Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การถกเถียงว่าไรเดอร์เป็น “อาชีพอิสระ” หรือ “แรงงาน” ในโซเชียลมีเดีย ผ่านเพจกลุ่มของไรเดอร์ เข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ ความร้อนแรงดูจะถึงจุดสูงสุด ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ที่จะแก้ไขนิยามลูกจ้างให้ครอบคลุมคนทำงานทุกประเภท รวมทั้งไรเดอร์ เข้าสู่สภาฯ ในชั้นรับหลักการ

ในช่วงวันของวันที่ 6 มีนาคม 2567 เพจใหญ่ที่มีจุดยืนว่าไรเดอร์คืออาชีพอิสระ โพสต์ 3 สเตตัส แสดงความกังวลต่อกฎหมายของก้าวไกล ในช่วงค่ำ ภายหลังสภาฯลงมติ ปรากฏสเตตัส “โชคดีของไรเดอร์....คว่ำแล้ว ร่างก้าวไกล ให้เข้าระบบกึ่งแรงงาน...” มีผู้เข้ามากดแสดงความรู้สึก และความคิดเห็นสนับสนุนจำนวนมาก ส่วนเพจมีจุดยืนไรเดอร์คือแรงงาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดไม่แพ้กัน 7 มีนาคม 2567 มีควันหลงหลังเหตุการณ์ เมื่อลูกเพจของฝ่ายหนึ่งพาดพิงเพจอีกฝ่ายหนึ่ง แอดมินเพจที่ถูกพาดพิงจึงออกมาโต้ตอบ แอดมินเพจอีกฝ่ายจึงโต้ตอบ เกิดเป็นการบริภาษกันข้ามเพจ

เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประเด็นอาชีพอิสระ หรือแรงงาน คือใจกลางความคิดที่แตกต่างกันในหมู่ไรเดอร์ ที่พร้อมปะทุเป็นความขัดแย้ง คาดได้ว่าประเด็นนี้ยังไม่จบ และจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อสถานะของไรเดอร์ในอนาคต     

ความคิดว่าไรเดอร์เป็นอาชีพอิสระมีที่มาอย่างไร ? บทความวิจัยชิ้นหนึ่ง[1] ชี้ว่า เกิดจากความต้องการของบริษัทที่จะควบคุมความคิดของไรเดอร์ สังเกตได้จากโฆษณาของบริษัท จากถ้อยคำประเภท  “มาเป็นพาร์ทเนอร์กับเราเพื่อสร้างชีวิตที่ดีขึ้น” “มาเป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจที่ได้ให้ความสุขกับผู้บริโภคนับล้าน” “งานที่เป็นเจ้านายตัวเอง” “ฟู้ดฮีโร่ผู้ทุ่มเทเพื่อทุกมื้ออร่อย” การนำเสนอคลิปโฆษณาไรเดอร์พายเรือส่งอาหาร ไรเดอร์ใส่บาตรพระแทนคนชรา การจัดชั้นไรเดอร์ตามผลงานและเรียกชั้นสูงสุดว่าชั้น “ฮีโร่” เมื่อถอดความหมายแฝงในโฆษณา ก็คือการสร้างคุณค่าของคนทำงานที่เป็น ผู้ประกอบการอิสระ ที่ไม่ย่อท้อ เชื่อมั่นภาคภูมิใจในตนเอง มีจิตบริการ บทความเรียกว่า การสร้างอัตลักษณ์ไรเดอร์ในฐานะ “ฮีโร่”

                                                          
                                                                                           ภาพ 1  

                                                                                     ภาพ 2 

(ภาพประกอบในบทความวิจัยข้างต้น (Mieruch & McFarlane, 2023: 1237) ภาพ 1 เป็นเสื้อที่บริษัทจัดทำขึ้น มีภาพประกอบเป็น Superheroes ของ Marvel ส่วนภาพ 2 เป็นภาพ Riders as superheroes โดยศิลปินชาวฟิลิปปินส์ในนาม Kensuke Creations[2]เป็นการแสดงความชื่นชมต่อไรเดอร์ในช่วงโควิด-19 ไรเดอร์นำภาพนี้ไปแชร์ต่อจำนวนมาก ภาพขวามือไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยโดยตรง แต่คาดว่านำมาแสดงไว้เพื่อสื่อถึงการสร้างอัตลักษณ์ฮีโร่ให้ชัดเจนขึ้น)  

การโฆษณาของบริษัทมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของไรเดอร์ เมื่อสังเกตความคิดเห็นของไรเดอร์ในเพจต่างๆ พบว่า แม้ไม่ได้โอบรับอัตลักษณ์ฮีโร่เต็มตัว แต่ไรเดอร์จำนวนมากเชิดชูคุณค่าของผู้ประกอบการอิสระ (อาชีพอิสระ) ดังเห็นจากโพสต์ต่างๆ เช่น ความภาคภูมิใจในการเอาชนะอุปสรรค; การเลี้ยงดูครอบครัวด้วยความสามารถของตัวเอง; ความรู้สึกขอบคุณบริษัทที่ให้โอกาส; ความอบอุ่นใจจากเพื่อนร่วมอาชีพ หรือในบางโอกาสเมื่อมีผู้โพสต์ประสบการณ์ไม่ดีจากบริษัทหรือลูกค้า มีไรเดอร์จำนวนหนึ่งเข้ามาแสดงความเห็นเชิงตำหนิว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง 

อย่างไรก็ตาม ไรเดอร์ไม่ได้ยอมรับอัตลักษณ์ที่บริษัทหยิบยื่นให้เสียทั้งหมด ในบางเพจมีการสร้างอัตลักษณ์ที่เป็นอีกขั้วหนึ่งคือ อัตลักษณ์แรงงาน ดังนั้นแทนที่จะภูมิใจในอาชีพและชื่นชมบริษัท ความเห็นส่วนใหญ่ในเพจคือ การร้องทุกข์ การไม่ได้รับความเป็นธรรม และเรียกร้องสิทธิแรงงานที่พึงได้รับ

ตามแนวทางข้างต้น ผู้เขียนบทความนี้ได้สำรวจการแสดงความเห็นในเพจไรเดอร์ ในช่วงต้นเดือนมีนาคมซึ่งเกิดการปะทะทางความคิด ทำให้เห็นว่า การแสดงความเห็นแม้หลากหลาย ใช้ถ้อยคำแตกต่างกัน แต่ลึกลงไปเป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่างอาชีพอิสระ กับแรงงาน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

อาชีพอิสระ: “ที่เรามาทำงานนี้เพราะมันอิสระ และมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น ใครไม่พอใจก็ไปทำงานประจำเถอะ...” “เอาจริงถ้าแบบงานประจำจะออกมาวิ่งทำไม ส่วนตัวผมนะชอบงานอิสระ...ไปไหนก็ไม่ต้องลา ญาติป่วยแม่พ่อป่วยไปหาได้เลย ไม่ต้องไปทำหน้าเศร้าขอลาหยุด” “เค้าไม่ได้บังคับให้เราไปขับ มันเป็นธุรกิจของเค้า ไม่พอใจก็อย่าไปให้เค้าเอาเปรียบ...เค้ามีกฎระเบียบแบบไหนมันเรื่องของเค้า ทางที่ถูกคือไรเดอร์ที่ไม่พอใจควรรวมตัวกันสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง... อย่าไปเรียกร้องอะไรเค้าเพราะมันเป็นเกมของเค้า” “ตอนสมัครเข้าไป เขากระชากมาเซ็นใบสมัครเหรอ !!!”

แรงงาน: “บางคน ไม่ต้องการมีกฎหมายมากำกับดูแล เพราะหากินกับช่องว่างทางกฎหมาย เมื่อมีคนมาเตะชามข้าว ย่อมเดือดร้อนเป็นธรรมดา...” “แปลกเรื่องแบบนี้มันควรมีบรรทัดฐานไว้ กลับไม่มี...ปล่อยให้นายทุนกำหนดราคา แล้วอ้างบอกเป็นแข่งขันทางธุรกิจ” “ฟรีเเลนซ์ห่าอะไร กฎระเบียบมากกว่างานประจำอีก” “เขาไม่หนีปัญหาไงครับ เขาเลือกที่จะทำเพื่อส่วนรวม สู้เพื่อความถูกต้อง คำที่ว่าเลิกวิ่ง ทำอย่างอื่น นั่นนี่โน่น คำพูดพวกขี้แพ้ครับ อะไรๆก็หนีๆๆๆ” 

