Skip to main content
sharethis

"ประจักษ์" เปิดงานวิจัยการใช้ความรุนแรงของรัฐ ชี้ว่าช่วงที่รัฐบาลที่ความใกล้ชิดกับกองทัพจะมีการใช้ความรุนแรงที่สูง แต่รัฐบาลทหารก็ใช้กลไกได้ทุกอย่างในการกดปราบจนไม่มีพื้นที่แสดงออก แต่พวงทอง มองว่ารัฐไทยกลายเป็น "รัฐราชเสนานุภาพ" นับตั้งแต่ 2549 ใช้ทุกองคาพยพจัดการกับภัยคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์  

29 ส.ค.2566 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ประจักษ์ ก้องกีรติ สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ นำเสนองานวิจัย “ความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐในสังคมไทย : แบบแผน วิธีคิด และการให้ความชอบธรรม” ที่ทำการศึกษาปัจจัยที่ทำให้รัฐเลือกใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองนับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) จนถึงการชุมนุมของเยาวชนในช่วงปี 2548-2565 โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย รัฐ สื่อ สังคม และระบบกฎหมาย”

ประจักษ์เริ่มจากกล่าวว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศที่รัฐใช้ความรุนแรงปราบประชาชนมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง แต่งานวิจัยชิ้นนี้จะจำกัดการศึกษาอยู่แค่เหตุการณ์ความรุนแรงนับตั้งแต่ปี 2548 - 2565 โดยทำการเปรียบเทียบการรับมือของรัฐต่อการชุมนุมของ 4 ขบวนการทั้ง พธม. คนเสื้อแดง กปปส. และขบวนการของเยาวชนที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563-2565 โดยในงานวิจัยจะดูในสามประเด็นคือรูปแบบการใช้ความรุนแรงของรัฐ ทัศนคติของรัฐที่มีต่อผู้ชุมนุม และการให้ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของรัฐ

ผู้วิจัยกล่าวว่าที่สนใจเรื่องนี้เพราะมองว่าประเทศไทยมีความรุนแรงเรื้อรังมานานมากแล้วแต่จะก้าวข้ามความขัดแย้งกันอย่างไรและจะทำให้รัฐเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมได้อย่างไร ซึ่งเริ่มจากการเก็บข้อมูลพื้นฐานอย่างการบาดเจ็บและเสียชีวิตในแต่ละรัฐบาลที่มีการสลายการชุมนุมและมีการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐด้วย จึงมาวิเคราะห์แบบแผนการใช้ความรุนแรงและวิธีคิดของรัฐที่แตกต่างกันไป ไปจนถึงการพยายามสร้างคำอธิบายเพื่อให้ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของรัฐเองเพราะนับตั้งแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมาได้เกิดมาตรฐานหรือกลายเป็นสภาวะปกติว่าหากใครเป็นคนเริ่มใช้ความรุนแรงแล้วจะสูญเสียความชอบธรรมทันที

ประจักษ์ได้แสดงข้อมูลทางสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของรัฐในแต่ละช่วงรัฐบาลแล้วพบว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์มีกรณีที่ผู้เสียชีวิตมากที่สุดจากเหตุการณ์สลายชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 เป็นหลักและเป็นกรณีรุนแรงที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์ไทย แต่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าแต่มีผู้บาดเจ็บมากกว่าซึ่งเกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมของ กปปส.

