Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพประกอบ: vincent desjardins (CC BY 2.0)

มาเลเซียปฏิเสธข้อเรียกร้องของทางการจีนไม่ส่งตัวชาวอุยกูร์ 11 คนที่หลบหนีมายังมาเลเซียไปให้ทางการจีน และมีการส่งตัวชาวอุยกูร์เหล่านี้ไปยังตุรกีตามที่พวกเขาต้องการ ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่ามาเลเซียเริ่มตีห่างจากจีนมากขึ้น

ทางการมาเลเซียปล่อยตัวชาวอุยกูร์ที่ถูกคุมขัง 11 ราย ไปยังประเทศตุรกี หลังจากที่พวกเขาหลบหนีทางการจีนมายังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเคยแหกห้องขัง ตม. ไทยเมื่อปีที่แล้ว

ทนายความของชาวอุยกูร์เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่าทางการมาเลเซียส่งตัวชาวอุยกูร์ 11 คน ไปยังประเทศตุรกีโดยไม่สนใจข้อเรียกร้องจากทางการจีนที่ต้องการให้ส่งตัวชาวอุยกูร์ไปให้พวกเขา สื่อเดอะสตาร์จากมาเลเซียรายงานว่าการปล่อยตัวชาวอุยกูร์ในครั้งนี้อาจจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์กับจีนห่างเหินมากกว่าเดิม หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งล่าสุดคือมหาเธร์ โมฮัมหมัด สั่งยกเลิกโครงการที่ทำร่วมกับบริษัทของจีนมูลค่า 80,000 ล้านริงกิต (ราว 630,000 ล้านบาท)

ฟาห์มี โมอิน ทนายความของชาวอุยกูร์บอกว่าสำนักงานอัยการสูงสุดของมาเลเซียยกฟ้องข้อกล่าวหาต่อชาวอุยกูร์ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ชาวอุยกูร์เหล่านี้ถูกตั้งข้อหาเข้าประเทศมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย

ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมามาเลเซียก็ถูกกดดันจากทางการจีนให้ส่งตัวชาวอุยกูร์ให้ประเทศจีน แต่กลุ่มประเทศตะวันตกเรียกร้องไม่ให้มาเลเซียทำเช่นนั้น จากการที่จีนถูกกล่าวหาเรื่องการจับตัวชาวอุยกูร์ไปลงโทษ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการที่จีนกล่าวหาว่าชาวอุยกูร์ในพื้นที่มณฑลซินเจียงมีกลุ่มหัวรุนแรงที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระและวางแผนโจมตีชาวฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในจีน ขณะเดียวกันทางการจีนก็ถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์จากกรณีการทารุณกรรมผู้ต้องขังและการควบคุมพื้นที่ซินเจียงอย่างเข้มงวดในทางวัฒนธรรมและศาสนาซึ่งจีนปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

สื่อเดอะสตาร์ระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีชาวอุยกูร์หลายร้อยหรืออาจจะถึงหลายพันคนหนีออกจากพื้นที่ความไม่สงบซินเจียงไปยังตุรกีผ่านช่องทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนมากที่ถูกจับกุมอยู่ที่ไทยในช่วงปี 2557 ถึงแม้ว่าชาวอุยกูร์เหล่านี้จะระบุว่าตัวเองเป็นชาวตุรกีและเรียกร้องให้ส่งตัวพวกเขาไปตุรกีแต่ก็มีชาวอุยกูร์มากกว่า 100 คน ที่ถูกบีบให้ส่งตัวไปที่จีนในช่วงปี 2558 จนทำให้เกิดการประณามจากนานาชาติ

สำหรับมาเลเซียก็มีการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนก่อนหน้านี้ในสมัยของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ที่พยายามทำให้มาเลเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ซึ่งในสมัยของนาจิบก็มีการพิจารณาทำตามข้อเรียกร้องของจีนส่งตัวชาวอุยกูร์ 11 คน กลับประเทศก่อนหน้านี้ แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมัยของมหาเธร์ซึ่งเป็นคนที่ประกาศจุดยืนชัดเจนในเรื่องการต่อต้านการปราบปรามชุมชนชาวมุสลิม โดยที่ก่อนหน้านี้มหาเธร์ยังเคยวิจารณ์อองซานซูจีในเรื่องการจัดดการประเด็นความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาเขาประกาศว่าจะ "ไม่สนับสนุน" ซูจีอีกต่อไป


เรียบเรียงจาก

Defying China, Malaysia releases Uighur detainees, The Star, 11-10-2018
https://www.thestar.com.my/news/nation/2018/10/11/defying-china-malaysia-releases-uighur-detainees

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net