Skip to main content
sharethis

ครอบครัวแรงงานในอิสราเอลตอนแรกระบุเสียชีวิต ดีใจที่ถูกปล่อยตัวแต่ไม่พร้อมให้ข้อมูล

แรงงานที่มีข่าวเสียชีวิตจากการปะทะกันในประเทศอิสราเอลชุดแรก แต่ปรากฏถูกจับเป็นตัวประกันและล่าสุดมีชื่อถูกปล่อยตัวแล้ว ทำให้ครอบครัวสุดดีใจแต่ไม่สามารถให้ข้อมูลสัมภาษณ์สื่อได้ กระทรวงต่างประเทศขอความร่วมมือมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายวิชัย กาละปัตย์ อายุ 28 ปี แรงงานไทยชาวอำเภอนาเยีย จ.อุบลราชธานี ที่ไปทำงานประเทศอิสราเอล พ่อแม่และญาติต่างเข้าใจว่าเสียชีวิตไปแล้วในเหตุกาณ์บุกถล่มของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดนายวิชัยเป็นหนึ่งในแรงงานไทยที่ถูกปล่อยตัว

ทันทีที่มีรายชื่อและรูปภาพออกมายืนยัน ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามนายมรกต การละปัตย์ ซึ่งเป็นพี่ชายของนายวิชัย นายมรกตระบุว่า รู้ข่าวว่าน้องถูกปล่อยตัวและยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่พร้อมที่จะให้ข่าวหรือให้ข้อมูลใดใด ต้องรอให้เป็นทางการก่อน และกระทรวงการต่างประเทศ ก็ยังไม่ต้องการให้ครอบครัวให้ข่าวใดๆ

ส่วนแม่ที่ทราบว่าลูกชายยังมีชีวิตอยู่ ตอนนี้ เริ่มกินข้าวได้แล้ว ส่วนตนเองก็ได้โทรศัพท์คุยกับน้องชายแล้วอยู่สบายดี และไม่ขอให้ข่าวถึงรายละเอียดที่ได้พูดคุยกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับนายวิชัย กาละปัตย์ แรงงานไทยชาวอำเภอนาเยีย เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล โดยกรมการจัดหางานส่งไปทำงานภาคการเกษตรเมื่อเดือนธันวาคม 2565 มีกำหนดสัญญาจ้างรวม 2 ปี โดยช่วงแรกที่มีข่าวคนงานไทยถูกยิงเสียชีวิต ปรากฏก็มีชื่อของนายวิชัย เป็นผู้เสียชีวิตในกลุ่มแรกที่มีข่าวออกมา แต่ปรากฏว่าถูกจับเป็นตัวประกัน ทำให้ยังมีชีวิตอยู่ สร้างความดีใจให้กับครอบครัวเป็นอย่างมาก

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/11/2566

รมว. แรงงาน แจงคืบหน้าเลือกตั้งกรรมการประกันสังคม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าว “ความคืบหน้าการดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม” โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานประกันสังคม ประกาศให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. โดยเปิดระบบให้นายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม จนกระทั่งปิดระบบลงทะเบียนเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 24.00 น. มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ฝ่ายผู้ประกันตน จำนวน 945,609 ราย ฝ่ายนายจ้าง จำนวน 4,209 ราย รวมจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 949,818 ราย และได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้ง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยให้นายจ้าง ผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ สามารถตรวจสอบรายชื่อทางหน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th และที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ที่ได้ลงทะเบียนไว้

ซึ่งขณะนี้ยอดนายจ้าง ผู้ประกันตน ที่มีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตน จำนวน 854,061 ราย ฝ่ายนายจ้าง จำนวน 3,116 ราย รวมจำนวนผู้ลงทะเบียนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 857,177 ราย อย่างไรก็ตาม หากนายจ้าง ผู้ประกันตนไม่พบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถยื่นขอแจ้งเพิ่มชื่อ หรือถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน – 14 ธันวาคม 2566 ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ทุกวันในเวลาราชการ

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม จะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายผู้ประกันตน จำนวน 247 คน ฝ่ายนายจ้าง 69 คน พร้อมหมายเลขผู้สมัครและสถานที่เลือกตั้ง ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th และที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ทั่วประเทศ สำหรับผู้สมัครที่ไม่พบรายชื่อสามารถขอเพิ่มชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันที่ 2 – 6 ธันวาคม 2566 พร้อมประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเพิ่มเติมในวันที่ 18 ธันวาคม 2566

