Skip to main content
sharethis

ในยุคปัจจุบัน ผู้เสพสื่อมีความตระหนักในระดับหนึ่งแล้วว่าข่าวที่นำเสนอไม่ได้มีเพียงข้อเท็จจริงๆ ล้วน หากยังมีส่วนผสมของความคิดเห็นหรืออคติของสื่อปะปนอยู่ด้วย ความคิดเห็นหรืออคตินั้นถ้าสอดคล้องกับอคติของผู้เสพ องค์กรสื่อนั้นก็จะกลายเป็นสื่อที่ ‘เป็นกลาง’ สิ่งนี้ทำให้สื่อมีอิทธิพลต่อความรุนแรงทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้

พรรษาสิริ กุหลาบ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในตอนที่ 2 นี้ ‘รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์การรายงานข่าวการประท้วง: บทบาทของสื่อมวลชนไทยในการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมือง’ โดย พรรษาสิริ กุหลาบ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะชี้ให้เห็นว่าแนวทางการรายงานข่าวการชุมนุมของสื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรูนแรงอย่างไร

ในทางกลับกัน สื่อก็สามารถรายงานการชุมนุมเพื่อลดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงได้หากต้องการ

มุ่งสันติและความขัดแย้งหรือมุ่งการสู้รบและความรุนแรง?

เมื่อพิจารณาตามกรอบการรายงานข่าวแบบวารสารศาสตร์สันติภาพ/ความขัดแย้ง กับกรอบการรายงานข่าวแบบการสู้รบ/ความรุนแรง ก็สามารถแบ่งได้เป็น 4 แนวทาง โดยแนวทางแรกคือการรายงานที่มุ่งเน้นสันติภาพและความขัดแย้ง (peace/conflict-oriented) กับมุ่งเน้นการสู้รบและความรุนแรง (war/violence-oriented)

พรรษาสิริค้นพบว่าบทบาทของสื่อมวลชนไทยในการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นแนวทางการรายงานที่สร้างภาพตัวแทนซึ่งลดทอนเจตจำนงทางการเมืองและอำนาจต่อรองของผู้ชุมนุมในฐานะผู้แสดงทางการเมือง ผ่านการเลือกนำเสนอการปะทะคารมและตอบโต้กันด้วยกำลังซึ่งสะท้อนความวุ่นวายไร้ระเบียบของการชุมนุม การแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ จนถึงขั้นใช้ภาษาที่ตีตราและปรักปรำผู้ชุมนุม แต่หากเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมก็จะชี้ให้เห็นความโหดร้ายและไม่ชอบธรรมเมื่อเป็นการปราบปรามผู้ชุมนุมที่สื่อเห็นว่าไม่ได้ใช้ความรุนแรงอย่างชัดแจ้ง แต่เมื่อผู้ชุมนุมเปิดฉากปะทะตอบโต้ก็จะให้พื้นที่แก่เจ้าหน้าที่รัฐชี้แจงความจำเป็นในการปราบปราม

พรรษาสิริอธิบายต่อว่า แนวทางการรายงานเช่นนี้เป็นผลจากประสบการณ์และการรับรู้ส่วนบุคคล กระบวนการผลิตข่าวและกรอบการรายงานข่าวการชุมนุมที่กองบรรณาธิการใช้จนเป็นกิจวัตร เป็นการดึงดูดความสนใจเพื่อเพิ่มปริมาณการมองเห็นเนื้อหาที่จะสร้างรายได้จากระบบโฆษณาทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อออนไลน์ การนำเสนอเช่นนี้สอดคล้องกับกรอบการรายงานข่าวแบบการสู้รบ/ความรุนแรงมากกว่าช่วยให้ผู้รับสารทำความเข้าใจความขัดแย้งในมิติต่างๆ และสร้างบทสนทนาเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงตามแนวทางของกรอบการรายงานแบบสันติภาพ/ความขัดแย้ง

นอกจากนี้  สื่อยังมักให้ความสำคัญกับการชุมนุมเกี่ยวกับการเมืองระดับประเทศที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก แต่การชุมนุมขนาดย่อมซึ่งมีผู้เรียกร้องประเด็นที่เฉพาะเจาะจงกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทำให้ผู้ชุมนุมต้องทำกิจกรรมที่ท้าทายขนบของสังคมชนชั้นกลางเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้กำหนดนโยบายและสาธารณะ แต่ ‘กิจกรรมที่ท้าทายขนบของสังคมชนชั้นกลาง’ กลับส่งผลให้ผู้ชุมนุมถูกมองว่าเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานทางสังคมที่ชนชั้นกลางกำหนดและไม่ได้เพิ่มอำนาจต่อรองในฐานะผู้แสดงทางการเมือง ทั้งยังจำกัดการทำความเข้าใจของสาธารณะต่อการชุมนุมว่าเชื่อมโยงกับสิทธิทางการสื่อสารและการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไร

เหตุนี้ สื่อจึงจำเป็นต้องอธิบายที่มาที่ไปของความขัดแย้งจากหลากหลายมุมมองและต้องให้ผู้ชุมนุมได้สื่อสารประเด็นที่เรียกร้องไม่ว่าจะสนับสนุนหรือเป็นปฏิปักษ์กับหลักการประชาธิปไตย เพื่อให้สังคมทำความเข้าใจและอภิปรายถกเถียงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยพิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ เพื่อให้เห็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์และอัตลักษณ์ที่แตกต่างด้วย

เข้าใจสิทธิเสรีภาพ แสวงหาคำอธิบาย

พรรษาสิริเรียกร้องว่าสื่อต้องทำความเข้าใจสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เรียนรู้พลวัตของการชุมนุมเพื่อให้เห็นเหตุผล เงื่อนไข และข้อจำกัดของการเคลื่อนไหว จึงจะสามารถปรับแนวทางการรายงานให้สามารถอธิบายเชิงลึกได้มากขึ้น หากผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงไม่ว่ารูปแบบใดก็ควรหาคำตอบว่าทำไมผู้ชุมนุมจึงเลือกใช้ความรุนแรง และผลกระทบจากความรุนแรงทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นคืออะไร โดยใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมา ไม่ตีตรา ยกย่อง หรือตัดสิน และเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

แต่สื่อจะแสดงบทบาทเช่นนี้ได้จำต้องมีอิสระและเสรีภาพในการนำเสนอข้อเท็จจริงและมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับความขัดแย้งได้โดยไม่ถูกปิดกั้นและแทรกแซง ขณะที่สังคมก็ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในการอภิปรายถกเถียง โดยรัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่อ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้สื่อสารอย่างปลอดภัย ซึ่งจะหนุนให้การผลิตเนื้อหาเชิงคุณภาพมีความคุ้มค่า เกิดการแข่งขันผลิตเนื้อหาเชิงคุณภาพ และช่วยให้บรรยากาศการชุมนุมไม่ตึงเครียด

สถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีอำนาจตัวขัดขวางการใช้เสรีภาพ

ทว่า ในความเป็นจริงพื้นที่การสื่อสารในสังคมไทยถูกจำกัดอย่างเข้มงวดด้วยกฎหมายและคุณค่าหลัก กระทั่งทำให้การอธิบายความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์ในไทยไม่สามารถสื่อสารได้อย่างกระจ่างแจ้ง เนื่องจากมีความเสี่ยงจะถูกดำเนินคดีหรือถูกคุกคามในรูปแบบอื่นๆ ทั้งทางกายภาพและออนไลน์ ทั้งความจำเป็นที่ต้องอยู่รอดทางธุรกิจก็ทำให้องค์กรข่าวเลี่ยงการรายงานประเด็นที่กระทบต่อการสร้างรายได้หรือถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีอำนาจ เพราะอาจถูกแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อความมั่นคงขององค์กร

“ที่สำคัญคือการรายงานที่มุ่งเน้นสันติภาพและอธิบายความขัดแย้ง สื่อต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และคัดค้านแนวทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยหรือนำไปสู่ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงระดับต่างๆ เพื่อให้สามารถปกป้องคุ้มครองได้ทั้งเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ไม่เช่นนั้นสื่อมวลชนก็จะไม่ปลอดภัยและได้รับผลจากความรุนแรงเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังไม่สามารถทำให้สังคมตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานประชาธิปไตยได้”

มุ่งเสนอความจริง ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ

แนวทางที่ 2 คือแนวทางที่เรียกว่าการมุ่งเน้นนำเสนอความจริง (Truth-oriented) กับมุ่งเน้นนำเสนอโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda-oriented) แม้สื่อควรอธิบายความขัดแย้งและความรุนแรง แต่การรายงานการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมก็ยังมีความจำเป็น เพราะการมีสื่อในพื้นที่ชุมนุมช่วยลดโอกาสการใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหากผู้ใช้สื่อออนไลน์บันทึกภาพความรุนแรงในจุดที่สื่อไม่สามารถเข้าถึงและสื่อนำไปรายงานต่อก็จะทำให้เกิดการตรวจสอบหรือกดดันให้เจ้าหน้าที่ต้องแสดงความรับผิดรับชอบ และสามารถเป็นหลักฐานในการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือทบทวนว่าการดำเนินการของรัฐเป็นไปตามหลักการสากลหรือไม่

