Skip to main content
sharethis

ศาลอาญา พิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ‘ใจ’ นศ.วัย 23 ปี คดี ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ กรณีทวีตรูป-พระราชดำรัส ร.9 ศาลระบุแม้ว่า ม.112 ไม่ได้คุ้มครองกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น ถือว่าจำเลยยังผิด ม.112 เหตุกระทบชื่อเสียง ร.10 ก่อนได้รับการประกันตัวชั้นอุทธรณ์ วางเงินสด 1 แสนบาท ไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม

 

14 มี.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่านแพลตฟอร์ม 'ทวิตเตอร์' วันนี้ (14 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.23 น. ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา "ใจ" (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ วัย 23 ปี ในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอม กรณีเขียนข้อความ พร้อมติดแฮชแท็กเกี่ยวกับกษัตริย์ ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของ ร.9 ซึ่งมีข้อความประกอบภาพว่า "ไม่ต้องจำว่าฉันคือใคร แต่จำว่าฉันทำอะไรก็พอ" ซึ่งเป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ผู้พิพากษาอุไรวรรณ ประชุมจิตร ไชยพรรค เจ้าของสำนวนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า พิเคราะห์แล้ว ตามที่พยานโจทก์นำสืบว่า บัญชีทวิตเตอร์ของจำเลยมีความเชื่อมโยงกับบัญชีโซเชียลมีเดียอื่น และมีโปรไฟล์ใบหน้าเดียวกันทั้ง 3 บัญชี พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ และเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ที่มีการโพสต์รูปและข้อความตามฟ้อง ที่จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ในชั้นสอบสวนว่า ไม่ใช่ผู้นำเข้าข้อมูล จึงรับฟังไม่ได้

ทั้งพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งในฐานะประมุขของประเทศ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ และเมื่อการนำเข้าข้อมูลดังกล่าว มีพยานโจทก์ประชาชนเข้าเบิกความสอดคล้องกันว่า ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจข้อความได้ว่า รัชกาลที่ 9 เป็นฆาตกร อันเป็นการละเมิดต่อรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน

ที่พยานจำเลยนำสืบว่า มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองอดีตกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว

เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้ว่า คุ้มครองกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น และแม้รัชกาลที่ 9 จะสวรรคตไปแล้ว การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการกระทำที่กระทบต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระราชโอรส และทรงครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

พิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามฟ้องมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) แต่ขณะจำเลยกระทำผิดมีอายุเพียง 19 ปีเศษ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

ภายหลังศาลมีคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นประกันตัวใจระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เพิ่มจากที่เดิมวางไว้ในชั้นพิจารณาอีก 10,000 บาท 

ต่อมา เวลา 16.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตามที่ยื่นคำร้อง โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ 

ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลอาญาไม่ได้ระบุอัตราโทษจำคุกที่ลงก่อนลดมาตราส่วนโทษลง 1 ใน 3 แต่เมื่อพิจารณาจากโทษจำคุกที่ลดโทษให้แล้ว จึงทราบได้ว่าศาลลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลด 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี

นับเป็นอีกคดีที่ศาลตีความมาตรา 112 ครอบคลุมไปถึงอดีตกษัตริย์ โดยวินิจฉัยว่า การกระทำส่งผลกระทบต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่า จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ต่อไปในประเด็นนี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 11 ก.พ. 2564  ‘ใจ’ เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกที่กองบังคับการปราบรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยมี อารีย์ จิวรรักษ์ เป็นผู้รับมอบอำนาจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา จากกรณีทวีตข้อความในทวิตเตอร์ พร้อมติดแฮชแท็กเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และข้อความพระราชดำรัสของพระองค์ 

ต่อมา เมื่อ 25 พ.ย. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 สั่งฟ้องคดี โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อ 14 ตุลาคม 2563 จําเลยใช้บัญชีทวิตเตอร์ซึ่งตั้งค่าการมองเห็นเป็นสาธารณะเขียนข้อความ พร้อมติดแฮชแท็กเกี่ยวกับกษัตริย์ ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีข้อความประกอบภาพว่า “ไม่ต้องจำว่าฉันคือใคร แต่จำว่าฉันทำอะไรก็พอ” พระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9  

