Skip to main content
sharethis

"ชาโดว์แบน" หรือการที่โซเชียลมีเดียทำการจำกัดการมองเห็นของเนื้อหาบางอย่าง เมื่อไม่นานนี้มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อหาที่พูดถึงความขัดแย้งในปาเลสไตน์ถูกลดการนำเสนอในหน้าฟีด ทำให้เกิดวิธีการใช้คำที่พยายามหลบเลี่ยงระบบกรอง AI แต่ทางโซเชียลยืนยันว่า จำนวนการเข้าถึงลดลง เพราะ "ข้อผิดพลาด" และเกิดขึ้นทั่วไปไม่ใช่แค่เฉพาะเนื้อหาปาเลสไตน์

 

10 พ.ย. 2566 เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตจากชาวปาเลสไตน์ว่า เป็นไปได้ที่จะมีการแอบปิดการมองเห็น หรือเปิดให้แค่เฉพาะบางคนเห็นแบบที่เรียกว่า "ชาโดว์แบน" (Shadowbanning) เนื้อหาในหน้าโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่พูดถึงสงครามอิสราเอล-ฮามาส จนทำให้ผู้คนพยายามหลบเลี่ยงการถูกปิดกั้นการมองเห็นด้วยการแปลงคำเพื่อหลีกเลี่ยงการกรองของระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI)

วิธีการที่ว่านี้เรียกว่า "อัลกอสปีค" (Algospeak) เป็นการแปลงคำพูดเดิมให้เป็นคำใหม่เพื่อหลบเลี่ยงการกรองคำต้องห้ามของ AI เช่นเปลี่ยนคำว่า "dead" ที่แปลว่า "ตาย" ให้เป็นคำว่า "unalive" (ไม่มีชีวิต) หรือคำว่า "sex" ที่หมายถึง "การมีเพศสัมพันธ์" ก็เขียนใหม่เป็น "seggs" ที่คำอ่านดูใกล้ของเดิม หรือเวลาเขียนถึงหนังโป๊คือ "porn" ก็เปลี่ยนเป็นคำที่เสียงใกล้กันคือ "corn" ที่จริงๆ แล้วแปลว่า "ข้าวโพด" (หรือบางครั้งก็ถึงขั้นใช้อีโมจิรูปข้าวโพดแทนในแบบที่รู้กัน)

ในกรณีประเด็นอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ผู้พยายามหลบเลี่ยงการถูกปิดกั้นการมองเห็นก็มีการใช้ อัลกอสปีค ด้วยเช่นกัน อย่างเช่นการเปลี่ยนคำว่า "Palestinians" (ชาวปาเลสไตน์) ให้เป็นคำว่า “P*les+in1ans.”

การที่ผู้คนจำเป็นต้องใช้วิธีนี้สะท้อนให้เห็นความกังวลของผู้คนจำนวนมากที่เผยแพร่เนื้อหาประเด็นปาเลสไตน์ในช่วงที่มีสงครามระหว่างกลุ่มติดอาวุธฮามาสกับอิสราเอล พวกเขากังวลว่าโพสต์เนื้อหาพวกเขาถูกลดการเข้าถึงหรือถูกปิดกั้นการมองเห็นอย่างไม่เห็นธรรม บ้างก็มองว่าพวกเขาถูกปิดกั้นให้เห็นแค่เฉพาะกลุ่มในแบบที่เรียกว่าชาโดว์แบนเมื่อมีการใช้แฮชแท็กบางอย่าง

ทำให้มีวิธีการหลบเลี่ยงชาโดว์แบนกันไปต่างๆ นานา ในพื้นที่อย่าง Tiktok, instagram และ Facebook เช่นการใช้แฮชแท็กที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา ใช้รูปจากการแคปหน้าจอแทนการโพสต์ซ้ำ หรือหลีกเลี่ยงการใช้แฮชแท็กภาษาอาหรับ ซึ่งไม่แน่ชัดว่าวิธีการเหล่านี้ใช้ได้หรือไม่ เพราะไม่มีความแน่ชัดว่ามีการชาโดว์แบนเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แล้วถ้าเกิดขึ้นจริงมีการชาโดว์แบนโโยพิจารณาจากอะไรบ้าง

