Skip to main content
sharethis
  • สานเสวนา ประวัติศาสตร์เพื่อสังคมสมานมิตร 4 เวทีในชายแดนใต้ ใช้ "กระบวนการค้นหาความจริง 3 ระดับ" เปิด 24 หัวข้อ ปวศ.ที่คนชายแดนใต้อยากคุย เป็นกุญแจสมานไมตรี หวังสร้างพื้นที่ปลอดภัยในมิติประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า และความทรงจำที่ต่างกัน ส่งให้ ปวศ.เป็นหลังสร้างสรรค์สันติภาพ หวั่น รบ.เมิน ทำลายด้วยการพัฒนาขนาดใหญ่
  • ชวนเรียนรู้ความจริง 3 ระดับ ที่ "เรามักทะเลาะกันเพราะพูดถึงความจริงคนละชั้น" ความจริงเห็นพ้องที่ผู้มีอำนาจบอกว่าจริง ยิ่งกดความจริงเหมือนฝันไว้ ยิ่งจะกลายเป็นระเบิดเวลา แต่ถ้าความจริงแก่นแท้ต้องเปิดหูเปิดใจรับฟังให้ถึงแก่น


สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเวทีสานเสวนา ประวัติศาสตร์เพื่อสังคมสมานมิตร (Historical Dialogue Southern T้hailand) ขึ้นในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา ระหว่างวันที่ 23-31 มี.ค. 2567

ทั้งนี้ เพื่อชวนผู้เกี่ยวข้องมาคลี่คลายปมความขัดแย้งอันเนื่องมาจากมิติทางอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์ ที่หล่อเลี้ยงสถานการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้มานานนับศตวรรษก่อนที่จะมีเหตุรุนแรงในปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

โดยประสานความร่วมมือกับวิทยาลัยการจัดการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตปัตตานี และได้เชิญผู้เข้าร่วมมาจากทังภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ข้าราชการในพื้นที่และฝ่ายความมั่นคงมาเข้าร่วมเวที

นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งที่สำคัญที่ให้ฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะระดับประชาชนที่มีทั้งชาวพุทธ มุสลิม และเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงได้เข้าร่วมเวทีพูดคุยและเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์และชาติพันธุ์ของพื้นที่

"กระบวนการค้นหาความจริง 3 ระดับ" เป็นกุญแจสมานไมตรี

ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เวทีสานเสวนาประวัติศาสตร์เพื่อสังคมสมานมิตรครั้งนี้ เป็นความพยายามหนึ่งของกระบวนการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งร้าวลึกด้วยจิตวิทยากระบวนการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์และแสวงหาจุดร่วมในการก้าวข้ามกับดักความขัดแย้ง เนื่องจากมิติทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และความรู้สึกถูกกดทับทางประวัติศาสตร์ไม่ได้รับความเป็นธรรม

โดยใช้ "กระบวนการค้นหาความจริง 3 ระดับ" เป็นกุญแจสำคัญที่คณะทำงานสานเสวนาประวัติศาสตร์เพื่อสังคมสมานมิตร เพื่อออกแบบสังคมที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสมานไมตรีมีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมร่วมราก

ทั้งนี้ เป็นกระบวนการที่อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดในการวิเคราะห์เจาะให้ลึกถึงรากเหง้าของความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกเบื้องหลังความขัดแย้งร้าวลึกที่ตกตะกอนในชั้นจิตสำนึก อันเป็นขั้นความจริงแก่นแท้ที่ความขัดแย้งเข้าไปซ่อนแอบอย่างแนบเนียน

เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในมิติประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าและความทรงจำที่ต่างกัน 

ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา กล่าวว่า เป้าหมายหลักของโครงการคือ เพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการก้าวข้ามกับดักความขัดแย้ง อันมีมิติเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ความทรงจำของผู้คนที่มีความแตกต่างกัน จนถึงขั้นเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของความขัดแย้งรุนแรง 

เพื่อฟื้นฟูเยียวยาความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือในการค้นหาประวัติศาสตร์ร่วมรากที่จะสามารถใช้เป็นจุดยึดโยงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในฐานะสมาชิกร่วมสังคมชุมชนมาแต่ก่อนเก่า และส่งต่อไปยังอนาคตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกันได้อย่างเสมอกัน

