Skip to main content
sharethis

ทำความรู้จัก “แฟรงค์” คู่คดีของ “ตะวัน” ผ่านสายตาของเพื่อน ในวันที่ยังต้องลุ้นว่าจะได้ปล่อยตัวก่อนหรือพวกเขาจะต้องอดอาหารต่อเพราะไม่ได้สิทธิประกันตัวพร้อมกับความเสี่ยงถึงชีวิต

ตะวันและแฟรงค์กำลังถูกนำตัวไป สน.พหลโยธินหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงหมายจับ ภาพ แมวส้ม

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแฟรงค์ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตรปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ หลังจากถูกดำเนินคดีม.116 พร้อมกับตะวัน หรือ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ จากกรณีที่พวกเขาบังเอิญไปเจอขบวนเสด็จบนทางด่วนแล้วบีบแตรแสดงความไม่พอใจต่อตำรวจที่มาปิดกั้นเส้นทาง

จากเหตุการณ์วันนั้น ทั้งสองคนถูกขังระหว่างรอการสืบสวนสอบสวนของตำรวจโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมาจนถึงวันนี้ทั้งที่คดีก็ยังไม่ถึงที่สุด แล้วล่าสุดตำรวจก็ยังไปขอฝากขังต่อด้วยการให้เหตุผลแปลกๆ ว่ารอตรวจหลักฐานวิดีโอหน้ารถของพยานในเหตุการณ์ที่พวกเขาไม่มีทางเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานนี้ได้แต่ศาลก็ยังคงอนุญาตให้ขังพวกเขาต่อตามความเห็นตำรวจ

“เห็นว่า คดีนี้อยู่ในชั้นฝากขังใกล้ครบระยะเวลาฝากขังแล้ว และศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” คือเหตุผลของศาลอาญา รัชดาฯ ให้ขังพวกเขาต่อในการยื่นประกันตัวครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาหลังจากทั้งสองคนถูกฝากขังมา 44 วันแล้วและกำลังจะครบ 48 วันในวันนี้ (1 เม.ย.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ศาลจะมีอำนาจขังพวกเขาไว้ได้ตามกฎหมายหากอัยการยังไม่ส่งฟ้องต่อศาลในวันนี้และถ้าหากอัยการส่งฟ้องทันพวกเขาก็อาจจะถูกขังต่อในชั้นพิจารณาคดีของศาลต่อได้หากศาลไม่ให้ประกันตัวในชั้นพิจารณา

จากเหตุผลข้างต้นทำให้แฟรงค์กับตะวันอดอาหารประท้วงเพื่อทวงสิทธิประกันตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่วันแรกที่ถูกขังจนเกือบจะถึง 50 วัน จนร่างกายทรุดโทรมมากแล้วทั้งคู่ แฟรงค์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนตะวันแพทย์ก็มีความเห็นว่าเสี่ยงที่หัวใจจะหยุดเต้นจากสภาวะโพแทสเซียมต่ำ

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ แฟรงค์ หนุ่มวัย 23 ปี ทำงานรับจ้างส่งของคนนี้ก็ได้ปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ ที่แม้หลายคนอาจจะไม่คุ้นหน้าแต่เขาก็ไม่ได้เป็นนักกิจกรรมหน้าใหม่ เพราะเขาไม่ได้เป็นแกนนำแถวหน้าออกมาพูดความคิดตัวเองทั้งในที่ชุมนุมและในหน้าสื่อเท่าไหร่

ต่อให้ย้อนไปหาข่าวก็จะเห็นแค่ข่าวที่เขาได้รับบาดเจ็บจากการถูกรถคุมขังที่นำตัวพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวินและภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ไปเรือนจำเข้าชนจนจักรยานยนต์ล้มแล้วถูกลากไปทำให้แฟรงค์ได้รับบาดเจ็บและรถจักรยานยนต์เสียหาย ซ้ำร้ายเขายังถูกดำเนินคดีเพราะถูกกล่าวหาว่าจะแย่งตัวผู้ต้องขังด้วย แม้ว่าตัวเขาเองจะบอกว่าวันนั้นเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่อยู่ในนั้นเป็นใครแล้วเขาก็แค่เพิ่งเสร็จจากเติมน้ำมันที่ปั๊มและกำลังจะกลับบ้านเท่านั้น

สำหรับเพื่อนๆ ของแฟรงค์หรือคนที่เข้ามาร่วมชุมนุมทางการเมืองกับขบวนการเยาวชนก็อาจจะได้เจอเขาบ้างตั้งแต่ช่วงปี 2563 แล้ว จากช่วงแรกที่แค่ช่วยงานหลังเวทีปราศรัยในที่ชุมนุมของแนวธรรมศาสตร์และการชุมนุมก่อนที่จะเข้ามาร่วมเป็นการ์ดผู้ชุมนุมกับกลุ่ม WeVo จนกระทั่งได้มาร่วมกับกลุ่มของตะวันและเพื่อนๆ ในปัจจุบัน

