Skip to main content
sharethis

จ่อตรวจสอบปมแอบฝังศพแรงงาน ด้านหลังโรงงานเครนถล่ม เผยจุดฝัง

จากกรณี เครนถล่ม ทับแรงงานชาวเมียนมา เสียชีวิต 7 ราย จนนำไปสู่การรวมตัวเรียกร้องเงินเยียวยา เจรจากว่า 6 ชั่วโมง จึงยอมรับข้อเสนอ เยียวยา 1.6 ล้านบาท รวมประกันสังคม จ่ายทันที 5 แสน ที่เหลือจ่ายครบภายใน 3 เดือน ก่อนที่ทั้งหมดจะแยกย้ายไป ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดวันที่ 31 มี.ค.2567 พ.ต.อ.จิราวัฒน์ ศักดิ์ศรีวัฒนา รอง ผบก.ภ.จว.ระยอง กล่าวถึงประเด็นมีการกล่าวอ้างว่า มีการฝังศพคนงานบริเวณหลังโรงงาน ว่า จะต้องมีการตรวจสอบพยานและหลักฐานให้แน่ชัดอีกครั้ง เนื่องจากตามที่มีข่าวออกไปก็ยังไม่แน่ชัดว่า จริงเท็จแค่ไหน

พ.ต.อ.จิราวัฒน์ กล่าวต่อว่า และในพื้นที่เกิดเหตุทั้งหมดตอนนี้ยังไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่แต่อย่างใด ทุกอย่างอยู่ในระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐานเพื่อหาสาเหตุของเหตุการณ์ในครั้งนี้

จากการสอบถามแรงงานเมียนมา เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าว มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ระหว่างแรงงานด้วยกันว่ามีการฝังศพไว้บนเนินเขาหลังโรงงาน เพราะที่ผ่านมาเกิดเหตุแรงงานประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการทำงาน คือแรงงานถูกไฟชอร์ตเสียชีวิต แล้วมีการปิดข่าวเงียบ แล้วศพก็หายไป

จนมีการลือกันว่า มีการแอบฝังศพไว้ด้านหลังโรงงาน แล้วมีการจ่ายเงินปิดปากให้กับญาติผู้เสียชีวิต เรื่องก็เงียบหายไป จึงต้องการให้ตรวจสอบ เพื่อให้ความจริงปรากฏและเกิดความสบายใจต่อแรงงานที่เข้ามาทำงาน

ที่มา: ข่าวสด, 31/3/2567

พอใจทั้ง 3 ฝ่าย ได้ข้อยุติแรงงานเมียนมาเครนก่อสร้างถล่มดับ 7 ราย พึงพอใจในการเดินเรื่องด้านสวัสดิการแรงงาน 8 ข้อ

30 มี.ค. 2567 ที่อาคารภายในโรงงานหลอมเหล็กชินเคอหยวน เลขที่ 10/6 ม.2 ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง หลังเกิดเหตุการณ์เครนในไซต์งานก่อสร้างถล่มทับแรงงานเมียนมาดับ 7 ราย เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา การเจรจาพูดคุยเพื่อเยียวยาต่อเนื่องยาวนานข้ามวัน โดยก่อนที่จะสามารถพูดคุยเจรจาตกลงกันได้ แต่ก็ยังมีเหตุลุกฮือของกลุ่มแรงงานขึ้นอีกในวันนี้ ก่อนที่นายกำธร เวหน รองผู้ว่าฯ ระยอง จะนำเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน จ.ระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าพูดคุยเจรจาหาทางออกร่วมกัน ใช้เวลายาวนานกว่า 3 ชั่วโมง เนื่องจากกระทรวงแรงงานยังคงพูดคุยในประเด็นสิทธิสวัสดิการประกันสังคมที่ไม่เป็นธรรม และอุปสรรคจากการพูดคุยที่โรงงานแห่งนี้มีแรงงานหลายชาติพันธุ์

ต่อมานายกำธร เวหน รองผู้ว่าฯ ระยอง ได้เปิดแถลงข่าวกล่าวว่า ได้มีการพูดคุยในการที่จะทำให้ความต้องการความเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายได้รับความพอใจตามความประสงค์ ทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้แทนบริษัท ฝ่ายหน่วยงาน และฝ่ายแรงงานญาติผู้เสียชีวิต โดยผลการหารือได้ข้อสรุป 8 ข้อ คือ

ข้อ 1.เยียวยาให้ญาติผู้เสียชีวิต จำนวน 7 ราย รายละ 1.6 ล้านบาท โดยวันที่ 29 มี.ค. 2567 ได้มอบเงินสดให้กับญาติของผู้เสียชีวิตไปแล้วรายๆ ละ 5 แสนบาท คงเหลือ 1,100,000 บาท

ข้อ 2. นายจ้าง รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ ให้กับลูกจ้างผู้เสียชีวิตทั้ง 7 คน

ข้อ 3. กรณีฝ่ายลูกจ้างมีข้อเรียกร้องว่าเงินสมทบประกันสังคมที่นายจ้างหักจากลูกจ้างแต่ไม่ได้นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมสำนักงานประกันสังคมจะติดตามให้เป็นรายบุคคลใน 2 สัปดาห์

ข้อ 4. กรณีฝ่ายลูกจ้างมีข้อเรียกร้องว่าลูกจ้างประสบอันตรายสูญเสียอวัยวะและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือสำนักงานประกันสังคมจะติดตามให้นายจ้างนำส่งเอกสารเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและรายละเอียดภายใน 2 สัปดาห์

ข้อ 5. กรณีฝ่ายลูกจ้างส่งเอกสารค่ารักษาพยาบาลเบิกกับนายจ้างแต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการตรวจสอบข้อ ภายใน 2 สัปดาห์

ข้อ 6. กรณีหนังสือเดินทางของลูกจ้างทั้งสองฝ่ายประสงค์ตรงกันจะเก็บเอาไว้ที่บริษัทและจะถ่ายเอกสารให้กับลูกจ้างและเมื่อลูกจ้างออกจากงานนายจ้างจะคืนเอกสารหนังสือเดินทางให้ทุกคน

ข้อ 7. กรณีลูกจ้าง 3 คนซึ่งมีข้อสงสัยว่านายจ้างจะเลิกจ้างสำนักงานสวัสดิการแรงงานและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองจะตรวจสอบให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด

ข้อ 8. นายจ้างรับว่าจะปฏิบัติต่อลูกจ้างชาวเมียนมาให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และจะเร่งตรวจสอบถึงสาเหตุถึงการเกิดเหตุ และหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีการหักเงินประกันสังคมแต่ยังไม่ได้นำส่ง ส่วนประเด็นเรื่องการจัดการศพ จะดำเนินการให้ญาติได้พูดคุยกันและประกอบพิธีทางศาสนาในพื้นที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง

ด้าน พ.ต.อ.จิราวัฒน์ ศักดิ์ศรีวัฒนา รอง ผบก.ภ.จว.ระยอง กล่าวถึงประเด็นมีการกล่าวอ้างว่า มีการฝังศพคนงานบริเวณหลังโรงงานว่า จะต้องมีการตรวจสอบพยานและหลักฐานให้แน่ชัดอีกครั้งเนื่องจากตามที่มีข่าวออกไปก็ยังไม่แน่ชัดว่า จริงเท็จแค่ไหน และในพื้นที่เกิดเหตุทั้งหมดตอนนี้ยังไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่แต่อย่างใด ทุกอย่างอยู่ในระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐานเพื่อหาสาเหตุของเหตุการณ์ในครั้งนี้