เขาชี้ว่าแบบแผนการใช้ความรุนแรงในกรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่อการชุมนุมของ กปปส. มีความซับซ้อนมากกว่าของรัฐบาลอภิสิทธิ์เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กำลังสลายชุมนุมเป็นหลัก แต่กรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ความสูญเสียเกิดขึ้นจากหลายฝ่ายเพราะในขณะนั้นเกิดสภาวะอนาธิปไตยขึ้นแล้ว

ประจักษ์อธิบายสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตในรัฐบาลรัฐประหารทั้งในปี 2549 และ 2557 ว่าที่ความรุนแรงทางการเมืองมีต่ำกว่าสมัยรัฐบาลพลเรือนนั้นไม่ใช่เพราะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลรัฐประหารแต่ประชาชนถูกกดเอาไว้จนไม่มีพื้นที่แสดงออก แล้วก็ยังมีการใช้กฎหมายในการจับกุมคุมขังสมาชิกในขบวนการเคลื่อนไหวจนทำให้การแสดงออกโดยสงบก็ทำไม่ได้ ทำให้ตัวเลขความรุนแรงทางการเมืองที่ต่ำกลายเป็นการสะท้อนการกดปราบประชาชนอย่างรุนแรงแทน

ผู้วิจัยชี้ว่าไม่เพียงแต่ฝ่ายประชาชนที่จะเริ่มการชุมนุมที่ตั้งต้นจะไม่ใช้ความรุนแรง แต่รัฐก็ทำแบบเดียวกันคือใช้กฎหมายหรือเครื่องมือกลไกอย่างอื่นก่อน แล้วจึงใช้ความรุนแรงเป็นอย่างสุดท้ายแต่ในหลายครั้งรัฐกลับถูกจำกัดเครื่องมืออื่นไว้อย่างการเลือกใช้การเจรจา เป็นต้น

รัฐบาลที่มีความใกล้ชิดกองทัพมีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามสูง

ประจักษ์ระบุว่ามีอยู่ 3 ปัจจัยที่กำหนดการใช้ความรุนแรงโดยรัฐในสังคมไทยว่าจะออกมาแบบใดและระดับใด

ปัจจัยแรก ระบอบการเมืองในขณะนั้นเป็นอย่างไร แม้ว่าในทางทฤษฎีจะมีอยู่ 3 ทฤษฎีที่ใช้อธิบายสังคมไทยไม่ค่อยได้ คือ หนึ่ง รัฐยิ่งเป็นเผด็จการยิ่งใช้ความรุนแรงสูง สอง ช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบการเมืองหนึ่งไปสู่อีกระบอบการเมืองหนึ่งจะรุนแรงมากที่สุดเพราะกลไกในระบอบประชาธิปไตยและระบบกฎหมายถดถอยจนมีประชาชนออกมาประท้วงแล้วถูกปราบปราม แต่สำหรับกรณีของไทยเขาพบว่าอาจจะต้องมีกรอบทฤษฎีใหม่ต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพไทย ไม่ใช่แค่ดูว่าเป็นรัฐบาลเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย เป็นรัฐบาลพลเรือนหรือทหาร เพราะไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นในรัฐบาลพลเรือนมากกว่าในรัฐบาลทหาร

ประจักษ์ระบุว่าเมื่อแบ่งแบบนี้แล้วทำให้แบ่งหน้าตาของรัฐบาลในแต่ละช่วงได้เป็นสองแบบ

  1. รัฐบาลที่มีความสัมพันท์แนบแน่นกับกองทัพ เช่น รัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลประยุทธ์
  2. รัฐบาลที่ไม่สามารถคุมกองทัพได้หรือกองทัพรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ด้วยเช่น รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย รัฐบาลยิ่งลักษณ์

ผู้วิจัยเล่าว่าจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้เล่าว่าบางรัฐบาลเองก็อยากใช้ความรุนแรงแต่เมื่อสั่งการไปแล้วทหารไม่ปฏิบัติตาม เช่น รัฐบาลสมัครที่เกิดทั้งกรณียึดสนามบิน หรือรัฐบาลสมชายที่ทำเนียบโดนยึดไปแล้ว แต่กรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เมื่อสั่งการแล้วทหารก็เอาด้วยและรัฐบาลกับกองทัพก็เป็นเนื้อเดียวกัน บวกกับรัฐมองผุ้ชุมนุมเสื้อแดงเป็นภัยคุกคามอยู่แล้วรัฐบาลอภิสิทธิ์กับกองทัพจึงตัดสินใจร่วมกันว่าจะต้องใช้ความรุนแรงแล้ว

