Skip to main content
sharethis

'คำนูณ สิทธิสมาน' เตือนรัฐบาลพิจารณาที่มางบประมาณดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้รอบคอบ ชี้การแปรงบประมาณปี 2567 งบกลางมาใช้ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของ กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาจะทำให้เกิดปัญหา

14 เม.ย. 2567 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ขอปรึกษาหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านที่ประชุมวุฒิสภาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่อง ความคืบหน้าโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวน ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ขาดดุลงบประมาณ จำนวน 8.65 แสนล้านบาท จากยอดงบประมาณ จำนวน 3.75 ล้านล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากร่างเดิมที่ ครม. ส่งคืนสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 จำนวน 1.52 แสนล้านบาท โดยมีการคาดการณ์ถึงทิศทางการดำเนินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,0000 บาท ว่ารัฐบาลจะไม่ใช้เงินนอกงบประมาณ และไม่ออกกฎหมายกู้เงิน จำนวน 500,000 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลจะใช้เงินจากงบประมาณแบบผสมผสาน ประกอบด้วย 1. งบประมาณปี พ.ศ. 2568 จำนวน 1.52 แสนล้านบาท 2. งบประมาณที่เกลี่ยมาจากหน่วยงานอื่น จำนวน 3.5 – 3.7 แสนล้านบาท และ 3. งบประมาณปี พ.ศ. 2567 จำนวน 1.3 แสนล้านบาท หากยังขาดเงินงบประมาณ ก็จะใช้กลไกธนาคารของรัฐดำเนินการภายใต้มาตรา 28  แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

นายคำนูณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นปัญหาจากการแปรงบประมาณปี พ.ศ. 2567 มาใช้ในโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทั้งที่โครงการดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งต้องตรา พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ตามวิธีการงบประมาณปกติ นอกจากนี้ มีการคาดหมายว่าต้องแปรจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ของงบประมาณปี พ.ศ. 2567 จำนวน 40,000 – 50,000 ล้านบาท ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ งบประมาณรายจ่ายงบกลาง เป็นรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีกรอบเวลาในการเบิกจ่ายที่เหลืออยู่ถึงสิ้นปีงบประมาณ ดังนั้น ตนจึงขอหารือไปยังรัฐบาล เพื่อพิจารณาด้วยความรอบคอบและชี้แจงต่อสาธารณชนให้ชัดเจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net