Skip to main content
sharethis

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียกำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 ก.พ. ที่จะถึงนี้ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต่างก็พากันงัดทุกกระบวนท่าออกมาใช้บนโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน และหนึ่งในโซเชียลฯ ที่กลายมาเป็นสมรภูมิหลักๆ ในเรื่องนี้คือ TikTok ที่อินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับที่สอง ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 125 ล้านรายต่อเดือน แต่ก็มีความกลัวว่าจะกลายเป็นพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดไปด้วย

ในการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 ก.พ. 2567 ที่จะถึงนี้ ผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ต่างก็ใช้ความพยายามทุกวิถีทางในการที่จะชนะใจผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียต่างๆ และ TikTok ก็กลายมาเป็นสมรภูมิหลักในการต่อสู้ช่วงชิงคะแนนเสียง ในประเทศที่มีประชากร 274 ล้านคน และมีคนรุ่นใหม่ยุคมิลเลนเนียลกับ Gen Z เกินครึ่งคือร้อยละ 56.5

"ตอนปี 2562 มันเป็นศึกเลือกตั้งอินสตาแกรม คราวนี้มันเป็นศึกเลือกตั้ง Tiktok" อาร์โน เซโน บากาสโคโร กล่าว เขาเป็นโฆษกเยาวชนผู้รณรงค์หาเสียงให้กับ กันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชวากลาง

TikTok มีผู้ใช้งานจากอินโดนีเซีย 125 ล้านราย นับเป็นตลาดที่ใหญ่มากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ทำให้ TikTok กลายเป็นพื้นที่หลักๆ ที่ชาวอินโดนีเซียจะใช้รับข้อมูลข่าวสารและความคืบหน้าเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้ง 3 คน ต่างก็รับรู้ในเรื่องนี้และพากันปั่นคอนเทนต์ออกมาใน TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานเป็นคนรุ่นใหม่อยู่จำนวนมาก เช่น รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ปราโบโว สุเบียนโต ก็มีวิดีโอที่เขาเต้นอยู่ท่ามกลางฝูงชน อาเนียส บาสวีดัน อดีตผู้ว่าฯ จาการ์ตาก็พยายามเอาใจติ่งเคป็อบ และกันจาร์ ปราโนโว ก็โปรโมทตัวเองด้วยโพสต์ที่เกี่ยวกับเพนกวิน

ปราโบโว สุเบียนโต เป็นผู้สมัครที่เคยลงชิงชัยทางการเมืองมาตั้งแต่ช่วงวัยกลาง 40 เขาดูเป็นตัวเต็งอย่างเห็นได้ชัดในการเลือกตั้งครั้งนี้ สำหรับเขาแล้วการที่เขาส่งข้อความทาง TikTok ดูเข้ากับภาพลักษณ์แบบ "gemoy" ที่แปลว่า "น่ารัก" ของการรณรงค์หาเสียงประธานาธิบดีในครั้งนี้

ภาพลักษณ์ซึ่งเป็นที่นิยมในแบบของยุคนี้ดูแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาพลักษณ์แบบที่ปราโบโวผู้สมัครสูงวัยอายุ 72 ปี เคยใช้ ในช่วงปี 2557-2562 ที่เป็นภาพลักษณ์แบบ "มาโช" หรือ "ชายชาตรี"

ในการหาเสียงครั้งนี้แทนที่ ปราโบโว จะขี่ม้าเข้ามาที่เข้ามาที่เวทีหาเสียงแล้วก็ปลุกเร้าฝูงชนด้วยคำพูดแบบชาตินิยม แต่เนื้อหาที่เป็นที่นิยมที่สุดของเขาใน TikTok ก็เป็นเนื้อหาที่เขาแสดงภาพลักษณ์ของตัวเองว่ามีด้านที่อ่อนไหว และถึงขั้นดูมีความเปราะบาง

หนึ่งในการรณรงค์หาเสียงที่ได้รับความนิยมใน TikTok มียอดวิว 49 ล้านวิวแสดงให้เห็นปราโบโวกำลังร่ำๆ จะหลั่งน้ำตาหลังจากที่เขาเผชิญกับคำถามหนักๆ ในการดีเบตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่สอง ผู้สนับสนุนปราโบโวจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนหญิงโพสต์วิดีโอของตัวเองกำลังร้องไห้เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับปราโบโว และบอกว่าปราโบโวเป็นเหยื่อของอคติ