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 30/3/2567

ประกันสังคม มอบเงินสมทบกว่า 800,000 บาท พร้อมดูแลค่ารักษาพยาบาลให้ครบ เครนถล่มระยอง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีเกิดเหตุเครนถล่มทับลูกจ้างที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่29 มี.ค.2567ที่ผ่านมา จนทำให้คนงานเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของคนงานที่เสียชีวิตและขอส่งกำลังใจให้ผู้ได้รับบาดเจ็บหายจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว

กระทรวงแรงงานมีความห่วงใยต่อแรงงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยกรณีดังกล่าวได้รับรายงานจากนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ว่าได้สั่งการให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยองลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลสถานะของผู้ประสบอันตรายของลูกจ้างที่บาดเจ็บและเสียชีวิต พร้อมเร่งให้การช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายโดยด่วน

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เวลา 16.58 น. ได้เกิดเหตุปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) ถล่มทับลูกจ้างได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต สถานที่เกิดเหตุภายในโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นเหล็ก เหล็กรูปพรรณ และลวดเหล็ก ของบริษัท ชิน เคอ หยวน จำกัด ตั้งอยู่ที่ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง

โดยมีการก่อสร้างอาคารโรงงาน จำนวน 6 หลัง ในเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ระยะเวลาเริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2563 มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2569 อุบัติเหตุดังกล่าว ขณะที่ช่างกำลังรื้อถอนขาปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) เพื่อลดระดับความสูง เป็นเหตุให้ปั้นจั่นหอสูงถล่มลงมาทับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานอยู่ด้านล่าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นลูกจ้างเมียนมา 6 ราย จีน 1 ราย และมีลูกจ้างเมียนมาได้รับบาดเจ็บ 1 ราย

จากรายงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง พบว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและบทกำหนดลงโทษ ได้แก่ พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564

และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 บทกำหนดโทษ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ มาตรา 4 และมาตรา 8 จำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของแรงงานชาวเมียนมาที่เสียชีวิตและขอส่งกำลังใจให้ผู้บาดเจ็บหายจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือเยียวยาได้มีการกำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานโดยเฉพาะสำนักงานประกันสังคมดูแลในเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่พึงได้รับตามกฎหมาย"

ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ว่า กระทรวงแรงงานจะให้การคุ้มครอง ดูแล พี่น้องแรงงานทุกสัญชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยที่เสียชีวิตหรือประสบอันตรายในการไปทำงาน หากเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องเมื่อบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็จะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมตามกฎหมายเหมือนแรงงานไทยทุกประการ

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการให้ความช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยองและสาขาปลวกแดง พร้อมนายอำเภอปลวกแดง จัดหางานจ.ระยอง และตัวแทนโรงงานฯ ร่วมชี้แจงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ญาติผู้เสียชีวิตได้รับทราบ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนของลูกจ้างทั้งหมดจำนวน 7 ราย ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนเรียบร้อยแล้ว โดยลูกจ้างที่เสียชีวิตจะมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทน เป็นค่าทำศพ จ่ายแก่ผู้จัดการศพ รายละ 50,000 บาท ค่าทดแทนกรณีตาย รายละ 788,424 บาท

ส่วนลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บจะมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทน เป็นค่ารักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามกฎกระทรวง ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ 70 % ของค่าจ้าง จ่ายให้ไม่เกินระยะเวลา 10 ปี ค่าทดแทนกรณีหยุดงาน 70 % ของค่าจ้าง กรณีทุพพลภาพได้รับค่าทดแทน 70% ของค่าจ้าง จ่ายให้เป็นระยะเวลาตลอดชีพ

ทั้งนี้ ญาติของลูกจ้างที่เสียชีวิตสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยองและสาขาปลวกแดง หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม

ที่มา: Thai PBS, 30/3/2567

เชิญชวน ปชช. ร่วมสัปดาห์การให้บริการประชาชน "เพื่อคนหางาน" มีตำแหน่งว่างรองรับกว่า 1,000 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. - 7 เม.ย 67 ณ กระทรวงแรงงาน บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กำหนดจัดกิจกรรมการให้บริการใน "สัปดาห์การให้บริการประชาชน" รวม 9 วัน ภายในงานมีกิจกรรมการให้บริการรับสมัครงาน สัมภาษณ์งานกับบริษัทชั้นนำกว่า 20 บริษัท มีตำแหน่งงานว่างกว่า 1,000 อัตรา อาทิ ตำแหน่งผู้จัดการร้าน บัญชี การเงิน สินเชื่อ ช่างเทคนิค ธุรการ พนักงานขาย พนักงานบริการลูกค้า พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน บริการรับขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน บริการแนะแนวอาชีพ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน

นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตและทดลองปฏิบัติอาชีพอิสระที่กำลังเป็นที่นิยม ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ วันละ 2 อาชีพ ได้แก่ งานไม้กระถางเป็นรูปหน้าสุนัขและแมว สร้อยข้อมือถักจากเชือกเทียน สานกระเป๋าจากเชือกพลาสติก สร้อยคอถักจากเชือกเทียน พวงมาลัยมะลิจากกระดาษทิชชู่ ตกแต่งกระเป๋ากระจูดด้วยไม้ประดิษฐ์ เทียนหอมแฟนซีจากต้นโสนหางไก่ บริการทดสอบความพร้อมทางอาชีพ รวมถึงบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ บริการรับสมัครงานเพื่อเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยกรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง (รัฐจัดส่ง) พร้อมทั้งแจกของที่ระลึกมากมาย

“ประชาชน สามารถเข้ารับบริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม - 7 เมษายน 2567 เวลา 08.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ อาคารศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย ชั้น 1 กระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” นายคารม

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 29/3/2567

เครนก่อสร้างโรงงานทุนจีน อ.ปลวกแดง พังถล่มทับคนงานดับสยอง 7 บาดเจ็บเพียบ เพื่อนคนงานขวางนำศพออก ร้องชดเชยศพละ 5 ล้าน

29 มี.ค. 2567 ได้เกิดเหตุรถเครนพังถล่มจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตคาที่ 7 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก เหตุเกิดภายในไซต์ก่อสร้างของบริษัทสัญชาติจีนชื่อ ซินเคอหยวน ตั้งอยู่ใน ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่งหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปลวกแดง ได้ประสานแพทย์เวรโรงพยาบาลปลวกแดง และเจ้าหน้าที่กู้ภัยปลวกแดง เข้าให้การช่วยเหลือก่อนเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ

โดยพบที่เกิดเหตุมีเครนขนาดใหญ่ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านข้างโรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารและปล่องควัน ได้พังถล่มลงมาทับร่างแรงงานต่างด้าวที่อยู่ด้านล่างเสียชีวิตคาที่ 7 ราย และมีบางรายสภาพศพห้อยติดอยู่กับเครนเป็นที่สยดสยอง ส่วนบางรายถูกเครนทับร่างจมในร่องน้ำจุดที่มีการขุดดินเพื่อเทคานก่อสร้างอาคารลึกลงไปประมาณ 10-15 เมตร