นอกจากจะไม่ค่อยเห็นแฟรงค์ได้พูดความคิดของตัวเองในที่สาธารณะเท่าไหร่แล้ว กับเพื่อนๆ ของแฟรงค์เองก็ดูเหมือนว่า แฟรงค์ก็ถือว่าเป็นคนพูดน้อยเอาเรื่อง แต่ในมุมมองของเพื่อนๆ ที่ได้รู้จักกันมาก็ดูจะเห็นตรงกันว่าแฟรงค์ดูจะเป็นทนเห็นสิ่งที่ “ไม่ถูกต้อง” และ “ไม่ยุติธรรม” ไม่ได้

ข้าวปั้น(เสื้อเขียว) และแฟรงค์(ขวาบน) ตอนเป็น WeVo ด้วยกัน ภาพจาก ข้าวปั้น

“แฟรงค์เขาเป็นคนเข้าใจไม่ยาก เขาแค่ไม่ชอบสิ่งที่เป็นอยู่ อะไรที่มันไม่ถูกต้องหรือมันไม่พูดไม่ได้เขาจะไม่สามารถทนเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ เขาก็เลยมาเข้าร่วม” ธนพ อัมพะวัต หรือ ข้าวปั้น เพื่อนของแฟรงค์ตอนอยู่ WeVo พูดถึงแฟรงค์ที่เขารู้จัก

ข้าวปั้นบอกว่า เขาได้มาเจอกันเพราะวันหนึ่งได้เห็นภาพของแฟรงค์เข้าไปเผชิญหน้ากับตำรวจในคืนวันที่ 16 ต.ค.2563 ที่การชุมนุมของเยาวชนถูกตำรวจเข้าใช้กำลังสลายการชุมนุม พวกเขาเห็นว่าแฟรงค์หน่วยก้านดีเลยชักชวนแฟรงค์เข้ามาร่วมกับกลุ่มของพวกเขา

“ความยุติธรรมของมันก็คือ ถ้ามึงผิดอะมึงก็ต้องรับผิดนั่นแหละ ถ้ากูผิดกูก็ต้องได้รับผิด ตรงไปตรงมา มันเป็นคนตงฉินไม่ตอแหลโกหก” อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบมพูดถึงมุมมองเรื่องความยุติธรรมของแฟรงค์จากสิ่งที่เขาแสดงออกผ่านการกระทำ

แบม ยื่นหนังสือขอให้ศาลพิจารณาทบทวนคำสั่งอนุญาตฝากขังทั้งสองคนเมื่อ 9 มี.ค.2567 ภาพ แมวส้ม

แบม เป็นเพื่อนคนหนึ่งของแฟรงค์ที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันมาตั้งแต่เจอกันตอนเธอกับตะวันอดอาหารทวงสิทธิประกันตัว เธอบอกว่าอย่างเรื่องขบวนเสด็จก็เป็นเรื่องหนึ่งที่แฟรงค์รู้สึกทนไม่ได้และไม่ยุติธรรม แต่กลับไม่มีใครตั้งคำถามว่าขบวนเสด็จผ่านแค่ไม่กี่นาทีแต่ทำไมตํารวจต้องมาปิดถนนแล้วคนรับผิดชอบคือใครทั้งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจริงๆ

แบมยังเล่าถึงกรณีที่ชาวนาชุมนุมเรียกร้องอยู่บริเวณหน้ายูเอ็นแล้วถูกให้ย้ายที่ชุมนุมเพราะกำลังจะมีขบวนเสด็จผ่านก็เป็นเรื่องที่แฟรงค์และตะวันรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง แล้วคดีล่าสุดที่เกิดขึ้นก็เพราะพวกเขาไปเจอขบวนเสด็จบนทางด่วนโดยบังเอิญในขณะที่แฟรงค์รีบพาตะวันที่กำลังไม่สบายกลับไปพักผ่อนหลังเพิ่งเสร็จจากงานศพของเพื่อนนักกิจกรรม

“ความโกรธของมัน(แฟรงค์) อาจจะแรงกว่าที่มันบีบแตรออกมาด้วยซ้ำ คงส่งไปไม่ถึงขบวนเสด็จหรอก แต่การบีบแตรก็เพื่อให้คนรอบข้างรู้ว่านี่แม่งเกิดอะไรขึ้น เพื่อให้ตำรวจรู้ว่ากูเดือดร้อน”  แบมยังมองว่าเหตุการณ์วันนั้นแฟรงค์กับตะวันเพียงแค่ต้องการตั้งคำถามและแสดงความไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจนเป็นความปกติเท่านั้น