แต่การกระทำข้างต้นก็เปรียบได้กับดาบสองคม คมอีกด้านคือเจ้าหน้าที่รัฐเองก็สามารถใช้ภาพเหตุการณ์ที่สื่อบันทึกไว้ในการระบุตัวผู้ชุมนุมเพื่อสอดส่องติดตาม ดำเนินคดี หรือเมื่อเกิดการปะทะขึ้นระหว่างประชาชนด้วยกันเอง หรือเมื่อผู้ชุมนุมตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ก็สามารถนำภาพเหล่านี้ไปสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังหรือกฎหมายจัดการกับผู้ชุมนุมได้

อย่างไรก็ตาม หลักการพื้นฐานในการรายงานการชุมนุมที่สำคัญที่สุดคือการพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงที่สามารถเข้าถึงได้อย่างตรงไปตรงมา เปิดให้ทุกฝ่ายได้ชี้แจง และตรวจสอบข้อกล่าวอ้างก่อนการนำเสนอ รวมถึงไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึกส่วนบุคคลไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการรายงานที่มุ่งเน้นการนำเสนอความจริงอย่างรอบด้าน ไม่ใช่การนำเสนอโฆษณาชวนเชื่อที่จะให้น้ำหนักกับข้อมูลด้านเดียว ไม่ว่าจะเป็นการให้พื้นที่สื่อที่ไม่เท่าเทียม การเลือกแง่มุมหรือใช้ภาษาที่ตัดสินฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะลดความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจากสาธารณะ

ในมุมขององค์กรข่าว ผู้บริหารและบุคลากรระดับสูงของห้องข่าวถือว่ามีบทบาทอย่างสูงในการพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานตามหลักการข้างต้น เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบายและการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายองค์กร แต่นอกจากปัจจัยด้านความเข้าใจต่อความขัดแย้งทางการเมืองและการชุมนุมแล้ว ความจำเป็นที่ต้องแข่งขันด้วยปริมาณและความไวกลายเป็นว่าต้องให้ความสำคัญกับการเร่งนำเสนอข่าวโดยใช้กรอบการอ้างอิงที่เน้นความรุนแรงและความเร้าอารมณ์ ทำให้ขาดความรอบด้านและขาดการไหวรู้ต่อความรุนแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม

ความสัมพันธ์กับแหล่งข่าวภาครัฐกับการขาดการตรวจสอบและตั้งคำถาม

รายงานของพรรษาสิริยังมีข้อสังเกตว่า สาเหตุหนึ่งที่การรายงานการชุมนุมมักให้น้ำหนักกับข้อมูลและมุมมองจากรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า เป็นเพราะระบบการผลิตข่าวขององค์กรสื่อขนาดใหญ่แบบดั้งเดิมมักแบ่งการทำงานเป็นโต๊ะข่าวตามหัวข้อเนื้อหา ผู้สื่อข่าวจะได้รับมอบหมายให้ไปประจำหน่วยงานสำคัญต่างๆ ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและดำเนินงานเพื่อเข้าถึงข้อมูลและแหล่งข่าวเกี่ยวกับหัวข้อนั้นได้เร็ว ในกรณีการรายงานการชุมนุม เมื่อผู้สื่อข่าวที่ประจำอยู่ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวโดยตรงหรือจากการแถลงข่าวของรัฐบาล ตำรวจ หรือกองทัพ ก็จะส่งเข้าไปยังกองบรรณาธิการโดยมักไม่ได้หาแหล่งอื่นๆ มาตรวจสอบข้อมูลที่ได้ซึ่งเป็นไปตามสายงานที่ได้รับมอบหมาย

แต่อีกปัจจัยคือผู้สื่อข่าวที่ประจำตามหน่วยงานเหล่านี้จำเป็นต้องรักษาสายสัมพันธ์กับแหล่งข่าวเพื่อให้ได้ข้อมูลในอนาคตจึงเลี่ยงตั้งคำถามที่ท้าทาย และหากกองบรรณาธิการไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือนำเสนอข้อมูลหรือมุมมองที่โต้แย้ง เนื้อหาข่าวที่เผยแพร่ออกไปก็กลายเป็นการผลิตซ้ำข้อกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งลดความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานและองค์กรสื่อจากการถูกแทรกแซงและคุกคาม ซึ่งต้องแลกมาด้วยการรายงานที่ขาดการตรวจสอบและตั้งคำถามต่อปฏิบัติการของรัฐ ขาดเสียงสะท้อนจากผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่แกนนำ และผู้ชุมนุมรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ไว้วางใจสื่อมวลชน

