Timeline: เทียบแถลงการณ์ “สมาคมสื่อ” กับสถานการณ์ “การเมือง”

การออกแถลงการณ์และบทบาทจากสมาคมสื่อมวลชนหลังการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนับตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็มีการเคลื่อนไหวออกมาจากสมาคมสื่อมวลชนในช่วงที่มีสถานการณ์การเมืองอยู่เป็นระยะ “ทีมข่าวการเมือง” รวบรวมท่าทีเหล่านั้นเป็น Timeline ว่าสถานการณ์แบบไหนที่สมาคมสื่อมวลชนจะเสนออะไรและเสนออย่างไร

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม(อพส.)เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วนกับสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ที่เข้าไปบันทึกภาพเหตุการณ์ (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

 

หลังเกิดเหตุตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม ขณะพยายามฝ่าแนวกั้นตำรวจเพื่อเข้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชนขณะปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา และได้ทำให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วม “การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง”

โดยในแถลงการณ์ระบุว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อสื่อมวลชน “ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ” “เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำความจริงมาเสนอต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน” พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ “เคารพการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย” และตามมาด้วยการประกาศรับเรื่องร้องเรียนจากสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ตามมาด้วยการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วุฒิสภา ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ นั้น

ทั้งนี้เมื่อนับย้อนไปตั้งแต่วิกฤตทางการเมืองก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การออกแถลงการณ์ของสมาคมสื่อก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่สมาคมสื่อก็มีการออกแถลงการณ์แสดงท่าทีต่อเหตุการณ์ทางการเมือง หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอยู่เสมอ อย่างเช่น มีการออก  “ข้อเสนอแนะในการฟื้นฟูประชาธิปไตย” หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อย่างเช่น การออกแถลงการณ์หลัง “เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปก. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์เมื่อ 22 กรกฎาคม 2549

อย่างเช่น การออกแถลงการณ์ หลังจากที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในปี 2551 เรียกร้องให้สื่อมวลชนเลือกข้างในช่วงที่มีการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, การออกแถลงการณ์ “องค์กรวิชาชีพสื่อ” หลังมีการข่มขู่ผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวการปะทะระหว่างผู้สนับสนุนพันธมิตรฯ กับผู้สนับสนุน นปช. ที่ ถ.วิภาวดีรังสิต ซอย 3

อย่างเช่น ที่ในเดือนเมษายนปี 2552 หลังสลายการชุมนุม นปช. ได้ร่วมกับองค์กรอื่นๆ ออกแถลงการณ์ “แถลงการณ์ร่วมขอให้จัดการความขัดแย้งระยะยาวโดยใช้ความเป็นธรรม”

อย่างเช่น นายกและอุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย “เดินทางไปเยี่ยม” นักข่าวที่ได้รับบาเจ็บหลังสลายการชุมนุม นปช. ในเดือนพฤษภาคม 2553

อย่างเช่น เมื่อจะมีการเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็ได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯลฯ ออกแถลงการณ์เรื่อง ก้าวข้ามความรุนแรงสู่สังคมปรองดอง

และล่าสุดก็มีการออกแถลงการณ์ “เรียกร้องรัฐบาล ยุติการแทรกแซงสื่อ” หลังเกิดกรณีที่สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือไปยังประธานทีวีพูล เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 เพื่อขอลดจำนวนช่างภาพและผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7  ที่ถูกวางตัวไว้เป็นทีมล่วงหน้าในนามทีวีพูลเพื่อรายงานข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียนที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยอ้างว่ามีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนสื่อมวลชนและระบบรักษาความปลอดภัย ฯลฯ

โดย “ทีมข่าวการเมือง” รวมรวมความเคลื่อนไหวสำคัญๆ จากสมาคมสื่อมวลชนต่างๆ นับตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ซึ่งทำให้เห็นท่าที/จุดยืนของสมาคมสื่อมวลชนในเงื่อนเวลานั้นๆ ว่าสมาคมสื่อมวลชน เสนอหรือไม่เสนออะไร และถ้าเสนอ เสนออย่างไร

 

แถลงการณ์และความเคลื่อนไหวสำคัญจากสมาคมสื่อมวลชน
เทียบกับเหตุการณ์ทางการเมือง

วันที่

เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง/ความเคลื่อนไหวสำคัญจากสมาคมสื่อมวลชน

4 ก.ย. 49

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เผยแพร่ “แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพ เรื่อง บทบาทสื่อมวลชนในสถานการณ์ปัจจุบัน”

“ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากการเข้ามาควบคุมและใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชนที่มีหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะสื่อวิทยุ และโทรทัศน์แล้ว ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจะสร้างสื่ออื่นที่รัฐไม่ได้ควบคุมอย่างทั่วถึง อาทิ สื่อหนังสือพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ต และสื่อข้อความสั้น (SMS) ซึ่งถือเป็นการสร้าง “สื่อเทียม” ที่เครือข่ายนักการเมืองพยายามใช้ประโยชน์สนองตอบเป้าหมายทางการเมืองของตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะจนสร้างความสับสนให้หลงเชื่อว่าสื่อมวลชนมีความแตกแยกเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล กับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล อันเป็นพฤติกรรมที่เคยเกิดขึ้นและนำไปสู่ความรุนแรงในชาติมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในอดีต”

19 ก.ย. 49

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ คปค.

24 ก.ย. 49

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ “ข้อเสนอแนะในการฟื้นฟูประชาธิปไตย”

“การยึดอำนาจการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน แม้ได้ช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองของชาติไปได้ในระดับหนึ่งแต่ก็ทำให้เกิดความกังวลถึงอนาคตบ้านเมืองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต” โดยมีข้อเสนอ 5 ข้อประกอบไปด้วย

1.ขอให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเร่งคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด

2.ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่จะนำมาประกาศบังคับใช้ ต้องให้หลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่น้อยกว่าที่เคยถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

3.แม้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ไม่ควรจะใช้อำนาจนั้นโดยพละการ การใช้อำนาจใดๆควรคำนึงถึงกระบวนการที่มีอยู่ปรกติ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม

4.ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอย่างกว้างขวาง และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นควรจะเป็นไปเพื่อความเคารพและฟื้นฟูหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

5.เพื่อให้การส่งผ่านอำนาจเป็นไปด้วยความราบรื่น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ควรจะให้สนับสนุนการรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศอย่างอิสระ ไม่มีอำนาจเหนือรัฐบาลชั่วคราว