นอกจากนั้น ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสขาขาด 1 ราย และได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยถึงปานกลางอีกหลายราย และในที่เกิดเหตุยังพบแท่งปูนขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นตัวถ่วงน้ำหนักเครนอีก 4 แท่ง หล่นลงมาอยู่พื้นใกล้จุดเครนถล่ม เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่แน่ชัด

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า กลุ่มเพื่อนแรงงานชาวต่างด้าวที่เสียชีวิตได้มีการรวมตัวกันเพื่อกดดันไม่ให้มีการนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากที่เกิดเหตุ และได้พากันเรียกเงินชดเชยศพผู้เสียชีวิตรายละ 5 ล้านบาทกับทางบริษัท ซึ่งหากบริษัทไม่ยินยอมก็จะไม่ยอมให้มีการนำศพผู้เสียชีวิตออกไปโดยเด็ดขาด ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยุ่ระหว่างการเจรจา เพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เข้าไปกู้ร่างผู้เสียชีวิตตามจุดต่างๆ และช่วยเหลือนำตัวผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 29/3/2567

กสม. เผยผลตรวจสอบกรณีผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลว่าจ้างไรเดอร์โดยไม่ถือเป็นลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ชี้เป็นการละเมิดสิทธิ เสนอแนวทางแก้ไข

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนเมษายน 2566 ระบุว่า ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล จำนวน 4 ราย เปิดรับสมัครผู้ทำงานให้บริการขนส่งสินค้า (ไรเดอร์) เพื่อส่งพัสดุ เอกสาร และอาหาร ในลักษณะเป็นหุ้นส่วน โดยไม่ถือว่าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและการประกันสังคม และไรเดอร์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานเอง เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าเสื่อมสภาพของรถ ค่าเครื่องแบบหรืออุปกรณ์เสริมที่ใช้ในการขนส่ง เป็นต้น อีกทั้งยังไม่ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน ผู้ร้องเห็นว่า ข้ออ้างที่ระบุให้ไรเดอร์ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มในลักษณะหุ้นส่วนอาจเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงของนายจ้างเพื่อไม่ให้อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน การประกันสังคม และแรงงานสัมพันธ์ อันเป็นการเอาเปรียบลูกจ้าง จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิแรงงานแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 74 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยและให้มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิในการทำงาน และสิทธิของทุกคนที่จะมีสภาพการทำงานที่ยุติธรรมและน่าพึงพอใจ รวมทั้งสิทธิของทุกคนในอันที่จะมีสวัสดิการสังคมรวมทั้งการประกันสังคม

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ไรเดอร์ได้รับค่าตอบแทนหลักเป็นค่ารอบซึ่งเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามผลงานที่ทำได้ตามอัตราที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนด โดยไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่ได้กำหนดให้ไรเดอร์ได้รับสิทธิในการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เนื่องจากผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับไรเดอร์ไม่มีลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน แต่ให้สิทธิพิเศษอื่น ๆ แทน เช่น ประกันภัย สินเชื่อจากสถาบันการเงิน การฝึกอบรม ส่วนลดในการซื้อสินค้าต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาไรเดอร์โดยตรงด้วยการกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับในการเข้าและออกงาน การแต่งกาย และการจัดส่งสินค้า ซึ่งหากไรเดอร์ไม่ปฏิบัติตามจะมีการลงโทษด้วยการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการทำงานบางประการ เช่น วิธีการจ่ายงานและค่าตอบแทน ซึ่งไรเดอร์จำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิต่อรอง และเนื่องจากไรเดอร์ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินกิจการหรือมีส่วนร่วมในกำไรหรือขาดทุนของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งต้องหาอุปกรณ์ในการทำงานและต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเองในกรณีเกิดอุบัติเหตุ การทำงานของไรเดอร์จึงไม่ใช่หุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์ของผู้ประกอบการ แต่เข้าลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่สัญญาจ้างทำของ ไรเดอร์จึงมีฐานะเป็นลูกจ้างและผู้ประกอบกิจการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นนายจ้าง ตามมาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาแนวคำพิพากษาศาลในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ มีคำพิพากษากรณีนี้ในทำนองเดียวกันว่า ความสัมพันธ์ตามสัญญาระหว่างผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้ที่ทำงานให้บริการผ่านแพลตฟอร์มเป็นความสัมพันธ์ของการอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายจ้างที่มีอำนาจสั่งการและลงโทษ ดังนั้น ผู้ที่ทำงานให้บริการผ่านแพลตฟอร์มจึงไม่ได้ให้บริการในฐานะผู้ประกอบอาชีพอิสระ แต่มีสถานะทางกฎหมายเป็นลูกจ้างของผู้ประกอบการเจ้าของแพลตฟอร์ม การที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ถูกร้อง ปฏิบัติไปในทางเดียวกันว่า ไรเดอร์ไม่ใช่พนักงานหรือลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ไรเดอร์ไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงาน อีกทั้งไม่มีหลักประกันในเรื่องค่าตอบแทน รวมถึงไม่ได้รับสิทธิในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ถูกร้องทั้งสี่ราย และกระทรวงแรงงาน สรุปได้ดังนี้

(1) ให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ถูกร้อง ดำเนินการให้ไรเดอร์ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยสำรวจสภาพการจ้างงานในปัจจุบันว่ามีประเด็นใดบ้างที่ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายกรณีถือว่าไรเดอร์มีสถานะเป็นลูกจ้าง เช่น หลักเกณฑ์การจ่ายค่าจ้าง ระยะเวลาทำงาน การกำหนดวันลา วันหยุด เป็นต้น และกำหนดแผนการดำเนินการเพื่อให้ไรเดอร์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างหรือค่ารอบและค่าตอบแทนอื่นให้กับไรเดอร์ได้รับไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และกำหนดกรอบเวลาการทำงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

(2) ให้กระทรวงแรงงาน เร่งศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหา อุปสรรค และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายจากการที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องปฏิบัติต่อไรเดอร์ในฐานะมีนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างและลูกจ้าง และกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองให้การใช้แรงงานไรเดอร์เป็นไปด้วยความเป็นธรรม โดยอาจกำหนดกฎกระทรวงให้งานไรเดอร์ที่ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในลักษณะเดียวกันกับกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2547 และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2557 และนำข้อมูลที่ได้ศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวมากำหนดในกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองการใช้แรงงานไรเดอร์ให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงานและการประกันสังคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ให้ซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ทราบถึงนิติสัมพันธ์ที่ถูกต้องและปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดนโยบายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคมมีมาตรการควบคุม กำกับ และติดตามให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลทุกรายปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องสภาพการจ้างงานของไรเดอร์ต้องได้รับการปฏิบัติในฐานะลูกจ้างด้วย

ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงาน ศึกษาความเปลี่ยนแปลงหรือรูปแบบแรงงานที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รองรับในระยะยาวต่อไป เช่น การแก้ไขนิยามของนายจ้าง ลูกจ้างและสัญญาจ้าง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และนิยามการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้สอดคล้องกับสภาพการจ้างงาน ที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่มา: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 29/3/2567

