Skip to main content
sharethis

นักวิชาการแนะนโยบาย 'ดิจิทัลวอลเลต' ใช้เงินผ่านระบบงบประมาณดีกว่าออก พ.ร.บ เงินกู้ ลดความเสี่ยงทางการเมือง คาดแจกเงินไตรมาสสี่ปีนี้ กระตุ้นภาคการบริโภคและการลงทุนขนาดเล็กขยายตัวสูงขึ้นปลายปี ดันจีดีพีปี 2568 สูงขึ้น ควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) ให้เป็นค่าจ้างเพื่อเพียงพอต่อการดำรงชีพ (Living Wage) มากขึ้น

31 มี.ค. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า นโยบายดิจิทัล วอลเลตใช้เงินผ่านระบบงบประมาณดีกว่าออก พรบ เงินกู้ ลดความเสี่ยงผิดกฏหมาย ลดความเสี่ยงทางการเมืองจากกลไกขององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ขณะที่รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดทำงบประมาณปี 2568 จึงสามารถขยายกรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นและทำขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมได้เพื่อสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเลตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ความจำเป็นในการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจลดน้อยลงเพราะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้จะมีการฟื้นตัวชัดเจน การใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญพอๆกับการไม่ก่อหนี้สาธารณะเกินความจำเป็น หากเกิดผลกระทบภายนอกเชิงลบอันไม่คาดฝันเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลจักได้มีพื้นที่ทางการคลังมากขึ้นในการรับมือความท้าทาย ขณะที่การใช้งบประมาณหรือกองทุนในการพยุงราคาพลังงานไม่ให้สูงเพื่อช่วยเหลือประชาชนต้องกำหนดกรอบเวลาและเพดานของภาระทางการคลังให้ชัดเจนเพื่อสามารถบริหารจัดการงบประมาณและหนี้สาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องใช้การปรับโครงสร้างและมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ มาตรการระยะสั้นทั้งหลายไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงบรรเทาปัญหาเท่านั้น การเตรียมพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ให้เพียงพอนั้นมีความจำเป็น เพราะสถานการณ์ในอนาคตไม่แน่นอน คาดแจกเงินไตรมาสสี่ปีนี้ จะช่วยกระตุ้นภาคการบริโภคและการลงทุนขนาดเล็กขยายตัวสูงขึ้นปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และ คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่อัตราการขยายตัวของจีดีพีปี 2568 จะสูงกว่าปี 2567     

ล่าสุด ธุรกิจอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เริ่มส่งสัญญาณมีปัญหาชะลอตัวลงอย่างชัดเจน รัฐบาลจะมีการทบทวนปรับเปลี่ยนทั้งค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองให้ครอบคลุมธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเกิน 3 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ดี ส่วนจะกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไรนั้น และ รัฐจะสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองไปเท่าไหร่ และ รายได้จากอัตราการขยายของธุรกิจอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์อันเป็นผลจากมาตรการดังกล่าวมากน้อยแค่ไหนก็ต้องรอดูผลของมาตรการ   

ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่าประชากรในวัยทำงานของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องและในอัตราเร่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยปี 2566  มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% ประชากรในวัยทำงานปัจจุบันอยู่ที่ 42.4 ล้านคน และ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะนี้บางกิจการ บางอุตสาหกรรมสามารถทำการผลิตต่อไปได้โดยอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน บางอุตสาหกรรมปรับใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์และเอไอมากขึ้น พึ่งพิงแรงงานมนุษย์ลดลง และผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น ประชากรวัยทำงานเป็นแหล่งรายได้ภาษีของภาครัฐเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี เฉลี่ยปีละ 7.6-7.7 แสนล้านบาท หรือ อย่างต่ำ 4.5% ของจีดีพี โดยมีกองทุนชราภาพ กองทุนประกันสังคมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุที่ใหญ่ที่สุด แม้นสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่งบประมาณที่จัดสรรไปสู่รายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับจีดีพี คือ อยู่ที่ไม่เกิน 5% ประเทศสแกนดิเนเวียจะอยู่ที่ 29-30% ขณะที่รายจ่ายสวัสดิการสังคมต่องบประมาณของไทยจะอยู่ที่ 20% กว่าๆและมีแนวโน้มสูงขึ้น เรื่อย ๆ ภาวะดังกล่าวสะท้อนรายได้ภาษีต่อจีดีพีต่ำและยังขึ้นอยู่กับภาษีทางอ้อมและภาษีเงินได้เป็นหลัก จึงขอเสนอให้ รัฐบาล จ่ายสมทบเพิ่มในส่วนกองทุนชราภาพของระบบประกันสังคม และ อาจต้องพิจารณาให้ “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” จ่ายสมทบเพิ่มเติม 

นอกจากนี้สนับสนุนกระทรวงมหาดไทย จ้างพนักงานสูงอายุปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้าน การดำเนินการดังกล่าวควรขยายไปส่วนราชการอื่นด้วย โดยการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวต้องยึดถือผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง อย่างไรก็ตาม การกำหนดระยะเวลาการจ้างควรเป็นรายปีเพื่อความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนการจ้างงานและสอดคล้องกับการจัดทำงบประมาณในแต่ละปี จากงานวิจัยของ ธนาคารโลก เรื่อง “Aging and the Labour Market in Thailand พบว่า ภาวะประชากรสูงวัยส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงานไทยและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงของประเทศไทยส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของบุคคลในประเทศเติบโตลดลง และหากไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้การเติบโตของ GDP ต่อหัวลดลงอีกร้อยละ 0.86 ในทศวรรษ 2020 ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า หากอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานนั้นคงที่ตามอายุและเพศแล้ว โครงสร้างประชากรของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปโดยคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานโดยรวมจะลดลงประมาณร้อยละ 5 ระหว่างปี 2563 ถึงปี 2603 และจำนวนแรงงานลดลงถึง 14.4 ล้านคน ทั้งนี้จำนวนแรงงานที่ลดลงอาจส่งผลให้ประเทศอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานซึ่งอาจขัดขวางโอกาสในการเติบโตของประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น อาจช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้บางส่วน ในขณะที่ผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ อาจทวีความรุนแรง เนื่องจากความต้องการแรงงานที่มีทักษะความชำนาญในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การเปิดรับ “ผู้ลี้ภัย” จากเมียร์มาให้สามารถทำสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีการกำกับที่ดีย่อมช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ระดับหนึ่ง 

ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าไทยมีปัญหาการกระจุกตัวของการผลิตและการจ้างงานสูง เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ แต่ระบบประกันสังคมช่วยสร้างระบบสวัสดิการขนาดใหญ่ครอบคลุมแรงงานในระบบทั่วทั้งประเทศ การย้ายแหล่งการผลิตและการจ้างงานไปยังต่างจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ จะเกิดผลดีต่อพื้นที่ และ เกิด “ตัวทวีคูณท้องถิ่น” (Local Multiplier) นอกจากนี้ยังลดปัญหาความแออัด ปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสลัมในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และ การแตกสลายของสถาบันครอบครัวในชนบทจากการที่พ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน นอกจากนี้ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำให้สูงกว่าในบางพื้นที่และพื้นที่เหล่านี้ก็มีจำเริญทางเศรษฐกิจอยู่แล้วจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในการจ้างงานและเศรษฐกิจเชิงพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นไปอีก ควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) ให้เป็นค่าจ้างเพื่อเพียงพอต่อการดำรงชีพ (Living Wage) มากขึ้น การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทในบางพื้นที่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ดีแต่จะตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการในเรื่องการขาดแคลนแรงงาน มากกว่า ตอบโจทย์การมีค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของแรงงานโดยทั่วไปและในพื้นที่อื่นๆที่ไม่ได้ถูกกำหนดให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายน ศกนี้ สิ่งที่เราจะได้เห็น คือ การเคลื่อย้ายของแรงงานจากพื้นที่ใกล้เคียงไปทำงานในจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ส่วนผู้ประกอบการโรงแรมที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากวิกฤติอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปี พ.ศ. 2563-2564 และยังต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมาก รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณประชุมสัมมนาต่างๆกระจายไปทั่วประเทศ ก็จะสามารถช่วย “ผู้ประกอบการ” จากต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น 

ภาวะความไม่สมดุลในตลาดแรงงานยังคงดำรงอยู่ ปัญหาอาจเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต หากสังคมไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและสอดรับกับการผลิต การทำงานภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัลและการใช้สมองกลประดิษฐ์อัจฉริยะ เศรษฐกิจและภาคการผลิตบางส่วนที่ใช้แรงงานทักษะต่ำเข้มข้นต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่แรงงานฝีมือไทยทักษะปานกลางและสูงจำนวนไม่น้อยเคลื่อนย้ายไปทำงานในต่างประเทศที่มีค่าตอบแทนสูงกว่ามาก ลักษณะการเคลื่อนย้ายแบบนี้ คือ แรงงานทักษะต่ำไหลเข้า แรงงานทักษะปานกลางและสูงจำนวนหนึ่งไหลออก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานของไทย รวมทั้งระบบค่าจ้าง และบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถยกระดับขึ้นมาเป็นระบบเศรษฐกิจการผลิตที่ใช้แรงงานทักษะสูง และ ผลิตสินค้ามูลค่าสูงด้วยนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง ยังติดกับดักโครงสร้างการผลิตและเศรษฐกิจแบบเดิม ขณะเดียวกัน  ในอีกประมาณ 17 ปีข้างหน้า ไทยจะ เข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือ 55% และวัยเด็กเพียง 12% อัตราภาวะเจริญพันธุ์ของไทยที่ต่ำกว่าระดับทดแทนในปัจจุบันนั้น หากพิจารณาจากประสบการณ์ของประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทนมาก่อนประเทศไทย พบว่ายังไม่มีประเทศใดสามารถทำให้อัตราภาวะเจริญพันธุ์เพิ่มสูงขึ้นได้ภายในระยะเวลา 10-20 ปี การเปิดรับ “แรงงานอพยพ” และ “การตั้งถิ่นฐานของชาวต่างชาติ” เพิ่มขึ้น อาจช่วยแก้ปัญหาได้ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net