Skip to main content
sharethis

ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ได้มีจดหมายเชิญเข้าร่วมนิทรรศการถูกส่งเข้ามาในอีเมลล์ของผู้เขียน ในจดหมายนั้นมีข้อความย่อหน้าหนึ่งกล่าวว่า

“P.T.S.D Exhibition จะนำเสนอเรื่องราวการต่อสู้และความรุนแรงที่ผ่านมา ผ่านรูปแบบกระบวนการทางศิลปะ โดยเปลี่ยน Cartel Artspace เป็นพื้นที่กิจกรรมทางการเมือง ที่เปิดการมีส่วนร่วมกับผู้ชมได้สำรวจความคิดเห็น หรือความรู้สึกของตัวเองต่อความทรงจำตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน”

ข้อความนี้ทำให้เกิดความสนใจ เนื่องจากผู้สัมภาษณ์เคยทำงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งของในนิทรรศการที่เกี่ยวกับความรุนแรง และเคยสัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองมาก่อน จึงตอบตกลงเข้าร่วมนิทรรศการ และเมื่อพูดคุยเบื้องต้นกับผู้ช่วยภัณฑารักษ์(พิชญ์สินี ชัยทวีธรรม หรือแพร) และศิลปิน(เพชรนิล สุขจันทร์ หรือนิ้น) เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหน้าที่ที่มักจะถูกมองข้ามในการจัดนิทรรศการคือภัณฑารักษ์หรือ Curator เราจึงสนใจสัมภาษณ์ ธนธรณ์ ก้งเส้ง หรือ เจมส์ ที่ทำหน้าที่คิดเรื่องราวเบื้องหลังการจัดแสดงนิทรรศการ รวมถึงพูดคุยประสานงานกับศิลปินและแกลลอรี 

ธนธรณ์ ก้งเส้ง หรือ เจมส์ (ซ้าย) และ เพชรนิล สุขจันทร์ หรือนิ้น (ขวา)

อยากให้เจมส์เล่าถึงที่มาที่ไปในการเป็นคิวเรเตอร์ให้นิทรรศการนี้

เจมส์ : ตอนแรกมันเริ่มจากการที่มี 3 คนก่อนใช่ป่ะ คือตอนแรก แรกเริ่มสุดคือ นฤทธิ์(เจ้าของสถานที่) ชวนนิ้น (เพชรนิล) กับผู้ต้องหาคดี 112 มาร่วมกันทำงานศิลปะเพื่อจัดแสดง เราก็เสนอตัวเองว่าอยากลอง curate หรือวางแผนเลือกและจัดการผลงานของศิลปิน รวมถึงจัดการบรรยากาศภาพรวมของนิทรรศการท 

พอยื่นข้อเสนอผ่าน เราก็กลับมาวางแผนว่า จะเขียน proposal ส่งให้แกลอรี แต่เราเป็นคนที่เขียนออกมาแล้วอ่านรู้เรื่องอยู่คนเดียว เราก็เลยไปชวนเพื่อนคนอื่นที่มีประสบการณ์การเขียนมาทำนิทรรศการด้วย เหมือนชวนหลายๆคนมาเป็นวุ้นแปลภาษาให้ผู้ชมอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย 

เราคุยกับเพื่อนว่า “ งานนี้ต้องการเสนอความจริงที่เราต้องการเอาออกมาให้พ้นจากความงาม เพราะบางทีเราคิดว่าความงามปกปิดบความจริง แล้วความงามจะดึงดูดให้เราอยู่แต่กับความงาม” 

พอมีคอนเซ็ปต์ เราก็เล่าต่ออีกว่าอยากให้งานนี้แสดงถึงความเจ็บปวดของคนที่ไปร่วมกิจกรรมหรือว่าคนที่เห็นเหตุการณ์ ให้คนรู้สึกว่า “เหี้ย นี่ผ่านไป 3 ปี 4 ปีจนจะมีการเลือกตั้งใหม่แล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำ ยังไม่เคยได้ถูกการแก้ไขยังไม่เคยมีคนที่ผิดมารับผิดชอบ แม้กระทั่งตอนปีที่สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือว่าเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ที่ผ่านมา มันไม่เคยมีผู้เกี่ยวข้องได้รับความผิดเลย”

