Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก “ไอซ์ รักชนก” สส.เขต พรรคก้าวไกล 6 ปี ไม่รอลงอาญาใน คดีม.112 จากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทวิตวิจารณ์เรื่องผูกขาดวัคซีนโควิดเกี่ยวโยงกับสถาบันกษัตริย์และรีทวิตชวนคนไปม็อบ 16 ตุลาฯ ทั้งนี้ศาลเจ้าของสำนวนแจ้งต้องปรึกษาผู้บริหารศาลพิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่เพราะไม่อยู่ในอำนาจของศาลเจ้าของสำนวน

13 ธ.ค.2566 ที่ศาลอาญา รัชดา มีนัดอ่านคำพิพากษาคดีของรักชนก ศรีนอก สส.เขต กรุงเทพ พรรคก้าวไกล ในคดีที่อัยการฟ้องเธอด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอายามาตรา 112 และ มาตรา 14(3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 จากการที่เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทวิตข้อความวิจารณ์รัฐบาลเรื่องการผูกขาดวัคซีนโควิด-19 พร้อมติดแท็ก #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดํา และรีทวีตข้อความพร้อมภาพถ่ายป้ายข้อความในการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ปี 2563 ซึ่งแสดงความไม่พอใจต่อกษัตริย์

ผู้ที่แจ้งความดำเนินคดีนี้คือ มณีรัตน์ เลาวเลิศ ประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร เข้าแจ้งความที่ บก.ปอท.ให้ดำเนินคดีกับรักชนกเมื่อตอนที่ยังรักชนกยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม “คลับเฮ้าส์เพื่อประชาธิปไตย”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานผลคำพิพากษาว่า ศาลลงโทษจำคุกรักชนก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทั้งนี้ในการยื่นคำร้องขอประกันตัว ทางผู้พิพากษาแจ้งว่าการสั่งประกันจะไม่อยู่ในขอบข่ายอำนาจของเจ้าของสำนวน ซึ่งต้องมีการปรึกษาผู้บริหารศาล

ศูนย์ทนายความฯ เคยรายงานถึงเนื้อหาข้อความ 2 ข้อความที่อัยการนำมาฟ้องรักชนก โดยอัยการระบุว่า

1. เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 จำเลยได้ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 โดยการทวิตข้อความในบัญชีทวิตเตอร์ของจำเลย กล่าวพาดพิงว่า รัฐบาลพยายามผูกขาดการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการเล่นการเมืองบนวิกฤตชีวิตประชาชน ผลสุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบก็คือประชาชน โดยมีแฮชแท็ก #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ

ในโพสต์ดังกล่าวยังมีการแนบรูปภาพของรัชกาลที่ 10 ประกอบข้อความ “ทรราช (คำนาม) TYRANT ; ผู้ปกครองที่ใช้อำนาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง" ทำให้เข้าใจความหมายได้ว่า รัชกาลที่ 10 เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน อันเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

2. ระหว่างวันที่ 18 ก.ค. – 9 ส.ค. 2564 จำเลยได้ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 โดยการรีทวิตข้อความจากบัญชีทวิตเตอร์อื่น มีเนื้อหาระบุว่า ประชาชนจะไม่เป็นไทจนกว่าจะกำจัดกลุ่มศักดินาได้ ซึ่งทวิตประกอบกับข้อความจากบัญชีทวิตเตอร์ชื่อ นิรนาม มีเนื้อหาคล้ายกัน พร้อมแฮชแท็ก #ม็อบ16ตุลา #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ทำให้เข้าใจความหมายได้ว่า เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายไม่เคารพสักการะรัชกาลที่ 10 อันเป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

ศูนย์ทนายความฯ รายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 15.40 น. ศาลอาญาให้ประกันตัวรักชนกโดยใช้ตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส. ชัยธวัช ตัวตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลประกันตัว โดยศาลตีราคาประกัน 500,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใด ลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาอีก

ศาลเห็นว่าจำเลยไม่มอบมือถือให้ ตร.ทันที

ทางศาลอาญาได้ออกจดหมายข่าวถึงสื่อมวลชนเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลในคดีของรักชนกวันนี้โดยระบุว่า คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องว่า จําเลยกระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2564 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จําเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาต มาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ โดยการนําเข้าสู่ระบบ คอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา 

โจท์ระบุอีกว่า จําเลยใช้บัญชีทวีตเตอร์ “ไอซ์ หรือ @nanaicez” ของจําเลย โพสต์ (tweet) ข้อความว่า “พูดตรงๆนะ ที่พวกเราต้องมาเจอวิกฤตวัคซีนแบบทุกวันนี้ เริ่มต้น ก็เพราะรัฐบาลผูกขาดวัคซีนเพื่อหาซีนให้เจ้า สร้างวาทะกรรมของขวัญจากพ่อต่างๆ เล่นการเมืองบนวิกฤตชีวิตของประชาชน ผลสุดท้ายคนที่ซวยที่สุดคือประชาชน #28กรกฎา ร่วมใจใส่ชุดดํา” พร้อมรูปภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ ประกอบป้ายข้อความว่า “ทรราช (คํานาม) TYRANT; ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อํานาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง” ลงบนแอป พลิเคชันทวีตเตอร์ 

