Skip to main content
sharethis

ILO Voices แพลตฟอร์มการเล่าเรื่องแบบมัลติมีเดียขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นำเสนอเรื่องราวของ 'กูแลร์ โคคา' (Güler Koca) ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายและความเท่าเทียมกันของ ILO โดยเธอมีความบกพร่องทางการมองเห็นมาตั้งแต่เด็ก


กูแลร์ โคคา (Güler Koca) ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายและความเท่าเทียมกันของ ILO | ที่มาภาพ: ILO/OIT Alex Belopopsky

เมื่อตอนที่ฉันยังเด็ก ฉันรู้สึกเสมอว่าฉันต้องเข้าไปในที่ที่ไม่รู้จัก บางครั้งก็อยู่ตามลำพัง ฉันมีความกลัวเพราะเหตุนี้ สังคมมักจะคาดหวังคนพิการไว้น้อยกว่า ดังนั้นเพื่อให้ผู้คนยอมรับการมีอยู่ของเรา เราจึงต้องประสบความสำเร็จให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครคิดว่าคุณสามารถทำสิ่งนี้หรือสิ่งนั้นได้

นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ฉันมีความสามารถในการแข่งขัน ได้เกรดดีที่สุด วิ่งมาราธอน เรียนปริญญาโท 2 ใบ เดินทางไปหลายประเทศ

ฉันมีความบกพร่องทางการมองเห็น ฉันรับรู้แสงได้ รู้ว่าเวลานั้นมืด สว่าง หรือมีเมฆฝน และมองเห็นเงา แต่ก็ไม่ได้เห็นอะไรชัดไปกว่านั้น

ฉันเติบโตจากครอบครัวชาวตุรกีในฝรั่งเศส วัยเด็กฉันใช้เวลาไปกับการอยากเป็นเหมือนพี่ชาย อยากตัดผมสั้น แต่งตัวแบบเดียวกัน ปีนต้นไม้ และอื่นๆ อีกมากมาย

ตอนเด็กๆ ฉันมองเห็นได้มากกว่านี้เล็กน้อย และจนกระทั่งชั้นประถมปีที่ 1 ฉันยังเรียนชั้นเรียนปกติ เรียนรู้การอ่านและเขียนเหมือนเด็กคนอื่น ๆ เช่นเดียวกับเด็กพิการหลายคน ความต้องการของฉันไม่ได้รับการพิจารณา และเนื่องจากเราพูดภาษาตุรกีที่บ้าน ฉันจึงต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่พูดภาษาฝรั่งเศสด้วย

เมื่อฉันเรียนจบชั้นประถมปีที่ 1 ฉันถูกบอกว่า "โอเค ดีมาก ตอนนี้คุณต้องเริ่มต้นทุกอย่างใหม่ แต่เป็นอักษรเบรลล์" ดังนั้นฉันต้องทำงานหนักกว่าเด็กคนอื่น 2 เท่า รวมถึงการเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือช่วยเหลือ เช่น โปรแกรมอ่านหน้าจอ

เมื่อฉันเข้าใกล้วัยผู้ใหญ่ ความฝันอันยิ่งใหญ่ของฉันคือการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและเรียนกฎหมาย ซึ่งฉันก็ทำได้ มันสำคัญมากสำหรับฉันที่จะเข้าใจว่าโลกทำงานอย่างไร กฎระเบียบต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมเราจึงทำหรือไม่ทำบางสิ่งบางอย่างได้

ฉันมักมีจิตสำนึกด้านความยุติธรรม ฉันไม่เคยอยู่เฉย เมื่อมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นที่ฉันรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม


ตอนที่ฉันอายุ 24 ฉันวิ่งมาราธอนที่นิวยอร์กกับบัดดี้นักวิ่งที่มองเห็นได้ การเตรียมตัวสำหรับการวิ่งมาราธอนสอนให้ฉันมีความเพียร ฉันเรียนรู้ว่าเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายบางอย่าง คุณต้องมีผู้คนดี ๆ ล้อมรอบ | ที่มาภาพ: Güler Koca

ฉันเป็นคนแรกในครอบครัวที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ก้าวสู่สิ่งที่ไม่รู้จัก ฉันไม่รู้ว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่

ฉันคิดว่าในหลายประเทศ ผู้คนมีภาพจำแบบตายตัวว่าผู้พิการทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ ตัวอย่างเช่น พวกเขาพูดว่าคนตาบอดถนัดนวดหรือทำงานในศูนย์บริการโทรศัพท์ ในฝรั่งเศส คนที่ตาบอดจำนวนมากเป็นนักกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นงานที่ดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่ฉันอยากทำ

