Skip to main content
sharethis

การประท้วงในอิหร่านมักถูกมองว่าเกี่ยวกับประเด็น 'สตรีนิยม' และ 'การต่อต้านอำนาจนิยม' แต่ขณะเดียวกันก็มีชาว LGBTQ+ เป็นแนวหน้าของการประท้วงเช่นกัน เนื่องในเดือนแห่งประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศ ชวนมองการประท้วงในอิหร่าน ด้วยแง่มุมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

เป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้วที่ "ตำรวจศีลธรรม" ของอิหร่านทำการคุมขังและทุบตี มาห์ซา อามินี ด้วยข้อหาสวมฮิญาบแบบไม่เหมาะสม การเสียชีวิตของอามินีในที่คุมขังนำมาซึ่งการประท้วงข้ามปี แต่ส่วนใหญ่แล้วเรื่องเล่าผลิตซ้ำเกี่ยวกับการประท้วงนี้มักจะพูดว่าเป็นแค่ประเด็นสตรีนิยมหรือการต่อต้านอำนาจนิยม แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีมิติของการเรียกร้องความหลากหลายทางเพศ และมีชาว LGBTQ+ เป็นส่วนหนึ่งของการนำขบวนการด้วยเช่นกัน

กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในอิหร่านอยู่แนวหน้าในการประท้วงของอิหร่าน โดยมีการแสดงออกเชิงต่อต้านกฎเข้มงวดด้วยการที่คู่รักจูบกันอย่างอาจหาญต่อหน้าสาธารณชน มีการชูธงสีรุ้งและเข้าร่วมกับขบวนการประท้วงด้วยป้ายประท้วงที่ระบุว่า "เควียร์, ชีวิต, เสรีภาพ"

การลุกฮือประท้วงรัฐบาลอิหร่านที่เกิดขึ้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เหตุการณ์โดดๆ ไม่มีที่มาที่ไป แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยาวนานของการที่ประชาชนชาวอิหร่านต่อสู้เรียกร้องสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง, กลุ่มชาว LGBTQ+ และกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ

ชาดี อามิน ผู้อำนวยการบริหารของเครือข่ายเลสเบียนและคนข้ามเพศชาวอิหร่านที่ชื่อ "6rang" มีฐานอยู่ในเยอรมนี กล่าวว่า เธอเติบโตในอิหร่านโดยคิดว่าตัวเอง "ป่วย" เพราะเธอเป็นบุคคลหลากหลายทางเพศ ในตอนนั้นมัน "เจ็บปวด" ที่ต้องทนทุกข์กับความเกลียดชังจากการทำกิจกรรมของเธอ และจากการที่เธอออกมาเรียกร้อง แต่เธอก็มองว่าการต่อสู้เพื่อชุมชนชาว LGBTQ+ ในอิหร่าน "จะยังคงดำเนินต่อไปอีกมากกว่า 25 ปี"

ดังนั้นแล้ว สำหรับอามิน การได้เห็นผู้คนลุกฮือหลังเหตุการณ์มาห์ซา อามินี เมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นเรื่องที่ "น่าสนใจ" เพราะว่ามันเหมือนกับได้เห็น "ผล" ของการทำงานของนักกิจกรรมคนอื่นๆ "ในช่วง 10-12 ปีที่ผ่านมา" เพื่อที่จะเน้นย้ำเรื่องปัญหาที่ต้องต่อสู้ร่วมกันของชาว LGBTQ+, ผู้หญิง, ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ และกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ ภายใต้รัฐบาลที่กดขี่ของอิหร่าน

อามินระบุว่า "(ชาว LGBTQ+) เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความตื่นตัวและมีส่วนร่วมมากที่สุดในการประท้วงเหล่านี้รวมถึงการประท้วงเมื่อปีที่แล้ว ... เราจะเห็นได้ในทุกที่ว่าเมื่อมีการประท้วงก็จะมีธงสีรุ้งอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีคนไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้แล้วก็บอกให้กลับไป ... คนพวกนั้นพยายามจะผลักไสเราออกไปจากการประท้วง แต่ฉันคิดว่าชุมชน LGBTI รุ่นเยาว์นั้นมีพลังมาก แล้วพวกเขาก็พยายามจะนำข้อเรียกร้องมาสู่ขบวนการประท้วงนี้"

