Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ดูหนังเรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี” ระหว่างที่เตรียมบทความและไฟล์บรรยาย  สำหรับงานประชุมสัมมนาทางวิชาการ  ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า  บ่องตง! ให้รู้สึกทึ่งที่ในท่ามกลางการแพร่หลายและเข้าถึงได้ง่าย  ของข้อมูลหลักฐานที่มีเนื้อความต่างจากพระราชพงศาวดารไทย   เป็นที่รับรู้ทั่วไปแม้ในกลุ่มคนที่สนใจประวัติศาสตร์เพียงผิวเผิน  แต่ท่านมุ้ยกับทีมงานกลับแสดงให้เห็นความกล้าที่ยังคงนำเสนอตามพระราชพงศาวดารไทย  พระมหาอุปราชมังสามเกียดจึงยังคงถูกสมเด็จพระนเรศวรฟันด้วยพระแสงของ้าวสิ้นพระชนม์บนคอช้าง  ไม่ได้ถูกยิงด้วยอาวุธปืนไฟ (ไม่ว่าจะจากองค์สมเด็จพระนเรศวร จากทหารรับจ้างโปรตุเกส หรือจากพวกเดียวกันแต่เป็นมอญ)  

ทั้งนี้ไม่นับประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ที่ถกเถียงกันมานมนานในหมู่นักโบราณคดีและประวัติศาสตร์  อย่างเช่น ประเด็นเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือไม่  ซากฐานเจดีย์เก่าที่ตระพังตรุหรือหนองสาหร่ายนั้นกำหนดอายุได้มากสุดสมัยไหน  ก่อนพระเจ้ารามาธิบดีที่ 1 สถาปนากรุงศรีอยุธยา หรือสมัยอยุธยาตอนต้น  ประเด็นเรื่องสถานที่ชนช้าง ว่าเป็นที่ไหนแน่  ระหว่างดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี หรือพนมทวน จ.กาญจบุรี หรือทุ่งลุมพลี ภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา  สำหรับคนที่อ่านที่ศึกษามาบ้าง  ก็คงสนใจว่าท่านมุ้ยและทีมของท่านจะจัดการกับประเด็นปัญหาเหล่านี้อย่างไร    

ตั้งแต่ภาคหนึ่งจนถึงภาคห้านี้  ผมมีข้อสรุปรวบย่อ (Conceptualize) ได้กว้างๆ อยู่อย่างหนึ่ง  เกี่ยวกับการถ่ายทอดเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่ามีลักษณะเป็น “พงศาวดารบนแผ่นฟิล์ม”  หรือนัยหนึ่งคือเป็นภาพยนตร์ที่นำเนื้อหาอ้างอิงหลักๆ มาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับชำระหลังเสียกรุง พ.ศ.2310 

กระนั้นเพื่อปกป้องข้อโต้แย้งที่อาจมาจากความรับรู้ที่ต่างออกไปจากที่ภาพยนตร์นำเสนอ  ดังที่มีการแถลงไว้ตั้งแต่ก่อนภาคแรกจะออกมาให้ได้รับชมกัน  ก็คือให้ถือเป็นการเสนอตาม “ตำนาน”  ทำนองว่าหากมีเรื่องที่ถูกจับได้ว่าไม่น่าจะเป็นจริง  ก็ถือเป็นความผิดของตำนาน หรือก็คือของคนที่สร้างตำนานนี้มาเป็นที่รับรู้แพร่หลายในภายหลัง  แต่ “ตำนาน” ก็ไม่ใช่วัตถุดิบหรืออะไรก็ได้ที่จะสามารถหยิบยกมาอ้างความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดคลาดเคลื่อนทางข้อมูลได้เท่าไร  ก็ “ตำนาน” ตามแบบจารีต  ถือเป็นวิธีเล่าอดีตของคนชั้นไพร่  ที่ไม่นิยมใช้วัฒนธรรมบันทึกอดีตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 