ข้อความดังกล่าวทําให้เข้าใจความหมายได้ว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 10 พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองที่ทําให้ประชาชนเดือดร้อนโดยประการที่จะทํา ให้พระบาทสมเด็จพระวชิระเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ ทรงเสื่อมเสีย พระเกียรติยศ ทรงถูกดูหมิ่นหรือทรงถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดง ความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิด เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาในสภาพที่ระบบ คอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

นอกจากนั้นโจทก์ระบุอีกว่าระหว่างวันที่ 18 ก.ค. 2564 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 วันและเวลาใดไม่ปรากฏชัด จําเลย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ โดยการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวล กฎหมายอาญา 

ฟ้องของโจทก์ได้ระบุว่าจําเลยใช้บัญชีทวิตเตอร์ “ไอซ์ หรือ @nanaicez” ของจําเลย โพสต์ซ้ํา (retweet) ข้อความที่ผู้ใช้บัญชีทวีตเตอร์ “CHANI หรือ @ratsinapata” โพสต์ (tweet) ข้อความว่า “เราไม่เป็นไทจนกว่ากษัตริย์จะถูกแขวนคอด้วยลําไส้ของขุนนางคนสุดท้าย” #ล้มราชวงศ์จักรี” ประกอบข้อความที่ผู้ใช้บัญชีทวีตเตอร์ “นิรนาม หรือ 1231022 โพสต์ (tweet) ข้อความว่า “เราจะไม่เป็นไทจนกว่ากษัตริย์จะถูกแขวนคอด้วยลําไส้ของขุนนาง คนสุดท้าย” #วชิราลงกรณ์เป็นฆาตกร #ม็อบ16ตุลา #16ตุลาไปแยกปทุมวัน” ลงบนแอปพลิเคชันทวีตเตอร์ ทําให้เข้าใจความหมายได้ว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และไม่เคารพสักการะพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทรงถูกดูหมิ่นหรือทรงถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเผยแพร่หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา 

ทางฝ่ายโจทท์ได้ขอให้ลงโทษรักชนกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 112 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3,14 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ทั้งนี้จําเลยให้การปฏิเสธ 

คดีมีปัญหาที่ศาลต้องวินิจฉัยว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนาง ม.เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นสมาชิกในกลุ่ม Line ได้รับภาพ ที่ส่งเข้ามาในกลุ่มไลน์ซึ่งเห็นว่าจําเลยเป็นผู้ทวีตภาพและข้อความและรีทวีต(RETWEET) ซึ่งพยานเห็นว่า การทวีตของจําเลยเป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ส่วนการรีทวีตของจําเลยมีการระบุชื่อของรัชกาลที่ 10 และมีเนื้อหาที่เป็นการเหยียดหยาม ดูหมิ่น อาฆาต มาดร้ายพระมหากษัติรย์ เนื่องจาก มีรูปโพรไฟล์และชื่อของจําเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ 

พยานจึงนําภาพและข้อความดังกล่าวไปแจ้งความกล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับจําเลยที่กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และยังมี พันตำรวจโท ภ. เป็นพยานเบิกความว่า พยานได้รับการประสานให้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี ทวีตเตอร์ของจําเลยและบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการรีทวีต 

พยานนายตำรวจดังกล่าวระบุว่าผลการตรวจสอบบัญชีทวีตเตอร์ของจําเลยมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องโดยมีการโพสต์ภาพของบุคคลและมีการเชื่อมโยง กับบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ RUKCHANOK SRINORK และมีอินสตาแกรมโดยมีชื่อผู้ใช้บัญชี USER NAME เช่นเดียวกัน 

ทั้งนี้จําเลยให้การต่อสู้ประการหนึ่งว่า ภาพและข้อความตามฟ้องเป็นการใส่ร้ายตนจากบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง หากตนโพสต์ภาพและข้อความตามฟ้องซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างร้ายแรงแล้วย่อมต้องถูกดําเนินคดีอย่างแน่นอน เพราะมีบุคคลที่จ้อง จะเล่นงานตนอยู่แล้ว ตนจึงไม่มีทางที่จะโพสต์ภาพและข้อความตามฟ้อง และตนมีความ ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