อยากรู้ที่มาของชื่อหัวข้อนิทรรศการ PTSD มันเกี่ยวกับ Post Traumatic Stress Disorder ไหม

ก่อนตั้งชื่อนิทรรศการ เราตั้งใจทำงานวิดีโอที่ฉายในบริเวณทางเข้านิทรรศการให้เห็นถึงความรุนแรง ต้องการให้เห็นความจริงว่ารัฐกระทำความรุนแรงอะไรกับประชาชนไปบ้าง

ระหว่างที่เรากำลังตัดต่อคลิปวิดีโอ เราก็ลองให้น้องในกลุ่มคนหนึ่งดูแล้ว เขาคือคนที่อยู่ในเหตุการณ์ตอนสลายการชุมนุมของ APEC ซึ่งความรุนแรงมันค่อนข้างที่จะเยอะมาก แล้วพอเขาดูวิดีโอที่เรากำลังทำอยู่  เขาก็บอกว่ารู้สึกดาวน์ ไม่สบายใจ 

คือตอนแรกคำว่า PTSD เนี่ยมันถูกโยนมาเฉย ๆ แต่พอมันมีเรื่องของเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นน่ะ มันก็เลยยิ่งชัดเจนเลยว่าเอามาใช้สื่อสารถึงสภาวะที่คนได้เจอกับความรุนแรง มันส่งผลกระทบกับจิตใจจริง คนที่ไปร่วมชุมนุมหรือว่าของคนที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายจากการสลายการชุมนุมมาก็มีความรู้สึกร่วมกับนิทรรศการจริงๆ 

ก็เลยตีความในรูปแบบตัวอักษร P T S D จะสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลที่เราตั้งจนำเสนอได้ยังไงบ้าง เราก็เลยช่วยกันหาว่าตัวอักษรพวกนี้ เชื่อมโยงกับคำศัพท์ยังไงได้บ้าง เพื่อให้ตัวย่อของชื่ออาการสอดคล้องกับคำทางการเมือง

เช่น Parliament ก็คือรัฐสภา Treacherous นี่ก็คือการที่เป็นทรยศ Sedition นี่ก็คือก่อจราจล หรือว่าการปลุกระดม Dictator ก็คือเผด็จการอะไรแบบนี้  ซึ่งในองค์ประกอบของคำทั้ง 4 คำ มันก็ทำให้เราตกตะกอนระหว่างทำงานได้อีก 

อย่างเช่นคำว่า Treacherous คือการทรยศมันมองได้ 2 มุมว่ารัฐทรยศกับประชาชน หรือว่าประชาชนทรยศกับระบอบ คือมันเป็นการตีความได้อย่างกว้าง ๆ ว่า ความทรยศอยู่ที่มุมมอง คือถ้าเราเป็นฝ่ายตรงข้าม เราก็จะมองว่าพวกนี้มันคือกบฏ มันคือผู้ทรยศต่อแผ่นดินใช่ป่ะ แต่ถ้าสำหรับเป็นกลุ่มฝั่งเรามอง เราก็จะมองว่ารัฐทรยศกับประชาชน ที่เป็นเจ้าของประเทศโดยแท้จริง 

สิ่งที่มันรวมกันมาเป็นสี่คำนี้ ดันมีเอฟเฟ็กต์กับคนที่มาดูงานในช่วงแรก ๆ เป็นผลกระทบกับจิตใจ ตรงที่ว่าทำให้เขาย้อนกลับไปวันที่เขาไปร่วมชุมนุมในฐานะที่เขาเป็นสื่อและเขาได้รับภาพความรุนแรงหรือว่าอารมณ์ของรัฐที่มันเพิ่มพูนมากขึ้น 

ตอนที่เราตัดต่องานนี้ คือมันก็จะมีคลิปวิดีโอตั้งแต่การสลายการชุมนุมครั้งแรก ที่สยาม มันเริ่มจากการฉีดน้ำ ซึ่งเราจะเห็นได้เลยว่าอารมณ์ของเจ้าหน้าที่ มันไม่รุนแรงเท่ารอบเอเปค ซึ่งตอนเอเปคนี้ความรุนแรงของอารมณ์ที่เจ้าหน้าที่แสดงออกกับประชาชน ซึ่งมันรุนแรงจนถึงขั้นทกูกระทืบมึงได้อ่ะ มันเป็นความรุนแรงที่คน ๆ นึงที่ไปพบเจอ สะท้อนออกมาในรูปแบบที่ว่าเหตุการณ์ผ่านไปแล้วแต่ว่าความเจ็บปวดยังตกค้างอยู่ในจิตใจของคนที่เคยไปร่วมหรือว่าคนที่รับผลกระทบอะไรอย่างเงี้ย บางทีมันก็โยนมาก่อน แล้วมันก็มาทำความเข้าใจกับตัวเองทีหลัง 

