Skip to main content
sharethis

นักวิชาการประวัติศาสตร์ตั้งวงคุยแล้วพาล่องเรือตามรอย 'พระเจ้าตาก' วิเคราะห์ชัยชนะผ่านทีมงานและปัจจัยเทคโนโลยี-เศรษฐกิจ ขยับโฟกัสออกจากตัวกษัตริย์ แจกแจงตัวปัจจัยที่นำไปสู่ชัยชนะของพระเจ้าตากตั้งแต่ทหารลูกหม้อ เจ้าเขมร พ่อค้าวานิช ชาวบ้าน ดาบซามูไร ปืนไฟและเครือข่ายพ่อค้าแร่-ของป่า

ซ้ายไปขวา: กำพล จำปาพันธ์ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

3 พ.ค. 2562 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 เม.ย.) ที่ อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ 28 เม.ย. มีการจัดเสวนาและกิจกรรมลงพื้นที่ “พระเจ้าตากและทีมฝ่าวงล้อม” จัดโดยชมรมกรุงธนบุรีศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หลักสูตรไทยศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์ตายูอีบุ๊คส์

กิจกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในซีรีส์กิจกรรม “ตามรอยพระเจ้าตาก” ที่จัดมาแล้วรวมครั้งนี้เป็นครั้งที่เจ็ด ครั้งนี้มีการพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมล่องเรือในแม่น้ำป่าสักจากบริเวณโตโยต้าเมืองสีเขียวไปยังหมู่บ้านญี่ปุ่น และก่อนล่องเรือก็มีการเสวนาให้ความรู้โดยธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานชมรมกรุงธนบุรีศึกษา รัฐศาสตร์ ม.รังสิต ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระ และกำพล จำปาพันธ์ นักวิชาการอิสระ

มองชัยชนะพระเจ้าตากจาก ‘ทีมงาน’ 

ธำรงศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาชัยชนะของพระเจ้าตากถูกอธิบายผ่านตัวพระเจ้าตากแค่คนเดียวทำให้คนที่อยู่รายรอบหายไป การอธิบายพระเจ้าตากผ่านทฤษฎีภาวะผู้นำจะทำให้เห็นเครือข่ายของพระเจ้าตากมากขึ้น เพราะไม่มีใครขึ้นไปเป็นผู้นำทางการเมืองได้ด้วยตัวคนเดียว

ประธานกลุ่มศึกษาเจ้าตากยังกล่าวถึงประเด็นอื่นที่ยังไม่มีการประมาณในการศึกษาเรื่องพระเจ้าตากว่า ช่วงนี้ในอดีตเป็นเดือนที่กรุงแตก ซึ่งเป็นฤดูที่ร้อนจัดมากๆ เราเคยถูกสอนให้ท่องมาว่าแม่น้ำดังกล่าวทำหน้าที่เหมือนป้อมปราการที่ล้อมรอบเกาะอยุธยา แต่ไม่เคยคิดว่าถ้าน้ำแล้งแล้วจะเป็นอย่างไร และน้ำเดียวกันนั้นก็เป็นน้ำที่ใช้ดื่มกินของคนหลักแสน ประเด็นอาหารการกินของคนที่หลบหนีกองทหารพม่าเข้าอยุธยาก็ยังไม่เคยมีการประมาณ ทั้งนี้ ฝ่ายพม่าเองอยากได้กำลังคน การดูหนังสงครามที่ฆ่ากันนั้นไม่ถูกต้อง จริงๆ ในโลกโบราณนั้นแค่ทำให้บาดเจ็บเล็กน้อยหรือทำให้กลัวตายก็ถือว่าแพ้แล้ว เพราะอีกฝ่ายต้องการได้คนเป็นๆ ไปมากกว่า และยังมีหลักฐานว่าคนอยุธยาไม่ได้หนีเข้าอยุธยาเท่านั้น แต่ก็มีที่หนีออกไปอยู่กับพม่า