จึงเป็นธรรมดาที่ “ตำนาน” ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์  จะมีแง่มุมที่แตกต่างจาก “พระราชพงศาวดาร” ที่เป็นบันทึกของราชสำนัก  การยกให้โอกาสผิดพลาดทางข้อมูลไปตกเป็นของ “ตำนาน” ก็เท่ากับยกความผิดให้ไปตกกับมุมมองแบบไพร่ๆ  สิ่งที่ชนชั้นสูงบันทึกเท่านั้นถึงจะถือจะยอมรับเป็นความจริง  เท่ากับยืนยันว่าพระราชพงศาวดารยังคงให้ข้อมูลที่ถูกต้องอยู่กลายๆ  ทั้งๆ ที่นักประวัติศาสตร์ไทยและเทศ ต่างชี้ให้เห็นกันมานักต่อนักแล้วว่า  พระราชพงศาวดารก็สามารถตบแต่งเรื่องราวให้พิสดารไปจากข้อเท็จจริงได้  โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารที่มาจากการชำระของคนในยุคหลัง  ย่อมจะปรับปรุงเนื้อความไปตามโลกทัศน์และผลประโยชน์ที่มีอยู่เป็นปกติธรรมดา

ที่จริงแล้วนักประวัติศาสตร์รุ่นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ก็ได้รับรู้ถึงความมีอยู่ของข้อมูลที่ต่างจากพระราชพงศาวดารไทย  เนื่องจากมีการแปลเอกสารพระราชพงศาวดารพม่ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 5  เมื่อคราวที่ให้อรรถาธิบายความแทรกใน “พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา”  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้ระบุข้อความอ้างอิงถึง “พงศาวดารพม่า” ไว้ดังนี้

“การรบครั้งนี้ หนังสือพงศาวดารพม่าว่า รบกันในชานพระนคร ว่าในวันรบนั้นพระมหาอุปราชายืนช้างอยู่กลาง พระเจ้าแปรยืนช้างอยู่ขวา นัตจินหน่องยืนช้างอยู่ข้างซ้าย ต่อไปข้างขวาเจ้าเมืองจาปโร (เห็นจะเป็นที่ในพระราชพงศาวดารเรียกว่า มังจาปโร พี่เลี้ยง) ขี่ช้างตัว ๑ กำลังติดน้ำมันหน้าหลัง ช้างนั้นดุร้ายต้องเอาผ้าคลุมตะพองปิดตาไว้ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระคชาธารยกกองทัพมาจากพระนคร  พอแลเห็นพระมหาอุปราชา  ก็ขับช้างพระที่นั่งตรงเข้าไปที่พระมหาอุปราชายืนช้างอยู่  ขณะนั้นเจ้าเมืองจาปโรจึงเปิดผ้าที่คลุมตาช้างน้ำมัน  หวังจะขับเข้าชนช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวร  ช้างน้ำมันกลับแล่นเข้าแทงเอาช้างพระมหาอุปราชาเจ็บป่วยสาหัส  ถึงต้องเอาเข้ายืนพิงไว้กับต้นไม้  พอข้าศึกยิงปืนมาต้องพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง  แต่นายท้ายช้างพยุงพระองค์ไว้  สมเด็จพระนเรศวรสำคัญว่าพระมหาอุปราชายังดีอยู่จึงยั้งช้างพระที่นั่ง  ในขณะนั้นนัตจินหน่องจึงไสช้างเข้าชนช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวร  ช้างสมเด็จพระนเรศวรทานกำลังนัตจินหน่องไม่ได้  สมเด็จพระนเรศวรก็ถอยกลับเข้าพระนคร...”   

จากนั้นทรงให้พระวินิจฉัยวิพากษ์ข้อมูลเปรียบเทียบกับพระราชพงศาวดารไทย  โดยสรุปความเห็นยืนยันว่าพระราชพงศาวดารไทยด้วยเหตุผลว่าเป็นของสำคัญของชาติไทย  ความว่า 

