Skip to main content
sharethis

พรรคคอมมิวนิสต์จีนปรับข้อมูล "แผนที่มาตรฐาน" ปักปันเขตแดนและเขตน่านน้ำตามมุมมองของตัวเอง สร้างข้อพิพาทให้กับประเทศใกล้เคียงหลายประเทศ ทั้งอินเดียและประเทศแถบทะเลจีนใต้ อย่างไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, มาเลเซีย โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ระบุ การกำหนดเขตแดนของจีนไม่ได้วางอยู่บนหลักฐานอะไรเลย การที่จีนทำเช่นนี้มีแต่จะทำให้คำถามเรื่องเขตแดนมีความยุ่งยากมากขึ้นเท่านั้น

 

8 ก.ย. 2566 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีการปรับข้อมูลที่อ้างว่าเป็น "แผนที่มาตรฐาน" เป็นประจำทุกปี โดยมีการเพิ่มอาณาเขตที่ทางการจีนอ้างว่าเป็นของประเทศจีนเข้าไปด้วย ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านมักจะมองว่าเป็นมาตรการที่มีเจตนาร้ายในการคุกคามแบบลัทธิจักรวรรดินิยม

แต่สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีน "แผนที่มาตรฐาน" นี้ถือว่าเป็นเอกสารศักดิ์สิทธิ์ เป็นตราแห่งความชอบธรรม และความทะเยอทะยานที่แผ่ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องถูกนำไปบรรจุลงในตำราเรียนแบบไม่มีการเปลี่ยนแปลง ต้องถูกแจกจ่ายโดยบริษัทต่างๆ และถูกแปะอยู่บนข้างฝาของสถานที่ทำงานและห้องเรียน

การปรับปรุงแผนที่ของจีนในครั้งล่าสุดนี้ ส่งผลให้หลายประเทศไม่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และไต้หวัน ประเทศเหล่านี้ต่างก็ประกาศต่อต้านอย่างหนักแน่นต่อ "แผนที่มาตรฐาน" ของจีน โดยที่ทางอินเดียต่อต้านในเรื่องที่มีการระบุพื้นที่อักไสจิน และอรุณาจัลประเทศไว้เป็นส่วนหนึ่งของจีนด้วย

รัฐอรุณาจัลประเทศนับเป็นรัฐในอินเดียที่มีพรมแดนติดต่อกับรัฐอัสสัมและนาคาแลนด์ มีพรมแดนส่วนที่เป็นข้อพิพาทกับจีนคือเส้นแบ่งแม็กมาน ส่วนอักไสชิกเป็นที่ราบสูงกว้างใหญ่ในลาดัก รัฐชัมมูและกัษมีระ ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาคุนหลุนของจีนกับเทือกเขาคาราโครัมทางเหนือของอินเดีย ตอนที่จีนเข้ายึดครองทิเบตเมื่อปี 2493 พวกเขาได้ส่งทหารเข้าไปตัดถนนผ่านอักไสชินชนเกิดปัญหาข้อพิพาทพรมแดนกับอินเดียนับตั้งแต่นั้นมา

นอกจากพื้นที่ดังกล่าวนี้แล้ว การวางเขตพรมแดนยังทำการรวมเอาประเทศไต้หวันเข้าไปด้วย รวมถึงอ้างสิทธิเหนือพื้นที่น่านน้ำทะเลจีนใต้อย่างกว้างขวาง รวมถึงที่ยังคงเป็นข้อพิพาทอยู่ด้วยหลายแห่ง

ประเทศเวียดนามเป็นประเทศล่าสุดที่ร่วมต่อต้านแผนที่ของจีนด้วย โฆษกกระทรวงต่างประเทศของเวียดนาม Phan Thu Hang ได้กล่าวย้ำว่าประเทศมีจุดยืนอย่างหนักแน่นมาโดยตลอดในเรื่องการมีอธิปไตยเหนือ หมู่เกาะฮหว่างซา (พาราเซล) และหมู่เกาะจรึงซา (สแปรตลีย์) รวมถึงมีการคัดค้านการอ้างสิทธิของจีนที่อาศัยการอ้าง "เส้นไข่ปลา" ในทะเลตะวันออก ซึ่งทางโฆษกการต่างประเทศเวียดนามบอกว่าการวางเส้นพรมแดนเช่นนี้เป็นโมฆะและถือเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติ โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 2525 (UNCLOS)

เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวโต้ตอบว่า การวาดแผนที่ของจีนควรจะต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายนานาชาติ UNCLOS อีกทั้งยังกล่าวอีกว่าอธิปไตยเขตแดนของอินโดนีเซียนั้นมีความคงเส้นคงว่าอยู่เสมอมา

สิ่งที่แผนที่จีนสร้างปัญหาให้กับอินโดนีเซียคือการที่จีนใช้ "เส้นประ 9 เส้น" เหนือทะเลจีนใต้ เพื่ออ้างสิทธิเหนือส่วนหนึ่งของหมู่เกาะขนาดเล็กนาทูนาที่อยู่ภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษทางน้ำขนาด 200 ไมล์ของอินโดนีเซีย