กำพลกล่าวว่า ไม่รู้จะเรียกทีมพระเจ้าตากภายใต้ความหมายเดียวกันกับ “ทีม” ในปัจจุบันได้หรือไม่ เพราะคนในสมัยอยุธยายังอยู่ใต้ลำดับขั้นบางอย่าง มีลักษณะที่เป็นสังกัดสูงมาก แต่ก็สามารถแบ่งประเภททีมของพระเจ้าตากได้เป็นห้ากลุ่มใหญ่ ดังนี้

หนึ่ง พวกที่ตามมาจากเมืองตาก อยู่กับพระเจ้าตากก่อนจะมีการเสียกรุง เช่นหลวงพิชัยอาสา หรือพระยาพิชัยดาบหัก (ทองดี ฟันขาว) ที่อยู่กับพระเจ้าตากมาตั้งแต่สมัยอยู่ที่เมืองตาก คอยรับคำสั่งจากพระเจ้าตากให้คุมกำลังคนอีกต่อหนึ่ง หรือพระยาเชียงเงิน เจ้าเมืองที่อยู่วังเจ้าที่ติดตามมาตั้งแต่เมืองตาก ต่อมาได้เป็นพระยาสุโขทัยและเจ้าเมืองสุโขทัยหลังปราบก๊กพระเจ้าฝางสำเร็จ  และหลวงพรหมเสนาที่ต่อมาเป็นเจ้าเมืองนครสวรรค์ในสมัยธนบุรี

สอง พวกที่เพิ่งตามกันตอนที่มีเหตุการณ์เสียกรุง กลุ่มสำคัญในราชสำนักของพระเจ้าเอกทัศอย่างนักองค์รามหรืออีกชื่อคือนักองค์โนน รัชทายาทของกัมพูชาที่ลี้ภัยมาอยู่กับพระเจ้าเอกทัศแล้วติดตามออกมาอยู่จันทบุรีกับพระเจ้าตาก นักองค์รามมีความกว้างขวางในหัวเมืองฝั่งตะวันออกหรือฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกงที่สมัยนั้นยังเป็นชุมชนเขมร เพิ่งจะมาขึ้นกับสยามสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สถานะของนักองค์รามจึงได้รับความนับหน้าถือตามาก

อีกคนหนึ่งคือพระยาพิพิธ จันเหลียน พ่อค้าแต้จิ๋วในจันทบุรี ต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งเยาวราชในสมัยรัตนโกสินทร์ พระยาพิพิธ จันเหลียนมีกิจการสำเภาเร่ที่ดัตช์เรียกว่า floating shop เป็นธุรกิจเดินเรือสำเภาพร้อมสินค้าไปจอดตามท่าต่างๆ ให้คนขึ้นมาเลือกซื้อหาสินค้า ซึ่งถือเป็นเป็นกิจการที่ทำให้จันเหลียนมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของตะวันออก จนกระทั่งปี 2310 จันเหลียนมาบังเอิญติดในอยุธยา และต่อมาก็ติดตามไปจันทบุรีกับพระเจ้าตาก คิดว่าพระยาพิพิธ จันเหลียนมีความสำคัญที่สุดในการยึดภาคตะวันออกของพระเจ้าตากจนได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองจันทบุรี และฮาเบียน (หรือฮาเตียน) ในเวลาต่อมา

นอกจากกลุ่มข้างต้นแล้ว กำพลกล่าวว่ายังมีกลุ่มที่ติดตามไปจันทบุรี กลุ่มที่เสียชีวิตระหว่างทางอย่างขุนชนะ กลุ่มชาวบ้านที่เป็นคนให้ธนูและข้าวเม่าแก่พระเจ้าตาก และกลุ่มชาวโปรตุเกสที่เป็นทหารแม่นปืน เอกสารของบาทหลวงโปรตุเกสระบุว่ามีกองทหารฝรั่งโปรตุเกสเดินทางไปกับพระเจ้าตากด้วย ปกติแล้วทหารเหล่านี้คือองค์รักษ์ในวัง ทั้งนี้ยังพบว่าหลายศึกที่พระเจ้าตากออกรบหลังออกจากอยุธยานั้นมีการรบด้วยปืน

