Skip to main content
sharethis

เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว (12 พ.ย.) มีแรงงานสิ่งทอของบังกลาเทศคนเดินขบวนประท้วงเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม หลังจากที่รัฐบาลเสนอปรับค่าแรงใหม่ให้พวกเขา แต่ก็ปรับขึ้นน้อยเกินไป ในการประท้วงมีการปะทะกับตำรวจเกิดขึ้น และมีการทำลายข้าวของในโรงงาน มียอดผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 รายแล้ว นับตั้งแต่ที่มีการประท้วงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค.

สื่อแชนแนลนิวส์เอเชียระบุว่า มีกรณีการลุกฮือของแรงงานในบังกลาเทศครั้งใหญ่ที่สุดในรอบสิบปี มีแรงงานหลายหมื่นคนปะทะกับตำรวจ โดยที่แรงงานเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนไปเป็น 23,000 ตากา (ราว 7,300 บาท) การลุกฮือที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้มีโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งได้รับความเสียหาย

บังกลาเทศเป็นประเทศที่มีโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ 3,500 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85 ของการส่งออกมูลค่า 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.9 ล้านล้านบาท) ต่อปี เป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้กับแบรนด์ดังๆ ระดับท็อปหลายแบรนด์ เช่น ลีวาย, ซารา และ เฮชแอนด์เอ็ม

อย่างไรก็ตามสภาพชีวิตแรงงานสิ่งทอของบังกลาเทศก็อยู่ในภาวะย่ำแย่ ในบังกลาเทศมีแรงงานสิ่งทออยู่จำนวนมากถึง 4 ล้านชีวิต และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ก่อนหน้านี้พวกเขามีค่าแรงต่อเดือนเริ่มต้นที่ 8,300 ตากา (ราว 2,600 บาท)

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลบังกลาเทศเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าแรงงานภาคส่วนสิ่งทอ ร้อยละ 56.25 เป็น 12,500 ตากา (ราว 4,000 บาท) ต่อเดือน ซึ่งกลุ่มแรงงานก็ยังมองว่าการขึ้นค่าแรงแค่นี้ไม่มากพอ หลังจากนั้นก็มีการยกระดับการประท้วงทำให้โรงงานอุตสาหกรรมอย่างน้อย 70 แห่งถูกรื้อค้นทำลายข้าวของ

ข้อมูลจากตำรวจและจากสหภาพแรงงานระบุว่ามีแรงงานที่เสียชีวิตจากการปะทะกับตำรวจรวมแล้ว 4 ราย ทางสหภาพแรงงานระบุว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้แก็สน้ำตาและกระสุนยางกับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมก็เริ่มมโต้ตอบตำรวจ

คริสตินา ฮายากอส-เคลาเซน ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมสิ่งทอของสหภาพนานาชาติ IndustriALL ที่สหภาพแรงงานบังกลาเทศสังกัดอยู่ด้วย กล่าวว่า "สถานการณ์ยกระดับไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ"

ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลจะประกาศขึ้นค่าแรงที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค. เป้นต้นไป แต่มันก็ยังไม่มากพอ โดยที่ทางกลุ่มแรงงานบอกว่าค่าแรงดังกล่าวนี้ตามไม่ทันค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในช่วงระหว่างปี 2565-2566 บังกลาเทศมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 9 ซึ่งนับว่าเพิ่มสูงมากที่สุดในรอบ 12 ปี

ถึงแม้ว่าแรงงานบังกลาเทศจะเรียกร้องค่าแรงเป็น 23,000 ตากา (ราว 7,300 บาท) สื่อ CNN ก็บอกว่าจำนวนที่เรียกร้องนี้ก็ยังคงน้อยกว่าค่าแรงขั่นต่ำของแรงงานอเมริกันในช่วง 1 สัปดาห์ โดยที่สหรัฐฯ กำหนดค่าแรงขั้นต่ำในระดับทั่วประเทศให้อยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 260 บาทต่อชั่วโมง) โดยยังไม่หักภาษี มีกลุ่มแรงงานในสหรัฐฯ จำนวนมากเรียกว่าเป็นค่าแรงระดับยากจน

