Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวชายขอบเผยน้ำแม่สายขุ่นข้นเหตุฝั่งท่าขี้เหล็กฉีดน้ำแรงอัดสูงหาแร่ทอง ประธาน TBC ไทยทำหนังสือแจ้งพม่าลดการทำเหมืองเลื่อนลอย สส.พื้นที่ร่วมหาทางออก


ที่มาภาพ: สำนักข่าวชายขอบ

สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2567 ว่าพ.อ.ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก(ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตาก)ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีประชาชนในอ.แม่สาย จ.เชียงราย กำลังเดือดร้อนจากกรณีที่น้ำในแม่น้ำสายซึ่งกั้นชายแดนไทย-พม่ามีความขุ่นจนกลายเป็นสีขาวส่งผลกระทบทำให้น้ำประปากลายเป็นสีข่าวขุ่นจนประชาชนไม่กล้าใช้อุปโภคบริโภคว่า เมื่อ 3 วันก่อนทาง TBC ไทยได้ทำหนังสือแจ้งไปทาง TBC พม่าแล้วโดยแม่น้ำสายขุ่นเนื่องจากการทำเหมือง แต่การผลิตน้ำประปายังทำได้เหมือนเดิม และสีขุ่นเกิดจากสีดิน แต่ไม่มีสารอันตรายเจือปนที่ส่งผลกระทำต่อคุณภาพน้ำ เนื่องจากการทำเหมืองโดยการแรงอัดน้ำฉีดดินตามลำห้วยทำให้ตะกอนไหลตามน้ำลงมา ทำให้ต้นน้ำขุ่นมากกว่าปลายน้ำ

“ระหว่างประเทศเราดูแลอยู่แล้ว ถ้ามีสารอันตรายลงแม่น้ำสายจนไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เราจะต้องรีบดำเนินการ แต่นี่เป็นเพียงตะกอนดินซึ่งทางการประปาแจ้งว่ายังสามารถกรองได้ แต่หากสารเจือปน เช่น แมกนีเซียม แมงกานีส ไม่ได้สูงขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่ผมได้ไปสานไปแล้วว่าให้เขาลดการทำเหมืองแร่หน้าดินลง อยากให้มองหลายๆมุม หากเราไปออกแอคชั่นมากไป แล้วได้รับคำตอบว่าเขาทำอยู่ในประเทศเขา เราจะไปบังคับอะไรเขาได้” ประธาน TBC ไทย กล่าว

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ประชาชนและฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฝั่งมาร่วมหารือกันเพื่อหาทางออกพ.อ.ณฑีกล่าวว่า การหารือได้ทำไปแล้ว แต่ทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบระหว่างประเทศ โดยเบื้องต้นได้ส่งรายละเอียดข้อมูลทั้งหมดให้ทาง TBC พม่าไปแล้ว แต่คงต้องหารือกันอีกครั้ง ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่าเหมืองหน้าดินที่ทำเป็นของผู้ใหญ่ของฝั่งเมียนมา ดังนั้นเขาจึงอาจประสานเพื่อลดการทำในบางจุดและบางช่วงเวลา การทำเหมืองแร่ลักษณะนี้เหมือนกับการทำไร่เลื่อนลอยคือเมื่อจุดใดแร่หมดก็ย้ายไปทำจุดใหม่

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบถามว่าเหมืองแร่ที่ทำอยู่นี้เป็นแร่ชนิดใด พ.อ.ณฑีกล่าวว่าเป็นการทำเหมืองทองคำ แต่ไม่ใช่เหมืองใหญ่ แต่เป็นการหาแร่โดยใช้แรงอัดน้ำฉีดให้แร่ออกมาและทำการคัดแยก เมื่อใช้แรงอัดน้ำทำให้พวกโคลนใต้ดินผุดขึ้นมาและไหลมาตามลำน้ำ

เมื่อถามว่าเหมืองเหล่านี้เป็นของคนใหญ่คนโตฝั่งพม่าจำเป็นที่ต้องมีการหารือระดับรัฐบาลกลางหรือไม่ พ.อ.ณฑีกล่าวว่า ไม่น่าจะถึงขนาดนั้น เพราะผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นในระดับประเทศแต่เกิดเพียงลำน้ำสายอย่างเดียว โดยไม่ได้ใหญ่โตเหมือนลำน้ำโขง และเรื่องนี้อยู่เพียงในแม่สาย และท้ายน้ำตะกอนก็ตกลงแล้ว

“ผมได้ส่งหนังสือไปที่ผู้การฯ TBC พม่าเมื่อ 3-4 วันก่อนแล้วตั้งแต่น้ำขุ่นวันแรก ทำอย่างไรให้เขาช่วยดูไม่ให้น้ำขุ่นมากนัก เดี๋ยวเขาจะไปดำเนินการให้ ผมยังได้คุยกับการประปาสาขาแม่สาย ซึ่งเขาว่ายังดำเนินการต่อไปได้ แต่ที่แจ้งเตือนชาวบ้านเพราะสีขุ่นมากขึ้นทำให้อาจผลิตไม่ได้หรือส่งผลกระทบมากขึ้น หากประปาทำไม่ได้ชาวบ้านจะเดือดร้อน จึงอยากให้เก็บกักน้ำไว้ คงต้องให้เวลาทางเมียนมาช่วยแก้ปัญหาสักระยะหนึ่ง” พ.อ.ณฑี กล่าว