1 ต.ค. 49

แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

1 ต.ค. 49

คปค. เปลี่ยนสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

26 ธ.ค. 49

เว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่คำกล่าว พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในงานเลี้ยงอาหารกลางวันผู้แทนสื่อมวลชนอาวุโส ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2549

11 ม.ค. 50

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์ “แถลงการณ์สมาคมวิชาชีพสื่อกรณี คมช. สั่งห้ามสื่อ วิทยุ- โทรทัศน์ เสนอข่าวอดีตผู้นำรัฐบาล”

“สมาคมฯ วิชาชีพจึงขอเรียกร้องให้ คมช. ทบทวนการใช้มาตรการดังกล่าวและเห็นว่า คมช. สามารถใช้วิธีการอื่นๆ เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงแก่สาธารณะและสื่อมวลชนได้อย่างถูกต้อง มากกว่าการใช้อำนาจควบคุม”

“สมาคมวิชาชีพสื่อฯ เชื่อมั่นในการใช้วิจารณญาณของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และปฏิเสธการครอบงำหรือแทรกแซงสื่อของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อย่างไรก็ตามในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองขณะนี้ สมาคมวิชาชีพสื่อฯขอเรียกร้องให้เพื่อนสื่อมวลชนเพิ่มความระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารออกไปสู่สาธารณชน เพื่อป้องกันมิให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่ไม่หวังดี หรือก่อให้เกิดความสับสนยิ่งขึ้น”

5 มี.ค. 50

เว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการเผยแพร่ปาฐกถา “คิดเพื่อประเทศไทย” เนื่องในวันนักข่าว ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และต่อมามีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ “เปิดใจ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ วันนักข่าว 5 มีนาคม” สัมภาษณ์โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

30 พ.ค. 50

ตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย

12 ก.ค. 50

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เผยแพร่ “แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง ขอให้พิจารณายุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ...........”

โดยในแถลงการณ์ระบุว่ารัฐบาลควรพิจารณายุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า “1.บทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ มีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๔๙ มาตรา ๓ รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ที่กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการลงประชามติ ในหมวดว่าด้วยเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างชัดแจ้ง

2.กระบวนการในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจบุคคลหรือคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้ง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจอย่างกว้างขวางโดยปราศจากการตรวจสอบ ดังนั้น การตรากฎหมายลักษณะนี้ จึงควรกระทำในช่วงเวลาที่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

3.เนื่องจากกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลในการดำเนินการกรณีเกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อประเทศนั้น อาทิ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก ย่อมเพียงพอต่อการนำมาใช้ควบคุมสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงได้อยู่แล้ว การพยายามออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวในช่วงที่ประเทศอยู่ระหว่างการมีรัฐบาลชั่วคราว อาจทำให้เกิดเงื่อนไขความไม่พอใจของกลุ่มที่ต้องการขัดขวางกระบวนการปฏิรูปการเมืองที่กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี โดยการกล่าวหาว่ารัฐบาลนี้ สนับสนุนให้มีการสืบทอดอำนาจของกลุ่มเผด็จการทหารที่ยังคงอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศอยู่ในขณะนี้”

“จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรข้างต้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ............... ในทันที เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการการเลือกตั้งของประชาชนก็ตาม”

22 ก.ค. 50

ตำรวจสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์

27 ก.ค. 50

“แถลงการณ์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรณีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปก. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

“ที่ผ่านมาผู้ประท้วงมักแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อนักข่าวถึงขั้นที่นักข่าวไม่กล้าเปิดเผยตัวขณะทำข่าวการชุมนุมประท้วงเพราะเกรงว่า จะถูกทำร้าย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนกลับสันนิษฐานเองว่า นักข่าวเป็นฝ่ายตรงข้ามและไม่ได้ปฏิบัติต่อนักข่าวอย่างที่ควรเป็นในฐานะที่นักข่าวเป็นผู้ส่งสารที่ต้องการนำความจริงไปแจ้งให้ประชาชนคนไทยได้รับทราบ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยใคร่ขอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจภารกิจหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักข่าวที่ต้องออกไปทำข่าวในเหตุการณ์ประท้วงการปะทะกันรวมถึงการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย”

“สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขอเรียกร้องให้องค์กรสื่อต่าง ๆ ใช้ความรอบคอบและวิจารณญาณอย่างเต็มที่ในการสื่อข่าวและนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน โดยตระหนักถึงความอ่อนไหวของสถานการณ์บ้านเมืองที่จำเป็นต้องได้รับข่าวสารที่มีความสมดุลย์เหมาะสมระหว่างคุณค่าข่าวและความรับผิดชอบเพราะนักข่าวไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่นำเสนอความจริงเท่านั้น หากแต่ยังต้องมีความรับผิดชอบในฐานะประชาชนคนไทยที่จะต้องช่วยประคับประคองประเทศชาติให้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้”

23 ธ.ค. 50

เลือกตั้งทั่วไป 23 ธ.ค. 50 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง

29 ม.ค. 51

สมัคร สุนทรเวช รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

7 ก.พ. 51

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาตินำโดย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข แถลงข่าวจบภารกิจ คมช.

15 ก.พ. 51

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เผยแพร่ “แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปัจจุบันกับสื่อมวลชน”

“องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้ง 6 องค์กร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้สามารถให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนได้อย่างสมดุลและเป็นธรรม และตอบสนองสิทธิในการสื่อสารของประชาชนอย่างจริงจัง”

25 พ.ค. 51

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนมาปักหลักเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์

26 ส.ค. 51

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยกระดับการชุมนุม โดยเข้าไปชุมนุมภายในสถานีโทรทัศน์ NBT ที่ทำการกระทรวง 3 แห่ง ก่อนถอนตัวออกมาและเข้าไปชุมนุมภายในทำเนียบรัฐบาล

26 ส.ค. 51

มีการออกแถลงการณ์ร่วมของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง “การคุกคามเสรีภาพและขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน”

“จากกรณีกลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมด้วยอาวุธที่อ้างตัวว่า เป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้บุกรุกเข้าไปในสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ NBT เมื่อช่วงเช้ามืดของวันอังคารที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาโดยบังคับให้พนักงานของของสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวยุติการทำหน้าที่และได้ตัดสัญญาณการออกอากาศเพื่อปิดกั้นไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนโดยให้เหตุผลว่าสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลนั้น