เปิด 24 หัวข้อประวัติศาสตร์ ที่คนชายแดนใต้อยากคุย

ทั้ง 4 เวที มีดังดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ที่ห้องประชุมอัล-บุคอรีย์ ชั้น 2 คณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี, วันที่ 30 มีนาคม 2567 ห้องประชุมสุริยะวิถี ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จ.นราธิวาส, วันที่ 24 มีนาคม 2567 ห้องประชุมประดู่ ดิอามานรีสอร์ท อ.เทพา จ.สงขลา และวันที่ 31 มีนาคม 2567 ห้องประชุม ชั้น 1 ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

แต่ละเวที คณะทำงานได้ให้ผู้เข้าร่วมได้เสนอหัวข้อเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่จะสานเสวนากันขึ้นมา โดยมีคำถามและหัวข้อที่นำเสนออย่างน่าสนใจรวมทั้ง 4 เวที จำนวน 24 หัวข้อ ดังนี้ 
ประวัติศาสตร์ชุมชน-กลุ่มชาติพันธุ์-การเมืองการปกครอง

เวที จ.ปัตตานี คำถามคือ มีเสียงอะไรบ้างในประวัติศาสตร์ชายแดนใต้? มี 7 หัวข้อ ได้แก่ 1. ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ชายแดนใต้ 2. ประวัติศาสตร์สังคม/ชุมชน/หมู่บ้าน 3. ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองในพื้นที่ชายแดนใต้ 4. ประวัติศาสตร์การศึกษาท้องถิ่น 5. ประวัติศาสตร์การสื่อสารข้อมูลข่าวสาร 6. ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเปิดเผย และ 7.ประวัติศาสตร์บาดแผล (ที่ยังไม่ได้รับการสมานแผล)

การจัดการความจริง-การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ใน ร.ร.

เวที จ.สงขลา มีเรื่องอะไรบ้างในประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ที่อยากคุยกัน? มี 5 หัวข้อ ได้แก่ 1. การจัดการความจริง: ใครเป็นผู้ตรวจสอบ และใช้ประวัติศาสตร์? หลักการ/หลักฐาน/หลัก(ศาสนา)ธรรมในการศึกษาประวัติศาสตร์ 2. ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น/ประวัติศาสตร์จับต้องได้ 3. ประวัติศาสตร์มลายู 4. ประวัติศาสตร์บอกเล่า/เรื่องเล่าต่างๆ 5. การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย

ประวัติศาสตร์การพัฒนา-ความสัมพันธ์เชื่อมโลกมลายู

เวที จ.ยะลา เรื่องในประวัติศาสตร์ที่อยากพูดคุยกัน มี 6 เรื่อง ได้แก่ 1.ประวัติศาสตร์การพัฒนาของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน 2.การเขียนหลักสูตรและแบบเรียนประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ 3.ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งชายแดนใต้ 4.ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย 5.ประวัติศาสตร์ศาสนาและการอยู่ร่วมกัน 6.ประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของศิลปะวิทยาการภูมิปัญญา

ประวัติศาสตร์พหุวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

เวที จ.นราธิวาส มีเรื่องอะไรบ้างในประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ที่อยากคุยกัน? มี 6 หัวข้อ ได้แก่ 1. วิถีมลายู 2. ประวัติศาสตร์การศึกษานราธิวาส (ชายแดนใต้) 3. ประวัติศาสตร์ของรัฐไทยที่รองรับหลากหลายของชายแดนใต้ 4. การชำระประวัติศาสตร์กระแสหลักและเพิ่มประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 5. ประวัติศาสตร์สังคมพหุวัฒนธรรม 6. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของชายแดนใต้

ให้ประวัติศาสตร์เป็นพลังสร้างสรรค์สันติภาพ

ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา เปิดเผยว่า ในเวที จ.ปัตตานี มีผู้เข้าร่วมสานเสวนากว่า 40 คน โดยมีพระสงฆ์เข้าร่วมด้วย และได้รับเกียรติจากนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีมาเป็นประธานเปิดงาน โดยกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขสร้างความขัดแย้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเป็นกับดักความรุนแรงที่บ่อนทำลายสันติภาพและความดีงามของพื้นที่ ทำให้ผู้คนชายแดนใต้เสียโอกาสในการนำเอาความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาเป็นพลังสร้างสรรค์ขับเคลื่อนสังคม