ก้าวไกลอัดขึ้นค่าแรงเหมือนศรีธนญชัย หวั่นเหลื่อมล้ำ-ทำแรงงานย้ายถิ่น จี้ รบ.ทบทวนใหม่

ที่รัฐสภา นายเซีย จำปาทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นำ ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 10 จังหวัด ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.67

นายเซียกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน เฉพาะกิจการโรงแรมบางพื้นที่ ซึ่งเป็นการปรับค่าจ้างแบบศรีธนญชัย ขอยืนยันว่าเห็นด้วยกับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างให้เท่ากันในทุกอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ตนทำงานกับแรงงานมาหลาย 10 ปีเข้าใจหัวอกแรงงาน การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะแค่อาหารหนึ่งมื้อก็ใช้เงินมากกว่า 85 บาท กินครบ 3 มื้อก็มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ยังไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ภาษีสังคมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต

การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทแค่บางพื้นที่ เป็นการเพิ่มที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง โดยอ้างว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมและ 10 พื้นที่เป็นพื้นที่ที่มีรายได้สูง จึงเป็นพื้นที่นำร่อง แล้วกิจการประเภทอื่นไม่สำคัญหรือ ดังนั้นการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่อาจจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในอนาคต มีส่วนทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ที่มีค่าตอบแทนสูง เป็นผลให้มีแรงงานกระจุกตัวในพื้นที่ไม่กี่แห่ง ไม่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง

นายเซียยังฝากข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน ให้พิจารณาทบทวนการปรับค่าจ้างใหม่ ดังนี้

1. ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นธรรมตามหลักสากล โดยให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน โดยปรับจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่การปรับเป็นอัตราค่าจ้างเพื่อชีวิต เพื่อให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

2.ด้วยเป้าหมายค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาททั่วประเทศ ตามที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเคยให้คำมั่นในประกาศหาเสียงเลือกตั้งไว้ ขอเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างฯ ปรับเปลี่ยนสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ เพราะเมื่อนำข้อมูลมาคำนวณตามสูตรที่ใช้กันอยู่ รัฐบาลนี้หากอยู่ครบ 4 ปี อัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ถึง 600 บาท ในปี 2570 แน่นอน

นายเซียกล่าวว่า ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือ ค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาท ควบคู่กับการเพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชนทุกช่วงวัย ส่วนการปรับค่าจ้างต้องปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มทุกปีในอัตราไม่น้อยกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประกาศโดยสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรืออัตราเงินเฟ้อตามประกาศของ กระทรวงพาณิชย์ และสุดท้ายเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมเป็นธรรมทั่วประเทศ ขอให้พวกท่านพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ให้เป็นธรรมเท่ากันทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานระบุว่า ไม่สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศได้ เพราะคำนวณจากอัตราการเติบโตรายได้ และ GDP แต่ละจังหวัด นายเซีย กล่าวว่ากระทรวงแรงงานมี 100 เหตุผลที่จะให้ข้อมูล แต่อยากให้มองถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงาน ทั้งนี้ สูตรคำนวนค่าแรงของพรรคก้าวไกล ดูจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ เมื่อโตขึ้น แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ก็จะทำให้แรงงานมีปัญหาในการใช้ชีวิต มีหนี้สินเพิ่มทุกปี ส่งผลกระทบโดยรวมต่อประเทศ

นายเซียกล่าวว่า พี่น้องแรงงาน ไม่ว่าจะอยู่สัดส่วนใด ทุกคนต้องกินต้องใช้ เรากินข้าววันละ 3 มื้อ จำเป็นต้องซื้อเครื่องนุ่งห่ม จ่ายค่าที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งตั้งแต่ตนอยู่ในกระบวนการแรงงานมา ยังไม่เคยเห็นการขึ้นค่าแรง ที่แปลกประหลาดแบบนี้ ไม่เข้าใจจริง ๆ ว่า กระทรวงแรงงานทำงานแบบไหน ทำงานแบบศรีธนญชัยหรือไม่

ด้านนายสหัสวัต คุ้มคง ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล กล่าวถึงสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำว่าในปัจจุบันว่า เป็นวิธีคิดที่ผิดหลักเศรษฐศาสตร์อย่างรุนแรง ทำให้การคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำมีปัญหา และน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยที่ที่ผ่านมา สำนักงานค่าจ้าง กระทรวงแรงงาน ได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการคำนวณสูตรค่าแรงแบบใหม่ แต่ผลที่ออกมากลับไม่ต่างจากเดิม

“ขอตั้งคําถามว่า การขึ้นค่าจ้าง 10 จังหวัดที่ผ่านมา ใช้สูตรคำนวณแบบใด เพราะสูตรที่กระทรวงแรงงานใช้อยู่ ไม่สามารถขึ้นได้ถึง 400 บาท ต้องเอาให้ชัดว่า การกำหนดค่าจ้าง อยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือคณะกรรมการไตรภาคี” นายสหัสวัตกล่าว

เมื่อถามถึงนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 อาจต้องทำเป็นขั้นบันไดหรือไม่ นายเซีย กล่าวว่า ต้องถามพรรคเพื่อไทยว่าต้องปรับอย่างไร เป็นขั้นบันได แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกลจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน ก่อน รวมถึงปรับเพิ่มสวัสดิการของแรงงานทุกช่วงวัย ซึ่งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเคยถามพรรคเพื่อไทยไปหลายครั้งแล้วว่าขั้นตอนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน จะมีแนวทางอย่างไร

นายเซียกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการไตรภาคีของกระทรวงแรงงาน ถูกตั้งคำถามว่ามีการเมืองแทรกแซง จึงขอฝากไปถึงรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง แรงงานว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้รัฐบาลกำลังเล่นละครตบตาผู้ใช้แรงงานหรือไม่ จากการประกาศว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงต้นปีที่ผ่านมา 2-16 บาทต่อวัน แต่นายกรัฐมนตรีระบุ 2 บาทซื้อไข่ยังไม่ได้ และขอให้มีการทบทวนค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้ง และนายกรัฐมนตรีก็ไม่เคยผลักดันให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน และไม่เคยพูดถึงอีกเลย ตนเองคิดว่านี่คือแนวนโยบายของรัฐบาลที่เคยสัญญากับผู้ใช้แรงงานไว้ว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการไตรภาคี ก็เป็นส่วนสำคัญ แต่หากกระทรวงแรงงานไม่สนองนโยบายของรัฐบาลก็ไม่สามารถผลักดัน และบริหารประเทศให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 29/3/2567

ตำรวจสอบสวนกลางเปิดยุทธการทลายขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ พบเงินหมุนเวียนร่วม 10 ล้านบาท

กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เร่งสืบสวนปราบปรามคดีความผิดในกลุ่มขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปคม. ได้ปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นจับกุม ผู้ต้องหาขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ มาอย่างต่อเนื่อง