สำหรับผู้สมัครอาเนียส สิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของเขาเลยคือการไลฟ์สดบน TikTok ที่ใช้ชื่อว่า "Desak Anies," ที่แปลตรงตัวว่า "ไต่สวนอาเนียส"

อาเนียสเคยลงสมัครเลือกตั้งมาตั้งแต่ช่วงวัย 20 เขามีคะแนนนิยมคู่คี่สูสีกับกันจาร์และเรียกผู้ติดตามที่ส่งคำถามให้กับเขาโดยตรง หัวข้อคำถามมีหลากหลายหัวข้อตั้งแต่เรื่องโครงการทางการเมืองของอาเนียสไปจนถึงขอคำแนะนำเรื่องการเดทครั้งแรก

จากเคป็อบถึง "ท็อปกัน"

อาเนียสได้รับความนิยมอย่างคาดไม่ถึงมาก่อนจากกลุ่มแฟนๆ เคป็อบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนหญิง ขัดกับในอดีตที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับอิสลามอนุรักษ์นิยม

หนึ่งในผู้สนับสนุนเขาคือนักศึกษาหญิงอายุ 22 ปี ผู้ที่โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย X เกี่ยวกับอาเนียสและโครงการของเขา โดยใช้คำอธิบายเป็นตัวอักษรฮันกึลของภาษาเกาหลี วิดีโอส่วนใหญ่ที่เธอโพสต์นำมาจาก TikTok

หญิงเจ้าของบัญชีรายดังกล่าวบอกต่อสื่อว่า "เขา(อาเนียส)นั้นดูเหมาะกับการทำให้เป็นเคป็อบมาก ... เขาทำการไลฟ์สดผ่านทาง TikTok มีฉากหลังแบบเดียวกับที่เคป็อบไอดอลนำมาใช้ บางทีน่าจะเป็นเพราะผ้าม่าน"

การหาเสียงของอาเนียสและกลุ่มที่สนับสนุนเขาอย่างเป็นทางการนั้นรับรู้เรื่องที่หญิงรายดังกล่าวช่วยเขาโปรโมทด้วย จึงมักจะส่งรูปหรือวิดีโอที่พวกเขาอยากให้เธอช่วยโปรโมทไปให้

สำหรับการรณรงค์หาเสียงของกันจาร์นั้นมีลูกเล่นของตัวเองเช่นกัน อย่างเช่น การสวมแจ็กเก็ตแบบเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง "ท็อปกัน" และใช้สัญลักษณ์เป็นเพนกวิน แต่ทีมหาเสียงของเขาก็บอกว่าพวกเขาให้ความสนใจมากที่สุดกับวิดีโอที่เขาปฏิสัมพันธ์กับผู้ลงคะแนนเสียงอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นรากเหง้าแบบสมถะของเขา

การันนิยา ธรรมซาปูตรา ผู้ดูแลช่องสื่อรณรงค์หาเสียงของกันจาร์กล่าวว่า "TikTok มีลักษณะเฉพาะตัว อัลกอริทึมของมันให้ความสำคัญกับความเป็นตัวของตัวเองและความริเริ่มแปลกใหม่ของวิดีโอ ... บน TikTik พวกเราชอบวิดีโอที่ไม่ได้ดูเรียบร้อยหมดจด ฉันคิดว่าอินสตาแกรมให้ค่ากับวิดีโอที่ดูเรียบร้อยหมดจดมากกว่า"

เรื่องนี้ทำให้นักการเมืองรุ่นเก่าต้องรีบเรียนรู้วิธีการหาเสียงด้วย TikTok

มาห์ฟุด เอ็มดี คู่หูลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีร่วมกับกันจาร์ เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ เขาเลียนแบบลักษณะเฉพาะตัวของอาเนียสในเรื่องการไลฟ์สด แต่การที่นำเสนอภาพของรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญอายุ 66 ปี ใน TikTok ช่วงแรกๆ ก็มีความซับซ้อนอยู่บ้าง

