Skip to main content
sharethis

บทความในสื่อมาเลเซียกินีระบุถึงปัญหาจากการล็อกดาวน์ซ้ำซากจากรัฐบาลมาเลเซียโดยอ้างเรื่อง COVID-19 ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาได้แค่ชั่วคราว แต่กลับส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนทำงานกับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทำให้ชีวิตผู้มีรายได้ปานกลางยากลำบาก


ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

ในวันที่ 2 ก.ค. 2564 มีบทความจากจดหมายของ อวตาร์ สิงห์ เผยแพร่ในสื่อมาเลเซียกินีระบุว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่อยากลำบากอย่างหนักหน่วงสำหรับชาวมาเลเซียจำนวนมาก จากกการที่รัฐบาลมาเลเซียสั่งให้มีการล็อกดาวน์ควบคุมโรคระบาดมาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ชวนให้ผู้คนรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้มีแผนการอะไรในระยะยาวมาตั้งแต่แรก จากการที่พวกเขาประกาศล็อกดาวน์เป็นครั้งที่ 4 แล้วในรอบ 16 เดือนที่ผ่านมา

มีผู้คนหลายแสนคนที่ตกงาน ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางก็ได้รับผลกระทบทั้งจากการถูกบีบให้ต้องผิดกิจการหรือจำนวนมากที่อยู่ในภาวะใกล้ล่มจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจ

บทความระบุว่าการล็อกดาวน์เป็นแค่การแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้ได้เกิดนกว่า 7-14 วัน อีกทั้งไม่ควรจะนำมาใช้ซ้ำๆ เกิน 30 วัน เพราะจะนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ว่าจะกับประเทศใดก็ตามแม้แต่ประเทศโลกที่หนึ่ง และกระทบกับคนไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรก็ตาม

สิงห์ระบุว่าการล็อกดาวน์ของรัฐบาลไม่ได้เป็นไปเพื่อการช่วยชีวิตผู้คนอีกต่อไปทั้งที่มันเป็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการล็อกดาวน์ แต่การล็อกดาวน์ในตอนนี้กำลังกลายเป็นการทำลายชีวิตและทำลายรายได้ของผู้คน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก และอาจจะนำไปสู่การล่มสลายของระบบอุตสาหกรรม ธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มคนรายได้ปานกลางที่เป็นผู้คอยส่งเสริมรายได้ให้รัฐบาลทุกปี

กำลังซื้อส่วนใหญ่มาจากคนรายได้ปานกลางที่มักจะเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นหัวหอกของอุตสาหกรรมนี้ ที่มีการจ้างงานผู้คน อีกทั้งยังประกอบด้วยกลุ่มวิชาชีพอย่างสถาปนิก, ทนายความ, ผู้จัดการ, ซูเปอร์ไวเซอร์ และข้าราชการ รวมถึงคนที่ทำงานแนวหน้าด้านสาธารณสุุขอย่างแพทย์และพยาบาลด้วย กลุ่มคนเหล่านี้กำลังสูญเสียเงินเก็บของตัวเองและหลายคนก็สูญเสียงานหรือธุรกิจล่ม ทำให้ในตอนนี้ประชาชนต่างก็อยู่ภายใต้วงจรอุบาทว์ทางเศรษฐกิจ

จดหมายของสิงห์ยังวิจารณ์รัฐบาลว่า มีการให้ความช่วยเหลือกลุ่มรายได้ปานกลางเหล่านี้น้อยมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ต้องดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือคนระดับล่างสุดของสังคมก่อน เช่นคนที่มีรายได้แบบวันต่อวันหรือคนที่รับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่แบกรับความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้ แต่ขณะเดียวกันก็มีเพื่อนของสิงห์ที่เป็นหมอเคยบอกเขาว่ารัฐบาลกลางควรจะเล็งเห็นด้วยว่าถ้าหากกลุ่มคนรายได้ปานกลางเหล่านี้ธุรกิจล่มก็จะเก็บภาษีได้น้อยลงดังนั้นเงินเดือนของข้าราชการก็จะถูกตัดหรืออาจจะมีการลดตำแหน่งลงเกิดขึ้น

มีการเปรียบเทียบเรื่องนี้กับเหตุการณ์ในอดีตของเยอรมนีสมัยเศรษฐกิจตกต่ำปี 2472-2475 ที่นายกรัฐมนตรีอนุรักษ์นิยมทุนนิยม ไฮน์ริช บรือนิง ลดสวัสดิการการว่างงาน ลดงบประมาณที่จะให้กับข้าราชการ ทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมากแต่ไม่มีโครงการสร้างงานจากรัฐ ซึ่งถึงแม้จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวหดสั้นลงแต่กลับทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเลวร้ายแบบหยั่งรากลึกยิ่งขึ้น และส่งผลสะเทือนตามมาเมื่อกลุ่มรายได้ปานกลางและกลุ่มวิชาชีพสูญเสียการงานและทรัพย์สินจนทำให้พรรคการเมืองของเขาถ่ายแพ้ในการเลือกตั้งหลังจากนั้นเนื่องจากความไม่พอใจของกลุ่มคนเหล่านี้

เรื่องนี้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับรัฐบาลสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย (NSC) ที่ตัดขาดตัวเองจากโลกความเป็นจริงและไม่สนใจสภาพจิตใจของผู้คนเดินถนนทั่วไปจนการตัดสินใจและนโยบายต่างๆ สร้างหายนะให้กับประเทศชาติและกับประชาชน

มีการยกตัวอย่างกรณีโครงการช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อมหรือ SMEs ของรัฐซาบาห์ที่ไปไม่ถึงมือของกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ มีเจ้าของ SMEs จำนวนมากที่เล่าเรื่องความไม่พอใจในการที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานกึ่งรัฐบาลที่ควรจะทำหน้าที่กระจายความช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่กลับมีการปฏิเสธคำร้องของพวกเขาด้วยข้ออ้างเล็กๆ น้อยๆ

เรื่องเหล่านี้นำมาสู่คำถามที่ว่าถ้ากลุ่มรายได้ปานกลางเหล่านี้ล่มสลายลงขึ้นมาจริงๆ รัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไป


เรียบเรียงจาก
LETTER | Collapse of the middle-class, Avtar Singh, Malaysiakini, 02-07-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net