Skip to main content
sharethis

ทางการจีนอาศัยเครื่องมือต่างๆ ในการส่งอิทธิพลต่อประเด็นการรวมไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในไต้หวันที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 13 ม.ค. นี้ เช่นปฏิบัติการไอโอทางโซเชียลมีเดียอย่างโต่วอิน/ติ๊กตอก รวมถึงการโทรไปข่มคนที่ซื้อหนังสือเนื้อหาต่อต้านการรุกรานของจีน

คนทำงานเอ็นจีโอชาวไต้หวันชื่อ ซินเทีย อียัน เคยซื้อหนังสือที่ชื่อ "ถ้าหากจีนโจมตี" จากร้านหนังสือแห่งหนึ่งในไต้หวัน ไม่กี่เดือนถัดจากนั้นเธอก็เริ่มได้รับสายเรียกเข้าจากเบอร์แปลกๆ เธอตัดสินใจรับสายหนึ่ง ในสายนั้นเธอต้องพูดกับคนถึง 3 คนและทุกคนต่างก็แสร้งทำตัวว่าตนมาจากไต้หวัน แต่ซินเทียบอกว่าเธอเห็นได้ชัดเจนว่าคนเหล่านี้เป็นชาวจีน

ในตอนแรกซินเทียนึกว่ามันเป็นแค่การสแกมหรือหลอกลวงต้มตุ๋นออนไลน์ แล้วก็คาดเดาว่าบทสนทนาจะกลายเป็นการขอเบอร์บัตรเครดิตหรือข้อมูลธนาคารของเธอ แต่กลับมีเรื่องที่ทำให้ซินเทียต้องแปลกใจ เพราะมีคนหนึ่งที่ปลายสายเปิดเผยว่าเขารู้ชื่อจริงของเธอ รู้ชื่อของหนังสือที่เธอสั่งเมื่อหลายเดือนก่อน และรู้ว่าเธอสั่งซื้อมันมาจากที่ไหน คนกลุ่มนั้นบอกว่าพวกเขาสงสัยว่าซินเทียคิดอย่างไรกับหนังสือ "ถ้าหากจีนโจมตี" แล้วถามว่าทำไมเธอถึงซื้อหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่แรก

"พวกเขายังต้องการให้ฉันรู้ด้วยว่าหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและอ่อนไหว อีกทั้งยังนับเป็นโฆษณาชวนเชื่อด้วย" ซินเทียกล่าว

คนที่ปลายสายโทรศัพท์บอกกับซินเทียว่าถ้าหากมีสงครามเกิดขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวันจริง กำลังทัพของไต้หวันจะไม่มีทางสู้กับกองทัพจีนได้

พอถึงจุดนี้ ซินเทียก็รับรู้แล้วว่าเธอกำลังตกเป็นเป้าหมายสงครามจิตวิทยาของจีน

จีนใช้แอพ โต่วอิน/ติ๊กตอก ทำสงครามจิตวิทยาต่อชาวไต้หวัน

สำหรับจีนแล้วพวกเขามองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพวกเขา แต่รัฐบาลปัจจุบันจองไต้หวันมองว่าพวกเขาเป็นประเทศที่มีอธิปไตยเป็นของตัวเองและมีระบอบการปกครองของตัวเองที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน เรื่องนี้ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างสองพื้นที่ และจีนก็เคยประกาศว่าพวกเขาไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ออกไปในเรื่องที่จะใช้กำลังยึดครองเอาไต้หวันมาเป็นของตัวเอง

และในช่วงที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่าจีนกำลังพยายามใช้สงครามจิตวิทยาผ่านทางระบบโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างโต่วอิน (Douyin) ซึ่งเป็นชื่อเรียกติ๊กตอกสำหรับจีน

สื่อไทเปไทม์รายงานว่าทางการจีนกำลังมุ่งเป้าโจมตีผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนรุ่นใหม่ในไต้หวันผ่านทางวิดีโอในแอพโต่วอินที่มีเนื้อหาสร้างความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในรัฐบาลไต้หวันและกองทัพไต้หวัน เช่นมีกรณีที่อ้างว่าชาวไต้หวันที่เกณฑ์เข้าไปเป็นทหารจะเป็นการทำลายอนาคตของตัวเอง และอ้างว่าการลงคะแนนโหวตให้ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไต้หวัน (DPP) จะเป็นการนำไปสู่สงคราม

