Skip to main content
sharethis

ตร.นางเลิ้งส่ง “ปิยบุตร” ให้อัยการคดี “ณฐพร” ฟ้อง ม.116 คดีแสดงความเห็นทางกฎหมายกรณีเผาพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อปี 64 เจ้าตัวยันไม่เข้าองค์ประกอบความผิด-เจตนาปรามทั้ง 2 ฝ่าย จี้พนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจเองบ้าง ทวงรัฐบาลใช้มาตรการทางบริหารตามที่เคยหาเสียงไว้ นัดฟังคำสั่งอัยการ 8 ก.พ.นี้

9 ม.ค. 2567 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เดินทางมาตามนัดหมายของพนักงานสอบสวน เพื่อส่งสำนวนและส่งตัวให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาล ในคดีที่ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้าแจ้งความในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นฯ จากกรณีจัดรายการในแพลตฟอร์มคลับเฮาส์ เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2564

ตำรวจได้มีความเห็นว่าสมควรสั่งฟ้องและได้นำตัวปิยบุตรส่งให้อัยการพิจารณาต่อว่าสมควรสั่งฟ้องต่อศาลหรือไม่ โดยทางอัยการได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 8 ก.พ.2567

ทั้งนี้ ปิยบุตร ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงคดีของตนว่า ช่วงที่ตนจัดรายการเป็นเวลาเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำ ในฐานะนักวิชาการจึงได้ให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อให้ความรู้กับประชาชน เพราะเห็นว่าอาจกลายเป็นชนวนลุกลามบานปลายที่ฝ่ายหนึ่งอาจเอาไปทำตามและอีกฝ่ายอาจโกรธแค้นจนออกมาเคลื่อนไหว

เลขาฯ ก้าวหน้ากล่าวถึงสิ่งที่พูดในรายการวันนั้นว่า ได้แสดงความเห็นว่าเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทยและในต่างประเทศ และให้ความรู้ว่ามีข้อกฎหมายว่ากันอย่างไร มีการลงโทษกันอย่างไรบ้าง พร้อมให้ความเห็นยืนยันไปว่ากรณีดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ม.112 แต่มีความผิดในฐานอื่น และยังยืนยันชัดเจนด้วยว่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว โดยทั้งหมดนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นไปเพื่อการหาทางออกให้กับสังคม

ปิยบุตรกล่าวถึงข้อสังเกตต่อการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ว่า ตกลงแล้วกระบวนการยุติธรรมทาอาญาของประเทศไทยจะเดินหน้าไปแบบไหน จะให้พนักงานสอบสวนเป็นเพียงแค่คนส่งสำนวนให้อัยการโดยไม่มีดุลยพินิจเลยทั้งที่ต้องมีหน้าที่สอบสวน ดูพยานหลักฐานให้เต็มที่ ไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ไม่รู้ไปเที่ยวแจ้งความตาม สน. แล้วออกหมายเรียก ถึงเวลาก็ส่งตัวให้อัยการ โดยที่ไม่ได้ใช้ดุลยพินิจอะไรเลย

ปิยบุตรเล่าถึงสิ่งที่เขาได้พูดกับพนักงานสอบสวนที่ สน.นางเลิ้ง วันที่ไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อ 17 เม.ย.2566 ว่า ตนก็ได้ถามพนักงานสอบสวนว่าหากลองสมมติให้ท่านเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ถ้าเอาเคสแบบนี้มาทำเป็นโจทย์ข้อสอบท่านจะตอบว่าเข้าองค์ประกอบหรือไม่ ซึ่งร้อยทั้งร้อยแน่นอนอยู่แล้วว่าต้องตอบว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดกันทั้งนั้น ไม่ต้องรับทราบข้อกล่าวหา ไปจนถึงขั้นทำสำนวนส่งตัวอัยการทั้งนั้น แต่เมื่อเป็นคดีเกี่ยวกับ ม.112, ม.116 หรือคดีที่พัวพันกับการแสดงออกทางการเมืองเมื่อไหร่ การใช้ดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนหายไปเลย ทำตามน้ำกันไปหมด ทั้งที่พนักงานสอบสวนมีดุลพินิจเป็นของตนเองได้ เรื่องไหนไม่เข้าไม่ต้องรับแต่แรกหรือไม่ต้องทำสำนวนส่งตัวไปอัยการ

ปิยบุตรวิจารณ์รัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่า จากที่แกนนำพรรคหลายคนเคยพูดไว้ว่า ม.112, ม.116 และกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพต่างๆ ไม่ต้องแก้ไขหรือยกเลิก แค่ใช้มาตรการทางการบริหารให้เกิดความยุติธรรมก็เพียงพอแล้ว แต่วันนี้กลับไม่เคยเห็นพูดเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นเรื่องง่ายมากที่รัฐบาลจะสามารถสั่งพนักงานสอบสวนให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีมาตรฐานเท่าเทียมกันในทุกคดีได้ หลายเรื่องไม่จำเป็นต้องสั่งฟ้องให้เสียเวลา ยังมีประชาชนมีอีกหลายคนที่ต้องเสียเวลาเพราะคดีแบบนี้ แล้วพอทำแบบนี้ก็เป็นการเปิดทางให้นักร้องหน้าเดิมมาร้องวนไปวนมากับคนกลุ่มเดิมๆ ด้วยข้อหาเรื่องเดิมๆ แล้วก็จบแบบเดิมๆ

“ถ้ามีโอกาสได้สัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการระทรวงยุติธรรม ช่วยถามทีว่าที่ประกาศกันไว้ว่าจะทำกระบวนการยุติธรรมโดยใช้วิธีการทางการบริหารเข้าไปจัดการ ท่านทำบ้างหรือยัง ผ่านมาเกิน 6 เดือนแล้วยังไม่เห็นเลยว่ารัฐบาลนี้คิดอ่านอย่างไรในเรื่องแบบนี้ ประชาชนจำนวนมากที่โดนแบบนี้เต็มไปหมดต้องรับภาระ แล้วบอกจะปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่เรื่องแบบนี้ยังมีอยู่เต็มไปหมดมันจะจบได้อย่างไร อย่างน้อยที่สุดไม่ยากเลย ไม่ต้องไปแก้กฎหมาย ยังไม่ต้องถึงขั้นกฎหมายนิรโทษกรรม เอาแค่ให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจกลั่นกรองหน่อย เรื่องไหนไม่เข้าเอาออกไปเลย จะได้ไม่เสียเวลา” ปิยบุตรกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net