จากพฤติกรรมของกลุ่มดังกล่าว ไม่ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม ถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างรุนแรงและอุกอาจที่สุดครั้งหนึ่งเพราะมีการคุกคาม ข่มขู่และขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน 

ดังนั้นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วยสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอประณามการกระทำดังกล่าวและถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้”

26 ส.ค. 51

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย  เผยแพร่ "แถลงการณ์ร่วม (ฉบับที่ ๒) เรื่อง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง" ต่อกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้สื่อมวลชนเลือกข้าง

"...ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องและท่าทีดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นความคิดและทัศนคติที่ไม่ถูกต้องสอดคล้องกับหลักการในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

ในทางกลับหากสื่อมวลชนทำหน้าที่รายงานข่าวที่บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือยอมตนเป็นเครื่องมือการปลุกระดมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ยิ่งจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าในสังคมและอาจนำเหตุการณ์ไปสู่ความรุนแรงได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในสังคมไทยไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

สำหรับข้อเสนอให้มีการเลือกข้างนั้น ขอยืนยันว่า สื่อมวลชน ทุกแขนงเลือกอยู่ข้างประชาชนและความถูกต้องอยู่แล้วแต่ไม่จำเป็นต้องเสนอข่าวไปในทิศทางเดียวกัน"

2 ก.ย. 51

ผู้ชุมนุม นปช. เคลื่อนไปปะทะกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีผู้บาดเจ็บหลายสิบคน และมีผู้เสียชีวิต 1 คน

2 ก.ย. 51

สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีประกาศภาวะฉุกเฉิน

2 ก.ย. 51

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย รวมกันออกแถลงการณ์ “แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” มีข้อเสนอ 6 ข้อ ตอนหนึ่งระบุว่า

“1. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เห็นด้วยกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อปี 2548 เนื่องจากพระราชกำหนดฉบับนี้ มิได้ตราขึ้นโดยหลักนิติธรรม และมีเนื้อหาขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยชัดแจ้ง นอกจากนี้ กระบวนการในการตรากฎหมายที่ใช้รูปแบบของการออกพระราชกำหนด ซึ่งไม่ใช่กระบวนการตรากฎหมายตามปกติ ยังเป็นการรวบรัดและมุ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ”

“2. พระราชกำหนดฉบับนี้ จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เหตุผลและที่มาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังกล่าว ถือว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะขณะนี้ สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น คลี่คลายลงจนอยู่ในขั้นที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรงได้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจประกาศสถานฉุกเฉินฯ และควรยกเลิกประกาศนี้ในทันที”

“3. เป็นที่ประจักษ์ชัดโดยสื่อมวลชนต่างๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์เมื่อกลางดึกคืนวันจันทร์ที่ 1 กันยายน 2551 ประกอบกับการให้สัมภาษณ์ของรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่า แกนนำ รวมทั้งรัฐมนตรีบางคนของพรรครัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการปลุกเร้าและนำขบวนกลุ่ม ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ถือเป็นการสร้างสถานการณ์ให้เลวร้ายและสร้างความชอบธรรมในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงขอประณามการกระทำดังกล่าว”

9 ก.ย. 51

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี

14 ก.ย. 51

ยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉิน

18 ก.ย. 51

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

24 พ.ย. 51

พันธมิตรยกระดับการชุมนุมไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่างเคลื่อนขบวนมีการปะทะกับผู้สนับสนุนกลุ่ม นปช. ที่วิภาวดีซอย 3

1 ธ.ค. 51

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยมีการออกแถลงการณ์ “องค์กรวิชาชีพสื่อ”

“ด้วยแนวโน้มวิกฤตความรุนแรงได้ทวีขึ้นเป็นลำดับ ก่อให้เกิดความแตกแยกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายในหมู่ประชาชน โดยแต่ละฝ่ายพร้อมใช้อาวุธทำร้ายต่อกันและกัน ในสถานการณ์เช่นนี้สื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ มีความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ว่า สื่อถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน แต่ด้วยจิตวิญญาณความเป็นสื่อมวลชน เรายังคงมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง เพื่อให้เกิดความถูกต้องในบ้านเมือง” พร้อมข้อเรียกร้อง 4 ข้อ

1. ขอประณามการกระทำความรุนแรงต่อนักข่าว ช่างภาพ ของสื่อมวลชนทุกแขนงในทุกกรณี อาทิ การข่มขู่ทำร้ายช่างภาพที่บันทึกภาพการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ที่บริเวณ ซอยวิภาวดี 3 กรุงเทพมหานคร  การข่มขู่คุกคามนักข่าวและช่างภาพที่จังหวัดเชียงใหม่ขณะทำข่าวการทำร้ายชายชราคนหนึ่งจนเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม การปิดล้อมศูนย์ข่าวภาคเหนือของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส การใช้อาวุธสงครามยิงถล่มสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี จนผู้ดำเนินรายการหวุดหวิดจะได้รับอันตราย การตรวจค้นและตรวจสอบข่าวหรือภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยการ์ดพันธมิตรที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะการใช้อาวุธปืนยิงรถถ่ายทอดสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ข่าวทีเอ็นเอ็น หรือการบังคับนักข่าวจากหนังสือพิมพ์บางฉบับให้ถอดเสื้อรณรงค์ยุติความรุนแรง รวมทั้งการประกาศให้นักข่าวเอ็นบีทีออกจากพื้นที่การชุมนุม ฯลฯ การกระทำเหล่านี้องค์กรวิชาชีพสื่อไม่อาจยอมรับได้ และถือเป็นการกระทำรุนแรง ขัดขวางการทำหน้าที่สื่อและคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข่าวสารของประชาชน เราจึงขอเรียกร้องต่อผู้ชุมนุมทุกฝ่ายยุติการกระทำดังกล่าวโดยเด็ดขาด

2. ไม่ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งจะรุนแรงอย่างไร สื่อก็มีหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงที่รอบด้านทุกแง่ทุกมุมของทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมได้ตระหนักและเข้าใจการทำหน้าที่ของสื่อ ทั้งนี้ หากกลุ่มใดคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ย่อมสูญเสียการสนับสนุนจากสาธารณชน

3. ขอเรียกร้องต่อองค์กรสื่อทุกแขนง ไม่ว่าจะสังกัดไหน มีใครเป็นเจ้าของ ควรทำหน้าที่และบทบาทของตนเองอย่างเหมาะสม ในการเสนอข่าวสารข้อมูลที่ไม่เอนเอียง อคติ เสนอข่าวด้านเดียว ฉาบฉวย หรือปราศจากมูลความจริง หรือเสนอเสนอข่าวที่ปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือเสนอความจริงเพียงบางส่วน

ในสถานการณ์ความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงของสังคมขณะนี้ สื่อควรนำเสนอข่าวที่สมดุล รอบด้าน ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย นักข่าว ผู้ประกาศข่าว และผู้ดำเนินรายการข่าว ต้องทำงานอยู่บนพื้นฐานความเป็นมืออาชีพ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ ที่จะไปเพิ่มความรุนแรงหรือความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะเอเอสทีวี แม้จะเป็นสื่อที่มีจุดยืนเฉพาะตน หรือเอ็นบีทีซึ่งเป็นสื่อของรัฐ หรือวิทยุชุมชนบางสถานี ต้องคำนึงถึงสถานภาพความเป็นสื่อสารมวลชน ไม่ควรละเลยการนำเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงและตรวจสอบได้ และไม่ควรยอมตนเป็นเครื่องมือทางการเมือง

4. สำหรับเพื่อนนักข่าวทุกแขนงให้ระมัดระวังการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ และต้องตระหนักรู้ตลอดว่า ในพื้นที่การชุมนุมมีอารมณ์ความตึงเครียดของมวลชนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นักข่าวอาจตกเป็นเป้าถูกกระทำด้วยความรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิด หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมวลชน ดังนั้น นักข่าวต้องทำหน้าที่ด้วยความอดทน รอบคอบ ให้หลีกเลี่ยงการตอบโต้และยั่วยุในทุกกรณี

2 ธ.ค. 51

ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย

2 ธ.ค. 51

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศเลิกการชุมนุม

17 ธ.ค. 51

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

26 มี.ค. 52

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงและย้ายมาชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล

9 เม.ย. 52

นปช. เคลื่อนไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

11 เม.ย. 52

นปช. ไปประท้วงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมืองพัทยา มีการบุกเข้าไปในสถานที่จัดการประชุม ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศภาวะฉุกเฉิน และยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อส่งผู้นำต่างประเทศเสร็จสิ้น

12 เม.ย. 52

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศภาวะฉุกเฉิน และมีการปะทะกับคนเสื้อแดงที่กระทรวงมหาดไทย

13 เม.ย. 52

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้แต่อย่าใช้ความรุนแรง และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เครือข่ายนักวิชาการไม่เอาความรุนแรง

ออกแถลงการณ์ “แถลงการณ์ร่วมขอให้ใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขวิกฤตประเทศ” โดยเสนอความคิดเห็นดังต่อไปนี้ 1. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงอาจจะทำให้สถานการณ์ยิ่งร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ขอ ให้รัฐบาลและกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) ใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อควบคุมสถานการณ์เท่านั้น อย่าใช้ในการปราบปรามหรือสลายการชุมนุม เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปจนอาจกลายเป็นจลาจล และเมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว รัฐบาลควรยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยเร็วที่สุด

2. สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจาก อาวุธ และต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น แต่การชุมนุมของ นปช. ในขณะนี้มีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการบุกโรงแรม บุกกระทรวงมหาดไทย ทุบทำลายรถในขบวนของนายกรัฐมนตรี การปิดถนนสายต่างๆ การยึดรถเมล์ การยึดรถก๊าซ ล้วนแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพนอกขอบเขตของรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมายทั้งสิ้น แกนนำ นปช. ต้องยุติการใช้ความรุนแรง การละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และต้องควบคุมผู้ชุมนุมไม่ให้ใช้ความรุนแรง รวมถึงยุติการสร้างความเกลียดชังผ่านทางสื่อในเครือข่ายดังที่กำลังทำอยู่ใน ขณะนี้ สำหรับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ต้องยุติการยั่วยุและปลุกระดมที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง และถ้าหากเกิดเหตุร้ายแรงมากไปกว่านี้ พ.ต.ท. ทักษิณ ไม่อาจที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้

3. ขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาการชุมนุมที่ละเมิดกฎหมายโดยใช้มาตรการทางกฎหมายอย่าง เหมาะสม และใช้กระบวนทางกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง การดำเนินคดีกับ นปช. ก็ต้องดำเนินคดีกับประชาชนกลุ่มอื่นที่ใช้เสรีภาพเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญด้วยอย่างเสมอกัน

4. ขอให้รัฐบาลใช้แนวทางสันติวิธีและการเจรจาในการแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นหนทางในการนำความสงบกลับคืนมาสู่ประเทศไทยได้อย่างแท้จริง รัฐบาลควรต้องเปิดการเจรจากับแกนนำ นปช. และพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมือง และขอให้ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยที่ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. กลับมาใช้เวทีรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาของประเทศ

5. สื่อมวลชนทุกแขนง ต้องรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนรอบด้าน รวมทั้งต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารที่จะรายงานออกไป เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนและเกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์

13 เม.ย. 52

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ “แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเรื่อง การคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน” มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่

1.ขอ ให้แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยุติคำปราศรัยที่ทำให้ผู้ชุมนุมมีความเข้าใจผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ มวลชน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อตัวนักข่าวได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สื่อมวลชนทุกแขนง มีหน้าที่ต้องเข้าไปรายงานข้อเท็จจริงจากการกระทำของทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน เพื่อนำเสนอให้สาธารณชนพิจารณาสถานการณ์และตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยสมาคมนักข่าวฯ ได้ประสานแกนนำนปช.บางคน ให้เข้าใจถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และสร้างหลักประกันความปลอดภัยในการทำหน้าที่ของนักข่าวแล้ว

2.ขอให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ดำเนินการด้วยความละมุน ละม่อม และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและนักข่าว พร้อมทั้งแจ้งการปฏิบัติหน้าที่ที่ชัดเจนแก่สื่อมวลชน ก่อนเข้าปฏิบัติการใดๆ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทุกครั้ง

3.ขอให้นักข่าวของสื่อมวลชนทุกแขนง ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมทุกจุด ระมัดระวังเหตุการณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และให้ตระหนักถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และใช้ความระมัดระวังขั้นสูงสุด ในการปฏิบัติหน้าที่ในทุกพื้นที่