“ชาโดว์แบน” ปิดกั้นการมองเห็นได้อย่างไร

นิยามที่ง่ายที่สุดของ "ชาโดว์แบน" หมายถึง การที่โซเชียลนั้นๆ ทำการจำกัดการมองเห็นของเนื้อหาให้มีแค่บางคนเท่านั้นที่เห็น ในยุคแรกๆ การชาโดว์แบนนั้นเรียกได้ว่าเป็น "การกักกันการแพร่กระจายในเชิงดิจิทัล" คือคนที่ถูกแบนยังคงเข้าสู่การใช้งานและโพสต์ได้แต่เนื้อหาจะถูกจำกัดให้คนเห็นน้อยและคนอื่นๆ นอกเหนือจากชุมชนของพวกเขาจะไม่สามารถมองเห็นโพสต์ของพวกเขาได้ โดยที่ผู้โพสต์เองก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าพวกเขาถูกกักกันแบบนี้

แต่ในเวลาต่อมาพัฒนาการของการใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้คนเริ่มรู้วิธีการโปรโมทตัวเองและเข้าใจเล่นกับอัลกอริทึมหรือระบบเรียงลำดับข้อมูล ส่งผลให้การดูแลเนื้อหามีความซับซ้อนขึ้น แล้วก็ทำให้นิยามของการชาโดว์แบนขยายวงกว้างมากขึ้นตามไปด้วย จนบางทีชาโดว์แบนนั้นหมายรวมไปถึง วิธีการปิดลับของโซเชียลที่แอบซ่อนผู้ใช้งานจากผลการค้นหาหรือจากอัลกอริทึม และในพื้นที่อื่นๆ ที่บัญชีผู้ใช้งานสามารถปรากฏให้เห็นได้

เรื่องนี้ฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมของสหรัฐฯ ก็เคยอ้างไว้เหมือนกันว่าพวกเขาถูกชาโดว์แบนจากโซเชียลมีเดีย กล่าวหาว่าโซเชียลอย่างเฟสบุคและทวิตเตอร์เซนเซอร์แนวคิดฝ่ายขวา จนทำให้เกิดการฟ้องร้องและการอภิปรายในสภาเรื่องนี้ แต่ก็มีหลักฐานน้อยมากที่บ่งบอกว่ามีการชาโดว์แบนฝ่ายอนุรักษ์นิยมสหรัฐฯ จริง แต่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ก็ตัดสินเข้าข้างการฟ้องร้องในเท็กซัสและฟลอริดา ให้มีการออกข้อกำหนดเพิ่มเติมในเรื่องการควบคุมดูแลเนื้อหาของบริษัทโซเชียลมีเดีย

“ชาโดว์แบน” เกิดขึ้นกับการเผยแพร่เรื่อง อิสราเอล-ฮามาส จริงหรือ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารับรู้ได้ยากว่ามีการชาโดว์แบนเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะมันเป็นเครื่องมือการควบคุมดูแลเนื้อหาที่ไม่มีความกระจ่างชัดแบบวิธีการอื่นๆ เช่น การแบนบัญชีผู้ใช้งานโดยตรงที่ผู้ใช้งานเองและคนอื่นๆ สามารถเห็นได้ หรือวิธีการที่ใช้ต่อต้านการแพร่กระจายข้อมูลที่ผิดอย่างเช่นการติดป้ายคำเตือนเนื้อหาเหล่านั้นให้สาธารณะเห็น

ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ใช้โซเชียลมีเดียสงสัยว่า พวกเขาถูกชาโดว์แบนเนื้อหาปาเลสไตน์ เช่นในอินสตาแกรมมีการลดระดับปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานหลายคนหลังจากที่พวกเขาเปลี่ยนสถานที่เป็นกาซ่าเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกโจมตีโดยกองทัพอิสราเอล หรือบ้างก็ถูกลดการปฏิสัมพันธ์หลังจากที่ช่วยระดมทุนเพื่อชาวปาเลสไตน์หรือโพสต์สนับสนุนชาวปาเลสไตน์