ประจักษ์อธิบายต่อว่าจากนั้นทหารก็รับคำสั่งจากรัฐบาลแล้วก็เกิดความรุนแรงเพราะรัฐบาลเลือกใช้ทหารเป็นคนคุมปฏิบัติการซึ่งผิดหลักสากลอยู่แล้วเพราะการควบคุมการชุมนุมจะต้องใช้ตำรวจที่ถูกฝึกรับมือการชุมนุมมาอย่างเช่นหน่วยควบคุมฝูงชนแล้วในช่วงหลังตำรวจเองก็มีการฝึกกับยูเอ็นด้วย อย่างไรก็ตามแม้ตำรวจจะถูกฝึกมาแล้วแต่ยังก็เกิดความรุนแรงเพราะมีเป็นนโยบายลงมา แต่การใช้ตำรวจก็ยังเกิดความรุนแรงน้อยกว่าใช้ทหารเพราะถูกฝึกมาคนละแบบและอาวุธที่ตำรวจใช้ก็เบากว่าอาวุธของทหาร

เขายังอธิบายต่อไปว่าอีกปัจจัยที่ทำให้ตำรวจเลือกใช้ความรุนแรงน้อยกว่ามีเรื่องของสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพราะตำรวจยังต้องมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนตลอดในชีวิตประจำวันด้วยถ้าใช้ความรุนแรงตำรวจเองก็อาจถูกบอยคอตจากจากประชาชนในพื้นที่ทำงานของตัวเองด้วย แต่เมื่อใช้ทหารแล้วทหารไม่ต้องลังเลในการใช้กำลังเพราะถูกฝึกให้มารบและเมื่อถูกส่งมาควบคุมการชุมนุมแล้วก็มองประชาชนเป็นศัตรูทันทีแล้วลงมือปราบ เรื่องนี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญ

ประจักษ์ยังเล่าว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เล่าว่ากองทัพไทยเองยังมีคงทัศนคติแบบในยุคสงครามเย็นอยู่ด้วย เมื่อเจอประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐก็จะปิดล้อมแล้วปราบ เรื่องการใช้ยุทธวิธีจากเบาไปหาหนักจึงไม่เกิดขึ้นเพราะอาวุธในมือก็เป็นอาวุธหนักอยู่แล้ว จึงไม่มีทางที่ทหารจะใช้ยุทธวิธีจากเบาไปหนักมีแต่จะใช้ยุทธวิธีที่หนักไปให้หนักขึ้นอีก รัฐบาลจึงต้องไม่ใช้ทหารแต่แรกเพราะใช้แล้วไม่มีทางจบด้วยสันติกันได้

เจ้าหน้าที่มีมาตรการเข้มกับม็อบปฏิรูปสถาบันมากกว่า

ปัจจัยที่สอง มุมมองของรัฐที่มีต่อผู้ชุมุนม จากการศึกษาพบว่ารัฐมองผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกันและรัฐเองก็มีข้อมูลจากการทำงานการข่าวตลอดเวลารู้ว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มไหน มีแกนนำเป็นใคร แม้ว่าบางทีอาจประเมินเกินเลยความเป็นจริงไปบ้าง