ศาลเห็นว่าได้ความจากพยานโจทก์นาง ม.ซึ่งไม่เคยรู้จักกับจําเลยเป็นการส่วนตัว หรือมีสาเหตุบาดหมางกับจําเลยมาก่อน ทั้งเมื่อไม่ปรากฏว่านาง ม.เป็นนักการเมืองหรือมีส่วนได้เสียทางการเมือง การที่นาง ม.นําภาพและข้อความตามฟ้อง มาแจ้งความกล่าวหาให้ดําเนินคดีกับผู้ที่โพสต์นับว่าเป็นการทําหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 50(1) จึงเชื่อว่า นาง ม.แจ้งความและเบิกความไปตามสิ่งที่ตนพบเห็น โดยไม่มีเจตนา กลั่นแกล้งจําเลยแต่อย่างใด หากจําเลยมีความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว ย่อมไม่อาจมีการโพสต์ข้อความใดๆ ในทางลบ ให้นาง ม.หรือประชาชนทั่วไปได้พบเห็น ข้ออ้างของจําเลยในส่วนนี้จึงไม่น่าเชื่อถือ 

นอกจากนั้นศาลยังเห็นว่าเมื่อประกอบกับในชั้นสอบสวนจําเลยให้การปฏิเสธ โดยไม่ได้ให้การในรายละเอียดแต่ประการใด ซึ่งจําเลยให้การเพียงว่า “ขอไม่ให้การ” และเมื่อพนักงานสอบสวนถามถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจําเลย จําเลยก็ให้การว่า “ไม่ได้เอามา” โดยจําเลยมิได้ให้การโต้แย้งว่าเป็นภาพตัดต่อหรือโต้แย้งว่าตนถูกใส่ร้ายทางการเมือง รวมทั้งมิได้ขวนขวายที่จะขอส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนให้พนักงานสอบสวนทําการตรวจสอบข้อมูล ทั้งที่เป็นการไม่ยากที่จะกลับไปเอาหรือส่งมอบให้ภายหลังในระยะเวลาอันสมควรทั้งที่จําเลยถูกแจ้งข้อหาในความผิดร้ายแรงที่กระทําต่อพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการตัดต่อนําภาพโปรไฟล์ของจําเลยมาโพสต์เพื่อใส่ร้ายจําเลยจริงแล้ว เชื่อว่าจําเลยย่อมต้องให้การโต้แย้งต่อพนักงานสอบสวนว่ามีการตัดต่อภาพเพื่อใส่ร้ายตน 

ศาลเห็นว่าพฤติกรรมของจําเลยที่ไม่ขอตอบข้อซักถามของพนักงานสอบสวนและไม่ขวนขวายในการแสดงหลักฐานเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนจึงเป็นการผิดวิสัยของประชาชนคนไทยทั่วไปที่สืบสานวัฒนธรรมและทัศนคติในการเคารพองค์พระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน ซึ่งการจะมีหลักฐานทางระบบคอมพิวเตอร์หลงเหลืออยู่หรือไม่นั้นต้องพิจารณาพฤติกรรมของจําเลยในการให้ความร่วมมือและการเสนอพยานหลักฐานเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วย 

ศาลยังเห็นอีกว่าไม่มีเหตุใดให้เชื่อว่าพนักงานสอบสวน นาง ม.ผู้กล่าวหาจะร่วมกันคิดสร้างหรือกําหนดจัดแต่ง URL รวม 4 URL ขึ้นมาเองเพื่อเอาผิดจําเลย ซึ่งแต่ละ URL จะมีรายละเอียดแตกต่างกัน จําเลยเองกลับมิได้ให้การทักท้วงหรือปฏิเสธถึงความมีอยู่หรือความถูกต้องของ URL ดังกล่าวในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นระยะเวลาใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันเป็นระยะเวลาที่เชื่อว่าจําเลยไม่อาจคิดหาหนทางบิดเบือนข้อเท็จจริงได้ดังเช่นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณา ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างจากที่จําเลยให้การในชั้นสอบสวนประมาณ 1 ปี 6 เดือน ข้อต่อสู้ของจําเลยในชั้นพิจารณาจึงมีน้ำหนักน้อย 

อีกทั้งพยานหลักฐานโจทก์ที่นําสืบมาประกอบกับพฤติกรรมของจําเลยซึ่งไม่นําพาหรือขวนขวายที่จะให้การหรือแสดงหลักฐานใดเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนในชั้นสอบสวนอันเป็นการผิดวิสัยของบุคคลทั่วไปในฐานะปวงชนชาวไทยซึ่งต้องเคารพและไม่ละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ 

ศาลจึงเชื่อว่าจําเลยได้โพสต์หรือทวีตและรีทวีตภาพและข้อความลงในระบบคอมพิวเตอร์ตามฟ้อง ภาพและข้อความตามฟ้องนับว่ามีเนื้อหาซึ่งเป็นการกล่าวร้ายและอาฆาตมาดร้ายต่อพระชนม์ ชีพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และราชวงศ์จักรี ซึ่งย่อมหมายถึงพระราชินีด้วย จําเลยจึงมีความผิดต่างกรรมต่างวาระ 

ศาลพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (2) การกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ และ ฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็น เท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นกรรมเดียวผิด กฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ จําคุก กระทงละ 3 ปี รวมสองกระทง คงจําคุก 5 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net