“เรื่องสงครามคราวชนช้าง  หนังสือพงศาวดารพม่าว่าดังกล่าวมานี้  ผิดกับพงศาวดารไทยในข้อสำคัญ คือ ข้อต้น พม่าเข้าใจว่าคราวนั้นมารบกันที่ชานพระนคร  ผู้แต่งพงศาวดารพม่าจึงผูกเรื่องให้ เป็น เข้า ออก หนี ไล่ กันในบริเวณเมือง  ที่จริงศึกครั้งนั้นไปรบกันในแขวงเมืองสุพรรณ  มิใช่ชานพระนครอย่างพม่าเข้าใจ  ลักษณะการรบอย่างพม่าว่าจึงเป็นความจริงไม่ได้  อีกประการ ๑ เรื่องทำยุทธหัตถีคือ ที่จอมพลทั้ง ๒ ฝ่ายขี่ช้างเข้าชนกันตัวต่อตัว  เอาแพ้ชนะกันในสนามรบ  ย่อมถือกันมาแต่ดึกดำบรรพ์  ว่าเป็นยุทธวิธีอันผู้ชนะมีเกียรติยศอย่างสูงสุดในการสงคราม  เพราะเหตุที่ชนะด้วยความกล้าหาญชำนาญยุทธในส่วนตัวของแม่ทัพ  ไม่ได้ชนะกันด้วยจำนวนพลหรือกลอุบายอย่างหนึ่งอย่างใด  เมื่อพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ไปตีเมืองอังวะ  ไปชนช้างมีชัยชนะพระเจ้าอังวะ  ก็ยกย่องเกียรติยศเลื่องลือกันมาก  คราวนี้ข้างหงสาวดีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ยุทธหัตถี  ผู้แต่งพงศาวดารพม่าคงจะนึกขวยใจ  จึงกล่าวแก้ไปเป็นอย่างอื่น  เกณฑ์ให้ช้างพวกเดียวแทงกันเอง  ให้พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ด้วยถูกปืน  และที่สุดจนถึงเอาพระคชาธารเข้าพิงต้นไม้  ซึ่งไม่ต้องพิเคราะห์เท่าใดก็เห็นได้ว่าไม่จริงอย่างนั้น  ฝ่ายข้างไทยเรา  ซึ่งดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดาร  ว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ชนะยุทธหัตถี (อันเป็นวิธียุทธยากที่จะมีโอกาสได้จริงๆ ไม่ว่าในประเทศใดๆ)  ก็ปิติปราโมทย์  ถือเป็นเกียรติยศสำคัญของชาติ  จึงจดจำความไว้โดยละเอียดมาแต่แรก  ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระมาลาเบี่ยง  ทรงประหารพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าวองค์ที่มีชื่อว่าแสนพลพ่าย  ให้เปลี่ยนชื่อช้างต้น  พระยาไชยานุภาพ  ที่ทรงชนชนะเป็นเจ้าพระยาปราบหงสาและที่สุดพระเจดีย์ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรให้สร้างไว้ตรงที่ชนะยุทธหัตถียังมีปรากฏอยู่ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จดหมายเหตุข้างไทยแม้จะผิดได้ในเรื่องอื่น  ในเรื่องชนช้างครั้งนั้นจะผิดไม่ได้เป็นอันขาด  สงครามคราวนี้ ถือว่าเป็นมหาชัยของชาติไทยมาแต่ครั้งกรุงเก่า  จดหมายเหตุข้างไทยถูกต้องกันทุกฉบับ”   

เนื่องจากไม่ได้วิพากษ์หลักฐานโดยใช้เกณฑ์เวลาและพื้นที่แวดล้อมประกอบการพิจารณา  เหตุผลที่หยิบยกมาใช้ เช่น ความสำคัญของเหตุการณ์ที่มีต่อชาติ  ก็เป็นการนำเอาตัวแปรที่เกิดขึ้นภายหลังไปพิจารณาเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ในอดีต  ที่สำคัญสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมิได้นำเอาหลักฐานบันทึกของชาวตะวันตกมาพิจารณาประกอบด้วย  หลักฐานบันทึกของชาวตะวันตกแม้แต่ที่อยู่ข้างฝ่ายอยุธยาและกล่าวถึงศึกครั้งนั้น ก็อาทิเช่น บูการ์รู (โปรตุเกส), ตุรแปง (ฝรั่งเศส), ฟลอรีส (อังกฤษ), ฟานฟลีตหรือ วัน วลิต (ฮอลันดา), แกมเฟอร์ (เยอรมัน) และแม้แต่เอกสารเปอร์เซียอย่างเรื่อง “สำเภากษัตริย์สุลัยมาน” เป็นต้น  

ทั้งที่อยู่ในบริบทแวดล้อมและผลประโยชน์ต่างกับพม่า  เหตุใดจึงบันทึกเรื่องสอดคล้องกับพม่า  ที่สำคัญถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ชาวตะวันตกเหล่านี้  ยกเว้นโปรตุเกส (ที่เป็นทหารรับจ้างอ้างว่ามีบทบาทอยู่ในสมรภูมิดังกล่าว)  จะมิได้บันทึกอย่างคนที่เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตัวเอง (Eyewitness)  แต่น่าสนใจที่ข้อมูลของพวกเขามาจากการสืบถามเอาจากชาวเมืองในอยุธยานั้นเอง  จึงสะท้อนแง่มุมของคนกรุงศรีฯ ไม่ใช่เพียงความเห็นของฝรั่งต่างชาติล้วนๆ  เนื่องจากชาวตะวันตกเข้าไม่ถึงเอกสารของราชสำนัก  จึงได้อาศัยวิธีสืบถามไต่สวนทวนความเอาจากไพร่ราษฎรชาวเมือง 

