Skip to main content
sharethis

ศาลยกฟ้อง “นารา เครปกะเทย” คดีม.112 เหตุแสดงโฆษณาแคมเปญ 5.5 ให้ลาซาด้า ศาลเห็นว่าเป็นการแสดงบทบาทสมมติเพื่อขายสินค้าและบริการเท่านั้น แม้อาจมีคนเห็นแล้วไม่สบายใจแต่ไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้าย อีกทั้งไม่ได้แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันเช่น การรณรงค์แก้ม.112 การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด

21 ธ.ค.2566 ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก มีนัดอ่านคำพิพากษาคดีของ อนิวัติ ประทุมถิ่น หรือนารา เครปกะเทย ที่อัยการฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 พ.ร.บคุ้มครองผู้บริโภค และพ.ร.บ.ขายตรง จากกรณีที่ถ่ายคลิป โฆษณาลาซาด้า 5.5 ร่วมกับธิดาพร ชาวคูเวียงหนูรัตน์และกิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ หรือ มัมดิวเมื่อปี 2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้พิพากษาเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยกล่าวถึงพยานฝ่ายโจทก์ที่เบิกความถึงกระบวนการทำคลิปวิดีโอโฆษณาดังกล่าวของอนิวัติว่าอนิวัติได้รับจ้างผลิตสื่อโฆษณาออนไลน์โดยมีการตั้งบริษัทจดทะเบียนไว้ และบริษัทอินเตอร์เซคต์ดีไซน์ แฟคตอรี่ได้มาว่าจ้างให้บริษัทของอนิวัติทำโฆษณาให้กับบริษัทลาซาด้าในแคมเปญเลขเบิ้ล 5 เดือน 5 โดยทางลาซาด้าจะกำหนดเพียงแค่ชื่อแคมเปญและข้อความที่จะปรากฏในโฆษณา ส่วนอื่นๆ ของโฆษณาทางอนิวัติจะเป็นคนกำหนด และหลังจากทางอนิวัติจัดทำเสร็จแล้วจะมีการส่งให้ทั้งบริษัทอินเตอร์เซคต์ ดีไซน์ แฟคตอรี่และลาซาด้าตรวจสอบก่อนโพสต์คลิปในช่องทางสื่อออนไลน์ของตัวเอง

ต่อมามีผู้พบเห็นโฆษณาชิ้นดังกล่าวในช่องทางสื่อออนไลน์ของอนิวัติ ซึ่งเป็นภาพที่อนิวัติ ธิดาพรใส่ชุดไทยนั่งบนรถเข็นที่ในภาพมีเครื่องหมายของลาซาด้าปรากฏอยู่ และภาพที่สองที่อนิวัติ ธิดาพรและกิตติคุณ ถ่ายภาพร่วมกันโดยมีอนิวัตินั่งที่พื้น ธิดาพรนั่งบนรถเข็นและ กิตติคุณนั่งบนเก้าอี้ ซึ่งศาลต้องพิจารณาว่าการกระทำดังนี้เป็นความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 หรือไม่

ภาพจากคลิปที่หนึ่ง

ภาพจากคลิปที่สอง

ผู้พิพากษาได้กล่าวถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ ของบุคคลเอาไว้ ซึ่งร่วมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้รัฐเข้าไปรุกล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินไปซึ่งเป็นหลักสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญจึงทำไม่ได้เว้นแต่ใช้อำนาจตามกฎหมายและทำเมื่อจำเป็นและได้สัดส่วนโดยไม่กระทบกระเทือนเสรีภาพนั้นและใช้เป็นการทั่วไปไม่ได้ใช้เฉพาะกับกรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ในทางกลับกันการใช้สิทธิเสรีภาพก็มีขอบเขตจำกัดไม่ได้ใช้อย่างไรก็ได้และมีหน้าที่ต้องใช้ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญด้วยคือการไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ทั้งนี้โจทก์ได้ฟ้องว่าการทำคลิปของอนิวัติเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 จึงต้องพิจารณาการรับโทษตามวิธีในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างเคร่งครัด โดยพิจารณาจำแนกตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 คือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายหรือไม่

ทางฝ่ายโจทก์ได้นำอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ มาเป็นพยานเบิกความว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ระบุว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิด กล่าวหาฟ้องร้องไม่ได้ แต่การกระทำของอนิวัติเป็นการทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสถาบันกษัตริย์จึงเป็นความผิดตามมาตรา 112