วิดีโอที่จีนสร้างขึ้นโดยเน้นผู้รับชมเป็นคนรุ่นใหม่ชาวไต้หวันนั้น มีเป้าหมายอยู่ 4 อย่าง คือ เพื่อสร้างความรู้สึกที่ว่าสงครามจะคืบคลานเข้ามาถ้าหากพรรค DPP ซึ่งเป็นพรรคสนับสนุนอธิปไตยไต้หวันได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง เป้าหมายต่อมาคือเพื่อให้ร้ายนโยบายการเกณฑ์ทหารของไต้หวัน, เพื่อสร้างความรู้สึกสนับสนุนจีน และเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อนโยบายที่เป็นประเด็นสำคัญ

ในสื่อที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอย่างโกลบอลไทม์และสื่อจีนอื่นๆ ยังได้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานในเชิงใส่ร้ายป้ายสีพรรค DPP เพื่อทำให้เกิดความคิดเห็นด้านลบต่อพรรค DPP ในไต้หวันด้วย แหล่งข่าวที่ให้ข่าวต่อไทเปไทม์ระบุว่า นักการเมืองไต้หวันที่อยู่ฝ่ายสนับสนุนจีนก็รับลูกวาทกรรมจากไอโอจีนด้วย โดยอ้างว่าการโหวตให้ DPP จะกลายเป็นการ "ส่งคนหนุ่มสาวสู่สนามรบ" นักการเมืองกลุ่มนี้ให้ความร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการสร้างวาทกรรมเพื่อขู่ชาวไต้หวัน

แหล่งข่าวกล่าวว่าทางการจีนจงใจใช้สงครามจิตวิทยาในแบบที่เรียกว่า "สงครามด้านกระบวนความคิด" (cognitive warfare) ในการสร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบต่อพรรครัฐบาล DPP ของไต้หวันในสายตาของคนรุ่นเยาว์ในไต้หวันด้วย ซึ่งมีเป้าหมายต้องการส่งอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งของไต้หวัน

ในไต้หวันมีการห้ามไม่ให้ข้าราชการใช้โซเชียลมีเดียของจีน รวมถึง โต่วอิน และ ติ๊กตอก (โต่วอินฉบับนานาชาติ) มาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว

เมื่อเดือน ธ.ค 2565 สภาบริหารของไต้หวันก็บอกว่ามันไม่มีมูลเหตุทางกฎหมายให้ต้องจำกัดการใช้งานโต่วอินและติ๊กตอกในระดับประชาชนทั่วไป และบอกว่าอาจจะมีการปรึกษาหารือกับประเทศอื่นๆ กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในไต้หวันเพื่อพิจารณาว่าจะแก้ไขกฎหมายดีหรือไม่ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีความคิบหน้ามาก โดยมีการอ้างถึงกรณีที่สหรัฐฯ และออสเตรเลียแบนติ๊กตอกในหมู่ข้าราชการ ขณะเดียวกันก็มีการเตือนว่าการแบนติ๊กตอกในระดับประชาชนทั่วไปจะทำให้คนจำนวนมากต่อต้านโดยเฉพาะคนรุ่นเยาว์ที่ใช้งานแอพเหล่านี้

"สงครามด้านกระบวนความคิด"

ซินเทีย เป็นคนที่เผชิญกับวาทกรรมจากจีนที่ต้องการส่งผลต่อการเลือกตั้งในไต้หวันเช่นกัน คนจากโทรศัพท์ปริศนาบอกกับเธอว่าการที่เธอจะหลีกเลี่ยงสงครามได้นั้นเธอจะต้องโหวตลงคะแนนเสียงให้กับพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันคือพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) แทนพรรค DPP โดยที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีและ ส.ส. ในไต้หวันนั้นกำลังจะมีขึ้นในวันที่ 13 ม.ค. ที่จะถึงนี้

ทางการจีนปฏิเสธที่จะทำการเจรจากับพรรค DPP ในขณะเดียวกันก็อ้างว่า DPP เป็น "กลุ่มแบ่งแยกดินแดน" ซึ่งพรรค DPP ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และบอกว่ามันขึ้นอยู่กับประชาชนในไต้หวันที่จะเลือกผู้นำของตัวเองและกำหนดอนาคตของตัวเอง

ซินเทียบอกว่า การโทรศัพท์มาหาเช่นนี้เป็นเรื่องน่าตลก แต่ก็มีความกังวลว่าทำไมคนที่โทรหาเธอถึงเก็บข้อมูลส่วนตัวของเธอได้มากขนาดนั้น เธอบอกว่าเรื่องนี้น่ากลัวเพราะมันทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าคนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนโทรหาเธอเพื่อบอกว่า "พวกเรารู้ว่าคุณคือใครและพวกเรารู้ว่าคุณกำลังต่อต้านจีน"