ผู้ชุมนุมบางคนอาจจะมีภูมิคุ้มกัน เพราะผ่านการจัดตั้ง ผ่านการชุมนุมมาตั้งแต่ยุครัฐประหาร ก็จะมีวิธีจัดการความรู้สึกระดับหนึ่ง แต่สำหรับคนที่ไม่เคย บางคนมันไม่ได้มีภูมิคุ้มกันเท่ากันหรอก 

ทำให้ความรุนแรงที่รัฐกระทำ มันถูกฝังอยู่ในความทรงจำของผู้ที่ถูกกระทำมาตลอด แล้วมันก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข กลายเป็นเศษซากของความทรงจำ ความเจ็บปวดที่ถูกทิ้งไว้ภายใต้จิตใต้สำนึกของคนที่ได้รับผลกระทบอยู่อย่างนั้น โดยที่ไม่เคยมีความยุติธรรมมาถึงเขา ไม่เคยมีความเป็นธรรมที่ได้รับ ไม่เคยมีการเยียวยาจิตใจที่เข้ามา และถูกปล่อยผ่านละเลย ทำให้ถูกลืมไปในที่สุดเอง แต่ว่าคนที่ถูกกระทำมันไม่เคยลืมไง

คำถามต่อไปคือ จากที่ดูนิทรรศการแล้วสังเกตว่าจะมีโซนข้างในกับข้างนอก เจมส์อยากพรีเซ้นต์อะไร ลองเล่าคร่าว ๆ ให้เราฟังก็ได้

เจมส์: ตั้งแต่ประตูเลยใช่ป่ะ ประตูนี้เราก็จะติดเอาเทปที่กั้นห้ามเข้าอะไรแบบนี้ ตอนแรกเราคิดในมุมมองของอันนี้คือว่า พื้นที่นี้มันพูดถึงเรื่องของความจริง ความจริงที่รัฐทำอะไรกับเราบ้าง อย่างอันนี้มันห้ามเข้ามาว่า เอ้ย  มึงต้องถามตัวเองว่า ทดสอบกับตัวเองว่า มันห้ามเข้าเพราะว่าอะไรวะ หรือว่าจริง ๆ แล้วศิลปินต้องการจะบอกว่า พื้นที่นี้ความจริงมึงควรเตรียมใจก่อนที่มึงเข้ามาหรือว่าถ้ามึงไม่ต้องการรับความจริงมึงก็ห้ามเข้า 

แล้วพอเข้ามาถึงด้านใน เราใช้วัตถุจัดแสดงเป็นโต๊ะเขียนหนังสือ วางแถลงการณ์ ที่เราเก็บรวบรวมเท่าที่เราทำได้ตั้งแต่ปี 2563 ตอนที่เริ่มมีม็อบนักศึกษา เรามองว่ามันเป็นสิ่งที่ประชาชนสื่อสารกับรัฐโดยตรง และสื่อสารกับประชาชนอย่างเราด้วย แล้วเรามองว่าสิ่ง ๆ นี้กลายเป็นสิ่งไร้ค่าที่โดนเหยียบย่ำไปเรื่อย ๆ เพราะว่าแต่ละเรื่องที่ประชาชนแถลงไป ก็ไม่เห็นผลสัมฤทธิ์อะไร และถูกเหยียบจนวันหนึ่งก็โดนรอยดำ โดนเวลา โดนเรื่องราวอื่นปิดบังจนมันจมหายไปในที่สุด 

พอมาถึงส่วนจัดแสดงวิดีโอในห้องมืดๆ เราก็ต้องการจะเล่าเรื่องเป็นฉากแรกก่อนว่าศิลปินทั้งสองคน ต้องพบเจอเหตุการณ์อะไร ถึงต้องออกมาทำงานศิลปะที่จะเห็นเมื่อเข้าพื้นที่จัดแสดงด้านใน