ทำไมไรเดอร์จำนวนหนึ่งจึงโอบรับความคิดอาชีพอิสระ ? ไม่ได้เป็นเพราะว่าไรเดอร์ไม่มีความคิดของตัวเอง แต่มีเหตุปัจจัยหลายประการ นับจากงานไรเดอร์สามารถเลือกเวลาทำงานได้จริง (แม้ว่าความสม่ำเสมอ และชั่วโมงทำงาน จะมีผลกระทบต่อการได้รับงาน) ซึ่งสอดคล้องกับความจำเป็นในการหาเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัว และบางคนทำไรเดอร์เป็นงานพาร์ทไทม์ อีกทั้งกฎหมายคุ้มครองแรงงานไทย ไม่ได้คุ้มครองแรงงานอย่างเข้มแข็ง จึงไม่เห็นประโยชน์ที่จะอยู่ภายใต้กฎหมาย และหลายคนมีประสบการณ์ไม่ดีกับการเป็นลูกจ้าง  ภายใต้วัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบไทยๆ ดังนั้นการไม่เป็นลูกจ้าง/แรงงาน แต่มีอาชีพอิสระ จึงเป็นที่ปรารถนาของแรงงานไทย 

และบริษัทก็เลือกที่จะเล่น กับความต้องการเป็นอิสระของแรงงาน จึงเป็นที่มาของการหยิบยื่นอัตลักษณฮีโร่ หรืออาชีพอิสระ ความสำเร็จของการชวนเชื่อของบริษัท คือทำให้ไรเดอร์จำนวนหนึ่ง ยอมรับสภาพการทำงานที่เป็นอยู่ สนใจแก้ปัญหาการทำงานในชีวิตประจำวัน เกรงว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานจะทำให้เสียความอิสระ เป็นปากเสียงปกป้องบริษัท เป็นปฏิกิริยากับไรเดอร์ที่ไม่คล้อยตามความคิดของตัวเอง อัตลักษณ์อาชีพอิสระ จึงเป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท อำพรางความสัมพันธ์ที่ขูดรีดและไม่เท่าเทียมกันระหว่างบริษัทกับไรเดอร์

แนวโน้ม ? การเผชิญหน้าระหว่างความคิดสองแบบจะแหลมคมขึ้น เมื่อสภาพการทำงานและรายได้ของไรเดอร์เลวร้ายลง การเรียกร้องการคุ้มครองไรเดอร์จะเข้มข้นขึ้น ประเด็นเฉพาะหน้าที่ส่วนใหญ่เห็นพ้องคือการกำหนดค่ารอบขั้นต่ำ แต่บริษัทซึ่งมีอำนาจต่อรองเหนือกว่า จะใช้วิธีนิ่งเฉย และโต้ตอบเชิงจิตวิทยา ด้วยการขู่เรื่องการถอนตัวจากตลาด หรือทำให้ไรเดอร์เข้าสู่งานประจำ กลุ่มไรเดอร์คืออาชีพอิสระจะกลายเป็นแนวร่วมกับบริษัท เน้นการช่วยเหลือกันในปัญหาเฉพาะหน้าของการทำงาน (ปัญหาจากแอป ลูกค้า ร้านอาหาร อุบัติเหตุ เสียชีวิต) ช่วยกระพือเรื่องการถอนตัวของบริษัท เตือนเรื่องการ “เข้าระบบ” ที่จะสูญเสียความอิสระ ทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบ 

โซเชียลมีเดีย จะเป็นพื้นที่ต่อสู้ทางความคิดที่สำคัญมากขึ้น การเป็นพื้นที่เปิดให้สาธารณะชนสามารถแสดงความคิดเห็น สนทนา โต้ตอบ จะมีหลายฝ่ายเข้ามาใช้เป็นพื้นที่ขับเคลื่อนความคิด

