Skip to main content
sharethis

ผลตรวจพบคนงานโรงหลอมแคดเมียม จ.สมุทรสาคร มีสารแคดเมียมปนเปื้อนในร่างกาย 19 ราย สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน 8 ราย นำส่งเข้าโรงพยาบาลรักษาเบื้องต้น - สส.ก้าวไกล จี้รัฐบาลสอบกากแคดเมียมหาย คาดบางส่วนหลอมแล้ว มลพิษรั่วสู่ชุมชน ชี้ถึงเวลาต้องมีกฎหมาย PRTR เปิดเผยข้อมูลการเคลื่อนย้ายสารพิษให้ประชาชนรับทราบ

แฟ้มภาพ Thai PBS

แฟ้มภาพ Thai PBS 

8 เม.ย. 2567 หลายสื่อ อาทิ MCOT News FM 100.5  ThaiPost และ เนชั่นออนไลน์ รายงานตรงกันว่าศูนย์อนามัยที่ 5 ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำอุปโภคบริโภค และอาหารของประชาชนในชุมชนใกล้กับโรงงาน ส่งห้องปฏิบัติการสาธารณสุข กรมอนามัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม เพื่อตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารแคดเมียมในภาชนะกักเก็บน้ำในครัวเรือน การปนเปื้อนในอาหาร เพื่อหาแนวทางลดความเสี่ยงจากการสัมผัส และแนวทางการป้องกันให้กับประชาชน

ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ขอรายงานผลการปฏิบัติงานเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพเพิ่มเติม กรณีพบกากแคดเมียมและกากสังกะสี ดังนี้

1. ผลการเก็บตัวอย่างแคดเมียมในปัสสาวะของพนักงานโรงงาน จำนวน 11 ราย เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 พบมีสารแคดเมียมสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 8 ราย โดยทั้งหมดไม่มีอาการผิดปกติ ได้ประสานพนักงานโรงงานทั้ง 11 ราย ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสมุทรสาครในวันที่ 8 เม.ย. 2567 เพื่อตรวจยืนยันและให้การรักษาต่อไป

2. ติดตามพนักงานของโรงงานที่เหลืออีก 8 ราย เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ในวันที่ 8 เม.ย.  2567

3. เตรียมความพร้อมทีมสอบสวนโรค ลงพื้นที่สอบสวนโรคเพิ่มเติม เพื่อเฝ้าระวังและให้คำแนะนำ

4. โรงพยาบาลสมุทรสาครเตรียมความพร้อมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สถานที่ ยา เวชภัณฑ์ และสารแก้พิษ เพื่อรองรับพนักงานที่จะเข้ารักษาในวันที่ 8 เม.ย. 2567

5. ศูนย์อนามัยที่ 5 ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำอุปโภคบริโภค และอาหารของประชาชนในชุมชนใกล้โรงงาน จำนวน 11 ตัวอย่าง ส่งห้องปฏิบัติการสาธารณสุข กรมอนามัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม เพื่อตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารแคดเมียมในภาชนะกักเก็บน้ำในครัวเรือน การปนเปื้อนในอาหาร เพื่อหาแนวทางลดความเสี่ยงจากการสัมผัส และแนวทางการป้องกันของประชาชน

สส.ก้าวไกล จี้รัฐบาลสอบกากแคดเมียมหาย คาดบางส่วนหลอมแล้ว มลพิษรั่วสู่ชุมชน ชี้ถึงเวลาต้องมีกฎหมาย PRTR เปิดเผยข้อมูลการเคลื่อนย้ายสารพิษให้ประชาชนรับทราบ

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2567 สส.ก้าวไกลเฟซบุ๊กไลฟ์ตั้งวงคุยฉุกเฉิน เตือนประชาชนและตั้งคำถามต่อรัฐบาลกรณีกากแคดเมียมหาย 15,000 ตัน ซึ่งอาจมีบางส่วนถูกหลอม เกิดสารพิษปนเปื้อนสู่ชุมชน โดยในวงสนทนาประกอบด้วย คริษฐ์ ปานเนียม สส.ตาก เขต 1 พื้นที่ตั้งเหมืองสังกะสี ต้นตอกากแคดเมียมประมาณ 15,000 ตัน ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.สมุทรสาคร เขต 1 พื้นที่ที่พบกากแคดเมียมเตรียมหลอม ชวาล พลเมืองดี สส.ชลบุรี เขต 3 พื้นที่บ้านบึงซึ่งพบกากแคดเมียม 7,000 ตัน และคาดว่าบางส่วนถูกหลอมแล้ว พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ศูนย์นโยบายพรรคก้าวไกล

