Skip to main content
sharethis

ในอิหร่านมีกระแสการเลิกจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนที่ถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมจากชนวนเหตุเรื่องกฎสวมฮิญาบเมื่อปีที่แล้ว เรื่องนี้แม้แต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็ส่งสัญญาณให้ความชอบธรรมกับการไล่ออกอาจารย์เหล่านี้รวมถึงมีการแต่งตั้งอาจารย์ที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลเข้าไปในมหาวิทยาลัยอีกหลายคน

2 ก.ย. 2566 ในอิหร่านเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีรายงานข่าวเรื่องที่ออกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งของอิหร่านถูกสั่งให้ออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดการถกเถียงว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นเพราะอาจารย์เหล่านี้เคยแสดงการสนับสนุนการประท้วงทั่วประเทศเมื่อปีที่แล้ว (2565)

ในการประท้วงปีที่แล้วเริ่มต้นขึ้นในเดือน ก.ย. 2565 หลังจากที่ มาห์ซา อามีนี หญิงอายุ 22 ปี เสียชีวิตในที่คุมขังของตำรวจ เธอถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมในข้อหาสวมชุดไม่เหมาะสม ซึ่งในอิหร่านมีกฎบังคับให้ผู้หญิงทุกคนต้องสวมฮิญาบออกนอกบ้าน

หลังจากนั้นก็มีการประท้วงใหญ่อย่างต่อเนื่อง มาจนถึงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาการประท้วงถึงเริ่มซาลง แต่รัฐบาลอิหร่านก็ยังคงทำการปราบปรามโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยทั่วอิหร่าน ซึ่งในช่วงที่มีการประท้วงนั้นในมหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการประท้วงแบบอารยะขัดขืนจากนักศึกษาและคณาจารย์

ในช่วงไม่นานมานี้มีการไล่ออกอาจารย์หลายคนรวมถึงอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในอิหร่าน หนึ่งในนั้นคือ อาลี ชาริฟี ซาร์จี ศาสตราจารย์ด้านชีวสารสนเทศศาสตร์และระบบปัญญาประดิษฐ์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชารีฟ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับท็อปของอิหร่าน

ซาร์จี ประกาศเรื่องที่เขาถูกไล่ออกผ่านทางเอ็กซ์/ทวิตเตอร์เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว และต่อมาก็โต้แย้งข้ออ้างของเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่อ้างว่าเขายอมออกจากมหาวิทยาลัยเองด้วยการไม่ต่อสัญญาลูกจ้างมหาวิทยาลัย เขาโพสต์หลักฐานที่โต้แย้งในเรื่องดังกล่าวนี้ รวมถึงระบุข้อความว่า "มีการเซ่นสังเวยความจริงเพื่อการเมือง"

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ศาสตราจารย์หลายรายในมหาวิทยาลัยระดับท็อปอื่นๆ ที่ถูกไล่ออกเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ มหาวิทยาลัยแห่งเตหะราน สื่อในอิหร่านรายงานว่ามีนักวิชาการมากกว่า 50 ราย ที่ถูกให้ออกจากงานนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดี อิบราฮิม ไรซี เข้าสู่ตำแหน่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งทางรัฐบาลอิหร่านไม่ได้ยืนยันตัวเลขนี้

อาเมเนห์ อาลี ศาสตราจารย์จิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยอัลลาเมห์ ตาบาตาไบ เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกไล่ออกในครั้งนี้ เธอบอกว่ามีการแจ้งไล่เธอออกทางโทรศัพท์และไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ ว่าทำไมถึงมีการยกเลิกสัญญาจ้างของเธอ

ทำไมถึงมีการไล่ออกอาจารย์เหล่านี้

ถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยเองจะระบุว่าการไล่ออกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการประท้วง แต่ก็มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต อดีตเจ้าหน้าที่ทางการอิหร่าน และสื่ออิหร่านจากหลายฝ่ายทางการเมือง ต่างก็ระบุถึงการไล่ออกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการประท้วงปี 2565

ฮอสเซน ชารีอัตมาดารี หัวหน้ากองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เคย์ฮานซึ่งเป็นสื่ออนุรักษ์นิยมจัดของอิหร่านผู้ได้รับการแต่งตั้งจากผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อาลี คาเมเนอี ระบุในบทบรรณาธิการปกป้องการไล่ออกศาสตราจารย์เหล่านี้ โดยนำเสนอรายชื่อของศาสตราจารย์ในโลกตะวันตกที่เคยถูกไล่ออกด้วยเหตุผลด้านการเมือง

ชารีอัตมาดารี กล่าวว่า กลุ่มนักวิชาการที่ถูกไล่ออกนั้นเป็น "คนที่ไม่เพียงแค่สนับสนุนการจลาจลและผู้ก่อจลาจลในปีที่แล้ว แต่ในบางกรณียังเข้าร่วมก่ออาชญากรรมต่อประชาชนผู้ถูกกระทำชาวอิหร่านโดยร่วมมือกันกับอันธพาลผู้ก่อจลาจลด้วย" ชารีอัตมาดารีอ้างว่าการไล่ออกนั้นเป็น "การลงโทษเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเทียบกับการกระทำอันเลวทรามผิดมนุษย์ของพวกเขา"

กระทรวงมหาดไทยของอิหร่าน ที่ในตอนนี้มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคือผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน อาห์หมัด วาฮิดี ซึ่งเป็นผู้ที่จัดการในเรื่องการประท้วงเมื่อปีที่แล้วได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องการไล่ออกอาจารย์ในอิหร่านเอาไว้เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์, การวิจัย และเทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำถูกต้องแล้ว