และเราที่เป็นคนตัดต่อวิดีโอก็อยากจะเสนอมุมมองว่าความรุนแรงคือความจริงที่รัฐทำแต่ไม่เคยออกสู่ทีวีที่เป็นจอแก้วหรือสื่อหลักเลย 

ทำให้คิดต่อไปว่าทำไมเราถึงรับความจริงพวกนี้ไม่ได้ ทำไมสื่อหลักถึงไม่นำเสนอเรื่องราวที่มันเป็นความจริงเหล่านี้ ให้กับคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของส่วนกลางรู้ว่ารัฐกระทำอะไรกับประชาชน แต่ว่าสิ่งที่เดียวที่นำเสนอคือความเกลียดชัง 

เราเห็นว่ามันจะมีสื่อบางกลุ่มที่นำเสนอภาพการสลายการชุมนุมพวกนี้ แต่เสนอในบริบทว่า พวกผู้ชุมนุมคือคนที่ไม่ทำตามกฎระเบียบ มันคือคนไม่ดี มันคือคนที่ไปแตะต้องเบื้องสูงอะไรอย่างงี้ แต่ว่ามึงอย่าลืมนะเว้ย ว่าคนพวกนี้แค่มีมุมมองความคิดที่แตกต่างกับมึงอ่ะ แล้วมึงเอาความชอบธรรมอะไรมาใช้ความรุนแรงในการปิดปากเขาหรือทำร้ายเขาหรือว่ากระทำกับเขาอ่ะ มันก็จะมีเรื่องราวของภาพที่ คฝ.ใช้อาวุธปืน ใช้แก๊สน้ำตา ยิงระยะประชิด ซึ่งเรารู้สึกว่าผู้มีอำนาจย้อนแย้งกับสิ่งที่เขากำลังสั่งสอนคนของเขาเอง 

เราคิดในมุมมองของเรานะว่า เราไม่รู้ว่าหลายคนถูกปลูกฝังหรือถูกสั่งสอนด้วยวิธีการแบบไหนมาที่ทำให้เขาสามารถกระทืบหรือว่ายิงคนที่เขาแค่มีมุมมองความคิดที่แตกต่างได้อย่างที่เขาไม่รู้สึกผิด หรือมีความสะใจด้วยซ้ำ 

อย่างตอนท้ายคลิปนี้มันก็จะมีการบอกว่า “เอ้ย ออกไปหลังแนวได้แล้ว พี่ว่ามันถึงเวลาแล้ว ขอพวกเรา- ขอพวกพี่สนุกก่อน” อะไรแบบนี้ ซึ่งเราก็ตกใจว่านี่คือคำพูดที่ออกมาจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยภาษีของประชาชนหรือว่าจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องท่องคำสัตย์ปฏิญาณว่าจะรับใช้ประชาชนจริง ๆ หรอวะ 

ซึ่งพอเราใช้ผ้าม่านบังส่วนของวิดีโอกับส่วนจัดแสดงงานศิลปะไว้ เราต้องการที่จะบอกว่า “กูเตือนแล้วนะ” หมายถึงเตือนว่าก่อนจะเข้ามาในพื้นที่หลังม่าน มันคือสิ่งที่เราจะไม่ได้บอกความจริงทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมาเหมือนคลิปวิดีโอ 

จากที่สังเกตได้  นอกจากรูปแล้วจะมีการติดตั้งเอกสาร  หรือตัว Text เยอะมาก อยากรู้ว่าทำไมถึงสนใจเลือกพวก text มาเป็นส่วนหนึ่งในงาน

เจมส์: ส่วนตัวเลย คือเราเป็นคน curate ใช่ป่ะ แล้วเรารู้สึกว่าเวลาเราไปดูงาน เราชอบที่จะอ่าน text เราอยากเข้าใจว่า คจัดนิทรรศการเขาคิดเห็นอะไร ตอนแรกมันมี text เกี่ยวกับเรื่องของเราทั้ง 5 คนที่ทำโปรเจคต์นี้ร่วมกันว่า เรามีความมุมมองความคิดเห็นยังไงกับการกระทำของรัฐหรือว่าสิ่งที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัว อย่างงานชิ้นนี้ ศิลปินเขาเป็นคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้วโดนยึดอุปกรณ์การทำงานศิลปะทั้งหมดไป โดนยึด Notebook โดยยึดพู่กัน โดนยึดสี โดนยึดทุกอย่าง ซึ่งมันแสดงให้เห็นด้วยว่าการวาดรูปก็ถูกทำให้อำนาจของความมั่นคงของรัฐสั่นคลอนได้ 