นางจุฬาลักษณ์  ขันสุธรรม สส.เชียงราย พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ประเด็นปัญหาแม่น้ำสายขาวขุ่น ได้เสนอเรื่องต่อ คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐกิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศโดยได้มาลงพื้นที่รับทราบปัญหากลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กมธ.ได้รวบรวมสถานการณ์ปัญหาส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

"จากการติดตามสถานการณ์ปัญหาน้ำสายมาตลอดซึ่งมีหลายประเด็นมายาวนาน เพราะแม่น้ำที่ใช้ร่วมกัน ทั้งเรื่องน้ำท่วม น้ำกัดเซาะตลิ่ง พนังกั้นน้ำ ขยะ และน้ำขุ่นขาว ขณะนี้ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของแต่ละหน่วยงานที่ กมธ.ได้ประสานไปว่ามีแนวทางดำเนินการอย่างไร เนื่องจากแม่น้ำสายเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ การใช้น้ำร่วมกันที่เป็นเรื่องรัฐต่อรัฐ ขณะเดียวกันก็มองการแก้ปัญหาภายในประเทศในส่วนที่ทำได้” สส. เชียงรายกล่าว

นางจุฬาลักษณ์กล่าวว่า ในเดือนที่ผ่านมาตนได้เข้าหารือกับทั้ง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย และผู้จัดการ (ผจก.) การประปาภูมิภาค (กปภ.) สาขาแม่สาย โดยชลประทานเชียงรายได้หารือแนวทางการแก้ปัญหาน้ำดิบและน้ำที่ใช้พื้นที่เกษตร เพราะน้ำสายขาวขุ่นต่อเนื่อง การขอหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อตนเองจะได้ช่วยผลักดัน เบื้องต้นทางชลประทานได้ให้ความเห็นว่า เนื่องจากแม่สายไม่มีพื้นที่การสร้างอ่างเก็บน้ำและสร้างพื้นที่ชลประทาน แนวทางที่น่าจะทำได้คือการผันน้ำมาจากแม่น้ำโขงผ่านคลองแม่มะและสร้างที่พักน้ำที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นจุด ๆ ที่ผ่าน เป็นแนวทางหนึ่งที่ชลประทานกำลังศึกษา

นางจุฬาลักษณ์กล่าวว่า ส่วนด้านน้ำประปาในรายละเอียดของการรับมือกับปัญหาตามมาตรการที่ กปภ.แม่สายได้เตรียมการไว้แล้ว ทั้งเรื่องการเชื่อมท่อประปาและขยายกำลังการสูบ เพื่อให้การบริการในพื้นที่ อ.แม่สายไม่ขาดแคลนเมื่อทางการผลิตหลักประสบปัญหา  และมาตรการระยะยาวที่จะมีการสร้างโรงกรองน้ำที่เชียงแสน ส่งมายังแม่สายและพื้นที่ใกล้เคียงว่าการบริการจะครอบคลุมหรือไม่อย่างไร

นายอภิศักดิ์ สวัสดิรักษ์ ผจก.กปภ.สาขาแม่สาย กล่าวว่า การรับมือกับวิกฤติน้ำขุ่นซึ่งเป็นเรื่องที่ กปภ.แม่สายไม่เคยเจอมาก่อน จาก 4 เดือนที่ผ่านมาได้ปรับขบวนการผลิต แต่การเตรียมเพื่อแก้ไขปัญหาหากน้ำสายยังมีสภาพนี้ ในเรื่องการเชื่อมท่อประปาเพื่อดึงน้ำจากสถานีผลิตน้ำเกาะช้างมาใช้ และการเพิ่มกำลังการสูบน้ำจาก 40 ลบ.ม.ต่อ ชม. เป็น 120 ลบ.ม.ต่อ ชม. และสามารถดันน้ำไปใช้ในพื้นที่สูงในอำเภอแม่สายได้ รับมือเมื่อหน่วยการสถานีผลิตหลักไม่สามารถผลิตได้ที่ได้ผู้รับจ้างแล้วหากไม่ติดขัดคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมปีนี้

ส่วนโครงการโรงกรองน้ำ 1,000 ลม.ม.ต่อ ชม. ที่ อ.เชียงแสน ที่งบประมาณผ่านแล้วมูลค่า 916 ล้านบาท ที่จะส่งผ่านมายัง แม่จัน ห้วยไคร้ จันจว้า หนองครก และแม่สาย ที่จะใช้ร่วมกัน ตามขั้นตอนหากได้ผู้รับจ้างในเดือน มิ.ย. 2567 นี้ โครงการจะแล้วเสร็จประมาณ ปี 2569

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net