Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การชำระ “พระมหาชนก” ที่เกิดขึ้นในสังคมสยาม-ไทยในช่วงที่ผ่านมา  ต่างมีผลทำให้ “พระมหาชนก” ไม่ได้เป็นการเล่าเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้าอีกต่อไป  หากแต่เป็นการเล่าที่สัมพันธ์สอดคล้องกับเรื่องราวของผู้ชำระเองมากกว่าอื่นใด

 

อารัมภบท

นับแต่ที่ “พระมหาชนก” ฉบับพระราชนิพนธ์  ตีพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2539  ก็ได้เกิดงานเขียนว่าด้วย “พระมหาชนก” ในแง่มุมต่างๆ ตามมาเป็นจำนวนมาก  โดยงานส่วนใหญ่ยังมีลักษณะเป็นวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติ  ไม่ได้เน้นสร้างองค์ความรู้หรือเติมเต็มเกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์ชาดก” (ซึ่งในที่นี้ก็คือ “พระมหาชนก”)  โดยเฉพาะงานเขียนประเภทที่จะมองจากแง่มุมของความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการสื่อความหมาย  ที่แฝงมาในกระบวนการแปรและชำระ “พระมหาชนก” ในประวัติศาสตร์ไทยยุคใกล้นี้  ก็ยังไม่ถูกผลิตขึ้นเท่าที่ควร

ผลคือการพิจารณา “พระมหาชนก” ยังคงขาด “มิติทางเวลา” จนอาจทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย  ดูราวกับไม่มีความเปลี่ยนแปลงอันใดเกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเลย  ถือเป็นวรรณกรรมตามขนบจารีตไปโดยง่ายดาย  ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง  ทั้งยังง่ายที่จะถูกผูกขาดการตีความไปใช้ประโยชน์สร้างสิทธิธรรมของการเคลื่อนไหวทางการเมือง  และอีกหลายต่อหลายอย่างก็อาจเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น  ในเมื่อองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวยังขาดตกบกพร่องอยู่เช่นนี้  จึงจะหวังความรู้ความเข้าใจอะไรถ่องแท้เป็นไปไม่ได้เสียเลย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เมื่อมีการนำมาใช้ปลุกระดมมวลชนเพื่อต่อสู้เรียกร้อง “การเมืองใหม่” ของนายสนธิ  ลิ้มทองกุล  และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)  เมื่อไม่นานมานี้

หากไม่พิจารณาว่า “พระมหาชนก” ฉบับหลัง ๆ นี้มีปฏิสัมพันธ์กับฉบับก่อนหน้าอย่างไร  อาจทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย  การแต่งเรื่องใหม่  การสร้างตัวละครใหม่  การเปลี่ยนบทบาทตัวละครเดิม  การปรับเปลี่ยนโครงเรื่องใหม่ใส่ลงในเรื่องเดิม  เป็นส่วนสำคัญหนึ่งของกระบวนการที่เรียกว่า  “ชำระ”  เพียงแต่ในบางกรณีผลงานอันมีที่มาจาก “กระบวนการชำระ” อาจถูกยอมรับให้เป็น “การแต่ง” ได้ง่าย  เพราะกลุ่มผู้ยอมรับนั้นมักขาดการพิจารณาเปรียบเทียบกับฉบับอื่น ๆ 

นักศึกษาประวัติศาสตร์อาจคุ้นเคยกับงานศึกษาการชำระหลักฐานสำคัญเช่น พระราชพงศาวดาร และศิลาจารึก (หลักที่ 1)  แต่การศึกษาการชำระวรรณกรรมหรือหลักฐานประเภทอื่นยังไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าไรนัก  อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่าการศึกษาการชำระพระราชพงศาวดารและศิลาจารึก (หลักที่ 1) ในช่วงที่ผ่านมามีคุณูปการสามารถประยุกต์ใช้ศึกษาวรรณกรรมประเภทอื่นได้  แม้ว่าวรรณกรรมดังกล่าวจะมีคุณลักษณะแตกต่างจากพระราชพงศาวดารและศิลาจารึก  ทั้งส่วนใหญ่ก็ยังไม่นิยามการกระทำต่อวรรณกรรมในลักษณะเดียวกับที่ปราชญ์ต้นรัตนโกสินทร์กระทำต่อพระราชพงศาวดารว่า “ชำระ”  หรือกล่าวอีกนัยคือส่วนใหญ่ยังเข้าใจกันว่าไม่มีการชำระวรรณกรรมเกิดขึ้นในที่อื่น ๆ อีก  ผู้ชำระสมัยหลังมักนิยามการกระทำดังกล่าวว่าเป็นแต่เพียงการ “แต่ง” เรื่อง (ขึ้นใหม่) เท่านั้น  แต่แท้ที่จริงในการแต่งดังกล่าวได้รวมกระบวนการทำงานที่สำคัญเข้าไว้ด้วยกัน เช่น การแก้ไขสำนวนโวหาร, แก้ไขอักขระและตัวสะกด, แต่งเรื่องต่อ, แทรกเรื่องใหม่ลงไปในเรื่องเก่า  และแก้เรื่องเก่าจนกลายเป็นเรื่องใหม่ไป เป็นต้น[๑]

ด้วยเหตุดังนั้น การแต่งในลักษณะนี้จึงควรถือเป็นการชำระ  และการชำระวรรณกรรมนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงการเติมเนื้อความให้บริบูรณ์จากวรรณกรรมฉบับก่อนหน้าเท่านั้น แต่หมายถึงการแก้ไขดัดแปลงแนวคิดที่เสนอผ่านวรรณกรรมชิ้นนั้น ๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับโลกทัศน์ รสนิยม และผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้ชำระหรือผู้ต้องการ “ใช้” วรรณกรรมนั้น ๆ เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ  ซึ่งเป็นความหมายของการชำระที่ครอบรวมถึงการกระทำที่อาจไม่ใช่เพียงต่อตัวบทอักษรเท่านั้น  หากการชำระนั้นมุ่งเน้นประเด็นไปที่การสื่อ “ความหมายทางสังคม” (social meaning) เป็นหลัก  ฉะนั้นจึงไม่เป็นการเกินเลยที่จะมีผู้กล่าวว่า  การชำระวรรณกรรมทุกกรณี  “หมายความถึง การจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมในแต่ละครั้งใหม่อยู่เสมอ  เพื่อให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ของอำนาจที่เป็นอยู่ ในสมัยที่เกิดการบันทึกหรือการชำระ... นั้น”[๒]

นอกจากนี้แล้ว บทบาท “ผู้แต่ง” ในกระบวนการชำระข้างต้น  มีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจาก “ผู้แต่ง” ทั่วไป  ในประเด็นที่ว่า  เริ่มต้นจากการได้อ่านหรือได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อยู่ก่อนแล้ว  แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดหรือการสื่อความหมายที่เสนอผ่านเรื่องนั้น ๆ จึงนำมาสู่ความพยายามในการแก้ไขดัดแปลงเรื่องนั้น ๆ ขึ้นใหม่  แท้จริงจะเห็นได้ว่า  “ผู้แต่ง” หรือ “ผู้ชำระ” ในกรณีดังกล่าวนี้  ก็คือ “ผู้อ่าน” ที่แสดงบทบาทย้อนกลับไปเป็น “ผู้แต่ง” ใหม่นั่นเอง 

 

ปฐมบท: ว่าด้วยประวัติศาสตร์ในชาดกกับชาดกในประวัติศาสตร์

ข้อเท็จจริงก็คือว่า  “พระมหาชนก” ไม่ได้มีเพียงฉบับมาตรฐานหนึ่งเดียว  ความเปลี่ยนแปลงจากฉบับหนึ่งสู่อีกฉบับจึงมีความน่าสนใจว่าอะไรเป็นตัวปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  เดิม “พระมหาชนก” หรือ “มหาชนกชาดก” ถือเป็นชาดกในนิบาต  มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกส่วนพระสูตร (พระสุตตันตปิฎก) ขุททกนิกาย ชาดก ภาคที่ 2  “ชาดก” แบ่งได้เป็น 2 ประเภทกว้าง ๆ ได้แก่ ชาดกในนิบาต (หรือ “นิบาตชาดก” ) เป็นชาดกที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก  และชาดกที่ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎกเรียกว่า  “ชาดกนอกนิบาต”  เกี่ยวกับการจัดประเภทชาดกนี้  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เมื่อครั้งจัดพิมพ์ชาดกในการเฉลิมฉลองพระชนมายุ 58 ชันษาใน พ.ศ. 2462 ทรงพระนิพนธ์คำนำถึงเรื่องนี้ว่า: 

 

“ชาดก... เป็นหนังสือเรื่องใหญ่  มีจำนวนนิทานชาดกถึง 550 เรื่อง  แบ่งเป็นนิบาต 21 คัมภีร์  นับเป็น 22 ทั้งทศชาติ  ลักษณะที่แบ่งเป็นนิบาตนั้น  จัดนิทานที่มีคาถาเดียวขึ้นไปจนถึง 80 คาถา  รวมไว้เป็นพวก ๆ เรียกชื่อตามจำนวนของคาถา  เป็นต้นว่า  คัมภีร์พวกนิทานที่มีคาถาเดียวเรียกว่าเอกนิบาต  คัมภีร์พวกนิทานที่มี 2 คาถาเรียกว่าทุกนิบาต  แลคัมภีร์พวกนิทานที่มี 3 คาถาเรียกว่าติกนิบาต  ฉะนี้เป็นตัวอย่าง  คัมภีร์พวกนิทานที่มีคาถาถึง 80 เรียกว่าอสีตินิบาต  ส่วนคัมภีร์ที่รวมเรื่องนิทานมีคาถามาก ๆ น้อย ๆ ไม่เท่ากันเรียกว่า  ปกิณณกนิบาต  หมายความว่าเป็นคัมภีร์ที่รวมเรื่องเกลื่อนกล่น  ในที่สุดจึงถึงเรื่องทศชาติเรียกว่ามหานิบาต” [๓]

 

การสำรวจในชั้นหลังให้ข้อมูลแตกต่างจากที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยให้ไว้อยู่บ้าง  ผู้เขียนพบ (เช่นเดียวกับท่านอื่นที่พบมาก่อนหน้า) ว่า ชาดกในพระไตรปิฎก  ซึ่งอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มีอยู่ทั้งหมด 547 เรื่อง  ทุกเรื่องมีแต่ตัวคาถา คือบทร้อยกรอง  เนื้อความเน้นเฉพาะ “แก่นเรื่อง” เป็นสำคัญ  คาถาในแต่ละเรื่องมีจำนวนไม่เท่ากัน คือ มีตั้งแต่ 1 คาถา ไปจนถึง 1,000 คาถา (เช่น เรื่องมหาเวสสันดรชาดก เป็นต้น) ด้วยเหตุนี้จึงมีการแบ่งหมวดชาดกตามจำนวนคาถาแต่ละเรื่อง  เรื่องใดมีคาถาจำนวนเท่ากันก็รวมอยู่ในหมวดเดียวกัน 

ในจำนวน 547 ชาติ  พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นมนุษย์ สัตว์ เทวดา และอมนุษย์  ซึ่งจำแนกได้ดังนี้คือ พระชาติที่เป็นสัตว์มีจำนวน 124 ชาติ  แบ่งออกเป็นในอรรถกถาชาดก 12 ชาติ  พระชาติร่วมสมัยกับพระปัจเจกพุทธเจ้าอีก 3 ชาติ  นอกจากนี้ในชาติที่เป็นสัตว์ยังสามารถจำแนกออกได้เป็นสัตว์ประเภทต่าง ๆ เช่น เป็นนก 39 ชาติ  เป็นลิง 12 ชาติ  เป็นเนื้อหรือกวาง 11 ชาติ  เป็นราชสีห์ 11 ชาติ  เป็นหงส์ 9 ชาติ  เป็นช้าง 7 ชาติ  เป็นพญานาค 6 ชาติ  เป็นสัตว์สี่เท้าอื่น ๆ เช่น สุนัข ม้า โค หมู รวม 21 ชาติ  เป็นสัตว์น้ำ 3 ชาติ  เป็นไก่ 2 ชาติ  และเป็นสัตว์พิเศษอื่น เช่น ครุฑ และกินนรอีก 3 ชาติ  เป็นเทวดา 19 ชาติ  เป็นยักษ์อีก 1 ชาติ  ในจำนวนพระชาติที่กล่าวข้างต้น  จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นสัตว์มากที่สุด  ทั้งนี้การเป็นสัตว์ทำให้เอื้อต่อการแสดงภาพให้เห็นทุกขเวทนาที่พระพุทธองค์ทรงได้รับมาเป็นเวลายาวนาน  จนเป็นที่แน่ชัดว่าทางที่จะทรงพ้นทุกขเวทนานั้นได้ก็มีแต่จะต้องหลุดพ้นจากการเกิดเท่านั้น[๔]

“อรรถกถาชาดก” เป็นนิทานร้อยแก้วภาษาบาลี  มักเป็นที่แพร่หลายในท้องถิ่นมากกว่าส่วนกลาง (ซึ่งจะเพราะเหตุใดนั้นไม่ใช่จุดมุ่งหมายของผู้เขียนในที่นี้)  ผู้แต่งนำนิทานคาถาในนิบาตชาดกมาแทรกไว้ในเรื่อง  แต่ไม่ได้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนดโครงเรื่องทั้งหมด  ความสำคัญของนิบาตชาดกในอรรถกถาชาดกดูเหมือนจะเป็นการโยงเอาหลักธรรมมาปรับเข้ากับเนื้อเรื่อง  ซึ่งทำให้นิทานชาดกแตกต่างจากนิทานประเภทอื่น  การแต่งอรรถกถาชาดกมีหลายลักษณะ เช่น การแต่งแบบขยายความ  การแต่งแบบพิสดาร  บ้างก็เป็นการแต่งเรื่องขึ้นมาใหม่  เป็นต้น  ทั้งนี้ส่วนมากมักเป็นการแต่งที่ไม่ถึงขั้นจะสัมพันธ์กับกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบที่จะเรียกได้ว่า  “ชำระ”  โครงเรื่องของอรรถกถาชาดกประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วน คือ

1. “ปัจจุบันวัตถุ” หรือการปรารภเรื่อง หมายถึง เรื่องในสมัยพุทธกาล  กล่าวถึงต้นเหตุของการเล่าชาดก  โดยมักจะกล่าวเริ่มว่าขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน  ทรงปรารถเรื่องอะไรจึงตรัสคาถาเรื่องนั้น

2. “อดีตวัตถุ” หมายถึง เนื้อเรื่องของนิทานชาดก  ซึ่งมักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า “อตีเต”

3. “คาถา” หมายถึง หัวใจของเรื่องหรือสุภาษิตที่นำมาจากนิบาตชาดก 

4. “อธิบายคาถา” หมายถึง การอธิบายคาถาที่นำมาแทรกไว้ในเรื่อง  ด้วยภาษาบาลีง่าย ๆ ให้เข้าใจดีขึ้น  เป็นการอธิบายไวยากรณ์ทีละคำทีละวลี

5. “สโมธาน” หรือประชุมชาดก (บางกรณีเรียกว่า “ประชุมชาติ” ) หมายถึง  การสรุปเรื่องชาดกด้วยการโยงเรื่องในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน  เป็นการระบุว่าผู้ฟังชาดกเรื่องนั้น ผู้อยู่ในที่นั้น (ขณะทรงตรัสเล่าชาดก) หรือผู้มีชื่อเป็นตัวละครอยู่ในยุคพุทธกาล  ต่างได้บรรลุมรรคผลในขั้นใดไปบ้างแล้ว  ใครกลับชาติมาเกิดเป็นใครในสมัยพุทธกาล  โดยทั่วไปตัวละครใน “อดีตวัตถุ” กับ “ปัจจุบันวัตถุ” มักจะสอดคล้องกัน เช่น ผู้ร้ายฝ่ายชาย (อดีตวัตถุ) จะได้แก่ พระเทวทัต (ปัจจุบันวัตถุ)  ผู้ร้ายฝ่ายหญิง (อดีตวัตถุ) ได้แก่ นางจิญจมาณวิกา (ปัจจุบันวัตถุ)  ผู้ช่วยพระเอก (พระอินทร์) ได้แก่ พระอนุรุทธะ  นางเอก คือ พระนางพิมพายโสธรา ฯลฯ[๕]

ส่วนสาเหตุที่มาของเนื้อเรื่องที่ปรากฏภายหลัง  ทั้งที่ในพระไตรปิฎกไม่มีนั้น  รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์  สันนิษฐานว่า  เนื้อเรื่องคงจะสูญหายไป  ทำให้ในเวลาต่อมาพระพุทธโฆสะหรือพระพุทธโฆษาจารย์ได้แต่งเรื่องราวและเพิ่มเติมรายละเอียดให้สมบูรณ์  โดยการเพิ่มเติมการปรารภเรื่อง  รายละเอียดของนิทาน  และการกลับชาติ  เรื่องราวนี้เรียกว่า  “อรรถกถาชาดก” หรือ “ชาตกัฏฐกถา” [๖]  ขณะที่อนุสรณ์  อุณโณ  ผู้ศึกษา “ชาตกัฏฐกถา” โดยตรง  เห็นต่างออกไปว่า  ผู้แต่งอรรถกถาชาดกไม่ใช่พระพุทธโฆษาจารย์  เพราะจากหลักฐานสำคัญเช่น “คัมภีร์มหาวงศ์ “ และ “พุทธโฆสุปัตติ”  ตลอดจน “คัมภีร์คันธวงส์”  “สาสนวงส์”  และ “สัตธัมมสังคหะ”  แม้ไม่อาจใช้เป็นหลักฐานแสดงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้โดยตรง  แต่ก็แสดงอัตชีวประวัติของพระพุทธโฆษาจารย์ไว้ใกล้เคียงกัน  โดยเฉพาะการที่พระพุทธโฆษาจารย์ได้เดินทางไปยังลังกาเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 10  ตามคำแนะนำของพระเรวัติโดยมีวัตถุประสงค์ให้ท่านไปศึกษาภาษาสิงหลและอรรถกถาภาษาสิงหล (หรือ “สิงหลัฏฐกถา” )  แล้วให้แปลอรรถกถาภาษาสิงหลเหล่านี้ออกเป็นภาษาบาลี  เพื่อนำกลับไปยังอินเดีย  ซึ่งในเวลานั้นมีแต่พระไตรปิฎก  ไม่มีคัมภีร์อรรถกถาหลงเหลืออยู่เลย[๗]

นอกจากนี้ “ชาตกัฏฐกถา” ยังไม่น่าจะเป็นผลงานของพระพุทธโฆษาจารย์  ด้วยเหตุผลที่ว่าสำนวนภาษาและวิธีการแต่งไม่เหมือนกับผลงานเล่มอื่น ๆ ของท่าน  “ชาตกัฏฐกถา” จึงน่าจะถูกรจนาขึ้นโดยอรรถกถาจารย์รูปอื่นในยุคใกล้เคียงกับพระพุทธโฆษาจารย์  พร้อมกันนั้นด้วยความที่อรรถกถาที่กล่าวถึงเรื่อง “พระโพธิสัตว์จรรยา” ยังมักจะเป็นผลงานของ “พระธรรมปาละ”  จึงเชื่อว่าชาตกัฏฐกถาน่าจะเป็นผลงานของพระธรรมปาละมากกว่า  แต่ถึงกระนั้นอัตชีวประวัติและผลงานของพระธรรมปาละ  ก็ไม่ได้แสดงความชัดเจนว่าท่านได้รจนาชาตกัฏฐกถาขึ้นที่ไหน  เมื่อไหร่  อย่างไร  และด้วยวัตถุประสงค์อะไร  ด้วยเหตุดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่อาจสรุปหรือหาข้อยุติได้แน่ชัดว่าชาตกัฏฐกถาถูกรจนาขึ้นโดยพระอรรถกถาจารย์ท่านใด  แต่อาจกล่าวได้อย่างคร่าว ๆ ว่าน่าจะรจนามาจากอรรถกถาภาษาสิงหลอีกทอดหนึ่งในลังกาเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 10[๘]

จะเห็นได้ว่า  ความสำคัญของชาดกในการศึกษาวรรณกรรมจารีตนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้  ขณะเดียวกันชาดกก็มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงไม่ได้รับการใส่ใจจากนักประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเท่าที่ควร  เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่เกิดตามมาจึงได้แก่  อาการหยุดนิ่งง่อยเปลี้ยของความรู้ในด้านนี้  ชาดกมักถูกเข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นเรื่องของการเล่าอดีตชาติของพระพุทธเจ้า  มีมาตั้งแต่ในยุคพุทธกาล  ซึ่งชวนให้น่าสงสัยถึงความคงทนไม่เปลี่ยนแปลงของตัวบทในชาดกเป็นอย่างยิ่ง  อย่างไรก็ตาม  เป้าหมายของบทความนี้ก็ไม่ใช่จะถกเถียงในประเด็นว่าใครเป็นผู้แต่งอรรถกถาชาดกในระยะแรกเริ่มของการรับพุทธศาสนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์อันไกลโพ้นเกินสติปัญญาความสามารถของผู้เขียน  แต่จะศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการสื่อความหมายในกระบวนการชำระและปรับใช้ชาดก (ผ่านกรณีของ “พระมหาชนก” ) ที่เกิดขึ้นในระยะไม่นานมานี้  ว่ามีความสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (ไม่ใช่ประวัติศาสตร์จารีต  ซึ่งเป็นไปไม่ได้อีกแล้วเมื่อถูกชำระขึ้นใหม่ในภายหลัง) 

ขณะเดียวกันก็จะพยายามชี้ให้เห็นด้วยว่าความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในประเด็นว่าด้วย “ความเป็นสมัยใหม่” ในสังคมไทยนั้น  ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบคิดและกระบวนการสื่อความหมายที่กำกับอยู่เบื้องหลังการชำระ “พระมหาชนก”  ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยอันใกล้นี้    โดยไม่ละเลยประเด็นว่า  กระบวนการปรับใช้หรืออ้าง “ความเป็นจารีต” นี้มีผลอย่างไรต่อเงื่อนไขและนิยามของสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นไทย” ในระยะหลังมานี้... 

