Skip to main content
sharethis

โจ ไบเดน ลงนามในร่างกฎหมาย NDAA ฉบับปี 2567 ที่ระบุให้คอยช่วยเหลือทางการทหารแก่ไต้หวัน และคอยประเมินท่าทีของจีนอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังระบุให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต้องส่งความช่วยเหลือทางการทหารอย่างทันท่วงทีให้กับกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ รวมถึงประเทศไต้หวันด้วย

 

29 ธ.ค. 2566 ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เพิ่งจะลงนามในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันประเทศ (National Defense Authorization Act - NDAA) สำหรับปีงบประมาณที่ 2567 ซึ่งระบุให้รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ ต้องจัดให้มีโครงการซ้อมรบให้กับกองทัพไต้หวันและให้มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการจัดส่งอาวุธและความช่วยเหลือด้านการทหารอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ตกลงว่าจะขายให้กับไต้หวันอีกด้วย

ในบทบัญญัติของ NDAA ที่เกี่ยวกับไต้หวัน มีการระบุเพิ่มเรื่องมาตรการที่จะช่วยส่งเสริมสมรรถภาพทางการทหารให้กับไต้หวัน ต่อต้านปฏิบัติการสร้างอิทธิพลของจีน และสนับสนุนให้ไต้หวันสามารถเข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศได้

หนึ่งในบทบัญญัติเหล่านี้ระบุให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมต้องทำการปรึกษาหารือกับ "เจ้าหน้าที่ผู้มีความเหมาะสมในไต้หวัน" เพื่อสร้างการฝึกซ้อมรบที่ครอบคลุม มีการให้คำแนะนำและดำเนินโครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพให้แก่กองทัพไต้หวันในระดับสถาบันกองทัพ

กฎหมาย NDAA ยังมีคำสั่งให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ต้องระบุถึงปฏิบัติการตามโครงการดังกล่าวนี้ลงในรายงานประจำปีส่งให้กับสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ด้วย

ในมาตราอื่นของกฎหมาย NDAA ระบุให้เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ต้องพิจารณาอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับเรื่องการส่งความช่วยเหลือทางการทหารให้กับพันธมิตรของสหรัฐฯ รวมถึงไต้หวัน

กฎหมายนี้ยังระบุห้ามไม่ให้มีการนำงบประมาณร้อยละ 85 ไปให้กับรัฐมนตรีช่วยฯ ด้านการวิจัย, พัฒนา และการได้มาซึ่งน่านน้ำ จนกว่าจะมีการส่งแผนการที่จะจัดหาขีปนาวุธฮาร์ปูนให้กับพันธมิตรด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังระบุให้องค์กรดังกล่าวต้องทำการรายงานสรุปเกี่ยวกับสถานะของความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ที่มีต่อไต้หวันเสียก่อนถึงจะมีการให้งบประมาณที่เหลือได้

ไต้หวันมีพันธกรณีที่จะซื้อขีปนาวุธฮาร์ปูนที่ใช้ยิงจากพื้นดินเป็นจำนวน 400 ลำจากสหรัฐฯ พวกเขาหวังว่าจะเริ่มการส่งมอบต่อไต้หวันได้ภายในปี 2569 และคาดว่าไต้หวันจะได้รับขีปนาวุธครบทั้ง 400 ลำ ภายในช่วงสิ้นปี 2571

NDAA ระบุให้รัฐมนตรีกลาโหมและภาครัฐรายงานสรุปต่อคณะกรรมาธิการของสภาคองเกรสในเรื่องสถานะของความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันภายในเวลาไม่เกิน 180 วันหลังจากที่มีการออกบังคับใช้กฎหมายนี้

รายงานเหล่านี้จะต้องมีการระบุรายชื่อพัสดุหรือความช่วยเหลือทางการทหารที่มีพันธกรณีหรือมีการวางแผนที่จะจัดหาให้กับไต้หวัน และมีการระบุกำหนดการส่งโดยประมาณเอาไว้ในทุกรายการ

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการที่ NDAA กำหนดเงื่อนไขว่าการรายงานสรุปจะต้องระบุถึงพัสดุหรือความช่วยเหลือทางการทหารที่มีการส่งล่าช้ามากกว่า 3 เดือน และจะต้องมีการดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้าหรือทำการเร่งส่งพัสดุนั้นๆ

NDAA ยังกำหนดให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมต้องทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ไต้หวันในเรื่องกิจการความมั่นคงทางไซเบอร์ด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มกันเครือข่าย, โครงสร้างพื้นฐาน และระบบอินเทอร์เน็ตของกองทัพ ซึ่งจะเป็นการต่อต้าน "การก่อเหตุมุ่งร้ายในโลกไซเบอร์" ที่มีเป้าหมายเป็นสถานที่ทางการทหาร

นอกจากนี้กฎหมาย NDAA ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทำการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจถ้าหากว่าจีนทำการรุกรานไต้หวันรวมถึงมีการโต้ตอบถ้าหากเกิดสถานการณ์แบบที่ว่า ร่วมไปกับการหาทางเลือกนโยบายเศรษฐกิจที่ใช้การได้ซึ่งจะเป็นการ "สร้างผลกระทบแบบยกระดับมากขึ้น" ต่อเศรษฐกิจของจีน "ในช่วงก่อนจะเกิดความขัดแย้ง"

ทั้งนี้ ในกฎหมายดังกล่าวยังระบุให้เจ้าหน้าที่ต้องทำการประเมินอยู่เสมอเกี่ยวกับความพยายามของจีนในการที่จะชักจูงให้กลุ่มประเทศแถบหมู่เกาะแปซิฟิกให้หันมาอยู่ข้างจีน จากที่ประเทศเหล่านี้ยังคงยอมรับไต้หวันในทางการทูตอยู่ในปัจจุบัน

 

 

เรียบเรียงจาก

Biden signs Taipei-friendly defense bill, Taipei Times, 24-12-2023

https://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2023/12/24/2003811070

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net