Skip to main content
sharethis

เสียงจากผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศจอร์แดน การมีงานทำสำหรับผู้ลี้ภัยในค่ายถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเพียงการพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้บริจาคนั้นยังคงไม่เพียงพอ

ILO Voices แพลตฟอร์มการเล่าเรื่องแบบมัลติมีเดียขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้นำเสนอเรื่องราวของ 'อับเดล ฮาลิม อัล ควาซี' (Abdel Halim al Qasir) ที่เกิด เติบโต และได้รับการศึกษาในซีเรีย แต่ในปี 2556 เขาและครอบครัวได้หนีภัยสงครามจากประเทศบ้านเกิด ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่กับครอบครัวที่ค่ายผู้ลี้ภัย Za'atari ในประเทศจอร์แดน โดยทำงานเป็นผู้อำนวยความสะดวกที่ ILO Job Search Club


อับเดล ฮาลิม อัล ควาซี (Abdel Halim al Qasir) ผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัย Za'atari ประเทศจอร์แดน เขายังทำงานเป็นผู้อำนวยความสะดวกที่ ILO Job Search Club ด้วย | ที่มาภาพ: ILO/OIT Ala’a Al Sukhni

เมื่อสงครามเริ่มขึ้นในซีเรีย เราถูกบังคับให้หนีออกจากประเทศเพราะอันตรายที่เราเผชิญ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่ง

เราเคยใช้ชีวิตครอบครัวอย่างปกติ ก่อนย้ายมายังค่ายผู้ลี้ภัย ณ ที่นี่บ้านของเราคือเต็นท์เพียงหลังเดียว และเราต้องมุ่งแต่รอรับความช่วยเหลือ

ในตอนแรก ค่ายผู้อพยพของเราเป็นเพียงแคมป์ที่พักกลุ่มใหญ่ในทะเลทราย เราพบว่าตัวเองอาศัยอยู่ในสิ่งที่เป็นเพียงผ้าชิ้นหนึ่ง เราเผชิญกับลมและฝุ่นละออง อุณหภูมิสูงในฤดูร้อน และอุณหภูมิเย็นจัดในฤดูหนาว เคยมีพายุพัดกระหน่ำที่แคมป์ถึง 2 ครั้ง ในขณะที่พวกเรายังอาศัยอยู่ในเต็นท์ ตอนนี้เราอาศัยอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ดัดแปลงเป็นที่อยู่อาศัย

ลูกทั้ง 4 คนของผมเกิดในค่ายผู้ลี้ภัย พวกเขาเห็นบ้านหลังหนึ่งในอินเทอร์เน็ต พวกเขาประหลาดใจที่เห็นบันได เพราะไม่มีสิ่งนี้ในค่ายผู้ลี้ภัยของเรา

การใช้ชีวิตในค่าย คล้ายกับการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม ไม่มีไฟฟ้า การคมนาคม หรือถนนลาดยาง อย่างน้อย นี่เป็นสถานการณ์ในตอนแรกเริ่ม

น้ำก็เป็นปัญหาเช่นกัน การหาน้ำดื่ม น้ำสำหรับซักผ้า และใช้ในครัวเรือนเป็นเรื่องยากยิ่ง

นอกจากนี้ การไม่รู้ว่าผู้คนที่อาศัยอยู่รอบๆ ตัวเรานั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ก็เป็นความกังวลอย่างมากเช่นกัน เราไม่รู้ว่าเพื่อนบ้านใหม่ของเรามาจากไหน เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับภูมิหลังหรือความเชื่อของพวกเขา นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุในความกลัวของพวกเรา

ความกังวลใจอีกอย่างคือเราไม่มีแหล่งรายได้ เราเพียงแค่พึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้บริจาค ซึ่งนั่นมันยังไม่เพียงพอ


ผมต้องหางานทำ เพื่อที่ผมจะได้มีเงินเพิ่มเพื่อเอาชนะความยากลำบากในแต่ละวัน | ที่มาภาพ: ILO/OIT Ala’a Al Sukhni

ผมเคยเป็นครูในซีเรีย เคยทำงานในโรงเรียนประถมของรัฐ และยังเคยทำงานเป็นครูสอนประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมด้วย

5 วันหลังมาถึงค่ายผู้ลี้ภัย ผมเริ่มหางาน ไปที่เต๊นท์ขององค์กรต่างๆ และหางานเป็นอาสาสมัคร การเป็นอาสาสมัครทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถทำงานภายในค่ายได้ เป็นงานที่ผู้อยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยไม่สามารถทำได้

ผมค้นหาทั่วทั้งค่ายเพื่อหางานทำ ไปหาองค์กรทั้งหมดที่มี แต่ผมไม่ได้รับคำตอบเชิงบวกใดๆ และไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ทำให้ผมต้องออกไปนอกค่ายผู้ลี้ภัยและหางานทำในไซต์ก่อสร้างใกล้ๆ ผมยังทำงานรับจ้างภาคเกษตรด้วย