เรื่องนี้ก็จะถูกเขียนสื่อสารว่า ศิลปินคือนักสื่อสารไม่ใช่หรอ ทำไมการสื่อสารของเราเหล่านี้มันถึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐรู้สึกเปราะบางจนถึงขั้นที่ต้องกำจัดหรือเซ็นเซอร์และไม่ให้ศิลปินผลิตงานต่อได้

อย่างงานของนิ้น ก็จะเป็นประสบการณ์ที่อยู่กับการไปร่วมม็อบด้วยกัน การไปเที่ยวม็อบหรือว่าการไปทำงานศิลปะในม็อบเงี้ย หรือว่าการรับรู้เรื่องราวผ่านทางสื่อที่ที่เป็นสื่อที่มันไม่ใช่สื่อหลักอะไรแบบนี้ นำเสนอมุมมองอะไรแบบนี้ เออซึ่งมันก็แตกต่างกับของเรา

หรือแฟ้มรวบรวมแถลงการณ์ที่วางบนโต๊ะ เราต้องการให้ผู้ชมย้อนความทรงจำไปตั้งแต่ปี 2563 ว่ามันมีวิวัฒนาการของการต่อสู้หรือว่าข้อเรียกร้องของเราที่เป็นสารส่งคืนรัฐไป และมันเยอะมากนะเว้ยแฟ้มเนี่ยมันยังไม่หมดด้วยซ้ำอ่ะ แต่คำว่าเยอะตรงนี้ มันก็มองย้อนกลับมาถึงตัวเองว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นเลย เสรีภาพที่สื่อสารไปไม่เคยเกิดขึ้น ยังมีคนโดนคดีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยซ้ำ 

แม้กระทั่งการยกเลิก 112  เป็นเรื่องพูดถึงตั้งแต่ปีแรก ๆ  ของการเคลื่อนไหว ทุกวันนี้กลับมีคนที่โดนฟ้องคดีนี้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ 112, 116 พ.ร.ก..ฉุกเฉินฯ อะไรแบบนี้ รัฐยังไม่หยุดปิดปากคนหรือว่าสร้างความลำบากให้ผู้ชุมนุมต้องเสียเวลาในการถูกดำเนินคดี ต้องสูญเสียเวลาในการที่จะมีชีวิตของตัวเอง ทำให้คนพลาดโอกาส จนถึงพรากช่วงชีวิตหนึ่งของคนกลุ่มหนึ่งไป

อยากรู้ว่าเวลาเจมส์พรีเซ้นต์ภาพจากเหตุการณ์จริง กับภาพจำจากความทรงจำของ เจมส์รู้สึกว่ามันต่างกันไหม

เจมส์: เราพูดถึงในมุมมองของเราที่ทำวิดีโอ  ตอนที่เราตัดต่อ ความจริงที่เราเห็นมันส่งผลกระทบต่อเรามาก เพราะเราไม่ได้ไปอยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเอเปค แต่คลิปมันเห็นความรู้สึกของเจ้าหน้าที่อย่างที่บอกไป เราสังเกตว่าความรู้สึกของเจ้าหน้าที่มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว มันเริ่มมีความรุนแรงในรูปแบบที่คาดการณ์ไม่ได้

แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือมันไม่เหลือความเข้าใจว่าคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับคุณเป็นคนเหมือนกับเรา ไม่ได้มองว่าคนในพื้นที่เป็นคนที่มีสิทธิ์ที่จะคิด มีสิทธิ์ที่จะแสดงออก แต่กลับมองเห็นข้างหน้าว่าเป็นเหมือนสิ่งที่ถูกสร้างให้กลายเป็นปีศาจที่จะต้องกำจัดหรือที่จะต้องทำลาย ด้วยความรู้สึกที่ถูกต้องในมุมมองของเขา หรือว่าความสะใจ หรืออะไรก็แล้วแต่