 

ชาดกกับพระไตรปิฎก vs. พระธรรมกับชนชั้นนำสยาม

“ชาดก” มาจากคำว่า “ชาต” ในภาษาบาลี แปลว่า “เกิด”  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ. 2525) ให้คำนิยามชาดกไว้ว่า  “ชาดก (ชา - ดก) น. เรื่องพระพุทธเจ้าที่มีมาในชาติก่อน ๆ ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์” [๙]  ส่วนความหมายที่กระชับได้ใจความนั้น  รุ่งวิทย์  สุวรรณอภิชน  อธิบายว่า  ชาดก  “หมายถึง การเล่าเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเวียนว่ายตายเกิด  ได้กำเนิดในชาติต่าง ๆ ได้ประสบกับเหตุการณ์  ดีบ้างชั่วบ้าง  แต่ได้พยายามกระทำความดีสืบต่อกัน  มากบ้างน้อยบ้าง  ตลอดต่อเนื่องมา  จนกระทั่งได้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย  กล่าวได้ว่า “ชาดก” เป็นวิวัฒนาการแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า  ตั้งแต่สมัยยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่” [๑๐]

แม้จะมีความสำคัญในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก  เป็นที่รับรู้กันมาช้านาน  แต่ชาดกก็เพิ่งจะมีการพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2447  โดยพิมพ์แจกเป็นพระราชกุศลในงานพระศพพระเจ้าพระเจ้าลูกยาเธอ  พระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์  กรมขุนสุพรรณภาควดี  ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้อาราธนาพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์  พร้อมทั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่  ร่วมกันแปลนิบาตชาดกถวายตามพระราชประสงค์จำนวน 3 วรรค รวมชาดก 30 เรื่อง  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ “พระบรมราชาธิบาย” เป็นคำนำไว้ด้วย  ต่อมาจึงได้เกิดเป็นธรรมเนียมนิยมในหมู่ราชตระกูล  ซึ่งมักจะจัดให้มีการพิมพ์ชาดกเผยแพร่ในงานพระศพถวายเป็นพระราชกุศล  ทั้งนี้เป็นการพิมพ์แยกจากพระไตรปิฎก คือเลือกพิมพ์เฉพาะเนื้อความส่วนที่เป็นชาดก  นอกเหนือจากที่มีประเพณีการเทศน์มหาชาติ  แผ่พระราชกุศลมาแต่ครั้งต้นรัตนโกสินทร์[๑๑]

โดยในส่วนของพระไตรปิฎกทั้งหมดนั้น  พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส  และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา  ปุสสเทว) วัดราชประดิษฐ์  มาประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ทรงมีพระราชดำรัสชี้แจงพระราชประสงค์ที่จะให้พิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย  พระสงฆ์ทั้งปวงก็ถวายอนุโมทนารับแบ่งหน้าที่กันตรวจต้นฉบับจากภาษาขอมและรามัญที่มีอยู่เดิมในหอพระมณเฑียรธรรม  ทรงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  เป็นแม่กองจัดพิมพ์  จำนวน 1,000 จบ  รวมเป็นหนังสือ 39,000 เล่ม  งานสำเร็จลงใน พ.ศ. 2436  แล้วได้เฉลิมฉลองในงานพระราชพิธีรัชฎาภิเษก  เนื่องในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 25 ปี  ทั้งนี้พิมพ์ได้ทั้งหมด 39 เล่ม  ยังขาดไปไม่ได้พิมพ์อีก 6 เล่ม[๑๒]

ต่อมา พ.ศ. 2468 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7) ได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นอีกครั้ง  เพื่อจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมพระจันทบุรีนฤนาท เป็นประธานอำนวยการ  และโปรดให้อาราธนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราชขณะนั้น  ทรงรับหน้าที่เป็นประธานในการตรวจทานชำระต้นฉบับพระไตรปิฎก  ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้ใช้ทุนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนกว่า 200,000 บาท  มีผู้บริจาคร่วมสมทบทุนเป็นพระราชกุศลอีก 600,000 บาท  ซึ่งเป็นจำนวนเงินมากกว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ตั้งไว้แต่แรก  จึงมีเงินเหลือสำหรับพิมพ์คัมภีร์อรรถกถาและฎีกาต่าง ๆ เพิ่มเติม[๑๓]

พระไตรปิฎกฉบับพ.ศ. 2468 นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์เป็นอักษรไทยจบบริบูรณ์  พระไตรปิฎกฉบับนี้มีจำนวนจบหนึ่ง 45 เล่ม  ทั้งหมด 1,500 จบ  ขนานนามว่า “พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ”  มีตราช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ประจำปก  จากนั้นโปรดให้จัดงานเฉลิมฉลองขึ้นในระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 ได้พระราชทานแก่บุคคลสำคัญในประเทศ 200 จบ  ต่างประเทศ 450 จบ  อีก 850 จบ  พระราชทานแก่ผู้บริจาคขอรับหนังสือพระไตรปิฎกสำหรับไว้เป็นมงคลในบ้านเรือนของตน[๑๔]

อย่างไรก็ตาม  แม้จะมีความพยายามในการสร้างพระไตรปิฎกฉบับไทยสยามขึ้น  แต่พระไตรปิฎกฉบับ พ.ศ. 2468 ก็ยังเป็นแต่เพียงพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่พิมพ์ด้วยอักษรไทยเท่านั้น  ยังไม่มีการถ่ายทอดเนื้อหาเป็นภาษาไทยทั้ง 3 ปิฎกครบถ้วนอย่างเป็นทางการ  ต่อมาภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475) ใน พ.ศ. 2483 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ  ติสสเทวมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช  ทรงปรารภถึงความสำคัญของการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยในที่ประชุมพระเถรานุเถระว่า  ควรดำเนินการให้มีการแปลเป็นภาษาไทยให้ครบทั้ง 3 ปิฎกอย่างสมบูรณ์  โดยทรงให้เหตุผลว่า  “เพื่อเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์ และเป็นที่เชิดชูเกียรติแห่งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย  ให้ปรากฏไพศาลไปตลอดถึงนานาประเทศ”   จึงได้โปรดให้ประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราช  ขอความอุปถัมภ์จากรัฐบาลซึ่งมีหลวงพิบูลสงคราม (แปลก  ขีตะสังคะ)  เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น  เพื่อให้ดำเนินการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎก  โดยตั้งคณะกรรมการ  คณะกรรมาธิการ  แปลพระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  และพระอภิธรรมปิฎก  งานนี้ได้ทำสืบเนื่องมาจนถึงตกอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[๑๕]

จากที่แสดงมาข้างต้น  มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า  ชาดกในนิบาตถูกถ่ายทอดเป็นภาษาไทยก่อนที่พระไตรปิฎกจะถูกแปลอย่างครบถ้วนบริบูรณ์  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่แยกขาดจากพระไตรปิฎก  แม้จะเป็นชาดกในนิบาตซึ่งได้รับการยืนยันความน่าเชื่อถือด้วยมีปรากฏในพระไตรปิฎกก็ตาม  แต่พระไตรปิฎกเองก็ไม่ได้ถูกใช้เป็นมาตรฐานในการชี้วัดความสำคัญของชาดกในนิบาตแต่อย่างใด  สถานะความศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างประทับไว้แก่พระไตรปิฎกกลายเป็นข้อจำกัด เพราะจะแตะต้องหรือดัดแปลงไม่ได้มากนัก  ภาระหน้าที่ในการสร้างคำอธิบายให้สอดรับกับรสนิยมของพุทธปุถุชน  จึงตกเป็นของอรรถกถาจารย์  กล่าวข้างต้นไม่ใช่จะให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดในรูปลายลักษณ์อักษรแต่เพียงอย่างเดียว  เพราะที่จริงแล้วการเล่าชาดกในนิบาตได้เกิดขึ้นอยู่เสมอ  โดยเฉพาะในรูปของการเทศน์มหาชาติซึ่งกลายเป็นประเพณีที่สำคัญของการเล่าชาดกไป  แต่ดังที่ทราบกันดีว่ามหาชาติที่นิยมเทศน์ในงานบุญกันนั้น คือ “มหาเวสสันดรชาดก”  พระชาติสุดท้ายก่อนเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น[๑๖]

ส่วนชาดกนอกนิบาตนั้นดูเหมือนจะเป็นตรงกันข้าม  คือสามารถแตะต้องได้  ทั้งยังไม่จำเป็นต้องเป็นอรรถกถาจารย์หรือพระเถระที่เป็นที่เคารพเชื่อถือเท่านั้น  ที่จะสามารถสร้างคำอธิบายขยายความหมายและความสำคัญ  ฆราวาสที่มีชื่อเสียงก็สามารถกระทำได้  รสพระธรรมจากชาดกนอกนิบาตจึงมีความหลากหลายและน่าจะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ารสพระธรรมจากพระคัมภีร์เดิม  ชาดกถูกปรับให้เข้ากับความเป็นจริงของแต่ละยุคสมัยไม่ใช่น้อย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับประเพณีการเทศน์มหาชาติด้วยการเลื่อนสถานะความเป็นประเพณีขึ้น  โดยให้ถือว่าเป็น “เทศนาสำหรับแผ่นดิน” [๑๗]  ขณะที่มโหสถชาดกถือเป็นชาดกประจำชาติพม่า  มหาเวสสันดรชาดกก็ถือเป็นชาดกประจำชาติสยาม-ไทย[๑๘]  เมื่อเจ้านายเชื้อพระวงศ์เสด็จออกผนวช  ก็มักจัดให้มีเทศน์มหาชาติ  และเมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์ได้ถูกนำมาใช้แพร่หลาย  เจ้านายเชื้อพระวงศ์ต่างนิยมพิมพ์เผยแพร่ชาดกในงานวันคล้ายวันพระราชสมภพของแต่ละพระองค์  ถือเป็นสิริมงคลแก่เชื้อพระวงศ์ท่านนั้น ๆ เป็นอย่างสูง[๑๙]

นอกจากนี้ชาดกยังเป็นที่นิยมแพร่หลายตามท้องถิ่น  ธวัช  ปุณโณทก และจารุวรรณ  ธรรมวัตร  นักวิชาการที่ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน  ทั้งสองท่านได้ตั้งข้อสังเกตไว้ตรงกันว่า  “ชาดก” โดยเฉพาะมหาเวสสันดรชาดกที่จะเล่ากันอย่างเป็นระบบในงานบุญประเพณีเรียกว่า “บุญพระเวสส์” (หรือ “บุญผะเหวด” ตามสำเนียงการออกเสียงของท้องถิ่น) นั้น  มีส่วนอย่างสำคัญต่อวัฒนธรรมและประเพณีของท้องถิ่น  ทั้งนี้ชาดกมักจะถูกดัดแปลงมานำเสนอคติพื้นบ้านผสมผสานกับความเชื่อทางพุทธศาสนา  ทำให้พุทธศาสนาของท้องถิ่นมีลักษณะเป็นพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน (Popular Buddhism)  มากกว่าจะเป็นพุทธศาสนาที่เคร่งครัดตามหลักปรัชญาขององค์พระศาสดา (Doctrinal Buddhism)[๒๐]  ทั้งนี้มีความเชื่อพื้นฐานอยู่ 2 ประการ  ที่ทำให้มหาเวสสันดรชาดกมีความสำคัญตามระบบคิดของท้องถิ่น คือ

2. ความเชื่อที่ว่า  มหาเวสสันดรชาดกเป็นพุทธวจนะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาแด่พระภิกษุสงฆ์ ณ นิโครธราม  กรุงกบิลพัสดุ์  ผู้ใดได้สดับฟังจะเกิดสิริสวัสดิมงคล

3. ความเชื่อที่ว่า  พระศรีอาริยเมตไตรยเทพบุตร  ผู้จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต  ได้ตรัสบอกแก่พระมาลัยมหาเถระว่า  ผู้ที่ฟังมหาชาติหรือเวสสันดรชาดกจบในหนึ่งวันหนึ่งคืน  และบูชาด้วยประทีป ธูปเทียน ธงฉัตร ดอกไม้ต่าง ๆ เช่น ดอกบัว ดอกราชพฤกษ์ และดอกผักตบ ให้ครบจำนวนชนิดละ 1,000 ดอก  อานิสงฆ์จะชักนำให้ผู้นั้นได้พบกับยุคพระศรีอาริย์  นอกจากนี้อานิสงฆ์ในการฟังเทศน์  การเป็นเจ้าของกัณฑ์เทศน์จะได้รับความสุขความเจริญ  และที่สำคัญคือการที่ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล[๒๑]  ความเชื่อและอานิสงฆ์ข้อนี้  มีผลต่อการแพร่หลายของอุดมการณ์ความเชื่อ  ที่สำคัญอันหนึ่งของขบวนการชาวนาและกลุ่มชนต่าง ๆ ในอีสานและล้านช้าง คือ อุดมการณ์ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์และกบฏผู้มีบุญในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25[๒๒]

ในส่วนของส่วนกลางนั้น  สืบเนื่องจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงให้พุทธศาสนามีลักษณะทางโลกย์ในช่วงระยะปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ล่วงมาจนถึงต้นรัชกาลที่ 5  อิทธิพลของขบวนการธรรมยุติกนิกายแผ่ซึมครอบงำมุมมองต่อโลกและชีวิตทางสังคมของชนชั้นนำสยาม  สิ่งนี้ปรากฏให้เห็นในความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมจารีตทางพุทธศาสนา[๒๓]  วรรณกรรมทางพุทธศาสนาบางส่วนถูกชำระดัดแปลงให้มีคุณค่าแสดงความเป็นชาติอารยะของสยาม  ในพ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ “พระบรมราชาธิบายเรื่องนิบาตชาดก” ทรงพยายามทำให้ชาดกมีความเป็นสากล  ถือเอาตะวันตกเป็นมาตรฐานชี้วัดคุณค่า  โดยเปรียบเทียบชาดกที่มีอยู่แต่เดิมในสยามกับนิทานอีสปของโลกตะวันตกมีใจความสำคัญดังนี้ :

 

“นิทานอย่างเช่นชาดกนี้  ไม่ได้มีแต่ในคัมภีร์ฝ่ายพระพุทธศาสนา  ในหมู่ชนชาติอื่นภาษาอื่นนอกพระพุทธศาสนาก็มีปรากฏเหมือนกัน ฯ  ชาติอื่น ๆ เช่น อาหรับเปอร์เซีย  เป็นต้น  ก็ว่ามีนิทานเช่นนี้คล้ายคลึงกัน  แต่จะยกไว้ไม่กล่าว  เพราะไม่มีตัวเรื่องมาเทียบ ฯ  จะยกแต่นิยายอีสอป  ซึ่งข้าพเจ้าได้แปลงเป็นภาษาไทยช้านานมาแล้ว  ได้ชื่อว่าอีสอปปกรณำ  ของนักปราชญ์ผู้หนึ่งชื่อว่าอีสอป  เป็นผู้แต่งขึ้นในประเทศกรีก ฯ  นักปราชญ์ผู้นี้ได้แต่งหนังสือฉบับนั้นแต่ในเมื่อเวลาราว ๆ กันกับพุทธกาล  มีทำนองนิทานอย่างเดียวกัน  คือ  เทวดาพูดกับคน  ดิรัจฉานพูดกับคน  ดิรัจฉานต่อดิรัจฉานพูดกันเองทำนองเดียวกันกับชาดก ฯ  และเรื่องราวที่อีสอปกล่าวนั้น  ก็มีคล้ายคลึงกันที่อาจจะเทียบกับเรื่องราวชาดกได้หลายเรื่อง  เช่นเรื่องกันทคลกชาดกในทุกนิบาตกับเรื่องสุนัขป่ากับนกกระสา  ในอีสอปปกรณำ (เรื่องที่ 5)  เป็นเรื่องเดียวกันแท้ ฯ...  ประโยชน์ของนิทานนี้ก็ลงท้ายแสดงภาษิต (เช่น) ว่า  โลภมากลาภหายอย่างเดียวกัน ฯ  ถ้าจะตรวจสอบกันอีก  ก็เห็นจะยังมีถูกกันมาก  จึงเห็นว่านิทานเช่นนี้คงจะเป็นนิทานเก่าที่เล่ากันมาแต่ก่อน 2500 ปีขึ้นไป  ถ่ายเทกันไปมา  และเป็นวิธีที่ยกขึ้นมาประกอบทางสั่งสอนของคนโบราณครั้งก่อนพุทธกาลและราว ๆ พุทธกาล ฯ” [๒๔]

 

นอกจากนี้ประเด็นที่ยากแก่การอธิบายให้สอดคล้องกับนิยามความเป็นสากลขณะนั้น  ยังมีอีกประเด็นคือเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์และความเชื่อเรื่องการสำเร็จฌานขั้นสูงที่เรียกว่า  “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” คือ การระลึกชาติได้  สอดรับกับความเชื่อเรื่องกฎการเวียนว่ายตายเกิดของพุทธผสมพราหมณ์  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโต้แย้งว่าความเชื่อในเรื่องนี้ก็มีในโลกตะวันตก  โดยทรงยกกรณีปราชญ์ชื่อดังนาม “ปีถักโกรัส” (Pythagoras) ว่าก็เคยอ้างว่าระลึกชาติได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า  แสดงนัยให้เห็นว่าท้ายสุดแล้วความเชื่ออันเป็นรากฐานของพุทธศาสนานี้ใช่ว่าจะขัดแย้งกับคติความเชื่อที่มีอยู่ในโลกตะวันตก  ซึ่งถูกยอมรับเป็นมาตรฐานความเป็นสากลในขณะนั้น  และเมื่อคติความเชื่อเช่นนั้นยังสามารถเป็นรากฐานสำคัญของอารยธรรมตะวันตกได้  คติความเชื่อเช่นนี้ (ซึ่งเชื่อกันว่ามีอยู่มาแต่เดิมในสังคมสยาม) ก็น่าจะสามารถใช้เป็นฐานของอารยธรรมสยามใหม่ได้เช่นกัน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ประเด็นดังกล่าวไว้ดังนี้:

 

                “ในเรื่องราวของพวกกรีก  มีนักปราชญ์ชาตินั้นผู้หนึ่งชื่อ  ปีถักกอรัส (Pythagoras) เป็นเจ้าลัทธิในวิชาว่าด้วยธรรมดาของรูปธรรมนามธรรม (Phylosophy) ซึ่งเป็นเหตุเกิดศาสนาต่าง ๆ ขึ้น  และเป็นคนเข้าใจวิชาสำหรับคำนวณ (Mathematics)  เขาเกิดที่เมืองสามส (Samos)  ประเทศกรีกครั้งยังแยกเป็นหลายอาณาจักร  เมื่อก่อนคฤสตศกราช 582 ปี  คือ  ก่อนพุทธปรินิพพาน 40 ปี  ได้แก่  เวลากำลังเป็นพุทธกาล  ในตอนแรก ๆ พระพุทธเจ้าพึ่งได้ตรัสรู้สัก 5 ปีล่วงไปแล้ว  เที่ยวสอนความรู้ของตนในเมืองทั้งหลายแถบประเทศกรีกตั้งมาเดิมชื่อเรียกว่า  มักนากรีเซีย (Magna Greacia)  และสันนิษฐานตามภูมิศาสตร์โบราณว่าประเทศอิตาลีตอนใต้  เมื่อก่อนคฤสตศกราว 529 ปี  คือ หลังพุทธปรินิพพานราว 13 ปี  ทำกาลกิริยาที่เมืองเมตตาปันตุม (Matapontum)  จังหวัดมักนากรีเซีย  นั้นเอง  เมื่อก่อนคฤสตศกราว 500 ปีถ้วน  คือ  หลังพุทธปรินิพพาน 42 ปี ฯ  ปีถักโกรัสผู้นั้นกล่าวอ้างว่าตนระลึกชาติได้ ฯ  คราวหนึ่งก่อนคฤสตศกระหว่าง 1335 ลงมาหา 1149 ปี  แต่ที่ลงสันนิษฐานร่วมกันว่า 1183 ปี คือ ก่อนพุทธปรินิพพานราว 641 ปี  พวกกรีกสมทบกันทำสงครามต่อพวกโตรยัน (Trojan) คือ ชาวเมืองตรอย (Troy) ในประเทศโตรอัด ( Troad ) ปลายเขตแผ่นดินเอเชียไมนอร์ (Asia Minor) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  ด้วยสาเหตุคือ ปารีส (Paris) ราชบุตรของพระเจ้าไปรอัม (Priam) พระราชาของพวกโตรยันพาเอาพระนางเฮเลน (Helen) พระราชมเหษีของพระเจ้าเมนเนลาอุส (Menelaus) พระราชาเมืองสปาร์ตา (Sparta) อีกนัยหนึ่ง ชื่อเมืองลัชซีดีมน (Lacedaemon) ไป  พวกกรีกก็หวังจะตามเอาคืนมาให้จงได้ ฯ  สงครามครั้งนั้นฝ่ายกรีกมีพระเจ้าอักกเม็มนน (Agamemnon) พระราชาเมืองไมซีนี (Mycenae) และบริเวณอารโกลิส (Argolis) พระราชภาดาของพระเจ้าเมนเนลาอุสเป็นจอมพล  ต่อรบกันอยู่ถึง 10 ปี  พวกกรีกจึงมีชัยชนะ ได้เมืองตรอย  และได้พานางเฮเลนคืนมา  ในสงครามครั้งนั้น  พระเจ้าเมนเนลาอุส  ฆ่านายทหารพวกโตรยันชื่อ ยูฟอร์บุส (Euphorbus) ที่เป็นคนมีชื่อเสียงข้างกล้าหาญตาย  แล้วเอาโล่ห์ของเขาถวายไว้ ณ เทวสถานแห่งนางเทพอัปษรชื่อ ฮีรา (Hera) ที่พวกกรีกนับถือว่าเป็นภคนีเทวีแห่งพระพฤหัสบดี Zeus (Jupiter) และเป็นแบบอย่างของสตรีที่มีความดี  ทั้งที่เป็นภรรยาและที่เป็นมารดาอันตั้งอยู่ใกล้เมืองไมซีนี  บ้างก็ถวายไว้ ณ เทวสถานเทพบุตรอปอลโล (Apollo) โอรสพระพฤหัสบดี เป็นที่หมายแห่งแสงสว่างและอำนาจอันทำให้เป็นและตายของพระอาทิตย์  บางทีก็มักเข้าใจว่าเป็นพระอาทิตย์เอง  อันตั้งอยู่ที่เมืองบรางกิดี (Branchide) ฯ  ปีถักกอรัส นักปราชญ์กรีกผู้นั้นกล่าวอ้างว่า  ในครั้งนั้นตนเกิดเป็นยูฟอร์บุส ชาวโตรยันผู้ถูกพระเจ้าเมนเนลาอุสฆ่าตายในสงครามครั้งนั้น  แลเมื่อเกิดเป็นปิถักกอรัสแล้ว  เมื่อภายหลังแต่นั้นราว 600 ปี หรือเกือบเท่านั้น  ยังจำโล่ห์ของตนที่พระเจ้าเมนเนลาอุสถวายไว้ ณ เทวสถานนั้นได้ ฯ  เขายังอ้างถึงชาติก่อนและหลังแต่นี้อีก  ว่าครั้งนั้นเกิดเป็นคนชื่อนั้นและชื่อนั้น ฯ  ถ้าตรวจกันในเรื่องราวของพวกอื่น  ก็คงยังจะพบอีก  แต่เท่านี้ก็พอเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่า  คนโบราณแม้นอกพระพุทธศาสนา  ก็เชื่อถือความระลึกชาติได้เหมือนกัน ฯ” [๒๕]

 

การแก้ต่างให้กับพระพุทธเจ้าโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในที่นั้น  มีนัยเท่ากับแก้ต่างให้กับคติความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่ในสยามขณะนั้น  ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาสำคัญคือ  การมาของจักรวรรดินิยมตะวันตก ที่เริ่ม “รุก” เข้ามาโดยแฝงในรูปแบบต่าง ๆ  นอกเหนือจากการแข่งขันทางการค้าและการคุกคามทางการเมืองโดยตรง  ยังปรากฏการแข่งขันทางด้านคติความเชื่ออีกด้วย  ชนชั้นนำสยามเริ่มปรับตัวเรียนรู้วิทยาการจากโลกตะวันตก  แล้วปรับใช้ความรู้และวิทยาการเหล่านั้นมาค้ำจุนสถานะเดิมของตนในสังคม  เนื่องจากหวาดระแวงกันว่าการเข้ามาของชาวตะวันตกในพุทธศตวรรษที่ 24-25 จะทำให้อำนาจและบทบาทความเป็น “เจ้าผู้ปกครอง” ของตน  ต้องถูกสั่นคลอนจากอำนาจภายนอกที่เหนือกว่า  ขณะเดียวกับที่มีความพยายามในการปรับเปลี่ยนภูมิปัญญาดั้งเดิมให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังกระทบเข้ามา  และในกระบวนการปรับเปลี่ยนเหล่านั้นเอง  นำมาซึ่งการตัดต่อตีความวรรณกรรมจารีตขึ้นใหม่  จากเดิมที่รับรู้โลกและสังคมในแบบที่อยู่เลยพ้นจากประสบการณ์การรับรู้ทางผัสสะ  กลายเป็นการรับรู้ที่เน้นประสบการณ์ในโลกจริง  ให้ความสำคัญกับการรับรู้โลกในเชิงประจักษ์ 