รัฐบาลอิหร่านอ้างใช้วาทกรรมเหยียดความหลากหลายทางเพศข่มเหงผู้ประท้วง

แต่ทั้งผู้มีความหลากหลายทางเพศและคนที่ไม่ใช่ต่างก็เสี่ยงที่จะถูกทางการอิหร่านสั่งประหารชีวิต จากการที่พวกเขามีทัศนคติต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอิหร่าน ตลอดช่วงที่มีการประท้วงมีประชาชนมากกว่า 22,000 คนถูกจับกุม มีหลายร้อยคนถูกสังหาร มีบางคนถูกประหารชีวิตโดยรัฐบาลอิหร่านที่พยายามจะใช้ความรุนแรงบดขยี้ผู้ประท้วงต่อต้าน

แต่เปลวเพลิงแห่งเสรีภาพก็ไม่ยอมมอดดับไป มีนักแสดงที่ชนะรางวัลออสการ์, ผู้นำทางการเมือง และผู้หญิงหลายคนจากทั่วโลกแสดงออกด้วยการตัดผมตัวเองต่อหน้าสาธารณะเพื่อประท้วงการเสียชีวิตของอามินี

6Rang รายงานจากการวิจัยและการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ชาว LGBTQ+ 70 คน ที่เข้าร่วมประท้วง พวกเขาเปิดเผยถึงการปราบปรามและการคุกคามอย่างเลวร้ายที่เกิดกับผู้ประท้วงบนฐานของเรื่องเพศวิถีและเพศสภาพของพวกเขา

ผู้ประท้วงที่มีความหลากหลายทางเพศเผชิญกับความรุนแรงถึงขีดสุด, การคุกคามด้วยคำพูด, การปราบปรามจากเจ้าหน้าที่ทางการ และการล่วงละเมิดทางเพศและทางร่างกาย

ในอิหร่านมีกฎหมายลงโทษคนที่มีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันโดยมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แล้วก็มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งขัน ชาว LGBTQ+ จะเผชิญกับความรุนแรง, การกีดกันเลือกปฏิบัติ, การถูกปฏิเสธทางสังคม, การจับกุม และการคุกคาม

อามินไม่ต้องการให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศรุ่นใหม่ๆ ต้อง "เผชิญประสบการณ์เดียวกัน" แบบที่เธอเคยเผชิญ เธอมองว่าพวกเขา "ควรจะมีชีวิตที่ดีกว่า" แต่คนรุ่นใหม่ในอิหร่านก็เผชิญกับการถูกสังหารโดยรัฐบาล "เพราะพวกเขาต้องการเสรีภาพ"

นอกจากนี้ยังควรจะมีการเล็งเห็นว่าขบวนการที่ชื่อ "ผู้หญิง ชีวิต เสรีภาพ" ซึ่งเป็นคำขวัญที่มีรากฐานมาจากขบวนการปลดแอกผู้หญิงชาวเคิร์ดแล้วก็กลายมาเป็นคำขวัญปลุกใจในการประท้วงการเสียชีวิตของอามินีในอิหร่านนั้น เป็นขบวนการที่ LGBTQ+ มีส่วนร่วมด้วย

อามินบอกว่า "ตราบใดที่มีกลุ่มคน (ผู้มีความหลากหลายทางเพศ) เข้าร่วม ไม่ว่าจะแค่ 5 คน 500 คน หรือ 5,000 คนก็ตาม ซึ่งฉันคิดว่ามีมากกว่า 8 ล้านคนในอิหร่านที่เป็นผู้ท้าทายสังคมในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีของตัวเอง รวมถึงท้าทายครอบครัวของพวกเขาเองด้วย"

อามินกล่าวต่อไปว่า "ในอิหร่านนั้น (การเป็น LGBTQ+) ต้องหลบซ่อน พวกเขาไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้ในที่สาธารณะ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้คนจำนวนมากถึงบอกว่ามันยังไม่ถึงเวลาที่จะออกมา แล้วรัฐบาลก็อ้างใช้วาทกรรมมากล่าวหาว่าขบวนการ 'ผู้หญิง ชีวิต เสรีภาพ' เป็นขบวนการที่ให้เสรีแก่การรักเพศเดียวกันและความไร้ศีลธรรม"

