Skip to main content
sharethis

นักวิชาการประเมินสงครามตะวันออกกลางไม่บานปลายแต่ยืดเยื้อ ต้องส่งสัญญาณประหยัดพลังงานด้วยลดการแทรกแซงราคา คาดว่ามี บริษัทในเอเชียและไทยที่ละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ และอาจถูกลงโทษและถูกปรับเพิ่ม เบื้องตันผลของสงครามยังกระทบเศรษฐกิจการค้าโดยตรงต่อไทยน้อย


ที่มาภาพประกอบ: Martin Abegglen (CC BY-SA 2.0)

21 เม.ย. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า คาดว่าสงครามตะวันออกกลางไม่น่าจะบานปลายหรือขยายวงแต่อาจยืดเยื้อ กระทบต้นทุนขนส่งและต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ความขัดแย้งและสงครามในตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างแน่นอน โดยน่าจะทำให้มูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศลดลง หากมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมของชาติตะวันตกต่ออิหร่าน และ มีการตอบโต้โดยอิหร่านและพันธมิตร จะมีผลกระทบต่ออุปสงค์มวลรวมของโลก รวมทั้งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานของโลกในสินค้าหลายชนิดที่มีลักษณะเป็นยุทธปัจจัย นอกจากนี้ บรรษัทข้ามชาติทั้งหลายที่มีธุรกรรมกับอิหร่านอาจได้รับผลกระทบโดยเฉพาะบริษัทในเอเชียที่มีธุรกรรมจำนวนไม่น้อยกับอิหร่านอยู่ มีความเสี่ยงละเมิดต่อกฎหมายและมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่าน อย่างล่าสุด  บริษัท เอสซีจี พลาสติกถูกปรับเป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 736 ล้านบาท ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ หนังสือพิมพ์ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า เอสซีจี พลาสติก ยอมจ่ายค่าปรับเพื่อยุติการดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า บริษัทละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านด้วยการใช้ระบบการเงินของสหรัฐทำเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์จากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอิหร่าน คาดว่า สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรน่าจะมีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านเพิ่มเติม และ ทางการสหรัฐอเมริกาคงเร่งดำเนินการตรวจสอบ ติดตามบรรดาบริษัท นักลงทุนและสถาบันการเงินทั้งหลายที่ละเมิดต่อกฎหมายคว่ำบาตร แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศได้
 
จุดเสี่ยงสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจการค้าโลกอยู่ที่บริเวณพื้นที่ยุทธศาสตร์สองจุดบริเวณตะวันออกกลาง จุดแรก คือ คลองสุเอซเชื่อมต่อมายังทะเลแดงไปออกช่องแคบบับ เอล-มันเดบบริเวณประเทศเยเมน เป็น เส้นทางเดินเรือของระบบการค้าโลก และ จุดที่สอง คือ บริเวณช่องแคบฮอร์มุซ หรือ Strait of Hormuz ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มีผลต่อการขนส่งน้ำมันของโลกออกจากหลายประเทศในอ่าวเปอร์เซีย  ช่องแคบแห่งนี้เป็น “จุดอับ” ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้เป็นอาวุธต่อรองในแง่ยุทธศาสตร์ทางทหารและเศรษฐกิจได้ ช่องแคบฮอร์มุซมีรูปร่างเป็นตัว V ยาวประมาณ 150 กิโลเมตร และกว้างเพียงประมาณ 40 กิโลเมตร (ในช่วงที่แคบที่สุด) เชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับมหาสมุทรอินเดีย โดยมีอิหร่านอยู่ทางเหนือ และ UAE กับโอมานอยู่ทางใต้