ฉันจำวันแรกที่มหาวิทยาลัยได้ ฉันกลัวนิดหน่อย  ฉันรอเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวิชาแรก ฉันอยู่คนเดียว ตอนนั้นเองที่ฉันได้พบกับนักศึกษาอีกคน และต่อมาเธอคือหนึ่งในเพื่อนสนิทที่สุดของฉัน

เราทั้งคู่ต่างอยากเดินทางและทำโครงการเพื่อสังคม เธอเป็นชาวฝรั่งเศส-เปรู ด้วยเหตุนี้เธอจึงมีส่วนร่วมในการเดินทางครั้งใหญ่ครั้งแรกของฉัน ฉันไปเปรู เราได้ร่วมกันจัดทำโครงการระดมทุนและสร้างศูนย์นวดที่ดำเนินการโดยผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา 10 ปีต่อมาโครงการนี้ยังคงดำเนินอยู่ ฉันภูมิใจกับสิ่งนั้นมาก

การเรียนปริญญาตรียังพาฉันไปบาร์เซโลน่า ที่ซึ่งฉันเรียนภาษาสเปน หลังจากจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยม ฉันตัดสินใจหางานที่ช่วยให้ฉันเรียนภาษาอังกฤษ เดินทาง และทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ฉันเป็นอาสาสมัครที่ศูนย์พักพิงสัตว์ในฟิจิ สถานที่ไกลที่สุดที่ฉันเคยไป

ระหว่างที่ฉันอยู่ฟิจิ ที่ขณะนั้นกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น และกำลังมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่จากภาคประชาสังคม ฉันสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นของผู้พิการที่ร่างข้อเสนอสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

มันเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม และเป็นการพบปะครั้งแรกของฉันกับขบวนการเรียกร้องสิทธิของผู้พิการ

ทำให้ฉันอยากทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับองค์กรระหว่างประเทศ ฉันเรียนต่อปริญญาโท 2 ใบ – ด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่เจนีวาและด้านสันติภาพระหว่างประเทศในคอสตาริกา สำหรับปริญญาโทใบที่ 2 ฉันฝึกงานในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ฉันอยู่ที่นั่นต่ออีก 1 ปีเพื่อเรียนภาษาอาหรับ

เมื่อฉันกลับมา ฉันสอบเนติบัณฑิตในฝรั่งเศสผ่าน และกลายเป็นทนายความอย่างเป็นทางการ แม้จะพูดได้ 5 ภาษา มีปริญญาโท 2 ใบ เคยฝึกงานและเป็นอาสาสมัครให้โครงการต่าง ๆ ทั่วโลก ฉันก็ยังไม่สามารถหางานประจำที่เป็นทางการได้


ฉันเพิ่งไปเที่ยวที่กาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ชีวิตของฉันคือการสำรวจสิ่งที่ไม่รู้จัก ฉันสนใจอยู่เสมอว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป | ที่มาภาพ: Güler Koca

ไม่มีนายจ้างคนไหนจะบอกคุณว่า "เราจะไม่เลือกคุณเพราะคุณมีความพิการ" อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเห็นสถิติ มันชี้ว่ามีคนพิการเพียงไม่กี่คนในโลกแห่งการทำงาน เราก็สามารถอนุมานได้ว่าพวกเขากำลังเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอยู่

ไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติโดยตรงเสมอไป การสมัครงานเป็นฝันร้าย เพราะเว็บไซต์หางานหลายแห่งไม่รองรับผู้สมัครที่ใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอ

ในการสัมภาษณ์งาน ฉันมักจะต้องขอให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงกระบวนการสัมภาษณ์หากฉันไม่สามารถเข้าถึงได้ ตัวอย่างเช่น ในการสัมภาษณ์งานครั้งหนึ่ง ฉันถูกขอให้วิเคราะห์กราฟิก แม้ว่าพวกเขาจะรู้ว่าฉันมีความบกพร่องทางการมองเห็นก็ตาม ฉันถามพวกเขาว่า “ฉันทำไม่ได้หรอก ฉันมองไม่เห็นกราฟิกนั้น” พวกเขาบอกฉันว่าไม่ต้องกังวลและฉันไม่จำเป็นต้องทำ คุณอาจคิดว่านี่เป็นเรื่องดีของพวกเขา แต่ฉันรู้ว่ามันทำให้ฉันไม่ได้งาน

มันน่าหงุดหงิดมากเพราะฉันรู้ว่าฉันมีความสามารถ เป็นเวลานานมาก ฉันรู้สึกว่าฉันต้องทำมากกว่าคนอื่น 10 เท่าเพื่อให้ประสบความสำเร็จเท่ากัน และในขณะเดียวกัน สังคมก็คาดหวังผู้พิการน้อยกว่า

ตอนนี้ฉันเลือกเป้าหมายและกิจกรรมมากขึ้น และทำเฉพาะสิ่งที่มีความหมายกับฉันจริง ๆ แต่ถ้าฉันต้องพยายามโน้มน้าวคนอื่นว่าฉันทำได้ดีเท่าพวกเขา แสดงว่ามีบางอย่างผิดปกติแล้ว