เป็นความจริงว่าสื่อจำเป็นต้องสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับแหล่งข่าวเพื่อเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก ถึงกระนั้นก็ต้องอยู่บนสถานะที่เท่าเทียมและเคารพซึ่งกันและกัน การจะมีต้นทุนเช่นนี้ได้คนทำงานจำเป็นต้องมีความรู้ ประสบการณ์ ผลงาน และเวลาเพียงพอที่จะทำให้แหล่งข่าวไว้วางใจให้ข้อมูลเชิงลึก ขณะเดียวกันก็สามารถตรวจสอบและไม่ตกเป็นเครื่องมือของแหล่งข่าว พรรษาสิริตั้งข้อสังเกตในรายงานว่า

“วัฒนธรรมการทำงานข่าวของสื่อดั้งเดิม โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์และนิตยสารข่าวในยุคก่อนดิจิทัลที่ให้ความสำคัญต่อการรายงานเชิงลึกและบทวิเคราะห์มากกว่าการรายงานขนาดสั้นด้วยความรวดเร็ว เอื้อให้คนทำงานได้สั่งสมต้นทุนด้านนี้ แต่กระบวนการผลิตข่าวในปัจจุบันที่เร่งรัดให้ผลิตงานขนาดสั้นในปริมาณมากและนำเสนออย่างรวดเร็วทางออนไลน์ไม่เปิดโอกาสให้คนทำงานได้ศึกษาหาข้อมูลหรือมีเวลาสนทนากับแหล่งข่าวเพื่อเก็บข้อมูลและสร้างความไว้วางใจมากนัก ซ้ำไม่ช่วยสร้างอำนาจต่อรองกับแหล่งข่าวระดับสูงได้”

ต้องประกันเสรีภาพและสวัสดิการสื่อ

การจะแก้ไขข้อจำกัดในระบบและวัฒนธรรมการทำงานข่าวดังที่กล่าวมา ในด้านหนึ่ง สื่อต้องได้รับประกันเสรีภาพและสวัสดิภาพในการทำงาน กองบรรณาธิการ ผู้บริหาร เจ้าขององค์กรสื่อ และองค์กรวิชาชีพต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องเสรีภาพสื่อควบคู่กับความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม โดยเฉพาะเมื่อเกิดการคุกคามในลักษณะต่างๆ จัดหาอุปกรณ์ป้องกันที่มีประสิทธิภาพและเหมาะกับสถานการณ์แล้ว รวมถึงสร้างระบบรักษาความปลอดภัยในการรายงานและการดูแลรักษาและเยียวยาจิตใจในระยะยาว ซึ่งในส่วนหลังนี้ยังไม่ค่อยมีองค์กรสื่อไทยดำเนินการอย่างอย่างชัดเจน เพราะหากสื่อมีความปลอดภัยและได้ทำความเข้าใจเรื่องความรุนแรงระดับต่างๆ ก็จะลดโอกาสในการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงทั้งเชิงกายภาพ เชิงโครงสร้าง และเชิงวัฒนธรรมได้

นอกจากนี้ การสร้างมาตรฐานวิชาชีพ การกำกับดูแลตนเอง หรือการกำกับดูแลกันเองที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมสื่อดำเนินงานตามหลักการวารสารศาสตร์ที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและลดโอกาสในการสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง โดยผู้รับสารจะเป็นคนคัดกรองสื่อที่ไม่มีคุณภาพออกไป จึงควรส่งเสริมให้นิเวศสื่อมีความหลากหลายเพื่อลดการครอบงำโดยชุดความคิดแบบใดแบบหนึ่ง

มุ่งนำเสนอประชาชนหรือมุ่งนำเสนอชนชั้นนำ?

แนวทางการนำเสนอข่าวลักษณะต่อมาคือการมุ่งเน้นนำเสนอเกี่ยวกับประชาชน (People-oriented) กับมุ่งเน้นนำเสนอเกี่ยวกับชนชั้นนำ (Elite-oriented) สำหรับประเด็นนี้ผู้ให้ข้อมูลบางส่วนย้ำว่าสื่อจำเป็นต้องเป็นปากเสียงให้กับผู้ด้อยอำนาจในสังคม ถ่ายทอดปัญหาและข้อเรียกร้องของคนกลุ่มนี้เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายและคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมได้รับรู้และผลักดันให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางนี้สอดคล้องกับข้อเสนอในกรอบการรายงานข่าวแบบสันติภาพ/ความขัดแย้งว่าด้วยการให้พื้นที่สื่อแก่ประชาชนทั่วไปมากกว่าชนชั้นนำ เพื่อให้เห็นบทบาทและอำนาจต่อรองของประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้ง

