Skip to main content
sharethis

ข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 9 เมษา'67 มีผู้ถูกคุมขังทางการเมือง 45 ราย ในจำนวนนี้เป็นคดี 112 เกินครึ่ง มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 28 ราย และคดีสิ้นสุดแล้ว 15 ราย และเยาวชน 2 ราย มีผู้อดอาหารประท้วง ประบวนการยุติธรรม 4 ราย

 

มีผู้ได้รับการปล่อยตัวจำนวน 1 ราย คือ ปริทัศน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาคดีความมาตรา 112 อยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เมื่อ 12 ต.ค. 2565 หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ ไม่ทราบเหตุแห่งคดี

 

 

ไม่มีใครได้รับการประกันตัวเลย

สถิติจากเดือน ม.ค.-มี.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในจำนวน 45 คนนี้ มีการยื่นประกันตัวรวมทั้งสิ้น 42 ครั้ง แบ่งเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 และ มาตรา 116 รวม 32 ครั้ง คดีที่สืบเนื่องมาจากเหตุระเบิด-วางเพลิง 9 ครั้ง และคดีละเมิดอำนาจศาล 1 ครั้ง แต่ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว 0 ครั้ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ชัยพร-ถิรนัย ผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างสู้คดียาวนานเกิน 400 วัน

ถิรนัย (สงวนนามสกุล) อายุประมาณ 22 ปี และชัยพร (สงวนนามสกุล) อายุประมาณ 23 ปี สองผู้ถูกกล่าวหาจากคดีความครอบครองวัตถุระเบิดปิงปอง ซึ่งถูกตำรวจค้นเจอก่อนชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 ต่อมา เมื่อ 15 ก.พ. 2566 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี แต่ทั้งคู่รับสารภาพ ลดเหลือโทษจำคุก 3 ปี ตอนนี้คดีอยู่ในระหว่างชั้นอุทธรณ์

ทั้งคู่ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 จนถึงปัจจุบัน (10 เม.ย. 2567) รวมทั้งสิ้น 421 วัน และทั้งคู่ยังเป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกคุมขังยาวนานที่สุดเมื่อปี 2566

วุฒิ (สงวนชื่อ-นามสกุล) อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัย วัย 48 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความเมื่อปี 2564 พาดพิงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี โดยเมื่อ 14 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นสั่งพิพากษาจำคุก 36 ปี แต่เจ้าตัวรับสารภาพ เหลือโทษจำคุก 16 ปี และไม่ได้รับการประกันตัว ระหว่างสู้คดีความชั้นอุทธรณ์  

ทั้งนี้ วุฒิ ถูกคุมขังตั้งแต่อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญามีนบุรี เมื่อ 27 มี.ค. 2566 และวุฒิถูกคุมขัง และปฏิเสธการประกันตัวเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน (10 เม.ย.) รวมระยะเวลากว่า 1 ปี หรือ 381 วัน

นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องขังการเมืองอย่างน้อย 12 คนถูกขังเกิน 200 วัน และ 6 คนถูกขังเกิน 100 วันแล้ว

เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังตัดสินใจไม่อุทธรณ์ ทำให้ปัจจุบันคดีความได้ถึงที่สุด และเปลี่ยนสถานะจากเดิมถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีกลายเป็น ‘นักโทษเด็ดขาด’ จำนวนอย่างน้อย 3 ราย ประกอบด้วย เวหา แสนชนชนะศึก คดีมาตรา 112 , สมบัติ ทองย้อย คดีมาตรา 112 และ ‘มาร์ค’ (สงวนชื่อ-นามสกุล) จากคดีครอบครองวัตถุระเบิด

มีผู้อดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรม 4 ราย

ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังทางการเมืองจำนวน 4 คนกำลังอดอาหารประท้วง

1. เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมทะลุวัง ถูกคุมขังรวมระยะเวลา 76 วัน (ตั้งแต่ 26 ม.ค. จนถึง 10 เม.ย. 2567) และอดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ เรียกร้องยุติการคุมขังผู้เห็นต่างทางการเมือง ตั้งแต่ 27 ม.ค. จนถึง 10 เม.ย. 2567 รวมระยะเวลา 75 วัน