4.ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง ยึดมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมการทำหน้าที่สื่อมวลชน ที่ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง นำเสนอข้อเท็จจริงรอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และควรตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลก่อนนำเสนอ ไม่เน้นการแข่งขันในเรื่องความรวดเร็วในการเสนอข่าว เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน และความเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ และขอเรียกร้องให้กองบรรณาธิการสื่อทุกแขนง ช่วยกันกำชับดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักข่าว โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จุดเสี่ยงและล่อแหลม

14 เม.ย. 52

แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม

14 เม.ย. 52

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ชมรมแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์เพื่อประชาชน (ชพพ.) เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้แต่อย่าใช้ความรุนแรง เครือข่ายนักวิชาการไม่เอาความรุนแรง ออกแถลงการณ์ “แถลงการณ์ร่วมขอให้จัดการความขัดแย้งระยะยาวโดยใช้ความเป็นธรรม” มีข้อเสนอ 4 ข้อ

1. การชุมนุมของ นปช. ที่ยุติลงโดยไม่มีเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยสามารถแก้ปัญหาการชุมนุมได้โดยใช้แนวทางสันติวิธี อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความรุนแรงที่ยังเกิดจากผู้ชุมนุมบางส่วน การปะทะกันระหว่างประชาชน และความปลอดภัยของผู้ชุมนุม

2. ขอให้รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงสื่อมวลชนงดการกระทำและการใช้ถ้อยคำ ที่ทำให้เกิดความเกลียดชังต่อผู้ชุมนุม และความเกลียดชังต่อกันและกันในหมู่ประชาชน ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้ง ความแตกแยก และความรุนแรงในสังคมไทยยิ่งมีมากขึ้น ถึงแม้จะมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งที่ละเมิดกฎหมาย แต่เขาเหล่านั้นก็เป็นประชาชนคนหนึ่งในสังคมไทย ผิดถูกอย่างไรต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม  

3. ขอให้รัฐบาลใช้กระบวนทางกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง การดำเนินคดีกับแกนนำ นปช. ต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับการดำเนินคดีกับประชาชนทุกกลุ่มที่ใช้สิทธิและเสรีภาพเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ

4. การยุติการชุมนุมเป็นการระงับความขัดแย้งเพียงชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวให้สังคมไทยที่ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในทางการเมืองแต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติและโดยเคารพสิทธิของกันและกัน สังคมไทยต้องแก้ไขความแตกแยกที่สาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งในทางการเมือง กติการัฐธรรมนูญ และความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย โดยขอให้มีคณะ กรรมการอิสระค้นหาความจริงที่เป็นสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้งที่นำมาสู่ การใช้ความรุนแรงในสังคมไทย และขอให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาโดยเร่งด่วน

17 เม.ย. 52

เหตุลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้รับบาดเจ็บสาหัส

17 เม.ย. 52

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออก แถลงการณ์ร่วมเรื่อง ให้ตำรวจเร่งติดตามจับกุมคนร้ายที่ลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล

"สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 2 องค์กร จึงขอประณามการกระทำของกลุ่มคนร้ายที่ลอบสังหารนายสนธิและขอเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องให้เร่งติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างในการข่มขู่คุกคามสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบ วิชาชีพสื่อมวลชนต่อไป รวมทั้งต้องแถลงผลความคืบหน้าของคดีต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยแก่ชีวิตและร่างกายของประชาชน สื่อมวลชน และประชาชนคนไทยโดยส่วนรวมรวมทั้งการแสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกด้วย"

24 เม.ย. 52

ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

26 ก.พ. 53

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีชินคอร์ป

10 มี.ค. 53

ออกแถลงการณ์ “หยุดความรุนแรง” ในนามเครือข่าย “หยุดทำร้ายประเทศไทย – หยุดใช้ความรุนแรง” และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันแสดงพลังของสังคมไทยในการระงับยับยั้งความรุนแรงไม่ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม จึงขอเสนอแนวทางป้องกันแก้ไขความรุนแรงด้วยกันร่วมกันรณรงค์ “ไม่เอาความรุนแรง” ด้วยการใช้สัญลักษณ์ หรือข้อความต่างๆ ที่เป็นสันติวิธี และเป็นการเตือนสติทุกฝ่ายไม่ให้ใช้ความรุนแรง ได้แก่ การใช้ ธงชาติ ติดที่หน้าบ้านหรือที่ทำงาน เพื่อขอให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักว่าเราอยู่ร่วมในประเทศเดียวกัน มีปัญหาต้องแก้ไขโดยไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งเป็นการทำร้ายประเทศของเรา หรือใช้ สีขาว ใส่เสื้อขาว ผูกริบบิ้นขาว หรือใช้ ดอกไม้ หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่สื่อถึงสันติภาพ และการไม่ใช้ความรุนแรง และขอเชิญประชาชนที่เห็นด้วยกับ “การไม่เอาความรุนแรง” ร่วมกันรณรงค์ด้วยการส่งข้อความ “ไม่เอาความรุนแรง” ไปยังประชาชนกลุ่มต่างๆเพื่อช่วยกันสร้างพลังของสังคมไทยในการระงับยับยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในครั้งนี้

12 มี.ค. 53

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มชุมนุมใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนิน

12 มี.ค. 53

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ “แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อ เรื่องการทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้ง” มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ

1. ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงตระหนักว่าเรากำลังทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง เราขอสนับสนุนให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่อย่างเข็มแข็ง เสนอข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรใช้ภาษาข่าวที่รุนแรงดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งอาจเป็นการยั่วยุให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้สื่อมวลชนทุกแขนงต้องยึดมั่นในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด ด้วยการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านมากที่สุด

2. ขอให้ฝ่ายผู้ชุมนุมและรัฐบาลตระหนักว่าสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ทำหน้าที่รายงานข่าวและข้อเท็จจริงตามหน้าที่ของตนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่ คุกคามและแทรกแซงไม่ว่าจากฝ่ายใด ซึ่งหากสื่อถูกข่มขู่และคุกคามจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ จะผลกระทบกับประชาชนที่ไม่สารมารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลและข้อเท็จจริง

3. นอกจากนี้องค์กรวิชาชีพสื่อฯได้ประชุมร่วมกับกันนักข่าวที่ทำข่าวในพื้นที่ต่างๆของการชุมนุมเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้องค์กรสื่อต่างๆดูแลด้านสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับการทำข่าวกรณีที่เกิดความวุ่นวายเช่นอุปกรณ์ประเภทหมวกกันน็อก แว่นป้องกันแก๊สน้ำตา