พรรษาสิริอ้างอิงข้อมูลจากวินัย ดิษฐจร ช่างภาพข่าวอิสระที่ถ่ายภาพข่าวการชุมนุมที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรฯ นปช. กปปส. และการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 2563-2564 รวมถึงภาพถ่ายสารคดีเกี่ยวกับความขัดแย้งและประเด็นทางสังคมอื่นๆ ว่า นอกจากจะถ่ายภาพเหตุการณ์ประจำวันเพื่อส่งให้เอเจนซี่ภาพข่าวแล้ว เขายังให้ความสำคัญกับการบันทึกอารมณ์ ความรู้สึกของประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสนใจส่วนตัวและอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากการศึกษาภาพข่าวของช่างภาพต่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบศิลป์ของภาพและการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์เพื่อเล่าเหตุการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งช่วยทำให้ภาพน่าสนใจและเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุม

เมื่อย้อนกลับไปดูการรายงานการชุมนุมของ นปช.ช่วงปี 2552-2553 พบว่าสื่อมวลชนกระแสหลักให้น้ำหนักกับแกนนำและเหตุความรุนแรง แต่ขาดการอธิบายเกี่ยวกับผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางส่วนเป็นผู้ใช้แรงงานในกรุงเทพฯ ซึ่งมักถูกวิจารณ์ว่าไม่มีความคิดหรือความเข้าใจทางการเมือง สื่ออนไลน์อย่างประชาไทจึงให้ความสำคัญกับการพูดคุยกับผู้ชุมนุมเพื่อถ่ายทอดความคับข้องใจและความต้องการของคนเหล่านี้ที่ถูกเพิกเฉยจากองค์กรสื่อขนาดใหญ่

การชุมนุมปี 2563 พัฒนาการของสื่อที่น่าจับตา

แต่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนช่วงปี 2563-2564 กลับพบว่าแนวทางการรายงานเริ่มให้พื้นที่กับผู้ชุมนุมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการประท้วงครั้งนี้ประกอบด้วยกลุ่มคนและลักษณะกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายจากการชุมนุมที่ผ่านมา สื่อจึงให้ความสนใจ ผู้จัดการชุมนุมส่วนหนึ่งที่เป็นนักกิจกรรมก็ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้างพอที่บรรณาธิการและผู้สื่อข่าวสายการเมืองจะคุ้นเคย

นอกจากนี้ คนทำงานสื่อรุ่นใหม่บางส่วนก็มีมุมมองและความเข้าใจทางการเมืองและสังคมที่ต่างไปจากเดิม ประกอบกับกระแสสังคมหลังการเลือกตั้งที่มีการถกเถียงในหัวข้อที่ผู้ชุมนุมพูดถึงมากขึ้น ส่งผลให้สื่อจำเป็นต้องรายงานข่าวและเชิญนักกิจกรรมเหล่านี้มาร่วมอภิปรายถกเถียงในช่วงที่การชุมนุมเริ่มมีความเข้มข้น ถือเป็นการเปิดพื้นที่สื่อให้กับผู้แสดงทางการเมืองกลุ่มใหม่ๆ และข้อเรียกร้องที่แตกต่างจากการชุมนุมที่ผ่านมา

แนวทางข้างต้นจึงช่วยอธิบายที่มาที่ไปและเงื่อนไขการแสดงออกหรือการใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุม ช่วยให้สังคมรับรู้และทำความเข้าใจความขัดแย้งและความรุนแรงได้มากขึ้น ยกตัวอย่างการสัมภาษณ์เยาวชนที่มาชุมนุมในนามกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ซ’ ของสื่อจำนวนหนึ่งช่วยทำให้เห็นว่าเยาวชนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบและมีความคับข้องใจอย่างไร และเพราะอะไรจึงเลือกใช้ความรุนแรงตอบโต้เจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ สิ่งที่นับเป็นพัฒนาการของการทำงานข่าวคือการคำนึงถึงการปกป้องสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเยาวชนทั้งที่เป็นนักกิจกรรมและผู้เข้าร่วมการชุมนุมทั่วไป ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่เคยได้รับการพูดถึงมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อมีเยาวชนได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมการชุมนุมจากครอบครัวและโรงเรียน สื่อเริ่มปรับแนวทางการรายงานโดยเลี่ยงการถ่ายภาพหรือใส่ข้อมูลที่จะระบุอัตลักษณ์บุคคลของเยาวชนในที่ชุมนุม ยกเว้นกรณีนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่กระแสสังคมให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเด็กและเยาวชนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในสื่อสังคมออนไลน์ก็ยังพบการนำข้อมูลส่วนบุคคลของนักกิจกรรมเยาวชนมาเปิดเผยและมีการสื่อสารที่คุกคามหรือสร้างความเกลียดชังอยู่

ภาพการทำงานของสื่อมวลชนใน #ม็อบ13กันยา วันที่ 13 ก.ย.2564 ที่แยกดินแดง ซึ่งขณะนั้นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ทางศูนย์ฯได้รับรายงานว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวไปสน.พหลโยธิน 10 ราย แบ่งเป็นเยาวชน 5 ราย และผู้ใหญ่ 5 ราย ซึ่งในจำนวนนี้รวม 2 รายที่เป็นสื่อมวลชนด้วย สำหรับการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สที่จัดอย่างต่อเนื่องช่วงนั้นที่แยกดินแดง เริ่มต้นหลังจากช่วงต้นเดือน ส.ค. 64 ที่กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลต้องการไปยังบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ซึ่งอยู่ในค่ายทหาร กรมทหารราบที่ 1 หรือ ร.1รอ. ไม่ไกลจากจุดปะทะนี้ (ภาพโดย แมวส้ม) 

มุ่งแก้ปัญหาหรือมุ่งชัยชนะ?