ประจักษ์กล่าวว่ารัฐเองยังมองกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ ด้วย 2 เกณฑ์เป็นหลักคือ เกณฑ์แรกคือเป็นกลุ่มที่เคลื่อนแบบสันติวิธีหรือใช้รุนแรง และเกณฑ์ที่สองคือมีอุดมการณ์อย่างไรและมีข้อเรียกร้องอย่างไร ซึ่งการแบ่งของเจ้าหน้าที่อาจไม่ตรงกับทางวิชาการเท่าไหร่คือมีการแบ่งเป็น “ม็อบปากท้อง” อย่างเช่น ม็อบเกษตรกร ม็อบผู้ใช้แรงงาน กับ “ม็อบการเมือง” เช่นออกมาเรียกร้องเรื่องรัฐบาล รัฐธรรมนูญ หรือสถาบันทางการเมืองอื่นๆ แต่ใน “ม็อบการเมือง” เจ้าหน้าที่ยังแบ่งไว้อีก 2 ประเภทตามเพดานข้อเรียกร้องคือ เพดานการเรียกร้องอยู่แค่รัฐบาลพวกนี้เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ แต่กลุ่มที่มีเพดานข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐพบว่า เจ้าหน้าที่จะมีการเตรียมการรับมือแตกต่างกันไป คือถ้าม็อบมาโดยสันติรัฐจะรับมือโดยละมุนละมอมมากกว่าแต่ถ้าเป็นม็อบของกลุ่มที่เคยใช้ความรุนแรงมาก่อนก็จะมีการเตรียมอาวุธและจัดวางกำลังต่างกันไป แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พิจารณาม็อบโดยบวกเรื่องแนวคิดเข้าไปด้วย ถ้าม็อบมาโดยสันติแต่มีเนื้อหาเป็นเรื่อง “การเมือง” ที่มีเพดานเรื่อง “สถาบันกษัตริย์” รัฐจะจับตาแล้วรับมือโดยความเข้มข้นมากกว่าปกติซึ่งรัฐมองว่าเป็นอุดมการณ์ที่รุนแรง คือรัฐมองว่าแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอยู่ในกลุ่มนี้เพราะเมื่อมีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อทำให้ในที่สุดฝ่ายรัฐวางเป้าหมายนี้เป็นกลุ่มสีแดงมาตั้งแต่ 2563-2565 และมีปฏิบัติการเข้มข้นขึ้น

ส่วนถ้าเป็นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงแล้วฝ่ายความมั่นคงก็จะไม่กลัวเท่าไหร่เพราะรับมือง่าย เจ้าหน้าที่มีความชอบธรรมในการปราบปรามสูง ปราบแล้วสังคมไม่ประนามรัฐเท่าไหร่ เช่น กลุ่มทะลุแก๊ส เจ้าหน้าที่รัฐจะรับมือแยกต่างหากแล้วปราบด้วยความรุนแรง

ประจักษ์เล่าว่าเจ้าหน้าที่ยังให้ข้อมูลอีกว่ายังมีเรื่องชนชั้นเข้ามาด้วยกล่าวคือ ถ้าผู้ชุมนุมมาจากชนชั้นล่างที่เสียงไม่ดังอยู่แล้วก็จะปราบด้วยความรุนแรงได้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไปม็อบเยาวชนทั่วไปแล้วเจอเด็กสวนกุหลายหรือเตรียมอุดมฯ ที่วันหนึ่งเด็กพวกนี้อาจกลายมาเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่จะมาจัดการพวกเขาได้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มทะลุแก๊สก็ปราบได้ง่ายเพราะเสียงไม่ดังไม่มีเสียงสนับสนุนมากนักซึ่งเป็นเรื่องน่าสะท้อนใจเหมือนกัน

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ที่ให้ข้อมูลยังบอกด้วยบางครั้งม็อบที่มาโดยสันติแล้วยังใช้ความรุนแรงคือถ้าเป็นม็อบที่มาอย่างสันติแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จะมีนโยบายมาให้ว่าต้องปราบทันทีไม่ให้บานปลาย เช่น การไปสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือไปพระบรมมหาราชวัง เพราะถือเป็นการหยามพระเกียรติจึงใช้ความรุนแรงทันที และพื้นที่เหล่านี้จะเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ผ่านเด็ดขาด แม้ว่าตำรวจเองจะเป็นห่วงเรื่องภาพลักษณ์แต่พวกเขาก็ให้น้ำหนักในการปกป้องสถาบันกษัตริย์มากกว่า

