Skip to main content
sharethis

‘รำลึก-สดุดีวีรชนคนเสื้อแดง 14 ปี เมษา-พฤษภา 2553’ 'ณัฐวุฒิ' ขอ 'ด้อมแดง-ด้อมส้ม' กระทบกระทั่งความรู้สึกกันให้น้อยลง เพราะคำพูด-การกระทำที่ฝ่ายตรงข้ามเคยย่ำยี เวลาถูกกระทำจากเพื่อนด้วยกัน มันเจ็บกว่าหลายเท่า

10 เม.ย.2567 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 จัดกิจกรรม ‘รำลึกและสดุดีวีรชน 14ปี เมษาพฤษภา 53’ โดยได้ถวายสังฆทานพระสงฆ์ 6 รูป เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ กลุ่มวีรชนประชาธิปไตย เมษา-พฤษภา 2553 ที่เสียชีวิต บริเวณด้านหน้าถนนราชดำเนิน

จากนั้นเปิดให้ประชาชนวางพวงหรีดและวางดอกไม้ไว้อาลัย ทำให้มีตัวแทนจากแต่ละพรรคการเมืองเดินทางมาร่วมงานด้วย ประกอบด้วย ญาติวีรชน พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ กมนเกด หรือพยาบาลเกด รวมทั้งอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย นายแพทย์เหวง โตจิราการ ก่อแก้ว พิกุลทอง และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ด้านตัวแทนพรรคเพื่อไทย มี ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ ขณะที่พรรคก้าวไกลมี ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ปิยรัฐ จงเทพ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ ทนายแจม สส.พรรคก้าวไกล และอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกพรรค เป็นต้น

กลุ่มนักกิจกรรม ที่รวมประกอบด้วยปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อดีตกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ทะลุฟ้า, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรืออดีตนักกิจกรรมทางการเมืองหลังหารรัฐประหาร 2557 ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 และคนเสื้อแดงเข้าร่วมกิจกรรม

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปาฐกถา ว่า ขอคารวะจิตใจของทุกท่านในขบวนการเสื้อแดงที่กล้าหาญ และขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสีย ซึ่งนั่นถือเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่ประชาชนที่อยู่นอกศูนย์กลางกรุงเทพฯ ทั่วทุกภาคทั้งเหนือและอีสาน ตัดสินใจออกมาประท้วงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเรียกร้องสิทธิให้แก่ตนเอง จึงเชื่อว่าขบวนการดังกล่าวในปี 53 จะเป็นการต่อสู้ที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ไทย ดังนั้นขอให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนยั่งยืนต่อไปและมาถึงในวันข้างหน้า

ธิดา ถาวรเศรษฐ

ธิดา ถาวรเศรษฐ ตัวแทนวีรชน กล่าวไว้อาลัยต่อ โดยระบุว่า 14 ปีแล้วที่เกิดเหตุการณ์ฆ่าปราบปรามประชาชนที่ต้องการทวงความยุติธรรม ซึ่งการต่อสู้นี้ได้สืบทอดมายังเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ฉะนั้นขอให้จับมือร่วมกันสู้เพื่อลูกหลานในอนาคต โดยนิรโทษกรรมให้คนเป็น และทวงความยุติธรรมให้คนตาย ใครจะเป็นแฟนคลับพรรคไหนไม่ว่ากัน ไม่ต้องใส่เสื้อแดงก็ได้ แต่ขอให้เป็นนักต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยและไม่ใช่เครื่องมือของพรรคการเมืองก็พอ ด้วยเหตุนี้ เหตุการณ์ 6 ตุลา จึงอยากให้นิรโทษกรรมทั้งสองฝ่าย พร้อมกับตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายใน 30 วัน และขอฝากให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย แก้ไขกฎหมายให้ทหารและนักการเมืองที่ทำผิดกฎหมายขึ้นศาลอาญาตามปกติเหมือนประชาชนทั่วไป เนื่องจากเราไม่หวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำอะไรได้ เพราะเข้าใจว่าอยู่ในภาวะที่ทำได้เฉพาะแค่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำเท่านั้น