อีกทั้งพระราชพงศาวดารฉบับก่อนเสียกรุง พ.ศ.2310 (มิได้ถูกชำระแต่งใหม่ในต้นรัตนโกสินทร์) อย่างเช่นฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษณ์) ก็ดูจะมิได้ให้ความสำคัญกับศึกยุทธหัตถีเท่าไรเลย  ผิดกับฉบับชำระ/แต่งใหม่ หลังเสียกรุง พ.ศ.2310 เช่น ฉบับพระพนรัตน์, ฉบับพันจันทนุมาศ (ที่ถึงแม้จะมาจากฉบับธนบุรี แต่ก็ได้เสริมข้อความใหม่เข้าไปมาก), ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์, ฉบับพระราชหัตถเลขา, สังคีติยวงศ์  เป็นต้น  ที่ต่างเล่าเหตุการณ์ละเอียดถี่ยิบ  ราวกับผู้แต่งได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง  ทั้งที่ล่วงเลยมาร่วมสองร้อยปี 

คำถาม คือ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ, พระจักรพรรดิพงศ์ (จาด), พระวชิรญาณภิกขุ (รัชกาลที่ 4),  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (ผู้แต่ง “ลิลิตตะเลงพ่าย” ) พระเถระผู้ใหญ่ทั้งสี่ที่มีบทบาทในการชำระ/แต่งใหม่พระราชพงศาวดารหลังเสียกรุงฯ  ได้เค้าโครงความคิดว่าด้วย “ยุทธหัตถี” นี้มาจากไหน???  (ยังไม่นับข้อขัดแย้งที่ว่าเป็นพระภิกษุผู้ใหญ่ของบ้านเมือง แล้วไยมาแต่งพระราชพงศาวดารว่าด้วยการเข่นฆ่าสังหารกันเยี่ยงนี้???)

นับตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์  มีวรรณกรรมต่างประเทศ 3 ชิ้น ที่ได้รับความนิยมยกย่องจากกระฎุมพีรัตนโกสินทร์อย่างมาก  ที่สำคัญวรรณกรรมทั้ง 3 ชิ้นดังกล่าว  ล้วนมีเนื้อเรื่องกล่าวถึง “ยุทธหัตถี” เอาไว้อย่างวิจิตรเลิศเลอ ได้แก่ “ราชาธิราช” (มอญ), “มหากาพย์ท้าวฮุ่งท้าวเจือง” (ลาว) และ “มหาวงษ์” (ลังกา) สองชิ้นแรกถือเป็นวรรณกรรมทางโลกย์  ว่าด้วยกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของสองชนชาติในลุ่มอิรวดีและแม่น้ำโขง  “ราชาธิราช” ได้เรียบเรียงและชำระใหม่โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน)  กล่าวถึงยุทธหัตถีระหว่างพระเจ้าฟ้ารั่วกับพระเจ้าตราพระยา และระหว่างพระเจ้าราชาธิราชกับเป็ดน้อย  ส่วนมหากาพย์ท้าวฮุ่งท้าวเจือง  เพิ่งจะได้รับการชำระใหม่โดยมหาสิลา วีระวงส์  ทว่าก็เป็นวรรณคดีเก่าแก่ที่รู้จักกันมานาน  ปรากฏในบานแผนกเก็บรักษาอยู่ที่หอพระสมุด  กล่าวยกย่องขุนเจืองในที่ทำยุทธหัตถีกับแกวปะกัน กับแถนลอ  เป็นบทกวีร่ายงดงามสละสลวย  ทั้งสองเรื่องมีความสำคัญในทางวรรณคดีและประวัติศาสตร์เพียงใด  มีผู้กล่าวถึงไว้มากแล้ว 

ขณะที่ “มหาวงษ์ พงษาวดารลังกาทวีป” จัดอยู่ในคัมภีร์สำคัญของพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์เลยทีเดียว  ฉบับภาษาบาลีเก่าแต่งโดยพระมหานามเถระ ชาวลังกา แพร่หลายในกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (น่าจะหลังพระอุบาลีเดินทางไปสืบพระพุทธศาสนาประดิษฐานนิกายสยามวงศ์ที่ลังกา พระอุบาลีมรณภาพ ขณะที่พระอริยมุนีได้กลับมายังวัดธรรมาราม อยุธยา)  ชำระและแต่งใหม่เป็นภาษาไทยสยามในสมัยรัชกาลที่ 1  ปรากฏบานแผนกหอพระสมุดระบุว่า 