เราว่า ความจริงที่เห็นมันเลวร้าย ซึ่งตอนเราตัดต่อ เรา depressed เหมือนกัน รู้สึกแย่มากเลยหยุดตัดต่อมันไปเกือบสัปดาห์ เพราะว่ามันส่งผลกระทบกับเรา ทำให้คิดด้วยว่า ทำไมรัฐถึงกระทำกับคนได้ขนาดนี้วะ ไอเหี้ย เราเป็นคนที่คิดต่างนะเว้ย ทำไมเขาถึงไม่มองเห็นว่าเราเป็นคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง เราก็คือคนที่อยู่ในประเทศนี้แล้วเราก็แค่ไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น แล้วเราก็แค่ต้องการแสดงความคิดเห็นว่าสิ่งที่เขากำลังทำหรือว่าเดินหน้าต่อไปมันไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ เออ ทำไมเขาถึงไม่รับฟังเรา

ช่วยขยายความได้ไหม?

คือความจริงในที่เกิดเหตุ กับความจริงที่กระทบสายตาเรา ผ่านคลิปวิดีโอและทำให้เราประมวลผลจนถึงตีความมันอาจจะดูแตกต่างกัน 

แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับความรู้สึกเหมือนกันทั้งผู้อยู่ในเหตุการณ์และผู้ดูเหตุการณ์ผ่านจอก็คือความรู้สึกของผู้ที่ถูกกระทำ ถึงมันแสดงออกมาในรูปแบบที่ไม่เหมือนกันเฉย ๆ แต่ความรู้สึกมันคือความรู้สึกเดียวกัน 

เวลามีผู้ชมมานิทรรศการ เจมส์เคยลองถามมั้ย ว่ารู้สึกยังไงหรือว่ามีอารมณ์อะไรยังไงกับวัตถุและภาพรวมการจัดแสดง

เจมส์:  ตอนที่มันถูกเปิดที่นี่เรายังไม่ค่อยได้มาอยู่ทั้งวัน เราแวะมาแค่ช่วงเย็น ทำให้ไม่ได้คุยกับคนที่มาดู แต่ว่าตอนช่วงที่เราตัดต่อคลิป เราก็เปิดให้เพื่อนที่ทำงานดู(เจมส์ทำงานประจำด้วย) แล้วลองถามว่ารู้สึกยังไง คือบางคนเขาก็ตอบว่า “เฮ้ย มันมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นจริง ๆ หรอวะ” แต่คือเขาก็ไม่ได้มีประสบการณ์ร่วม 

อาจเพราะเขาไม่ได้ประสบการณ์ร่วม เขาก็รู้สึกว่าแค่ “เออมันรุนแรงอ่ะ” แต่ว่าเขาไม่ได้อินว่าสิ่งนี้ เขาอาจจะรู้สึกว่านี่มันไม่ใช่เรื่องปกติ แต่ว่ามันยังดูไกลตัวเขาไป แต่สำหรับเราที่มีเพื่อนเป็นนักกิจกรรมแล้วเราเคยมีประสบการณ์ร่วมในการไปพร้อมในการสลายการชุมนุม เรารู้สึกว่ามันทวีความรุนแรง จากการแค่ต้องกระทำตามหน้าที่มันเริ่มกลายเป็นความเกลียดชังที่มันถูกปลุกปลูกฝังอยู่ในคฝ.อะไรแบบนี้ 

เราก็เริ่มลองให้คนที่เป็นเพื่อนร่วมงานเราแสดงความคิดเห็นต่อคลิปวิดีโอ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำงานอยู่ในวงการศิลปะหรือว่าอะไรใช่ป่ะ ว่าแบบ เอ้ย มึงดูแล้วมันรู้สึกไงวะมันก็จะมีบางคนที่เฉย ๆ แต่ว่า เออ รุนแรงว่ะ แล้วก็มันก็จะมีบางคนที่คือทำเหมือนคนตรงข้ามมึงไม่ใช่คนน่ะ เป็นเหมือนแม่มดที่โดนล้างสมองมา ซึ่งแมเราก็คุยแล้ว ไอ้เหี้ย มึงนั่งดูกับกูแล้วรู้สึกว่ากูหรือมันวะที่โดนล้างสมอง ทั้ง ๆ ที่ความจริงอยู่ตรงหน้าหรือว่าสิ่งที่ทำให้เราโกรธกระทบกับเราอยู่ตรงหน้า สิ่งที่มันได้รับผลกับเราคืออะไรวะ 