ปัจจัยที่สาม เป็นเรื่องอารมณ์และทัศนคติส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมโดยตรงที่หน้างาน แต่ก็เป็นปัจจัยรองและไม่ได้เปลี่ยนแบบแผนการปฏิบัติงานให้เกิดความรุนแรงบานปลายใหญ่โตมากขึ้นเท่ากับนโยบายของรัฐที่สั่งให้ใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว เพราะถ้านโยบายมาให้ใช้ปฏิบัติการโดยละมุนละม่อมต่อให้เจ้าหน้าที่มีอารมก็จะถูกควบคุมไว้ ดังนั้นกุญแจที่ทำให้เกิดความรุนแรงเป็นหลักจึงเป็นสองปัจจัยแรกมากกว่า

ประเด็นสุดท้ายเรื่องความชอบธรรมที่รัฐต้องหาคำอธิบายมาเพื่อรองรับการใช้ความรุนแรงเสมอ เช่นที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้ในการปราบคนเสื้อแดงคือการสร้างวาทกรรมล้มเจ้าและเป็นการก่อการร้ายเป็นต้น

รัฐไทยเป็น “รัฐราชเสนานุภาพ”

พวงทอง ภวัครพันธู์ อาจารย์ประจำการเมืองระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่ายังไม่ค่อยเห้นด้วยกับการวางกรอบในการให้คำอธิบายของประจักษ์นักและคิดว่าควรจะต้องขยายคำถามไปเพิ่มอีกว่ารัฐแบบใดที่มีวิธีคิดและมีแนวนโยบายในการใช้ความรุนแรงแบบนี้ ซึ่งคิดว่ารัฐไทยเข้ากับกรอบคิดเรื่อง praetorian state  ที่แปลว่ารัฐทหารหรือ “รัฐเสนานุภาพ” (มาจากคำว่า ทหาร+อำนาจ, ขอไม่ใช้คำว่า “เสนาธิปัตย์” ที่คนไทยคุ้นเคยกันเพื่อป้องกันความสับสนกับคำว่าเผด็จการทหาร หรือรัฐทหาร) ซึ่งเป็นกรอบคิดเก่าแล้วแต่ถูกกลับมาใช้กับรัฐที่พยายามจะเป็นประชาธิปไตยแล้วแต่เปลี่ยนไม่ผ่านเกิดการรัฐประหาร เช่นในอียิปต์ ปากีสถาน หรือไทยเอง

พวงทอง ชี้ว่า การจะเข้าใจการกลับมาของทหารได้ไม่ใช่เพียงแค่ดูตัวบุคคลที่เป็นผู้นำทหาร แต่ต้องดูโครงสร้างที่มีอยู่ทั้งศาลและองค์กรอิสระต่างๆ ศาลอาญา ส.ว. และกฎหมายต่างๆ ที่กองทัพได้สร้างอำนาจตัวเองฝังไว้ในระบบแล้วบ่อนเซาะอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่อยู่ตรงข้ามกับกองทัพได้ เช่น กรณีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ไม่สามารถคุมกองทัพให้เข้ามาจัดการกับ กปปส.ได้เลย หรือกรณีอภิสิทธิ์ที่ปราบปรามคนเสื้อแดงก็เป็นวิธีคิดแบบทหารทั้งหมดและไม่เชื่อว่าอภิสิทธิ์ไม่ได้คิดเองที่ขนาดจะใช้อาวุธยังไงเท่าไหร่ในการปราบปราม

