Skip to main content
sharethis

นักวิเคราะห์มองว่าหลังจากรัฐประหารพม่าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับรัสเซียที่แน่นแฟ้นขึ้นในทุกด้าน รวมถึงด้านเศรษฐกิจและการทหาร มีการซื้ออาวุธจากรัสเซีย และมีการวางแผนซื้อขายเชื้อเพลิงกับการแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างสองประเทศนี้ ทั้งนี้ยังมีการแสดงออกด้วยการให้เหรียญตราทหารกับผู้นำกองทัพระหว่างสองประเทศด้วย

เมื่อราวปลายเดือนที่แล้ว (มี.ค. 2567) ทางการรัสเซียได้มอบเหรียญตราเกียรติยศให้กับเหล่าผู้นำทหารของกองทัพเผด็จการพม่าหลายคน ซึ่งสื่ออิรวะดีเรียกว่าเป็น "การเกี้ยวพาราสีกันระหว่างสองประเทศที่นานาชาติไม่ยอมรับ" (romance of two pariahs) โดยระบุว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็เชิดชูเกียรติยศให้กันและกันเอง เป็นเสมือนการเฉลิมฉลองการเพิ่มความร่วมมือระหว่างกองทัพของสองชาติที่อื้อฉาวในเรื่องอาชญากรรมสงคราม

ฝ่ายกองทัพพม่าเองก็มีการให้เหรียญตราเกียรติยศแก่ฝ่ายรัสเซีย เช่นกัน โดยที่ผู้นำเผด็จการทหารพม่า มินอ่องหล่าย ได้มอบยศใหม่ให้กับเจ้าหน้าที่ทหารรัสเซีย 27 นาย ทำให้นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2564 เป็นต้นมาจนถึงตอนนี้มินอ่องหล่ายได้มอบยศให้กับทหารรัสเซียรวมแล้ว 32 นาย

ก่อนหน้านี้ ทางการรัสเซียเคยมอบยศให้กับมินอ่องหล่าย และรองพลเอกอาวุโส โซวิน แต่เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมของรัสเซียได้แจกเหรียญตราเกียรติยศให้กับคนอื่นๆ เช่น หม่องหม่องเอ เสนาธิการเหล่าทัพ (กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ), เยวินอู เลขาธิการร่วมของสภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารโดยกองทัพเผด็จการ, เมียะทุนอู รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมฝ่ายเผด็จการทหาร, โมออง รัฐมนตรีประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีฝ่ายเผด็จการทหารผู้ที่เคยเป็นพลเรือเอกของกองทัพ, และ พล.อ.อ. ทุนออง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศพม่า

นอกจากนี้กองทัพของทั้งสองประเทศยังได้ประกาศกำหนดการการซ้อมรบและซ้อมปฏิบัติการร่วมกันภายในปีนี้ด้วย (2567) กระทรวงกลาโหมของรัสเซียประกาศแผนการว่าจะมีกิจกรรมทางการทหารร่วมกันระหว่างกองทัพสองประเทศรวมแล้ว 50 ครั้ง

มินอ่องหล่าย ให้สัมภาษณ์ออกรายการทีวีรัสเซีย

ในรายการโทรทัศน์ของรัสเซีย "The Formula of Power" พิธีกรรายการมือรางวัลกล่าวกับผู้ชมว่า เมื่อตอนที่เขาจับมือกับมินอ่องหล่ายนั้นเขา "รู้สึกได้ถึงพลัง" สื่ออิระวดีรายงานในเรื่องนี้ว่ารายการตอนนั้นมันเป็นเหมือนรายการที่ถามว่า "พวกอาชญากรสงครามทำอะไรเพื่อความเพลิดเพลินยามว่าง"

ในคำตอบที่เตรียมไว้กับ "คำถามแบบเดิมๆ ทั่วไป" ในรายการดังกล่าวนี้ มินอ่องหล่ายได้สร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูเป็นคนรักครอบครัว เป็นชาวพุทธผู้มีศรัทธา แต่อิรวะดีก็วิเคราะห์ว่ามีจุดที่มินอ่องหล่ายได้แสดงความกังวลใจหลุดออกมาให้เห็นเหมือนกัน นอกจากนี้ยังมองว่าคำตอบของมินอ่องหล่ายนั้น "เต็มไปด้วยคำโกหก"

อิระวดีระบุว่ามินอ่องหล่ายยังคงโกหกในคำให้สัมภาษณ์อ้างว่าการรัฐประหารของเขาเป็นเรื่องจำเป็นเพราะมีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2563 แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยอมรับว่าสภากองทัพพม่าที่เป็นคณะรัฐประหารจะไม่จัดเลือกตั้งทั่วประเทศแบบที่ให้สัญญาไว้ แต่จะอนุญาตให้ลงคะแนนเสียงในพื้นที่ๆ เป็นไปได้เท่านั้น หลังจากที่เสถียรภาพของประเทศกลับคืนมาแล้ว

นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีสื่อสองประเทศเท่านั้นที่สัมภาษณ์มินอ่องหล่าย คือจีนและรัสเซีย ในคำถามของรายการโทรทัศน์รัสเซียมีการถามเรื่องชีวิตส่วนตัว ซึ่งมินอ่องหล่ายตอบว่า "ผมออกไปเดินทุกเช้า ถ้ามีเวลาผมจะเล่นกอล์ฟช่วงสุดสัปดาห์ แล้วก็อ่านหนังสือ นอกจากนี้แล้วผมก็พยายามจะสร้างครอบครัวที่อบอุ่น"