นางพาตีเมาะ ยังเชิญชวนให้ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ที่ถูกตอกย้ำด้วยความรุนแรง ให้เป็นพลังสร้างสรรค์สันติภาพของปัตตานี โดย "ใช้ความรักเป็นเครื่องมือในการพูดคุย" สร้างความไว้วางใจพัฒนาเป็นความใส่ใจเกื้อกูลและร่วมกันหาทางออกที่สร้างสรรค์

รุ่มรวยประวัติศาสตร์อารยธรรม ต้นทุนสร้างสังคมสมานมิตร 

ส่วนในเวที จ.สงขลา ที่ดิอามานรีสอร์ต อ.เทพา จ.สงขลา ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา ระบุว่า วงสานเสวนาตกผลึกร่วมกันประการหนึ่งว่า ประวัติศาสตร์สังคมชายแดนใต้วางอยู่บนฐานความหลากหลายของผู้คนต่างศาสนา ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมโดยมีองค์ประกอบ คือความรุ่มรวยของฐานทรัพยากรธรรมชาติ และเคยมีความรุ่งเรืองในเรื่องการเป็นแหล่งอารยธรรม แหล่งการศึกษาทางศาสนา และศิลปะวิทยาการหลายอย่าง

อีกทั้ง ยังเคยเป็นเส้นทางการค้าสำคัญของคาบสมุทรมลายู และยังมีโบราณสถานสำคัญของชาวพุทธ เช่น เจดีย์เขาหัวล้อน ศาลเจ้าของชุมชนชาวจีนริมน้ำปากบาง และสุสานผู้นำสำคัญของชาวมุสลิมที่ทุกปีจะมีชาวมุสลิมอินโดนีเซีย มาเลเซียเดินทางมาเคารพปีละหลายคันรถยนต์ 
แต่หวั่นรัฐบาลไม่ใส่ใจ กลับยิ่งทำลายด้วยการพัฒนาขนาดใหญ่

"สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมที่สำคัญที่ควรค่าแก่การศึกษาและนำมาเป็นกลไกในการสร้างสังคมสมานมิตร มากกว่าที่จะติดกับดักกับการใช้ประวัติศาสตร์ไปสร้างความขัดแย้งในวงจรเดิมๆ" ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา กล่าว

ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา กล่าวด้วยว่า วงสานเสวนาสะท้อนให้เห็นว่า การติดกับดักการรับรู้แต่ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งและจมปลักอยู่นั้น นอกจากจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างสันติภาพแล้ว การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาขนาดใหญ่โดยไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา และมรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่าของพื้นที่ ก็กลายเป็นการสร้างปมปัญหาใหม่ที่จะทำให้เป็นประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอนาคต

ความจริง 3 ระดับ

ความจริงเห็นพ้อง 

(Consensus Reality)
กฎหมาย, ธรรมเนียม, กติกา, โครงสร้าง, นโยบาย เหตุการณ์, พฤติกรรม, ข้อเท็จจริง ฯลฯ
ความจริงเหมือนฝัน 

(Dreamlike Reality)
ความจริงที่พูดไม่ได้ อคติที่มิอาจกล่าว ความรู้สึกที่ไม่ได้พูดออกมา,
ความเชื่อที่ไม่ถูกตั้งคำถาม,
สมมติฐานที่ไม่ตระหนักรู้ ฯลฯ

แนวคิด/เครื่องมือ 
บทบาท, เสียงผี, ขอบ (edge.) สัญญาณซ้อน (double signal) ลำดับ/ชั้นสถานะ (rank) จุดร้อนแรง (hotspot)
 

ความจริงแก่นแท้

(Essence Reality)
ความเป็นธรรม, ศักดิ์ศรี, การเคารพ, ความไว้ใจ,ความใส่ใจ, ความปลอดภัย, สันติภาพ, ความปรองดอง, ความรับผิดชอบ ฯลฯ

"เรามักทะเลาะกันเพราะพูดถึงความจริงคนละชั้น"

ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล วิทยากรในคณะทำงานโครงการ บรรยายเรื่องกรอบแนวคิดความจริง 3 ระดับว่า มาจากงานสายจิตวิทยางานกระบวนการ (process work psychology) ซึ่งเรามักจะทะเลาะกัน เพราะพูดถึงความจริงคนละชั้นกันเสมอ

ดร.ชาญชัย กล่าวว่า กรอบแนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ในพื้นที่สงคราม พื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์บาดแผล พื้นที่ที่มีความเจ็บปวดหรือมีความรุนแรงเพื่อที่จะคุยกันได้มากขึ้น เพราะเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์เรามักถามว่าของจริงหรือเปล่า อะไรคือความจริง ซึ่งไม่มีความจริงที่เป็นหนึ่งเดียวแท้ๆ 
ความจริงเห็นพ้อง-ที่ผู้มีอำนาจบอกว่าจริง

ดร.ชาญชัย กล่าวว่า ชั้นแรกสุดเรียกว่า ความจริงเห็นพ้อง หรือความจริงกระแสหลัก เป็นความจริงที่เราเห็นอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น กฎหมาย ธรรมเนียมปฏิบัติ กติกา โครงสร้าง นโยบาย เหตุการณ์ พฤติกรรม ข้อเท็จจริง ฯลฯ เหล่านี้เป็นความจริงในระดับความจริงเห็นพ้อง

"ความจริงเห็นพ้องเป็นสิ่งที่ค่อนข้างชัดเจนในสังคม จะชอบไม่ชอบว่ากันไปแต่มันมีอยู่ และส่วนใหญ่เราทะเลาะกันบนความจริงชั้นนี้เยอะ เพราะความจริงเห็นพ้องส่วนใหญ่เป็นความจริงที่ผู้มีอำนาจมากกว่าคนอื่นเป็นคนบอกว่าสิ่งนั้นจริง หรือมักเป็นคนกำหนดว่าอะไรคือความจริงเห็นพ้อง" ดร.ชาญชัย กล่าว

ความจริงเหมือนฝัน-ยิ่งกดไว้ยิ่งกลายเป็นระเบิดเวลา

ดร.ชาญชัย อธิบายว่า ความจริงชั้นที่ 2 คือ ความจริงเหมือนฝัน มีทั้งเชิงบวกเชิงลบหลากหลายแบบมาก เช่น กรณีมาติน ลูเธอร์คิง ผู้นำขบวนการสิทธิพลเมืองสีผิวที่กล่าวว่า I have a dream ฉันมีความฝันว่าคนลูกคนผิวสีและลูกคนผิวขาวจะอยู่ร่วมกัน ที่ถูกทำให้เป็นจริงในเวลาต่อมา 

"คนที่นี่มีความจริงเหมือนฝันว่าจะมีสันติภาพที่รอวันจะเป็นความจริงเห็นพ้อง แบบเดียวกับความจริงเหมือนฝันของหะยีสุหลงและคนอื่นๆในสังคมไทย และการพูดถึงประวัติศาสตร์โดยเฉพาะในพื้นที่ขัดแย้งรุนแรงจำเป็นต้องพูดถึงประวัติศาสตร์หลายๆ อย่างของหลายๆบุคคลที่เรารู้สึกว่าสำคัญสำหรับพื้นที่นี้" ดร.ชาญชัย กล่าว

ดร.ชาญชัย นิยามว่า มีหลายอย่างเป็นความจริงเหมือนฝัน คือ "ความจริงที่อยากพูดแต่พูดไม่ได้" เพราะอันตราย เกรงใจ มีอำนาจกดอยู่ กลัวเสียมิตรภาพ โกรธเคือง ฯลฯ แต่นานวันเข้ามันจะกลายเป็นระเบิดเวลา เช่นเดียวกับปัญหาชายแดนใต้ที่ความจริงหลายอย่างพูดไม่ได้ แล้วมันลงใต้ดินกลายเป็นความรุนแรงทางกายภาพขึ้นมา ซึ่งในหลายประเทศเป็นแบบนี้