คริษฐ์ ในฐานะ สส.ตาก ระบุว่าเหมืองสังกะสีผาแดงเป็นเหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่อยู่มา 40 ปี แม้วันนี้จะปิดตัวไปแล้วแต่ก็ยังทิ้งผลกระทบในพื้นที่จากการรั่วไหลของแคดเมียม อันเป็นผลพวงจากการทำเหมือง หลายพื้นที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ กากแคดเมียมจากเหมืองผาแดงเดิมถูกฝังกลบในบ่อซีเมนต์ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่อยู่ ๆ ชาวตากก็มารู้ข่าวพร้อมคนไทยทั้งประเทศว่ามีการเปิดบ่อเพื่อเอาแคดเมียมออกมาขาย ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในพื้นที่อย่างมาก ที่สำคัญ กระทรวงอุตสาหกรรมยังระบุว่าจะนำกากแคดเมียมมาคืนที่เดิม แต่กลับไม่มีการตรวจสอบว่าบ่อที่ถูกเปิดออกมาแล้วจะเกิดการรั่วไหลของสารพิษหรือไม่ รวมถึงไม่ตรวจสอบที่มาที่ไปของการเปิดบ่อว่าทำอย่างถูกต้องหรือไม่ด้วย

“ผมอยากทราบว่าทำไมเกิดความไม่เท่าเทียมกันในการจัดการสถานการณ์ ที่สมุทรสาครกับชลบุรีมีการเร่งตรวจสอบ ปิดพื้นที่ แต่ที่ตากกลับไม่ตรวจสอบอะไรเลย แถมบอกว่าจะเอากากแคดเมียมกลับมาคืนที่เดิม อีกไม่นานพายุฤดูร้อนจะมา ประชาชนในพื้นที่กังวลมากว่าบ่อกากแร่ที่ถูกเปิดออกแล้ว เมื่อเจอพายุฝนจะรั่วไหลพาสารพิษลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติหรือไม่ และหากนำกากแคดเมียมกลับมา บ่อจะถูกปิดสนิทเหมือนเดิมหรือไม่” คริษฐ์กล่าว

ด้านชวาล สส.ชลบุรี กล่าวว่า ตนได้รับร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่มาระยะหนึ่งแล้วว่าได้กลิ่นผิดปกติจากโรงหลอมในตำบลคลองกิ่ว ซึ่งเป็นโรงรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ของกลุ่มทุนจีน นอกจากนี้ประชาชนยังพบว่าสัตว์เลี้ยงไม่ยอมลงไปกินน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างที่เคย ตนเองเคยเข้าไปตรวจสอบพื้นที่โรงงานก็พบถุงบิ๊กแบ็กหน้าตาน่าสงสัยจำนวนมาก วันนี้ก็พบแล้วว่าถุงดังกล่าวเป็นกากแคดเมียมปริมาณถึง 7,000 ตัน หลายส่วนถูกพบหน้าเตาหลอม ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่ามีกากแคดเมียมบางส่วนถูกหลอมไปแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ตนจึงมีข้อเสนอเร่งด่วนต่อรัฐบาล ดังนี้

1. รัฐบาลต้องประกาศให้พื้นที่คลองกิ่วเป็นเขตควบคุมมลพิษ

2. ตรวจสอบโรงหลอมและการฝังกลบของเสียในพื้นที่โรงหลอมทั่วทั้งประเทศ ทั้งที่มีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต

3. ตรวจสอบการสำแดงเท็จนำเข้ากากอุตสาหกรรมอันตรายที่เป็นวัตถุดิบเข้ามาในประเทศ

4. หยุดการออกใบอนุญาตให้กับโรงหลอมเพิ่ม

พูนศักดิ์ ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า กากแคดเมียมเมื่อถูกหลอมจะต้องผ่านการบำบัดมลภาวะทางอากาศ และมีระบบบำบัดน้ำเสียด้วย เนื่องจากไอกรดจากการหลอมแคดเมียมจะตกลงสู่พื้นผิวและปนเปื้อนแหล่งน้ำ แต่โรงงานในคลองกิ่วทั้งหมดไม่มีระบบบำบัดอากาศหรือน้ำ อีกทั้งยังไม่มีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่น่ากังวลอย่างมากว่าอาจมีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในชุมชนแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องเร่งตรวจสอบ เพื่อความสบายใจและความปลอดภัยของประชาชน

ส่วนในสมุทรสาคร ณัฐพงษ์ สส.เจ้าของพื้นที่ระบุว่า แม้ล่าสุดจะพบกากแคดเมียมเพิ่มเติมอีกจุดหนึ่งในพื้นที่บางน้ำจืด สมุทรสาคร แต่ยังไม่พบว่ามีการหลอมแคดเมียม และไม่พบการปนเปื้อน แต่การให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาลทำให้เกิดความตื่นตระหนก ถึงกับมีการพูดว่าจะไม่กินอาหารทะเลจากมหาชัย เนื่องจากกลัวสารแคดเมียม ตนขอยืนยันว่าพื้นที่มหาชัยและอ่าวไทย กับพื้นที่ที่พบกากแคดเมียมอยู่ห่างกันมาก อีกทั้งยังไม่มีการหลอมกากแร่ จึงไม่มีการปนเปื้อนแคดเมียมสู่อาหารทะเลอย่างแน่นอน

แต่ขณะเดียวกัน ประชาชนในพื้นที่มีความกังวลกันมานานว่าโรงหลอมในพื้นที่มักแอบหลอมโลหะหนักและสารอันตรายในช่วงกลางคืน และปล่อยกากแร่ลงสู่แม่น้ำ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง กระทบกับสุขภาพคนทั้งจังหวัด ตนจึงขอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้ในการสังคายนาระบบการจัดการสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งระบบ

พูนศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อเสนอเบื้องต้นที่พรรคก้าวไกลต้องการให้รัฐบาลจัดการอย่างเร่งด่วน คือ

1. กระทรวงอุตสาหกรรมต้องตรวจสอบข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลอย่างเร่งด่วน และใช้โอกาสนี้ทบทวนระบบกำกับการจัดการของเสียและน้ำเสียอุตสาหกรรมทั้งระบบ

2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องตรวจสอบกระบวนการขุดกากแร่ว่าได้รับการอนุญาตจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวมล้อม (สผ.) หรือไม่ และประชาชนได้เข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อการอนุญาตให้ขุดกากแร่หรือไม่ รวมถึงต้องขยายความรับผิดชอบของ สผ.ให้ครอบคลุมภายหลังปิดโครงการฯ นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษยังควรมีอำนาจในการตรวจสอบพื้นที่ปนเปื้อนจากการประกอบกิจการโรงงานด้วย

3. ทบทวนกระบวนการยุติธรรมสำหรับกรณีคดีสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะตำรวจ อัยการ และศาลต้องทำความเข้าใจปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษ และต้องเร่งรัดในการจัดการอย่างเร่งด่วน เช่น กรณีโรงงานแวกซ์กาเบ็จที่จังหวัดราชบุรี ใช้เวลามากกว่า 10 ปีคดียังไม่สิ้นสุด รวมถึงต้องเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดด้วย

4. ฝ่ายนิติบัญญัติและนายกรัฐมนตรีต้องเร่งรัดการออกกฎหมาย PRTR (พ.ร.บ.ควบคุมการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารพิษหรือมลพิษ) เพื่อเปิดเผยข้อมูลมลพิษให้ประชาชนได้ทราบความเสี่ยงของพื้นที่โดยเร็วที่สุด โดยพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมาย PRTR เข้าสภาฯ แล้ว หวังว่าในการเปิดสมัยประชุมสภาฯ ครั้งหน้า ฝั่งรัฐบาลจะหยิบยกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาโดยเร็ว ไม่ปล่อยให้วัวหายแล้วล้อมคอกเหมือนที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net