แบมเห็นว่า เมื่อเทียบกับกระแสความไม่พอใจขบวนเสด็จทั้งในออฟไลน์และออนไลน์ตอนช่วงปี 63-64 จนเกิด #ขบวนเสด็จ ขึ้นมา สิ่งที่พวกเขาทั้งสองคนทำก็กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย แต่กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่อย่างที่เธอเองก็คาดไม่ถึงหลังจากไลฟ์เหตุการณ์นั้นของตะวันกลายเป็นไวรัลทั้งใน TikTok และ IG จากนั้นทั้งสองคนก็ถูกดำเนินคดีด้วยด้วยมาตรา 116 เพราะเรื่องนี้

แต่ถ้าพูดถึงความคาดหวังของแฟรงค์ที่ออกมาทำกิจกรรมแล้ว แฟรงค์เองก็เป็นคนหนึ่งที่อยากเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องและเป็นรัฐบาลที่รับฟังเสียงของประชาชนด้วย

“เขาต้องการเห็นพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องแล้วก็เห็นหัวประชาชน ฟังเสียงประชาชน หลายครั้งเราก็เถียงกับแฟรงค์เพราะเราชอบพรรคไหนเป็นพิเศษ แต่แฟรงค์จะไม่เลย เห็นพรรคไหนทำผิดก็ด่าออกมาตรงๆ หรือแม้แต่กับคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยกันเองทำผิดก็พร้อมจะด่าออกมาเสมอ” ข้าวปั้นเล่า

แม้เรื่องที่เกิดจะดูเหมือน แฟรงค์ เป็นสายลุยทั้งการไปเป็นการ์ดและการแสดงออกตรงๆ ถึงความรู้สึกของตัวเอง แต่ในสายตาของเพื่อนๆ เขาเป็นคนเงียบๆ เข้าสังคมไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่แต่ก็เป็นคนตลกอย่างคาดไม่ถึง

“ตอนเริ่มรู้จักแฟรงค์เนี่ยจริงๆ ก็แอบเกร็งๆ เพราะมันไม่พูดอะไรเลย มันเหมือนรําคาญเราด้วยซ้ำแต่จริงๆ ไม่ได้รําคาญมันแค่อินโทรเวิร์ทเลเวลสูงแหละ” แบมบอกว่าเขาเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยเข้าสังคม จะคุยกับคนที่สนิทด้วยจริงๆ ถึงกับเคยชวนไปวันเกิดที่บ้านแต่พอถึงบ้านแฟรงค์ก็ไปหลบมุมเล่นเกม แต่ถึงแบมจะรู้สึกว่าแฟรงค์เป็นคนพูดน้อยดูเฉยเมย แต่ก็เป็นคน “ติงต๊อง”

ข้าวปั้นเล่าว่าสมัยแฟรงค์อยู่กับ WeVo เขามักจะเป็นคนที่คอยเรียกเสียงหัวเราะให้กับเพื่อนๆ อย่างตอนที่แฟรงค์ถูกดำเนินคดีครั้งแรกก็ไปพูดจาติดตลกตอนให้การกับตำรวจจนทนายความบ่นก็แล้วแต่ดูจะหยุดความเป็นคนกวนประสาทของเขาไม่ได้พลอยทำเพื่อนๆ ที่นั่งรอให้กำลังใจอยู่หัวเราะไปด้วย แต่เมื่อถึงเวลาจริงจังแฟรงค์ก็เป็นคนที่จริงจังกับหน้าที่ของตัวเองและพึ่งพาได้คอยช่วยเหลือให้เพื่อนรอดจากการถูกตำรวจเข้าสลายชุมนุมได้

ความคอยเป็นห่วงเพื่อนๆ นี้ของแฟรงค์ไม่ใช่แค่ตอนที่เขาอยู่ในที่ชุมนุม แบมเล่าว่าเขาเป็นคนรับผิดชอบชีวิตคนอื่นด้วยแม้จะไปแฮงค์เอ้าท์ด้วยกันเขาก็ไม่ดื่มเพื่อขับรถส่งเพื่อนถึงบ้านจนครบ แล้วแฟรงค์ก็เป็นเด็กกตัญญูที่คอยทำงานหาเลี้ยงยายที่เลี้ยงเขามาจนโต อีกทั้งก็ยังชอบช่วยเหลือคนอื่นเป็นคนอ่อนไหวมาก