"อคติที่มิอาจกล่าวถึง" ทุกคนล้วนมีอคติบางอย่างเสมอที่อาจพูดหรือทำพลาดไปหรือเผลอตัดสินคนอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ ยิ่งคนมีอำนาจไปตัดสินคนอื่นโดยอคติอย่างไม่รู้ตัวก็จะมีผลกระทบตามมา

"ความรู้สึกที่ไม่ได้พูดออกมา" เพราะเกรงใจ มีความรู้สึกบางอย่างที่ไม่พูด ไม่รู้จะพูดยังไง รวมถึง "ความเชื่อที่ไม่ถูกตั้งคำถาม" ซึ่งทุกคนมีความเชื่อบางอย่างเสมอ เช่น เชื่อว่าคนพุทธเป็นอย่างไร เชื่อว่าคนมุสลิมเป็นอย่างไร และ "สมมติฐานที่ไม่ทันได้ตระหนักรู้" ซึ่งมีเยอะมาก เช่น คนจนเพราะขี้เกียจ คนรวยเพราะขยัน ซึ่งเป็นสมมุติฐานที่เชื่อกันเยอะมากแต่ก็ผิดอย่างรุนแรง

"ในชั้นความจริงเหมือนฝันมันมีอะไรอีกเยอะที่เราพูดไม่ได้ทั้งๆที่รู้สึกว่ามันจริง และบ้านเมืองที่เป็นเผด็จการมีความจริงมหาศาลที่พูดไม่ได้ เช่นที่เมียนม่าร์เห็นชัดมาก ทหารเมียนม่าร์กลัวศิลปินมากๆโดยเฉพาะศิลปินตลกพูดความจริงให้มันดูตลกเสียดสี ฉะนั้นเขาจึงจับศิลปินหรือพวกกวี นักเขียนก่อนเลย" 

"สมมติฐานที่เราไม่ตระหนักรู้ สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงสำหรับหลายๆคนมาก แต่ในกระแสหลักถือว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าไม่เป็นความจริง เพียงแค่คนที่อยู่ในกระแสหลัก/คนที่อยู่ในอำนาจไม่ยอมรับ อำนาจของคนที่พูดถึงความจริงในความจริงเหมือนฝันแค่มีน้อยกว่า จึงพูดได้ให้คนอื่นยอมรับว่าเป็นความจริงได้น้อยกว่าเท่านั้นเอง" ดร.ชาญชัย เผย

ความจริงแก่นแท้-ต้องเปิดหู เปิดใจฟังให้ถึงที่เขาต้องการให้ได้

ดร.ชาญชัย อธิบายถึงความจริงชั้นที่ 3 ว่า คือความจริงแก่นแท้ ไม่ว่าความจริงเห็นพ้องหรือความจริงเหมือนฝันเรื่องใดก็ตาม สุดท้ายถ้าเราเปิดหู เปิดใจเยอะๆ ฟังให้ถึงความจริงแก่นแท้ที่เขาต้องการจะพูดให้ได้ เช่น ฝ่ายความมั่นคงพูดบางอย่างอาจจะขัดหู แต่ความจริงแก่นแท้คือความปลอดภัยของดินแดนและของทุกคน ส่วนพี่น้องบางคนเรียกร้องเรื่องคดีทั้งที่ให้เงินเยียวยาแล้วตั้งหลายล้านซึ่งนั่นคือชั้นความจริงเห็นพ้อง แต่ความจริงแก่นแท้คือไม่มีความเป็นธรรมเกิดขึ้น เพราะยังไม่มีความรับผิดชอบของคนที่กระทำ

หลายอย่างสิ่งที่เราพูดหรือกระทำทั้งหลายลึกๆ แล้วเราต้องการ "ศักดิ์ศรี ความเคารพ ความไว้วางใจ ความใส่ใจ ความปลอดภัยและสันติภาพ" ซึ่งไม่ใช่สันติภาพระหว่างประเทศหรือรัฐเท่านั้น แต่เป็นสันติภาพที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องคอยหวาดระแวงว่าจะมีใครระเบิดที่ไหนบ้าง หรือจะมีใครติดตามหรือไม่ เป็นต้น ส่วน "ความปรองดอง" ก็ไม่มีใครไม่ต้องการถ้าเป็นการปรองดองแบบที่บังคับให้คนปรองดองกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net