Skip to main content
sharethis

อแมนดา เนลล์ อิว ผู้กำกับภาพยนตร์ "Tiger Stripes" ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับภาพยนตร์ของเธอที่ถูกทางการมาเลเซียเซ็นเซอร์ก่อนนำออกฉายในประเทศตัวเอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยชนะรางวัลเมืองคานส์ และได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ เธอบอกว่าฉบับที่ถูกรัฐบาลตัดบางส่วนทิ้งนี้ไม่ใช่ฉบับเดียวกับที่เคยฉายในต่างประเทศและไม่นับเป็น "ภาพยนตร์ที่พวกเราสร้างขึ้น"

Amanda Nell Eu ผู้กำกับ Tiger Stripes (2023) ที่มา: Vulcan Post

ภาพยนตร์แหกขนบเรื่อง "Tiger Stripes" จากผลงานของผู้กำกับชาวมาเลเซีย อแมนดา เนลล์ อิว เป็นเรื่องราวแนวดราม่า การก้าวผ่านวัย (coming-of-age) ของวัยรุ่นหญิงอายุ 12 ปี ที่ร่างกายของเธอเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าคนอื่นจนทำให้เธอถูกขับไล่ไสส่งโดยเพื่อนในโรงเรียน จนทำให้เธอเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเองและสู้เพื่อเสรีภาพของตัวเอง

ทว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถูกเซ็นเซอร์โดยทางการมาเลเซีย โดยตัดออกบางฉาก โดยที่อิวพูดถึงฉากที่ถูกตัดออกไปว่าเป็นฉากที่แสดงให้เห็นถึง "ความเบิกบานใจของหญิงวัยรุ่นในมาเลเซีย ผู้ที่แตกต่างจากคนอื่น ถูกเข้าใจผิด หรือมีความอยากที่จะแสดงออกแตกต่างจากคนอื่น"

สื่อวาไรตี้ระบุว่า Tiger Stripes (แปลตรงตัวว่า "ลายเสือ") เป็นภาพยนตร์แหกขนบดั้งเดิม ที่ได้ฉายครั้งแรกในฉบับที่ไม่ถูกเซ็นเซอร์ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ซึ่งได้รับความชื่นชมอย่างมากในฐานะภาพยนตร์มาเลเซียเรื่องแรกในรอบหลายปีที่ได้เข้าฉายเมืองคานส์ และได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสัปดาห์นักวิจารณ์ซึ่งเป็นรางวัลที่คู่ขนานไปกับรางวัลหลักเพื่อเป็นการส่งเสริมนักทำภาพยนตร์หน้าใหม่ นอกจากนี้ภาพยนตร์ของอิวยังมีกำหนดจะได้ฉายเป็นภาพยนตร์เปิดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของสิงคโปร์ รวมถึงได้รับเลือกให้ส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ด้วย

อิว ออกแถลงการณ์ในหน้าเฟสบุคของตัวเองวิจารณ์การที่รัฐบาลมาเลเซียเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของเธอว่า "ภาพยนตร์ Tiger Stripes จะได้เข้าฉายแบบถูกจำกัดมากที่โรงภาพยนตร์ในประเทศ(มาเลเซีย) วันที่ 19 ต.ค. นี้" ในขณะที่เธอบอกว่าเธอยินดีที่ผู้คนพูดถึงเรื่องนี้กันมากและเธอก็ทำภาพยนตร์เรื่องนี้โดยนึกถึงผู้ชมชาวมาเลเซียเป็นหลัก แต่เธอก็ไม่ยอมรับการที่ภาพยนตร์ของเธอถูกเซ็นเซอร์ก่อนที่จะได้ฉายในประเทศ

อิวระบุว่าจากการที่เธอใช้ชีวิตในฐานะศิลปินและผู้ผลิตภาพยนตร์ในมาเลเซีย เธอเล็งเห็นว่า "พวกเราเคยชินกับการที่งานของพวกเราหรือเสียงของพวกเราถูกเซ็นเซอร์" และบอกว่าภาพยนตร์ฉบับที่ถูกเซ็นเซอร์ในมาเลเซียนั้น "ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่พวกเราทำขึ้น และมันก็ไม่ใช่ภาพยนตร์เดียวกับที่ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของสัปดาห์นักวิจารณ์ที่เมืองคานส์"

อิวบอกว่าการที่มาเลเซียเซนเซอร์ฉากการแสดงออกของวัยรุ่นที่ "ต่อสู้เพื่อการมีอยู่ของเธอในโลกใบนี้" นั้น นับเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับพวกเขา เพราะมันทำให้ภาพแทนของเด็กวัยรุ่นแนวนี้ถูกเซ็นเซอร์ออกจากสายตาของประชาชน สำหรับบริษัท Ghost Grrrl Pictures ที่ผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้ มีหลักการของบริษัทคือต้องการต่อสู้เพื่อเสียงเหล่านี้ และเพื่อส่งเสริมให้มี "พื้นที่ปลอดภัย" สำหรับเสรีภาพในการแสดงออก พวกเขาจึงหวังว่าพวกเขาจะมี "เสรีภาพในการหารือเรื่องต่างๆ อย่างเปิดกว้างและไม่มีการด่วนประณาม และลงโทษกันเอง หรือจำเป็นต้องแอบซ่อนเรื่องต่างๆ ที่พวกเราหวาดกลัว"