ความสำคัญของพระมหาชนกในหมู่ชนชั้นนำสยามยุคสมบูรณาญาสิทธิ์  ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่าง  กล่าวคือท่ามกลางความขัดแย้งและคลุมเครือในอำนาจระหว่างขุนนางกับเชื้อพระวงศ์  เรื่องเล่าของพระมหาชนกกลายเป็นตัวแทนของการเรียกร้องสิทธิอำนาจแก่สถาบันพระมหากษัตริย์  “ฝั่ง” ที่พระมหาชนกพยายามว่ายจะไปให้ถึงนั้นคือ  “เมืองมิถิลานคร” ไม่ใช่ “สุวรรณภูมิ”  สุวรรณภูมิมีความสำคัญในแง่ที่เป็นเพียงทางผ่าน  พระมหาชนกตั้งพระทัยต่อเรือเพื่อไปทำการค้ายังสุวรรณภูมิ  ก็ด้วยหวังจะสร้างความมั่งคั่งแล้วไปชิงราชสมบัติเมืองมิถิลานคร  ความเพียรของพระมหาชนกในที่นั้น  จึงตอบสนองแรงปรารถนาของฝ่ายราชจักรีวงศ์เพื่อการขึ้นสู่อำนาจสูงสุดอย่างแท้จริงนั่นเอง

 

ฉบับชินวรกับปัญหาความจริงแท้แบบดั้งเดิม

นอกจากที่กล่าวข้างต้น  ชาดกในนิบาตยังมีลักษณะเฉพาะสอดรับกับสภาพความเปลี่ยนแปลงอีกอย่าง  กล่าวคือระยะแรกความเปลี่ยนแปลงทางตัวบทและสารสำคัญเป็นส่วนขยายจากความพยายามในการคงความเก่าแก่และความจริงแท้แบบดั้งเดิม  เพื่อตอบโต้กับชุดของความจริงแท้แบบใหม่ที่กำลังโอบล้อมเข้ามา  เป็นการแสดงความศิวิไลซ์ผ่านการผลิตซ้ำและสร้างความจริงแท้แบบดั้งเดิมขึ้นมาใหม่  เพื่อชี้ให้เห็นว่าในสังคมเดิมมีศาสตร์ลี้ลับที่เรียกตามศัพท์พุทธศาสนาว่า  “โลกุตตระธรรม”  ที่วิธีมองโลกแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลางเข้าไม่ถึงหรือไม่อาจเข้าใจได้  ต่างกับความรู้และวิทยาการจากตะวันตกซึ่งถูกมองเป็นเรื่องทางโลกย์ (หรือ “โลกิยะธรรม” )[๒๖]  นี่คือกระแสที่สองของความพยายามในการสร้างความศิวิไลซ์แก่สยาม  เป็นแนวทางที่ตกต่างจากกระแสแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำ  ส่วนกระแสที่สองผู้มีบทบาทดูเหมือนจะเน้นหนักไปทางฝ่ายสงฆ์มากกว่าฆราวาส  ความแตกต่างในแนวทางและวิธีการจัดการชำระวรรณกรรมระยะนี้จึงแสดงจุดยืนและความแตกต่างระหว่างฝ่ายรัฐกับสงฆ์  แต่ทั้งสองกระแสนี้ต่างเอื้อประโยชน์ต่อกันในการสร้างความศิวิไลซ์แก่สยามตอบโต้การครอบงำของจักรวรรดินิยมตะวันตก

เนื่องจากเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดทำ “พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ”  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช  ได้แยกต้นฉบับพระไตรปิฎกส่วนพระสูตรออกมาชำระแปลเป็นภาษาไทย  เน้นความสนใจไปที่ทศชาติ  ด้วยทรงมุ่งหวังจะตีพิมพ์เผยแพร่เป็นการกุศลเนื่องในงานวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ปีละเรื่องต่อเนื่องกันไป  นับแต่ พ.ศ. 2471 จนถึงวาระอายุครบ 70 ปีในพ.ศ. 2480  แต่ปรากฏว่าบางปีเช่น 2472 ทรงพิมพ์มากกว่าหนึ่งเรื่อง [๒๗]  นับเป็นทศชาติฉบับแปลที่กล่าวกันว่าเป็นที่เชื่อถือเป็นมาตรฐานของทศชาติฉบับพิมพ์ครั้งหลังจากนั้นเรื่อยมา  จนถึงระยะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มให้ความสนพระทัย “พระมหาชนก” ใน พ.ศ. 2520  ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับถัดไป

ด้วยความที่พิมพ์เผยแพร่ในงานวันพระราชสมภพของพระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช  ทั้งยังเป็นผลงานการแปลของพระองค์เองอีกด้วย  ทศชาติฉบับนี้จึงถูกเรียกอีกนามว่า  “ทศชาติฉบับชินวร”  การยึดถือตัวบทและแก่นเรื่องที่ถูกต้องตามพระไตรปิฎกถือเป็นคุณลักษณะอันโดดเด่นของทศชาติฉบับนี้  ในคราวจัดพิมพ์ครั้งแรกเนื่องในวันสมภพของพระองค์ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ทรงกล่าวถึงการแปลทศชาติของพระองค์ว่า  “ข้าพเจ้าแปลนี้เกือบเรียกว่าแปลจริง ๆ เพราะแปลเท่ารูปภาษามคธ  เว้นไว้แต่บางแห่งไม่ค่อยได้ความในภาษาไทยชัด  จึงเพิ่มคำลงประกอบลงช่วยให้ชัด  ส่วนตอนคาถามีอรรถกถาแก้เพื่อให้รู้เรียงความถูกอย่างหนึ่ง  เพื่ออธิบายให้ได้ความพิสดารอย่างหนึ่ง ฯ  ข้าพเจ้าแปลคาถานั้น ๆ ตามรูป  หาได้แปลแก้อรรถบอกเรียงความถูกไม่” [๒๘]

ความเปลี่ยนแปลงในรสพระธรรม  ทำให้ทรงไม่เห็นด้วยกับอรรถกถาจารย์รุ่นก่อนที่มักจัดประเภทการบำเพ็ญบารมีในแต่ละพระชาติแบบตายตัว เช่นว่า พระเตมีย์บำเพ็ญขันติบารมี, พระมหาชนกบำเพ็ญวิริยบารมี, สุวรรณสามบำเพ็ญสัจจบารมี, พระเนมิราชบำเพ็ญเนกขัมมบารมี, มโหสถบำเพ็ญปัญญาบารมี, ภูริทัตนาคราชบำเพ็ญศีลบารมี, พระจันทกุมารบำเพ็ญอธิษฐานบารมี, พระนารทพรหมบำเพ็ญเมตตาบารมี, วิธูรบัณฑิตบำเพ็ญอุเบกขาบารมี  และพระเวสสันดรบำเพ็ญทานบารมี (ซึ่งเป็นบารมี 10 ประการที่วิวัฒน์เป็นคำสอนพระราชาที่รู้จักกันในนาม  “ทศพิธราชธรรม”) [๒๙]  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช  ทรงเห็นว่า: 

 

“พระโพธิสัตว์ชื่อหนึ่งบำเพ็ญบารมีแต่อย่างเดียวเท่านั้นตลอดชาติ  เมื่อมาจับแปลเข้าคราวนี้จึงได้ความเห็นใหม่ว่า  ท่านกล่าวดังนั้นน่าจะหมายความเพียงว่า  บารมีอันนี้พระโพธิสัตว์ชื่อนี้ได้บำเพ็ญเป็นยอดเยี่ยมกว่า 9 บารมี  แต่ที่จริงพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี 10 บริบูรณ์ตลอดชาติหนึ่ง” [๓๐]  ทรงสลับการเชื่อมโยงกันระหว่างพระโพธิสัตว์กับ “บารมี” ด้วยทรงเห็นว่า  “ตอนพระเตมิยะเห็นพระราชบิดาลงราชทัณฑ์แก่โจร  ก็หลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องรับครองราชย์สมบัติ  และเวลาเมื่อพระชนกเสด็จออกไปเชิญให้ลาพรตออกรับครองราชสมบัติก็ไม่ทรงรับ  อาการเช่นนี้ชวนให้เห็นว่าเพื่อให้ตกแก่ผู้ต้องประสงค์  จึงจัดเป็นบำเพ็ญทานบารมี ฯ” [๓๑]

 

ต่อมา พ.ศ. 2471 ก็ถึงคราวที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช  จะทรงพิมพ์ “มหาชนกชาดก” เนื่องในวันพระราชสมภพของพระองค์ในวันที่ 16 ธันวาคม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ทรงวาดรูปภาพประกอบมาถวายแก่พระองค์  เป็นภาพพระมหาชนกขณะกำลังว่ายน้ำพร้อมสนทนาธรรมกับนางมณีเมขลา  เหตุที่เป็นรูปนี้ก็ด้วย “รูปภาพนั้นทรงไว้สำหรับประทานหรือถวายแก่ท่านผู้สรงน้ำพระองค์ในสมัยขึ้นปีใหม่” [๓๒]  หาใช่เพราะต้องการเน้นตัวบทและความสำคัญของพระมหาชนกจากฉากที่กำลังว่ายน้ำด้วยความเพียร (หรือความเพียรในการว่ายน้ำแม้จะไม่เห็นฝั่ง)  เพราะดังที่กล่าวไว้แล้วว่า  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช  ทรงเห็นว่าบารมีที่พระมหาชนกทรงบำเพ็ญอย่างยอดยิ่งนั้น ได้แก่ “ทานบารมี”  มีความสำคัญไม่น้อยกว่า “วิริยบารมี”

กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า  “วิริยบารมี” จะไม่ใช่บารมีเฉพาะที่สำคัญของพระมหาชนกตามที่ปรากฏในทศชาติฉบับชินวรนี้แต่อย่างใด  เพราะ “วิริยบารมี” ที่ทศชาติฉบับนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดยิ่งกว่าการว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรทั้ง 7 นั้น ได้แก่ ความเพียรพยายามตั้งใจจริงที่จะออกผนวช  (เรียกตามศัพท์ในทศชาติว่า “ออกมหาภิเนษกรมณ์” ) “มหาชนกชาดก” ในทศชาติฉบับชินวรเริ่มเรื่องด้วยการเล่าถึงยุคพุทธกาล  พระภิกษุมาชุมนุมกัน ณ พระเชตวันมหาวิหาร  พระพุทธเจ้าตรัสต่อที่ชุมนุมสงฆ์ว่า  “แน่ะภิกษุทั้งหลาย  พระตถาคตออกมหาภิเนษกรมณ์ในกาลนี้ก็หาไม่  ได้ออกแล้วแม้ในกาลก่อน” [๓๓]  จากนั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงนำ “อดีตวัตถุ” มาเล่าต่อ  “อดีตวัตถุ” ที่ว่าก็ได้แก่  เรื่อง “มหาชนกชาดก” นี้เอง

การเสด็จออกผนวชของพระมหาชนกเป็นเรื่องยากก็เพราะเป็นการออกผนวชที่ต้องทิ้งราชสมบัติ ทิ้งบ้านเมือง ทิ้งพระนางสีวลีและนางสนม 700 นาง  ทิ้งพระทีฆาวุราชกุมาร  ทิ้งเหล่าข้าราชบริพารและอาณาประชาราษฎร  ฯลฯ “ทศชาติฉบับชินวร” พรรณนาฉากการออกผนวชของพระมหาชนกไว้อย่างยืดยาวเป็นจำนวนกว่า 26 หน้า (นับจากหน้า 58 - 83)  ขณะที่พรรณนาการว่ายน้ำและสนธนาธรรมกับนางมณีเมขลาอย่างกระชับสั้นเพียง 4 หน้า (จากหน้า 47 - 50) จากจำนวนหน้าทั้งหมด 40 หน้า (จากหน้า 43 - 83)  ที่เหลือเป็นการพรรณนาภูมิหลังความขัดแย้ง การแย่งชิงราชสมบัติเมืองมิถิลานคร  ชีวิตวัยเยาว์  การพิสูจน์พระองค์เพื่อขึ้นสู่ราชบัลลังก์  การเสด็จประพาสราชอุทยาน  การสำราญพระราชหฤทัยกับเหล่านางสนมและข้าราชบริพาร  ฯลฯ  เกินกว่าครึ่งของเนื้อเรื่องทั้งหมดของ “ทศชาติฉบับชินวร” เป็นการพรรณนาฉากการออกผนวชของพระมหาชนก   

เนื้อเรื่องเริ่มจากทรงเห็นธรรมในคราวเสด็จประพาสราชอุทยาน  ทรงทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงสองต้น  ต้นหนึ่งมีผลดกงาม  อีกต้นไม่มีผล  ทรงเสวยผลมะม่วงจากต้นที่มีผล  แล้วตรัสชมว่า “ดุจโอชารสทิพย์” กลุ่มชนผู้ติดตามได้ยินดังนั้นคล้อยหลังพระองค์เสด็จไปต่างพากันยื้อแย่งผลมะม่วงมากินกันจนต้นมะม่วงหักโค่นลง    พอเสด็จกลับมาเห็นต้นมะม่วงเป็นดังนั้น  ก็ทรงบังเกิดความสังเวชพระทัย  ทรงดำริว่า  “ต้นนี้มีวรรณสดเขียวตั้งอยู่แล้วเพราะหาผลมิได้  ก็แต่ต้นนี้ถูกหักลงแล้ว  หักเกลื่อนแล้วเพราะมีผล  แม้ราชสมบัตินี้ก็เช่นกับไม้มีผล  บรรพชาเช่นกับต้นไม้หาผลมิได้  ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล  ภัยย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีความกังวล  ก็อาตมะจักไม่เป็นดุจต้นไม้มีผล  จักเป็นดุจต้นไม้หาผลมิได้  อาตมะจักละราชสมบัติออกผนวช  ทรงอธิษฐานพระมนัสมั่น [๓๔]  จากนั้นเสด็จเข้าพระนครขึ้นสู่ปราสาท  เริ่มปฏิบัติพระองค์เป็นบรรพชิต  เจริญสมณธรรมอยู่พระองค์เดียว  ไม่ออกว่าราชกิจทั้งปวง  จนเวลาล่วงไปราว 4 เดือน  ทรงตระหนักพระทัยแน่วแน่ว่า  “พระราชนิเวศปรากฏดุจโลกันตนรก  ภพทั้งสามปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ราวกะเร่าร้อนทั่ว” [๓๕]  และทรงตระหนักชัดอีกว่า  “เพศแห่งบรรพชิตประเสริฐกว่าเพศพระราชา” [๓๖]  จึงทรงตั้งพระทัยจะละจากเมืองมิถิลานครมุ่งสู่ป่าหิมพานต์ 

รุ่งขึ้นอีกวันจึงทรงเสด็จลงจากมหาปราสาท  ฝ่ายพระนางสีวลีและนางสนม 700 คน  ไม่ได้เห็นพระมหาชนกเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว  ในวันเดียวกันนั้นจึงพากันขึ้นมหาปราสาท  จะเข้าเฝ้าพระองค์  พอพระองค์เสด็จลงจากปราสาทสวนทางกับพระนาง  พระนางจำพระมหาชนกไม่ได้  เข้าพระทัยว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามาถวายโอวาทพระราชา  ครั้นถึงที่บรรทมพระนางทอดพระเนตรเห็นห่อเครื่องราชาภรณ์  จึงทรงระลึกได้ว่าภิกษุที่เห็นนั้นคือพระมหาชนก  จึงรีบเสด็จตามออกไป  เกิดความโกลาหลขึ้นในเมืองมิถิลานคร  พระนางสีวลีพร้อมนางสนม 700 คน และเหล่าข้าราชบริพารต่างเดินตามพระมหาชนก  กราบทูลวิงวอนให้เสด็จกลับไปเป็นพระราชาดังเดิม  พระมหาชนกก็ไม่ทรงเสด็จกลับ  พระนางสีวลีจึงคิดอุบายแสร้งเผาบ้านเรือนในเมืองให้วอดวาย  แล้วกราบทูลว่า  “พระราชทรัพย์นั้นของพระองค์” ให้เสด็จกลับไปดับเพลิง  พระมหาชนกทรงสดับรู้ว่าเป็นอุบายของพระนาง  ทั้งพระองค์ก็มิได้อาลัยอาวรณ์ “พระราชทรัพย์” ของพระองค์นั้นแล้ว  จึงทรงเสด็จต่อไป

พระนางสีวลีจึงคิดอุบายใหม่  ตรัสสั่งให้เหล่าอมาตย์แสร้างทำเหตุการณ์เป็นโจรปล้นฆ่าราษฎรชาวเมือง “แลทำการปล้นแว่นแคว้น” แล้วตกแต่งเรือนกายราษฎรที่ถูกประหารให้นอนลอยน้ำพัดไป  ให้พระมหาชนกเห็นเป็นศพราษฎรลอยน้ำตายเกลื่อนแม่น้ำ   จากนั้นพระนางก็เข้าไปกราบทูลว่ามีกองโจรปล้นเมือง  ทำร้ายอาณาประชาราษฎร  ขอพระองค์เสด็จกลับไปปราบปรามโจรผู้ร้าย  พระมหาชนกก็ทรงสดับรู้อีกว่าเป็นอุบายที่จะนำพระองค์กลับไปเป็นพระราชา  พระองค์จึงตระหนักว่าหากฝูงชนยังติดตามพระองค์ไปเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดี  ทรงคิดอุบายจะให้ฝูงชนกลับเข้าเมืองไปใช้ชีวิตดังเดิม  จึงทรงตรัสถามเหล่าอมาตย์ทั้งหลายว่า  ราชสมบัตินี้ของใคร  อมาตย์ทั้งหลายทูลตอบว่า  ของพระองค์  พระองค์ตรัสต่อว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วท่านทั้งหลายจงลงราชทัณฑ์แก่ผู้ทำรอยขีดนี้ให้ว่างขาด  ตรัสแล้วทรงขีดรอยขวางทางระหว่างพระองค์กับฝูงชนไว้  แล้วเสด็จต่อไป  ฝูงชนไม่กล้าเดินตามพระองค์ไปเนื่องจากกลัวราชทัณฑ์  ฝ่ายพระนางสีวลีเมื่อเห็นเช่นนั้นไม่อาจกลั้นความเศร้าโศก  ร่ำไห้ล้มกลิ้งเกลือกพื้นดินจนรอยขีดขวางนั้นเลือนหายไป  ฝูงชนจึงเดินตามพระองค์ต่อไป [๓๗]  กาลนั้นฤษีผู้ใหญ่รูปหนึ่งนามว่า  “นารทะ”  รับรู้เหตุการณ์เช่นนั้นแล้วเกรงว่าพระมหาชนกจะโอนอ่อนตามคำเรียกร้องของปุถุชน  พระนารทฤษี “จึงไปด้วยกำลังฤทธิ์  สถิตในอากาศเบื้องหน้าแห่งพระโพธิสัตว์เจ้านั้น”  เพื่อจะถวายโอวาทแก่พระองค์ให้มั่นคงแน่วแน่ในการออกผนวชต่อไป  พร้อมทั้งบอกวัตรปฏิบัติแก่พระมหาชนกให้ทรงเคร่งครัดมากขึ้น  มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้:

 

“กิมฺเหโส  มหโต  โฆโส                               กา  นุ  คาเมว  กีฬิยา

สมณ  เตฺวว  ปุจฺฉามิ                  กตฺเถโสภิสโฏ  ชโน

 

ความกึกก้องของประชุมชนใหญ่นี้เพื่ออะไร  นั่นใครหนอมากับท่านเหมือนเล่นกันอยู่ในบ้าน  สมณะ อาตมะขอถามท่าน  ประชุมชนนี้แวดล้อมท่านเพื่ออะไร ฯ

 

                                พระมหาสัตว์ตรัสตอบพระฤษีนารท (ด้วยคาถาที่ 138 - 139)

 

                                มมํ  โอหาย  คจฺฉนฺตํ                  เอตฺเถโสภิสโฏ  ชโน

                                สีมาติกฺกมนํ  ยนฺตํ      มุนิโมนสฺส  ปตฺติยา

 

ประชุมชนนี้ตามข้าพเจ้าผู้ละพวกเขาไปในที่นี้  ข้าพเจ้าผู้ล่วงสีมาคือกิเลสไปเพื่อถึงมโนธรรม  กล่าวคือญาณของมุนีผู้ไม่เกื้อกูลแก่เหย้าเรือน  ผู้เจือด้วยนันทีความเพลิดเพลินทั้งหลาย  ซึ่งเกิดขึ้นในขณะไปอยู่  เมื่อพระผู้เป็นเจ้ารู้อยู่ฉะนั้นแล้ว  จะถามทำไม ฯ

 

ลำดับนั้นพระนารทมหามุนีจึงกล่าวคาถา (ที่ 140) อีก  เพื่อประโยชน์แก่พระมหาสัตว์สมาทานมั่นว่า

 

                                มาสฺสุ  ติณฺโณ  อมญฺญิตฺโถ          สรีรํ  ธารยํ  อิมํ

                                อตีรเณยฺยมิทํ  กมฺมํ    พหู  หิ  ปริปนฺถโย

 

พระองค์เพียงแต่ทรงสรีระอันครองบรรพชิตบริขารและผ้ากาสาวะนี้จะสำคัญว่า   เราข้ามพ้นกิเลสแล้วหาได้ไม่  กรรมคือกิเลสจะกำหนดเท่านี้หาได้ไม่  เพราะว่าอันตรายคือกิเลสของพระองค์มีมาก ฯ

 

ลำดับนั้นพระมหาชนกบรมโพธิสัตว์จึงตรัส (คาถา 141) ว่า

 

                                โก  นุ  เม  ปริปนฺถสฺส                  มม  เอวฺ  วิหาริโน

                                โย  เนว  ทิฏฺเฐ  นาทิฏเฐ              กามานมภิปตฺถเย

 

ข้าพเจ้าผู้ใดปรารถนาเฉพาะซึ่งกามทั้งหลายในมนุษยโลก  อันบุคคลเห็นแล้วก็หาไม่เลย  ในเทวโลกอันบุคคลไม่เห็นแล้วก็หาไม่  อันตรายอะไรหนอจะพึงมีแก่ข้าพเจ้าผู้นั้นซึ่งมีปกติผู้เดียวอยู่อย่างนี้ ฯ

 

 เมื่อพระนารทมหาดาบสจะแสดงอันตรายทั้งหลายแก่พระมหาสัตว์นั้น จึงตรัสภาษิตคาถา (ที่ 142) ว่า

 

                                นิทฺทา  ตนฺที  วิชมฺภิกา                               อรติ  ภตฺตสมฺมโท

                                อาวสนฺติ  สรีรฏฐา     พหู  หิ  ปริปนฺถโย

 

อันตรายมากทีเดียว คือความหลับ  ความเกียจคร้าน  ความง่วงเหงา  ความไม่ชอบใจ  ความเมาเพราะบริโภคภัตตาหารเกินประมาณ  ตั้งอยู่ในสรีระของพระองค์ ฯ  มีอรรถาธิบายว่า  สมณะ  พระองค์เป็นผู้มีพระรูปงามน่าเลื่อมใส  มีพรรณดุจทองคำ  ครั้นเมื่อพระองค์รับสั่งว่าอาตมะละราชสมบัติออกทรงผนวช  คนทั้งหลายจักถวายบิณฑบาตรมีโอชาประณีตแก่พระองค์  พระองค์ทรงรับพอเต็มบาตร  เสวยพอควรแล้วเข้าสู่บรรณศาลา  บรรทม ณ ที่ลาดด้วยไม้  หลับกรน  ตื่นในระหว่าง  พลิกกลับไปกลับมา  เหยียดพระหัตถ์แลพระบาท  ลุกขึ้นจับราวจีวร  เกียจคร้านไม่จับไม้ยุงกวาด ๆ อาศรมบท  ไม่นำน้ำดื่มมา  บรรทมหลับอีก  ตรึกในกามวิตก  กาลนั้นก็ไม่พอพระหฤทัยในบรรพชา  ความกระวนกระวายเพราะภัตตาหารจักมีแด่พระองค์ด้วยประการฉะนี้ ฯ”[๓๘]

 