"พวกเขาพยายามอ้างใช้เรื่องต้องห้ามในสังคมเพื่อสร้างโฆษณาชวนเชื่อปลุกปั่นความเกลียดชังต่อขบวนการและต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ... ฉันคิดว่าในเวลานี้มันเหมาะสมแล้วที่จะพูดออกมาว่า 'พวกเราได้เรียนรู้อย่างมากจากการปฏิวัติในครั้งที่แล้ว และพวกเราก็ไม่ต้องการให้มันเกิดซ้ำอีกครั้งกับผู้มีความหลากหลายทางเพศในคราวนี้' " อามินกล่าว

มาห์ซา อามินี "อาจจะเป็นน้องสาวของพวกเราก็ได้"

อาชัม ปาร์ซี ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารขององค์กรอินเตอร์เนชันแนลเรลโรดเพื่อผู้ลี้ภัยที่มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า การเสียชีวิตของอามินีทำให้เกิดความสะเทือนใจต่อผู้คนจำนวนมากเพราะว่าเธอมีตัวตนที่ซ้อนทับกับหลายภาคส่วนในสังคม

ปาร์ซีบอกว่า มีคนถูกจับกุมและสังหารในอิหร่านทุกวัน บางครั้งคนก็จะบอกว่า "คุณได้ยินเกี่ยวกับคนนั้นไหม โอ้ มันน่าเศร้าเนอะ" เพราะพอคุณรับรู้เหตุการณ์แบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ มันก็กลายเป็น "เรื่องปกติ" สำหรับคุณ

ปาร์ซีกล่าวอีกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเราเห็นขบวนการทางสังคมจำนวนมากกว่าเดิม และเห็นผู้คนพยายามจะเปล่งเสียงเรียกร้องในเรื่องต่างๆ การเสียชีวิตของอามินีจึงคล้ายเป็นการตบหน้าผู้คนจำนวนมาก แล้วพวกเขาก็บอกว่า "นี่มันมากเกินไปแล้ว"

ปาร์ซีมองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมากกับเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีขบวนการเคลื่อนไหวแตกต่างหลากหลายออกไปในอิหร่านแล้วอามินีก็เป็นบุคคลที่คนจำนวนมากรู้สึกว่าเธอมีอัตลักษณ์ตัวตนแบบเดียวกับพวกเขา

"ที่มันกลายเป็นขบวนการในระดับประเทศได้ก็เพราะเหตุผลสองสามอย่าง คือมาห์ซา อามินี มีอะไรหลายอย่างในตัวในเวลาเดียวกัน เธอเป็นอิหร่านเชื้อสายเคิร์ด ดังนั้นเธอจึงเป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มน้อย เธอจึงได้รับการสนับสนุนจากชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก ... แล้วเธอก็เป็นผู้หญิง มีขบวนการผู้หญิงจำนวนมากที่พยายามจะสนับสนุนในเรื่องนี้" ปาร์ซีกล่าว

"เธอเป็นเยาวชน เธอมีความแตกต่าง แล้วเธอก็ไม่ได้เคร่งศาสนา ... ดังนั้นแล้วผู้คนจำนวนมากก็มองว่าเธออาจจะเป็นน้องสาว เป็นลูกหลาน หรือญาติมิตร ของพวกเขาก็ได้" ปาร์ซีกล่าว

ปาร์ซีเป็นผู้พลัดถิ่นที่เคยหนีออกจากอิหร่านและปัจจุบันอาศัยอยู่ในแคนาดา เธอบอกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนจะต้องพูดถึงขบวนการในอิหร่านต่อไปและ "ทำให้สิทธิของ LGBT ยังคงเป็นเรื่องที่ดำเนินต่อไป" เพราะการเงียบเสียงจะกลายเป็นการเก็บซ่อน "การกระทำไร้มนุษยธรรมทุกกรณี"

ปาร์ซี ผู้ที่เป็นนักกิจกรรม LGBTQ+ จากอิหร่านบอกว่า ผู้คนทั่วโลกสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ด้วยการทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการเจียดเวลานิดๆ หน่อยๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องประเด็นที่เกิดขึ้นในอิหร่าน การเปลี่ยนดีไซน์ในเว็บไซต์รณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ คนที่เคยเรียนจิตวิทยามาก่อนก็สามารถพูดคุยกับผู้ลี้ภัยชาว LGBTQ+ ได้ หรือช่วยโต้ตอบข้อมูลที่ผิดทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอิหร่าน


เรียบเรียงจาก
‘She could be my sister’: Iranian activists on why Mahsa Amini protests are an LGBTQ+ fight too, Pink News,  17-09-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net