นาร์ซา อักเตอร์ ประธานสหพันธ์ซอมมิลลิตโต การ์เมนต์ สรามิก ซึ่งเป็นหนึ่งในสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในบังกลาเทศกล่าวถึงจำนวนค่าแรงที่รัฐบาลบังกลาเทศประกาศออกมาว่า "มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ... พวกเรารู้สึกว่าแรงงานของอุตสาหกรรมสิ่งทอถูกเย้ยหยันจากคำประกาศของคณะกรรมการ... ในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ มันไม่สมเหตุสมผลเลย ถ้าหากค่าแรงขั้นต่ำไม่มีการกำหนดให้สมเหตุสมผล มันก็เสี่ยงที่จะทำให้ความไม่สงบจากแรงงานเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีกับใครเลย ไม่ว่าจะเป็นทั้งแรงงาน, นายจ้าง หรือภาครัฐ"

กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นทำให้โรงงานจำนวนมากปิดทำการจนสร้างความชะงักงันให้กับอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอในบังกลาเทศที่ถือว่าเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน ในการประท้วงครั้งนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บที่ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลหลายสิบราย มีกรณีที่ผู้ประท้วงจุดไฟเผาโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งจนทำให้แรงงานอีกรายหนึ่งเสียชีวิต มีกรณีผู้ประท้วงเสียชีวิตจากการปะทะกับตำรวจ

แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงว่า "พวกเรามีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการปราบปรามที่กำลังเกิดขึ้นกับแรงงานและนักสหภาพแรงงาน ทางการสหรัฐฯ ข้อให้มีกระบวนการหารือแบบไตรภาคี มีการพิจารณาในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการแก้ปัญหาเรื่องความกดดันด้านเศรษฐกิจที่แรงงานและครอบครัวของพวกเขากำลังเผชิญมากขึ้น"

แรงงานสิ่งทอในบังกลาเทศเป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดกลุ่มหนึ่งและเสี่ยงจะถูกกระทำมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการพูดถึงปัญหาสภาพการจ้างงานของแรงงานสิ่งทอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน แต่เหตุการณ์ประท้วงล่าสุดในบังกลาเทศก็มีการใช้ความรุนแรงที่สร้างความเสียหายในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงราว 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่มีกรณีอาคาร รานา พลาซ่า ถล่ม ซึ่งอาคารแห่งนี้เต็มไปด้วยโรงงานสิ่งทอ ทำให้ผู้คน 1,100 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเสียชีวิตในภัยพิบัติในครั้งนั้น

บังกลาเทศมีความมุ่งมั่นอยากจะเป็นประเทศเศรษฐกิจระดับกลางให้ได้ภายในปี 2574 อุตสาหกรรมสิ่งทอของพวกเขานับเป็นภาคส่วนอุตสาหกรรมที่สำคัญที่คิดเป็นร้อยละ 35.1 ของผลผลิตมวลรวม (GDP) รายปีของประเทศ ภาคส่วนสิ่งทอของบังกลาเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำเงินเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 14,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2554 เป็น 33,100 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 จากข้อมูลของบริษัทให้คำปรึกษาแมคคินซี

แบรนด์เสื้อผ้าเรียกร้องบังกลาเทศ พิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงาน

แบรนด์ต่างๆ รวม 118 แบรนด์ เช่น เอชแอนด์เอ็ม, แกบ, พูมา ต่างก็ส่งจะหมายให้กับนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อขอให้มีการเจรจาอย่างสันติ และเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะครอบคลุมความต้องการพื้นฐานของแรงงานได้ อีกทั้ง สมาคมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าแห่งสหรัฐอเมริกา (AAFA) ที่เป็นตัวแทนของแบรนด์เสื่อผ้าสิ่งทอต่างๆ จากสหรัฐฯ ยังได้เรียกร้องให้มีการพิจารณาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำให้เร็วกว่านี้ จากที่ในบังกลาเทศมีการระบุพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกๆ 5 ปี