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้รับแจ้งจากสายข่าวว่า จะมีขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ผ่านช่องทางธรรมชาติ บริเวณชายแดน อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นจำนวนมาก และนำมาพักคอยที่บริเวณ ป่ามันสำปะหลังริมถนนสาธารณะ หมู่ 5 ต.หนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี โดยจะมีการใช้รถยนต์ลักลอบในการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างต้าว โดยผิดกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้นำเรียนผู้บังคับบัญชา และสนธิกำลังเฝ้าสังเกตที่ในพื้นที่ ต.หนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี และสามารถจับกุมผู้ต้องหาที่ทำการรับจ้างขนแรงงานผิดกฎหมายเป็นชาย ชาวไทย ได้ จำนวน 4 คน พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดฐาน “ให้คนต่างด้าวซึ่งตนรู้ว่าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ให้เข้าพักอาศัยซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม”

ขณะเดียวกันสามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เป็นชาวโรฮีนจา จำนวน 96 ราย (ชาย 76 ราย หญิง 20 ราย ) แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ในวันเดียวกันนั้นขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังจับกุมตัวผู้ต้องหาดังกล่าวอยู่นั้น ได้มีนายเตยโซ อายุ 27 ปี สัญชาติ เมียนมา (ทราบชื่อภายหลัง) ก่อเหตุใช้อาวุธปืนไม่ทราบขนาด ยิงออกมา จำนวน 1 นัด ก่อนหลบหนีไป โดยทิ้งรถยนต์กระบะยี่ห้อ Mazda bt50 สีดำ ไว้ที่บริเวณจุดเกิดเหตุ ตรวจสอบเอกสารภายในรถ พบภาพถ่าย และเอกสารประจำตัวอยู่ภายใน

เมื่อนำภาพให้กลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมดู ได้รับการยืนยันว่านายเตยโซ คือบุคคลที่ติดต่อพาแรงงานต่างด้าวมาส่ง พนักงานสอบสวนจึงรวบรวมพยานหลักฐาน ขอศาลออกหมายจับศาลจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 282/2566 ในข้อหา “ซ่อนเร้น ช่วยเหลือ หรือช่วย ด้วยประการใดๆ เพื่อให้บุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายพ้นจากการจับกุม, มีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน” กระทั่งสามารถจับกุมตัว นายเตยโซ ไว้ได้ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2566

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ กก.5 บก.ปคม. ได้สืบสวนขยายผลหาตัวนายหน้าขนแรงงานผิดกฎหมาย จนพบความเชื่อมโยงข้อมูลเส้นทางการเงิน กล้องวงจรปิด และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลมาโดยตลอด จนนำไปสู่การขอศาลออกหมายจับไว้ จำนวน 6 ราย กระทั่งล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคม. ได้ร่วมกัน ปิดล้อมตรวจค้น บ้านเป้าหมายจำนวน 2 จุด และสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ จำนวน 5 ราย ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดฐาน “มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วย ด้วยประการใดๆเพื่อให้บุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายพ้นจากการจับกุม”

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคม. จะดำเนินการสืบสวนขยายผลจับกุมผู้ร่วมขบวนการที่เหลือและเร่งรัดรวบรวมพยานหลักฐาน ออกหมายจับผู้ต้องหามาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 28/3/2567

กมธ.ตปท. แนะรัฐเจรจาเพิ่มโควต้าแรงงาน ผลักดันนิรโทษกรรม ผีน้อยหลังพบในเกาหลีใต้กว่า 1.4 แสนคน

ที่รัฐสภา นายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า กมธ.ได้ติดตามประเด็นสำคัญ 2 เรื่องดังนี้ 1.กรณีแรงงานไทยในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นตามที่ปรากฏข่าวว่ามีแรงงานชาวไทยเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น (ผีน้อย) ซึ่งในเกาหลีใต้มีแรงงานที่ถูกกฎหมาย 40,000 คน ผิดกฎหมายประมาณ 140,000 คน และในญี่ปุ่นแรงงานถูกกฎหมาย 8,000 คน ผิดกฎหมายประมาณ 40,000 คน ซึ่งการทำงานที่ผิดกฎหมายกระทบต่อทั้งกับสวัสดิภาพของคนงาน และภาพลักษณ์ของประเทศ ทาง กมธ. ได้เชิญผู้แทนกระทรวงแรงงาน เช่น ผู้ตรวจราชการกระทรวง อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เช่น กรมเอเชียตะวันออก และกรมการกงสุลมาให้ข้อมูล

นายนพดลกล่าวว่า โดย กมธ.มีความเห็นและข้อเสนอแนะ 4 ข้อ ดังนี้ 1.การแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในต่างประเทศอย่างยั่งยืนนั้น ต้องทำโดยการหาตลาดให้แรงงานไทยให้มีตำแหน่งนมากที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทย ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกปี 2.ผลักดันการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกกฎหมายให้มากขึ้น โดยรัฐบาลควรเร่งเจรจากับทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มโควต้าการไปทำงานที่ถูกกฎหมาย การไปทำงานโควต้าภาครัฐปัจจุบันเพียง 8,500 คน และญี่ปุ่น 1,200 คน นอกจากนั้น ควรลดความยุ่งยากเงื่อนไข ขั้นตอน การเข้าไปทำงานอย่างถูกกฎหมายสำหรับแรงงานไทย เช่น การลดเงื่อนไขด้านภาษา และควรสนับสนุนบริษัทจัดหางานภาคเอกชนในการส่งออกแรงงานมากยิ่งขึ้น

3.ผลักดันการนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายหรือผีน้อยที่ไม่มีสวัสดิการแรงงานตามกฎหมาย โดย กมธ. เสนอให้รัฐบาลเจรจากับฝ่ายเกาหลีและญี่ปุ่น เพื่อนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายดังกล่าว เช่น ให้สามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่ถูกส่งกลับ และไม่มีประวัติการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งให้ได้รับสวัสดิภาพและสวัสดิการด้านแรงงานที่เหมาะสม 4.ประเด็นที่มีข่าวว่าญี่ปุ่นอาจทบทวนการยกเลิกวีซ่าฟรีนั้น ในขณะนี้ คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นปีละประมาณ 1,000,000 คนเศษ อยู่เกินวีซ่าประมาณ 10,000 คนเศษ กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่ามีการพูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงระหว่างญี่ปุ่นและไทย

ประธาน กมธ.ฯ กล่าวว่า โดยฝ่ายไทยจะเพิ่มมาตรการการประชาสัมพันธ์มิให้มีการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ร่วมมือกับสายการบิน บริษัททัวร์ ควบคุมดูแลไม่ให้หนีทัวร์ และอยู่เกินวีช่า รวมทั้งจับกุมนายหน้าหางานเถื่อน เพื่อลดจำนวนคนที่อยู่เกินวีซ่า (Overstay) เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประเทศปลายทาง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อคนไทยส่วนใหญ่ที่ต้องการไปเที่ยวญี่ปุ่นโดยไม่ต้องมีวีช่า และหวังว่าญี่ปุ่นจะพิจารณามาตรการที่ฝ่ายไทยจะดำเนินการด้วยดี

นายนพดลกล่าวต่อว่า อีกประเด็นคือเด็กไร้สัญชาติ 19 คนอาจถูกผลักดันกลับเมียนมา ว่า จากกรณีดังกล่าวทราบว่า ขณะนี้อยู่ที่ จ.เชียงราย ทาง กมธ.ไม่เห็นด้วยเนื่องจากการผลักดันเด็ก ไม่ว่าจะมีหรือไร้สัญชาติอาจฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2556 เพราะรัฐมีหน้าที่ที่ต้องให้การสงเคราะห์เด็กดังกล่าว อาจเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (UN Conventions on the Rights of the Child) และในขณะนี้ รัฐบาลไทยกำลังผลักดันเรื่องจุดมนุษยธรรมที่แม่สอด เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในเมียนมา ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทของไทยอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค

“กมธ. เห็นว่าการผลักดันเด็ก 19 คนกลับเมียนมา น่าจะเป็นการกระทำที่สวนทาง และกระทบต่อหลักการ ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ การคุ้มครองเด็กไร้สัญชาติมิเพียงแต่เป็นการดำเนินการทางมนุษยธรรมเท่านั้น แต่เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ สร้างเกียรติภูมิของประเทศ ทำให้ไทยมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศอย่างสง่างาม” นายนพดลกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 28/3/2567

เครือข่ายผู้ประกอบการสิ่งทอยื่นหนังสือ กมธ. ปปช. ขอ ตรวจสอบส่วยแรงงานต่างด้าว ตามศูนย์ CI

นายชิน มะยุโรวาศ ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการสิ่งทอ ได้ยื่นหนังสือให้แก่ นายนพดล ทิพยชล ส.ส.จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อร้องเรียนว่า ตามที่มีการเปิดศูนย์ CI เพื่อออกหนังสือรับรองบุคคล ของแรงงานชาวเมียนมาได้มีข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการ สิ่งทอหลายแห่งทั่วประเทศ ที่ต้องใช้แรงงานลูกจ้างชาวเมียนมาเป็นจำนวนมาก

และเมื่อนำแรงงานลูกจ้างชาวเมียนมาไปใช้บริการที่ศูนย์ CI ในจังหวัดนั้นๆ พบว่าแรงงานถูกเรียกเก็บเงินเป็นค่าบริการเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยทราบว่า ตามกฎหมายต้องชำระในส่วนของตม.ค่าออกวีซ่า 500 บาทเท่านั้น แต่มีการเรียกเก็บจริงถึง 2,500 – 3,500 บาท ในแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน โดยสร้างภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการจำนวนมาก เนื่องด้วยทางเจ้าของกิจการต้องชำระแทน ลูกจ้างชาวเมียนมา ซึ่งยังไม่มีเงินจ่ายเมื่อเดินทางมา

นอกจากนี้ ยังมีแรงงานชาวเมียนมาอีก1.4 ล้านคนยังรอไหลเข้ามาในประเทศไทย หากปล่อยปละละเลย แล้วมีการเรียกรับส่วยแบบนี้จะไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องส่วน นี่คือปัญหาเรื่องความมั่นคง ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ

นายชินกล่าวต่อว่า เราไม่ขอให้ปิดกั้นแรงงานเข้ามา ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแรงงาน แต่ตนคิดว่าไม่ถูกต้องหากจะสร้างความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นมา เพื่อจะเก็บส่วย โดยตนคาดว่าส่วยนี้มีมูลค่า 2,400 ล้านบาท ต่อครั้ง โดยเป็นอย่างนี้ที่ทุกศูนย์ CI ทุกจังหวัด ไม่ได้น้อยไปกว่าส่วยรถบรรทุกเลย

จึงขอความอนุเคราะห์ ประธานคณะกรรมาธิการดำเนินการตรวจสอบศูนย์ CI ทุกจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาเก็บค่าบริการเกินกว่ากฎหมายกำหนดไม่เป็นการสร้างภาระซ้ำเติมต้นทุนในการประกอบกิจการ และสามารถทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอประเทศไทยแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันได้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 28/3/2567

ปล่อยกู้แรงงานอิสระ 300,000 บาท ผ่อน 0% 2 ปี

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน มีกองทุนเพื่อแรงงานอิสระรายบุคคลหรือฟรีแลนซ์ และกลุ่มแรงงานอิสระที่ต้องการรวมตัวกันในการประกอบอาชีพอิสระ แต่ยังไม่มีเงินทุนสำหรับซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็น ทางกระทรวงแรงงานจึงเปิดช่องทางให้แรงงานอิสระสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนถูกกฎหมายดอกเบี้ยต่ำ

สำหรับเงื่อนไขในการยื่นกู้

ผู้รับงานไปทำที่บ้าน “รายบุคคล” ยื่นคำขอกู้ไม่เกิน 50,000 บาท

รายกลุ่มบุคคล กู้ไม่เกิน 300,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 24 เดือน

กำหนดระยะเวลายื่นคำขอกู้ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 เมษายน 2567

ผู้สนใจติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/3/2567

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทยจี้รัฐบาลขอค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 400 บาท/วัน

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) พร้อมด้วย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. เข้ายื่นหนังสือถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผ่านทาง นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ และคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างแบบเขตพื้นที่

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เสนอซึ่งมีอัตราการปรับตั้งแต่ 2-16 บาท ต่ำสุดวันละ330 บาท สูงสุดวันละ 370 บาท ซึ่งการปรับค่าจ้างครั้งนี้ มีการขยายเขตพื้นที่ในการปรับจากเดิม 13 ราคา เมื่อปี 2565 เป็น 17 ราคา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานโดยเสนอตัวเลขการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 600 บาท ในปี 2570 แต่จะทยอยปรับในแต่ละปี โดยเริ่มที่วันละ 400 บาท ซึ่งต่อมาพรรคเพื่อไทยก็ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำกลับไม่ได้เป็นอย่างที่นายกฯ และพรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ แม้นายกฯ จะแสดงท่าทีไม่พอใจ จึงไม่นำเข้าพิจารณาในการประชุม ครม.วันที่ 12 ธันวาคม 2566 และ

สั่งกระทรวงแรงงานพิจารณาทบทวน แต่บอร์ดค่าจ้างที่มีโครงสร้างเป็นไตรภาคี คือ รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง มีมติเอกฉันท์ก็ยืนยันตัวเลขเดิมรวมทั้งตัวแทนฝ่ายลูกจ้างเอง ในที่สุด ครม.ก็เห็นชอบตามนั้น ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และสั่งการให้กระทรวงแรงงานนัดประชุมบอร์ดค่าจ้างใหม่ และจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้

นายสาวิทย์ กล่าวว่า สสรท. และ สรส.ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยื่นข้อเสนอปรับค่าจ้าง พร้อมทั้งออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 492 บาท โดยให้มีค่าจ้างราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ เพราะราคาสินค้าราคาไม่ได้แตกต่างกัน และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และ เอกชน แรงงานภาคบริการ แต่เกิดความล่าช้าในการดำเนินการทบทวน สสรท. และ สรส.จึงนัดหมายเพื่อทวงถามเรื่องการปรับค่าจ้างดังกล่าว

“สำหรับมติบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ให้มีการปรับ 400 บาท ใน 10 จังหวัด แต่เป็นการปรับในบางพื้นที่นั้น ถือว่า เป็นการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับ

ที่ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ สร้างความแปลกแยก แตกต่าง สร้างความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าจ้างแม้ในจังหวัดเดียวกัน ทั้งๆ ที่ราคาสินค้าไม่ได้มีราคาแยกตามพื้นที่ โดยเฉพาะราคาสินค้าในร้านสะดวกซื้อที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปนั้นราคาเท่ากันทุกพื้นที่ทั้งประเทศ รวมทั้ง ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ก็เท่ากันทั้งประเทศ มติที่ออกมาจึงสวนทางกับความเป็นจริง และสวนทางกับที่ สสรท. และ สรส. เสนอ” นายสาวิทย์ กล่าวและว่า การปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระบบการปรับค่าจ้างที่เลวร้ายครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และไม่อาจยอมรับได้

นายสาวิทย์ กล่าวว่า สสรท. และ สรส.ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐบาลหยุดสร้างความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าจ้าง ยกเลิกสูตรและแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างตามที่บอร์ดค่าจ้างมีมติ โดยให้ตระหนักถึงความเดือนร้อนผู้ใช้แรงงาน ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 492 บาท หรือไม่ต่ำกว่าวันละ 400 บาท ตามที่รัฐมนตรีและนายกฯแถลงก่อนหน้านี้ โดยมีค่าจ้างราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาคเอกชน และ ลูกจ้างภาครัฐโดยเฉพาะลูกจ้างในหน่วยงานราชการที่ได้รับค่าจ้างในปัจจุบันต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งคนทำงานภาคบริการ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมควบคู่กับการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างหลักประกันการทำงาน การจ้างงาน เพื่ออนาคต และ สังคมที่ดี และการควบคุมราคาสินไม่ให้มีราคาแพงเกินเหตุผลความเป็นจริง ทั้งนี้ ขอให้ผู้ใช้แรงงานติดตามว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไร หากไม่เป็นไปตามที่ต้องการจะร่วมกันพิจารณามาตรการผลักดันต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 27/3/2567

กรมชลประทาน เปิดจ้างงาน 10,000 คน หมดเขต พ.ค. 2567 นี้

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ ให้มีรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้ง ด้วยการจ้างแรงงานชลประทาน ในปีงบประมาณ 2567 นี้มีแผนขยายการจ้างแรงงานเพิ่ม 9,472 คน ระยะเวลา 8 เดือน ระหว่าง เดือน ต.ค. 2566 ถึง เดือน พ.ค. 2567 แนะประชาชนที่สนใจรีบสมัครด่วน

ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานทั่วประเทศไปแล้ว 8,491 คน หรือประมาณ 89% ของแผนฯ ทั้งนี้ กรมชลประทาน จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกร และประชาชนทั่วไปรีบสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ก่อนหมดเขตเดือน พ.ค.  2567 นี้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 27/3/2567

ครม. อนุมัติจ้างเหมานักการภารโรง แทนการยกเลิกครูเวร มอบหมายให้ ศธ.นำเทคโนโลยีมาช่วยดูแลความปลอดภัย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม. มีมติ อนุมัติการขอรับจัดสรรงบประมาณ สำหรับการจ้างเหมาบริการนักการภารโรง และเห็นชอบหลักการตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เฉพาะปี พ.ศ. 2568  โดยให้กระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณในการจ้างภารโรงอย่างคุ้มค่า โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ สำหรับระยะต่อไป ให้กระทรวงศึกษาธิการนำเทคโนโลยี เช่น กล้องวงจรปิด มาช่วยดูแลความปลอดภัยแทนการเพิ่มกำลังคน ซึ่งสืบเนื่องจากการยกเลิกเวรครู เมื่อช่วงระยะเวลาสองเดือนที่ผ่านมา

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 26/3/2567

เผยแรงงาน ITD ได้เงินค่าจ้างแล้ว 6,626 คน จะได้ค่าจ้างครบ 100% เม.ย.นี้

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)  ITD ว่า  กระทรวงแรงงาน ได้เชิญผู้แทนบริษัทฯ มาให้ข้อเท็จจริงและหารือร่วมกันถึงปัญหาการค้างจ่ายค่าจ้าง ซึ่งจากการหารือพูดคุยกับผู้แทนบริษัทให้ข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ มีลูกจ้างทั้งหมด 20,188 คน และมีโครงการก่อสร้างกระจายอยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศไทย รวม 115 โครงการ

นายคารมฯ กล่าวว่า  บริษัทฯ ยอมรับว่าเกิดจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหาโดยการขอสินเชื่อหรือขอกู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนภายในบริษัทฯ โดยในปัจจุบันมีสถาบันทางการเงินเข้ามาสนับสนุนโครงการของบริษัทฯ แล้ว จำนวน 79 โครงการ ทำให้สามารถจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างได้ตามปกติ สำหรับ 36 โครงการที่เหลือรวมถึงสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทฯ อยู่ระหว่างติดต่อประสานกับสถาบันการเงินเข้ามาสนับสนุน ซึ่งผู้แทนบริษัทคาดว่าจะสามารถจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างได้ตามปกติประมาณเดือนเมษายน 2567 ทั้งนี้ จากการที่ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานทั่วประเทศลงพื้นที่ตรวจสอบไซต์ก่อสร้างในเครือบริษัทอิตาเลียนไทย พบว่า ในหลายโครงการหลายจังหวัดเริ่มทยอยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย โดยลูกจ้างได้รับค่าจ้างตามปกติแล้ว เป็นลูกจ้างที่มีทั้งสัญชาติไทยและแรงงานข้ามชาติ จำนวน 6,626 คน ได้แก่ ลูกจ้างในจังหวัดระยอง ปทุมธานี เชียงใหม่ นครราชสีมา และเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 และพื้นที่ 3 เป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท

“รัฐบาล โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย รวมไปถึงลูกจ้างรับเหมาช่วงอย่างเต็มที่ตามอำนาจหน้าที่ โดยในหลายพื้นที่ได้มีการรับคำร้อง คร.7 และออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง  ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566  ได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างในสถานประกอบกิจการทั่วประเทศให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำนวน 19,832 คน ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ เป็นเงินรวม 1,912,298,148.01 บาท โดยจำแนกตามประเภทคำร้อง 5 ลำดับแรก คือ 1) ค่าจ้าง 2) ค่าชดเชยการเลิกจ้าง 3) ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 4) ค่าล่วงเวลา และ 5) ค่าทำงานในวันหยุด และพบว่า แรงงานสัญชาติไทยมีการยื่นคำร้อง (คร.7) มากที่สุด รองลงมาคือ แรงงานสัญชาติเมียนมา กัมพูชา และลาว ตามลำดับ“ นายคารม กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 26/3/2567

บอร์ดค่าจ้างมีมติเอกฉันท์ขึ้นค่าจ้าง 400 บาท นำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยว มีผล 13 เม.ย.นี้

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 3/2567 เพื่อพิจารณาการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การบริการโรงแรมและที่พัก ในพื้นที่ 10 จังหวัดว่า คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมครั้งที่ 3/2567 ในวันนี้ (26 มี.ค.67) เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม เพื่อใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 400 บาท และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2567

นำร่องในเขตพื้นที่จังหวัด 10 จังหวัด ได้แก่ 1) กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา 2) จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง 3) จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา 4) จังหวัดเชียงใหม่เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 5) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน 6) จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก 7) จังหวัดภูเก็ต 8) จังหวัด ระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ 9) จังหวัด สงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และ 10) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ขณะที่ธุรกิจการให้บริการที่พักแรมมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และ 10 พื้นที่/จังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่จังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง  คณะกรรมการค่าจ้างฯ จึงได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