จากนั้น “ทศชาติฉบับชินวร” เล่าต่อไปถึงการที่พระนางสีวลียังคงติดตามพระมหาชนกต่อไป  ทั้งสองเสด็จถึงเมืองถูนนคร  พระมหาชนกเสด็จออกบิณฑบาต  ทอดพระเนตรเห็นชิ้นเนื้อที่สุนัขคาบมาทิ้งไว้บนลานดินหน้าพระพักตร์  พระองค์ทรงเห็นชิ้นเนื้อนั้นไม่มีเจ้าของแล้ว  จึงทรงหยิบมาปัดฝุ่นแล้วเสวย  พระนางสีวลีเห็นเช่นนั้นก็ต่อว่าพระองค์  ด้วยเห็นว่าทรงประพฤติพระองค์ไม่สมเป็นวรรณะกษัตริย์  แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้พระนางได้คิดว่า  “บัดนี้พระองค์จักไม่ใช่พระราชสวามีของเรา” อีกแล้ว [๓๙]  แต่พระนางก็ยังไม่อาจตัดพระทัยจากพระองค์  จึงตามเสด็จพระองค์ต่อไป 

ทั้งสองเสด็จถึงประตูเมืองถูนนคร  พบนางกุมาริกานางหนึ่งกำลังฝัดทรายเล่นอยู่  แขนของนางข้างหนึ่งสวมกำไล 1 อัน อีกข้างสวม 2 ข้าง  พระมหาชนกทรงดำริว่า  การที่พระนางสีวลียังคงติดตามพระองค์อูยู่อย่างนั้นไม่เป็นผลดี  เพราะจะทำให้ชาวเมืองติเตียนได้ว่า  แม้บวชแล้วก็ยังไม่สามารถละจากภรรยาได้  จึงทรงตรัสถามนางกุมาริกาเพื่อให้การพูดตอบของนางทำให้พระนางสีวลีเลิกติดตามพระองค์  พระมหาชนกทรงถามนางกุมาริกาว่า  เหตุใดกำไลในแขนนางข้างหนึ่งดังอีกข้างไม่ดัง  นางตอบได้อย่างน่าอัศจรรย์ว่า  กำไลข้างไม่ดังนั้น  “เป็นเหมือนนักปราชญ์สงบนิ่งอยู่   บุคคลสองคนถึงซึ่งความวิวาทกัน  บุคคลคนเดียวจักวิวาทกันกับด้วยใครเล่า  ท่านผู้ใคร่ต่อสวรรค์จงชอบความเป็นคนอยู่ผู้เดียว ฯ” [๔๐]  ได้ยินดังนั้นแล้วพระมหาชนกจึงตรัสต่อพระนางสีวลีว่า  “ดูก่อนนางสีวลี  เธอได้ยินคาถาที่นางกุมารีกล่าวละหรือ  นางกุมารีก็เป็นเพียงชั้นสาวใช้มาติเตียนเรา  ความที่เราทั้งสองประพฤติคืออาตมะเป็นบรรพชิตเธอเป็นสตรีเดินติดตามมานั้นเป็นเหตุแห่งความครหา... เธออย่าเรียกอาตมะว่าเป็นพระราชสวามีของเธอ  และอาตมะก็จะไม่เรียกเธอ  ว่าเป็นมเหสีของอาตมะอีก ฯ” [๔๑]

พอถึงทางแยก พระมหาชนกจึงเสนอให้เดินแยกกันที่ทางแยกที่จะถึงข้างหน้า  พระนางสีวลีได้ยินรับสั่งก็กราบทูลว่า  “พระองค์เป็นขัตติยะอันอุดม  จงถือเอาทางเบื้องขวาเสด็จไป  ข้าพระองค์เป็นสตรีชาติต่ำจะถือเอาทางเบื้องซ้ายไป” [๔๒]  แต่เสด็จไปได้เพียงเล็กน้อย  พระนางก็ไม่สามารถกลั้น “โศกาดูร” ไว้ได้  เสด็จกลับมาตามพระมหาชนกเข้าสู่ถูนนครด้วยกัน  ครั้นถึงเวลาบิณฑบาต  เสด็จถึงประตูเรือนช่างศร  จึงทรงคิดใช้วิธีเดียวกับคราวพบนางกุมาริกา  ทรงตรัสถามช่างศรว่า  เหตุใดเวลาเล็งดูลูกศรจึงต้องหลับตาข้างหนึ่ง  ช่างศรทูลตอบพระองค์เปรียบเทียบว่า  “ข้าแต่พระสมณะ  เล็งด้วยจักษุทั้งสองปรากฏพร่าไปไม่ถึงที่คดเบื้องหน้า  ย่อมไม่สำเร็จความดัดให้ตรง  ถ้าหลับจักษุข้างหนึ่ง  เล็งดูที่คดด้วยจักษุข้างหนึ่งถึงที่เบื้องหน้า  สำเร็จความดัดให้ตรง (นี่และฉันใด)  บุคคลสองคนถึงแล้วซึ่งความกล่าวแก่งแย่งกัน  บุคคลคนเดียวจักกล่าวแก่งแย่งกับด้วยใครเล่า (ก็ฉันนั้น)  เมื่อพระสมณะใคร่ต่อสวรรค์  จงชอบความเป็นผู้อยู่ผู้เดียวเถิด ฯ” [๔๓]

แต่ก็เช่นเดิม  พระนางสีวลียังคงความเพียรอย่างแก่กล้าที่จะนำพระมหาชนกเสด็จกลับเมืองมิถิลานคร  จนเสด็จถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่ง  มีแนวหญ้ามุงกระตายเขียวชอุ่ม  พระมหาชนกทรงใช้วิธีใหม่เพื่อหวังให้พระนางสีวลีเลิกติดตามพระองค์  พระองค์ถอนต้นหญ้าขึ้นมา  ตรัสเรียกพระนางมาหาแล้วรับสั่งว่า  หญ้าที่พระองค์ทรงถอนขึ้นนี้ไม่อาจสืบต่อกับกอได้อีกฉันใด  การอยู่ร่วมกันระหว่างพระองค์กับพระนางก็ไม่อาจสืบต่อกันอีกฉันนั้น  พระนางได้ยินเช่นนั้น  ก็ไม่อาจอดกลั้นพระทัยได้  ทรง “ปริเวทนาการเป็นอันมาก  ถึงวิสัญญีล้มลงที่มรรคาใหญ่” [๔๔]  เมื่อเห็นเช่นนั้นแล้ว  พระมหาชนกจึงได้ทีฉวยรีบสาวพระบาทเสด็จสู่ป่าหิมพานต์  เข้าอภิญญาสมาบัติเป็นเวลา 7 วันก็เสด็จสู่พรหมโลก  ฝ่ายพระนางสีวลีเมื่อฟื้นคืนสติ  ไม่เห็นพระมหาชนก  ออกเที่ยวตามหาเป็นนานปีก็ไม่พบ  “มหาชนกชาดก” ระบุถึงพระนางในตอนนี้ว่า  “ทรงปริเทวนาการมากมาย”  ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ในที่สำคัญเพื่อระลึกถึงพระมหาชนก ได้แก่ สถานที่ทรงตรัสกับช่างศร  ตรัสกับนางกุมาริกา  เสวยเนื้อสุนัขทิ้ง  และตรัสกับพระนารทฤษี  เสด็จกลับมิถิลานคร  ทรงอภิเษกทีฆาวุราชกุมาร  พระราชโอรสของพระมหาชนกขึ้นครองราชย์  จากนั้นพระนางทรงผนวชเป็นอิสินี  ประทับในราชอุทยาน  ไม่นานก็ทรงเสด็จสู่พรหมโลกเช่นเดียวกับพระมหาชนก

“มหาชนกชาดก” จบเรื่องลงตามขนบของการเล่าชาดกอื่น ๆ  คือจบด้วยการเฉลยธรรมของพระพุทธเจ้าว่าใครกลับมาเกิดเป็นใครในยุคพุทธกาล  สำหรับ “มหาชนกชาดก” พระพุทธองค์ทรงเฉลยว่า  นางมณีเมขลาครั้งนั้นเป็นนางภิกษุณีชื่อ  “อุบลวรรณา” ในยุคพุทธกาล  พระนารทฤษีเป็นพระสารีบุตร  นางกุมาริกาเป็นนางเขมาภิกษุณี  ช่างศรเป็นพระอานนท์  พระนางสีวลีเป็นพระนางยโสธรา  ทีฆาวุกุมารเป็นพระราหุลกุมาร  ข้าราชบริพารที่ติดตามพระองค์ในครั้งนั้นเป็นพุทธบริษัทในยุคพุทธกาลนั่นเอง  เป็นที่น่าสังเกตว่าพระมหาชนกใน “ทศชาติฉบับชินวร”ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ยังสอดคล้องลงรอยกับความในพระสุตตันตปิฎก  กลายเป็นมาตรฐานการแปลทศชาติฉบับอื่น ๆ หรือแม้แต่เป็นมาตรฐานการแปลพระไตรปิฎกส่วนพระสูตร  แม้ฉบับแปลระยะหลังและตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ [๔๕]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช  ทรงยังคงพยายามรักษา “แก่นเรื่อง” ของพระมหาชนกในแบบฉบับดั้งเดิมเอาไว้  ดังที่อนุสรณ์  อุณโณ และรื่นฤทัย  สัจจพันธุ์  ชี้ให้เห็นไว้ คือ ชาดกในพระไตรปิฎก มักจะไม่มีเนื้อเรื่อง  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช ได้แต่งเสริมให้มีเนื้อเรื่องขึ้นมา  โดยเฉพาะตอนเริ่มและตอนจบของเรื่อง แต่ยังคงรักษา “แก่นเรื่อง” และฉากพรรณนาของเรื่องไว้ให้สอดคล้องกับพระไตรปิฎก  โดยตอนเริ่มและจบเรื่องนั้นทรงแสดง “สโมธาน” กำหนดเอาความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้ากับบุคคลต่าง ๆ ในยุคพุทธกาลเป็นมาตรฐานเทียบเคียงว่า  ใครกลับชาติมาเกิดเป็นใคร เช่น พระพุทธเจ้า = พระมหาชนก, พระมเหสี = พระนางสีวลี – พระนางยโสธรา (พิมพา), พระราชโอรส = ทีฆาวุกุมาร – ราหุลกุมาร, ผู้ช่วยให้รอด = นางมณีเมขลา – นางอุบลวรรณาภิกษุณี  ฯลฯ  

ในส่วน “แก่นเรื่อง” ที่มีอยู่เดิมนั้นก็ต้องนับเป็นความหลักแหลมลุ่มลึกของปราชญาจารย์ยุคเก่า  ท่านซ่อนนัยเป็นความเปรียบ (metaphor) ยกย่องความตั้งมั่นแน่วแน่ในการสละชีวิตทางโลกย์ “บำเพ็ญเพียร” เพื่อการหลุดพ้น  ว่าเป็นหนทางที่ยากลำบากยิ่ง  ยากยิ่งกว่าการว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรทั้ง 7 เสียอีก  พระมหาชนกซึ่งว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรทั้ง 7 มาแล้ว  ยังทรงได้ความยากลำบากจากการผนวช  เป็นต้น  ฉะนั้น การว่ายน้ำของพระมหาชนกในที่นั้น  หาได้เป็นการว่ายอย่างที่ควรจะเข้าใจตามตัวบทอักษรไม่  เป็นการว่ายในอีกระบบคิดที่แตกต่างจากที่เราจะเข้าใจได้ด้วยวิธีมองจากมาตรฐานของปัจจุบันซึ่งถูกครอบงำด้วยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่  “ความเพียร” ของพระองค์ก็ไม่ใช่ความเพียรที่สนองตอบต่อวิถีชีวิตแบบคนสมัยใหม่  แต่เป็นความเพียรที่มีจุดมุ่งหมายก้าวข้ามปัญหาในอดีตและปัจจุบัน  สู่อนาคตที่ดีกว่า  การเปลี่ยนจากชาดกสู่ทศชาติถือเป็นเรื่องเล่าที่ถูกยกระดับสู่พิธีกรรมการแสดงองค์เพื่อเปลี่ยนผ่านสถานะจากพระโพธิสัตว์สู่ “ความเป็นพระพุทธเจ้า”  ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการตระหนักรู้ถึงความจริงของชีวิต, การยอมรับความจริง, ยอมรับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน  กล่าวได้ว่า พระมหาชนกใน “ทศชาติฉบับชินวร” นี้ยังคงเป็นพระมหาชนกตามแบบฉบับโลกุตตระธรรม  คือโลกศักดิ์สิทธิ์ในทางพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นว่า  สัจธรรมความจริงแท้ในอุดมคติแบบดั้งเดิมยังคงมีอยู่ท่ามกลางการโอบล้อมของสัจจะความจริงแบบสมัยใหม่  ส่วนจะมีอยู่จริงหรือไม่นั้น  กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

จากนิทานเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์สู่วรรณคดีสาธารณะ     

สืบเนื่องจากสำนักพิมพ์ปรานีได้ติดต่อหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง  วัฒนปฤดา)[๔๖] ขอให้เขียนเรื่องชาดกในวรรณคดีทางพุทธศาสนา  ให้เป็นเรื่องอ่านง่าย ๆ สำหรับคนทั่วไป  โดยเฉพาะเด็กเยาวชน  “เพื่อให้มีหนังสืออ่านสำหรับอบรมศีลธรรมตั้งแต่เยาว์วัย”[๔๗]  แต่หลวงวิจิตรวาทการเห็นว่า  หนังสือประเภทนี้มีอยู่มากแล้วในขณะนั้น  จึได้คิดแต่งหนังสืออีกแนวหนึ่ง  ที่จะมุ่งให้เป็นหนังสือแบบ “วรรณคดี” อ่านได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่  คือให้ได้ทั้งสาระความรู้ควบคู่กับรสทางวรรณคดีบันเทิงใจแก่เยาวชน  จึงเกิดงานเขียน “วรรณคดีชาดกฉบับหลวงวิจิตราทการ” ขึ้น  ซึ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหาชาดกแล้ว  จะเห็นได้ว่าหลวงวิจิตรวาทการยังคงใช้ทศชาติฉบับชินวรเป็นหลักในการเขียน  แต่สิ่งที่ทำให้ “วรรณคดีชาดกฯ” แตกต่างจาก “ทศชาติฉบับชินวร” ก็คือ “วรรณคดีชาดกฯ” จะไม่มีส่วนที่เป็น “คาถา” ร้อยกรองภาษาบาลีถูกถอดออกหมด  เนื่องจากมุ่งหมายนำเสนอสู่สาธารณะ  จำเป็นต้องเขียนเป็นร้อยแก้วให้อ่านเข้าใจง่าย  และที่สำคัญคือ  หลวงวิจิตรวาทการได้เขียนแทรกตาม “หลักวิชา”  อธิบายหลักธรรมที่เป็นแก่นเรื่องและพรรณนาสภาพบ้านเมืองประกอบ “ความรู้ทางประวัติศาสตร์”[๔๘]

ในส่วนของ “พระมหาชนก” หลวงวิจิตรวาทการกล่าวสอดคล้องกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช  ในประเด็นว่า  “เรื่องพระมหาชนก  เป็นเรื่องแสดงวิริยะ  คือความมานะพยายาม  และเนกขัมมะ  คือความเสียสละทิ้งความสุขสมบูรณ์  เข้าไปบำเพ็ญพรต”[๔๙]  ฉะนั้นเมื่อพระมหาชนกทรงทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงในราชอุทยานถูกโค่นล้มหลังจากที่ทรงเสวยเสร็จ  ก็ทรงบังเกิดความสังเวชพระทัย  จนเห็นสัจจะที่ว่า  “การที่มะม่วงต้นนี้ถูกหักรานย่อยยับ  ก็เพราะเหตุอย่างเดียว  คือเป็นต้นไม้ที่มีผลโอชารส  แต่ส่วนต้นไม้อื่น ๆ ที่ไม่มีดอกผลนั้น  สามารถทรงต้นอยู่ได้  โดยไม่มีใครประทุษร้ายรบกวน  ภาพที่ได้ทรงเห็นครั้งนี้  ทำให้ได้คติว่า  ความมั่งคั่งนั้น  เป็นภัยทั้งต้นไม้และคนผู้ที่จะมีความสุขที่สุด  ก็คือผู้ที่ไม่มีอะไรเสียเลย  ตั้งแต่นั้นมาอาการของพระมหาชนกก็เปลี่ยนไป  ไม่ทรงใยดีด้วยราชสมบัติ  ทรงเบื่อหน่ายในชีวิตที่อึกทึกครึกโครม  ทรงรำพึงถึงความเป็นไปในนครมิถิลา  และทรงปรารถนาว่า  เมื่อไรหนอ  จึงจะไปพ้นสิ่งเหล่านี้เสียได้”[๕๐]  พระมหาชนกฉบับหลวงวิจิตรวาทการจึงจบเรื่องเช่นเดียวกับฉบับชินวร คือทรงเสด็จออกผนวช  และเผชิญความทุกข์ยากต่าง ๆ ในระหว่างที่ออกผนวชนั้น  หลวงวิจิตรวาทการพรรณนาถึงช่วงที่ทรงว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรและได้พบนางมณีเมขลาเพียงเล็กน้อย 

โดยในส่วนของนางมณีเมขลานั้น  หลวงวิจิตรวาทการเสนอให้แยก “นิยาย”  ออกจาก “ความจริง” และให้สนใจเฉพาะส่วนที่เป็นบทสนทนาธรรมระหว่างพระมหาชนกกับนางมณีเมขลา  กล่าวคือเรื่องนางมณีเมขลานั้นให้ถือเป็น “นิยาย”  ส่วนการสนทนาธรรมนั้นให้ถือเป็นสาระสำคัญของเรื่อง  ซึ่งคนสมัยก่อนเสนอไว้แทรกอยู่ในรูปของ “นิยาย” เพื่อประโยชน์ในการนำเสนอนั่นเอง  และเมื่อต้องพิจารณาจำแนกว่าอะไรจริง  อะไรเป็นนิยายที่สร้างขึ้นประกอบเรื่อง  หลวงวิจิตรวาทการก็เสนอให้ใช้ “หลักวิชา”  คืออาศัยอำนาจของความรู้มาแสดงเหตุผลประกอบการพิจารณา  หลวงวิจิตรวาทการจึงเป็นบุคคลแรก ๆ ในหมู่นักเขียนชาดกที่เสนอว่า  “สุวรรณภูมิ” ที่พระมหาชนกต่อเรือสำเภาจะไปทำการค้านั้น  “คือดินแดนที่เป็นเมืองเราในเวลานี้”[๕๑]

การว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรก็ถูกตีความโดยหลวงวิจิตรวาทการว่า  เป็นผลมาจากสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้ในวิทยาศาสตร์” กล่าวคือ “ก่อนที่พระมหาชนกจะกระโดดลงไปในน้ำนั้น  ได้เอาผ้าทรงของพระองค์ชุบน้ำมันเสียก่อน  นั่นเป็นข้อหนึ่งซึ่งแสดงว่า  ความรู้ในวิทยาศาสตร์ของคนครั้งกระนั้น  ได้ก้าวหน้าไปมาก  เพราะในเวลานี้พวกนักว่ายน้ำข้ามช่องอังกฤษก็ต้องใช้น้ำมันทาตัวเสียก่อน  มิฉะนั้นก็ไม่สามารถจะว่ายข้ามไปได้”[๕๒]  ทั้งนี้หลวงวิจิตรวาทการหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงระยะเวลาที่พระมหาชนกว่ายน้ำในมหาสมุทรว่า  เป็นเวลานานเท่าใด  ถึง 7 วัน 7 คืนหรือไม่ 

นอกจากนี้แล้ว หลวงวิจิตรวาทการยังเสนอสิ่งที่เรียกว่า  “ความรู้ทางประวัติศาสตร์”  สำหรับพิจารณาสภาพบ้านเมืองของ “อินเดียโบราณ”  วัฒนธรรม  ประเพณี  ตามที่ปรากฏในเรื่องพระมหาชนก  เช่น สภาพของเมืองมิถิลานคร  ลำดับชั้นวรรณะของคนสมัย “อินเดียโบราณ”  ประเพณีการเสี่ยงทายหาผู้มีคุณสมบัติจะขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วยการส่งราชรถออกไป  หากราชรถหยุดอยู่ตรงหน้าผู้ใด  แสดงว่าผู้นั้นมีบุญสมควรจะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์  จารีตปฏิบัติในราชสำนักที่ว่า  ต้นไม้ทั้งหลายในราชอุทยานนั้น  ถ้ากษัตริย์ยังมิได้เสวย  ใครจะแตะต้องมิได้  ต่อเมื่อกษัตริย์เสวยต้นใดไปแล้ว  คนอื่น ๆ จึงจะมีสิทธิเก็บผลไม้ต้นนั้นไปกินได้  จารีตปฏิบัติอันนี้เองเป็นเหตุให้พระมหาชนกได้คติธรรม  ปลงสังเวชต่อความเป็นไปของชีวิต  จนตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวช  กล่าวคือถ้าเข้าใจว่าคนสมัยนั้นมีวัฒนธรรมวิธีคิดอย่างไร  ก็จะเข้าใจความคิด พฤติกรรม และการกระทำของตัวละครที่เกิดขึ้นในลำดับเรื่องนั้น ๆ ได้ 

จะเห็นได้ว่า  บทบาทของหลวงวิจิตรวาทการในงานเกี่ยวกับพระมหาชนกนั้น คือ การใช้ “อำนาจความรู้” ที่เป็นอยู่ในยุคของหลวงวิจิตรวาทการมาอธิบายแทรกชี้ให้เห็นคุณค่าของเรื่องพระมหาชนกตามหลักวิชาการสมัยใหม่  แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละทิ้งส่วนที่เป็นฉบับดั้งเดิมของพระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช  เมื่อไม่มีการเปลี่ยนโครงเรื่อง  เนื้อเรื่องยังคงเดิม  วิธีการลำดับเรื่องก็ยังคงเดิม  แก่นเรื่องของการนำเสนอหรือหลักธรรมคำสอนที่ต้องการถ่ายทอดผ่านเรื่องดังกล่าวก็ยังคงเดิม  สิ่งที่เปลี่ยนก็คือการอธิบายให้ความหมายเท่านั้น  พระมหาชนกฉบับหลวงวิจิตรวาทการจึงไม่อาจถือเป็นฉบับที่เกิดจากกระบวนการชำระล้างสิ่งเก่าแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม  การเสนอสู่สาธารณะโดยอาศัยเงื่อนไขของระบบทุนนิยมการพิมพ์  ตามที่หลวงวิจิตรวาทการและนักเขียนแนวสารคดีร่วมสมัยเดียวกับหลวงวิจิตรวาทการได้กระทำอย่างต่อเนื่อง (จนถึงระยะหลังทศวรรษ 2510)  ก็มีผลอย่างสำคัญที่ทำให้ชาดกถูกยอมรับอย่างเป็นทางการให้มีความสำคัญในฐานะ “วรรณคดี” ด้วย  นอกเหนือจากที่เคยเป็นผลงานสำคัญสำหรับการถ่ายทอดคติความเชื่อทางพุทธศาสนา  บทบาทในการถ่ายทอดหลักธรรมที่เป็นที่ยอมรับให้เป็นความจริงอย่างสัมบูรณ์  ทำให้ชาดกมีฐานะเป็นนิทานเรื่องเล่าอันศักดิ์สิทธิ์  แต่ในฐานะวรรณคดีที่ก่อเกิดภายหลังอิทธิพลของทุนนิยมการพิมพ์  ชาดกสามารถเป็นเรื่องเล่าเพื่อความบันเทิงหรรษาแก่เยาวชนและคนทั่วไปได้  ทั้งนี้เพราะวิธีมองเชื่อมโยงกับ “หลักวิชา” หรืออำนาจของความรู้  ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษาการนำเสนอเป็นลำดับแรก ๆ นั่นเอง  ในงานอีกชิ้นเกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์ศาสนา”  หลวงวิจิตรวาทการอธิบายถึงแนวทางการศึกษาศาสนาของตนไว้ดังนี้: 

 

“เราจะศึกษาวิชาการทางศาสนาแต่ในแง่ศาสนาแง่เดียวหาได้ไม่  ศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นมาเฉย ๆ  ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ  ทุกศาสนาย่อมได้กำเนิดจากอิทธิพลทางภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์, สภาพสังคม, ความเป็นอยู่ของหมู่ชนที่ลัทธิศาสนาได้ก่อกำเนิดขึ้น  ประกอบด้วยเหตุการณ์แวดล้อม  ซึ่งโดยมากมักเป็นเหตุการณ์รุนแรงจนมนุษย์ต้องคิดหาที่พึ่ง  หรือเครื่องช่วยเหลือที่สูงกว่าความสามารถของมนุษย์เอง  การศึกษาเรื่องศาสนาจึงจำต้องทำไปพร้อมกับการศึกษาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน  จึงจะเข้าใจเรื่องศาสนาถูกถ้วนดี”[๕๓]

 

ส่วนประเด็นว่า  “อำนาจความรู้” ที่หลวงวิจิตรวาทการเสนอให้ใช้อ้างอิงในการอ่านพระมหาชนกและชาดกเรื่องอื่น ๆ นั้น  มีขีดจำกัดอย่างไร  ตลอดถึงข้อจำกัดของแนวทางการศึกษา “ประวัติศาสตร์ศาสนา” ตามที่หลวงวิจิตรวาทการเสนอไว้ใน “ศาสนาสากล”  ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับงานศึกษาในที่นี้...    