มีองค์กรด้านสิทธิดิจิทัลหลายองค์กรรวมถึง มูลนิธิอิเล็กโทรนิกฟรอนเทียร์ และศูนย์อาหรับเพื่อความก้าวหน้าทางโซเชียลมีเดีย-7amleh ที่ทำการสืบสวนในเรื่องชาโดว์แบนเช่นนี้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงจะนับเป็นการละเมิดสิทธิทางดิจิทัลของชาวปาเลสไตน์ในช่วงที่เกิดสงคราม โดยที่นักกิจกรรมชาวปาเลสไตน์บางคน สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของการหมุนเวียนเนื้อหาของพวกเขาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

นาดิม นาชีฟ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการของ 7amleh กล่าวว่า "การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้แก่ การแบนการใช้ชื่ออาหรับในช่วงที่มีการยกระดับการสู้รบ (เช่น กรณี อิสราเอล-ฮามาส) ในขณะที่ยังอนุญาตให้ใช้ภาษาฮิบรูได้ มีการจำกัดการแสดงความคิดเห็นจากบัญชีผู้ใช้ที่ไม่ใช่เพื่อน และที่สำคัญที่สุดคือการลดการมองเห็นโพสต์, รีล (วิดีโอใน ig) และสตอรี"

ทางบริษัท "เมตา" ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟสบุคและอินสตาแกรม ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ระบุว่าสาเหตุที่ชาวปาเลสไตน์รู้สึกว่าโพสต์ของพวกเขาถูกปิดกั้นการมองเห็นนั้น เนื่องมาจาก "บั๊ก" (ข้อผิดพลาดของโปรแกรม) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่เฉพาะปาเลสไตน์เท่านั้น และมาจากสาเหตุที่ว่าแฮชแท็กอินสตาแกรมบางอย่างไม่สามารถค้นหาได้อีกต่อไปเพราะเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ใช้แฮชแท็กนี้ละเมิดกฎของบริษัทเมตา แต่ทางเมตาก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นแฮชแท็กใด

โมนา ชตายา นักกิจกรรมด้านสิทธิดิจิทัลชาวปาเลสไตน์กล่าวว่าการชาโดว์แบนนั้นคือ "การลงโทษหมู่ต่อผู้คนที่เผยแพร่ความคิดทางการเมืองหรือบันทึกเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน" ซึ่งชตายามองว่ามันจะส่งผลทางลบต่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ในกาซ่า

หรือจะมาจาก "อคติในการควบคุมดูแลเนื้อหา" มากกว่า "ชาโดว์แบน"

มีความเป็นไปได้ที่กรณีการถูกลดการมองเห็นเนื้อหาเหล่านี้จะมาจาก "อคติในการควบคุมดูแลเนื้อหา" มากกว่าจะเป็น ชาโดว์แบน ซึ่งปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับเนื้อหาสนับสนุนปาเลสไตน์

ยอร์กกล่าวว่า อคติในการควบคุมดูแลเนื้อหามีอยู่หลายรูปแบบและบางครั้งก็ไม่ได้มาจากความจงใจ เช่น บางโซเชียลอาจจะมีปัญหาทรัพยากรไม่มากพอในการดูแลเนื้อหา หรือมีความผิดพลาดในการจัดการเรื่องภาษา ซึ่งยอร์กบอกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหากับบริษัทโซเชียลสัญชาติอเมริกันมานานแล้วในเวลาที่พวกเขาต้องควบคุมดูแลเนื้อหาภาษาอาหรับ ถึงแม้ว่าบริษัทเหล่านี้อาจจะมีผู้ดูแลเนื้อหาที่ใช้ภาษาอาหรับอยู่ก็จริง แต่พวกเขาก็มีปัญหาเวลาเจอกับภาษาอาหรับหลายสำเนียงต่างถิ่นกัน

นอกจากเรื่องภาษาแล้ว อคติในการควบคุมดูแลเนื้อหาอาจจะมาจากการจัดประเภทของคำบางคำโดยอัลกอริทึมก็เป็นไปได้ เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงที่มีการยกระดับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในปี 2564 มนตอนนั้นกลุ่มด้านสิทธิดิจิทัลได้ทำการบันทึกเรื่องราวที่โซเชียลมีเดียลบเนื้อหาออกหลายร้อยชุดอย่างไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นเนื้อหาแสดงความรู้สึกสนับสนุนปาเลสไตน์ ต่อมาเมตาก็ยอมรับเรื่องนี้ในที่สุดว่าระบบของพวกเขาบล็อกการสื่อถึงมัสยิด อัล-อักซอ ที่ถูกแปะป้ายอย่างเข้าใตผิดโดยระบบของเมตาว่าเป็นสถานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย

จากกรณีดังกล่าวนี้ เมตา ก็ทำการจ้างกลุ่มภายนอกให้ตรวจสอบและเขียนรายงานเกี่ยวกับเรื่องการตัดสินใจของเมตาในช่วงที่มีความขัดแย้งในปี 2564 ซึ่งมีการพูดถึงจุดอ่อนของเมตาในเรื่องการดูแลเนื้อหาในบริบทของภาษาอาหรับ และระบุว่าการตัดสินใจของเมตานั้น "ดูเหมือนจะส่งผลกระทบในทางลบต่อสิทธิมนุษยชน" ในแง่ที่มันกระทบต่อสิทธิต่างๆ ของของผู้ใช้งานชาวปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็น "เสรีภาพในการแสดงออก, เสรีภาพในการชุมนุม, การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการไม่ถูกกีดกันเลือกปฏิบัติ"

เมตาให้สัญญาว่าจะทำการพิจารณานโยบายที่เกี่ยวข้องและพัฒนาวิธีการควบคุมดูแลเนื้อหาภาษาอาหรับ รวมถึงจ้างวานผู้ดูแล ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับในสำเนียงต่างๆ ด้วย

บริษัทเมตาระบุว่าการควบคุมดูแลเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาสในตอนนี้มีผู้ดูแลคือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาฮิบรูและอาหรับ อีกทั้งยังระบุอีกว่ามีการนำเนื้อหาบางส่วนออกซึ่งกระทำโดยไม่มีการสั่งปิดบัญชีผู้ใช้งานนั้นๆ เพื่อไม่หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการพลาดไปแบนบัญชีผู้ใช้งานโดยอัตโนมัติเพราะความผิดพลาดเรื่องการลบเนื้อหา

มีการใช้ "ชาโดว์แบน" กับเรื่องอื่นๆ ไหม

นอกจากกรณีปาเลสไตน์แล้ว โซเชียลมีเดียยังเคยทำการชาโดว์แบนเนื้อหาอื่นๆ ด้วย เช่น กรณีที่กลุ่มคนทำงานบริการทางเพศระบุถึงการที่พวกเขาถูกชาโดว์แบนในพื้นที่โซเชียลมีเดียใหญ่ๆ หลังจากที่มีกฎหมายใหม่ออกมาในปี 2561 ที่อ้างว่าเพื่อยับยั้งการค้ามนุษย์ แต่กฎหมายที่ว่านี้ก็ส่งผลกระทบทางลบต่อคนทำงานบริการทางเพศแบบสมัครใจไปด้วย

หรือมีกรณีในปี 2560 ที่ผู้สร้างผลงานชาว LGBTQ+ พบว่ายูทูบทำการชาโดว์แบนวิดีโอที่เนื้อหาไม่มีพิษมีภัยแต่มีผู้สร้างผลงานเป็นชาว LGBTQ+ โดยผลักให้ไปอยู่ใน "เนื้อหาที่ถูกจำกัด" กลายเป็นการจำกัดการมองเห็นเนื้อหาเหล่านี้ไปด้วย