ย้อนไปเมื่อ 26 ม.ค. 2567 เธอถูกศาลถอนประกันตัว เนื่องจากเข้าร่วมกิจกรรมประท้วงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้มีการถอดถอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ออกจากศิลปินแห่งชาติ เมื่อ 6 ส.ค. 2566 เหตุเพราะว่า สว.ไม่ได้โหวตเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ที่มาจากเสียงประชาชน

โดยศาลให้สาเหตุว่าเนติพร ถูกถอนประกันตัว คือมีพยานเห็นว่าเนติพร พ่นสเปรย์ใส่ธงสีฟ้าประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินี ซึ่งเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวที่ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหานี้

ในวันเดียวกัน (26 ม.ค.) ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งลงโทษเนติพร จำคุก 1 เดือน ไม่รอลงอาญา ข้อหาละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากเมื่อ 19 ต.ค. 2566 เนติพร และธนลภย์ ผลัญชัย นักกิจกรรมเยาวชนอายุ 15 ปี ไปให้กำลังใจ สหรัฐ สุขคำหล้า หรืออดีตสามเณรโฟล์ค นักกิจกรรการเมือง มีนัดฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้  และมีเหตุกระทบกระทั่งกับตำรวจศาล ทำให้เนติพร ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำทัณฑสถานหญิงกลางทันที

ต่อมา เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2567 เนติพร ได้ตัดสินใจถอนประกันตัวเองทุกคดี และทำการอดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรม 

2. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน นักกิจกรรมอิสระ และ 3. ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ นักกิจกรรมอิสระ ถูกฝากขังชั้นสอบสวนตำรวจจากคดี มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีที่มีการโพสต์คลิปวิดีโอเมื่อ 4 ก.พ. 2567 โดยภายในคลิปเป็นการโต้เถียงกับตำรวจรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จ เนื่องจากมีการปิดกั้นทางด่วน

ทั้งคู่ถูกออกหมายจับ และถูกควบคุมหน้าศาลอาญา รัชดาภิเษก เมื่อ 13 ก.พ. 2567 และได้ประกาศอดอาหารประท้วงทันที เรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก และประเทศไทยไม่สมควรเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ HRC

ทานตะวัน และณัฐนนท์ ถูกปฏิเสธการประกันตัวเรื่อยมา จนกระทั่งถูกฝากขังผัดที่ 4 ก่อนที่เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 อัยการได้ส่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา ทำให้ทานตะวัน และณัฐนนท์ ถูกฝากขังชั้นพิจารณาคดีจนถึงปัจจุบัน (10 เม.ย.) รวมระยะเวลากว่า 57 วัน

ปัจจุบัน ทานตะวัน และ ณัฐนนท์ อยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยทั้งคู่ได้อดอาหารประท้วงตั้งแต่ 13 ก.พ. จนถึง 10 เม.ย. 2567 รวมระยะเวลากว่า 58 วัน (ทานตะวัน และณัฐนนท์ ประกาศอดอาหารทันทีวันที่ถูกควบคุมตัว)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

คนที่ 4 คือ 'บัสบาส' มงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายของออนไลน์ ชาวเชียงราย ผู้ต้องขังมาตรา 112 สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 50 ปี จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่ศาลเห็นว่ามีความผิดจำนวน 25 ข้อความ และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา ทำให้เขาถูกคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย มาตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2567 จนถึงปัจจุบัน (10 เม.ย.) รวมระยะเวลา 84 วัน

นอกจากนี้ ‘บัสบาส’ มงคล เป็นหนึ่งในผู้ที่อดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด ตั้งแต่ 27 ก.พ. 2567 จนถึงปัจจุบัน (10 เม.ย.) รวมระยะเวลากว่า 44 วัน ในจำนวนนี้เป็นการอดอาหารและน้ำ 7 วันหรือ 1 สัปดาห์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net