 

ฉบับพระราชนิพนธ์ กับ “กษัตริย์ทางโลกย์”

โครงเรื่องและเนื้อหาของพระมหาชนกตามที่ปรากฏใน “ทศชาติฉบับชินวร”  ยังคงใช้เป็นฉบับมาตรฐานเรื่อยมา  จนกระทั่งถึงระยะการกำเนิดขึ้นมาของ “พระมหาชนก” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  สืบเนื่องจากใน พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ทรงได้สดับเรื่องพระมหาชนกจากการแสดงพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน  ธมฺมสาโรมหาเถร) วัดราชผาติการาม  จากนั้นจึงทรงสนพระราชหฤทัย  ทรงค้นคว้าเพิ่มเติมโดยพระองค์เองจากพระไตรปิฎก  ทรงเริ่มดำเนินการแปลพระมหาชนกเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยตามลำดับ  โดยทรงใช้ระยะเวลาในการแปลนานถึง 11 ปี  จึงเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2531 [๕๔]

แต่กว่าจะพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการก็ล่วงมาจนถึงพ.ศ. 2539  ในวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พุทธศักราช 2539 เวลา 17.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย  พระราชทานวโรกาสให้นายขวัญแก้ว  วัชโรทัย  รองเลขาธิการพระราชวัง  ฝ่ายกิจการพิเศษ  นำคณะกรรมการดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญทองคำจำลอง  เหรียญพระมหาชนกขนาดพิเศษ  ฟิล์มถ่ายรูปเขียนหนังสือ  และรูปเขียนประกอบ  ทรงพระราชทานเหรียญทองคำแก่คณะศิลปิน คณะที่ปรึกษา และคณะทำงาน  ในโอกาสนี้ทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าด้วย [๕๕]

โดยนายขวัญแก้ว  วัชโรทัย  ในฐานะรองประธานการจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์  ได้กล่าวถวายรายงานการดำเนินงานจัดพิมพ์  จากนั้นนายขวัญแก้วได้เบิกตัวผู้จัดพิมพ์หนังสือและศิลปินผู้วาดรูปประกอบเข้ารับพระราชทานเหรียญที่ระลึก  รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินจำนวน 5 ล้านบาท  ซึ่งเป็นเงินที่ทางธนาคารได้ได้ซื้อภาพเขียนที่ใช้ประกอบในหนังสือทั้งหมด  โดยภาพเขียนดังกล่าวเป็นผลงานของศิลปิน 8 คน ที่ได้รับเหรียญพระราชทานครั้งนี้ประกอบด้วย  นายประหยัด  พงษ์ดำ, นายพิชัย  นิรันต์, นายปรีชา  เถาทอง, นายเฉลิมชัย  โฆษิตพิพัฒน์, นายปัญญา  วิจินธนสาร, นายธีระวัฒน์  คะนะมะ, นายเนติกร  ชินโย  และนางสาวจินตนา  เปี่ยมศิริ เป็นต้น [๕๖]

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญพระมหาชนกคู่กับหนังสือด้วย  โดยทรงเสด็จไปเป็นประธานในพระราชพิธีชัยมังคลาภิเษก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  และสมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช  เป็นประธานฝ่ายสงฆ์  เหรียญพระมหาชนกมีลักษณะเป็นเหรียญห้อยคอ  ด้านหนึ่งเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  มุมล่างซ้ายจารึกคำภาษาไทยว่า “วิริยะ”  มุมล่างขวาจารึกคำภาษาอังกฤษว่า  “Perseverance”  อีกด้านเป็นรูปพระมหาชนกกำลังว่ายน้ำพร้อมสนทนาธรรมกับนางมณีเมขลา  ซึ่งเป็นรูปฝีพระหัตถ์ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์  ทรงถวายแก่พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช  ในพ.ศ. 2471  มุมล่างซ้ายจารึกคำภาษาไทยว่า  “พระมหาชนก”  มุมล่างขวาจารึกคำภาษาอังกฤษว่า  “Mahajanaka”  เหรียญพระมหาชนกสร้างเป็นเนื้อโลหะต่างกัน 3 ชนิด ได้แก่ เนื้อทองคำแท้ หนัก 34 กรัม  เนื้อนาก  หนัก 24 กรัม  และเนื้อเงิน 92.5 เปอร์เซ็นต์ หนัก 23 กรัม  เส้นผ่าศูนย์กลาง 29 มิลลิเมตร มีตราพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. เป็นเรือนยอดด้านบน  ออกแบบปั้นนูนลอยเด่น  เพื่อให้เกิดการผสมผสานความรู้สึกระหว่างความศักดิ์สิทธิ์และงดงาม [๕๗]

เหตุผลของการสร้างเหรียญก็เพื่อจะให้ประชาชนทั่วไปสามารถสั่งซื้อจองเป็นเจ้าของ  หนังสือพระราชนิพนธ์พร้อมเหรียญได้ 2 แบบ 2 ราคา คือ พระราชนิพนธ์พร้อมเหรียญชุดสามกษัตริย์รวม 3 องค์ ราคา 50,000 บาท  และพระราชนิพนธ์พร้อมเหรียญเงิน ราคา 5,000 บาท [๕๘]  ส่วนราคาหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก (ปกแข็ง) ใน พ.ศ. 2539 ราคา 250 บาท  รายได้สมทบทุนบริจาคแก่มูลนิธิชัยพัฒนา  ซึ่งเป็นองค์กรนำสำคัญของการจัดทำโครงการพระราชดำริ  ปรากฏว่าการสั่งจองเหรียญและหนังสือได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก  แต่หนังสือก็ถูกกล่าวถึงในแง่ที่ว่า  อ่านเข้าใจยากเต็มด้วยข้อความและภาพที่สลับซับซ้อน 

ต่อมาในโอกาสมหามงคลเฉลิมพรรษาครบ 6 รอบ (พ.ศ. 2542) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพิมพ์อัมรินทร์พริ้นติ้งจัดพิมพ์ “พระมหาชนกฉบับการ์ตูน” ขึ้น  โดยได้ชัย  ราชวัตร (สมชัย  กตัญญุตานันท์) เป็นผู้เขียนภาพการ์ตูนประกอบเนื้อเรื่อง, โอม  รัชเวทย์ เป็นผู้ช่วย, ปรีชา  เถาทอง เป็นที่ปรึกษาศิลปกรรม  และพิษณุ  ศุภนิมิตร เป็นผู้ออกแบบ  เนื้อเรื่องไม่มีการเปลี่ยนแปลกไปจากฉบับภาพเขียนศิลปินพ.ศ. 2439  พระมหาชนกฉบับการ์ตูนมี 2 ฉบับ คือ ฉบับการ์ตูนภาพสี ราคา 65 บาท  และฉบับการ์ตูนภาพขาวดำ ราคา 35 บาท [๕๙]

การจัดพิมพ์ใหม่ในครั้งนี้  ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมว่าด้วยชาดกในสังคมไทย  ซึ่งเราจะไม่พบในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้  แม้ชาดกและพระมหาชนกจะเป็นที่รับรู้กันในหมู่คนไทยมาช้านานแล้ว  แต่ลักษณะการรับรู้ในแต่ละช่วงเวลาก็มีข้อแตกต่างกันออกไป     เห็นได้ชัดว่าความคิดเบื้องหลังที่กำกับโครงเรื่องของพระมหาชนกตามปรากฎในพระมหาชนกฉบับก่อนหน้าพระราชนิพนธ์  มีบางอย่างที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกับแนวคิด “ความเป็นกษัตริย์” ในโลกสมัยใหม่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนว่าด้วยการสละชีวิตทางโลกย์  ซึ่งยากจะไปกันได้กับสถานะที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่จริงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระยะหลังมานี้  จึงน่าสนใจว่าใน “พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์” มีกระบวนการชำระ “พระมหาชนก” อย่างไร  ให้สอดคล้องลงรอยและไปกันได้กับสถานะความเป็นกษัตริย์ดังกล่าว?  ในวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พุทธศักราช 2539 เวลา 17.30 น.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ให้แก่คณะศิลปินและสื่อมวลชนที่เข้าเฝ้ามีใจความสำคัญดังนี้ :

 

“โอกาสนี้ตามปกติก็เป็นการเรียกว่า  เปิดหรือเผยหนังสือ.  หมายความว่าเปิดให้ทุกคนทราบว่ามีหนังสือที่จะออกจำหน่าย  และโดยมากก็โฆษณาว่าหนังสือนั้นมีอะไรบ้าง.  ในที่นี้จะขอไม่โฆษณา  เพราะว่าทุกคนก็ได้เห็นรูปและทราบดีว่าเรื่องมีอะไรบ้าง.  ส่วนที่ไม่ทราบก็เอาไว้ทราบเมื่อได้อ่านหนังสือ  เพราะว่าถ้าเล่าให้ฟังแล้ว  ก็อาจไม่เข้าใจหรือจะไม่มีความร่าเริงบันเทิงใจเท่าที่ควร.  ฉะนั้นก็ขอถือโอกาสนี้ขอบใจคณะที่ดำเนินการให้หนังสือนี้เป็นผลสำเร็จขึ้นมาได้  ซึ่งเป็นงานที่ลำบากสำหรับทุกคน. โดยเฉพาะศิลปินที่เขียนรูปและจัดรูปของหนังสือนั้น  เข้าใจว่าต้องคิดมากและต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก  เพราะว่าเป็นงานที่พิเศษ.  ผลที่ออกมาก็เป็นผลที่นับว่าใช้ได้ดีมาก  และจะเป็นที่ร่าเริงใจของผู้ได้อ่าน.

หนังสือเล่มนี้  ประกอบด้วยหลายส่วน.  ประกอบด้วยส่วนที่เป็นภาษาไทยที่มีจากพระไตรปิฎก  ซึ่งเอามาตรงจากพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาไทย.  คำพูดหรือคำที่มีอยู่ในนั้น  เอามาตรง.  ส่วนที่สองก็มาดัดแปลง  ดัดแปลงเพื่อให้ตัวหนังสือบางอย่างหรือคำบางคำ  ที่ไม่ตรงกับความคิดในสมัยนี้  ก็ได้ดัดแปลงบ้าง.  ในที่สุด  ก็มีความคิดบางอย่าง  ที่อาจไม่เป็นประโยชน์กับคนในปัจจุบันนี้ก็ได้เว้น  และได้มีการตบแต่งส่วนใหม่ที่เข้าใจว่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมในปัจจุบัน.  ส่วนภาษาอังกฤษนั้นก็ได้แปลตรงมาจากภาษาไทย  ที่ได้ปรุงแต่งทั้งของเก่าทั้งของใหม่.  เป็นภาษาอังกฤษที่บางคนอาจฉงน  เพราะว่าไม่ได้เรียนในโรงเรียน.  เป็นภาษาที่อาจดูแปลกไปหน่อย  บางส่วนเพราะว่าจะต้องให้เข้าใจว่าเรื่องเป็นเรื่องเก่า  โบราณ  นับเวลาไม่ได้.  ภาษาก็ต้องให้โบราณ ๆ หรืออาจเป็นปริศนาบ้าง.  ฉะนั้นถ้าใครรู้ภาษาอังกฤษบางทีจะต้องมาดูภาษาไทย  เพื่อที่จะให้เข้าใจว่าเขาว่ายังไง.  คนที่รู้ภาษาไทย  บางทีจะต้องไปดูภาษาอังกฤษ  จะได้รู้ว่าภาษาไทยเขาว่าอย่างไร.  จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ชอบศึกษาภาษา  คือจะเป็นการขัดเกลาภาษาอังกฤษ  สำหรับผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษ  เป็นการขัดเกลาภาษาไทย  สำหรับผู้ที่รู้ภาษาไทย.  นอกจากนี้ก็ได้เขียนเป็นตัวอักษรโบราณ  คืออักษรเทวนาครี  ซึ่งเป็นสิ่งที่ลำบากมาก  เพราะว่าผู้ที่รู้ภาษาโบราณนี้ก็มีน้อยคน.

ทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยความละเอียด  ในการจัดให้ถูกต้องและเป็นที่พอใจ.  เป็นการแสดงออกมาซึ่งความคิดหลักของชาดกนี้  คือให้เห็นว่าความเพียรต้องมี  และสำคัญที่สุด  ว่าคนเราทำอะไรต้องมีความเพียร.  แม้จะไม่เห็น  อย่างในเรื่องนี้  แม้จะไม่เห็นฝั่งก็ต้องว่ายน้ำต่อไป  และมีคำตอบอยู่ว่า  ทำไมต้องว่ายน้ำ  ไม่เห็นฝั่ง  มีประโยชน์อะไร.  มีประโยชน์  เพราะว่าถ้าหากไม่เพียรที่จะว่ายน้ำเป็นเวลาเจ็ดวันเจ็ดคืน  ก็จะไม่ได้พบเทวดา.  คนอื่นไม่มีความเพียรที่จะว่ายน้ำ  ก็จมเป็นอาหารของปลาของเต่าไปหมดแล้ว.  ฉะนั้นความเพียร  แม้จะไม่ทราบว่าจะถึงเมื่อไหร่  ไม่เห็นฝั่งก็ต้องเพียรว่ายน้ำ  สำหรับอื่น ๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน.  ฉะนั้น  ศูนย์กลางของหนังสือเล่มนี้  ก็คือความเพียรที่จะทำ  โดยไม่นึกถึงว่าจะได้ประโยชน์อะไร  หรือได้ผลอะไร.

ที่ลงมาช้า ทำให้ท่านทั้งหลายต้องคอยอยู่นาน  ก็มีเหตุผล  เพราะว่าการแก้หนังสือนี้ยังไม่เสร็จ.  อันนี้การแก้ทั้งรูป  คือทั้งภาพที่ท่านศิลปินได้เขียนยังมีการแก้.  คงกลุ้มใจ  แต่ว่างานต้องเพียรต่อไป  แล้วก็มีเวลาน้อย.  มีการแก้ภาษาไทย  ซึ่งบางตัวก็เขียนผิด.  แก้ภาษาอังกฤษ  ซึ่งบางตัวก็อาจมีผิดไวยากรณ์ด้วยซ้ำ.  ถกเถียงกัน  ผู้ที่ไม่ได้มาในที่นี้ที่เป็นผู้ที่ช่วยทำ  คือสมเด็จพระเทพฯ.  สมเด็จพระเทพฯ ก็ทำมาสองวันสองคืน  กับเพื่อน ๆ.  และสองวันสองคืนนี้กับเพื่อน ๆ แบ่งเป็นสองพวก  พวกหนึ่งดูดาวหาง  และอีกพวกหนึ่งดูพระมหาชนก.  ผู้ที่ดูพระมหาชนกไม่ได้ดูดาวหาง  ผู้ที่ดูดาวหางไม่ได้ดูพระมหาชนก.  แต่สมเด็จพระเทพฯ ขึ้นมาตาปรือ  เพราะมาบอกว่าดูทั้งมหาชนก  ทั้งดาวหาง.  นั่นนะเป็นอย่างนี้  คือความเพียรนี่ก็ต้องมี  แม้จะตาปรือก็ต้องมีความเพียร.  มาบัดนี้เข้าใจว่าครบถ้วนแล้ว  แต่ยังไม่หมด.  นี่ที่เขียน  อันนี้เป็นตัวการทำให้ที่ลงมาช้า  เพราะว่ายังต้องเขียนมาแจ้งให้คุณชูเกียรติ [๖๐]  คุณสมรรถ [๖๑]  ได้ทราบว่าต้องมีการดูแก้ไขอะไร  และยังไม่หมด  ยังเหลืออีกส่วนหนึ่ง  ซึ่งต้องทำงานต่อไป.  อันนี้ถึงต้องมาแถลง  ทำไมลงมาช้า  ลงมาช้าเพราะต้องทำงานถึงสุดท้าย.

ก็ต้องขอขอบใจศิลปิน  ขอขอบใจผู้ที่ช่วยทำงาน  ที่ช่วยสนับสนุนให้หนังสือเล่มนี้ออกมาได้.  ก็เข้าใจว่าเป็นงานที่หนัก  เพราะที่ทำอยู่นี้ก็เป็นงานหนัก.  แต่ที่มีความสำคัญ  หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่รับรองได้ว่า  เป็นหนังสือที่ไม่มีที่เทียม.  นี่ต้องอวดหน่อยว่าไม่มีที่เทียม  แล้วก็ท่านที่เป็นศิลปิน  ผู้ที่เป็นกรรมการ  และผู้ที่สนับสนุนย่อมจะทราบดีว่างานที่เราทำนั้นคุ้มแค่ไหน.  และผู้ที่ยังไม่เห็นหนังสือเล่มนี้  ในที่นี้ก็ได้เห็นรูปที่ศิลปินเขียน  ซึ่งยังไม่ครบและก็ยังไม่สมบูรณ์  ก็ได้เห็นเป็นตัวอย่าง.  ผู้ที่รู้เรื่องพระไตรปิฎก  ก็ได้อ่านพระไตรปิฎกเกี่ยวข้องกับมหาชนกชาดก  ก็คงทราบอยู่แล้ว  แต่ไม่ได้เห็น  ยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้  ซึ่งจะขึ้นมาครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยงานของท่าน.  ฉะนั้นจะต้องขอบใจท่านทั้งหลายทุกคนที่มาชุมนุมกันในที่นี้  เพื่อที่จะรับรู้ว่าหนังสือนี้มีขึ้นแล้ว.  ที่ต้องขอบใจ  เพราะว่าหนังสือเรื่องนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้าเอง  เป็นสิ่งที่เห็นว่ามีความสำคัญ  และโดยที่เป็นผู้ที่ได้ก่อขึ้นมาเป็นตัวการ  รู้ตัวว่าตัวเองเป็นผู้ที่ทำขึ้นมา.  ถ้าไม่มีตัวเราเอง  มีแต่ชาดก  แล้วก็มีแต่ชาดกภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาบาลี  มีแต่ชาดกที่อาจเป็นภาษาอังกฤษ  ที่เขาแปลมาจากภาษาบาลี  ใครไปอ่านก็ไม่รู้เรื่อง  และไม่มีความหมายอะไรมากนัก.

ตะกี้ยังมีการถกเถียงกันว่า  โยชน์หนึ่งคือเท่าไหร่.  พวกกรรมการดูดาวที่ไม่ได้ดูดาว  บอกว่า  โยชน์หนึ่งเท่ากับ  สิบหกกิโลเมตร.  เราเอง  ไม่บอกไม่ใช่  ไม่ได้เท่ากับสิบหกกิโลเมตร  เพราะว่าเขาบอกว่าเปรียบเทียบกับวากับเส้น  ก็เป็นสิบหกกิโลเมตร.  แต่เราเปรียบเทียบกับไมล์  เป็นสามไมล์  เป็นหนึ่งโยชน์.  สามไมล์ Stated ไมล์.  ฉะนั้นก็เลยต้องมาถกเถียงกับท่านทั้งหลาย  ก็มีผู้ที่ต้องมาถกเถียงเข้ามาอีกคนหนึ่ง.  แต่นี่ก็พอแล้ว  ตอนนี้ตกลงจะไปทำตามที่เขียนอยู่นี้  และเข้าใจว่าลงตัวแล้ว.  ฉะนั้นก็ถือว่าเป็นฤกษ์ที่ดี  ที่จะแจ้งให้ใครต่อใครเขารับรู้  ว่ามีหนังสือเล่มนี้.  ท่านทั้งหลายที่เป็นสื่อมวลชนก็ได้เห็นแล้ว  เห็นหน้าท่านศิลปิน  และท่านกรรมการต่าง ๆ ก็จะได้เห็นว่าอ้อ...  คนนี้ ๆ เป็นคนเขียนรูป  แล้วก็เห็นหน้าผู้ที่เขียนแล้วก็เมื่ออ่านเรื่องนี้เสร็จก็คงได้เห็นทั้งหมด  คือเห็นทั้งผู้เขียนรูป  เห็นทั้งผู้ที่เขียนเรื่องและผู้ที่มาสนับสนุน  เพื่อที่จะให้งานนี้ได้สำเร็จเรียบร้อย.