ในขณะที่มินอ่องหล่ายสร้างภาพให้ตัวเองในฐานะ ปู่ พ่อ และสามีที่อบอุ่นของครอบครัว แต่การปราบปรามและใช้กำลังโจมตีพลเรือนหลังการรัฐประหารก็พรากชีวิตคนในครอบครัวชาวพม่าไปเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมคุมขังโดยพลการ, การโจมตีด้วยปืนใหญ่หรือโจมตีทางอากาศต่อบ้านเรือนประชาชน

มินอ่องหล่ายยังพยายามสร้างภาพให้ตัวเองเป็นชาวพุทธที่ดีด้วยการกล่าวในบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องที่เขาสอนลูกหลานอยู่เสมอว่า "ในศาสนาพุทธของเรานั้น เราควรจะหลี่กเลี่ยงละเว้นที่จะทำบาปและทำความดีอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็ต้องทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ละเว้นความชั่ว ทำความดี ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ผมสอนพวกเขาในเรื่องพวกนี้ ... แล้วผมก็บอกพวกเขาให้ทำมาหากินอย่างซื่อสัตย์สุจริต"

ในความเป็นจริงแล้ว หลังจากที่มินอ่องหล่ายขึ้นเป็นผู้นำกองทัพพม่าในปี 2554 เขาก็เริ่มทำการผูกขาดธุรกิจทั้งหมดที่ทำกำไรจากกองทัพ เช่น ประกันชีวิตของทหาร, ขายยา อาวุธ และเตียงพยาบาลให้กองทัพ ลูกหลานของเขายังได้ผลประโยชน์จากธุรกิจการก่อสร้าง, ภาพยนตร์, โรงแรม และธุรกิจอื่นๆ ด้วย ในขณะที่ประชาชนเผชิญความยากลำบากกับข้าวของที่แพงขึ้นเพราะเงินเฟ้อหลังรัฐประหาร และเผชิญกับปัญหาไฟฟ้าดับเป็นประจำแม้กระทั่งในเมืองใหญ่ศูนย์กลางการค้าของพม่าอย่างเมืองย่างกุ้ง

อิระวดีระบุว่า จากเดิมที่กองทัพเผด็จการพม่าที่เรียกว่า "ทัตมะตอว์" เคยเป็นกลุ่มที่ไม่มีใครแตะต้องได้ ในตอนนี้ก็เริ่มมีความเปราะบางมากขึ้น พวกเขาเผชิญกับความพ่ายแพ้ในการรบอย่างน่าอดสูต่อเนื่องติดต่อกันหลายครั้ง และกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านขวัญกำลังใจ มีทหารฝ่ายเผด็จการหลายคนมักจะหนีข้ามแดนไปยังประเทศใกล้เคียง กองทัพถูกบีบให้ต้องบังคับเกณฑ์ทหารและเรียกทหารผ่านศึกกลับคืนสนามรบเพื่อส่งพวกเขายังแนวหน้า

อิรวะดีมองว่า สถานการณ์เช่นนี้เองทำให้กองทัพเผด็จการพม่า พยายามแสวงหาความช่วยเหลือในรูปแบบใดก็ได้ในช่วงที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ

นักวิเคราะห์มองรัสเซียกระชับความสัมพันธ์พม่าในทุกด้าน หลังรัฐประหาร 2564

นักวิเคราะห์การเมืองจากอินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุ๊ป (ICG) ตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารปี 2564 กองทัพเผด็จการพม่าและทางการรัสเซียก็มีการกระชับความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นขึ้นทั้งในด้านการเมือง, การทหาร และเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่าถดถอยลงเพราะมีความไม่เชื่อใจกันและกันจากทั้งสองฝ่าย

การมอบเหรียญตราเกียรติยศให้ทหารรัสเซีย 27 นาย เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมานั้นเป็นพิธีการเนื่องในวันกองทัพพม่า ปีที่ 79 และเป็นไปเพื่อตอบแทนความร่วมมือทางการทหารระหว่างสองประเทศ

มินอ่องหล่ายยังได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อรัสเซีย ITAR-TASS ว่ามีความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับพม่าเพิ่มขึ้นในด้านเทคโนโลยีการทหารและในด้านกลาโหมด้วย

ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่สนิทสนมและเป็นมิตรระหว่างรัสเซียกับเผด็จการพม่านั้น สภากองทัพพม่าก็ได้รับตำแหน่งในฐานะผู้ประสานงานระหว่างอาเซียน-รัสเซียในช่วงระหว่างปี 2567-2570

มีนักวิจารณ์แสดงความกังวลเรื่องที่พม่าได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าระบุไว้ในรายงานเมื่อไม่นานนี้ว่า สภากองทัพพม่าได้ซื้ออาวุธเฮลิคอปเตอร์ Mi-35 และเครื่องบินรบ MiG-29 กับเครื่องบิน YAK-130 จากรัสเซีย

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้นำเผด็จการทหารพม่าได้เดินทางไปเยือนรัสเซียหลายครั้ง และฝ่ายรัสเซียก็ตอบแทนด้วยการส่งตัวแทนไปเยือนกรุงเนปิดอ เมืองหลวงของพม่า

สภากองทัพพม่าเปิดเผยว่า ในตอนที่รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียเดินทางเยือนพม่าในปี 2566 นั้น ได้มีการลงนามกับพม่าในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน หรือ MOU ว่าจะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองประเทศในด้านการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงบอกว่าจะมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพม่าในเรื่อง การค้า, เศรษฐกิจ และภาคส่วนวัฒนธรรมกับการศึกษา

ทั้งนี้ พม่ากับรัสเซียยังมีแผนการที่จะสร้างความตกลงร่วมกันในด้านการค้าน้ำมันและการแลกเปลี่ยนเงินตราในสกุลเงินจ๊าดของพม่ากับสกุลเงินรูเบิลของรัสเซียอีกด้วย

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net