จุดแรก บริเวณคลองสุเอซและทะเลแดงเป็นน่านน้ำอันเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่มีความคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมัน ธัญพืช สินค้าต่างๆจากยุโรปมาเอเชียและเอเชียไปยุโรป การค้าโลกต้องพึ่งพาเส้นทางขนส่งเชิงพาณิชย์ผ่านทะเลแดงประมาณ 10% ทะเลแดงเป็นพื้นที่ที่มีคลองสุเอซที่ปลายสุดด้านเหนือของน่านน้ำและมีช่องแคบบับ เอล-มันเดบ ที่ปลายสุดทางตอนใต้ เชื่อมไปยังอ่าวเอเดน พื้นที่ดังกล่าวมีการขนส่งน้ำมันและพลังงานหนาแน่นที่สุดในโลก สินค้าประเภทพลังงาน ธัญพืชและสินค้าภาคการผลิตต่างๆในยุโรปล้วนขนส่งผ่านกองเรือพาณิชย์ที่ผ่านน่านน้ำนี้ประมาณ 80% ล่าสุด รัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน โดยที่อิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของกลุ่มโอเปก อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ได้พุ่งขึ้นไปแรงนัก ยังไม่สามารถทะลุ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเนื่องจากอิหร่านไม่ได้ระบุจะวางแผนตอบโต้อิสราเอล หลังจากอิสราเอลได้โจมตี “เมืองอิสฟาฮาน” ของอิหร่าน หากมีการใช้จุดยุทธศาสตร์สองแห่งบริเวณตะวันออกกลางเพื่ออำนาจต่อรองในสงครามด้วยการปิดเส้นทางการเดินทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ คลองสุเอซ ทะเลแดง ผ่านช่องแคบบับ เอล-มันเดบ หรือ ที่อ่าวเปอร์เซียและผ่านช่องแคบฮอร์มุซ จะกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกรุนแรง และ ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นไปสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ได้ หากฝ่ายใดเลือกใช้วิธีดังกล่าวอาจสูญเสียแรงสนับสนุนจากนานาชาติ และ ผู้ตัดสินใจใช้วิธีการดังกล่าวน่าจะอยู่ในภาวะจนตรอกในสงคราม

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องส่งสัญญาณให้มีการใช้พลังงานและน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน และวิธีที่ดีที่สุด คือ การปล่อยให้ราคาพลังงานในประเทศสะท้อนความเป็นจริงด้วยการทะยอยลดการแทรกแซงราคา การอุดหนุนราคาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าในช่วงราคาพลังงานสูงได้บ้างแต่จะสร้างปัญหาระยะยาวต่อความมั่นคงทางพลังงาน มีการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพิ่มความเสี่ยงปัญหาภาวะโลกร้อน รวมทั้งทำให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมาก การที่กองทุนพลังงานติดลบจำนวนมากจากการอุดหนุนราคา โดยคาดว่า ฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะติดลบทะลุหนึ่งแสนล้านบาทในเดือนเมษายน เพราะฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปลายเดือนมีนาคม ก็ติดลบไปแล้วกว่า 99,821 ล้านบาท หากอุดหนุนหรือชดเชยไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เมื่อสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกพลิกกลับปรับลดลงแล้ว คนไทยก็จะยังคงต้องใช้น้ำมันแพงอยู่จากการต้องเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนของกองทุนพลังงาน ล่าสุด กบน ได้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราเงินกองทุนน้ำมันประเภทน้ำมันดีเซลเพิ่มอีก 0.20 บาทต่อลิตร จะทำให้ราคาชายปลีกปรับเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ต่อลิตร และน่าจะทำให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีทิศทางดีขึ้น  

ในเบื้องตันสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านยังกระทบเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของไทยโดยตรงค่อนข้างน้อย สัดส่วนของมูลค่าการค้าอิหร่านต่อมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทยอยู่ที่ 0.03% สัดส่วนต่ำมากอันเป็นผลจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก สัดส่วนของมูลค่าการค้าอิสราเอลอยู่ที่ 0.2% ประเมินกระทบสินค้าส่งออกฟุ่มเฟือยแรง กระทบตลาดแรงงานไทยส่งออกไปอิสราเอลมาก ส่วนมูลค่าส่งออกอาหาร ยา อาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้นโดยแม้นในระยะสั้นจะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงไม่มาก แต่ผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกแผ่กระจายไปทั่ว ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรง ตลาดหุ้นไทยมูลค่าตลาดหายไปกว่า 8 แสนล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท ภายในเวลาเพียงแค่ 3 วัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลงไปสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3.5 ปี บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยมี Exposure ในสองประเทศที่ทำสงครามกันค่อนข้างน้อยมาก นักลงทุนอิสราเอลและอิหร่านมีมูลค่าถือครองหุ้นไทยเพียงแค่ 141 ล้านบาทเท่านั้น กองทุนขนาดใหญ่โยกเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้นและลดสัดส่วนการลงทุนลง และมีการเพิ่มน้ำหนักไปที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ คาดแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ราคาทองคำยังคงอยู่ในวงจรขาขึ้น โดยนักลงทุนลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น ตราสารหนี้ในตลาด Emerging Markets ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นต่อไปจากปัจจัยด้านอุปทานจากสงครามเป็นหลัก เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง นักลงทุนส่วนใหญ่หันไปถือดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับทองคำ ทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบเงินสกุลหลัก      

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net