นายพิพัฒน์ รมว.แรงงาน ได้กล่าวเชิญชวนนายจ้าง ผู้ประกันตน ที่มีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมด้วยว่า ให้ติดตามรายชื่อผู้สมัคร 7 เบอร์ที่ชอบ 7 เบอร์ที่ใช่ แล้วอย่าลืมไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เข้าคูหาเลือกตัวแทน เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนและบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของนายจ้างและผู้ประกันตนให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

นายจ้าง ผู้ประกันตนสามารถสอบถามรายละเอียด และคำแนะนำในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) โทร. 02-956-2222 ในเวลา 08.30 - 16.30 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/11/2566

ก.แรงงาน จับมือไอแอลโอ รุกจ้างงานเยาวชนชายแดนใต้

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงาน “การจ้างงานเยาวชนในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย” (Young employment in Thailand’s southern provinces) ณ อุทยานการเรียนรู้ยะลา จังหวัดยะลา

โดยมีนายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ ผู้ตรวจราชการกรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายออคตาเวียนโต ปาซารีบู รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สปป. ลาว นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา พ.อ.วินัย จันละเอียด รอง ผบ.ฉก.ยะลา ผู้แทน ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นายวราวุธ ช่วยเกิด ปลัดจังหวัดยะลา นายอาคม คุ้มหมู่ แรงงานจังหวัดยะลา และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดยะลา เข้าร่วม ณ อุทยานการเรียนรู้ยะลา จังหวัดยะลา

นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเล็งเห็นถึงความสำคัญของเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติที่ควรได้รับการพัฒนา และส่งเสริมให้มีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคม โดยกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างโลกแห่งการศึกษากับโลกแห่งการทำงาน พัฒนาเยาวชนให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สร้างเยาวชนให้เป็นผู้ใหญ่และทรัพยากรที่มีคุณภาพ นำไปสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

“การจ้างงานเยาวชนในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการเยาวชนคนสร้างอนาคต-ส่งเสริมความสามารถในการมีงานทำของเยาวชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การแรงงานระหว่างระเทศ (ILO) มีเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานเยาวชนระหว่างอายุ 15-29 ปี

โดยส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ในพื้นที่กรุงเทพฯ สงขลา ยะลา และนครราชสีมา การจัดงานในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานสำหรับเยาวชน รวมถึงโอกาสในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะบริการจัดหางาน และแนะแนวอาชีพ”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/11/2566

รมว.ยันแรงงานไทยได้เงินเยียวยา 5 หมื่นแน่ เผยมี 10 คนแอบกลับไปอิสราเอล

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงแรงงาน ว่า มีแรงงานไทยกลับจากอิสราเอลแล้ว 9,500 คน และมีคนแอบกลับไปทำงานที่อิสราเอลประมาณ 10 คน จึงได้ประสานสถานเอกอัคราชทูตว่าแรงงานเหล่านี้เข้าไปทำงานในพื้นที่ไหน

ส่วนคนที่กลับมาแล้วได้แจ้งความประสงค์จะกลับไปทำงานเหตุการณ์สงบ ประมาณ 25% แต่ถ้าเหตุการณ์สงบแล้วจริงๆ คิดว่าน่าจะกลับไปเกิน 80% เพราะมีหนี้สิน แม้รัฐบาลกำลังจะเยียวยาคนละ 50,000 บาท และมีมาตรการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ในวงเงิน 150,000 บาท ระยะเวลา 3 ปี แต่หากไม่มีรายได้จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ที่จะต้องช่วยให้คนเหล่านี้มีงานทำ นอกจากอิสราเอล ยังมีเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย มีพร้อมรับแรงงานไทย

นายพิพัฒน์ ระบุต่อไปว่า หากสถานการณ์สู้รบมีการเปลี่ยนแปลงและแรงงานจะขอกลับไปอิสราเอล เงินเยียวยา 50,000 บาท จะยังเดินไปตามแผนจะได้ทุกคนที่กลับมา เพราะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามออกมาแล้ว ผ่านสำนักงบประมาณ ผ่านนายกรัฐมนตรี ตอนนี้กลับไปอยู่ที่กระทรวงการคลังเพื่ออนุมัติเงินแล้ว ถ้าทันวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ก็แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบ กระบวนการก็จบ โดยจะส่งเข้าบัญชีแรงงาน กระทรวงแรงงานไม่ได้จับต้องเงินนี้