พวงทอง กล่าวว่า ถ้าประเทศนั้นๆ ปกครองด้วยระบอบพลเรือนในบางช่วงเวลาพลเรือนก็มีอำนาจตัดสินใจน้อยมากและจะโดนบ่อนเซาะด้วยกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ การเป็นรัฐทหารยังส่งผลต่อวิธีคิดของรัฐด้วย คนที่นั่งคุมอำนาจรัฐทั้งหลายทั้ง ปปช. กกต. ศาลทั้งหลายก็จะรู้ได้เลยว่าจะมีผลตัดสินออกมาอย่างไร เพราะหน่วยงานเหล่านี้มีมุมมองต่อภัยคุกคามแบบเดียวกันคือมองว่าการกระทำใดบ้างเป็นภัยคุกคามต่อรัฐและจะต้องจัดการอย่างไร แล้ววิธีคิดแบบนี้เป็นแบบรัฐทหาร ที่ถูกฝังเข้าไปในอุดมการณ์ของรัฐยิ่งกว่าผู้นำทหารที่เป็นบุคคล

วิธีคิดแบบรัฐทหารทำให้ความมั่นคงของรัฐสำคัญเหนือกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนและไม่สนใจว่าคนที่มันกำลังจะปราบเป็นใครเป็นเด็กหรือเยาวชน ถึงก็พร้อมจะกำจัดให้สิ้นซาก ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบทหาร(militarization) ที่ไม่ได้หมายถึงทหารต้องเข้าไปคุมทุกอย่างเองแม้ว่าจะเข้าไปแทรกแซงในหลายเรื่องแต่เป็นเรื่องอุดมการณ์และวิธีคิดที่เข้าไปกำหนดหน่วยงานของรัฐทั้งหลายว่าใครเป็นมิตรหรือศัตรู

พวงทอง ยังกล่าวต่อไปว่ารัฐทหารของไทยยังถูกครอบเอาไว้ด้วยราชาชาตินิยมที่กำหนดให้การปกป้องสถาบันกษัตริย์เป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขา ซึ่งในไทยสถาบันกษัตริย์ยังมีบทบาทอย่างมากในฐานะเป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่สำคัญเธอจึงเรียกว่า “Royal Praetorian State” หรือ “รัฐราชเสนานุภาพ” ซึ่งราชาชาตินิยมจะเป็นแกนหลักของรัฐแบบนี้และแนวคิดแบบนี้ก็จะถูกเอาไปกำหนดว่าใครเป็นมิตรหรือศัตรู สิ่งใดจะเป็นภัยคุกคาม

พวงทอง ชี้ว่าเมื่อใช้กรอบคิดแบบนี้จะทำให้เห็นปรากฏการณ์ใหญ่ๆ และอิทธิพลอำนาจและวิธีคิดของกองทัพที่เข้าไปทำงานในหลายส่วน เช่น การเข้าสลายการชุมนุมของตำรวจที่แม้ตำรวจเองอาจไม่อยากทำแต่ก็ต้องทำ หรือการใช้กลไกทางกฎหมายในการจัดการคนที่ถูกมองว่าเป็นภัยความมั่นคงของรัฐ เช่น คนที่ถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 กลไกตำรวจกลายเป็นกลไกสำคัญของรัฐราชเสนานุภาพใช้ ที่แม้ว่าบางครั้งนายกรัฐมนตรีอย่างพล.อ.ประยุทธ์จะอ้างว่าเป็นเรื่องของตำรวจหรือศาลแต่ถ้าได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในคดีหรือแม้แต่คนที่ถูกดำเนินคดีก็จะบอกว่าคดีมาตรา 112 นั้นยอมไม่ได้เพราะมีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือ "เบื้องบน" ที่เป็นใครก็ไม่รู้ แสดงว่ามีมือที่มองไม่เห็นอยู่และนี่คือการเข้ามาคุกคามโดยรัฐราชเสนานุภาพ

พวงทอง กล่าวต่อว่าในช่วงหลังทหารยังเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดีต่อตำรวจและศาลเองกลายเป็นคู่กรณี ทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหารู้สึกว่ากำลังถูกรุกหนักมากยิ่งขึ้นด้วย  