28 มี.ค. 53

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แถลงการณ์ร่วม การคุมคามองค์กรสื่อมวลชนด้วยอาวุธสงคราม

“องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอประณามการกระทำอันเป็นการคุกคามสังคมและสื่อมวลชนด้วยอาวุธสงคราม และขอให้เพื่อนร่วมวิชาชีพหนักแน่นในการทำหน้าที่รายงานข่าวสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงนี้อย่างถูกต้อง รอบด้าน และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับแรงกดดันใดๆ”

3 เม.ย. 53

ผู้ชุมนุม นปช. เคลื่อนไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์

8 เม.ย. 53

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

8 เม.ย. 53

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ร่วม “การสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเว็บไซต์”

ตามที่รัฐบาลอ้างอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการปิดกั้นสัญญาณสถานีโทรทัศน์พีทีวี รวมทั้งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาข่าวสารความคิดเห็นทางการเมือง เช่นเว็บไซต์ www.prachatai.com ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมานั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้หารือร่วมกันแล้ว มีความเห็นดังต่อไปนี้

1. การปิดกั้นสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีทีวี และการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่แสดงความคิดเห็นดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 ที่บัญญัติว่า “การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้” ทั้งนี้ รัฐบาลจะสามารถใช้กฎหมายพิเศษเพื่อจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนได้ ก็เพียงการห้ามเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วนเท่านั้น

2. การที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่า การดำเนินการปิดกั้นสัญญาณและการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าว เพื่อป้องกันการบิดเบือนข่าวสาร ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ขณะที่รัฐบาลเองยังใช้สถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐในการเสนอรายการที่มีลักษณะนำเสนอข้อมูลด้านเดียว อีกทั้งยังปล่อยให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอื่นๆ นำเสนอเนื้อหาในลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมมากขึ้นนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่รัฐบาลอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “สองมาตรฐาน” และสร้างความชอบธรรมแก่ผู้ชุมนุมมากขึ้น

3. การปิดกั้นสื่อในลักษณะนี้ ย่อมเป็นการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน จึงอาจทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นสื่อดังกล่าว ออกมาเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์มีความซับซ้อนและอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่รายงานข่าวสารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยความครบถ้วนรอบด้าน โดยนำเสนอความจริงและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วยการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการยุติปัญหา

สุดท้ายนี้การแสดงจุดยืนของทั้งสองสมาคมเป็นไปตามหลักการของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก  ไม่ประสงค์จะให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำแถลงการณ์ฉบับนี้ไปใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง

9 เม.ย. 53

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ร่วม ฉบับที่ 2 “การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนท่ามกลางวิกฤต”

ตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์กรณีรัฐบาลอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการปิดกั้นสัญญาณสถานีดาวเทียม รวมทั้งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาข่าวสารความคิดเห็นทางการเมืองบางส่วน ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมาตามความทราบแล้วนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และผู้แทนคณะกรรมการสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้หารือและมีมติให้แสดงจุดยืนเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจร่วมกัน ดังต่อไปนี้

1.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นว่า การใช้สื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อของรัฐหรือเอกชน ทั้งในรูปแบบของสถานีโทรทัศน์  สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม  สถานีวิทยุและวิทยุชุมชน  รวมทั้งเว็บไซต์  ในการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่เราไม่เห็นด้วยและขอประณามการใช้สื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ยุยงให้มีการใช้ความรุนแรง รวมทั้งกระทำการใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง

2.องค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันเร่งรัดให้เกิดกระบวนการบังคับใช้กฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในการวางกรอบกติกา และหลักเกณฑ์ในการควบคุมและตรวจสอบการใช้สื่อทุกประเภทให้เป็นไปตามกฎหมาย

3. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันจุดยืนคัดค้านการคุกคามสื่อมวลชนในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังเข้าปิดล้อมข่มขู่ การก่อวินาศกรรม รวมทั้งการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันในหลักการของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นหลักและไม่ประสงค์จะให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำแถลงการณ์ฉบับนี้ไปใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง

10 เม.ย. 53

มีการสลายการชุมนุม นปช. ใกล้เวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

11 เม.ย. 53

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ “ให้กำลังใจสื่อมวลชนในสถานการณ์วิกฤต”

“จากกรณีที่เกิดเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งหมายรวมถึงสื่อมวลชนทุกแขนงทั้งไทยและต่างประเทศที่ทำหน้าที่รายงานข่าว การปะทะครั้งนี้ ซึ่งได้รับบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน และหนึ่งในผู้เสียชีวิตคือนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพโทรทัศน์สำนักข่าวรอยเตอร์

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงขอแสดง ความเสียใจและห่วงใยกับการที่พี่น้องสื่อมวลชนทุกแขนงต้องได้รับบาดเจ็บทั้ง ทางร่างกายและจิตใจจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดี เพราะนอกจากภายใต้สถานการณ์วิกฤตที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ภายใต้กรอบ จริยธรรมของวิชาชีพอย่างบริสุทธิ์ใจแล้ว ยังต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างมากในการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองให้ปลอดภัย เพื่อรอดพ้นจากสถานการณ์วิกฤตเช่นนั้นอีกด้วย

ภายใต้ภาวะการณ์เช่นนี้ ขอให้คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายเข้าใจการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในพื้นที่ว่า ได้พยายามทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ อย่าทำร้ายหรือใช้ท่าทีในลักษณะข่มขู่คุกคามเพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนเกิดเหตุการณ์บานปลายขึ้นได้

สุดท้ายนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับสื่อมวลชนทุกแขนงที่ต้องทำหน้าที่อย่างทุ่มเทและ เหน็ดเหนื่อยในเหตุการณ์ครั้งนี้และเหตุการณ์ที่ผ่านมา และขอให้พี่น้องสื่อมวลชนทุกแขนงระมัดระวังตัวเองในการทำหน้าที่ในสถานการณ์ วิกฤตเช่นนี้ รวมทั้งเรียกร้องไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของพี่น้องสื่อมวลทุกแขนงได้กรุณา พิจารณาดูแลด้านสวัสดิการและเยียวยากับสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ครั้งนี้อย่างสมเหตุผลด้วย”

13 พ.ค. 53

เริ่มสลายการชุมนุม นปช. บริเวณรอบแยกราชประสงค์

17 พ.ค. 53

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง “การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต” ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนถอนตัวออกจากพื้นที่ชุมนุมตามเวลาที่ทาง ศอฉ. กำหนด