ส่วนการจะกลับไปทำงานที่อิสราเอลคงไม่ใช่ปีนี้ อาจจะเป็นปีหน้าเหตุการณ์ต้องสงบเรียบร้อยจริงๆ ถึงจะกล้าส่งแรงงานกลับไป เพราะตอนนี้เราเสียหายพอสมควรแล้ว แต่หากรับเงินเยียวยาแล้วแอบกลับไปเป็นแรงงานเถื่อน หากประสบเหตุอะไรรัฐบาลอิสราเอลคงมีการดูแล แต่เงินเยียวยาจากภัยสงคราม 15,000 บาท จากกระทรวงแรงงานก็คงให้ไม่ได้

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 24/11/2566

ผู้ประกันตน เช็กสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมก่อนได้แล้ว ผ่าน 2 ช่องทาง

ตามที่สำนักงานประกันสังคม ได้กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 24 ธ.ค. 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. เป็นวันเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมชุดใหม่

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป สำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ นายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 จำนวนกว่า 9 แสนคน ที่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการประกันสังคม

โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากช่องทางต่าง ๆ ได้ดังนี้

1. ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้ง ได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

2. ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ด้วยตนเอง ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ที่ได้ลงทะเบียนไว้

ทั้งนี้ หากไม่พบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถยื่นขอแจ้งเพิ่มชื่อ หรือถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. – 14 ธ.ค. 2566 ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ทุกวันในเวลาราชการ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) โทร. 02-956-2222 ทุกวันในเวลาราชการ

ที่มา: ประชาติธุรกิจ, 23/11/2566

โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ ประกาศเลิกจ้างพนักงาน หลังทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว ขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ย้ำชดเชยดูแลลูกจ้างตามกฏหมาย

22 พ.ย. 2566 นายอำนวย พิจิตรพงศ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด (บลกท.) ได้ออกประกาศเรื่อง การเลิกจ้างพนักงาน โดยระบุว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งมีผลกระทบต่อบริษัทฯ มาโดยตลอดตามระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปี บริษัทฯประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาโดยตลอด อีกทั้งบริษัทฯ ได้พยายามหาทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างพนักงาน แต่ผลการดำเนินงานยังคงประสบภาวะขาดทุนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ดังนั้นบริษัทฯมีความจำเป็นที่ต้องเลิกจ้างพนักงานทุกท่าน ทั้งนี้พนักงาน ที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จะมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 2566

อนึ่ง บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด (บลกท.) เป็นผู้ผลิตเหล็กแท่ง (Billet) และจำหน่ายเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตชนิดข้ออ้อยและเหล็กเส้นกลม,เหล็กลวด,เหล็กเพลาดำ,เหล็กปลอกเสา,เหล็กปลอกคาน ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2507 เป็นบริษัทในเครือ ฉื่อ จิ้น ฮั้ว (ผู้ผลิตภาชนะอลูมิเนียม และเสาไฟฟ้าตราจระเข้) ตั้งอยู่เลขที่ 42 หมู่ 4 ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลบางครุ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ทุนจดทะเบียนล่าสุด 4,908  ล้านบาท

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 22/11/2566

ก.แรงงาน ส่งข้าวสาร-อาหารแห้งช่วยลูกจ้างเมียนมาถูกลอยแพ เร่งตามนายจ้างจ่ายตามสิทธิ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ น.ส.กรจิรัฏฐ์ พงจันทร์ศธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย น.ส.กาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) มอบเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่แรงงานเมียนมาในแคมป์คนงานก่อสร้าง จ.ระยอง ที่ถูกนายจ้างลอยแพไม่ได้รับค่าจ้างนานกว่า 2 เดือน ณ บริเวณโถงชั้นล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี น.ส.อภิญญา ทาจิตต์ ตัวแทนจากศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล Stella Maris เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปส่งต่อให้แก่แรงงานเมียนมา