กรณี TikTok ก็เคยทำผิดพลาดในเรื่องการชาโดว์แบนมาก่อน ก่อนที่พวกเขาจะแก้ไขให้กลับมาถูกต้องอีกครั้งเมื่อปี 2564 ความผิดพลาดของพวกเขาคือระบบทำการแบนอัตโนมัติต่อผู้ผลิตเนื้อหาที่ใช้คำว่า "คนดำ" หรือ "ความสำเร็จของคนดำ" ในประวัติการตลาดของผู้ที่สามารถสร้างเนื้อหาสปอนเซอร์ใน TikTok ได้

ยอร์กกล่าวว่า โซเชียลมีเดียมักจะนำวิธีชาโดว์แบนมาใช้เวลาที่พวกเขาไม่อยากให้คนรู้สึกว่าพวกเขาตัดผู้ใช้งานออกไปจากพื้นที่ของตัวเองโดยสิ้นเชิง แต่โซเชียลเหล่านี้ก็ถูกกดดันจากรัฐบาล หุ้นส่วน หรือผู้ซื้อโฆษณา ให้สกัดกั้นเนื้อหาบางอย่าง ทำให้ต้องชาโดว์แบนเพื่อจำกัดเนื้อหาที่ชวนให้เกิดข้อถกเถียง ในขณะเดียวกับที่ปล่อยให้ผู้คนเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่ได้ต่อไป

กลุ่มอนุรักษ์นิยมสหรัฐฯ กล่าวหา TikTok เอียงข้างปาเลสไตน์

ในทางตรงกันข้าม ส.ส. สหรัฐฯ นักกิจกรรมอนุรักษ์นิยม และกลุ่มนักลงทุนด้านไอทีผู้ร่ำรวย เรียกร้องให้มีการแบนโซเชียลมีเดีย TikTok อีกครั้งหลังจากที่เคยเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ โดยอ้างว่าเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่นิยมมากที่สุดในโซเชียลแห่งนี้คือเนื้อหาเอียงข้างสนับสนุนปาเลสไตน์และบั่นทอนการสนับสนุนต่ออิสราเอล ซึ่งมีกลุ่มชาวอเมริกันคนรุ่นใหม่เป็นผู้ทำเนื้อหาเหล่านี้

กลุ่มผู้วิจารณ์ TikTok ได้พูดถึงเรื่องนี้ต่อสื่ออนุรักษ์นิยมของสหรัฐฯ อย่าง ฟ็อกซ์นิวส์ และกล่าวอ้างในโซเชียลมีเดียอย่าง ทวืตเตอร์/เอ็กซ์ โดยกล่าวหาว่า TikTok ใช้อิทธิพลในการผลักดันเนื้อหาที่สนับสนุนปาเลสไตน์และขัดกับผลประโยชน์ด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เล่าจากปากของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเอง

ทาง TikTok ระบุว่า ข้อกล่าวหาเช่นนี้มีอคติและไร้หลักฐาน

สื่อ NBC ระบุว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ที่เราใช้ เช่นถ้าหากมีการวิเคราะห์ประวัติเทรนด์แฮชแท็กจากทั่วโลกจะพบว่า #standwithpalestine (ยืนหยัดเคียงข้างปาเลสไตน์) มีมากกว่า #standwithisrael (ยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล) แต่ถ้าวิเคราะห์จากเทรนด์แฮชแท็กในช่วง 30 วันที่ผ่านมาในประเทศสหรัฐฯ จะพบว่ามีเนื้อหาสนับสนุนอิสราเอลที่ทำผลงานได้เท่ากันหรืออาจจะดีกว่าเนื้อหาสนับสนุนปาเลสไตน์บางส่วนด้วยซ้ำ

 

 

เรียบเรียงจาก

Why some Palestinians believe social media companies are suppressing their posts, Vox, 29-10-2023

https://www.vox.com/technology/23933846/shadowbanning-meta-israel-hamas-war-palestine

Critics renew calls for a TikTok ban, claiming platform has an anti-Israel bias, NBC News, 01-11-2023

https://www.nbcnews.com/tech/social-media/tiktok-ban-israel-gaza-palestine-hamas-account-creator-video-rcna122849

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net