“ตามที่เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ได้ชุมนุมประท้วงและสถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายนำไปสู่ความรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก  โดยล่าสุดทางศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ชุมนุมภายในเวลา 15.00 น ของวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 นั้น

ด้วยความตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและภาระหน้าที่ในการรายงานข้อเท็จจริงออกสู่สาธารณะชนอย่างถูกต้องรอบด้าน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงมีข้อเสนอแนะมายังผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและองค์กรต้นสังกัด ดังต่อไปนี้

1. ขอแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนถอนตัวออกจากพื้นที่ชุมนุมตามเวลาที่ทาง ศอฉ.กำหนด โดยทันที รวมถึงการถอนตัวออกจากพื้นที่ที่มีการปะทะด้วยอาวุธสงคราม เพื่อไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ที่ปลอดภัยเพียงพอ

2. ขอเรียกร้องให้ต้นสังกัดของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงคำนึงถึงความปลอดภัยของนักข่าวและช่างภาพที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ โดยใช้วิจารณญาณในการดูแลสั่งการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตัวแก่นักข่าวช่างภาพอย่างเหมาะสม

3. ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงระมัดระวังการนำเสนอข่าวและภาพข่าว ด้วยการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน  พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวและภาพข่าวในลักษณะที่เป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงหรือซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น

อนึ่ง ทางสมาคมนักข่าวฯ ขอแจ้งว่า “ปลอกแขนป้ายผ้าสีเขียว” ที่มีตราสัญลักษณ์ของสมาคมฯ เป็นสมบัติของสมาคมนักข่าวฯ และยืนยันการใช้ปลอกแขนดังกล่าวว่าจะต้องใช้ควบคู่กับบัตรประจำตัวพนักงานของต้นสังกัด  เพื่อใช้ในการแสดงตนเมื่อมีการตรวจสอบ โดยขอให้ทุกฝ่ายเคารพในการปฏิบัติหน้าที่ของนักข่าวและช่างภาพ

ในขณะเดียวกัน สมาคมนักข่าวฯ ขอความร่วมมือจากเพื่อนสื่อมวลชนช่วยกันตรวจสอบ หากพบว่ามีบุคคลภายนอกแอบอ้างในการใช้ปลอกแขนดังกล่าว ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่า เป็นการแอบอ้างจริง สมาคมฯ สามารถขอเรียกคืนปลอกแขนดังกล่าวได้”

18 พ.ค. 53

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง ขอเรียกร้องให้แกนนำผู้ชุมนุมดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้กับผู้สื่อข่าว ระบุว่า “สืบเนื่องจากขณะนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวในสถานที่ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการณ์แห่งชาติ (นปช.) และพื้นที่ใกล้เคียง ได้เกิดความไม่ปลอดภัย โดยมีผู้สื่อข่าวและช่างภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้รับบาดเจ็บแล้วหลายราย”

“ล่าสุด เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (18 พ.ค.) ได้เกิดเหตุการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายร่างกายทีมงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศระหว่างเข้าสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ภายในวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นเขตอภัยทานจนได้รับบาดเจ็บก่อนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (การ์ด) นปช. จะเข้าช่วยเหลือจนได้รับความปลอดภัย

เหตุการณ์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อสวัสดิภาพของผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมทางวิชาชีพในการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวการชุมนุม ดังนั้น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอเรียกร้องไปยังผู้เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1.ขอให้แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการณ์แห่งชาติ (นปช.) ทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องการรายงานข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน พร้อมทั้งแกนนำต้องช่วยดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้กับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมนุม

2.ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ดำเนินการด้วยความละมุนละม่อม และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าว พร้อมทั้งแจ้งการปฏิบัติหน้าที่ที่ชัดเจนแก่สื่อมวลชนก่อนเข้าปฏิบัติการใดๆ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทุกครั้ง”

19 พ.ค. 53

แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม ทหารเข้าควบคุมพื้นที่ราชประสงค์

20 พ.ค. 53

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง การคุกคามสื่อมวลชนในเหตุจลาจล

“จากเหตุการณ์ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้ากดดันผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนแกนนำประกาศยุติการชุมนุม และผู้ชุมนุมบางส่วนได้ก่อการจลาจลด้วยการวางเพลิงเผาสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งของทางราชการและภาคเอกชน นอกจากนี้ ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ปรากฏว่านายฟาบิโอ โพเลนชี ช่างภาพชาวอิตาเลียน ถูกกระสุนปืนเสียชีวิต และยังมีผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษได้รับบาดเจ็บรวมอยู่ด้วย

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มผู้ชุมนุมตามเวทีย่อยต่างๆ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับเวทีหลัก เช่นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและสี่แยกคลองเตย กล่าวหาว่าสื่อมวลชนไม่เป็นกลางและประกาศให้ผู้ชุมนุมทำร้ายนักข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม รวมถึงการบุกเข้าไปเผาทำลายทรัพย์สินและอาคารที่ทำการของสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ โดยอาคารที่ทำการของสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ได้รับความเสียหายจากการวางเพลิงจนต้องหยุดการออกอากาศเป็นการชั่วคราว ขณะที่เครือบางกอกโพสต์ก็ตกเป็นเป้าหมายของการบุกรุกทำลาย แต่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาช่วยสกัดกั้นได้ทัน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนร่วมงานของนายฟาบิโอ โพเลนชีอย่างสุดซึ้ง พร้อมทั้งขอย้ำไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ว่า สื่อมวลชนไม่ใช่ “คู่ขัดแย้ง” เราเพียงทำหน้าที่นำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยต่อสาธารณชนดังนั้น สื่อมวลชนจึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่คุกคาม ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ พร้อมทั้งขอเรียกร้องมายังฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. ขอประณามการข่มขู่คุกคามผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและสำนักงานสื่อมวลชนทุกแขนงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการกระทำของกลุ่มแนวร่วม นปช.ที่นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ยังเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอีกด้วย และขอเรียกร้องให้กลุ่มแนวร่วม นปช.ยุติการข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนโดยทันที

2. ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับสื่อมวลชนอย่างเต็มที่ โดยไม่ปล่อยให้สื่อมวลชนตกเป็นเป้าหมายในการข่มขู่คุกคาม ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว ช่างภาพหรือสำนักงานของสื่อมวลชน

ในภาวะที่ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบากจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามบานปลายจนสร้างความเสียหายและมีผลกระทบต่อภาวะจิตใจของคนไทย ตลอดจนเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สื่อมวลชนจึงจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อนำข้อเท็จจริงมานำเสนออย่างรอบด้านและเป็นธรรม โดยปราศจากความหวาดกลัวจากการขุมขู่คุกคามในทุกรูปแบบ

25 พ.ค. 53

เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รายงานข่าว “สมาคมฯ เยี่ยมให้กำลังใจนักข่าวที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำข่าวการชุมนุม นปช.”