น.ส.กรจิรัฏฐ์เปิดเผยว่า วันนี้ปลัดกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้มอบเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำดื่ม เป็นต้น ให้แก่ตัวแทนจากศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล Stella Maris เพื่อนำไปช่วยเหลือพี่น้องแรงงานชาวเมียนมาแคมป์ก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ถูกนายจ้างลอยแพไม่ได้รับค่าจ้างนานกว่า 2 เดือน เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงานได้มีความห่วงใยความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพราะแรงงานทุกคนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าแรงงานเหล่านั้นจะเป็นคนสัญชาติใด เมื่อได้รับความเดือดร้อนก็ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

“ปัจจุบันพบว่า ยังมีลูกจ้างเมียนมาอีกประมาณ 180 คน จากเดิม 237 คน อยู่ในพื้นที่แคมป์ก่อสร้าง ณ โครงการก่อสร้างย่านนิคมอุตสาหกรรมสาย 36 จ.ระยอง และได้รับความเดือดร้อน ในวันนี้จึงได้มอบข้าวสารอาหารแห้งและสิ่งของที่จำเป็นไปเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานชาวเมียนมากลุ่มนี้ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกรอบของกฎหมายโดยเร็วต่อไป” น.ส.กรจิรัฏฐ์กล่าว

ด้าน น.ส.กาญจนากล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ กสร.ได้ส่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด (สคร.) ระยอง ลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งชี้แจงสิทธิหน้าที่และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่นายจ้างและลูกจ้างทราบ และได้ดำเนินการออกคำสั่งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนัดหมายนายจ้างเพื่อชี้แจงให้ปฏิบัติตามคำสั่งและจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อย่างไรก็ตาม กสร.ได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกรอบของกฎหมายโดยเร็ว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 22/11/2566

หลายหน่วยงาน วางแผนรวบขบวนการลักลอบค้าแรงงานบังคลาเทศ

21 พ.ย. 2566 พ.ต.อ.ทรงวุฒิ เจริญวิชเดช ผกก.สภ.สามพราน จ.นครปฐม ได้สั่งการให้ชุดสืบสวน ประสานงานและสนธิกำลังกับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอสามพราน เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่ ปปส. เข้าทำการจับกุม ผู้ต้องหาจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย 1. นายยุทธพิชัย หรือเล็ก อายุ 28 ปี 2.นายนัฐธวัฒน์ หรือกั้ง อายุ 36 ปี 3.น.ส.ณัฐธิกาญจน์ หรือนิก อายุ 25 ปี 4.น.ส.ยุภาวดี หรือหนูเล็ก อายุ 39 ปี ทั้งหมดเป็นคน จ.นครปฐม

พร้อมด้วยของกลาง 1. ธนบัตรฉบับล่ะ 1,000 บาท จำนวน 75 ฉบับ รวมเป็นเงิน 75,000 บาท ซึ่งเป็น ธนบัตรที่นายนัฐธวัฒน์ จะนำมามอบให้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นการให้ปล่อยตัวต่างด้าวทั้ง 15 คน 2.โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ ไอโฟน สีทอง 1 เครื่อง 3. โทรศัพท์มือถือยี่ห้อซัมซุงสีดำ 1 เครื่อง 4. รถยนต์เก๋ง ยี่ ห้อ MG รุ่น Z5 สีบรอนซ์ เงิน หมายเลขทะเบียน 4ขภ 201กรุงเทพมหานคร

โดยถูกแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกจับกุมที่ 1- 4 ว่าร่วมกันให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ขณะจับกุม ผู้ต้องหาได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้วโดยผู้ต้องหาที่ 1,3และ4 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ในการจับกุมดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมชาวบัคลาเทศ จำนวน 15 คน โดยได้แจ้งข้อกล่าวหา "เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไมได้รับอนุญาต" ซึ่งต่อมาได้มีบุคคลคือนายยุทธพิชัย หรือเล็ก โดยขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมปล่อยตัวบุคคลต่างด้าวชาวบังกลาเทศทั้ง 15 คน