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ

ด้านชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขึ้นกล่าวว่า การมาที่นี่ของพรรคเพื่อไทยอาจมีบางท่านไม่สบายใจ ยอมรับว่ามีหลายท่านไม่เห็นด้วย แต่ตนขอเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยมายืนยันว่าพรรคเพื่อไทยยังอยู่เคียงข้างกับคนเสื้อแดงตลอดมาและตลอดไป แต่พรรคเพื่อไทยเรามีอุปสรรค และมีความยากลำบากในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยถูกตราหน้าว่าเป็นการทำนิรโทษกรรมสุดซอย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการทำนิรโทษกรรม เพราะเรายืนยันสนับสนุนเรื่องนี้มาตลอดว่า การนิรโทษกรรมเป็นขบวนการก้าวข้ามความขัดแย้ง และสร้างความปรองดอง ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลา

ทั้งนี้ ระหว่างที่ชนินทร์ พูดมีรายงานว่า มีผู้ร่วมกิจกรรมบางคนตะโกนต่อว่า ไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยส่งตัวแทนมา พร้อมตะโกนไล่ด้วยคำหยาบคาย และขอให้ออกไป อาทิ เพื่อไทยการแสดงการละคร ขณะเดียวกัน ยังมีการชูป้ายรูปของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความระบุว่าพรรคเพื่อไทยตระบัดสัตย์ ทำให้ เหวง ยกมือไหว้ขอร้องให้กลุ่มคนดังกล่าวหยุดต่อว่า ส่วนเงินตรา คำแสน หรือ มานี ตะโกนต่อว่าอย่างเสียงดัง และจะปารองเท้าใส่ชนินทร์อีกด้วยแต่ทีมงานห้ามไว้ทัน

ชนินทร์ จึงกล่าวต่อว่าพร้อมน้อมรับความเห็นต่างทุกความเห็น ซึ่งเรื่องนิรโทษกรรมขณะนี้ กรรมาธิการวิสามัญกำลังอยู่ระหว่างศึกษาอยู่

 เหวง 

จากนั้น เหวง กล่าวปราศรัยต่อ ฝากชนินทร์ ให้ไปถามเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าพรรค แต่ไม่ขอเอ่ยชื่อเพราะไม่อยากเป็นประเด็น ว่าเห็นด้วยกับการยึดอำนาจรัฐประหารหรือไม่ พร้อมกับขอให้นำตัวทหารที่ฆ่าประชาชนมาลงโทษ เพราะพรรคเพื่อไทยดันไปจับมือกับคสช. ก่อนกล่าวด้วยว่า เพื่อไทยได้เอาสีแดงไปเป็นโลโก้ เพราะต้องการให้คนเสื้อแดงโหวตให้ แต่ก็ยังดึงคนมาไม่ได้ เนื่องจากคุณไม่มีความซื่อสัตย์ต่อประชาชน ดังนั้นหากจะให้ประชาชนคนเสื้อแดงกลับมา เพื่อไทยจะต้องเสนอเป็นญัตติแก้ไขกฎหมายให้ทหารขึ้นศาลพลเรือน และตั้งส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด

ณัฐวุฒิ 

ขณะที่ ณัฐวุฒิ ในฐานะผู้จัดงาน กล่าวว่าวันนี้บรรยากาศแตกต่างไปจากทุกปี เพราะพี่น้องที่เคยต่อสู้กับคนเสื้อแดงมีความเชื่อทางการเมืองต่างกันเสียแล้ว แต่ไม่ว่าจะเชื่ออย่างไร อยากให้เก็บอารมณ์ความรู้สึกไว้ เพราะตนเข้าใจความรู้สึกของญาติวีรชน ตัวแทนพรรคการเมือง และผู้ที่มาร่วมงานทุกคนดี จึงขอขอบคุณทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะก้าวไกล และเพื่อไทย ที่ส่งตัวแทนมา เพราะทั้งชนินทร์ และ ศศินันท์ เป็นลูกหลานคนเสื้อแดงที่ต่อสู้กับเรามาเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ดังนั้นวันนี้ไม่ว่าจะเห็นอย่างไร หรือสังกัดพรรคไหน แต่น่าภูมิใจว่าเด็กที่ต่อสู้กับเรามาวันนี้ได้เป็นสส.แล้ว จึงอยากฝากคนเสื้อแดงว่า ไม่ว่าวันนี้จะใส่เสื้อสีอะไรก็ยังเป็นเสื้อแดง ไม่ว่ามวลชนจะเป็นกปปส.ที่เป่านกหวีด หรือ เสื้อแดงตนไม่รู้สึกอาฆาต ว่าจะต้องให้ใครติดคุกมากกว่ากัน แต่อยากให้ปล่อยนักโทษทุกคน รวมถึงผู้ติดคุกในคดีมาตรา 112 เพราะเมื่อ 14 ปีที่แล้ว เราอยู่ด้วยกันบนถนนเส้นนี้ ด้วยจิตใจที่ผูกพัน

