Skip to main content
sharethis

อัยการส่งฟ้อง “ตะวัน-แฟรงค์” คดีบีบแตรขบวนเสด็จเอาวันสุดท้ายของกำหนดฝากขังตามกฎหมาย บรรยายฟ้องเห็นว่าผิดข้อหายุยงปลุกปั่น ยกเหตุการณ์บีบแตรลงคลิปเหตุการณ์ปั่นป่วนทำให้ประชาชนมาละเมิดกฎหมาย และเป็นการท้าทายดูหมิ่นพระเกียรติ ถูกขังต่อระหว่างพิจารณาคดี ศาลนัดสอบคำให้การ 2 พ.ค.67

2 เม.ย.2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าเมื่อวานนี้ (1 เม.ย.) อัยการส่งฟ้องทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ต่อศาลอาญา รัชดา ในคดีที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่า บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 โดยการยื่นฟ้องอัยการเกิดขึ้นในวันสุดท้ายที่ศาลมีอำนาจตามกฎหมายให้ขังได้ไม่เกิน 48 วัน

ณัฐพงษ์ วายุพัฒน์ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นเขียนคำฟ้องพวกเขาในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3), ก่อความเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 397, ข้อหาเรื่องการใช้เสียงแตรรถยาวหรือซ้ำเกินควร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 14, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 368 จากกรณีไม่พิมพ์ลายมือในระหว่างรับทราบข้อกล่าวหา  เฉพาะณัฐนนท์ยังถูกกล่าวหาในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136 อีกหนึ่งข้อหาด้วย

“แฟรงค์” เพื่อนตะวัน การ์ด WeVo และคดีบีบแตรตำรวจขบวนเสด็จ

อัยการบรรยายการกระทำของทั้งสองคนที่เป็นความผิดว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 ขณะที่มีการอารักขาขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ อยู่บนทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ทางลงทางด่วนพหลโยธิน 1 ทานตะวันและณัฐนนท์ได้ร่วมกันบีบแตรรถยนต์ตลอดเวลาเสียงดังยาว 1 – 2 นาที และขับรถยนต์แทรกคันอื่น ๆ ที่หยุดรอขบวนเสด็จ เพื่อขับแทรกเข้าไปในเส้นทางของขบวนเสด็จที่กำลังเคลื่อนผ่านบริเวณทางต่างระดับมักกะสันที่รถยนต์ของทั้งสองคนอยู่

ต่อมาเมื่อขบวนเสด็จผ่านไปแล้ว จำเลยทั้งสองคนได้ขับรถไล่ติดตามขบวนเสด็จไปในระยะกระชั้นชิดและบีบแตรลากยาวโดยไม่มีเหตุอันควรไปจนถึงบริเวณทางลงของทางด่วนพหลโยธิน 1 เป็นระยะประมาณ 800 เมตร แต่เจ้าหน้าที่อารักขาได้สกัดกั้นจำเลยทั้งสองคนไว้ได้

นอกจากนี้ ในขณะเกิดเหตุ ส.ต.อ.นพรัตน์ อินทิแสน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อารักขาขบวนเสด็จ และเข้าสกัดรถยนต์ของทั้งสองคนให้หยุดการกระทำ ได้กล่าวหาว่าณัฐนนท์พูดดูถูกเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวด้วยถ้อยคำหยาบคายทำให้รู้สึกอับอายและถูกลดคุณค่าในขณะที่กำลังปฏิบัติตามหน้าที่เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติงาน

จากนั้นในวันที่ 7 ก.พ. 2567 ทานตะวันได้ทำการโพสต์ภาพจากกล้องหน้ารถที่ทั้งสองขับในวันเกิดเหตุ ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยกล่าวแสดงความเห็นว่า

‘นำคลิปหลักฐานมาให้ชมค่ะ ว่ามีการปิดถนนจริง ๆ เราเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องขบวนเสด็จไปแล้ว แต่กลับไม่มีผู้ใหญ่คนไหนตอบ ซ้ำยังยัดคดี ม.112 และถอนประกันจนเข้าคุก นี่คือคำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับเรา วันนั้น เราได้ขับรถไปทำธุระส่วนตัว เจอขบวนเสด็จพอดีและปิดถนนเหมือนเดิม เราไม่ได้รอและขับออกไปเลย เพราะทุกคนก็รีบเหมือนกัน เราขับรถไปตามเส้นทางที่จะต้องไปทำธุระ ไม่ได้จะเร่งไปเพื่อหาขบวนเสด็จ และมันก็มีแต่คำถามในหัวว่า ทำไมถึงมีรถคันไหนไปได้สะดวกกว่ารถของประชาชน?’