วิเคราะห์ปัจจัยเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ว่าด้วยดาบ ปืนและเครือข่ายค้าของป่า

กำพลยังกล่าวว่า นอกจากเรื่องของคนแล้วก็มีเรื่องของเทคโนโลยี หมายถึงปืนและดาบที่ไม่ใช่ดาบแบบไทย ในเอกสารแต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชระบุว่าพระเจ้าตากให้ดาบซามูไรญี่ปุ่นกับเจ้าเมือง ที่พระราชวังเดิม เป็นที่ทราบว่าดาบซามูไรที่เป็นดาบที่ดีที่สุดสมัยนั้น โดยดาบของไทยจะเน้นความแข็งและความใหญ่ สิ่งที่จะตัดสินผลในการฟันดาบคือกระบวนท่าและกำลังของคนฟัน แต่ดาบซามูไรเน้นความรวดเร็ว ยิ่งตัวเล็กยิ่งได้เปรียบ จึงเป็นไปได้ที่ดาบของพระยาพิชัยและพระเจ้าตากใช้ดาบซามูไร

กำพลอธิบายเรื่องดาบซามูไรในหมู่บ้านญี่ปุ่น

ศิริพจน์กล่าวว่า คิดว่าในกลุ่มก้อนพระเจ้าตากมีปืนเป็นของตัวเอง ในทางกฎหมายนั้นปืนถูกผูกอยู่กับตัวกษัตริย์ กษัตริย์อยุธยาจะคุมไม่ให้ประเทศราชมีปืนเยอะเกินไป แต่ในความเป็นจริงก็มีปืนเถื่อนกัน ทั้งนี้ ปัญหาของการใช้ปืนไฟสมัยก่อนคือการขาดการฝึก เพราะปืนนั้นไม่ใช่เหนี่ยวไกแล้วยิงได้เลย อยุธยาไม่มีทหารประจำการจึงไม่มีการฝึกยิงปืน เวลารับกับฝรั่งก็แพ้อยู่แล้ว แต่กลุ่มก้อนพระเจ้าตากที่เป็นพ่อค้าและต้องเดินทางไปไหนมาไหน ถ้าไม่มีปืนก็คงตาย และน่าจะมีวิธีฝึกปืนที่ต่างจากราชสำนักซึ่งอาจเหมาะกับยุคสงครามเช่นนั้นมากกว่า

ศิริพจน์กล่าวต่อไปว่า พ่อค้าในสมัยก่อนต้องมีกองกำลังเป็นของตัวเองด้วย ในส่วนกลุ่มก้อนพระเจ้าตากที่เป็นพ่อค้านั้นเป็นที่เชื่อว่าค้าเหล็ก ไม่เช่นนั้นจะได้พระยาพิชัยที่อยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวกับการค้าเหล็กมาได้อย่างไร และถ้าดูในรายละเอียดในคำให้การชาวกรุงเก่าจะรู้ว่าบริเวณคลองสวนพลู พื้นที่ที่พระเจ้าตากมีอำนาจในอยุธยาเป็นบริเวณที่มีการค้าเหล็กค่อนข้างมาก พ่อค้าจีนที่อพยพมาในช่วงที่ตรงกับพ่อของพระเจ้าตากก็มีความชำนาญในการขุดแร่โคบอลท์ แร่ที่ถูกใช้ทำสีน้ำเงินบนเครื่องถ้วยที่ขุดจากจีนแล้วไปขายที่เว้ นอกจากกลุ่มค้าเหล็กแล้ว กลุ่มก้อนพระเจ้าตากอีกกลุ่มคือพ่อค้าหาของป่าโดยเฉพาะแร่ การเป็นเจ้าเมืองตากมีนัยสำคัญในการเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นของป่า ดังนั้นโครงข่ายค้าแร่ ของป่าน่าจะเป็นของพระเจ้าตากหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net