ณัฐวุฒิ ยังกล่าวถึงกระบวนการยุติธรรม เกี่ยวกับคดีสลายการชุมนุมปี 53 ที่มีอายุความเหลือเพียง 1 ปี จาก 15 ปี ของกฎหมาย ป.ป.ช. ด้วยว่า ขออย่ามองในเรื่องของพรรคการเมือง โดยอยากให้มีการแก้กฎหมายป.ป.ช. ให้นำคดีที่ป.ป.ช.ยกคำร้องส่งให้อัยการไปพิจารณาฟ้องต่อ นอกจากนี้ ยังยืนยันด้วยว่าตนยังเป็นเสื้อแดงอยู่ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ โดยยังสามารถสบตากับพี่น้องคนเสื้อแดงและภาพถ่ายของผู้เสียชีวิตได้ ขณะเดียวกัน ยังยืนกรานด้วยว่า จะยังไม่หยุดเคลื่อนไหวและมุ่งแก้รัฐธรรมนูญต่อไป เพราะการเมืองแบบนี้ต้องอดทนและมุ่งมั่นเดินไปข้างหน้า จึงไม่แปลกที่คนใส่เสื้อแดงจะเชื่อคนละอย่าง วางใจคนละพรรค รักคนละกลุ่ม ฉะนั้นหากวันนี้พี่น้องเลือกก้าวไกล ตนก็เคารพ จะไปประนามไม่ได้ อยากให้มองไปข้างหน้า ตนไม่รู้ว่ามีสิทธิ์จะพูดหรือไม่ แต่อยากให้เรากระทบกระทั่งความรู้สึกกันให้น้อยลง เพราะคำพูดและการกระทำที่ฝ่ายตรงข้ามกระทำกับเราเจ็บน้อยลงเมื่อเทียบกับเพื่อนที่เคยกอดคอมาด้วยกัน

ศศินันท์ ตัวแทนของพรรคก้าวไกล

ด้าน ศศินันท์ เป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกลในการกล่าวคำรำลึก ระบุว่าเหตุการณ์ 14 ปีที่แล้วเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของคนหลายคน รวมทั้งตนที่เป็นนักศึกษาเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ครั้งแรกได้เริ่มสนใจการเมืองอย่างเข้มข้น และปฎิเสธไม่ได้ว่าวีรชนและแกนนำ นปช. วันนั้นเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ตนสนใจทำงานทางการเมืองต่อไป

ศศินันท์ยังกล่าวตอนหนึ่ง ว่าสิ่งที่วันนี้พรรคก้าวไกลมุ่งหวังขับเคลื่อน คือการเรียกร้องให้มีการประกันตัวนักโทษทางการเมืองที่ถูกขังอยู่ทุกวันนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะมีการนิรโทษกรรมเมื่อไหร่ แต่ระหว่างนี้ที่มีการประชุมสัปดาห์ละครั้งของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มันคือคนในเรือนจำที่คอยอยู่และเวลาของเขายาวนานกว่าเรา และก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการค้นหาความจริงให้กับผู้ที่เสียชีวิต การค้นหาความจริงเป็นอีกกระบวนการหนึ่งในการเยียวยานอกเหนือจากการเดินหน้าคดีความต่างๆ ให้ผู้เสียชีวิตถูกพูดถึงในมุมของการเสียสละของพวกเขา

ต่อจากนั้น เวลา 18.00 น. คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 และตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง ได้จุดเทียนรำลึกและวางดอกไม้ อธิษฐานจิตต่อดวงวิญญาณวีรชน เมษา-พฤษภา53 เป็นกิจกรรมสุดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net