ในส่วนของแนวทางสุดท้าย เรียกว่าแนวทางที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา (Solution-oriented) กับมุ่งเน้นชัยชนะ (Victory-oriented) เป็นแนวทางการรายงานที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาตามกรอบการรายงานข่าวแบบสันติภาพ/ความขัดแย้ง คือชี้ให้เห็นผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงที่ยังคงมีอยู่แม้เหตุการณ์จะจบลงแล้ว ถึงทำความเข้าใจว่าความรุนแรงมีรูปแบบและระดับใดบ้าง การนำเสนอแง่มุมเหล่านี้จะช่วยให้สังคมได้เรียนรู้และเลี่ยงการใช้ความรุนแรงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงและการสูญเสียอีกในอนาคต มากกว่าการนำเสนอว่าใครเป็นฝ่ายชนะหรือพ่ายแพ้

เพราะแม้ว่าข้อเรียกร้องในการชุมนุมจะไม่บรรลุผล แต่สื่อจะพิจารณาว่าประเด็นที่ผู้ชุมนุมสื่อสารมีผลสะเทือนในพื้นที่สาธารณะอย่างไร ทำให้ข้อเรียกร้องหรือสารจากผู้ชุมนุมเกิดการอภิปรายถกเถียงต่อในสังคมหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเล็กบ้างหรือไม่ ในทางกลับกันถ้าสื่อให้ความสำคัญกับเหตุความรุนแรงหรือความวุ่นวายในการชุมนุม แต่ไม่ให้น้ำหนักกับข้อเรียกร้องก็อาจทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางส่วนเห็นว่าแนวทางสันติวิธีไม่ช่วยให้บรรลุผล จึงหันไปใช้รูปแบบอื่น รวมถึงแนวทางที่รุนแรงเพื่อให้ได้พื้นที่สื่อ

แล้วทำไมสื่อเน้นนำเสนอหนทางสู่ความรุนแรง?

จากที่กล่าวมาข้างต้นคำถามมีอยู่ว่า แล้วจะทำอย่างไรให้สื่อนำเสนอข่าวการชุมนุมในกรอบการรายงานข่าวแบบสันติภาพ/ความขัดแย้งแทนกรอบการรายงานข่าวแบบการสู้รบ/ความรุนแรง พรรษาสิริเห็นว่ามี 3 ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง

ประการแรกคือตัวองค์กรสื่อเอง หากองค์กรสื่อมีนโยบายและการบริหารจัดการที่รับประกันมาตรฐานของการทำงานควบคู่กับความเป็นอิสระและเสรีภาพของคนทำงานสื่อ เพื่อให้สามารถรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไปได้ แม้บุคคลการในองค์กรจะมีประสบการณ์ ความคิด ความเชื่อแตกต่างกัน ก็ยังสามารถทำงานอยู่บนมาตรฐานงานวารสารศาสตร์ได้

ประเด็นนี้ สื่อขนาดใหญ่กับสื่อขนาดกลางและเล็กต่างมีจุดแข็ง-จุดอ่อนต่างกัน สำหรับสื่อขนาดใหญ่ย่อมมีทรัพยากรเพียงพอที่เกาะติดสถานการณ์รายวัน รายงานเชิงลึกเพื่อทำความเข้าใจข้อเรียกร้อง ความขัดแย้ง และความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งยังสามารถเฝ้าระวังสถานการณ์เพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงหรือเป็นพยานบันทึกหลักฐานเกี่ยวกับความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม สภาพตลาดสื่อปัจจุบันได้สร้างข้อจำกัดให้กองบรรณาธิการไม่สามารถวางแผนงานข่าวได้เต็มที่เพราะองค์กรสื่อขนาดใหญ่ที่มีช่องทางสื่อดั้งเดิมไม่สามารถสร้างรายได้ได้มากเท่าเดิมจนต้องลดจำนวนพนักงาน และเน้นการแข่งขันด้วยปริมาณและความเร็วที่สร้างรายได้จากโฆษณามาหล่อเลี้ยงองค์กรได้แน่นอน การลงทุนกับรายงานเชิงลึกเกี่ยวกับความขัดแย้งที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากจึงเป็นความเสี่ยงที่ไม่คุ้มค่า ไม่รับประกันว่าจะสร้างรายได้ ซ้ำยังเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีหรือถูกคุกคาม

ขณะที่สื่อขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งส่วนใหญ่นำเสนอเนื้อหาทางออนไลน์ (digital native media) ที่มีสมาชิกกองบรรณาธิการไม่มากนักมักประกอบด้วยหัวหน้ากองฯ และคนทำงานที่มีช่วงวัยและโลกทัศน์ใกล้เคียงหรือไม่ต่างกันจนสุดขั้ว ผลการวิจัยพบว่าแม้จะมีข้อจำกัดด้านกำลังคนที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนต้องรับภาระหน้าหนัก โดยเฉพาะคนทำงานภาคสนาม แต่กองบรรณาธิการขนาดเล็กเอื้อต่อการสร้างการมีส่วนร่วมในการวางแผนงานข่าว ทำให้การทำงานมีความยืดหยุ่น และรับมือกับพลวัตของการชุมนุมได้ทันท่วงที

ที่สำคัญคือสามารถกำหนดประเด็นการรายงานเชิงลึกที่เป็นจุดแข็งและที่จดจำขององค์กรได้ การเป็นองค์กรตขนาดเล็กและไม่แสวงกำไรทำให้สื่อกลุ่มนี้มีต้นทุนการดำเนินงานไม่สูงเท่ากับสื่อขนาดใหญ่ แต่มีผู้รับสารเป้าหมายชัดเจนจึงทำให้องค์กรเหล่านี้สามารถลดความจำเป็นเรื่องการหารายได้ ไม่ต้องแข่งขันเชิงปริมาณ แต่ให้ความสำคัญกับการตอบสนองความสนใจและความจำเป็นด้านข่าวสารของกลุ่มผู้รับสารเป้าหมาย รวมถึงการสร้างคุณค่าขององค์กรผ่านความน่าเชื่อถือของผลผลิตได้ องค์กรสื่อกลุ่มนี้จึงสามารถดำเนินงานตามแนวคิดวารสารศาสตร์สันติภาพได้มากกว่าองค์กรสื่อเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่

“ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับกองบรรณาธิการขององค์กรขนาดเล็ก” พรรษาสิริกล่าว “รวมถึงผู้ปฏิบัติงานอิสระบางส่วน คือความสนใจส่วนบุคคลเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง สังคม สิทธิมนุษยชน และประสบการณ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองทำให้มีมุมมองที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังให้เวลากับการศึกษาหาความรู้เชิงวิชาการและประวัติศาสตร์เพิ่มเติม ทำให้การรับรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการชุมนุมของคนทำงานกลุ่มนี้แตกต่างจากผู้ปฏิบัติงานสื่อที่มีประสบการณ์ทำงานข่าวมายาวนาน ซึ่งมักมองว่าสื่อมวลชนเป็นพยานที่เฝ้ามองและบันทึกการช่วงชิงอำนาจของกลุ่มต่างๆ ผ่านการชุมนุม”

อุตสาหกรรมสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อต้องเปลี่ยน เพิ่มการกำกับตรวจสอบจากสาธารณะ

ปัจจัยประที่ 2 คืออุตสาหกรรมสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ ดังที่พูดมาตลอดว่าสภาพตลาดที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้นในการนำเสนอเนื้อหาทางออนไลน์ด้วยความรวดเร็วและปริมาณ ทำให้สื่อลดบทบาทในการรายงานข้อมูลเชิงลึกและสร้างพื้นที่อภิปรายถกเถียงตามหลักการในสังคมประชาธิปไตยเพื่อทำความเข้าใจความขัดแย้ง และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงจัดการกับการชุมนุมและความขัดแย้ง โดยเฉพาะความรุนแรงโดยรัฐ พร้อมกับเอื้อต่อการธำรงอยู่ของวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลเพราะผู้กระทำไม่ได้ถูกติดตามตรวจสอบ

พรรษาสิริเสนอว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อควรพัฒนาการดำเนินงานตามมาตรฐานวิชาชีพที่รับประกันสิทธิทางการสื่อสารของประชาชน สร้างแนวทางที่มีประสิทธิภาพให้สังคมได้ร่วมกำกับดูแลเนื้อหาสื่อเป็นเครื่องคัดกรองการรายงานและองค์กรสื่อที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย โดยที่ตลาดสื่อยังมีความหลากหลายและไม่ถูกแทรกแซง

นอกจากองค์กรวิชาชีพต้องยึดมั่นในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว ยังต้องสนับสนุนคนทำงานสื่อระดับต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างเป็นอิสระและปลอดภัย ร่วมกันสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ผลิตสื่อกลุ่มต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสานงานเพื่อสร้างอำนาจต่อรองด้านสิทธิเสรีภาพต่อไปได้ในอนาคต