แล้วระหว่างที่เรากำลังตัดต่อคลิปวิดีโอ เราก็ลองให้น้องในกลุ่มคนหนึ่งดู แล้ว เขาคือคนที่อยู่ในเหตุการณ์ตอนสลายการชุมนุมของ APEC ซึ่งความรุนแรงมันค่อนข้างที่จะเยอะมาก แล้วพอเขาดูวิดีโอที่เรากำลังทำอยู่  เขาก็บอกว่ารู้สึกดาวน์ ไม่สบายใจ 

ในระหว่างที่คุยเรื่องผลตอบรับจากผู้ชมนิทรรศการ เจมส์ได้พูดถึงความรุนแรงจากรัฐในอีกรูปแบบหนึ่ง คือการเพิกเฉยและปัญหาความเหลื่อมล้ำของสวัสดิการและการเข้าถึงสวัสดิการในช่วงโควิด ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เชื่อมโยงกับการชุมนุมด้วยเช่นกัน

เจมส์: อย่างเหตุการณ์ช่วงโควิด ทำให้เห็นเลยว่าการจัดการของรัฐไม่ได้มีประสิทธิภาพ ไม่ได้เหมือนกับสิ่งที่นักการเมืองมันกำลังหาเสียงตอนนี้ ว่าจัดการประเทศให้มีประสิทธิภาพ คือถ้ามึงบอกว่ามันมีประสิทธิภาพ มึงไปตอบกับคนที่เขาสูญเสียดิ 

อย่างเรามีเพื่อนที่ช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่วัคซีนไม่ได้เข้าถึงคนทุกคนน่ะ แล้วเพื่อนเราเสียทั้งพ่อทั้งแม่ไปพร้อมกันในเวลาเดียวกัน เพราะเป็นโควิดไรเงี้ย คือติดทั้งบ้านเลย แต่พ่อแม่ไม่รอด แล้วเราก็รู้สึกว่าไอเหี้ยตอนนั้นมันก็กระทบกระทั่งจิตใจ แล้วเราก็รู้สึกว่าเหี้ยวัคซีนแม่งอยู่ไหนวะ ทำไมแม่งช้าจังวะ แล้วทำไมแม่งถึงเอาวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพเพียงแค่เพราะว่ามีคนกลุ่มนึงจ่ายทุนสนับสนุนหรือว่ามีคนอื่นถึงนำเข้าวัคซีนตัวนี้มาอะไรแบบนี้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ เหี้ย มึงทำแค่เพราะพวกพ้องอะ พวกมึงเอา Sinovac เอา Astra Zeneca มาให้พวกกูฉีดแต่พวกมึงไปฉีดเหี้ยอะไรกันน่ะ

 นี่มันก็คือความไม่เท่าเทียมและ คนรวยมีสิทธิ์ในการเข้าถึงวัคซีนที่ดีกว่าในเวลานั้น คนจนต้องรอของฟรี ต้องต่อคิว ต้องอะไรอย่างเงี้ย มันก็ไม่ได้มีแค่เรื่องนี้ มันก็จะมีเรื่องที่เป็นปากท้องของคนคนอื่นอีกที่ว่า การที่รัฐไม่จัดการไม่ได้ก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องหลาย ๆ อย่างเช่นเศรษฐกิจในเรื่องของการค้าขายที่ส่งผลกระทบในการที่คน ๆ นึงต้องตกงานหรือว่าคน ๆ นึงต้องปิดกิจการอะไรอะไรไปหลายๆอย่างเงี้ย คือสุดท้ายทั้งหมดทุกเรื่องที่มันเกิดมาแล้วหมดอ่ะ ก็เป็นผลของการบริหารของรัฐและสิ่งที่คนพูดในแถลงการณ์ทั้งหมดเนี้ย ก็คือเรื่องพวกนี้ว่าต้องการวัคซีน ต้องการนู่น ต้องการนี่ ต้องการนั่น แต่ว่ารัฐเขาก็ทำในสิ่งที่เขาคุยกันเองข้างในอ่ะ เขาไม่ให้ฟังอะไรเรา 

เรื่องผลตอบรับจากคนที่ได้ดูคลิปวิดีโอที่เจมส์ตัดต่อ และความเห็นของผู้ชมนิทรรศการเป็นยังไงบ้าง