“สมเด็จพระบรมธรรมฤกมหาราชาธิราชเจ้า  พระองค์เปนสาสนูปถัมภกยกพระพุทธสาสนา  เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  หมู่มุขมนตรีกระวีราชปโรหิตาจารย์ เฝ้าพระบาทบงกชมาศ จึงมีพระราชบริหารดำรัสสั่งขุนสุนทรโวหาร ผู้ว่าที่พระอาลักษณ์ ให้ชำระเรื่องพระมหาวงษ์ที่ราชบัณฑิตแต่งทูลเกล้าฯ ถวาย  ให้ถูกต้องตามวาระพระบาฬี  พระธรรมปโรหิตแต่ง  ขุนสุนทรโวหาร ผู้ว่าที่พระอาลักษณ์ชำระแล้ว  ดำรัสสั่งให้เชิญไปเผดียงปฤกษาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ เห็นพร้อมกัน”

“มหาวงษ์” เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงสงครามระหว่างพระเจ้าทุษฐคามินีอภัย กษัตริย์สิงหล กับ พระเจ้าเอฬารราช กษัตริย์ทมิฬ  ทั้งสองผู้นำชนชาติ (สิงหล-ทมิฬ) ได้กระทำมหายุทธการ  รบกันทั้งลังกาทวีปเพื่อพิสูจน์ว่าระหว่างสิงหลกับทมิฬ  ที่มีความแตกต่างกันทั้งชาติพันธุ์และความเชื่อทางศาสนานั้น  ใครจะเป็นใหญ่เหนือลังกาทวีป  ผลปรากฏว่าพระเจ้าทุษฐคามินีอภัย กษัตริย์สิงหลที่นับถือพุทธศาสนา  เป็นฝ่ายชนะพระเจ้าเอฬารราช ผู้ถูกระบุโดยผู้แต่งมหาวงษ์ ว่าเป็นฝ่าย “มิจฉาทิฏฐิ”  ที่มล้างทำลายชาวพุทธลังกาในราวพุทธศตวรรษที่ 3 หลังสมัยพระเจ้าอโศกไม่นาน  พระเจ้าทุษฐคามินีอภัยได้รับสมญาเป็นกษัตริย์ชาวพุทธ ผู้ปกป้องพุทธศาสนาจากการรุกรานของมิจฉาทิฏฐิ (นับถือศาสนาอื่นมีพราหมณ์ เป็นต้น)  

เหตุที่ศึกสุดท้ายที่ส่งผลทำให้ฝ่ายพุทธเถรวาทลังกาได้รับชัยชนะเด็ดขาดนั้น  ผู้นำทั้งสอง คือ พระเจ้าทุษฐคามินีอภัย กับ พระเจ้าเอฬารราช  ได้กระทำยุทธหัตถีกัน  ผลของชัยชนะทำให้พระเจ้าทุษฐคามินีอภัย  กลายเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุดในท่ามกลางหมู่กษัตริย์ทั้งหลายในลังกาทวีป  พระเจ้าทุษฐคามินีอภัยจึงเป็นกษัตริย์ลำดับที่สองต่อจากพระเจ้าอโศก ที่ถือเป็นกษัตริย์ “จักรพรรดิราช” ตามขนบพุทธศาสนาเถรวาท  นับจากนั้นมา ยุทธหัตถีก็กลายเป็นประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับการทำสงครามของกษัตริย์ที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์  ชนชาติและแว่นแคว้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นับถือเถรวาทลังกาวงศ์  ไม่ว่าจะมอญ พม่า ไทย ลาว แกว ขอม กุย  ต่างก็มีตำนานพงศาวดารกล่าวถึงยุทธหัตถีทั้งนั้น  ผู้มีชัยในศึกนี้จะมีเกียรติยศแรงกล้าว่าเป็นจักรพรรดิราชผู้ปกป้องพุทธศาสนา  หาใช่เกียรติยศแค่เพราะสู้กันตัวต่อตัวแบบชายชาตินักรบ (ซึ่งวัฒนธรรมชาติอื่นไกล ไม่ว่าจะเป็นอัศวิน ซามูไร จอมยุทธ หรือคาวบอย ก็ล้วนแต่ต้องมีคตินี้ด้วยทั้งสิ้น)    