การันนิยาบอกว่า "ในตอนที่พวกเราคะยั้นคะยอให้คุณมาห์ฟุดทำการไลฟ์สดครั้งแรก พูดตามตรงคือมันมีอะไรขัดเขินอยู่บ้างเล็กน้อย ... แต่เขาก็ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว"

ความกลัวเรื่องข่าวปลอม

เห็นได้ชัดว่า TikTok มีอิทธิพลในเรื่องการเลือกตั้งนี้ จนทำให้เกิดความกังวลว่ามันอาจจะถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดมากขึ้น

การแพร่กระจายข้อมูลที่ผิดกลายเป็นปัญหาใหญ่ในโซเชียลมีเดียของอินโดนีเซียมาก่อนเมื่อช่วงการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ในตอนนั้นมีคำโกหกหลอกลวงแพร่กระจายไปทั่วและได้รับการส่งเสริมจากบอทกับคนที่ถูกจ้างให้คอยกระจายข่าว อีกทั้งยังมีการโปรโมทโฆษณาชวนเชื่อโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ในตอนนี้ TikTok ไม่เพียงแค่พยายามจะจำกัดการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดเท่านั้นแต่ยังจำกัดบทบาทของตัวเองในฐานะพื้นที่สำหรับการส่งสารทางการเมืองด้วย

ใน TikTok ไม่อนุญาตให้มีการจ่ายเงินเพื่อโฆษณาทางการเมือง และไม่อนุญาตให้มีการระดมทุนโดยนักการเมืองหรือพรรคการเมือง ทางบริษัทยังได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐบาล, เอ็นจีโอในประเทศ และกับสื่ออย่างเอเอฟพีเพื่อช่วยกันต่อต้านการแพร่กระจายข้อมูลที่ผิดด้วย

ตัวแทนของเอเอฟพีกล่าวว่า "รูปแบบวิดีโอขนาดสั้นที่ใช้ใน TikTok นั้นหมายความว่า ข้อมูลเท็จส่วนใหญ่ที่พวกเราเห็นแพร่กระจายอยู่ในโซเชียลแห่งนี้นั้นประกอบด้วย คลิปวิดีโอที่ถูกตัดต่อ หรือวิดีโอที่ถูกแชร์ต่อนอกบริบทด้วยข้อความกำกับที่ชวนให้ไขว้เขวหรือเป็นเท็จ"

มีตัวอย่างคือคลิปที่ถูกตัดต่อให้ดูเหมือนว่ามีฝูงชนจำนวนมากในการหาเสียงของปราโบโวที่ทำการส่งเสียงเชียร์คู่แข่งเพื่อล้อเลียนปราโบโว แต่ในความเป็นจริงแล้วคลิปนั้นเป็นกลุ่มที่ให้กำลังใจปราโบโวแต่ถูกตัดต่อเพิ่มเสียงเชียร์คู่แข่งเข้าไป มีคลิปหนึ่งที่อ้างว่าอาเนียสถูกเปลี่ยนศาสนาให้กลายเป็นคริสต์ และมีอีกคลิปหนึ่งที่อ้างว่านักข่าวชั้นนำให้การสนับสนุนผลักดันปราโบโว

มาฟินโด หนึ่งในเอ็นจีโออินโดนีเซียที่ทำงานร่วมกับ TikTok ระบุว่า ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. ถึง พ.ย. 2566 มีเรื่องหลอกลวงที่พวกเขาบันทึกไว้และช่วยหักล้างแก้ไขมีอยู่บน TikTok เพียงแค่ร้อยละ 7.4 เท่านั้น

เซฟเตียจิ นูโกรโฮ ประธานของมาฟินโดกล่าวว่า "มันคือยูทูบกับเฟสบุคที่พวกเราพบเจอการแพร่ข้อมูลเท็จมากที่สุด แต่พวกเราคิดว่า TikTok ก็เริ่มมีมากขึ้นตามมา หมายความว่ามีเรื่องหลอกลวงจำนวนมากที่ตอนนี้กำลังเกิดขึ้นบน TikTok"


เรียบเรียงจาก
TikTok election? Indonesia’s presidential hopefuls battle it out on social media, CNBC, 04-02-2024
Clip of Indonesian presidential hopeful Prabowo Subianto doctored to add cheers for opponent, AFP Fact Check, 19-12-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net