วาฮิดี อ้างว่าการดำเนินมาตรการไล่อาจารย์เหล่านี้ออกถือว่าเป็นไปตามแนวทางของ "หน้าที่ในเชิงปฏิวัติ" ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพราะศาสตราจารย์เหล่านี้ตกอยู่ในภาวะ "ความเสื่อมทรามทางวิชาการ" และ "กำลังทำให้มหาวิทยาลัยแปดเปื้อน" ไปด้วยอคติทางการเมืองที่จะขัดต่อผลประโยชน์ของชาติ

ประธานาธิบดี ไรซี ได้พูดถึงมหาวิทยาลัยเอาไว้เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ถ้าหากมีใครบางคนต้องการจะละเมิดกฎหมาย มหาวิทยาลัยไม่ควรจะอนุญาตให้ทำเช่นนั้น

ผู้สังเกตการณ์ประเด็นอิหร่านยังมองว่าการไล่ออกศาสตราจารย์หลายคนในช่วงนี้อาจจะเป็นปฏิบัติการล่วงหน้าเพื่อสกัดกั้น ลดโอกาสไม่ให้มีการประท้วงในมหาวิทยาลัยในช่วงครบรอบ 1 ปีการเสียชีวิตของอามีนี ที่เคยเป็นชนวนการประท้วงใหญ่ในปีที่แล้ว

ฝ่ายรัฐบาลอิหร่าน แต่งตั้งอาจารย์สายหนุนรัฐบาลมาแทนที่

ในเรื่องที่ว่าประชาชนชาวอิหร่านคิดอย่างไรต่อการปราบปรามอาจารย์ในครั้งนี้ พวกเขามีปฏิกิริยาต่อเรื่องการไล่อาจารย์ออกแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะอยู่ฝ่ายใด ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจะเห็นด้วยกับการไล่ออก แต่ผู้วิจารณ์รัฐบาลจะมองว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยไปในทางที่แย่ลง เพราะนอกจากจะไล่คนสนับสนุนการประท้วงรัฐบาลออกไปแล้ว ยังมีการนำคนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเข้ามาเป็นอาจารย์แทนด้วย

ยกตัวอย่างเช่น พิธีกรช่องโทรทัศน์ของรัฐบาลอิหร่าน 2 ราย ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยชารีฟ จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในโลกออนไลน์

หนึ่งในคนที่ได้รับแต่งตั้งคือ อามีร์ ฮอสเซน ซาเบตี ผู้ที่เพิ่งจะสละตำแหน่งในรายการโทรทัศน์ของรัฐบาลเพื่อมาสอนวิชา "การปฏิวัติอิสลาม" ที่ม.ชารีฟ และลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะมีขึ้น ซาเบตีกล่าวปกป้องการรับตำแหน่งทางวิชาการของตัวเองและด่าว่าสื่อต่างประเทศที่ระบุถึงเหตุการณ์ไล่ออกคณาจารย์ทั้งหลายว่าเป็น "การกวาดล้าง" เสียงต่อต้านรัฐบาลในมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตามสื่อท้องถิ่นบางแห่ง เช่น หนังสือพิมพ์ ฮัม-มีฮาน ที่นักข่าวชื่อ อีลาเฮห์ โมฮัมมาดี เพิ่งจะถูกจับกุมเพราะทำข่าวประท้วง ระบุว่า การกวาดล้างที่เกิดขึ้นดูคล้ายกับ "การปฏิวัติวัฒนธรรม" ครั้งที่ 2

การปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งแรกในอิหร่าน เกิดขึ้นเมื่อช่วงประมาณหลังปี 2523 เป็นต้นมาหลังจากที่มีการปฏิวัติอิสลามในปี 2522 ในครั้งนั้นมีการล้างบางวงการวิชาการที่ถูกกล่าวหาว่าได้รับอิทธิพลจากตะวันตกและมีแนวความคิดแบบไม่เป็นอิสลาม

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่กระทรวงมหาดไทยของอิหร่านออกปากพูดปกป้องเรื่องการไล่ออกอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยตนเอง ชวนให้โยงว่าการกวาดล้างในครั้งล่าสุดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานความมั่นคง

โมห์เซน บอร์ฮานี ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเตหะรานบอกว่า การกวาดล้างในครั้งนี้น่าจะมีจากคำสั่งอันมิชอบด้วยกฎหมายของหน่วยงานความมั่นคงอิหร่าน

อาลี อัคบาร์ ซาเลฮี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและหัวหน้าทบวงนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นหนึ่งในอดีตเจ้าหน้าที่ทางการอิหร่านที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการไล่อาจารย์มหาวิทยาลัยออก รวมถึงวิจารณ์เรื่องที่มีการแต่งตั้งคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลมาแทนที่ด้วย เขาบอกว่าการแต่งตั้งคนที่ละมากๆ เข้าสู่มหาวิทยาลัยโดยที่พวกเขาไม่ได้มีผลงานหรือความสามารถอะไรนั้นมันจะทำให้สถาบันการศึกษาเหล่านี้ "ไม่สามารถเรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยได้อีกต่อไป"


เรียบเรียงจาก
‘Academic decline‘: Why are university professors being expelled in Iran?, Aljazeera, 30-08-2023
Hardliners Purge More Professors In Iran, Hiring Ideologues, Iran International, 28-08-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net