จากที่เคยสอบค้นต้นฉบับและเทียบตัวบทข้อความดูแล้ว  ผมพบว่า ตัวบทของพระราชพงศาวดารในส่วนที่ว่าด้วย “ยุทธหัตถี” นี้  มีความสอดคล้องตรงกับ “มหาวงษ์” (ที่มีฉบับหลวงสืบทอดมาถึงหอพระสมุดวชิรญาณ)  จนแน่ใจได้ว่าเกือบจะเป็นการคัดลอกข้อความจากที่หนึ่งมาใส่ลงในอีกที่หนึ่ง  โดยเปลี่ยนชื่อตัวละครจากพระเจ้าทุษฐคามินีอภัย เป็นสมเด็จพระนเรศวร  และพระเจ้าเอฬารราช เป็นพระมหาอุปราชา (มังสามเกียด) เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนชื่อช้าง  จากลังกามาเป็นไทยกับพม่ามอญ  อยากคัดมาให้อ่านเปรียบเทียบกันดู  เกรงจะยืนยาวไป  และท่านผู้อ่านก็คงเข้าใจว่า การพิมพ์อะไรเวิ่นเว้อเยิ่นเย้อเป็นเวลานานๆ หลายย่อหน้ากระดาษนั้น  เป็นอะไรที่ทุกข์ยากทรมานอย่างแสนสาหัสเพียงใด  

แน่นอนว่าผู้แต่งมีเจตนาต้องการยกย่องสมเด็จพระนเรศวรในการทำศึกสงครามกับพม่าครั้งนั้น  เป็นศึกเพื่อปกป้องพุทธศาสนาจากการรุกรานของภายนอก  เมื่อให้ความหมายเป็นยุทธหัตถีดังนั้นแล้ว  ก็เสมือนบอกโดยนัยว่าเป็นการฆ่าที่ไม่บาป  กลับจะถือเป็นบุญใหญ่หลวงเสียด้วยซ้ำ  กลายเป็นพุทธที่อนุญาตให้ฆ่าเพื่อศาสนาในที่สุด  จึงไม่แปลกประหลาดอันใดที่จะมีภาพจิตรกรรมเหตุการณ์ฆ่าฟันกันดังนี้  อยู่ภายในโบสถ์วิหารของวัดสำคัญต่างๆ ของพระนครศรีอยุธยา เช่น วัดสุวรรณดาราราม วัดใหญ่ชัยมงคล เป็นต้น      

ที่กล่าวข้างต้นว่า  นักประวัติศาสตร์รุ่นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ได้รับรู้ถึงความมีอยู่ของข้อมูลต่างในพงศาวดารพม่า  ก็เพราะมีเจ้านายท่านอื่นที่นำเสนอเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน  แต่ด้วยแง่มุมที่ต่างจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ในพระนิพนธ์ “พระราชพงศาวดารพม่า” ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  ซึ่งเป็นหนึ่งในพระนิพนธ์ของเจ้านายชั้นสูงเพียงไม่กี่องค์ที่นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพม่า  ด้วยแง่มุมที่ต่างจากพระราชพงศาวดารไทย (ภายหลังมีอิทธิพลต่อการแต่ง “ผู้ชนะสิบทิศ” ของยาขอบด้วย)  ทั้งนี้โดยอิงหลักฐานจากพงศาวดารพม่า  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงบรรยายเหตุการณ์ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา เนื้อความสำคัญหนึ่งระบุว่า  