ฉะนั้นก็ขอขอบใจทุกท่าน  ทุกคนที่ได้ทำให้หนังสือนี้ออกมาเป็นหนังสือ          และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน  และเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งไทยและเทศ.  ก็ขอขอบใจท่านอีกครั้งหนึ่ง  ต่อจากนี้ก็ขอไปชมรูป  และอาจจะมีวิจารณ์เล็กน้อย[๖๒]
 

ต่อมาในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2539 หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งก็นำกระแสพระราชดำรัสข้างต้นมาเป็นรายงานข่าวในพระราชสำนัก  แม้จะไม่ได้เรียบเรียงจากบันทึกพระสุรเสียงดังสำนักราชเลขาธิการ  แต่ก็แสดงพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สอดคล้องตรงกันดังนี้ :   

 

“โอกาสนี้ตามปกติก็ต้องมาเปิดเผยเรื่องหนังสือให้ทราบว่ามีหนังสือออกมาจำหน่าย  และโฆษณาว่าในนั้นมีอะไรบ้าง  แต่ไม่โฆษณาเพราะคงทราบดีว่าเรื่องมีอะไรบ้าง  ส่วนคนที่ไม่ทราบเอาไว้ทราบเมื่อได้อ่านเรื่องแล้ว  เพราะถ้าเล่าให้ฟังอาจจะไม่เข้าใจและไม่ร่าเริงบันเทิงใจเท่าที่ควร

จากนั้นได้ทรงขอบใจคณะกรรมการที่ดำเนินงานให้การจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้สำเร็จขึ้นมา  โดยเฉพาะศิลปินที่เขียนรูป  ทรงมีรับสั่งว่าคงต้องคิดมากและเหน็ดเหนื่อยเพราะเป็นงานพิเศษ  แต่ผลที่ออกมานับว่าดีมาก  จากนั้นทรงเล่าถึงหนังสือว่าประกอบด้วยหลายส่วนคือ  1 ภาษาไทยที่มาจากพระไตรปิฎก  ส่วนที่ 2 นำมาดัดแปลงเพื่อให้ตัวหนังสือบางตัวและคำบางคำซึ่งไม่ตรงกับความคิดและอาจไม่เป็นประโยชน์กับคนปัจจุบัน  ก็ตกแต่งใหม่เพื่อให้เข้าใจง่ายและเป็นประโยชน์  และส่วนที่ 3 เป็นภาษาอังกฤษก็แปลโดยตรงจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษที่บางคนอาจจะฉงน  เพราะไม่ได้เรียนและเป็นภาษาอาจดูแปลกไป  เพราะต้องใช้ให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องโบราณนับปีไม่ได้  เพราะฉะนั้นต้องเป็นภาษาโบราณและอาจเป็นปริศนาบ้าง  จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ศึกษาภาษาอังกฤษและเป็นการช่วยขัดเกลาภาษา  ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ  ให้ผู้พยายามเรียนรู้ทั้ง 2 ภาษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ตรัสอีกว่า  ส่วนที่ลำบากมากคือภาษาเทวนาครีเพราะมีผู้รู้น้อย  ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการจัดให้ถูกต้อง  หนังสือเล่มนี้มีสมเด็จพระเทพฯ เป็นผู้ช่วย  รวมทั้งพระสหายสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งแบ่งเป็น 2 พวก  พวกหนึ่งดูดาวหางไม่ได้ดูพระมหาชนก  อีกพวกดูพระมหาชนกแต่ไม่ได้ดูดาวหาง  ส่วนสมเด็จพระเทพฯ ดูทั้งพระมหาชนกและดาวหาง  ตาก็เลยปรือ  เพราะใช้เวลา 2 วัน 2 คืน  แต่หนังสือก็สำเร็จลงได้  เพราะมีวิริยะ  อย่างไรก็ตาม  เรื่องนี้ที่สำคัญที่สุดคือต้องการให้คนมีความเพียร ทำอะไรต้องมีความเพียร  แม้จะไม่เห็นฝั่งก็ต้องว่ายน้ำต่อไป  ในเรื่องพระมหาชนกว่ายน้ำ 7 วัน 7 คืน  คนอื่นที่ไม่มีความเพียรก็จะจมน้ำเป็นอาหารของเต่าและปลาไปหมด  เพราะฉะนั้นหลักของหนังสือนี้คือทำความเพียรโดยไม่เห็นประโยชน์อะไร  หนังสือนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้าเอง  ที่เห็นว่ามีความสำคัญและโดยที่เป็นผู้ก่อขึ้นเป็นตัวการ  รู้ตัวว่าตัวเองเป็นผู้ที่ทำขึ้นมา  ถ้าไม่มีตัวเราเองก็มีแต่ชาดกภาษาไทย  ที่แปลมาจากภาษาบาลี  ใครอ่านก็ไม่รู้เรื่องและไม่มีความหมายอะไรมากนัก[๖๓]

 

จากหลักฐานข้างต้น  ก็ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาว่า  “ความคิด” ที่ “ซึ่งไม่ตรงกับ...” และทั้งยัง “อาจไม่เป็นประโยชน์กับคนปัจจุบัน” นั้นหมายถึงความคิดอะไร ?  และความคิดนั้น “อาจไม่เป็นประโยชน์กับคนปัจจุบัน” อย่างไร  จึงต้อง “ตกแต่งใหม่เพื่อให้เข้าใจง่ายและเป็นประโยชน์” (กับปัจจุบัน)?  ในชั้นต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภถึงการดัดแปลงเนื้อเรื่องในมหาชนกชาดกของพระองค์ไว้อีกที่หนึ่งว่า  “พระมหาชนกจะบรรลุโมกขธรรมได้ง่ายกว่า  หากได้ประกอบพระราชกรณียกิจในโลกให้ครบถ้วนก่อน” [๖๔]  โดยในตอนเรื่องต้นมะม่วง  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตอนสำคัญที่ทำให้พระมหาชนกตัดสินพระทัยละจากราชสมบัติออกผนวช  หลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เพิ่งผ่านไปไม่นาน  สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน  ธมฺมสาโร  มหาเถร)  วัดราชผาติการาม  แสดงพระธรรมเทศนาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2520  ใจความสำคัญมีอยู่ว่า : 

 

“ที่ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วงสองต้น  ต้นหนึ่งมีผล  อีกต้นหนึ่งไม่มีผล  ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชา  แล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน.  เมื่อเสด็จกลับออกจากสวนหลวง  ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีผลรสดี  ถูกข้าราชบริพารดึงทิ้งจนโค่นลง  ส่วนต้นที่ไม่มีลูกก็ยังคงตั้งอยู่ตระหง่าน  แสดงว่าสิ่งใดดี  มีคุณภาพ  จะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่ง  และจะเป็นอันตรายในท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา” [๖๕]

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเกี่ยวกับพระธรรมข้างต้นว่า :

 

การที่พระมหาชนกจะเสด็จออกทรงแสวงโมกขธรรม  ยังไม่ถึงวาระเวลาอันสมควร  เพราะว่าได้ทรงสร้างความเจริญแก่มิถิลายังไม่ครบถ้วน  กล่าวคือข้าราชบริพาร  “นับแต่อุปราชจนถึงคนรักษาช้างคนรักษาม้า  และนับแต่คนรักษาม้าจนถึงอุปราช  และโดยเฉพาะเหล่าอมาตย์  ล้วนจาริกในโมหภูมิทั้งนั้น.  ไม่มีความรู้ทั้งทางวิทยาการทั้งทางปัญญา  ยังไม่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์แท้แม้ของตนเอง  จึงต้องตั้งสถานอบรมสั่งสอนให้เบ็ดเสร็จ.”  อนึ่ง  พระมหาชนกยังต้องทรงปรารภเรื่องการอนุบาลต้นมะม่วงตามวิธีสมัยใหม่  เก้าวิธีอีกด้วย.” [๖๖]

 

หากพิจารณาเนื้อเรื่องทั้งหมดโดยเปรียบเทียบกับฉบับก่อนหน้าแล้ว  จะพบว่าทรงตัดส่วนที่เป็นต้นเรื่อง (ปัจจุบันวัตถุ)  และท้ายเรื่อง (สโมธาน) ออก  ส่วนดังกล่าวเป็นเนื้อเรื่องตอนพุทธกาลที่พระภิกษุมาชุมนุมร่วมกัน  จากนั้นพระพุทธองค์ทรงนำ “อดีตวัตถุ” มาแสดงพระธรรมเทศนาแก่พระภิกษุเหล่านั้น  ส่วนตอนจบของเรื่องที่เป็นการเฉลยธรรมตามขนบชาดกว่า  ใครกลับมาเกิดเป็นใครในยุคพุทธกาล  ส่วนที่เป็น “คาถา” และ “อธิบายคาถา” ก็ถูกปรับเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ  นอกจากนี้ในส่วนของ “อดีตวัตถุ” เองก็ยังตัดตอนพระมหาชนกเสด็จออกผนวชออกทั้งหมด  ฉบับพระราชนิพนธ์เปลี่ยนมาจบเรื่องโดยพระมหาชนกยังทรงครองราชย์และทรงสร้าง “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” ขึ้นเป็นสถานอบรมศีลธรรมและความรู้แก่ประชาชนชาวเมืองมิถิลานคร  ส่วนที่คงไว้ก็มีการดัดแปลงให้กระชับสั้นสละสลวย  ทั้งยังขยายความเนื้อเรื่องตอนต้นเกี่ยวกับการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระเจ้าอริฏฐชนกกับพระเจ้าโปลชนก  พระเจ้าอริฏฐชนกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สิ้นพระชนม์ในสนามรบ  พระมเหสีซึ่งกำลังทรงพระครรภ์หลบหนีไปยังเมืองนครกาลจัมปากะ  ประสูติพระราชโอรส  ทรงพระนาม “พระมหาชนก” เมื่อทรงพระชนม์ได้ 16 พรรษา  ทรงคิดกลับไปทวงคืนสิทธิในราชสมบัติ  โดยทรงต่อเรือพาณิชย์ไปค้าขายยังสุวรรณภูมิเพื่อสร้างความมั่งคั่งเสียก่อน  เรือแล่นไปได้เจ็ดร้อยโยชน์  เกิดคลื่นลมแรงทำให้เรือแตก  ทรงว่ายน้ำเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน  โดยกำหนดทิศจะว่ายไปยังเมืองมิถิลานคร  นางมณีเมขลาเหาะมาพบจึงช่วยอุ้มพระองค์ไปส่งยังเมืองมิถิลานคร  จากเดิมที่ “ทศชาติฉบับชินวร” กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้แต่เพียงว่า :

 

“ในเมื่อห้วงทะเลใหญ่ (ทั้งลึก  ทั้งกว้าง) หาประมาณมิได้  เห็นปานดังนี้  เป็นไปแล้ว  ท่านผู้ใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม  ไม่จม (ตาย) ด้วยกิจคือการของบุรุษ  ใจของท่านยินดีในที่ใด  ท่านผู้นั้นจงไปที่นั้น ฯ 

ครั้นนางมณีเมขลากล่าวดังนี้แล้ว  จึงถามว่า  ข้าแต่ท่านผู้บัณฑิต  ผู้มีความเพียรมาก  ข้าพเจ้าจักพาท่านไปที่ไหน ฯ  ครั้นพระโพธิสัตว์ตรัสว่า  ไปสู่มิถิลานคร  นางมณีเมขลาจึงช้อนพระมหาสัตว์ขึ้น  ดุจบุคคลยกกำดอกไม้  ประคองด้วยมือทั้งสองให้แนบกับทรวง  พาเหาะไปในอากาศ  ดุจอุ้มบุตรเป็นที่รักไป ฯ  พระบรมโพธิสัตว์มีสรีระอันเศร้าหมองแล้วด้วยน้ำเค็มสิ้น 7 วัน  สัมผัสผัสสะทิพย์แล้วหยั่งลงสู่นิทรารมณ์บรรทมหลับ ฯ  ลำดับนั้นนางเทพมณีเมขลานำพระโพธิสัตว์นั้นสู่มิถิลานคร” [๖๗]

 

ฉบับพระราชนิพนธ์ชำระปรับแก้ใหม่เป็น :

 

“เทวดา (หมายถึง นางมณีเมขลา – ผู้อ้าง) ได้สดับพระวาจาอันมั่งคงของพระมหาสัตว์นั้น  เมื่อจะสรรเสริญพระมหาสัตว์  จึงกล่าวคาถาว่า :  “ท่านใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม  ไม่จมลงในห้วงมหรรณพ  ซึ่งประมาณมิได้  เห็นปานนี้  ด้วยกิจคือความเพียรของบุรุษท่านนั้นจงไปในสถานที่ที่ใจของท่านยินดีนั้นเถิด.” 

ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว  นางมณีเมขลาได้ถามว่า :  “ข้าแต่ท่านบัณฑิตผู้มีความบากบั่นมาก  ข้าพเจ้าจักนำท่านไปที่ไหน.”  เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสว่า :  “มิถิลานคร”  นางจึงอุ้มพระมหาสัตว์ขึ้น  ดุจคนยกกำดอกไม้  ใช้แขนทั้งสองประคองให้นอนแนบทรวง  พาเหาะไปในอากาศ  เหมือนคนอุ้มลูกฉะนั้น.

พร้อมกันนั้น  เทวดาก็ได้กล่าวอดิเรกคาถาว่า :  “ข้าแต่บัณฑิต  วาจาอันมีปาฏิหาริย์มิบังควรหายไปในอากาศ.  ท่านต้องให้สาธุชนได้รับพรแห่งโพธิญาณจากโอษฐ์ของท่าน.  ถึงกาลอันสมควร  ท่านจงตั้งสถาบันการศึกษาให้ชื่อว่าโพธิยาลัยมหาวิชชาลัย.  ในกาลนั้นท่านจึงจะสำเร็จกิจที่แท้.

พระมหาสัตว์มีสรีระเศร้าหมองด้วยน้ำเค็มตลอดเจ็ดวัน  ได้สัมผัสทิพยผัสสะก็บรรทมหลับ.  ลำดับนั้น  นางมณีเมขลานำพระมหาสัตว์ถึงมิถิลานคร.  ให้บรรทมโดยเบื้องขวาบนแผ่นศิลาอันเป็นมงคลในสวนมะม่วง  มอบให้หมู่เทพเจ้าในสวนคอยอารักขาพระมหาสัตว์แล้วไปสู่ที่อยู่ของตน” [๖๘]

 

จากนั้นการแต่งเนื้อเรื่องขึ้นใหม่แทรกลงในโครงเรื่องเดิม  ก็ปรากฏอยู่ทั่วไปในช่วงครึ่งท้ายของเรื่อง  เริ่มจากเมื่อพระมหาชนกเสด็จกลับจากประพาสราชอุทยาน  ทรงทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีผลดกงามถูกโค่นล้ม  ส่วนอีกต้นซึ่งไม่มีผลยังตั้งตรงอยู่  ทรงดำริว่า  “แม้ราชสมบัตินี้ก็เช่นกับต้นไม้มีผล  บรรพชาเช่นกับต้นไม้หาผลมิได้  ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล  ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีความกังวล  ก็เราจักไม่เป็นเหมือนต้นไม้มีผล  จักเป็นเหมือนต้นไม้หาผลมิได้ [๖๙]  แต่แทนที่จะมีพระทัยโน้มเอียงไปทางปลีกวิเวกและตัดสินใจสละชีวิตทางโลกย์ออกผนวช  ดังฉบับก่อนหน้า  เช่นที่ระบุว่า  “แม้ราชสมบัตินี้ก็เช่นกับไม้มีผล  บรรพชาเช่นกับต้นไม้หาผลมิได้  ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล  ภัยย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีความกังวล  ก็อาตมะจักไม่เป็นดุจต้นไม้มีผล  จักเป็นดุจต้นไม้หาผลมิได้  อาตมะจักละราชสมบัติออกผนวช  ทรงอธิษฐานพระมนัสมั่น [๗๐]

โดยในฉบับพระราชนิพนธ์นี้  พระมหาชนกทรงดำริว่า  “ก่อนอื่นเราจะต้องหาทางฟื้นฟูต้นมะม่วงที่มีผล[๗๑]  ทรงตรัสเรียกหาเสนาบดีไปเชิญอุทิจจพราหมณ์มหาศาลให้มาพร้อมด้วยศิษย์ คือ จารุเตโชพราหมณ์  และคเชนทรสิงหบัณฑิต  สองคนนี้ คนแรกเป็นผู้เชี่ยวชาญการเพาะปลูก  คนที่สองเชี่ยวชาญการรื้อถอน  ทรงแนะวิธีให้ฟื้นฟูต้นมะม่วงเก้าอย่าง คือ หนึ่ง เพาะเม็ดมะม่วง  สอง ถนอมรากที่ยังมีอยู่ให้งอกใหม่  สาม ปักชำกิ่งที่เหมาะแก่การปักชำ  สี่ เอากิ่งดีมาเสียบยอดกิ่งของต้นที่ไม่มีผลให้มีผลดี  ห้า เอาตามาต่อกิ่งของอีกต้น  หก เอากิ่งมาทาบกิ่ง  เจ็ด ตอนกิ่งให้ออกราก  แปด รมควันต้นที่ไม่มีผลให้ออกผล  เก้า ทำ “ชีวาณูสงเคราะห์”   อุทิจจพรามหณ์รับสนองพระราชโองการจะให้คเชนทรสิงหบัณฑิตกับจารุเตโชพราหมณ์ “ไปดำเนินการตามพระราชดำริ” [๗๒]  ความเชี่ยวชาญของพราหมณ์ทั้งสองจะเห็นได้ว่าเป็นความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติตามพระราชดำริ  หาใช่ความเชี่ยวชาญที่มาพร้อมกับกระบวนการคิดค้นด้วยตนเองแต่อย่างใด 

นอกจากนี้  พระมหาชนกยังโปรดให้อุทิจจพราหมณ์ “คอยรับพระราชดำริต่อไป” คือ การตั้งสถาบันการศึกษาที่ชื่อว่า  “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย”  เนื่องจากทรงระลึกถึงวาจาที่นางมณีเมขลากล่าวแก่พระองค์  ทรงจดจำคำพูดของนางไม่ได้ทุกถ้อยคำ  แต่ทรงทราบว่า  “เทวดากล่าวชี้ว่าพระองค์จะยังเข้ามรรคาแห่งความสุขไม่ได้  หากไม่กล่าวธรรมให้สาธุชนได้สดับ[๗๓]  ซึ่งถือได้ว่าเป็นการตอบโต้พระมหาชนกฉบับเก่า  พร้อมกับเน้นย้ำความคิดใหม่ในการมองพระมหาชนกที่พยายามเสนอไว้ในฉบับพระราชนิพนธ์  พระมหาชนกตามแบบฉบับของความเป็น “กษัตริย์ทางโลกย์”  ทรงมีทางเลือกที่ไม่ใช่การเสด็จออกผนวช  และที่มาของคำ “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” ยังสามารถตีความได้ว่า  เป็นการพยายามล้มล้างมายาคติเดิมเกี่ยวกับการว่ายน้ำในมหาสมุทร 7 วัน 7 คืน  ซึ่งอาจถูกมองจากมาตรฐานความคิดแบบสมัยใหม่ได้ว่าเป็นเรื่องงมงายเชื่อถือไม่ได้  ฉบับพระราชนิพนธ์แก้ไขปัญหานี้ด้วยการแต่งเรื่อง “ปูทะเลยักษ์” ขึ้นมาแทรกในตอนท้ายของเรื่อง  เฉลยความนัยว่าที่ทรงสามารถว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทร 7 วัน 7 คืนได้นั้น  แท้จริงเป็นเพราะทรงได้รับความช่วยเหลือจากปูทะเลยักษ์นั่นเอง  ดังเมื่ออยู่ลำพังกับอุทิจจพราหมณ์  ทรงตรัสว่า :

 

“เราสงวนเรื่องนี้มาหลายเวลาแล้ว  นับแต่คราวลงเรือมุ่งสู่สุวรรณภูมินั้นก่อนคลื่นยักษ์มากระหน่ำนาวา  เราได้ยินพาณิชชาวสุวรรณภูมิพูดกัน  เป็นภาษาสุวรรณภูมิว่า :  “โน่นปูทะเลยักษ์สู้กับปลาและเต่า.”  และว่าผู้ใดเหยียบปูนั้นได้จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่  หากมีความเพียรแท้.” [๗๔]

 

อีกที่หนึ่งคือ  หลังจากเล่าเรื่องนี้แก่อุทิจจพราหมณ์ฟัง  พราหมณ์ทูลตอบว่า  เคยได้ยินเรื่อง “ปูทะเลยักษ์” นี้มาบ้าง  แต่ไม่ทราบว่ามีอยู่จริงหรือไม่  พระมหาชนกทรงย้ำว่า “ปูทะเลยักษ์” นี้ :

 

“มีแน่แท้.  หลังจากได้กระโดดจากยอดเสากระโดงเรือ  ลงทะเลพ้นปลาและเต่า  ก็ว่ายข้ามมหาสมุทร.  ได้พักผ่อนเป็นคราว ๆ.  บางครั้ง   ก็รู้สึกเหมือนเหยียบพื้นทะเลได้คล้าย ๆ ใกล้ถึงฝั่ง  ดังเช่นบุคคลที่หกในจำพวกเจ็ดบุคคล... แต่ที่แท้เป็นปูทะเลยักษ์นั่นเอง.” [๗๕]

           

เมื่อทรงเชื่อเช่นนั้น  จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อสถานศึกษาของพระมหาชนกว่า  “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” ไม่ใช่ “โพธิยาลัยมหาวิชชาลัย” ดังนางมณีเมขลาชี้แนะไว้  เป็นสถานศึกษาที่เกิดขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาแก่ไพร่ราษฎร  ซึ่งก็มีความสมเหตุสมผล  เนื่องจากพระมหาชนกทรงมองว่า  “พวกนี้ขาดทั้งความรู้วิชาการ  ทั้งความรู้ทั่วไป  คือความสำนึกธรรมดา  พวกนี้ไม่รู้แม้แต่ประโยชน์ส่วนตน  พวกนี้ชอบผลมะม่วง  แต่ก็ทำลายต้นมะม่วง [๗๖]  นัยยะของ “ต้นมะม่วง” และ “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” จึงกล่าวได้ว่า  อย่างแรกมีลักษณะเป็นความเปรียบ หมายถึง ชาติบ้านเมืองที่ยังทรงต้องทำหน้าที่ปกครองดูแล  เพราะว่าราษฎรยังไร้การศึกษาขาดความรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขภายในชาติบ้านเมือง  จึงนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องมีอย่างที่สอง  ซึ่งหมายถึง สถานที่ที่จะให้การอบรมศึกษาให้รู้จักประโยชน์ในชาติแห่งตน  เป็นต้น  

นอกจากนี้  ประเด็นการว่ายน้ำในมหาสมุทร 7 วัน 7 คืน  ยังได้รับการยืนยันว่ามีความเป็นจริง  ด้วยภาพแผนที่พยากรณ์ที่วาดด้วยคอมพิวเตอร์  นำมาเสนอแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง  เป็นภาพแสดงสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมืองโบราณสมัยพระมหาชนก  และยังแสดงข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับทิศทางลม  การกำหนดวันเดินทะเล  ตลอดจนจุดอับปางของเรือ  ที่คาดคะเนโดยอาศัยข้อมูลทางโหราศาสตร์ [๗๗]  ฉบับพระราชนิพนธ์ไม่ได้พรรณนาโดยตรงว่า  การว่ายน้ำ (และความเพียร) ของพระมหาชนกนั้นมีความเป็นจริงในประวัติศาสตร์หรือไม่  แต่แผนที่พยากรณ์กลับมีส่วนช่วยโน้มน้าวผู้อ่านให้เห็นคล้อยตามได้ง่ายว่า  เป็นเรื่องจริงไม่ใช่แต่งขึ้น  ดังที่นายชูเกียรติ  อุทกพันธุ์  กรรมการผู้จัดการบริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้ง  ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์  ได้กล่าวถึงความสำคัญของแผนที่พยากรณ์ในฉบับพระราชนิพนธ์ว่า :

 

แสดงให้เห็นว่า  การเดินทางของพระมหาชนกในแดนสุวรรณภูมินี้มีจริง  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณและพยากรณ์อากาศไว้ด้วยว่าหากพระมหาชนกออกเดินทางโดยทางเรือในวันที่ 20 เมษายน  ก็จะไม่ประสบเหตุเรือพระที่นั่งแตก  แต่การเดินทางเมื่อวันที่ 24 เมษายน  พระองค์ทรงคำนวณแล้วว่าจะต้องประสบกับพายุจึงทำให้การเดินทางไม่สำเร็จ... การที่พระองค์ทรงคำนวณเวลาและพยากรณ์อากาศไว้เช่นนี้ทำให้เห็นว่าเนื้อเรื่องใกล้เคียงความเป็นจริง  ดังนั้นความวิริยะของพระมหาชนกที่ลอยคอในทะเล 7 วันก็เป็นเรื่องที่นำไปปฏิบัติได้ไม่ใช่เรื่องอภินิหาร[๗๘]

 

นับเป็นอีกก้าวของการชำระ “พระมหาชนก” ในสังคมไทย  โดยในยุคหลังมานี้  พระมหาชนกทรงเลือกที่จะเป็น “กษัตริย์ทางโลกย์” มากกว่า “กษัตริย์ทางจิตวิญญาณ” ตามขนบของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม  เมื่อความคิดและการรับรู้ต่อความจริงพื้นฐานของโลกและชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง  พระมหาชนกจึงถูกทำให้เป็นภาพเสนอเกี่ยวกับสถานะความเป็นกษัตริย์ในอุดมคติแบบใหม่นี้  ผ่านการชำระดัดแปลงวรรณกรรมสร้างตัวละครใหม่และปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องอย่างเป็นระบบ  การสละชีวิตทางโลกย์เพื่อความหลุดพ้นในโลกหน้า  การปลีกตัวออกจากรัฐและสังคม  การสละราชสมบัติตัดขาดจากพระราชอำนาจ  ถือเป็นแนวคิดและอุดมคติที่ขัดแย้งไม่เข้ากับสภาพความเป็นจริงทางสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะหลังมานี้  พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ที่เกิดจากกระบวนการชำระอย่างเป็นระบบ  มีส่วนช่วยสร้างตัวแทนชี้ให้เห็นความจริงที่ว่า  การเป็นพระมหากษัตริย์ในโลกระยะหลังมานี้  จักต้องประกอบ “ความเพียร” อย่างยอดยิ่ง  ไม่ใช่จะเป็นได้ด้วยเพียงเพราะมีสิทธิธรรมจากสายพระโลหิตเท่านั้น  