ภาพโปสเตอร์ Tiger Stripes (2023) ที่มา: Vulcan Post

ภาพยนตร์ของฮิว ยังมีฉากต่างๆ ที่แอบวิจารณ์สังคมเคร่งศีลธรรมของมาเลเซียและแนวคิดชายเป็นใหญ่ของมาเลเซีย เช่น มีตัวละครครูใหญ่ที่เป็นเสมือนภาพแทนในเชิงล้อเลียนของระบอบอำนาจนิยม, โรงเรียนที่ไร้ความเห็นอกเห็นใจต่อการมีประจำเดือนของเด็กนักเรียน และในช่วงหนึ่งของเรื่องก็มีนักเรียนบ่นว่านักเรียนเชื้อสายจีนได้คะแนนมากกว่านักเรียนเชื้อสายมลายู

ในมาเลเซียมีการใช้หน่วยงานภาครัฐ 8 หน่วยงาน ในการพิจารณาเซ็นเซอร์ เช่น กระทรวงมหาดไทย, คณะกรรมการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ (LPF) และ หน่วยงานสหพันธรัฐอิสลาม (JAKIM) ในมาเลเซียมีประวัติการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ทั้งในและนอกประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ว่าจะในสมัยที่รัฐบาลมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดก็ตาม

รัฐบาลมาเลเซียมักจะอ้างสาเหตุที่ทำการเซ็นเซอร์ว่าเป็นเพราะเรื่องความอ่อนไหวทางศาสนา และต้องการดำรงไว้ซึ่งความสมานฉันท์ในสังคม รวมไปถึงท่าทีต่อต้านความหลากหลายทางเพศอย่างแข็งกร้าว และอ้างเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางการเมืองกับชาติอื่นๆ

ความช่างเซ็นเซอร์ของรัฐบาลมาเลเซียยังได้สร้างความขัดแย้งกับสตูดิโอฮอลลิวูดที่มีความหลากหลายมากขึ้นและมีการคำนึงถึงผู้คนอย่างครอบคลุมมากขึ้น เช่น การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ฮอลลิวูดที่นำเสนอฉากเกี่ยวกับความหลากลายทางเพศในหลายๆ เรื่องแม้เพียงแค่ไม่กี่นาที เช่น เรื่อง "โฉมงานกับเจ้าชายอสูร" (ฉบับปี 2560) และภาพยนตร์อย่าง "ธอร์: ด้วยรักและอัสนี" และ "บัซ ไลท์เยียร์"

มาเลเซียมีความอ่อนไหวต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศมาก ถึงขั้นให้หน่วยงานรัฐอิสลาม "JAKIM" ทำหน้าที่คอย "แก้ไข" เพศวิถีชาว LGBTQ+ ให้ตรงกับมาตรฐานที่ศาสนาอิสลามยอมรับ

การที่มาเลเซียมีความอนุรักษ์นิยมจัดเช่นนี้ ทำให้นักแสดงที่มีชื่อเสียงจากโลกตะวันตกหลายคนไม่อยากแสดงที่มาเลเซีย เช่นกรณีล่าสุดคือนักร้องชื่อดัง เทย์เลอร์ สวิฟต์ ตัดประเทศมาเลเซียออกจากเป้าหมายการทัวร์คอนเสิร์ต Eras ของเธอ  และไม่ให้มีการฉายภาพยนตร์คอนเสิร์ตสุดฮิตอย่าง “Taylor Swift: The Eras Tour” ในมาเลเซีย

อิวระบุในแถลงการณ์ว่า "การถูกสั่งให้เรานำเสนออะไรได้หรือไม่ได้ และการจำกัดการแสดงออกทางศิลปะในมาเลเซียนั้น เป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายต่อสังคมเรา พวกเราเชื่ออยู๋เสมอมาว่าศิลปะมีพลังที่จะทำให้เกิดการพูดคุยหารือกันอย่างเปิดกว้างไปในทางที่ดี เพื่อให้มีการรับฟังเสียงและเรื่องราวที่หลากหลาย เพื่อให้มีการเรียนรู้กันมากขึ้น"

อิวระบุอีกว่า "ตามความเห็นของพวกเราแล้ว วิธีการที่ปลอดภัยที่สุดในการที่จะได้พูดออกมา การที่จะได้ถามออกมา หรือการที่จะได้หารือกันนั้น คือการทำมันผ่านทางศิลปะ แล้วพวกเราก็เชื่อและเคารพในตัวผู้ชมชาวมาเลเซียว่ามีวุฒิภาวะมากพอที่จะตัดสินใจเลือกอะไรตามวิจารณญาณของตัวเองได้"

เรียบเรียงจาก

‘Tiger Stripes’ Director Amanda Nell Eu Denounces Malaysian Censored Release of Oscar-Hopeful Film, The Variety, 19-10-2023

แถลงการณ์จากหน้าเฟสบุ๊คของ Amamda Nell Eu, Facebook, 20-10-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net