‘ครั้งนี้ ผู้ใหญ่ทั้งหลายในเมืองพุทธนี้ จะให้คำตอบเด็กอย่างเราแบบไหนคะ’

อัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองคนที่ต่อเนื่องกัน เป็นการสร้างความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องถึงขนาดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย อันมิใช่การกระทำมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่การติชมโดยสุจริต

นอกจากนั้น เนื้อหาการโพสต์ของจำเลยที่ 1 หรือทานตะวัน เป็นการอวดอ้างพฤติกรรมของทั้งสองคนที่ขับรถแทรกรถยนต์ของประชาชนในบริเวณนั้นเพื่อพยายามแซงไปข้างหน้าให้ใกล้กับขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ และยังบีบแตรส่งเสียงดังแสดงความก้าวร้าว เป็นการต่อต้านท้าทายดูหมิ่นพระเกียรติยศ

อีกทั้งทั้งทำให้ประชาชนที่ติดตามเฟซบุ๊กของทานตะวัน เข้าใจว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มโซเชียลมีเดีย อันเป็นการกระทำที่อาจสร้างความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน และเป็นภัยอันตรายต่อความปลอดภัยทางสาธารณะ

จากนั้นศาลได้นัดถามคำให้การทั้งสองคนในชั้นพิจารณาคดีวันนี้ และเบิกตัวณัฐนนท์มาที่ศาลแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อตะวันได้ โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้เหตุผลว่า ทานตะวันพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ในขณะนี้แต่ไม่สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลได้ จึงไม่สามารถเบิกตัวมาตามนัดได้ ศาลจึงให้เลื่อนนัดถามคำให้การไปเป็นวันที่ 2 พ.ค. 2567

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความฯ มีข้อสังเกตต่อความเห็นสั่งฟ้องของอัยการว่าหลังเกิดเหตุไม่พบว่าจะมีการนำเสนอข่าว หรือผู้ใดที่กระทำการสร้างความวุ่นวายตามฟ้องของอัยการในฐานความผิดยุยงปลุกปั่น

บันทึกจับกุม ยังได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ทานตะวันที่นั่งอยู่ข้างคนขับ ได้เปิดกระจกรถต่อว่าตำรวจที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวว่า เดือดร้อนภาษีประชาชน และเมื่อขบวนเสด็จผ่านไปแล้ว ก็ได้เปิดการจราจรให้รถยนต์จากทางร่วมฯ วิ่งไปได้ตามปกติ โดยเห็นว่ารถของผู้ต้องหาทั้งสองคนมีพฤติการณ์ขับรถเร็ว ซึ่งตำรวจลงความเห็นว่าอาจเป็นการอันตรายต่อขบวนเสด็จ  จึงได้แจ้งทางวิทยุให้เจ้าหน้าที่รายอื่นที่ปฏิบัติงานถวายความปลอดภัยทราบถึงพฤติกรรมของรถยนต์คันดังกล่าว

จากนั้นรถของตะวันก็ได้ขับเข้าประชิดกับรถปิดท้ายขบวนเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่รถปิดท้ายขบวนได้สกัดเอาไว้ได้ จึงทำให้ไม่สามารถแทรกเข้าไปในขบวนเสด็จได้ 

ผู้สื่อข่าวสอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความฯ เพิ่มเติมเรื่องกระบวนการปล่อยตัวทั้งสองคนหลังครบกำหนดฝากขังว่าเป็นอย่างไร  ทราบว่าเนื่องจากทางอัยการดำเนินการส่งฟ้องต่อศาลแล้วทำให้พวกเขาทั้งสองคนถูกขังต่อในชั้นพิจารณา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net