เมื่อได้ขึ้นครองราชสมบัติเมืองมิถิลานครเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  พระมหาชนกจึงทรงรำลึกพระองค์ว่า  ชื่อว่าความเพียร  ควรทำแท้  ถ้าเราไม่ได้ทำความเพียรในมหาสมุทร  เราจักไม่ได้สมบัตินี้ [๗๙]  แสดงให้เห็นร่องรอยอิทธิพลของความคิดแบบมนุษย์นิยมผสมผสานกับมหาบุรุษนิยม  กล่าวคือ ถือว่าความสำเร็จในชีวิตมีที่มาจากความเพียรของตัวมนุษย์คนนั้น ๆ เอง  ไม่ใช่เพราะเทพยดาฟ้าดินบันดาลให้เกิดขึ้น  เป็น “ความเพียร” เพื่อสถานะความเป็นอยู่ในโลกยุคใหม่  “ความเพียร” ในพระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์จึงมีสารัตถะแตกต่างจาก “ความเพียร” (หรือ “การบำเพ็ญเพียร”) ตามความหมายของพระมหาชนกในฉบับก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง  เนื่องจากพระมหาชนกเป็นนิบาตชาดกมีปรากฏในพระไตรปิฎก  การชำระพระมหาชนกจึงมีค่าเท่ากับชำระพระไตรปิฎกในส่วนที่ขัดแย้งกับสถานะ “ความเป็นกษัตริย์” แบบใหม่ไปด้วยในตัว  คือการทำให้สถานะความเป็นกษัตริย์ที่สร้างขึ้นใหม่ในระยะหลังมานี้  มีความชอบธรรมเป็นเหตุเป็นผลในแนวคิดทางโลกย์  พร้อมทั้งดูไม่ได้ละเลยหรือเปลี่ยนแปลงอันใดในส่วนที่เกี่ยวกับอุดมคติที่มีอยู่ก่อนหน้า  “กษัตริย์ทางโลกย์” และสิ่งที่ถูกสร้างให้มีภาพเป็นจารีต  ทั้งที่จริง ๆ ไม่ใช่แล้วนี้เอง  คือแก่นหลักใจกลางสำคัญของ “ความเป็นไทย” ในหมู่ชนชั้นนำไทยสมัยหลังมานี้    

 

“พระมหาชนก” กับการเมืองไทย        

“พระมหาชนก” มาถึงจุดเปลี่ยนอีกคราวในการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่า  “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” (พธม.)  สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทักษิณ  ชินวัตร โดยนายสนธิ  ลิ้มทองกุล เจ้าของและบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ  และเครือข่ายนักวิชาการอนุรักษ์นิยม  เริ่มตั้งแต่การจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์  ออกอากาศแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9  ตั้งแต่ พ.ศ. 2546-2548  โดยในการจัดรายการในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2548  ณ หอประชุมใหญ่  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งมีกลุ่มคนให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก  สนธิได้ประกาศแนวทางการต่อสู้ของตนด้วยการชูคำขวัญว่า  “เราจะสู้เพื่อในหลวง”   เสนอให้ประชาชนร่วมต่อต้านรัฐบาลทักษิณ  พร้อมโจมตีตัวบุคคลคือ ทักษิณ  ชินวัตร  ว่าละเมิดสิ่งที่เรียกว่า  “พระราชอำนาจ”  ต่อมาสนธิ เครือผู้จัดการ วุฒิสภา และกลุ่มนักวิชาการฝ่ายขวา ร่วมกันเสนอ “นายกพระราชทาน” ตีความมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ  ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน 

เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวนี้กลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549  โดยคณะทหารที่เรียกตนเองว่า  “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (คปค.) (ต่อมาเปลี่ยนเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.))  ทว่าในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 ผลปรากฏว่านายสมัคร  สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน  ได้รับชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์อย่างท่วมท้น  สนธิและกลุ่มพันธมิตรฯ จึงหวนกลับมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนอีกครั้งโดยปักหลักยืดเยื้อจากบริเวณเชิงสะพานมัฆวาน เข้ายึดทำเนียบ จนถึงบุกยึดสนามบิน  โจมตีฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบว่าไม่จงรักภักดีและทำให้เสียดินแดนเขาพระวิหาร ฯลฯ  แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ พยายามปลุกเร้าผู้คนให้เข้าร่วมโค่นล้มรัฐบาลโดยอ้างเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์  ในคืนวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2551 เวลา 22.30 น.  นายสนธิ  ลิ้มทองกุล  แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้กล่าวปราศรัยต่อผู้ชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล  มีใจความสำคัญเปรียบเปรยถึง “พระมหาชนก” ดังนี้ :

 

 “พี่น้อง! มีคนถามว่าผมห้อยอะไรอยู่หรือ (พูดพร้อมชูเหรียญห้อยคอ) ผมห้อยเหรียญพระมหาชนก  อย่าถามผมเลยว่า  ผมได้มายังไง  เอาเป็นว่าผมได้มาก็แล้วกัน  ผมไม่กล้าแสดงออกอะไรมากกว่านี้  เดี๋ยวจะเป็นการละเมิด  เอาเป็นว่านัยยะของเหรียญอันนี้  ข้างหลังมีรูปพระมหาชนกกำลังว่ายน้ำอยู่  และมีเทวดากำลังเฝ้าดูอยู่  และมีคำพูดบอกมาว่า  พระมหาชนกนั้นว่ายน้ำอยู่ในทะเลมานานแล้ว  ขอให้อดทนเพราะใกล้จะถึงฝั่งแล้วครับ (ที่ชุมนุมปรบมือและส่งเสียงดัง)” [๘๐]

 

ในคืนวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2551  เวลา 21.10 น. สนธิยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า :

 

“พี่น้อง!  บ้านนี้เมืองนี้มันปกครองกันยังไง  นายกสมัครไปก็โดนไล่  นายกสมชายไปก็โดนไล่  โกวิท  วัฒนะ รมต. มหาดไทย  ไปจันทบุรีก็โดนไล่อีก (ที่ชุมนุมปรบมือ...)  บ้านเมืองนี้มันต้องเปลี่ยนแปลง  มันไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้  ยังไม่ทันไรเลยก็ตั้งพรรคเพื่อไทย  ตุลาคมต่อถึงพฤศจิกายนก็ต้องยุบพรรคพลังประชาชน  แล้วก็มาตั้งพรรคเพื่อไทยอีก  ประเทศชาติปล่อยให้บริหารกันอย่างนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้วพี่น้อง  พี่น้องครับ! จำเมื่อคืนที่ผมพูดได้ไหม  เราเป็นเหมือนพระมหาชนก  เราว่ายน้ำมาตลอด  เราเหนื่อย  เราล้า  แต่เราต้องไม่ท้อ  เพราะจะถึงฝั่งอยู่แล้วพ่อแม่พี่น้อง (ที่ชุมนุมปรบมือพร้อมส่งเสียง)

พี่น้องครับ! การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ฝังรากลงลึกในเชิงผลประโยชน์ฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยนักการเมืองไม่ใช่เปลี่ยนกันง่าย ๆ  แต่ร้อยกว่าวันที่ผ่านมา  เราได้สั่นคลอนรากฐานของการเมืองเก่า  จนกระทั่งใกล้จะพังแล้ว  อดทนอีกหน่อย (ที่ชุมนุมปรบมือ...) อดทนอีกหน่อยพ่อแม่พี่น้องครับ  เพราะสิ่งที่เราทำนี้มันยิ่งกว่าประวัติศาสตร์  มันมากกว่าประวัติศาสตร์  เพราะว่าเราสร้างประวัติศาสตร์ (ที่ชุมนุมปรบมือ...)”[๘๑]

 

บทบาทสนธิเกี่ยวกับ “พระมหาชนก” อย่างในกรณีข้างต้น  ถือได้ว่าสลับขั้วคำอธิบายจากหัวเป็นท้ายแล้วสร้างความหมายใหม่ขึ้นมา  ทำให้ “พระมหาชนก” มีพื้นที่ในการเมืองมวลชนแบบพันธมิตร  เปลี่ยนย้ายบริบทจากวรรณกรรมพระราชนิพนธ์สู่การสื่อความหมายทางสังคมการเมืองโดยตรง  จะเห็นได้ว่าพระมหาชนกของสนธิไม่ได้หมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะเท่านั้น  แต่ได้ปรากฏความพยายามที่จะเปลี่ยนพระมหาชนกให้มีความหมายต่อมวลชนคนเสื้อเหลือง  โดยพระมหาชนกฉบับมวลชนพันธมิตรไม่ได้เกิดและเวียนว่ายอยู่แต่ในโลกวรรณกรรมอีกต่อไป  แต่มีศูนย์กลางอยู่ที่ความคิดที่สื่อออกมาจากเวทีพันธมิตรและ ASTV   สร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ สื่อความหมายให้เห็นว่าพวกตนเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์  ซึ่งส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนความหมายของ “พระมหาชนก” ไปในขณะเดียวกัน 

แม้จะทรงเคยเน้นย้ำด้วยพระองค์ว่า  “เรื่องนี้ที่สำคัญที่สุดคือต้องการให้คนมีความเพียร  ทำอะไรต้องมีความเพียร  แม้ไม่เห็นฝั่งก็ต้องว่ายน้ำต่อไป… หลักของหนังสือนี้คือทำความเพียรโดยไม่เห็นประโยชน์อะไร  หนังสือนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้าเอง” [๘๒]  แต่สนธิกลับเน้นว่า  “ใกล้จะถึงฝั่งแล้ว”  คือ นายกลาออก  แล้วเปลี่ยนระบบสังคมการเมืองไปสู่ “การเมืองใหม่”  จากเดิมที่ฉบับพระราชนิพนธ์จะเน้นความคิดมนุษย์นิยมกับมหาบุรุษนิยม  ขณะเรือกำลังจะแตกอยู่นั้น  “พระมหาสัตว์ไม่ทรงกันแสง  ไม่ทรงคร่ำครวญ  ไม่ไหว้เทวดาทั้งหลาย.” [๘๓]  สนธิตัดต่อตีความใหม่ว่า  “มีเทวดากำลังเฝ้าดูอยู่”  และ “เทวดา” ที่สนธิพูดถึงกับผู้ชุมนุมอยู่เสมอนั้น  สำหรับกลุ่มพันธมิตรฯ แล้วก็เป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์  จึงสะท้อนมุมมองที่กลุ่มพันธมิตรฯ มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  ในลักษณะเปรียบประดุจว่าเป็น “เทวดา” ที่จะทรงบันดาลให้การต่อสู้เรียกร้องของพวกเขาประสบความสำเร็จ  พร้อมกับแสดงต่อสาธารณะไปด้วยในตัวว่าการต่อสู้ของพวกเขาเป็นไปโดยสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์  จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามข้อเสนอในลักษณะนี้  เกือบจะเข้าใกล้การยกพระองค์ขึ้นเป็นสมมติเทพ  ถอยหลังกลับไปสู่ยุคก่อนสมัยใหม่  ซึ่งขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงของยุคสมัยและหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด  

 

ปัจฉิมบท: จากวรรณกรรมสู่การเมือง vs. จากการเมืองสู่วรรณกรรม

 “พระมหาชนก” ได้ถูกปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดในสังคมสยาม-ไทย  นับแต่สมัยพระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช  จนถึงฉบับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  แต่ฉบับพันธมิตรนั้นเป็นตรงกันข้าม  กล่าวเช่นนี้ก็เพราะข้อมูลพื้นฐานทางประวัติศาสตร์จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบแต่ละฉบับ  ยืนยันแก่ผู้วิเคราะห์ข้อหนึ่งคือ  ชั้นต้น “พระมหาชนก” ไม่ใช่วรรณกรรมชี้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมือง  แต่เป็นวรรณกรรมที่เปลี่ยนแปลงสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง  การชำระ “พระมหาชนก” ในสังคมสยาม-ไทย  จึงเป็นการชำระที่เกิดหลังการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองครั้งสำคัญ ๆ เสมอ เช่น แม้จะเปลี่ยนเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ตั้งแต่หลังวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112  แต่การชำระ “พระมหาชนก” ก็เพิ่งเกิดขึ้นในระยะ พ.ศ. 2468-2471  ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ไปแล้ว  และแม้เพิ่งมีการชำระ “พระมหาชนก” เพื่อให้สอดรับกับสถานะ “ความเป็นกษัตริย์ทางโลกย์” ในช่วงพ.ศ. 2520-2531  แต่สถานะการเป็นองค์พระประมุขแบบใหม่ของพระมหากษัตริย์ในระยะหลังมานี้  ก็เป็นประเด็นที่ได้รับการยอมรับว่า  มีความเป็นจริงทางสังคมการเมืองรองรับอยู่ก่อนนั้นมาพอสมควรแล้ว  โดยสามารถนับย้อนกลับไปได้ถึงระยะหลังรัฐประหาร 2490 เสียด้วยซ้ำ

การเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตก  เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับตัวของชนชั้นนำสยามในต้นพุทธศตวรรษที่ 25  ทำให้ชนชั้นนำบางส่วนโดยเฉพาะในฝ่ายสงฆ์  เห็นความจำเป็นที่ต้องแสวงหาและรักษาไว้ซึ่งระเบียบเก่าบางอย่างและความจริงแท้แบบดั้งเดิม  คู่กับที่มีอีกกระแสที่เสนอการปรับตัวอย่างรวดเร็ว (ภายหลังกระแสนี้แตกออกเป็นอีกกระแสที่เป็นกำลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในระหว่างทศวรรษ 2470-2480) พระมหาชนกฉบับกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  ที่เกิดขึ้นสนองตอบต่อกระแสแรกจึงพยายามรักษาส่วนที่เป็น “แก่นเรื่อง” เอาไว้  แสดงความจริงแท้แบบดั้งเดิม  สร้างความศิวิไลซ์ในอีกแนวทางหนึ่งนั่นเอง  ด้วยระบบคิดและจุดยืนแบบสงฆ์นิกายธรรมยุติจึงทำให้เน้นยกย่องความเพียรในการสละชีวิตทางโลกย์ของพระมหาชนกอย่างมากมาย 

เดิมพระมหาชนกจึงเป็นงานสำคัญทางพุทธศาสนา  หลวงวิจิตรวาทการได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างนิยามใหม่ให้พระมหาชนกและชาดกเรื่องอื่นอีก 9 เรื่อง  เริ่มที่จะมีรสทางวรรณคดี  นำเสนอต่อสาธารณชนวงกว้าง  ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะเชื้อพระวงศ์  และโอกาสในการจัดพิมพ์ก็เปลี่ยนมาขึ้นกับตลาดในระบบทุนนิยมการพิมพ์เป็นสำคัญ  ไม่ใช่เฉพาะวาระสำคัญเนื่องในการเฉลิมวันพระราชสมภพ  การเสนอเครื่องมือในการอธิบายให้ความหมายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับ “วรรณคดีชาดกฉบับหลวงวิจิตรวาทการ”   โดยเครื่องมือที่ว่านั้นได้แก่  สิ่งที่หลวงวิจิตรวาทการเรียกว่า  “หลักวิชา”  โดยเฉพาะวิชาความรู้ทางประวัติศาสตร์  สำหรับชี้ให้เห็นคุณค่าของชาดกในฐานะวรรณคดีที่ให้ความรู้  กรณีหลวงวิจิตรวาทการจึงถือว่าเป็นการสร้างคำอธิบายแทรกลงในโครงเรื่องเดิม  ไม่ได้กระทำการปรับเปลี่ยนอย่างเป็นกระบวนการในหลายด้านประกอบกันถึงขั้นที่จะเรียกได้ว่า  “ชำระ”  แต่กรณีหลวงวิจิตรวาทการก็มีความสำคัญทำให้เกิดหลักหมายของการกำหนดนิยาม “ความเป็นชาดก”  จากนิทานเรื่องเล่าอันศักดิ์สิทธิ์  สู่การเป็นวรรณคดีที่เสนอต่อสาธารณะเป็นสำคัญ 

ต่อมาจึงได้เกิดการชำระ “พระมหาชนก” ขึ้น  ทั้งนี้เนื่องจากภายหลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา  เกิดปัญหาใหม่ที่กระทบต่อสถานะ “ความเป็นกษัตริย์” ในโลกสมัยใหม่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย  สถานะใหม่ที่ปรากฏขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ก็เป็นที่รับรู้ว่า  ไม่ใช่จะได้มาด้วยเพียงเพราะทรงมีสิทธิทางสายพระโลหิตเท่านั้น  แต่ด้วย  “แก่นเรื่อง” ในพระมหาชนกที่ชำระขึ้นใหม่นี้มีอะไรที่สอดคล้องกับกระบวนการสร้างความเป็น “กษัตริย์ทางโลกย์” ในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง  กล่าวได้ว่า “พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์” เป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปบางประการในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในระยะก่อนทศวรรษ 2520 นั่นเอง  ด้วยแนวคิดมนุษย์นิยม มหาบุรุษนิยม และกษัตริย์นิยมแบบใหม่  พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์จึงไม่ได้เสด็จออกผนวช  แต่ทรงเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติสืบมา  ด้วยเหตุที่ว่าในเมื่อราษฎรชาวเมืองยังคง “จาริกในโมหภูมิ”  จึงจำเป็นต้องคอยสั่งสอนและปกครองอยู่ต่อไป  

การสร้างความเป็นการเมืองแก่ “พระมหาชนก” ในกรณีสนธิและกลุ่มพันธมิตร  นอกจากจะขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงของยุคสมัยและหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว  ยังขัดแย้งกับความเปลี่ยนแปลงภายในตัวบทของวรรณกรรมว่าด้วย “พระมหาชนก” เองด้วย  ความขัดแย้งทั้งสามด้านในเวลาเดียวกันเช่นนี้มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนระบบคิดว่าด้วย “ความเป็นกษัตริย์” ที่ถูกขยายมาจากโครงเรื่องในพระมหาชนกอยู่โดยนัย  เพียงแต่ข้อจำกัดของฉบับพันธมิตร คือ ไม่ได้กระทำขึ้นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร  จึงขาดความสมบูรณ์ในกระบวนการชำระไปโดยปริยาย  แต่ก็ถือได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนโครงเรื่องและความหมายของตัวบทเกิดขึ้น  ซึ่งส่งผลต่อนิยามความเป็น “กษัตริย์ทางโลกย์” ในยุคสมัยใหม่ไปในขณะเดียวกันด้วย 

ระบบคิดและอัตลักษณ์ที่มีการนำเสนอผ่านเรื่อง “พระมหาชนก” ไม่ใช่ระบบคิดและอัตลักษณ์ตามแบบฉบับที่เคยมีมาในยุคจารีต  แม้จะอ้างเป็นเรื่องเดียวกับ “พระมหาชนก” ฉบับที่มีมาแต่กาลก่อน  แต่หากทำการศึกษาพิจารณาเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบแล้ว  จะพบว่าความแตกต่างระหว่างฉบับพระราชนิพนธ์กับฉบับอื่น ๆ ที่มาก่อนหน้านั้น  มีมากเสียจนไม่อาจถือได้ว่าเป็นฉบับที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาแต่ประการใด  บทบาทความเป็น “กษัตริย์ทางโลกย์” จะช่วยตอบโจทก์ให้เกิดความยอมรับได้กว้างขวางกว่าความเป็น “กษัตริย์ทางจิตวิญญาณ” ตามแบบฉบับของยุคจารีต  สิ่งนี้กลายเป็นศูนย์กลาง “ความเป็นไทย” ที่มีคุณูปการอย่างสูงในการสร้างมาตรฐานทางศีลธรรมที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดูน่าเชื่อถือ สูงส่ง ควรค่าแก่การถวายความจงรักภักดี  มากกว่าสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ ของรัฐไทยในระยะหลังมานี้ 

หากจะถือว่า “พระมหาชนก” คือเรื่องที่นำเสนอภาพการต่อรองระหว่างยุคสมัย  ก็จะไม่ใช่การต่อรองระหว่างยุคจารีตกับยุคสมัยใหม่  ความเพียรของ “พระมหาชนก” ตามฉบับพระราชนิพนธ์  เป็นความเพียรเพื่อความอยู่รอดและมีสถานภาพที่ดีในยุคสมัยใหม่  กล่าวคือเป็นการต่อรองกำหนดนิยามและสร้างเงื่อนไขระหว่าง “ความเป็นสมัยใหม่” แบบหนึ่งกับ “ความเป็นสมัยใหม่” อีกแบบหนึ่ง  ประเด็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของ “พระมหาชนก” ไม่ใช่ปัญหาว่า  จะทำอย่างไรจึงจะให้ยุคจารีตกลับคืนมา?  สุวรรณภูมิในยุคจารีต (ตามฉบับชินวร) ย่อมไม่เป็นที่น่าปรารถนาอะไรเลย  ถ้าเทียบกับราชสมบัติในมิถิลามหานครสมัยใหม่ (ตามฉบับพระราชนิพนธ์)  แต่ความเป็นสมัยใหม่นั้นกลับมีนิยามพื้นฐานในประเด็นที่ว่า  ราชสมบัติต้องไม่เป็นของใครผู้ใดผู้หนึ่งเท่านั้น  ซึ่งความหมายก็เท่ากับจะต้องไม่มี “ราชสมบัติ” อีกต่อไป  ปัญหาจริง ๆ จึงมีอยู่ว่า  ทำอย่างไรจึงจะให้ราชสมบัตินี้คงอยู่สืบไปในมิถิลามหานครสมัยใหม่  แต่มหาสมุทรนั้นกว้างใหญ่ คลื่นน้ำ และพายุก็มักจะแปรปรวนหรือเปลี่ยนแปลงได้เสมอ  หาก “พระมหาชนก” จะไม่อาจว่ายข้ามไปได้หรือไม่ก็ไม่พบนางมณีเมขลาหรือเทวดาองค์ใด  มาช่วยให้พระองค์ได้ไปถึงฝั่ง  ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้  ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดเลย 

กล่าวโดยสรุปแล้ว  แก่นเรื่องของ “พระมหาชนก” ตามฉบับพันธมิตรแตกต่างจากฉบับพระราชนิพนธ์อย่างสิ้นเชิง  แต่มีลักษณะอ้างอิงสืบเนื่องเป็นอันเดียวกับฉบับพระราชนิพนธ์  ซึ่งที่จริงฉบับพระราชนิพนธ์ก็แตกต่างจากฉบับกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  ทั้งนี้ฉบับพระราชนิพนธ์ก็หาได้อ้างอิงว่าสืบเนื่องมาจากฉบับกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  ทรงยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าทรงดัดแปลงพระไตรปิฎก  ซึ่งความหมายก็คือทรงดัดแปลงฉบับกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ด้วย  อย่างไรก็ตาม  ทุกฉบับที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้กล่าวได้ว่า  ต่างเสนอระบบคิดและจุดยืนของผู้ชำระในแต่ละช่วง “เวลา” เป็นสำคัญ  เมื่อเวลาเปลี่ยนความคิดก็เปลี่ยนตาม  ตัวบทหนึ่งซึ่งแสดงความคิดหนึ่งอาจมีความสำคัญในเวลาหนึ่ง  แต่สำหรับอีกเวลาหนึ่งตัวบทและความคิดนั้นก็อาจไม่เหมาะสมหรือไม่มีความสำคัญอีกต่อไป  

การชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นประเด็นสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์  ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า  จะต้องเป็นฉบับเก่าดั้งเดิมเท่านั้น  จึงจะถือเป็นของแท้  ตัวบทและการนำเสนอความคิดนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้  แต่ไม่ใช่มุ่งเฉพาะตัวบทและความคิดที่มีคุณประโยชน์ต่อการสร้างความชอบธรรมของชนชั้นนำเท่านั้น  ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า  การชำระ “พระมหาชนก” ที่เกิดขึ้นในสังคมสยาม-ไทยในช่วงที่ผ่านมา  ต่างมีผลทำให้ “พระมหาชนก” ไม่ได้เป็นการเล่าเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้าอีกต่อไป  หากแต่เป็นการเล่าที่สัมพันธ์สอดคล้องกับเรื่องราวของผู้ชำระเองมากกว่าอื่นใด ใช่หรือไม่ ?