เจมส์: เออ คือการดูอะไรแบบนี้มันเหมือนปลายเปิดว่าสิ่งที่ถูกกระทำสิ่งที่อะไรแบบนี้ มันก็มองย้อนกลับไปว่า ณ เวลานั้นเราพูดถึงเรื่องอะไรบ้างแล้วไอ้การถูกกระทำอย่างนี้มันคืออะไรบ้าง คือสิ่งที่เราทุกคนไม่ควรต้องโดน

มาถึงคำถามสุดท้ายแล้ว งานนี้ผู้จัดงานก็อยู่กับเรื่องราวของความรุนแรงมาพอสมควรใช่มั้ย ทั้งทางด้านศิลปิน ภัณฑารักษณ์ และผู้ช่วย ก็ต้องเจอภาพความรุนแรงซ้ำ ๆ แล้วถ้านิทรรศการจบไป คิดว่าตัวเองจะเอาความรู้สึกออกจากความรุนแรงพวกนี้ยังไง หรือว่ามีวิธีอะไรที่ทำให้โอเคขึ้นไหม 

เจมส์: มันก็จบไปพร้อมกับงานอะ สำหรับเราความรู้สึกพวกนี้ มันก็ถูกฝังไปอยู่กับงานไปแล้ว คือมันจบไปพร้อมกับตัวงาน พอมันจบไป เรารู้สึกอยากทำต่อ เราอยากผลิตงานต่ออย่างการขยับไปเล่าถึงเรื่องราวของช่วงเวลาอื่นเพิ่มมากขึ้น หรือกลับเข้ามาสนใจในเรื่องความทรงจำของผู้คนมากขึ้น

มันอาจจะไม่ได้หายหมดหรอก ก็ยังจำได้ว่าความเจ็บปวดหรือความรู้สึกที่โกรธแค้นกับรัฐมีอะไรบ้าง แต่ว่าความโกรธแค้นหรือความรู้สึกต้องการทำอะไรสักอย่างกับรัฐ มันเปลี่ยนเป็นความตั้งใจสื่อสารให้เรื่องเข้าถึงผู้คนเป็นวงกว้างมากขึ้น เรามองว่าจะต้องไปชวนคนอื่นเข้ามาเล่าเรื่องนี้ให้เยอะขึ้น เพื่อที่จะให้สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ มันไปสะกิดใจของคนที่มีมุมมองที่ยังคิดเห็นต่างกับเรา ยังไม่ต้องสะกิดใจผู้มีอำนาจในตอนนี้ก็ได้

เรามองว่าเราไม่ได้บังคับให้ผู้ชมต้องเชื่อตามเราทั้งหมด แต่เราแค่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาตั้งคำถาม หรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อยอดในสิ่งที่เขาเห็น เราอยากรู้ว่าเมื่อผู้คนได้เห็นความรุนแรงเหล่านี้ เขาจะวิพากษ์ต่อยังไง เขาจะคิดว่ามันคือสิ่งที่สมควรแล้วหรือเปล่า หรือว่าความรุนแรงเหล่านี้จริง ๆ แล้วถ้ามองย้อนกลับไปมันเริ่มต้นจากอะไร และสุดท้ายนิทรรศการจะเป็นสิ่งที่สนับสนุนการต่อสู้เพื่อต่อต้านความรุนแรง

เจมส์มีอะไรอยากที่จะเสริมเพิ่มเติมเป็นการปิดท้ายบทสัมภาษณ์ไหม 

เจมส์: เรามีมุมมองว่าศิลปินคือนักสื่อสาร เราวางตัวเองเป็นสะพานที่ก่อให้เกิดผลงานและก่อให้เกิดการคิดเชิงวิพากษ์ในสังคม แค่มีคนมาดูงาน แค่เขาได้กลับไปคิดต่อว่าสิ่งที่เขามาดูและสิ่งที่เขาเห็นมันทำให้เขาตรวจสอบตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่โดนกระทำ มันถูกต้องแล้วจริง ๆ หรอ มันควรแล้วใช่ไหมกับสิ่งที่คนในเหตุการณ์ควรได้รับ 

สุดท้ายเราอยากฝากถึงศิลปินทุกคนว่า ช่วยกันออกมาสื่อสารหรือว่านำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ให้มันถูกพูดถึง ถูกตั้งคำถาม ถูกกลับมาตรวจสอบหรือถูกกลับมาทบทวนอีกครั้งได้ไหม เพราะเราคือ “นักสื่อสาร”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net