21 ธ.ค. 53

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

9 พ.ค. 54

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา ให้มีผลบังคับตั้งแต่ 10 พ.ค. 54 และกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป 3 ก.ค. 54

20 มิ.ย. 54

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง ก้าวข้ามความรุนแรงสู่สังคมปรองดอง

“ด้วยเหตุนี้ 5 องค์กรหลักภาคธุรกิจ และ 2 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้หารือร่วมกันจนได้ข้อสรุป ในการเสนอข้อเรียกร้อง 3  ประการ ดังนี้

1.  พรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง และหลีกเลี่ยงหรือไม่ดำเนินการด้วยประการใดๆ ที่จะนำประเทศกลับไปสู่ความรุนแรงในทุกรูปแบบ

2.  พรรคการเมืองทุกพรรคต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองว่า จะให้ความสำคัญกับกระบวนการลดความขัดแย้งอันจะนำไปสู่ความปรองดองของประเทศ โดยให้ถือเป็นสัญญาประชาคมว่าหลังการเลือกตั้งจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

3. การสร้างความปรองดองจะต้องดำเนินการโดยองค์กรที่เป็นอิสระและไม่ใช่คู่ขัดแย้ง โดยมีกระบวนการที่เหมาะสมและเป็นธรรม

30 มิ.ย. 54

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้อย่าใช้ความรุนแรง เครือข่ายนักวิชาการไม่เอาความรุนแรง กลุ่มปลาดาวเครือข่ายเยาวชนโลก แพทยสภา ออกแถลงการณ์เรื่อง ก้าวข้ามความรุนแรงสู่สังคมปรองดอง ฉบับที่ 2

3 ก.ค. 54

จัดการเลือกตั้งทั่วไป ผลพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้จำนวน ส.ส. มากที่สุด

5 ส.ค. 54

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

3 เม.ย. 55

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ “เรียกร้องรัฐบาล ยุติการแทรกแซงสื่อ” หลังกรณีที่สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือไปยังประธานโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 เพื่อขอลดจำนวนช่างภาพและผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7  ที่ถูกวางตัวไว้เป็นทีมล่วงหน้า เพื่อรายงานข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน 2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในนามทีวีพูล โดยอ้างว่ามีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนสื่อมวลชนและระบบรักษาความปลอดภัย  ให้คงเหลือเฉพาะทีมที่ติดตามนายกรัฐมนตรีและคณะอย่างเป็นทางการเท่านั้น โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิเสธการตอบคำถามของนางสาวสมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 สี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 ที่สอบถามว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลเป็นหนึ่งในประเด็นการเจรจาด้วยหรือไม่

“จดหมายขอลดจำนวนสื่อมวลชนจากสำนักโฆษกฯ ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของกองบรรณาธิการข่าว เป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในวิสัยปกติที่พึงทำ  เนื่องจากแต่ละสถานีมีดุลยพินิจในการคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสมทำหน้าที่รายงานข่าว  รัฐบาลจะต้องคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระและต้องเคารพการตัดสินใจของกองบรรณาธิการ ไม่เช่นนั้นสื่อมวลชนก็ไม่สามารถจะทำหน้าที่ผู้รายงานข้อมูลข่าวสารที่มีความรับต่อสังคมได้อย่างเต็มที่   ในขณะที่รัฐบาลยืนยันความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจที่สัญญาในฐานะตัวแทนประชาชน  รัฐบาลก็ควรต้องพร้อมรับการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา”

24 พ.ย. 55

องค์การพิทักษ์สยามจัดชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาหลังเกิดกระทบกระทั่งกับผู้ชุมนุม ต่อมาแกนนำประกาศยุติการชุมนุมในช่วงเย็น

24 พ.ย. 55

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง “การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง”

จากกรณีที่ช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ได้เกิดเหตุการณ์ยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม ขณะพยายามฝ่าแนวกั้นบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อเข้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า จนเกิดเหตุวุ่นวายกระทั่งมีกลุ่มผู้ชุมนุม ตำรวจ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บและถูกควบคุมตัว โดย พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงถึงสาเหตุที่มีการควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชน โดยอ้างว่ามีการถ่ายภาพขณะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเห็นร่วมกันว่า

1.การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชนขณะปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำความจริงมาเสนอต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเคารพการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย

2.การนำเสนอข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง สื่อมวลชนทุกแขนงต้องเสนอข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้สาธารณชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รอบด้านมากที่สุด และไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำมาเป็นข้ออ้างในการยั่วยุเพื่อให้เกิดความรุนแรง

3.เพื่อสร้างมาตรการความปลอดภัยให้กับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ภาคสนาม สมาคมวิชาชีพทั้ง 2 สมาคม ได้ประสานงานกับแกนนำผู้ชุมนุม และฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อใช้ปลอกแขนสีเขียวมีตราสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตลอดระยะเวลาการชุมนุม โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

27 พ.ย. 55

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดให้ผู้สื่อข่าวที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเมื่อ 24 พ.ย. ลงทะเบียนร้องเรียนเพื่อยืนยันถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างชอบธรรม โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการร้องเรียนทาง www.tja.or.th และส่งเรื่องพร้อมหลักฐานมาที่สมาคมนักข่าวฯ เพื่อให้การช่วยเหลือและประสานงานกับสภาทนายความเพื่อดำเนินคดีและเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป

29 พ.ย. 55

เว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข่าว นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม(อพส.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา

29 พ.ย. 55

เว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข่าว นายชวรงค์ ลิมปัทม์ปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายวิสุทธิ์  คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  พร้อมด้วยกรรมการบริหารสมาคมฯ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายและกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

30 พ.ย. 55

เว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข่าว นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยื่นจดหมายถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน – ขอให้พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

30 พ.ย. 55

เว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข่าว นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยื่นจดหมายถึงประธานกรรมการคณะสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้พิจารณาตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท