Skip to main content
sharethis

จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการประท้วงของกลุ่มชาวนาและสหภาพการรถไฟในเยอรมนี ซึ่งสร้างความกังวลว่าจะถูกฉวยโอกาสโดยกลุ่มขวาจัด อย่างไรก็ตามในเยอรมนีก็มีการประท้วงต่อต้านฝ่ายขวาจัดเช่นกัน โดยเป็นการประท้วงต่อต้านแผนการเนรเทศผู้อพยพออกนอกประเทศและต่อต้านอุดมการณ์เรื่องเชื้อชาติสีผิวของพวกขวาจัดที่เทียบได้กับนาซี


ที่มาภาพ: fdecomite (CC BY 2.0)

ช่วงเดือน ม.ค. 2567 ประชาชนจำนวนมากคนในเยอรมนีรวมตัวกันประท้วงต่อต้านพรรคฝ่ายขวาจัดคือ พรรค AfD รวมถึงแสดงจุดยืนต่อต้านนโยบายเรื่องผู้อพยพและผู้ลี้ภัยของพรรคการเมืองนี้ด้วย ผู้คนรวมตัวกันประท้วงในหลายเมืองรวมถึงในเมืองเล็กๆ โดยมีบางคนที่ทำการเยาะเย้ยพรรค AfD และมีป้ายประท้วงเขียนว่า "ฟาสซิสม์ไม่ใช่ทางเลือก"

การประท้วงดังกล่าวนี้มีขึ้นหลังจากเกิดความไม่พอใจเมื่อทราบว่า ส.ส. พรรค AfD ได้จัดประชุมร่วมกันกับนักกิจกรรมฝ่ายขวาที่มีการหารือแผนการเนรเทศชาวต่างชาติออกจากเยอรมนี

ในการประท้วงเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมาผู้ประท้วงรวมตัวกันภายใต้คำขวัญที่ว่า "ปกป้องประชาธิปไตย - แฟรงเฟิร์ตต่อต้าน AfD" ที่ในกลางย่านการค้าของเยอรมนี ตำรวจได้ประเมินตัวเลขผู้ประท้วงว่าอยู่ที่ราว 35,000 คน มีจำนวนผู้ประท้วงใกล้เคียงกันที่ชุมนุมกันที่ฮันโนเฟอร์ มีอยู่ประมาณ 30,000 คนที่ชุมนุมกันที่เมืองดอร์ทมุนด์ทางตะวันตกของประเทศ

ในเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเยอรมนีอย่างฮัมบูร์กก็มีการชุมนุมของผู้คนหลายหมื่นคนโดยที่แต่ละภาคส่วนประเมินตัวเลขผู้ชุมนุมต่างกันไป ตำรวจในท้องที่ประเมินตัวเลขผู้ชุมนุมไว้ที่ประมาณ 30,000 คน สื่อเอเอฟพีประเมินไว้ที่ 50,000 คน ส่วนนิตยสาร เดอ สปีเกล ประเมินเอาไว้ที่ 80,000 คน

นอกจากนี้แล้วในเมืองอื่นๆ อย่าง เบราน์ชไวค์, แอร์ฟวร์ท, คาสเซล และเมืองเล็กๆ เมื่องอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นการขับเคลื่อนในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อโทรทัศน์ ARD ของเยอรมนีระบุว่ามีจำนวนผู้ร่วมประท้วงทั้งหมดรวมแล้วมากกว่า 200,000 คน ในวันที่ 20 ม.ค. 2567

สิ่งที่พวกขวาจัดวางแผน เป็น "การโจมตีประชาธิปไตย"

มีกลุ่มคนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักการเมือง, ศาสนจักร และโค้ชฟุตบอลบุนเดสลิกา ต่างก็ขอให้ผู้คนยืนหยัดต่อต้านพรรค AfD

หนึ่งในนักการเมืองผู้ที่ประกาศสนับสนุนการประท้วงและประณามแผนการของกลุ่มขวาจัดคือนายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ ชอลซ์

ชอลซ์ กล่าวประณามแผนการของพรรคขวาจัดที่ต้องการเนรเทศผู้อพยพโดยเปรียบเทียบว่ามันเหมือนกับอุดมการณ์เรื่องเชื้อชาติแบบของนาซี ทั้งนี้ชอลซ์ยังได้เข้าร่วมการประท้วงในช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว รวมถึงกล่าววิจารณ์ว่าแนวความคิดของพวกขวาจัดนั้นเป็นการโจมตีประชาธิปไตยและโจมตีทุกคนในประเทศ

"ผมขอพูดอย่างชัดเจนและจริงจังโดยสิ้นเชิงเลยว่า พวกขวาจัดหัวรุนแรงกำลังโจมตีประชาธิปไตยของพวกเรา" ชอลซ์กล่าวถึงเรื่องที่ผู้นำทางการเมืองและผู้นำธุรกิจพรรค AfD หารือกันเรื่องจะเนรเทศผู้คนหลายล้านคนจากเยอรมนี

"ผมขอให้ทุกคนยืนหยัดเรียกร้องเพื่อความแน่นแฟ้น ความอดกลั้นต่อความต่าง และเพื่อเยอรมนีที่เป็นประชาธิปไตยของพวกเรา" ชอลซ์กล่าว

ชอลซ์ได้เข้าร่วมการประท้วงที่พอตส์ตัมพร้อมกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ แอนนาเลนา แบร์บ็อค และกล่าวในเชิงสนับสนุนการประท้วงว่า "ผมก็อยู่ที่นั่นด้วย ... สิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญในประเทศของพวกเรา ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน"

ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประท้วงรัฐสภาของเยอรมนีก็ได้มีการโหวตให้ผ่อนปรนกฎหมายเรื่องการโอนสัญชาติและทำให้มีการเข้าถึงการถือสองสัญชาติในเยอรมนีได้ง่ายขึ้น โดยการให้บุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีและ "มีค่านิยมร่วม" กับเยอรมนีสามารถถือหนังสือเดินทางของเยอรมนีได้หลังจากที่อาศัยอยู่ในประเทศ 5 ปี จากเดิมที่กำหนดให้ต้องอยู่ในประเทศ 8 ปี ถึงจะทำได้ อีกทั้งชอลต์ยังบอกอีกว่า มาตรการผ่อนปรนใหม่นี้จะไม่บีบบังคับให้ใคร "ต้องปฏิเสธรากเหง้าของพวกเขาเอง"

ชาวเยอรมันหวั่นใจ แนวคิดพรรคขวาจัดปลุกผีนาซี

ข่าวเรื่องการประชุมของกลุ่มขวาจัดส่งผลสะเทือนไปทั่วเยอรมนีในช่วงเวลาเดียวกับที่พรรคขวาจัด AfD ได้รับคะแนนนิยมมาเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งเป็นการสำรวจโพลในช่วงก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งใหญ่ 3 แห่งในทางเยอรมนีตะวันออกกำลังที่จะมีขึ้นในอีกหลายเดือนถัดจากนี้ โดยที่ในพื้นที่เหล่านั้นมีเสียงสนับสนุนกลุ่มขวาจัดเข้มแข็งมาก

พรรค AfD ระบุว่าสมาชิกพรรคของพวกเขาเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวจริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการหารือกันเรื่องจะเนรเทศผู้อพยพออกจากประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ มาร์ติน เซลเนอร์ นักกิจกรรมขวาจัดชาวออสเตรียชูธง และ อลิซ ไวเดล ผู้นำร่วมของพรรค AfD ได้ไล่หนึ่งในที่ปรึกษาของเธอออกเนื่องจากที่ปรึกษารายนี้เข้าร่วมการประชุมที่มีปัญหานี้

การประชุมที่ถูกกล่าวหาในครั้งนี้เกิดขึ้นที่พอตดัมส์เมื่อเดือน พ.ย. 2566 แต่ก็เพิ่งจะมีการเปิดโปงโดยสื่อสืบสวนสอบสวนของเยอรมนีชื่อ Correctiv เมื่อช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือน ม.ค. 2567

นอกจากนักการเมืองแล้ว กลุ่มธุรกิจในเยอรมนีก็แสดงความกังวลต่อแผนการของกลุ่มขวาจัดด้วย

โจ เคเซอร์ ประธานกรรมการบอร์ดหัวหน้างานของบริษัท ซีเมนส์ เอนเนอยี่ กล่าวว่า "ถ้าหากทุกอย่างเป็นจริงตามที่รายงาน มันก็เป็นเรื่องน่ารังเกียจมาก"

นอกจากเคเซอร์แล้วบริษัทอื่นๆ เช่น บริษัทผลิตชิพอุปกรณ์ไอที อินฟินิออน และบริษัทเคมีภัณฑ์ อีโวนิค ก็เคยพูดแสดงความกังวลในเรื่องเดียวกันก่อนหน้านี้ด้วย

เคเซอร์ยังเตือนอีกว่าการกระทำของพวกขวาจัดอาจจะส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจเยอรมนี และเยอรมนีควรจะเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์

ฮาโจ ฟุงเกอ นักวิเคราะห์การเมืองผู้เชี่ยวชาญเรื่องขวาจัดกล่าวว่า "การประชุมที่อื้อฉาว" ของพวกขวาจัดนั้นเป็นการชวนให้คนนึกถึงมรดกเลวร้ายจากสมัยนาซี ทำให้ผู้คน "กลัวเรื่องการเนรเทศประชาชนหลายล้านคนรวมถึงคนที่ไม่ได้สัญชาติพลเมือง มันคือความกลัวที่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกจากนาซีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์"

กลุ่มนักบวชเยอรมนีจากตะวันออกเตือนให้ระวังความรู้สึก "ไม่เชื่อใจและหยามเหยียด" ต่อกระบวนการประชาธิปไตย และให้ระวังว่าแนวคิดขวาจัดกับแนวคิดแบบเหยียดชาวยิวกำลัง "เริ่มได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ"

กลุ่มนักฟุตบอลและโค้ชจากลีคบุนเดสลิกาของเยอรมนีได้ประณาม AfD และเรียกร้องให้ร่วมกันประท้วงต่อต้านกลุ่มขวาจัด เช่น คริสเตียน ชไตช ผู้จัดการทีม เอ็สเซ ไฟรบวร์ค กล่าวว่า "ใครก็ตามที่นิ่งเฉยกับเรื่องนี้ในตอนนี้ ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากโรงเรียนหรือจากประวัติศาสตร์"


เรียบเรียงจาก
Tens of thousands protest in Germany against the far right, Aljazeera, 20-01-2024
Germany: Scholz welcomes protests against far right, DW, 19-01-2024

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net