“มหาพยุหยุทธนาครานี้ได้ต่อยุทธ์กันใกล้กรุงศรีอยุธยา... ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจอมศรีอยุธยา  ยกพยุหโยธาออกจากพระมหานครตรงมามั่นหมายจะสัประยุทธ์  ทรงช้างพระที่นั่งคชาธารนามละบอง (ไทยว่าชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพ)  อันซับมันแล่นออกหน้ามหาโยธิน  แต่พอทอดพระเนตรเห็นพระมหายุวราชายืนช้างอยู่ไกลลิบๆ  ก็ไสช้างพระที่นั่งต้นดึ่งดื้อตรงเข้าหา  จึงเจ้าเมืองชาปะโร (มางจาชะโร) เห็นสมเด็จดรุณกษัตริย์สยามขับพระคชาธารตรงรี่เข้ามาที่ช้างพระที่นั่งต้นจอมพหลพม่าฉะนั้น  ก็เปิดผ้าปิดตาช้างน้ำมันที่ตนขี่ออกหวังจะขับเข้าโจมประจัญสะพัดชนช้างพระที่นั่งพระเจ้ากรุงสยาม แต่ช้างดุเข้าสัประยุทธ์ต่อช้างอรินทรราชดัสกรไม่  กลับหันๆ รีๆ ขวางๆ แล้วหวนเข้าโถมแทงเอาช้างพระที่นั่งเข้าปะทะต้านทานช้างตกน้ำมันอันดาลโทสะอาละวาดของนายทหารเอกของพระองค์เองจนอ่อน  แทบจะรับรองทานกำลังไม่ไหว  พลายสินเยโปงชอนช้างพระที่นั่งพระมหายุวราชาถูกแทงบาดแผลฉกรรจ์ถนัดหลายแผล  โลหิตตกซวดเซไปแทบจะล้มลงคาที่  ขณะนั้นก็มีปืนยิงมาเปรี้ยง  ทางกลางช้างข้างไทย  ต้องพระมหายุวราชาพม่าสิ้นพระชีพซบอยู่กับคอช้างพระที่นั่ง  ควาญท้ายต้องผลุนไปช่วยประคองพระองค์ไว้  ด้วยไม่โปรดผูกข้อพระบาทกับสายชนักเครื่องมั่น  และกันช้างพระที่นั่งนั้นเข้าไปซบอิงต้นไม้อยู่  เพื่อป้องกันมิให้ล้มลงกลางสมรภูมิยุทธ  ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่ทันทรงทราบว่าพระมหายุวราชาพม่าต้องพิฆาตเสียแล้ว  ก็ขับพระคชาธารตรงรี่เข้าชิงชน”

แน่นอนว่าความแพร่หลายของพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่มีมากกว่าของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  ถึงขนาดมีนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังปวารณาตัวเป็นศิษย์ของพระองค์ท่านเสียหลายคน  ย่อมมีผลต่อการแพร่หลายของมุมมองต่อยุทธหัตถีในแบบสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ขณะที่ในมุมของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์นั้น  กล่าวได้ว่าไม่มียุทธหัตถีเลยก็ว่าได้  เพราะช้างพระที่นั่งพระมหาอุปราชาถูกช้างพวกเดียวกันแทงจนต้องไปซบเลียแผลอยู่ใต้ต้นไม้  และพระมหาอุปราชาก็ถูกยิงด้วยปืนจนสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  ไม่ได้ชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวร 

ในพระนิพนธ์กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  สมเด็จพระนเรศวรจึงมิได้มีพระดำรัสท้าพระมหาอุปราชาทำยุทธหัตถีที่ว่า 

“พระเจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้อยู่ไย เชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกัน ให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างอย่างเราไม่มีอีกแล้ว"

(ประโยคสุดท้ายชวนให้สงสัยเสียยิ่งกระไรว่า  ทรงรู้ได้อย่างไร  ว่าหลังจากรัชสมัยของพระองค์จะไม่มีกษัตริย์มาชนช้างกันอีก  แต่สมเด็จพระพนรัตน์ พระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) และพระวชิรญาณภิกขุ ผู้ชำระพระราชพงศาวดารทรงรู้กาลดังกล่าว)

ถึงตรงนี้ คงต้องฝากคำถามไปถึงท่านมุ๊ยด้วยความเคารพ  ว่าระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  ไฉนท่านจึงเลือกสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ด้วยเหตุผลกลใดฤา  แต่หากจะเปลี่ยนนัยคำถามจากมาที่สังคมวัฒนธรรมไทย  ว่าทำไมจึงเลือกเชื่อว่ามียุทธหัตถี และหรือยุทธหัตถี ตอบโจทย์อะไรในสังคมไทยปัจจุบัน  โดยเฉพาะที่ถือเอาวันที่ 18 มกราคม ที่เชื่อว่าเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรกระทำยุทธหัตถี เป็น “วันกองทัพไทย”  กองทัพมีความสำคัญอย่างไรต่อสถานะอำนาจของชนชั้นนำไทยที่อนุรักษ์นิยม  คงไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรให้มากความ  ทุกท่านก็รู้กันดีอยู่แล้ว  ก็ในเมื่อสังคมไทยมีวิธีคิดแบบเอา “ผล” ที่ได้เป็นที่ตั้ง  มากกว่าจะพิจารณาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร  ในเมื่อเราพร้อมจะปิดหูปิดตา  เพื่อรับรู้แต่ความจริงที่ต้องกับรสนิยมความเชื่อ  จะไปโทษท่านมุ๊ยและทีมของท่านอย่างไรได้  หนังก็คือหนัง  ต้องบันเทิงเริงรมย์ผู้คน (ทัมใจแอสไพรินกันล่ะครับงานนี้)   