“มันก็แบบอุดหนุนเขาถ้าเขามาขายของก็ซื้อแบบมีเด็กมาขายกล้วยทอดมันก็ซื้อ อย่างเราถ้าเราเห็นก็จะแบบมึงไปสนับสนุนให้เค้าลําบากต่อนะ เราก็มีมายด์เซ็ตของเรา แต่สําหรับมันก็คือว่า เออก็เค้าลําบากตอนนี้เราก็อยากอุดหนุนเค้า เราเห็นมันก็มีมุมอ่อนโยนเหมือนกัน"

แต่ความเป็นคนอ่อนไหวของแฟรงค์พอมีเพื่อนต้องเดินหน้าเข้าคุกก็เครียด แบมเล่าด้วยว่าความเป็นคนพูดน้อยไม่ค่อยยอมเล่าปัญหาพอเครียดถึงที่สุดก็ยังแค่เปรยๆ ออกมาจนเธอต้องคอยถามไถ่พยายามถามให้ได้คุยระบายออกมาบ้าง

ภาพ แมวส้ม

“หนูเป็นพวกแบบชอบถามไง ถามนั่นถามนี่ถามไปเรื่อยก็ถึงจะพูดก็ต้องเค้นนะว่ามันรู้สึกอย่างนี้ บางทีเราเห็นละอย่างแฟรงค์มันเซนซิทีฟง่ายมึงหงุดหงิดเริ่มรำคาญละ อีนี่เริ่มเข้ามาวุ่นวายก็เริ่มรำคาญละ แต่เรามองมันออกก็เข้าไปคุยในรถมันถึงพูดว่ามันรู้สึกยังไง เราก็โอเครู้สึกยังไงก็พูดมาเลยตรงนี้เป็นเซฟโซนพูดกับกูได้ทุกอย่าง”  แบมเล่า

แบมบอกว่าตอนเธอกับตะวันเข้าเรือนจำไปอดอาหารตอนนั้นยังพอมีเวลาตั้งตัว แต่รอบนี้แฟรงค์เข้าไปโดยไม่ได้ตั้งตัวก็เครียดแล้วยังเห็นเพื่อนอย่างสายน้ำกับสื่อก็มาโดนคดีอีก จนเธอรู้สึกว่าการที่พวกเขาต้องมาโดนคดีแบบนี้ก็เหมือนกับอดีตที่ผ่านมาที่ประชาชนโดนข่มขู่ข่มขวัญกันแบบนี้ไปจนถึงการล่าแม่มด

“ก็น่าเอือมระอากับการเมืองไทย แม่งโสโครกฉิบหายเลย มึงทำกับเด็กคนนึงอย่างนี้ได้ยังไง มันไม่ใช่แค่ตะวันหรอก การเมืองมันจะไปเคาะประตูหน้าบ้านแล้ว แล้ววินาทีนั้นมึงจะเลือกใช้ชีวิตยังไงมันมีผลหมด” แบมสะท้อนถึงความรู้สึกของเธอต่อสิ่งที่ตะวันกับแฟรงค์เผชิญอยู่ในตอนนี้

ข้าวปั้นมองว่าสังคมที่แฟรงค์กำลังเผชิญอยู่นี้เป็นสังคมที่การพูดเรื่องไหนสักเรื่องไม่ได้หรือพูดถึงสาเหตุของปัญหาในสังคมไม่ได้ซึ่งกำลังสะท้อนถึงสังคมที่ไม่มีวุฒิภาวะอยู่เลย

“สังคมที่เราพูดไม่ได้กันทุกเรื่องหรือว่าเราพูดเรื่องไหนแล้วสุดท้ายเราจะถูกห้ามพูดแล้วทะเลาะกันเป็นเรื่องใหญ่โต ผมว่าเราเป็นสังคมที่ผู้ใหญ่ไม่มากพอ เราต้องยอมรับว่าแฟรงค์ พวกเราเองหลายๆ คนอายุไม่เท่าไหร่ เราแค่ต้องการเห็นประเทศที่ดีกว่านี้ แล้วเราก็อยากให้ผู้ใหญ่ในสังคมรับฟังพวกเรามากกว่านี้”

“เราเข้าใจความเด็ดเดี่ยวของแฟรงค์อยู่แล้ว เรารู้จักกันมาเรารู้ว่าแฟรงค์เป็นคนยังไง แต่อยากให้แฟรงค์คิดว่าการรักษาตัวเองไว้สู้ในระยะยาวก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าแฟรงค์จะตัดสินใจยังไงเราก็เคารพแฟรงค์เสมอ อยากให้แฟรงค์ได้ออกมาไวๆ” ข้าวปั้นฝากถึงแฟรงค์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net