รัฐราชเสนานุภาพใช้ได้ทุกกลไกเพื่อปราบปรามภัยคุกคามต่อรัฐ

อาจารย์จากรัฐศาสตร์จุฬาฯ ชี้ว่า ในรัฐราชเสนานุภาพนี้กองทัพและตำรวจเป็นแค่กลไกในการปราบปราบหนึ่งเท่านั้น การใช้ความรุนแรงโดยทหารตำรวจจึงไม่ได้เป็นทางเลือกสุดท้าย ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ 2549 รัฐราชเสนานุภาพสามารถคุมกลไกของรัฐทั้งหมดได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงแต่เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้นเช่นในกรณีที่เข้ามาจัดการกับเยาวชนไม่ต้องใช้ความรุนแรงแต่ไปใช้ทางเลือกอื่นเพราะยังมีหนทางอื่นให้รัฐเลือกใช้ได้เต็มไปหมด

พวงทอง กล่าวย้อนไปกล่าวถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อย่างเช่น รัฐไทยในยุค 14 ต.ค.2516 หรือแม้กระทั่ง พ.ค.2535 ยังไม่สามารถคุมได้ทุกกลไกจึงใช้ความรุนแรงได้เร็วมากแล้วเมื่อใช้ความรุนแรงก็ถูกกระแสสังคม สื่อมวลชน ข้าราชการระดับสูงไม่เอาด้วยเพราะไม่สามารถควบคุมกลไกต่างๆ ให้ทำงานให้ได้

แต่รัฐราชเสนานุภาพหลัง 2549 เป็นต้นมา ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังในการปราบปรามแต่สามารถโยนให้ศาลทำหรือองค์กรอิสระทำแทน และบอกว่ามีความชอบธรรมมากกว่า และรัฐราชเสนานุภาพแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีผู้นำที่ฉลาดในการเลือกใช้วิธีการในการจัดการ แต่มีองคาพยพอื่นๆ เข้ามาช่วยในการคิดว่าจะจัดการกับกลุ่มไหนอย่างไร

พวงทอง ชี้ว่า ถ้าไม่ใช่กรอบคำอธิบายเรื่องรัฐเสนานุภาพก็จะไม่สามารถอธิบายในหลายเรื่องได้ เช่น การปราบปรามคนเสื้อแดงเพราะถ้าหากมองว่าการชุมนุมที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีคนเข้าร่วมหลากหลาย ต้องเปลี่ยนความภักดีของผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลให้มาอยู่ฝ่ายผู้ชุมนุม ใช้เทคนิคได้หลากหลาย มีวินัยที่ยืดหยุ่นเมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรง ซึ่งเธอคิดว่าคนเสื้อแดงในปี 2553 มีปัจจัยเหล่านี้เกือบทั้งหมดไม่เช่นนั้นก็คงไม่มีคนเข้าร่วมจากหลายภูมิภาคและรักษาการชุมนุมไว้ได้นานถึง 3 เดือนและยังสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงได้นานซึ่งไม่มีม็อบไหนทำได้ แต่การชุมนุมก็ล้มเหลวและรัฐบาลอภิสิทธิ์ยังตัดสินใจปราบได้แล้วก็สร้าง คอป. มารับช่วงต่อ มีชนชั้นกลางมาช่วยกันทำ Big Cleaning Day มีสื่อมาบอกว่าดีที่ทำให้กรุงเทพกลับมาสงบเหมือนเดิม แล้วศาลก็ยังมาฟ้องแกนนำว่าเป็นก่อการร้ายมีการเผาบ้านเผาเมือง

พวงทอง กล่าวสรุปว่า กลไกต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการกดปราบได้และต่อให้ผู้ชุมนุมมีความพยายามสารพัดอย่างก็ยังล้มเหลว ดังนั้น นอกเหนือจากการมองการกระทำของรัฐบาลแล้ว ยังมีโครงสร้างอำนาจที่ครอบงำการกระทำของรัฐอยู่ด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net