ปัญหาของความรู้ทางประวัติศาสตร์ไทย  ไม่ใช่ไม่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์  ไม่ใช่ไม่มีข้อมูลหลักฐาน  ไม่ใช่แม้แต่ไม่มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ  ตรงข้ามเลย  โดยเฉพาะเรื่องอยุธยานั้น  เต็มไปด้วยความรู้ หลักฐานก็มีให้ค้นคว้าอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งกูรู กูรู้ กูรั่ว ก็มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด  ปัญหาคือเราเลือกที่จะรู้จะเชื่อ ฟินที่จะจดจำรำลึกกัน  แต่เฉพาะอย่างหนึ่งอย่างใดมากไปต่างหาก  ศ.ดร.ชาญวิทย์  เกษตรศิริ  นักประวัติศาสตร์ผู้มีคุณูปการต่ออยุธยาศึกษา  เคยกล่าววาทะเก๋ๆ หนึ่งที่อธิบายถึงกรณีอย่างนี้ได้เป็นอย่างดีที่ว่า 

“ถ้าคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์ ก็ตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อประวัติศาสตร์โดยไม่มีข้อกังขา คุณก็ตาบอดสองข้าง”

เช่นเดียวกับกรณีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ถึงแม้รับทราบข้อมูลหลักฐานใหม่  แต่ก็ยังเลือกที่จะยืนกรานตามความรับรู้เดิม  กลายเป็นอะไรซักอย่างทำนอง “เหล้าเก่าในขวดใหม่”  น่าเสียดายมาก  กล่าวคือในขณะที่มีข้อเท็จจริงและมุมมองแบบอื่นที่น่าเชื่อถือได้มากกว่าเกิดขึ้น  ถึงแม้ว่าสื่อภาพยนตร์จะเป็นเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่อย่างไร  เมื่อถูกนำไปใช้ถ่ายทอดโลกทัศน์มุมมองเก่าๆ ดังเดิม  ก็ย่อมไม่อาจถือเป็นการพัฒนาที่ก้าวหน้า  แทนที่จะทำให้องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ขยายเพดานกว้างขึ้น  ก็กลับมีแต่จะผลิตซ้ำและก้าวไปแต่ข้างหลังอยู่ตลอด  ทั้งฝืนโลกทั้งผิดวิสัยปกติ  สุดท้ายแล้วเราอยากให้คนอีกรุ่นจดจำเราในภาพอย่างไร  พวกคนแก่คร่ำครึที่ไม่มีสปิริต จิตใจคับแคบ ไม่เปิดกว้าง ยอมรับความจริงไม่ได้ ไม่ทันโลก ฉุดรั้งการพัฒนาที่ส่งผลด้านลบต่อพวกเขา อย่างนั้นไม่ใช่ ใช่ไหมครับ?  

นับว่าน่าเสียดายที่ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างอย่างนี้  กลับกลายเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ไปเท่านั้น  ตราบที่ไม่เปิดใจรับรู้ยอมรับว่ามีความเห็นมุมมองที่แตกต่างหลากหลายไปจากที่เราเคยเชื่อและยึดมั่นกันมา  และคนที่เชื่อที่เห็นต่างจากเราไม่ใช่ผู้ร้ายที่ต้องกำจัดกวาดล้างไปเสยให้หมด  ตราบนั้นก็ยากนัก  ที่ความเปลี่ยนแปลงแม้จะปกติธรรมดาของวิถีโลก  จะเป็นไปได้อย่างราบรื่น  และตราบที่เรายังดื้อรั้นไม่ยอมฟังเหตุผลของกันและกัน  ตราบนั้นยุทธหัตถีจะไม่ใช่ปลายทางแห่งเราอย่างไรได้  ดังนั้นแล้ว

“พี่ท่านทั้งหลายจะมัวหลบอยู่แต่ในโลกออนไลน์อยู่ไย  เชิญมาสัประยุทธ์กันบนถนน  ให้เป็นเกียรติยศเถิด  ประเทศไทยสืบไปภายหน้าที่จะมาต่อยุทธ์กันอย่างเรานี้ไม่มีอีกแล้ว”

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน กำพล จำปาพันธ์ เป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net