เนท เฮอร์มาน รองประธานอาวุโสฝ่ายนโยบายของ AAFA กล่าวว่า บังกลาเทศควรจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกๆ ปี แทนที่จะเป็นทุกๆ 5 ปี และควรจะมีการทำให้แน่ใจว่าจะมีการพิจารณาอย่างทันท่วงทีตามความต้องการ การปรับปรุงในเรื่องนี้จะเป็นส่วนสำคัญเพื่อสร้างความเหมาะสมให้กับมาตรฐานการจัดซื้ออย่างมีความรับผิดชอบของแบรนด์ต่างๆ

บริษัทอย่าง เอชแอนด์เอ็ม ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงานในบังกลาเทศ แต่จะใช้วิธีการทำสัญญากับเจ้าของโรงงานโดยมีการจ่ายค่าต้นทุนต่างๆ ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบ, สถานที่ หรือแรงงาน

เอชแอนด์เอ็ม ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากสวีเดนกล่าวว่า พวกเขาเล็งเห็นถึงเรื่องที่พวกเขามีบทบาทในการทำให้คนงานได้รับ "ค่าแรงเพื่อยังชีพ" ผ่านทางการรับซื้ออย่างมีความรับผิดชอบ

นอกจากนี้ทางเฮชแอนด์เอ็มยังระบุถึงการประท้วงที่เกิดขึ้นอีกว่าพวกเขาไม่ได้เห็นว่ามัน "ส่งผลอะไรใหญ่ๆ ต่อการผลิตและห่วงโซ่อุปทานโดยรวม" ถึงแม้ว่าโรงงานบางส่วนของพวกเขาจะถูกปิดก็ตาม

บริษัท พาทาโกเนีย ระบุว่าพวกเขาสนับสนุนให้มีค่าแรงขั้นต่ำ 208 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 7,300 บาท) ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับที่แรงงานเรียกร้อง

บริษัท ลีวาย แถลงว่า พวกเขา "สนับสนุนให้รัฐบาลบังกลาเทศจัดกระบวนการปรับปรุงค่าแรงขั้นต่ำให้มีความเป็นธรรม, เชื่อถือได้ และโปร่งใส"

เรื่องนี้ยังมีนักวิชาการพูดถึงอีกว่ามีส่วนคล้ายกรณีการประท้วงของแรงงานสิ่งทอที่กัมพูชาในปี 2557 ที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วงจนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย แต่หลังจากนั้นในกัมพูชาก็เกิดความเปลี่ยนแปลง ทำให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำปีละครั้ง

เจสัน จัดด์ ผู้อำนวยการของสถาบันแรงงานสากลจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าวว่า ในยุคสมัยที่คนกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก คนก็อยากได้สินค้าที่ เร็ว ถูก และด่วน ถึงแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะมีความใส่ใจเรื่องที่มาของเสื้อผ้าที่พวกเขาซื้อกันมากขึ้น แต่สภาพชีวิตที่พวกเขาเป็นตอนนี้ก็ยากที่จะหวังให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายกดดัน จัดด์บอกว่าสิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ คือนโยบายของประเทศนั้นๆ เอง

"บังกลาเทศควรจะมีเหตุผลมากกว่านี้ ใช้ความรุนแรงน้อยลงกว่านี้ และมีกระบวนการที่คำนึงถึงอย่างครอบคลุมผู้คนมากกว่า นี่เป็นสิ่งที่มีคนทำมาก่อนแล้ว ไม่ใช่เรื่องการออกแบบอะไรใหม่เลย" จัดด์กล่าว


เรียบเรียงจาก
Violent wage protests in Bangladesh could hit top fashion brands, CNN, 09-11-2023
Bangladesh garment worker dies after protests, Channel News Asia, 12-11-2023


ที่มาภาพปก Wikimedia Commons

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net