Skip to main content
sharethis

สื่อ Thai PBS ลงพื้นที่สอบถามชาว ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก ระบุไม่ต้องการให้นำกากแร่แคดเมียม กลับเข้ามาในพื้นที่อีก เพราะไม่มั่นใจในการดำเนินการ ซึ่งอาจกระทบกับสุขภาพประชาชน และขอให้เร่งตรวจสุขภาพของคนในพื้นที่ - ก.อุตฯ เผย ผลตรวจกากตะกอนแร่แคดเมียมจากตาก ไม่พบกัมมันตภาพรังสี ย้ำทำแผนขนย้ายต้องปลอดภัย ถูกหลัก รวดเร็ว


ที่มาภาพ: สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก 

14 เม.ย. 2567 Thai PBS  รายงานความคืบหน้า กรณีการพบกากแคดเมียม และกากสังกะสีรวม ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมนำมากลบฝังในพื้นที่ จ.ตาก

ล่าสุด วันนี้ (14 เม.ย.2567) ชาวตำบลหนองบัวใต้ อ.เมืองตาก สะท้อนว่า ไม่ต้องการให้นำกากแร่แคดเมียม กลับเข้ามาในพื้นที่อีก เพราะไม่มั่นใจในการดำเนินการ ซึ่งอาจกระทบกับสุขภาพประชาชน และขอให้เร่งตรวจสุขภาพของคนในพื้นที่

ทั้งนี้ พื้นที่เก็บกักแร่แคดเมียม ใน ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า บริเวณที่เก็บกากแร่แคดเมียม อยู่ใกล้กับน้ำปิงไม่ถึง 1 กม.และยังมีหมู่บ้าน ชุมชนในรัศมีใกล้เคียงนับพันหลังคาเรือน

บริเวณดังกล่าว มีพื้นที่ที่การเกษตร ซึ่งชาวบ้านมักจะปลูกข้าว มันสำปะหลัง เนื่องจากใกล้กับบริเวณแม่น้ำปิง ซึ่งนายสงัด พลูทอง ชาวบ้านในบริเวณ หมู่ 3 ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก จ.ตาก เป็นหมู่บ้านที่ใกล้เคียงกับบริเวณที่เก็บกากแร่มากที่สุด

ชาวบ้านต่างแสดงความคิดเห็น และความกังวล ว่าหากมีการนำกากแร่ จาก จ.สมุทรสาคร กลับมายังต้นทางที่ จ.ตาก ส่งผลกระทบทั้งวิถีชีวิตของชาวบ้าน และสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ

ส่วนการขนย้ายจากกากแคดเมียมกลับมายัง จ.ตาก คาดว่า จะเริ่มหลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ นายคริษฐ์ ปานเนียม สส.ตาก พรรคก้าวไกล ระบุว่า ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงต้องการให้ตรวจสุขภาพคนในชุมชนโดยรอบ เพื่อทำการเฝ้าระวังผลกระทบ

สาธารณสุขจังหวัดตาก ให้ข้อมูลว่าผลการตรวจเลือดและปัสสาวะผู้ปฏิบัติงานในบริเวณที่เก็บกากแคดเมียม 16 คน เป็นปกติ รวมถึงผลตรวจสอบแหล่งน้ำในบริเวณชุมชน พืชและเมล็ดข้าว ไม่พบสารปนเปื้อน

ก.อุตฯ เผย ผลตรวจกากตะกอนแร่แคดเมียมจากตาก ไม่พบกัมมันตภาพรังสี ย้ำทำแผนขนย้ายต้องปลอดภัย ถูกหลัก รวดเร็ว

เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2567 ว่า ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดการกากตะกอนแร่แคดเมียมของกระทรวงอุตสาหกรรม ประจำวันที่ 13 เม.ย. 2567 ว่าได้รับรายงานจากศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ศูนย์วิจัยฯ กรอ.) พบว่า ผลการตรวจสอบตัวอย่างกากตะกอนแร่แคดเมียม ที่เจอทุกจุด มีองค์ประกอบของธาตุทางเคมีตรงกันกับกากแร่จังหวัดตาก โดยไม่พบสารกัมมันตภาพรังสีและมีความชื้นเหลืออยู่เพียง 18% ส่วนแผนการขนย้ายกากฯ กลับสู่บ่อฝังกลบในจังหวัดตาก อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดตามความเห็นของกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขนย้ายเป็นไปอย่างปลอดภัย รวดเร็ว ถูกหลักมาตรฐานสากล