ผมยังคงค้นหางานในค่ายเป็นครั้งคราว บางครั้งมันก็ได้ผล ผมช่วยผู้คนขนย้านสิ่งของ หรือซ่อมแซมเต็นท์ของพวกเขา ผมต้องหาเงินเพิ่มเพื่อเอาชนะความยากลำบากในแต่ละวัน และนำสิ่งของพื้นฐานเพิ่มเติมบางอย่างกลับบ้าน เช่น ฟูกและฟองน้ำ


ลูกทั้ง 4 ของผมเกิดในค่ายผู้ลี้ภัย แฮมซา ลูกชายคนโตอายุ 7 ขวบและเข้าโรงเรียนในค่าย | ที่มาภาพ: ILO/OIT Ala’a Al Sukhni

8 เดือนหลังจากมาถึงค่ายผู้ลี้ภัย ในที่สุด ผมก็ได้งานเป็นอาสาสมัครขององค์กรด้านมนุษยธรรมแห่งหนึ่ง เป็นการสิ้นสุดการเดินทางอันเหน็ดเหนื่อย เพราะในตอนนั้นผมเริ่มท้อแท้จากการทำงานที่ไม่ชำนาญและไม่ปลอดภัยนอกค่าย

ผมได้งานอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่เด็กๆ ในค่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือและออกไปทำงานแทน พวกเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมาย

เราสอนวิธีป้องกันตัวเองแก่พวกเขา ผมยังสอนให้พวกเขาอ่านออกเขียนได้ สิ่งนี้เปลี่ยนชีวิตของผมจากลบเป็นบวก ผมกลับมาเป็นคนที่มีชีวิตชีวาในการทำงานและความมั่นใจอีกครั้ง ในที่สุดผมก็สามารถสร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้อื่นได้อีกครั้ง

จากตำแหน่งงานนี้ ผมได้เรียนรู้ว่าการทำงานนั้น ไม่ได้วัดจากแค่ผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น ผมเริ่มวัดคุณค่างานของผมจากการเปลี่ยนแปลงที่ผมสร้างขึ้น โดยการช่วยเหลือเด็กที่เปราะบาง บางคนก็เอาผมเป็นแบบอย่าง

มีหลายสิ่งหลายอย่างจากช่วงเวลานี้ในชีวิตที่ผมจะไม่มีวันลืม ตัวอย่างเช่น มีเด็กอายุ 14 และ 15 ปี ที่เคยทำงานและอ่านเขียนแทบไม่ได้ แต่สามารถอ่านออกเขียนได้หลังจากเข้าเรียนในชั้นเรียนของผม

นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจ เพราะผมสามารถมีอิทธิพลต่อพวกเขาและสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายหรือยาก หากไม่มีความรู้เพิ่มเติม ชีวิตของพวกเขาจะแย่ลง

จากนั้นผมได้รับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับบริการแนะแนวอาชีพ ซึ่งเป็นโครงการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และยังได้เป็นอาสาสมัคร ผมสนใจโครงการ ILO Job Search Club เพราะตัวผมเองเคยต้องทนทุกข์ทรมานกับการหางานในค่าย แนวคิดของ ILO Job Search Club คือการช่วยให้ผู้คนหางานทำ มันเป็นวิธีการที่ช่วยให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น ผมต้องการช่วยคนอื่นหางานที่เหมาะสม ในที่สุด สำหรับผมแล้ว การช่วยเหลือผู้คนในฐานะผู้อำนวยความสะดวกของ Job Search Club ถือเป็นอีกภารกิจ

ผมใช้เวลา 8 เดือนในการหางานที่เหมาะสมได้เป็นครั้งแรกในค่าย แต่ถ้าใครประเมินทักษะของตนเองและใช้วิธีการเฉพาะในการค้นหาและสมัครงาน ก็จะช่วยประหยัดเวลาอันมีค่า และเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตได้

ILO Job Search Club ช่วยขจัดความรู้สึกคับข้องใจที่ผู้หางานอาจประสบ โดยเฉพาะความคิดที่ว่าพวกเขาไม่มีโอกาสในการทำงาน ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อพัฒนาทักษะของตนเองควบคู่กันไปด้วย


ผมได้แนะแนวอาชีพสำหรับเพื่อนผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเกี่ยวกับวิธีการหางานตามทักษะของพวกเขา | ที่มาภาพ: ILO/OIT Ala’a Al Sukhni

เราได้แสดงให้สมาชิกของ ILO Job Search Club เห็นวิธีการหางาน วิธีการสร้างทักษะเพื่อเข้าสู่ตลาดงาน ตลอดจนวิธีกำหนดเป้าหมายเพื่อให้ได้งานที่ต้องการ

เราสนับสนุนพวกเขาตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการหางาน อธิบายวิธีใช้เครือข่ายคนรู้จัก และวิธีสร้างเครือข่ายใหม่เพื่อให้ได้งาน เราสนับสนุนพวกเขาในการเขียนประวัติย่อ แจกจ่ายมันไป และเชื่อมต่อกับผู้คน

มีงาน 2 ประเภทสำหรับคนในค่ายผู้ลี้ภัย – ประเภทแรกคือ การประกอบอาชีพ เช่น การเปิดร้านค้า งานบำรุงรักษา และการให้บริการ เช่น ช่างเหล็ก ช่างไม้ เป็นต้น

อีกประเภทคือ งานอาสาสมัครกับองค์กรด้านมนุษยธรรม ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรม การสอน และการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ 

ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมจัดการฝึกอบรมร่วมกับกระทรวงเยาวชนของจอร์แดน เพื่อช่วยเหลือคนหนุ่มสาวเข้าสู่ตลาดแรงงาน


ผมเพิ่งไปที่กรุงอัมมานเมืองหลวงของจอร์แดน เพื่อจัดการฝึกอบรมแก่ผู้อำนวยความสะดวกและผู้เกี่ยวข้องของโครงการ ILO Job Search Club ที่กระทรวงเยาวชนของจอร์แดน | ที่มาภาพ: ILO/Majdi Abu Hadba

ในวันที่ผมไม่ได้ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกของ Job Search Club ผมก็ยังคงทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรด้านมนุษยธรรมในค่ายผู้ลี้ภัย เมื่อกลับถึงบ้าน ผมเล่นกับลูก ๆ และไปเยี่ยมเพื่อน ๆ และญาติ ๆ ในค่าย

ลูกของผมกำลังเข้าโรงเรียนในค่าย หากคุณต้องการเรียนต่อหลังจากจบมัธยมปลาย คุณต้องได้รับทุน แต่เป็นเรื่องยากมากที่จะได้

ตอนแรก ผมคิดว่าเราจะสามารถกลับไปซีเรียได้ หลังจากใช้เวลาช่วงสั้นๆ ในค่ายผู้ลี้ภัย เราเฝ้ารอจากวันกลายเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์กลายเป็นเดือน และจากเดือนกลายเป็นปี

ต่อมา เราจึงต้องเข้าไปอยู่ในสังคมใหม่ และต้องยอมรับชีวิตที่เราอยู่ การอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในค่ายผู้ลี้ภัย และเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองในสถานการณ์ใหม่ของเรา

ประเทศนี้มีเกียรติ มีความสามัคคี และช่วยเหลือเรา แต่ความมั่นคงคือความฝันหลักของเรา ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยไม่ได้มีความมั่นคงมากนัก ผมปรารถนาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น และกลับสู่การดำเนินกิจวัตรปกติ ที่ผมเคยรู้จักก่อนเกิดสงคราม 


เราต้องก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้ลูก ๆ ของเรามีชีวิตที่ดีกว่าที่เราทนอยู่ | ที่มาภาพ: ILO/Ala’a Al Sukhni

Fast facts

  • ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียประมาณ 1.3 ล้านคน อาศัยอยู่ในจอร์แดน
  • ส่วนใหญ่ดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงชีพหรือหางานที่เหมาะสม
  • ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียสามารถทำงานเป็นอาสาสมัครกับองค์กรในค่ายผู้ลี้ภัยได้
  • แต่การทำงานนอกค่าย ผู้ลี้ภัยต้องมีใบอนุญาตทำงาน ที่อนุญาติให้ทำงานในบางภาคส่วนเฉพาะได้ เช่น เกษตรกรรม งานบำรุงรักษาและซ่อมแซม การก่อสร้าง การค้าส่งและค้าปลีก บริการต้อนรับ ศิลปะและกิจกรรมสันทนาการ
  • โครงการ Job Search Clubs (JSC) ของ ILO ได้สนับสนุนผู้ลี้ภัยชาวซีเรียและเยาวชนชาวจอร์แดนหลายร้อยคน เพื่อช่วยให้พวกเขาหางานที่เหมาะสมได้
  • โครงการนี้เป็นการดำเนินการร่วมกับกระทรวงเยาวชนของจอร์แดน และองค์การยูนิเซฟ ดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาธุรกิจ (BDC)
  • โครงการ Job Search Clubs ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ผ่านความร่วมมือของ PROSPECTS
  • เมื่อต้นปี 2566 รูปแบบการฝึกอบรมใหม่ ได้มุ่งเน้นไปที่โอกาสในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียวในจอร์แดน


ที่มา:
A job changed my life as a refugee (ILO Voices, 20 June 2023)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net