อดีตเพื่อนร่วมงานช่วงฝึกงานแนะนำให้ฉันเป็นฟรีแลนซ์ นั่นหมายความว่าฉันไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการสมัครงานที่ไม่เป็นมิตรหรือต้องโน้มน้าวผู้อื่นเกี่ยวกับการจ้างงานของฉันอีกต่อไป

ฉันก้าวไปข้างหน้าและสร้างบริษัทของฉันในฝรั่งเศส ฉันใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ฉันทำมันในวันเกิดของฉันเพื่อให้โชคดีและมันก็ได้ผล วันนั้นฉันได้ลูกค้ารายแรกคือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ฉันฝันได้ หลังจากนั้นฉันก็ไม่ได้หยุดพักเลยเป็นเวลา 2 ปีโดยร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เช่น UNICEF, International Disability Alliance, International Committee of the Red Cross และ the Minority Rights Group

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ฉันได้รับการว่าจ้างจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตอนนี้ฉันเป็นผู้เชียวชาญด้านความเท่าเทียมกันทางเพศและความพิการในโครงการ PROSPECTS โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมผู้อพยพในแอฟริกาและตะวันออกกลางเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน

การทำให้แน่ใจว่าองค์กร สถานที่ทำงาน และโครงการ ครอบคลุมทุกคน เป็นงานที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง มันบังคับให้คุณถอยหนึ่งก้าว มองภาพรวมของโครงสร้างองค์กร และให้คำแนะนำที่จะทำให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้น อะไรจะดีไปกว่านี้


เมื่อต้นปี 2023 ฉันได้พูดคุยเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศและความพิการในงานวันสตรีสากลของ ILO | ที่มาภาพ: ILO/OIT

ชีวิตของฉันเกี่ยวข้องกับการสำรวจสิ่งที่ไม่รู้จักเสมอ ในฝรั่งเศสมีองค์กรหนึ่งที่สร้างระบบเพื่อให้ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถขับเครื่องบินได้ 

ฉันจำได้ว่าไปหาหมอเพื่อขอใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าฉันสามารถบินได้ เขาตอบรับคำขอของฉันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการกระโดดร่ม วิ่งมาราธอน และอีกมากมาย ครั้งนี้เขาจะเซ็นต์เอกสารแล้ว แต่ทันใดนั้นเขาก็หยุดและพูดว่า "ขอโทษนะ แต่อธิบายให้ฉันฟังหน่อยได้ไหมว่ามันทำงานอย่างไร" ฉันอธิบายให้เขาฟังและเราก็เริ่มหัวเราะ

การบินนั้นยอดเยี่ยม คุณสามารถไปได้ทุกที่ ไม่เหมือนกับการขับรถที่มีสิ่งกีดขวางมากมาย สิ่งนี้ไม่มีอยู่ในอากาศ ดังนั้นจึงเป็นความรู้สึกอิสระที่ยอดเยี่ยม ฉันคิดว่ามันทำให้ฉันได้ติดปีก


ฉันชอบทำสิ่งสุดโต่งมาโดยตลอด การบินเครื่องบินทำให้ฉันมีความรู้สึกอิสระอย่างมาก | ที่มาภาพ: Güler Koca

ไม่มีใครปฏิเสธได้หรอกว่าการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนพิการนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่มันยังไม่พอ เราต้องลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง ๆ ต่างหาก

จุดเริ่มต้นอาจอยู่ที่การรับฟังเสียงจากคนที่เคยสัมผัสประสบการณ์แบบฉัน บวกกับการเข้ารับการอบรมสร้างความตระหนักรู้เรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนพิการ มันเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่างไรเสีย สิ่งเหล่านี้แทบไม่มีความหมายเลยหากในชีวิตประจำวันของคุณยังขาดโอกาสที่จะใกล้ชิดกับคนพิการ

Fast facts

  • ทั่วโลกมีคนพิการมากกว่าหนึ่งพันล้านคน แต่อัตราการจ้างงานคนพิการยังต่ำและอุปสรรคมากมายในการทำงานยังคงมีอยู่
  • ILO ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนพิการผ่าน 'เครือข่ายธุรกิจและคนพิการทั่วโลก' (ILO Global Business and Disability Network หรือ GBDN)
  • GBDN ประกอบด้วยเครือข่ายธุรกิจและคนพิการระดับชาติ บริษัทข้ามชาติ องค์กรนายจ้าง องค์กรประชาสังคม และสถาบันการศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงานระดับโลกที่ให้ความเคารพและยินดีทำงานร่วมกับผู้พิการ


 

ที่มา:
Together we can make disability inclusion happen (ILO Voices, 7 December 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net