ในส่วนของสื่อพลเมืองที่มีจำนวนและบทบาทเพิ่มขึ้นในการชุมนุม การดำเนินงานผ่านสื่อออนไลน์ทำให้รัฐปิดกั้นช่องทางการนำเสนอได้ยากขึ้น ถึงกระนั้น การสร้างมาตรฐานการทำงานหรือ ‘ความเป็นมืออาชีพ’ ตามหลักการวารสารศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อเท็จจริงที่รอบด้านและตรงไปตรงมา ปราศจากอคติ รวมถึงคำนึงถึงการลดความรุนแรงในการชุมนุม จะช่วยให้สื่อพลเมืองมีได้รับความเชื่อถือจากสาธารณะและเป็นเกราะป้องกันการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐได้

อีกข้อเสนอหนึ่งจากรายงานของพรรษาสิริคือ การกระจายของผู้ผลิตสื่อไม่ให้กระจุกอยู่ในศูนย์กลางการบริหารราชการอย่างในกรุงเทพฯ แต่ต้องให้ความสำคัญกับการชุมนุมในระดับภูมิภาคด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกจัดการด้วยความรุนแรงและถูกละเมิดสิทธิของทั้งผู้ชุมนุม นักกิจกรรม และสื่อมวลชนในต่างจังหวัด หากสื่อมวลชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งหรือมีการสานต่อประเด็นระหว่างการเคลื่อนไหวในระดับภูมิภาคกับในกรุงเทพฯ ก็จะทำให้ผู้ชุมนุมใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ข้อเรียกร้องต่างๆ ก็จะถูกสื่อสารในวงกว้างและเห็นความเชื่อมโยงกับการเมืองระดับประเทศชัดเจนขึ้น

รัฐบาลต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชนมากกว่าสถาบันที่มีอำนาจ

ปัจจัยที่มีผลต่อการรายงานการชุมนุมประการสุดท้ายคือภาครัฐ เพราะต่อให้สื่อมีบทบาทในการสร้างความชอบธรรมหรือลดเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงในการชุมนุม แต่ถึงที่สุดแล้วฐานคิดของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งครอบคลุมถึงการเคารพเสรีภาพของสื่อมวลชน

“หากภาครัฐตั้งอยู่บนฐานการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพก็จะเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการจัดการการชุมนุม และใช้วิธีอื่นๆ ในการสื่อสารและทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพจึงต้องครอบคลุมไปถึงสื่อพลเมืองด้วย โดยต้องไม่ถูกจำกัดการทำงานและเป็นเป้าในการจับกุมดำเนินคดีด้วยเหตุที่ไม่ได้สังกัดองค์กรสื่อ

“ภาครัฐต้องยึดมั่นในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและจัดการกับความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพราะมองว่าปัจจัยที่ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมไม่ใช่เป็นเพราะขาดความรู้และทักษะ แต่เป็นเพราะข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมสั่นคลอนความมั่นคงของสถาบันที่มีอำนาจ ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าต้องปกป้องมากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

นอกจากนี่ การหาข้อเท็จจริงและตรวจสอบการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนและสื่อมวลชนในการชุมนุมต้องเป็นกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นธรรมเพื่อไม่ให้เกิดการพ้นผิดลอยนวล ซึ่งจะช่วยให้สังคมเรียนรู้เกี่ยวกับการสูญเสียและลดความชอบธรรมต่อการกระทำความรุนแรงซ้ำในอนาคต แต่กระบวนการนี้ต้องไม่เพิ่มภาระหรือสร้างความเสี่ยงให้กับผู้ได้รับผลกระทบ

พรรษาสิริย้ำว่าหากพื้นที่การสื่อสารไม่ถูกปิดกั้น สื่อได้รับการคุ้มครองเสรีภาพ ไม่ถูกแทรกแซง และสามารถดำเนินงานตามหลักการวารสารศาสตร์ที่ควรจะเป็นย่อมทำให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่ในการสื่อสารปัญหา ความคับข้องใจ และความต้องการอย่างเปิดเผย เมื่อความขัดแย้งถูกนำมาอภิปรายถกเถียงได้อย่างอิสระและปลอดภัย ประชาชนก็จะเลือกใช้แนวทางสันติวิธีในการแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยไม่จำเป็นต้องชุมนุมหรือเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ดังนั้น...

“การปกป้องเสรีภาพสื่อจึงไม่ได้หมายถึงการเพิ่มอำนาจและอิสระกับสื่อมวลชนเท่านั้น แต่เป็นการกำกับให้สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่เพิ่มอำนาจและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงด้วย”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net