Skip to main content
sharethis

เผด็จการทหารพม่าขับไล่อุปทูตติมอร์ตะวันออก เพราะไม่พอใจที่ผู้นำติมอร์ตะวันออก เชิญชวนให้ตัวแทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือ NUG เข้าร่วมในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีติมอร์ฯ ซึ่งถือเป็นการให้การยอมรับ NUG ซึ่งเป็นแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตยของพม่ามากกว่ายอมรับเผด็จการทหาร

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา เผด็จการทหารพม่าได้สั่งขับไล่ทูตระดับสูงของประเทศติมอร์ตะวันออก เพราะไม่พอใจที่รัฐบาลติมอร์ตะวันออกเคยชวนรัฐบาลเงาฝ่ายต่อต้านเผด็จการที่ชื่อ "รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ" (NUG) เข้าร่วมงานพิธีที่จัดโดยรัฐบาลติมอร์ตะวันออก

เผด็จการทหารพม่าได้จัดให้ NUG เป็น "องค์กรก่อการร้าย" โดยที่ NUG เป็นกลุ่มที่มาจากการจัดตั้งโดยอดีต ส.ส. ฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกโค่นล้มจากการรัฐประหารของกองทัพเมื่อปี 2564
ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีของติมอร์ตะวันออก โฮเซ รามอส-ฮอร์ตา ได้เข้าพบปะกับ Zin Mar Aung รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของ NUG ที่กรุงดีลี

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2566 รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเผด็จการทหารพม่าประณามติมอร์ตะวันออกว่า "กระทำการอย่างไร้ความรับผิดชอบ" และสั่งไล่อุปทูตของติมอร์ตะวันออกจากกรุงย่างกุ้ง โดยบอกให้เขาออกจากประเทศ "ภายในไม่เกินวันที่ 1 ก.ย. 2566"

กระทรวงการต่างประเทศของเผด็จการทหารพม่ายังได้โพสต์ในเฟซบุ๊กกล่าวหาว่า ติมอร์ตะวันออก "ส่งเสริมกลุ่มก่อการร้ายให้ก่อเหตุล่วงล้ำในพม่ามากขึ้น"

ติมอร์ตะวันออกประณามคำสั่งไล่ทูตของตัวเองจากพม่า และระบุย้ำในแถลงการณ์ถึง "ความสำคัญในการพยายามสนับสนุนให้พม่ากลับสู่ระบอบประชาธิปไตย" นอกจากนี้ยังขอให้เผด็จการทหารพม่า "เคารพในสิทธิมนุษยชนและแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์อย่างสันติและสร้างสรรค์"

ติมอร์ตะวันออกเป็นประเทศที่กำลังรอรับการอนุมัติให้เข้าเป็นประเทศสมาชิกรายที่ 11 ของอาเซียนอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ซานานา กุสเมา นายกรัฐมนตรีของติมอร์ตะวันออกกล่าวเมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาว่าพวกเขากำลังพิจารณาใหม่อีกครั้งว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนดีหรือไม่ถ้าหากทางอาเซียนไม่สามารถหว่านล้อมให้เผด็จการพม่ายุติความขัดแย้งได้

ทางอาเซียนมีความก้าวหน้าน้อยมากในเรื่องการสร้างสันติในพม่านับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร 2564 เพราะเผด็จการทหารละเลยการปฏิบัติตามเนื้อหาส่วนใหญ่ของฉันทมติ 5 ข้อ ในการยุติความรุนแรง นอกจากนี้ทางอาเซียนยังมีความคิดเห็นต่างกันในเรื่องที่ว่าจะปฏิสัมพันธ์กับเผด็จการทหารพม่าอย่างไร

นอกจากนี้ยังเคยมีกรณีที่ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนทำการจัดพบปะพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของฝ่ายเผด็จการทหาร ถึงแม้ว่าอาเซียนจะทำการแบนไม่ให้เผด็จการทหารเข้าร่วมประชุมผู้นำระดับสูงก็ตาม

U Linn Thant ผู้แทนของ NUG ในกรุงปราก สาธารณรัฐเชก ประณามการที่เผด็จการพม่าไล่อุปทูตติมอร์ตะวันออก และบอกว่าเผด็จการทหารไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการไล่อุปทูต
กรณีที่สร้างความขุ่นเคืองให้กับเผด็จการทหารพม่าในครั้งนี้ มาจากการที่ รามอส-ฮอร์ตา ประธานาธิบดีติมอร์ตะวันออกเชิญชวนให้ Zin Mar Aung รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของ NUG เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ  ซานานา กุสเมา นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ กรุงดีลี เมืองหลวงของติมอร์ตะวันออก

เรื่องนี้นับเป็นการที่ประเทศเล็กๆ ที่เพิ่งประกาศตนเป็นเอกราชจากอินโดนีเซียเมื่อปี 2545 แสดงจุดยืนยอมรับ NUG โดยมองว่าเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมอย่างแท้จริงของพม่า ไม่ใช่เผด็จการทหารที่ทำการยึดอำนาจ ทั้งนี้ รามอส-ฮอร์ตา ผู้นำขบวนการเรียกร้องเอกราชติมอร์ตะวันออกที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองในเวลาต่อมา ก็เป็นคนที่ประณามกองทัพพม่ามาโดยตลอดในเรื่องที่พวกเขายึดอำนาจปี 2564 อีกทั้งยังเรียกร้องให้นานาชาติดำเนินการต่อเผด็จการพม่าด้วย


เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net