ดร.ณัฐพลฯ กล่าวว่า จากกรณีที่มีการตรวจพบและเจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดอายัดกากตะกอนแร่ที่บรรจุในถุง Big Bag ในพื้นที่ 5 จุด ประกอบด้วยจังหวัดสมุทรสาคร 3 จุด ชลบุรี 1 จุด และเขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 1 จุด นั้น จากรายงานผลการตรวจวัดองค์ประกอบของตัวอย่างกากตะกอนแร่ทั้ง 5 จุด ของศูนย์วิจัยฯ กรอ. ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์แบบ XRF หรือ X-Ray Fluorescence Spectrometer (การวิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของธาตุ โดยการวัดปริมาณรังสีเอกซ์ที่ปลดปล่อยออกมาจากธาตุองค์ประกอบที่แตกต่างกัน) พบว่า กากตะกอนแร่ทั้งหมดไม่พบสารกัมมันตภาพรังสีและกากตะกอนแร่ดังกล่าว มีคุณสมบัติต่างจากแคดเมียมปกติ (บริสุทธิ์ 100%) คือ เป็นกากตะกอนแร่ที่มีส่วนผสมของโลหะหลัก 3 ชนิด คือ แคดเมียม 30-48% สังกะสี 19-35% ทองแดง 11-20% และแคลเซียม 12-15% โดยปัจจุบันมีความชื้นเหลืออยู่ประมาณ 18% สอดคล้องกับองค์ประกอบของกากตะกอนแร่ในจังหวัดตาก จึงสามารถยืนยันได้ว่ากากตะกอนแร่ที่ตรวจพบและทำการยึดอายัดทั้งหมดนั้น เป็นการขุดและขนส่งมาจากแหล่งเดียวกัน คือบ่อคอนกรีตฝังกลบในจังหวัดตาก อย่างไรก็ตาม กากตะกอนแร่เหล่านี้ได้รับการปรับสภาพความเป็นกรดด่าง ลดความเป็นพิษ และถูกผสมด้วยปูนซีเมนต์ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายและการชะล้าง จึงมีความอันตรายและโอกาสการเข้าสู่ร่างกายที่ลดลง อีกทั้ง มีการจัดเก็บกากตะกอนแร่ดังกล่าวภายในถุง Big Bag โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในจุดที่ตรวจพบกากตะกอนทั้ง 5 จุด ระหว่างรอการขนย้ายกลับไปฝังกลบอย่างปลอดภัยในจังหวัดตาก

ดร.ณัฐพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แคดเมียม (Cadmium: Cd) เป็นโลหะหนักที่พบอยู่ในดิน ซึ่งกากตะกอนแร่แคดเมียมที่จังหวัดตาก ไม่พบสารกัมมันตรังสีที่จะแผ่รังสีก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ ส่วนใหญ่พบร่วมกับแร่สังกะสีเพราะเป็นโลหะที่มีสมบัติทางธรณีเคมีคล้ายคลึงกัน จึงเป็นสายแร่ที่อยู่คู่กัน โดยทั่วไปแหล่งแร่สังกะสีจะมีแคดเมียมผสมอยู่ประมาณ 0.1-5% สำหรับประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดตากเป็นแหล่งของสายแร่สังกะสี ทำให้มีแคดเมียมปนอยู่กับสังกะสีด้วยเช่นกัน โดยแคดเมียมถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน เช่น ใช้ฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะต่าง ๆ เพื่อความเงางาม ทนต่อการกัดกร่อน สารเพิ่มความคงตัวของพลาสติก จำพวกพีวีซี ผลิตเม็ดสี และผลิตแบตเตอรี่ขนาดเล็ก ถ่านไฟฉาย เป็นต้น ดังนั้น การทำเหมืองแร่สังกะสีในพื้นที่จังหวัดตาก นอกจากทำให้ได้ผลิตภัณฑ์อย่างแร่สังกะสีแล้ว จะได้กากตะกอนแร่ที่มีส่วนประกอบของแร่อื่น ๆ เป็นผลพลอยได้มาด้วย

”ปัจจุบันพบกากตะกอนแร่แคดเมียมจากการประเมินล่าสุดแล้ว จำนวนว 12,535 ตัน สำหรับแผนการขนย้ายกากตะกอนแร่กลับสู่บ่อฝังกลบในจังหวัดตาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดตามความเห็นของกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แผนการขนย้ายเป็นไปอย่างปลอดภัย รวดเร็ว ถูกหลักมาตรฐานสากล“ นายณัฐพลฯ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net