กระทรวงต่างประเทศของมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์โต้ตอบในเรื่องนี้เช่นกัน โดยระบุว่า ทางการมาเลเซียไม่ยอมรับการอ้างสิทธิเหนือเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้อยู่ฝ่ายเดียวที่มีการครอบคลุมมาถึงพื้นที่น่านน้ำของมาเลเซียด้วย อีกทั้งยังระบุว่าทางการมาเลเซียปฏิเสธเสมอมาถึงการอ้างอธิปไตยหรือขอบเขตอำนาจที่มาจากต่างประเทศอันเกี่ยวเนื่องกับประเด็นทะเลจีนใต้ และปฏิเสธเสมอมาว่าแผนที่ของจีนไม่ได้มีผลผูกมัดใดๆ กับประเทศตน

ทางการมาเลเซียระบุอีกว่า ประเด็นทะเลจีนใต้นั้นเป็นประเด็นที่ "มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน" ซึ่งควรจะมีการจัดการอย่างสันติและมีเหตุผลผ่านทางการเจรจาหารือและการไกล่เกลี่ยโดยตั้งอยู่บนฐานของกฎหมายนานาชาติ เช่นกฎหมาย UNCLOS

รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย แซมบรี อับดุล ดาดีย์ กล่าวว่า มาเลเซียได้ส่งโน้ตข้อความประท้วงจีนเรื่องแผนที่ดังกล่าวด้วย

ฟิลิปปินส์แถลงปฏิเสธแผนที่ของจีนบนฐานของเรื่องเส้นจุดประที่จีนใช้กำหนดเขตน่านน้ำของตัวเองในทะเลจีนใต้ กระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์แถลงว่า "การพยายามครั้งล่าสุดในการที่จะให้ความชอบธรรมแก่การอ้างเขตอธิปไตยของจีน ขอบเขตอำนาจเหนือเขตแดน และเขตน่านน้ำฟิลิปปินส์นั้น ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใดๆ เลยภายใต้กฎหมายนานาชาติ โดยเฉพาะกฎหมาย UNCLOS"

เจฟ หลิว โฆษกกระทรวงต่างประเทศของไต้หวันปฏิเสธแผนที่ของจีนที่มีการอ้างสิทธิเหนือเขตแดนไต้หวัน บนฐานที่ว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่เคยปกครองไต้หวัน" อีกทั้งยังกล่าวอีกว่า "ไม่ว่ารัฐบาลจีนจะทำการบิดเบือนจุดยืนอย่างไรก็ตามในเรื่องอธิปไตยของไต้หวัน พวกเขาก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงในเชิงวัตถุวิสัยในเรื่องการมีอยู่ของประเทศของเรา"

ทางด้าน อรินดัม บักจี โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย กล่าวว่า มีการยืนกรานทักท้วงอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับแผนที่ของจีน โดยสื่อให้ทางการจีนรับทราบเรื่องนี้ผ่านช่องทางการทูต บักจีระบุว่าข้ออ้างเรื่องเขตแดนของจีนไม่ได้วางอยู่บนหลักฐานอะไรเลย การที่จีนทำเช่นนี้มีแต่จะทำให้คำถามเรื่องเขตแดนมีความยุ่งยากมากขึ้นเท่านั้น

ฝ่ายจีนกล่าวตอกย้ำความเชื่อเดิมในเรื่อง "แผนที่มาตรฐาน" ของตัวเอง โดยที่โฆษกการต่างประเทศของจีน Wang Wenbin กล่าวว่าจุดยืนของจีนต่อทะเลจีนใต้นั้น "มีความคงเส้นคงวาและกระจ่างชัด" และเมื่อมีคำถามเกี่ยวกับการทักท้วงจากประเทศอื่นๆ เขาก็ตอบว่า "พวกเราหวังว่ากลุ่มต่างๆ ที่มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องนี้จะสามารถมองมันในเชิงวัตถุวิสัยและมองมันอย่างมีเหตุมีผลได้"

Wang กล่าวอีกว่า แผนที่ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่จีนปฏิบัติอยู่เป็นประจำทุกปีในการ "แสดงถึงอธิปไตยของตนเองแบบที่เป็นไปตามหลักกฎหมาย" อีกทั้งยังอ้างว่าทุกฝ่ายควรจะ "อยู่ในความสงบ" และ "อย่าตีความประเด็นเกินจริง"

 

 

กลายเป็นปัญหาท้าทายของ 'กมลา' ในการประชุมอาเซียน

กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่งจะเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเคยมีการวิเคราะห์เอาไว้ก่อนหน้าที่เธอจะเดินทางเยือนว่า แฮร์ริสจะเผชิญกับความคาดหวังว่าเธอจะต้องแสดงจุดยืนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในประเด็นที่จีนแสดงการรุกคืบต่อพื้นที่อาณาเขตทะเลจีนใต้ผ่านทางแผนที่ของพวกเขา