จีนเอียงข้างก๊กมินตั๋ง

ทางการจีนเคยแสดงออกถึงความชอบพอส่วนตัวต่อพรรคการเมืองไต้หวันให้เห็นต่อหน้าสาธารณะด้วยเช่นกัน เช่น เจ้าหน้าที่ทางการจีนใช้คำขวัญแบบเดียวกับพรรค KMT ในการเรียกการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นว่าเป็น "การเลือกระหว่างสันติภาพและสงคราม" อีกทั้งสำนักงานกิจการไต้หวันของรัฐบาลจีนยังเคยบอกกับรองประธานพรรค KMT ว่าพร้อมที่จะสานสัมพันธ์กับพรรคให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย

ในทางตรงกันข้ามทางการจีนไม่ยอมหารือกับพรรค DPP เลยหลังจากที่ไช่อิงเหวินได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2559 แต่กลับข้้ามขั้นตอนการติดต่อสื่อสารไปพูดคุยกับกลุ่มผู้นำการเมืองและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นของไต้หวันโดยตรงโดยไม่ผ่านรัฐบาลพรรคกลาง DPP ของไต้หวัน

นอกจากนี้จีนยังเคยสั่งให้เจ้าหน้าที่ทางการจีนสืบสวนเรื่องภาษีของบริษัทไอทีไต้หวัน "ฟ็อกซ์คอนน์" ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างรายได้ราวร้อยละ 70 จากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในจีนด้วย คำประกาศให้สืบสวนนี้มีขึ้นหลังจากที่ซีอีโอของฟ็อกซ์คอนน์ Terry Gou ประกาศว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในฐานะผู้สมัครอิสระ ซึ่งเป็นการกระทำที่สื่อจีนระบุว่าจะเป็นการแบ่งขั้วฝ่ายค้านและเป็นประโยชน์กับพรรค DPP

หลังจากที่เรื่องการถูกสอบภาษีเปิดเผยต่อสาธารณะ Gou ก็ยกเลิกกิจกรรมหาเสียงหลายที่ และในอีกไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นก็ยกเลิกการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่ประสานงานกันจากรัฐบาลจีน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนเพิ่มการปฏิบัติการต่อไต้หวันในช่วงเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2561 และการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2563 ก็เคยมีปฏิบัติการแบบนี้

แต่ในครั้งนี้มีทั้งเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์และการใส่ร้ายป้ายสีอย่างเป็นขบวนการเกิดขึ้นด้วย เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2566 กูเกิลเคยเตือนเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ต่อภาคส่วนต่างๆ ของรัฐบาลไต้หวันเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และในเดือน ส.ค. บริษัทเมตาเจ้าของเฟสบุคและอินสตาแกรมทำการปราบปรามปฏิบัติการสร้างอิทธิพลจากจีนผ่านบัญชีผู้ใช้งานมากกว่า 7,500 บัญชีทั้งสองแพลตฟอร์ม ซึ่งมีจำนวนมากที่เป็นการโจมตีไต้หวัน

Ai-Men Lau นักวิเคราะห์เรื่องปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของจีนจาก ดับเบิลธิงแล็บ กล่าวว่ามีหลักฐานชี้ไปในทางที่ว่าปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มาจากจีน เพราะบัญชีผู้ใช้งานบางส่วนมีปฏิบัติการแค่ในช่วงเวลาราชการของจีนเท่านั้นคือระหว่าง 9 โมงเช้า - 5 โมงเย็น และหยุดทำการช่วงพักเที่ยง และมักจะโพสต์เนื้อหามากกว่า 200 เนื้อหาต่อวันซึ่งผิดวิสัยผู้ใช้งานทั่วไป

Ai-Men Lau บอกอีกว่า ทางการจีนยังเริ่มใช้คนที่เป็นปากเสียงในไต้หวันเองมาเป็นเครื่องมือ เช่นนักข่าวในไต้หวัน อินฟลูเอนเซอร์โซเชียล หรือตัวแทนในไต้หวัน เพื่อเป็นคนคอยช่วยส่งสารให้

ฝ่ายข่าวกรองของไต้หวันประกาศว่าปฏิบัติการแทรกแซงที่ตั้งเป้าหมายเป็นไต้หวันนั้นเป็นปฏิบัติการที่มีการประสานงานมาจากกลุ่มผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

โดยที่ข่าวกรองไต้หวันระบุว่า ผู้นำระดับที่ 4 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือ Wang Huning เคยจัดประชุมในช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าความพยายามหลายอย่างของพวกเขาในการส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้งไต้หวันจะทำได้สำเร็จ


เรียบเรียงจาก
CCP targets voters with Douyin: source, Taipei Times, 18-12-2023
How Beijing is changing the way it involves itself in Taiwan’s election, Aljazeera, 19-12-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net