Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาถึง 12 ธ.ค.ให้ 'พิธา' แจงปมถือหุ้นไอทีวี พร้อมขยายให้ 'ก้าวไกล' แจงปมแก้ ม.112 ถึง 18 ธ.ค. ก่อนไต่สวนพยานแบบเฉพาะผู้เกี่ยวข้องเข้าฟัง ขณะที่คดี 'ศักดิ์สยาม' ถือหุ้นบุรีเจริญ ศาลรัฐธรรมนูญแจงไต่สวนพยาน 14 ธ.ค.นี้ ให้เฉพาะคู่กรณี-ผู้เกี่ยวข้องเข้าฟังเช่นกัน

6 ธ.ค.2566 ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รายงานว่าวันนี้ (6 ธ.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ 3 คดีด้วยกันคือ

1. คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา และสั่งให้ พิธา ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค.66 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย  

ต่อมาพิธายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมบัญชีระบุพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ ฉบับลงวันที่ 2 ต.ค.66 และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 18 ต.ค.66 โดยศาลได้อนุญาตตามที่พิธาขอขยายระยะเวลาจัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้า โดยให้จัดส่งภายในวันอังคารที่ 12 ธ.ค.นี้ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องสำเนาแก่คู่กรณีฝ่ายอื่นเพื่อทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 7 วัน จากนั้นอภิปรายเตรียมการไต่สวนในวันพุธที่ 20 ธ.ค.นี้ เวลา 09.30 น.

ส่วนคดีที่ธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ…. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ คดีอยู่ในระหว่างศาลรัฐธรรมนูญให้พยานบุคคลของผู้ถูกร้องทั้งสอง และพยานผู้เชี่ยวชาญจัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งพยานบุคคลของผู้ถูกร้องทั้งสองยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 4 พ.ค.66 ขอขยายระยะเวลายื่นบันทึกถ้อยคำข้อเท็จจริงหรือความเห็นออกไปอีก 10 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายแล้ว อนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันจันทร์ที่ 18 ธ.ค.66 และกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อในวันพุธที่ 20 ธ.ค.66 เวลา 09.30 น. ก่อนที่จะมีการไต่สวนพยานบุคคลในวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค.66 เวลา 09.30 น.

ศาลรัฐธรรมนูญยังแจ้งด้วยว่า การไต่สวนพยานบุคคลในทั้ง 2 คดีดังกล่าว คือ วันที่ 20 ธ.ค. และ 25 ธ.ค.66 ศาลอนุญาตให้เฉพาะคู่กรณีและบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้นเข้าร่วมรับฟังการไต่สวน

ขณะที่ คดีที่ สส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4(1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ ซึ่งศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และมีคำสั่งให้ศักดิ์สยาม ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า การไต่สวนพยานบุคคล 4 ปาก ในวันที่ 14  ธ.ค.66 เวลา 09.30 น. ศาลอนุญาตให้เฉพาะคู่กรณีและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นเข้าร่วมรับฟังการไต่สวน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net