อัยการระบุในคำฟ้องว่า ข้อความข้างต้นเป็นการล่วงละเมิดหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 9 ซึ่งประชาชนทั่วไปที่พบเห็นข้อความประกอบพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวเข้าใจความหมายได้ว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 เป็นฆาตกร และกษัตริย์เป็นสิ่งที่เหลือทิ้ง เสื่อมสภาพจนใช้การไม่ได้ หรือไม่ต้องการใช้ ไม่ควรคู่อยู่ในสังคมไทย อันเป็นการกล่าวหา ใส่ความ หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 9 และส่งผลกระทบโดยตรงต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระราชโอรส และเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน โดยประการที่น่าจะทําให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ และประชาชนเสื่อมความเคารพศรัทธาในพระมหากษัตริย์ 

ในคดีนี้ ศาลได้นับสืบพยานรวมทั้งหมด 3 นัด โดยเป็นการสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 2 ก.พ. 2566 ทั้งนี้ อัยการได้นำพยานโจทก์ 8 ปาก และส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 1 ปาก รวม 9 ปาก จนเสร็จสิ้น ก่อนมีการนัดฟังคำพิพากษาเมื่อ 14 มี.ค. 2566 ตามที่รายงานข้างต้น 

ทั้งนี้ ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าในคดีนี้จำเลยไม่ได้มีการโพสต์ภาพหรือข้อความที่สื่อถึง ร.10 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน และไม่มีข้อความใดที่สามารถเชื่อมโยงถึง ร.10 ได้ ทั้งในคดีนี้จำเลยไม่ได้ทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 เนื่องจากการกระทำของจำเลยไม่ได้เข้าองค์ประกอบตามที่โจทก์ฟ้อง

ความเห็นนักวิชาการด้านกฎหมาย ชี้ ม.112 ไม่ครอบคลุมอดีตกษัตริย์

ในส่วนความเห็นจากภาควิชาการ ก่อนหน้านี้ในช่วงการสืบพยานจำเลย เมื่อ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการเบิกตัว สาวตรี สุขศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้การในคดี โดยทางผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า มาตรา 112 ที่นำมากล่าวหาทางจำเลยไม่ครอบคลุมถึงกษัตริย์ในอดีต ด้วยเหตุผลตามหลักวิชาการ 3 ประการ ประกอบด้วย 

มาตรา 112 การตีความต้องตีตามเจตนารมณ์และถ้อยคำของกฎหมาย เพื่อพิจารณาสิ่งที่กฎหมายต้องการคุ้มครอง เนื่องจากตำแหน่งกษัตริย์เป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น กฎหมายจึงคุ้มครองแต่เฉพาะกษัตริย์ที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ไม่รวมกษัตริย์ในอดีต 

หากพิจารณาลักษณะการบัญญัติไว้ มี 3 ลักษณะคือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้าย ซึ่งคำว่า “อาฆาตมาดร้าย” เป็นการขู่เข็ญว่าจะเกิดอันตรายต่อผู้ถูกข่มขู่ในอนาคต ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการคุ้มครองเฉพาะบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น และเป็นไปไม่ได้ ที่จะอาฆาตมาดร้ายผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว 

หากอ้างอิงตามหลักวิชาการของผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ อาทิ หยุด แสงอุทัย, จิตติ ติงศภัทิย์ และทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ โดยในหนังสืออธิบายกฎหมายอาญาของทั้ง 3 คน ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่ามาตรา 112 ไม่ได้ครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์

นอกจากนี้ ตามการกล่าวหาว่า การกล่าวถึง รัชกาลที่ 9 จะกระทบต่อรัชกาลที่ 10 นั้น สาวตรี เห็นว่า ในมาตรา 327 การกล่าวถึงผู้ตาย ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่เสื่อมเสียชื่อเสียงได้ 

สาวตรี เบิกความยกตัวอย่างว่า กรณีที่ นาย ก. กล่าวหา บิดาของนาย บี ต้องมีการพิสูจน์ว่าคำพูดดังกล่าวทำให้บิดาของนาย บี เสื่อมเสียชื่อเสียงจริงหรือไม่ หรือในมาตรา 327 การกล่าวหาก็ต้องเป็นการกล่าวหาที่ทำให้บิดาของนาย บี เสียชื่อเสียงจริง

อ่านการสืบพยานฉบับเต็มได้ที่นี่

กฎหมายอาญา มาตรา 327 ระบุว่า ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรสหรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูเหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น

มาตรา 326 ระบุโทษหมิ่นประมาทบุคคลที่สาม ให้ได้รับการดูหมิ่น หรือเกลียดชัง จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net