คารีน ฌอง-ปีแอร์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่า แฮร์ริสจะยืนยันการสนับสนุน "เสรีภาพเหนือพื้นที่ทางทะเล, การแก้ไขข้อพิพาทด้วยวิธีการสันติ และการยึดตามหลักกฎหมายนานาชาติ รวมถึงเสรีภาพในการเดินเรือด้วย"

แฮร์ริสให้สัมภาษณ์ต่อสื่อถึงความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีต่อสหรัฐฯ ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากร 2 ใน 3 ที่เป็นคนอายุ 35 ปีลงไป นับเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของสินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ มีการขนส่งสินค้าทางเรือ 1 ใน 3 ของโลกที่ต้องผ่านทะเลจีนใต้ เธอบอกอีกว่า เพราะเหตุนี้จึงต้องคอยให้ความสนใจต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในช่วง 10 - 30 ปีนี้

"ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งที่สุดจะขึ้นอยู่กับความคงเส้นคงวา การสื่อสาร ความเชื่อใจ และความสามารถในการทำงานร่วมกันและการพัฒนาความรู้สึกเชื่อมโยงกัน" แฮร์ริสกล่าว

อย่างไรก็ตามมีนักวิเคราะห์บางคนที่วิเคราะห์ว่า จีนยังมีแต้มต่อในเรื่องอิทธิพลต่อภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และสถาบันโลวีก็เคยนำเสนอรายงานระบุว่าจีนยังคงส่งอิทธิพลต่อเอเชียอาคเนย์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แฮร์ริสกล่าวชื่นชมอาเซียนว่า การที่เหล่าผู้แทนประเทศอาเซียนมารวมตัวกันในที่เดียวเพื่อ "แก้ไขปัญหาใหญ่ที่สุดที่โลกกำลังเผชิญ" จะเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึง "ความเข้มแข็ง" ของประเทศสมาชิกและสมาคมอาเซียนเอง

แต่ก็มีนักวิเคราะห์จากอินโดนีเซียที่เป็นศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดินนา ปราบโต ราฮาร์จา กล่าวในอีกมุมหนึ่งว่า โดยบอกว่าประเทศอาเซียนไม่ได้สามัคคีกันขนาดนั้น แต่ละประเทศต่างฝ่ายต่างก็แข่งขันกันเข้าหาสหรัฐฯ หรือจีนประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของตัวเอง

 

สะท้อนความฝันแบบจักรวรรดินิยมในอดีตของจีน

มีการตั้งข้อสังเกตจาก เอียน วิลเลียมส์ อดีตนักข่าวจาก Channel 4 และ NBC ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองจีน ระบุว่า การนำเสนอแผนที่ของจีนในครั้งนี้ออกมาในช่วงเวลาที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะเป็นช่วงก่อนหน้าที่จะมีการประชุมกลุ่มประเทศ G20 ที่จีนจะต้องไปร่วมประชุมที่อินเดียหนึ่งในประเทศคู่พิพาท แต่จีนอาจจะจงใจทำเช่นนี้เพื่อส่งสารว่าจีนไม่แคร์ว่าประเทศเพื่อนบ้านจะคิดอย่างไรก็เป็นไปได้

วิลเลียมส์กล่าวว่า การอ้างสิทธิเหนือเขตแดนของจีนเช่นนี้ดูจะสะท้อนให้เห็นการที่กลุ่มชาตินิยมจีนใฝ่ฝันถึงลัทธิจักรวรรดิ์นิยมในประวัติศาสตร์ โดยอ้างว่าพื้นที่เหล่านี้เคยเป็นพรมแดนในสมัยจักรวรรดิ์ราชวงศ์ชิง และพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มองว่าการนำดินแดนเหล่านี้คืนมาจะเป็นการทำให้ประเทศชาติกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

 

 

เรียบเรียงจาก

Not just India, China’s new map for 2023 angers 5 other countries too, Hindustan Times, 01-09-2023

https://www.hindustantimes.com/india-news/indonesia-malaysia-philippines-vietnam-and-taiwan-oppose-china-s-standard-map-in-south-china-sea-dispute-101693571220542.html

Key Challenges Await Harris at ASEAN Summit in Jakarta, Voice of American, 03-09-2023

https://www.voanews.com/a/key-challenges-await-harris-at-asean-summit-in-jakarta/7249730.html

China’s ‘standard map’ is a chilling reminder of its imperial ambitions, The Spectator, 03-09-2023

https://www.spectator.co.uk/article/chinas-standard-map-is-a-chilling-reminder-of-its-imperial-ambitions/

In Southeast Asian summit, Kamala Harris at center of White House efforts to oppose China, PBS, 07-09-2023

https://www.pbs.org/newshour/politics/in-southeast-asian-summit-kamala-harris-at-the-center-of-white-house-efforts-to-oppose-china

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%AA%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%99

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net