ประเด็นนี้ศาลเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 นั้น มุ่งหมายให้ความคุ้นกันพระมหากษัตริย์จากการถูกฟ้องคดีต่อศาลและเป็นผู้ทรงใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และศาล ตามมาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญ การที่ระบุว่าผู้ดจะละเมิดไมได้จึงเป็นการจัดวางสถาบันกษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง คือกษัตริย์ไม่สามารถทำความผิดได้โดยหมายความว่าการดำเนินภารกิจทางการเมืองต่างๆ กษัตริย์ไม่ได้กระทำเองโดยตรงแต่เป็นการกระทำของสถาบันทางการเมืองที่มีหน้าที่รับผิดชอบ สอดคล้องกับใจความตามประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานในคดีที่มีการระบุถึงว่าพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงดำรงสถานะอยู่เหนือการเมืองและสถานะเป็นกลางทางการเมืองจากเหตุการณ์ที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับเลือกเพื่อเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยรักษาชาติ ดังนั้นประกาศดังกล่าวจึงไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นหลักเกณฑ์ในการประกอบพิจารณาตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 ตามที่โจทก์อ้าง

ศาลระบุว่ากฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่กล่าวว่าต้องตีความโดยเคร่งครัดตามหลักที่ว่าถ้ากฎหมายไม่บัญญัติไว้ให้การกระทำใดเป็นความผิดจะลงโทษบุคคลนั้นไม่ได้ ถ้าจะมีการลงโทษจะต้องมีตัวบทกฎหมายบัญญัติการกระทำนั้นไว้และบุคคลนั้นต้องกระทำการที่เป็นความผิดตามกฎหมายโดยชัดเจน ถ้าไม่ได้มีการกระทำโดยตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ไม่สามารถปรับกฎหมายมาเทียบเคียงให้การกระทำของบุคคลนั้นเป็นความผิดไปด้วยไม่ได้

ทั้งนี้ศาลก็ได้ระบุด้วยว่าบทบัญญัติข้างต้นไม่ใช่การตีความประมวลกฎหมายอาญาโดยตรง แต่เป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องมีความชัดเจนแน่นอนเท่านั้น ดังนั้นการตีความกฎหมายอาญาจึงไม่ใช่การตีความขยายความไม่ได้เลย แต่ต้องตีความตามตัวอักษรให้สอดคล้องไปกับความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ตามกฎหมายควบคู่กันไป จะใช้ตัวอักษรให้เกินกว่าเจตนารมณ์ไม่ได้และจะใช้เจตนารมณ์เกินกว่าตัวอักษรไม่ได้  เมื่อกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติความหมายของ “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย” ไว้เป็นการเฉพาะแต่มีบทบัญญัติความผิดลักษณะเดียวกันไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและมาตรา 393 ที่เป็นฐานดูหมิ่นไว้

ศาลเห็นว่าการตีความองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ที่ว่าดูหมิ่นและหมิ่นประมาทจึงต้องตีความไปตามฐานเดียวกันกับมาตรา 326 และ 393 แต่เนื่องจากบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นไปเพื่อจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพ หากการตีความการกระทำอย่างเดียวกันไปได้หลายทางและเป็นไปอย่างกว้างแล้วอาจทำลายคุณค่าที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองในด้านอื่นๆ การตีความว่าเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่จึงต้องใช้สามัญสำนึกของวิญญูชนทั่วไป ประกอบกับข้อความหรือท่าทางต่างๆ ว่าเป็นการใส่ความที่หมายถึงการยืนยันข้อเท็จจริงที่เป็นการให้ร้ายป้ายสีกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังไม่ว่าข้อความนั้นจะเป็นจริงหรือเท็จก็ตาม ในขณะที่การดูหมิ่นจะต้องเป็นการเหยียดหยาม สบประมาททำให้อับอายด้วยวาจาหรือกริยาท่าทาง

ศาลกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการแสดงความอาฆาตมาดร้ายที่ไม่ได้มีการบัญญัติการกระทำความผิดไว้ในกฎหมายแต่ศาลได้ยกความหมายตามพจนานุกรมว่าหมายถึงการพยาบาทมุ่งจะทำร้ายให้ได้ แม้โจทก์จะนำสืบว่าอนิวัติว่าการทำคลิปโฆษณาดังกล่าวเป็นการล้อเลียน จาบจ้วง ล่วงเกินด้อยค่า ดูหมิ่น และหมิ่นประมาท สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอโดยพยานฝ่ายโจทก์ต่างเบิกความสนับสนุนไปในทำนองเดียวกันว่าหลังดูคลิปโฆษณาทั้งสองคลิปแล้วรู้สึกว่าไม่เหมาะสมเป็นการล้อเลียนและกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ก็ตาม แต่การตีความการกระทำใดว่าเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่นั้นไม่ได้วิเคราะห์จากความนึกคิดของความเข้าใจของผู้กล่าวหาหรือพยานคนใดคนหนึ่งเนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าความรู้สึกของคนในสภาวะแวดล้อมของสังคมอาจมีความเข้าใจและความเห็นแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล

ศาลระบุด้วยว่า พยานทั้งหลายที่ฝ่ายโจทก์อ้างมาในคดีล้วนเป็นคนที่จงรักภัคดีต่อสถาบันกษัตริย์การรับฟังความเห็นของบุคคลธรรมดาจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเพื่อนำมาประกอบพยานหลักฐานอื่นๆ ในการวินิจฉัยของศาลเท่านั้น เมื่อพิจารณาคลิปทั้ง 2 คลิปแล้วศาลเห็นว่าเป็นการจัดทำขึ้นมาเพื่อโฆษณาสินค้าของตนและส่งเสริมการขายสินค้าของลาซาด้า โดยในโฆษณาที่มีการแต่งชุดไทยซึ่งหากมองด้วยความเป็นกลางแล้วก็เห็นว่าคนทั่วไปก็แต่งกายเช่นนี้ได้ การพูดในคลิปก็เป็นคำสามัญไมได้แสดงเครื่องหมายสัญลักษณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ เช่น การเรียกร้องแก้ไขมาตรา 112 ไม่มีสัญลักษณ์ ธงหรือตราประจำพระองค์หรืออย่างอื่นที่เป็นลักษณะเดียวกัน

ศาลกล่าวต่อไปว่า ถึงโจทก์จะนำสืบว่าการกระทำของจำเลยเป็นการล้อเลียนเสียดสี แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่เหมาะสมและสร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชนบางกลุ่มอยู่บ้าง แต่เป็นเพียงแค่การแสดงบทบาทสมมติเพื่อใช้โฆษณาสินค้าเช่นนี้ยังไม่ถึงกับเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงให้ปรากฏขึ้นจนเป็นการใส่ความแล้วทำให้ประชาชนที่เห็นรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังบุคคลที่โจทก์เห็นว่าถูกล้อเลียนอยู่ และยังไม่ใช่การสบประมาท เหยียดยาม หรือใช้คำหยาบคายด่าทอให้เกิดความเสียหายที่จะเป็นการดูหมิ่น แต่เป็นการแสดงเพื่อโฆษณาส่งเสริมการขายตามที่มีผู้ว่าจ้าง และยังเป็นเพียงการแสดงสมมติเหตุการณ์อย่างหนึ่งไม่ได้ยืนยันว่าจะมุ่งทำร้ายบุคคลใดที่จะเป็นการอาฆาตมาดร้าย

ศาลจึงเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังได้ว่าการกระทำของอนิวัติและพวกเข้าองค์ประกอบความผิดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ตามมาตรา 112 เมื่อการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบความผิดแล้วจึงไม่ต้องพิจารณาต่อไปว่าอนิวัติได้เจตนาทำความผิดต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าคลิปดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่ ประเด็นนี้ศาลเห็นว่าโฆษณาดังกล่าวเป็นการโฆษณาสินค้าที่มีอยู่จริงและไม่ได้มีส่วนใดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การที่อนิวัติทำคลิปแล้วนำเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ของตนจึงไม่เป็นความผิด

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าคลิปที่หนึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคมาตรา 22 48  และ 50, กฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อผลเสียต่อสังคม ข้อ 2 และ 7, พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง มาตรา 29 ศาลเห็นว่าการแสดงแต่งกายและท่าทางของผู้แสดงไม่ได้เป็นการยืนยันว่าผู้พิการหรือผู้ป่วยเป็นคนไร้ค่า ด้อยค่าคนพิการ ไม่ได้มีการยั่วยุปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และข้อความที่มีการพูดในคลิปที่เป็นการโฆษณาแคมเปญสินค้าและบริการที่มีการพูดถึงการให้ของแถมหรือสิทธิประโยชน์แม้ไม่ระบุปีในโฆษณาแต่ช่วงเวลาที่มีการเผยแพร่นั้นเป็นเวลาต่อเนื่องกันย่อมเพียงพอที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ว่าเป็นปีเดียวกันกับที่มีการโฆษณาและเมื่อผู้สนใจเข้าไปในแอพลิเคชั่นของลาซาด้าก็มีการโฆษณาสินค้าและขั้นตอนการใช้แล้วจึงไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญแล้วเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

ศาลจึงเห็นว่าการกระทำของอนิวัติไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้องทุกข้อหา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแล้วและก่อนหน้านี้ศาลจะเคยให้อนิวัติปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ แต่อนิวัติจะยังถูกคุมขังในเรือนจำต่อไปเนื่องจากยังมีคดีฉ้อโกงประชาชนอยู่อีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net