ตัวแปรสำคัญคือ การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ ของกระทรวงแรงงานฯ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 3 ในสภาฯ กลางปีหรือภายในปีนี้ กระทรวงหมายมั่นจะให้เป็น เครื่องมือตอบโจทย์การจ้างงานยุคใหม่ แต่กฎหมายนี้มีประเด็นน่ากังวล คือกำหนดให้งานแพลตฟอร์ม รวมทั้งไรเดอร์ เป็นอาชีพ “กึ่งอิสระ” ซึ่งขัดกับความเป็นจริง[3] และสวนทางกับความเห็นที่ว่าไรเดอร์คือแรงงาน

กระทรวงมักใช้โอกาสต่างๆในการสร้างความชอบธรรมให้กับร่างกฎหมาย เช่น เมื่อมีการร้องเรียนของไรเดอร์ กระทรวงจะให้คำตอบเป็นนัยว่า กระทรวงกำลังผลักดันกฎหมายที่จะเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้[4] การจัดการประชุมหรือไปร่วมการประชุม เพื่อใช้โอกาสประชาสัมพันธ์ร่างกฎหมายของกระทรวง[5] การผลักดันกฎหมายของกระทรวง จะใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่สำคัญด้วย

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ประเด็นไรเดอร์คืออาชีพอิสระหรือแรงงาน เป็นใจกลางการต่อสู้ทางความคิดการคุ้มครองสิทธิแรงงาน โซเชียลมีเดียเป็นสมรภูมิสำคัญของการแสดงออก ที่ประสานไปกับปฏิบัติการจริงในสังคม        

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา วิธีการที่ผู้มีอำนาจใช้ได้ผลเสมอมาคือ การแบ่งแยก แล้วปกครอง ปลุกปั่นแรงงานเป็นฝักฝ่าย เสนอผลประโยชน์เล็กๆน้อยๆ หาจังหวะผลักดันกฎระเบียบที่ได้ประโยชน์ ไรเดอร์ออกจากวงจรนี้ได้ ด้วยการไม่เผชิญหน้ากันเอง หันมาทำความเข้าใจปัญหาที่แท้จริง ร่วมมือต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน 


 

 

อ้างอิง

[1] Mieruch, Y., McFarlane, D. (2023). Gig Economy Riders on Social Media in Thailand: Contested Identities and Emergent Civil Society Organisations. Voluntas. 34, 1232–1242. https://doi.org/10.1007/s11266-022-00547-7 

[2] THESMARTLOCAL, 10 March 2021, Artist Creates Delivery Superhero Characters, A Graphic Novel-Style Tribute To Our Hardworking Riders. https://thesmartlocal.ph/delivery-superhero-kensuke.../

[3] มีผู้วิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. นี้ ในงานหลายชิ้น เช่น สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม. 6 เมษายน 2564. ร่าง พ.ร.บ. แรงงานนอกระบบฉบับใหม่ เมื่อกฎหมายอาจอนุญาตให้บริษัทแพลตฟอร์มไม่ต้องรับผิดชอบคนงาน. https://www.facebook.com/JustEconLaborInstitute/photos/a.138359519556184/4010934635631967/?type=3 ; กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์. 30 เมษายน 2565. WAY Magazine. ข้อสังเกตต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอิสระ (ที่ไม่อิสระ) และหลงลืมแรงงานนอกระบบ. https://waymagazine.org/critique-of-new-independent-worker-law-2/ ; โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานนอกระบบกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและกลุ่มแรงงานส่งสินค้าในกิจการขนส่ง. 18 กุมภาพันธ์ 2566. (ร่าง) พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานอิสระ กับผลกระทบต่อแรงงงานแพลตฟอร์ม. https://www.tcijthai.com/news/2023/2/article/12811  และดู วิทย์ บุณ. 10 กุมภาพันธ์ 2566. Thairath Plus. การเมืองเรื่องการผลักดัน ‘กฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ’ ฉบับใหม่. https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/102766 

[4] NBT Digital0, 30 สิงหาคม 2566. ไรเดอร์รวมตัวยื่นหนังสือกระทรวงแรงงานขอสวัสดิการที่ดีขึ้น  https://nbt2hd.prd.go.th/th/content/category/detail/id/2153/iid/210527

[5] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 22 กุมภาพันธ์ 2567. ร่างกม.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ คาดออกเร็วสุดมิถุนายน 2568. https://dol.thaihealth.or.th/Media/Pdfview/a43ee8dc-15d1-ee11-8101-00155d1aab77 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net