โดยนายยุทธพิชัย " โดยเสนอเงินให้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นจำนวนเงิน 75,000 บาท และทางเจ้าหน้าที่ได้มีการขยายผลโดยการวางแผนจับกุมซึ่งได้นัดหมายส่งเงินให้กับเจ้าหน้าที่ ภายในโรงแรมสโนว์ไวท์ ห้องหมายเลข 9 ม.7 ต.ตลาดจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยเมื่อเป้าหมายขับรถยนต์เก๋งของกลางถึงจึงได้ทำการส่งมอบเงินเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวจับกุมตัว

จากการตรวจสอบพบนายนัฐธวัฒน์ หรือกั๋ง เป็นผู้ขับขี่รถยนต์เก๋งคันดังกล่าว และพบ น.ส.ณัฐธิ กาญจน์ หรือนิก นั่งอยู่บริเวณด้านข้างคนขับ และพบ น.ส.ยุภาวดี หรือหนูเล็ก นั่งอยู่บริเวณเบาะด้านหลังรถ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ขอทำการตรวจค้นโดยผลการตรวจค้นพบของกลางโทรศัพท์มือถือและเงินที่ทำการล่อซื้อ จำนวน 75,000 บาท

โดยสารภาพว่าเป็นเงินของนายยุทธพิชัย ซึ่งได้มีการสั่งการให้ ไปรับเงินจาก น.ส.ณัฐธิกาญจน์ กับ น.ส.ยุภาวดี ที่บ้านเช่า ในเมือง จ.นครปฐม โดยได้รับค่าจ้างเป็นจำนวนเงิน 500 บาท จากนั้นนายยุทธพิชัย ได้สั่งให้ตนเองไปกดเงินจำนวนเงิน 35,000 บาท โดยนายยุทธพิชัย ได้โอนเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ของตนเอง จากนั้นจึงนำเงินที่ได้มารวมกับ ที่น.ส.ณัฐธิกาญจน์ ที่กดออกมา 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 75,000บาท และให้นำเงินดังกล่าวไปให้คน ที่อยู่ในห้องเลขที่ 9 โดยไม่ทราบว่าเป็นใครและมาถูกจับกุม ส่วนนายยุทธพิชัยได้ตามเข้ามามอบตัว ที่ สภ.สามพราน

ซึ่งในการสืบสวนขยายผลพบผู้ต้องหาพบผู้ต้องหามีการเชื่อมโยงกันโดยการติดต่อทางโทรศัพท์มือถือและผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ได้ให้การว่านายยุทธพิชัย ได้ถูกนายริน หรือนายฐิตพัฒน์ หรือริน ว่าจ้างให้ดูแลบุคคลต่างด้าวทั้ง 15 คน โดยนายฐิตพัฒน์ ได้ใช้เบอร์โทรศัพท์โทรมาหา น.ส.ณัฐธิกาญจน์ โดยให้ดูแลจนกว่าจะมีคนมารับ

ซึ่งขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมบุคคลต่างด้าวทั้ง 15 คน นายฐิตพัฒน์ ได้โทรติดต่อมาหาพวกตนโดยสั่งการให้ตนไปต่อรองและทำการติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งตกลงกันที่จำนวนเงินดังกล่าว โดยนายฐิตพัฒน์ ได้บอกกับตนเองว่า "เดี๋ยวมีคนโอนเงินมาให้รออยู่เฉยๆ" กระทั่งมีการโอนเงินและประสานงานแบบซับซ้อนเพื่อป้องกันการติดตามของเจ้าหน้าที่ แต่ไปไม่รอดถูกรวบตัวในที่สุด และจะมีการติดตามตัว นายฐิตพัฒน์ หรือริน เพื่อมาสอบสวนขยายผลหาต้นตอขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่ต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/11/2566

แรงงานกว่า 150 คน ประท้วงหน้าโรงกลั่นน้ำมันชื่อดัง เรียกร้องค่าแรงกว่า 12 ล้านบาท วอนอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแล

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 พฤศจิกายน ที่บริเวณหน้าบริษัทกลั่นน้ำมัน นามสมมติ เอ ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้มีกลุ่มแรงงานกว่า 150 คน ของบริษัท บี ซึ่งเป็นบริษัทซัพพลายเออร์ของบริษัทเอ มารวมตัวกันพร้อมทั้งถือป้ายประท้วง เพื่อเรียกร้องค่าแรงงานที่ค้างจ่ายมานานกว่า 6 เดือน รวมแล้วประมาณ 12 ล้านบาทเศษ ทำให้กลุ่มแรงงานดังกล่าวเดือดร้อนหนัก เพราะบางคนต้องกู้หนี้ยืมสินมาทำงาน และหวังว่าจะได้เงินจากค่าแรงเพื่อไปจ่ายหนี้สิน และนำไปเลี้ยงครอบครัว เมื่อบริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายเงิน และยังได้ยกเลิกสัญญาโดยไม่จ่ายค่าแรงงาน ทำให้ทุกคนเดือนร้อนอย่างหนัก จึงได้มารวมตัวเรียกร้องเงินค่าแรงงาน และเงินชดเชยในครั้งนี้

สืบเนื่องจากบริษัทบี ได้ประกาศเลิกจ้างแรงงาน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา และทางบริษัทฯ ได้มีการตกลงจ่ายเงินค่าแรงงาน ค่าชดเชยและเงินอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดภายวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าทางบริษัทฯ ไม่ทำตามที่ตกลงเอาไว้ จึงได้รวมตัวไปร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา บริษัท ซี ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทบี ได้เดินทางไปที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี และได้มีการเจรจากับผู้แทนลูกจ้างที่ร้องเรียน โดยได้มีการตกลงจ่ายเงินให้กับลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม ถึง 15 พฤศจิกายน โดยมีเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เป็นตัวกลางช่วยเจรจา แต่ทางบริษัทฯ ก็ไม่ยอมจ่ายเงินแต่อย่างใด

นายภูริณัฐ (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี แกนนำกลุ่มแรงงานกล่าวว่า การรวมตัวเรียกร้องค่าแรงงาน และเงินค่าชดเชยในครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทบี ได้ซับงานและทำงานภายในโรงกลั่นน้ำมันเอ ต่อมาได้มีการประกาศเลิกจ้าง โดยไม่มีการจ่ายค่าแรงงาน และเงินชดเชยแต่อย่างใด มีแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมดกว่า 150 คน รวมเป็นเงินกว่า 12 ล้านบาท แรงงานบางคนเสียชีวิตไปแล้วก็ยังไม่ได้รับเงินอีกด้วย ส่วนสถานการณ์ของบริษัทดังกล่าวได้ส่อว่าจะมีปัญหามาตั้งแต่ต้นปี 2566 แล้ว เพราะบางเดือนจ่ายค่าแรง 10-30 เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งมีการประกาศเลิกจ้างแรงงาน พอไปร้องเรียนหน่วยงานของรัฐบาล ก็อ้างว่าต้องทำตามกฎหมาย ทำให้แรงงานทุกคนเจ็บใจและได้รวมตัวประท้วงดังกล่าว

นอกจากนี้ทางด้าน ตัวแทนของบริษัทกลั่นน้ำมัน เอ ได้ชี้แจงต่อผู้ร้องเรียนว่า ตามหลักการแล้วทางกลุ่มผู้ร้องเรียน ต้องไปร้องทุกข์ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เนื่องจากผิดนัดหมายในการจ่ายเงิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ของกฎหมาย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/11/2566

แรงงานภาคเกษตร อายุระหว่าง 25-45 ปี สนใจทำงานเกาหลี ไม่ต้องสอบวัดระดับภาษาเกาหลี เตรียมตัวให้พร้อม

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการจัดส่งแรงงานภาคเกษตรตามฤดูกาลกับเมืองจินอัน จังหวัดชอลลาบุก สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้นายจ้างทางเกาหลีใต้แจ้งความต้องการแรงงาน ทั้งนี้ จากการพูดคุยในครั้งแรก ได้มีการกำหนดให้มีการประกาศรับสมัครคนหางาน ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567

นายคารม เปิดเผยว่า จากการหารือกับฝ่ายอำเภอจินอัน ล่าสุดพบว่า อาจมีการเลื่อนการประกาศรับสมัครไปเป็นเดือนเมษายน 2567 ซึ่งคุณสมบัติเบื้องต้นต้องเป็นคนไทย อายุระหว่าง 25-45 ปี ประกอบอาชีพเกษตรกรหรือมีประสบการณ์งานเกษตรอย่างน้อย 1 ปี ไม่ต้องสอบวัดระดับภาษาเกาหลี

“ผู้ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดงาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” นายคารม กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 19/11/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net