟ้าผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสถานีรถไฟฟ้าอยู่ที่อยุธยา นับว่าเป็นสิ่งดี ที่จะช่วยพัฒนาจังหวัดในระบบขนส่ง รวมถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว เราต้องมาวิเคราะห์ศึกษา สอบถามกับชาวบ้าน นักวิชาการ ถึงความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นมรดกโลก

ผศ.ปกาศิต ระบุต่อว่า วันนี้ตัวสถานีรถไฟอยุธยา พื้นที่ปัจจุบันเป็นที่แอดอัดอยู่แล้ว และยังอยู่ใกล้กับโบราณสถานหลายแห่ง เพราะในการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ต้องมีการก่อสร้างตัวรางที่อยู่สูงเหนือแนวรางรถไฟเดิม การก่อสร้างต้องมีความมั่นคงแข็งแรง ต้องมีการขุดเจาะตอกเสาเข็ม รวมถึงการก่อสร้างสถานีรถไฟด้วยความมั่นคงแข็งแรงของตัวโบราณสถาน มีความแข็งแรงขนาดไหน

ผศ.ปกาศิต กล่าวว่า ในพื้นที่ของตัวเกาะเมือง และบริเวณใกล้เคียง เราจะเห็นว่ามีซากโบราณสถานที่ผุดขึ้นมาให้เห็น แต่จริงๆ แล้วถ้าเราขุดเจาะกันลงไปตรงไหนย่อมเจอซากของโบราณสถานอย่างแน่นอน เรื่องนี้กรมศิลปากรที่ดูแล กำกับตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน ย่อมรู้ดีอยู่ และต้องเป็นแม่งานในการตรวจสอบ ชี้กำหนดจุดพื้นที่ได้ว่าบริเวณไหนที่ก่อสร้างได้หรือไม่ได้

"โครงการดำเนินการก่อสร้างมาแล้ว ส่วนตัวมองว่าก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่สถานีอยุธยา ไม่เหมาะสม เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งโบราณสถาน และชุมชนดั้งเดิม มีพื้นที่เหมาะหลายพื้นที่ในการก่อสร้าง อาจจะไม่ต้องอยู่ในพื้นที่ใกล้เกาะเมือง อำเภอที่ใกล้เคียงที่มีพื้นที่ไม่ได้กระทบกับชุมชน และโบราณสถาน แล้วสร้างโครงข่ายระบบขนส่งเข้ามาที่เกาะเมืองได้ การก่อสร้างใช้เวลานานรวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง สถานีรถไฟต้องอยู่กับคนอยุธยาอีกนานถึงรุ่นหลานๆ เรา ต้องคิดถึงความเหมาะสมให้ดี" ผศ.ปกาศิต กล่าว

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระ และฆนัท นาคถนอมทรัพย์ นักวิชาการอิสระ และผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘Save อโยธยา’ ได้นำหนังสือทบทวนเรื่องของการศึกษาของโครงการ และรายชื่อประชาชนที่ต้องการเก็บรักษาประวัติศาสตร์ของชาติไว้ เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานทบทวนให้ย้ายเส้นทางรถไฟออกไปนอกเขตเมืองเก่าอโยธยาศรีรามเทพนคร โดยจะนำรายชื่อผู้เสนอให้ทบทวนโครงการเสนอต่อผู้แทนของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในที่ประชุม

ศิริพจน์ กล่าวว่ามีประชาชนและนักวิชาการได้กล่าวถึงผลกระทบ ความคุ้มค่าในการสร้าง รวมถึงประชาชนที่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง เพราะอาจะยังไม่เข้าใจในเรื่องของผลกระทบที่มีการศึกษายังไม่รอบด้าน มีเนื้อหาที่ประชาชนยากที่จะเข้าใจมานำเสนอ เราจะมีการรวบรวมรายชื่อเพิ่มเติมอีก เพื่อทำการคัดค้านผลจาการศึกษาที่ยังไม่รอบด้าน

"ซึ่งเป็นเส้นทางที่รถไฟความเร็วสูงจะคู่กับแนวทางรถไฟเดิม ในพื้นที่ด้านทิศตะวันออกนอกเกาะเมืองอยุธยา พื้นที่นี้เรียกว่า 'อโยธยา' ถือเป็นพื้นที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา มีโบราณสถานที่สำคัญหลายแห่งอยู่ใกล้ และยังไม่มีการขุดค้นอีกหลายจุด ควรหลีกเลี่ยงไปใช้แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเอเชียแทน แทนที่จะผ่านในพืนที่ของอโยธยา" ศิริพจน์ ทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net