 




[๑] ขอให้ดูกรณีการชำระพระราชพงศาวดารใน  นิธิ เอียวศรีวงศ์. ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2523 ; อุบลศรี  อรรถพันธุ์. “การชำระพระราชพงศาวดารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก.” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2524 ; จีรพล  เกตุจุมพล. “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขององค์ความรู้ของกลุ่มชนชั้นนำสยามรุ่นใหม่ พ.ศ.2367-2468 (ศึกษากรณีการชำระพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1-4)” (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539 ; และกรณีศิลาจารึกหลักที่ 1 ใน สุจิตต์  วงษ์เทศ (บก.). จารึกพ่อขุนรามคำแหง ใครแต่งกันแน่? “ของจริง” หรือ “ของปลอม” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม, 2531 ;  พิริยะ ไกรฤกษ์. จารึกพ่อขุนรามคำแหง: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้ง, 2532.

[๒] จีรพล  เกตุจุมพล. “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขององค์ความรู้ของกลุ่มชนชั้นนำสยามรุ่นใหม่ พ.ศ.2367-2468,” น. 15. 

[๓] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “พระนิพนธ์คำนำ.” ใน พระคัมภีร์ชาดกแปล ฉบับ ส.อ.ส. เล่ม 1  อรรถกถา เอกนิบาต ภาค 1 กาญจนบุรี: สหายการพิมพ์, 2539 (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น  ชุตินฺธรมหาเถร ป.ธ. 9) วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2539), ไม่ระบุเลขหน้า.

[๔] อนุสรณ์  อุณโณ. “การวิเคราะห์ชาตกัฏฐกถาด้วยทฤษฎีมานุษยวิทยาสัญลักษณ์.”  (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ  บัณฑิตวิทยาลัย  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539), น. 53-54.

[๕] สืบพงศ์  ธรรมชาติ. วรรณคดีชาดก (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2542), น. 14.

[๖] รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์. นิทานชาดกฉบับเปรียบเทียบในคัมภีร์มหาวัสตุและอรรถกถาชาดก (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊ค, 2548), น. 29.

[๗] อนุสรณ์  อุณโณ. “การวิเคราะห์ชาตกัฏฐกถาด้วยทฤษฎีมานุษยวิทยาสัญลักษณ์,” น. 16

[๘] เรื่องเดียวกัน, น. 17.

[๙]  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์, 2530), น. 267.

[๑๐] รุ่งวิทย์  สุวรรณอภิชน. ความเป็นมาพระมหาชนก (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สร้อยทอง, 2539), น. 21.

[๑๑] กรมหลวงวงศาธิราชสนิท. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2  (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์  กรมศิลปากร, 2548), น. 321.

[๑๒] ทรงวิทย์  แก้วศรี. “พระไตรปิฎกฉบับหลวง.” พระไตรปิฎก: ประวัติและความสำคัญ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535), น. 75-76.

[๑๓] เรื่องเดียวกัน, น. 76.

[๑๔] เรื่องเดียวกัน, น. 76-77.

[๑๕] คำปรารภของสมเด็จพระพนรัต วัดเบญจมบพิตร ประธานกรรมการแปลพระไตรปิฎก วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ใน พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ 28. กรุงเทพฯ: กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ, 2514 (พิมพ์ในปีฉลองรัชดาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พุทธศักราช 2514), น. 9-16 ; กรมการศาสนา. พระไตรปิฎกภาษาไทย (กรุงเทพ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539), น. (2)- (3).

[๑๖]การศึกษาการแพร่กระจายของมหาเวสสันดรชาดกในทางวิชาการนั้นขอให้ดู  นิธิ  เอียวศรีวงศ์. “อันเนื่องมาจากมหาชาติเมืองเพชร.” ใน ปากไก่และใบเรือ: รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, 2543), น. 363-401 ;  สมหมาย  เปรมจิตต์. มหาเวสสันดรชาดก: วิเคราะห์ทางสังคมและวัฒนธรรม เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2544.

[๑๗] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2511), น. 71-75.

[๑๘] ธนิต  อยู่โพธิ์. ตำนานเทศน์มหาชาติ กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2524 (พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดมหรรณพาราม กรุงเทพมหานคร วันที่ 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2524), น. 27 ; สมบัติ  จันทรวงศ์. “มหาชาติคำหลวง: ความหมายทางการเมือง.” ใน บทพิจารณ์ว่าด้วยวรรณกรรมการเมืองและประวัติศาสตร์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ, 2547), น. 284, 290-291.

[๑๙] เกษม  บุญศรี. ประเพณีทำบุญเนื่องในพระพุทธศาสนา กรุงเทพฯ: ไม่ระบุโรงพิมพ์, 2512 (พิมพ์เป็นธรรมพลีในงานฌาปนกิจศพ นายอุปถัมภ์  สันติเวชชกุล วัดธาตุทอง พระโขนง  พระนคร  วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2512), น. 153-158.

[๒๐] ธวัช  ปุณโณทก. วรรณกรรมท้องถิ่น (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2525), น. 188-189, 221 ; จารุวรรณ  ธรรมวัตร. วรรณกรรมท้องถิ่น: อีสาน-ล้านช้าง (มหาสารคาม: สาขาวิชาไทยศึกษา  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2539), น. 86-89, 133.

[๒๑] กรมการศาสนา. เทศน์มหาชาติ กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2503 (พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพนางเกื้อ  หุตะสิงห์  วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2503), น. (1)-(4).

[๒๒] ผู้เขียนวิเคราะห์งานศึกษาประเด็นนี้อย่างละเอียดใน  กำพล  จำปาพันธ์. “ข่าเจือง: กบฏผู้มีบุญในพระราชอาณาเขตสยาม พ.ศ.2415-2436.” (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต  ภาควิชาประวัติศาสตร์  บัณฑิตวิทยาลัย  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552), บทที่ 1.

[๒๓] นิธิ  เอียวศรีวงศ์. “พระปฐมสมโพธิกถากับความเคลื่อนไหวทางศาสนาในต้นรัตนโกสินทร์.” ใน ปากไก่และใบเรือ: รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, 2543), น. 449-504.

[๒๔] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. “พระบรมราชาธิบายเรื่องนิบาตชาดก.” ใน พระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น  ชุตินธรโร). (ผู้แปล). พระคัมภีร์ชาดกแปลเรื่อง มหาชนก สุวรรณสาม มโหสถ วิธูร  กรุงเทพฯ: จรัสศิลป์การพิมพ์, 2511 (พิมพ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพนางซุ้ย  ศิริมงคล วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2511), น. 5-7.

[๒๕] เรื่องเดียวกัน, น. 14-16 เส้นใต้ขีดโดยผู้อ้าง.

[๒๖] ดูรายละเอียดประเด็นปัญหานี้ใน ทวีศักดิ์  เผือกสม. “การปรับตัวทางความรู้ ความจริง และอำนาจของชนชั้นนำสยาม พ.ศ. 2325-2411.” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาประวัติศาสตร์  บัณฑิตวิทยาลัย  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.

[๒๗] ลำดับการพิมพ์ทศชาติชาดกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช มีดังนี้ ; พ.ศ. 2470 พิมพ์เตมิยชาดก, พ.ศ. 2471 พิมพ์มหาชนกชาดก, พ.ศ. 2472 พิมพ์สุวรรณสามชาดก  เนมิราชชาดก  มโหสธชาดก, พ.ศ. 2473 พิมพ์ภูริทัตตนาคราชชาดก, พ.ศ. 2474 พิมพ์จันทกุมารชาดก, พ.ศ. 2475 พิมพ์พรหมนารทชาดก, พ.ศ. 2476 พิมพ์วิธุรชาดก, พ.ศ. 2477 พิมพ์พระเวสสันดรชาดก  และรวมพิมพ์ทั้งสิบเรื่องในคราวเดียวกันครั้งแรกใน พ.ศ. 2481 โดยใช้ชื่อเล่มว่า  “มหานิบาตชาดก ทศชาติฉบับชินวร” จำนวน 2 เล่มจบ  โดยเล่ม 1 ประกอบด้วยเรื่องเตมิยชาดก, มหาชนกชาดก, สุวรรณสามชาดก, เนมิราชชาดก  และมโหสธชาดก  เล่ม 2 ประกอบด้วย ภูริทัตตนาคราชชาดก, จันทกุมารชาดก, พรหมนารทชาดก, วิธุรชาดก  และพระเวสสันดรชาดก  ในการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนใช้ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2432  ความแตกต่างในการเขียนระหว่างคำเรียก “เตมิยชาดก” กับ “เตมิกชาดก” และ “มโหสธชาดก” กับ “มโหสถชาดก” สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการแปลถ่ายทอดจากอรรถกถาโดยพยายามคงรูปคำตามเดิมเอาไว้  จึงเห็นได้ว่า คำแรก (เช่น “เตมิยชาดก” และ “มโหสธชาดก” ) เป็นคำที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช  ทรงใช้ในทศชาติฉบับของพระองค์  ส่วนคำหลัง (เช่น “เตมิกชาดก” และ “มโหสถชาดก” )  เป็นศัพท์ที่นิยมใช้กันในสมัยหลังมานี้  ทั้งนี้พิจารณา “บริบทการใช้” ของทศชาติฉบับก่อน ๆ  ยังน่าสนใจในแง่ที่ว่า  เนื่องจากมีขึ้นเพื่อใช้เทศน์มากกว่าใช้อ่าน  รูปแบบการถ่ายทอดเนื้อหาจึงเน้นการพูดกับการฟัง  ปากกับหูจึงทำงานเป็นด้านหลักในกระบวนการถ่ายทอด  ไม่ใช่เน้นการอ่านทางตาเป็นด้านหลักดังปัจจุบัน  รูป “คำ” จึงมีขึ้นสำหรับใช้แทนเสียงพูดหรือแทนคำพูดที่สื่อสารผ่านปากและหู  ไม่ใช่รูปคำที่ใช้สำหรับแทนการเขียน  ฉะนั้นการเขียนต่างกันในสมัยก่อนจึงไม่เป็นปัญหาถ้าเสียงของคำเหมือนกันและเข้าใจความหมายของคำตรงกัน  แต่ในกรอบของโลกยุคสมัยใหม่ที่เน้นสื่อสารกันด้วยตาและภาษาเขียน  การเขียนคำต่างกันแม้คนเขียนจะหมายถึงคำเดียวกันก็อาจเป็นปัญหาในการสื่อความหมายได้ง่าย ๆ  หน่วยงานอำนาจนิยมสุดขั้วอย่างกระทรวงวัฒนธรรมและราชบัณฑิตยสถาน  จึงมีบทบาทสำคัญที่จะกำกับให้การเขียนสอดคล้องตรงกันไปเสียหมด  แต่ในทางประวัติศาสตร์นั้นคำมีประวัติศาสตร์ของตัวมันเองเสมอ  คำที่เขียนเหมือนกันอาจมีความหมายต่างกัน เมื่อเวลาเปลี่ยนไประยะหนึ่ง  บางคำเขียนต่างกัน  ความหมายอาจเหมือนกันก็ได้  นี่คือวิธีการพื้นฐานที่ผู้เขียนใช้ในการมองกรณี “พระมหาชนก” ในที่นี้ด้วย

[๒๘] พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช. มหานิบาต ทศชาติฉบับชินวร เล่ม 1 กรุงเทพฯ: กองบัญชาการทหารสูงสุด เหล่าทัพ และกรมตำรวจ, 2532 (พิมพ์เนื่องในการออกพระเมรุพระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2532), น. 1.

[๒๙] สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ทศบารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาท.” (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต  ภาควิชาภาษาตะวันออก  บัณฑิตวิทยาลัย  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524), น. 139.

[๓๐] พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช. มหานิบาต ทศชาติฉบับชินวร เล่ม 1, น. 1.

[๓๑] เรื่องเดียวกัน, น. 2 ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง.

[๓๒] เรื่องเดียวกัน, น. 41.

[๓๓] เรื่องเดียวกัน, น. 43.

[๓๔] เรื่องเดียวกัน, น. 58 ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง.

[๓๕] เรื่องเดียวกัน, น. 59.

[๓๖] เรื่องเดียวกัน, น. 67.

[๓๗] เรื่องเดียวกัน, น. 71.

[๓๘] เรื่องเดียวกัน, น. 71-73 ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง.

[๓๙] เรื่องเดียวกัน, น. 78.

[๔๐] เรื่องเดียวกัน, น. 79.

[๔๑] เรื่องเดียวกัน, น. 80.

[๔๒] เรื่องเดียวกัน, ตรงนี้คงต้องขออภัยนักสตรีนิยมเป็นอย่างยิ่ง  ไม่ใช่เพียงเพราะตัวบทในเอกสารว่าไว้เช่นนั้นเท่านั้น  แต่เพราะตระหนักว่าความปิติสุขจากการบวชของพระมหาชนกในที่นั้น  เป็นทุกขเวทนาอย่างสาหัสของพระนางสีวลี  ความเพียรของพระนางดังที่เอกสารพรรณนามีค่าควรแก่การยกย่องไม่น้อยไปกว่าความเพียรของพระมหาชนก  ในที่นี้ผู้เขียนไม่มีเจตนาจะผลิตซ้ำมุมมองอคติแบบชายเป็นใหญ่ที่ปรากฏให้เห็นในทศชาติแต่อย่างใด  ทั้งนี้ผู้เขียนก็เห็นด้วยว่าการศึกษา “ประวัติศาสตร์ชาดก” ก็เช่นเดียวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ด้านอื่น ๆ ตรงที่ยังการมองแบบ “สตรีเป็นศูนย์กลาง” ยังมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่มาก...

[๔๓] เรื่องเดียวกัน, น. 81.

[๔๔] เรื่องเดียวกัน, น. 82.

[๔๕] อย่างเช่น  มหามกุฎราชวิทยาลัย. พระสูตร และอรรถกถา (แปล) ขุททกนิกายชาดก เล่ม 4 ภาค 1-3 กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2525 (พิมพ์เนื่องในโอกาสครบ 200 ปีแห่งพระราชวงศ์จักรีและกรุงรัตนโกสินทร์) และ กรมการศาสนา. “พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 2,” ใน พระไตรปิฎกภาษาไทย, น. 202-228.

[๔๖] อาจารย์ฉลอง  สุนทราวาณิชย์  ได้กรุณาชี้แนะผู้เขียนว่า  ในบรรดาปัญญาชนฝ่ายฆราวาสที่มีผลงานประพันธ์ทางพุทธศาสนาในช่วงทศวรรษ 2470-2490  หลวงวิจิตรวาทการนับเป็นผู้หนึ่งที่หากใครสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาก็จำเป็น “ต้องอ่าน”  อีกทั้งหลวงวิจิตรวาทการยังเป็น “ดาวเด่น” ในหมู่สงฆ์  หลายวัดทั้งในเมืองและชนบทต่างต้องมีงานของหลวงวิจิตรวาทการเก็บไว้ในตู้สำหรับเป็นตำราอ้างอิงศึกษา  แม้ไม่เห็นด้วยทั้งหมดเสียทีเดียว  ซึ่งช่วยให้ผู้เขียนหายข้องใจในประเด็นที่ว่า  เหตุใดวัดเก่าแก่หลายวัดตามบ้านนอกจึงมักมีผลงานเก่า ๆ ของหลวงวิจิตรวาทการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี  ขณะที่หลายเล่มปัจจุบันจัดอยู่ในชั้น “หายาก” ของหอสมุดในกรุงเทพฯ ไปแล้ว  แต่จะยังคงอ่านกันอยู่มากน้อยเพียงใดนั้น  ก็สุดปัญญาที่จะทราบได้   

[๔๗] หลวงวิจิตรวาทการ. วรรณคดีชาดกฉบับหลวงวิจิตรวาทการ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2499), คำนำไม่ระบุเลขหน้า. 

[๔๘] เรื่องเดียวกัน. 

[๔๙] เรื่องเดียวกัน, น. 20.

[๕๐] เรื่องเดียวกัน, น. 27-28.

[๕๑] เรื่องเดียวกัน, น. 21.

[๕๒] เรื่องเดียวกัน.

[๕๓] หลวงวิจิตรวาทการ. ศาสนาสากล: เปรียบเทียบศาสนา ลัทธิ และปรัชญาต่าง ๆ ทั่วโลก (เล่ม 1 ว่าด้วยยุคดึกดำบรรพ์) (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ ส.ธรรมภักดี, 2494), น. ก.-ข.

[๕๔] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. พระมหาชนกฉบับการ์ตูน (กรุงเทพฯ:อัมรินทร์พริ้นติ้ง, 2542), น. (6).

[๕๕] “ข่าวในพระราชสำนัก.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนที่ 30 ง. (วันที่ 11 เมษายน พุทธศักราช 2539), น. 108 ควรกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า  เวลาเสด็จลงจากศาลาดุสิตาลัย ที่หลักฐานนี้ระบุ 18.30 น. นั้นมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย  หลักฐานจากแหล่งอื่น เช่น หนังสือพิมพ์รายวัน ระบุตรงกันว่า  เป็นเวลา 17.30 น. ผู้เขียนจึงรับเชื่อว่าเป็นเวลาหลังนี้มากกว่า  ส่วนสาเหตุที่หลักฐานราชกิจจานุเบกษาคลาดเคลื่อนไปนั้น  คงเป็นเพราะการลงข่าวย้อนหลังไปเป็นเวลา 14 วัน (เหตุการณ์เกิดในวันที่ 28 มีนาคม  แต่ราชกิจจานุเบกษาไปลงข่าวในวันที่ 11 เมษายน)  ต่างกับหนังสือพิมพ์รายวันซึ่งลงข่าวย้อนหลังไปเพียงวันเดียว (เหตุเกิดวันที่ 28 มีนาคม  ลงข่าววันที่ 29 มีนาคม ) แต่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เข้าเฝ้าตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้  ตรวจสอบแล้วก็พบว่า  แม่นยำทีเดียว.

[๕๖] ดูรูป ประวัติ และภาพเขียนของศิลปินทั้ง 8 คนนี้ได้จากภาคผนวกใน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก (กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้ง, 2539), น. 154-162.

[๕๗]ไม่ใช่ครั้งแรกแต่อย่างใดที่ทรงมีบทบาทในการสร้างเหรียญลักษณะนี้ด้วยพระองค์เอง  จากงานศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำโครงการพระราชดำริในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่โดยชนิดา  ชิตบัณฑิตย์ ได้เสนอข้อมูลว่าก่อนหน้านี้ในยุคที่รัฐไทยเผชิญปัญหาความมั่นคงจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระเครื่อง “สมเด็จจิตรลดา”  หรือ “พระกำลังแผ่นดิน”  ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับพระนาม  ด้วยการนำเอาวัตถุมงคลหลายชนิดผสมกัน เช่น ดินจากปูชนียสถานต่าง ๆ จากทั่วประเทศ  ดอกไม้ที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสต่าง ๆ และเส้นพระเจ้า (พระเกศา) ของพระองค์เอง  เมื่อผสมกันโดยใช้กาวลาเท็กซ์เป็นเครื่องยึดแล้ว  จึงทรงกดพระแต่ละองค์ลงในแบบพิมพ์  โดยไม่ได้เอาเข้าเตาหรือใช้ความร้อนชนิดใด  มีนายไพฑูรย์  เมืองสมบูรณ์  ปฏิมากรราชสำนักประจำ (ต่อมาได้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาประติมากรรมและจิตรกรรม พ.ศ. 2529) เป็นผู้แกะถวาย “เพื่อพระราชทานเป็นการส่วนพระองค์แก่ข้าราชบริพาร  และพสกนิกรผู้ประกอบคุณงามความดีแก่แผ่นดิน”  โดยเฉพาะตำรวจทหารและพลเรือน (พตท.) ที่ปฏิบัติการอยู่ในสถานการณ์สู้รบ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มสร้างพระเครื่องราว พ.ศ. 2508  และหยุดสร้างราว พ.ศ. 2512  รวมจำนวนไม่เกิน 3,000 องค์  แต่ก็น่าสนใจในแง่ที่ว่าเหรียญพระมหาชนกที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2539 ไม่ได้ถูกมองเป็นพระเครื่องของในหลวง  และการสร้างพระเครื่องของในหลวงถูกมองยึดโยงไว้กับความทรงจำในสถานการณ์สู้รบช่วงระหว่างทศวรรษ 2510-2520  ดูรายละเอียดจาก ชนิดา  ชิตบัณฑิตย์. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550), บทที่ 3.

[๕๘] รุ่งวิทย์  สุวรรณอภิชน. ความเป็นมาพระมหาชนก, น. 93.

[๕๙] สำหรับการอ้างอิงในที่นี้ผู้เขียนใช้ฉบับการ์ตูนภาพขาวดำเป็นหลัก 

[๖๐] นายชูเกียรติ  อุทกพันธุ์ - ผู้อ้าง.

[๖๑] นายสมรรถ  เรืองณรงค์ - ผู้อ้าง.

[๖๒] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ปีพุทธศักราช 2539 กรุงเทพฯ: สำนักราชเลขาธิการ, 2540 (พิมพ์เนื่องในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล  วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2540), น. 231-234  ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง.

[๖๓] มติชนรายวัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 6595 (วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2539), น. 15 ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง.

[๖๔] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. พระมหาชนกฉบับการ์ตูน, น. (5)

[๖๕] เรื่องเดียวกัน.

[๖๖] เรื่องเดียวกัน, ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง.

[๖๗] พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช. มหานิบาต ทศชาติฉบับชินวร เล่ม 1, น. 50.

[๖๘] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. พระมหาชนกฉบับการ์ตูน, น. 68-71 ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง.

[๖๙] เรื่องเดียวกัน, น. 93- 94  ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง.

[๗๐] พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราช. มหานิบาต ทศชาติฉบับชินวร เล่ม 1, น. 58   จะเห็นได้ว่าข้อความข้างต้นเป็นข้อความที่ถูกตัดออกไปในฉบับพระราชนิพนธ์

[๗๑] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. พระมหาชนกฉบับการ์ตูน, น. 96  ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง.

[๗๒] เรื่องเดียวกัน, น. 102.

[๗๓] เรื่องเดียวกัน, น. 95  ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง.

[๗๔] เรื่องเดียวกัน, น. 103.

[๗๕] เรื่องเดียวกัน, น. 105.

[๗๖] เรื่องเดียวกัน, น. 109 ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง.

[๗๗] ภาพอยู่ในหน้า 46, 47, 56, 57.

[๗๘] มติชนรายวัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 6595 (วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2539), น. 15 ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง.

[๗๙] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. พระมหาชนกฉบับการ์ตูน, น. 84.

[๘๐] ดูคำปราศรัยฉบับเต็มได้จาก http://www.managerradio.com/Radio/DetailRadio.asp?program_no=1002&mmsID=1002%2F1002%2D6300%2Ewma&program_id=18906

[๘๑] ถอดเทปจาก http://www.managerradio.com/Radio/DetailRadio.asp?program_no=1002&mmsID=1002%2F1002%2D6300%2Ewma&program_id=18907

[๘๒] พระราชดำรัสวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2539 ใน มติชนรายวัน, น. 15.

[๘๓] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. พระมหาชนกฉบับการ์ตูน, น. 49.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net