“การประชุมไตรภาคีในวันนี้ทุกฝ่ายมีมติเป็นเอกฉันท์ ซึ่งเราจะนำร่องก่อน อย่างน้อยเราจะมองค่าแรงในมิติเดิมๆ ไม่ได้แล้ว เราต้องมีมิติพิจารณาในประเภทกิจการเป็นรายจังหวัดก่อน หลังจากนี้ทางไตรภาคีจะพิจารณาอัตราค่าจ้างในประเภทกิจการอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและการจ้างงานด้วย”นายไพโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้างฯ ได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม โดยพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างจะได้มีการติดตามผลกระทบที่เกิดจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม เพื่อนำไปสู่การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างด้วยความรอบคอบต่อไป โดยจากนี้สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างจะเสนอเรื่องไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 เมษายนนี้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ที่มา: สยามรัฐ, 26/3/2567

"สภาองค์การนายจ้างฯ" พบ รมว.แรงงาน หารือนำเข้าแรงงานก่อสร้าง "กัมพูชา"

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย, นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย, นางสาวนุจรี ยิ่งสิทธิสวัสดิ์ กรรมการ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และคณะ เข้าพบ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานก่อสร้างกึ่งทักษะจากประเทศกัมพูชา เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และมีทักษะไม่สอดคล้องกับงาน โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน,นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน,นายสิบหมื่นชัย โพธิสินธุ์ รองอธิบดีกรมการหางาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมหารือที่ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ทาง คณะสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ยังมี นางสาวภัคชนก พัฒนถาบุตร IOM - National Project Officer (PROMISE Programme), นายเทรุฮิโกะ เซกิกุชิประธานกรรมการมูลนิธิ มูลนิธิแรงงานสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น, นางสาวภาวรินทร์ จันทรเสม รองผู้อำนวยการ JILAF-Thailand, ที่ปรึกษาสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย, นายอุกฤษณ์ กาญจนเกตุ ที่ปรึกษาอาวุโส, นายบวรศักย์ กล้าหาญ และนายศิริพงศ์ อินทวดี เข้าร่วมด้วยในครั้งนี้ด้วย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 26/3/2567

บอร์ดประกันสังคมชงกระทรวงแรงงานเอาผิด ITD หักเงินเดือนพนักงานแต่ไม่ส่งประกันสังคม

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า บอร์ดประกันสังคมได้รับรายงานว่า กลุ่มพนักงานและลูกจ้างของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลป๊อปเมนต์ หรือ ITD ที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ต้องถูกบริษัทหักเงินเดือนเพื่อนำส่งจ่ายสมทบประกันสังคมทุกเดือน แต่บริษัทไม่ได้นำส่งเงินเข้าประกันสังคม ส่งผลให้พนักงานและลูกจ้างไม่พบข้อมูลการจ่ายเงินอยู่ในระบบของประกันสังคม รวมถึงอาจมีบริษัทอีกจำนวนหลายแห่งที่มีปัญหาคล้ายกับ ITD ซึ่งจะมีการหารือกันในที่ประชุมบอร์ดวันที่ 26 มี.ค. ด้วย

“เรื่องที่บริษัทไม่ส่งเงินที่หักจากเงินเดือนพนักงานให้ประกันสังคมเป็นเรื่องเกินกว่าระดับประกันสังคม ส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่อง ถือว่าทำผิดกฎหมายแรงงาน เรื่องนี้ประกันสังคมคงต้องประสานกระทรวงแรงงานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป”

ที่มา: THE STANDARD, 26/3/2567

เตือนผู้ประกอบการยื่นแบบส่งเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานภายใน 31 มี.ค.นี้

น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในแต่ละปี กพร.มีเป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังแรงงานไม่ต่ำกว่าปีละ 3.4 ล้านคน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2557 ซึ่งกำหนดให้สถานประกอบกิจการเหล่านี้ต้องพัฒนาทักษะจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้กับลูกจ้างของตนเอง หรือจัดให้ลูกจ้างได้รับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หรือให้ลูกจ้างได้รับการรับรองความรู้ความสามารถ รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของลูกจ้างทั้งหมด

“กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานตามอัตราที่รัฐกำหนด ซึ่งสถานประกอบกิจการต้องยื่นแบบแสดงรายการส่งเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานและชำระเงินสมทบดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี” น.ส.บุปผากล่าว และว่า สำหรับการดำเนินงานในรอบปี 2566 ต้องยื่นแบบภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ จึงขอให้สถานประกอบกิจการที่เข้าข่ายบังคับตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานฯ ได้เร่งดำเนินการยื่นแบบแสดงการส่งเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงนเพื่อประโยชน์ของกิจการต่อไป ซึ่งการยื่นแบบสามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ PRB e-Service ได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567

อธิบดี กพร.กล่าวต่อไปว่า ในปี 2567 มีสถานประกอบกิจการที่ยื่นรับรองหลักสูตรการฝึก และปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 มีทั้งสิ้น 7,807 แห่ง ดำเนินการพัฒนาบุคลากรไปแล้ว 2,577,426 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มีนาคม 2567) จำแนกได้ 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยี กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สถานประกอบกิจการที่ยื่นขอรับรองหลักสูตรภายใต้ พ.ร.บ. ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบกิจการที่เข้าข่ายบังคับตามกฎหมาย ร้อยละ 98.40 และเป็นสถานประกอบกิจการที่ไม่อยู่บังคับใช้อีกร้อยละ 1.6 โดยใช้สิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษี ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2566 กพร.ได้รับรองค่าใช้จ่ายเพื่อให้สถานประกอบกิจการนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลกับกรมสรรพากร ไปจำนวนทั้งสิ้น 1,109.54 ล้านบาท

“การยื่นแบบผ่านระบบออนไลน์ PRB e-Service เป็นระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สถานประกอบกิจการลดเวลาในการเดินทางและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งช่วยให้การทำงานมีความรวดเร็วมากยิ่งขั้น อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกจังหวัด หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โทร 0-2246-1937 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” น.ส.บุปผากล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 25/3/2567

ก.แรงงาน เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยเจ็บ/ตายจากเหตุแก๊สระเบิดที่ไต้หวัน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายละเอียดการช่วยเหลือแรงงานไทยที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุแก๊สระเบิดภายในโรงงานเจียเฟิงดูมิเนียม ที่เขตหูเน่ย นครเกาสง ไต้หวัน เมื่อเวลา 08.30 น.วันเสาร์ (23 มี.ค. 2567) ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่ พบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 6 คน และแรงงานไทยเสียชีวิต 2 ราย

นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า โรงงานดังกล่าวมีแรงงานไทยรวมทั้งสิ้น 11 คน อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทจัดหางานไทยไต้หวัน ช่วงเกิดเหตุมีแรงงานไทยที่เข้าทำงานจำนวน 5 คน ในจำนวนนี้มีแรงงานไทยเสียชีวิตจำนวน 2 ราย รายแรกอายุ 37 ปี ภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษ รายที่ 2 อายุ 46 ปี เป็นชาวจังหวัดชัยภูมิ

ส่วนแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 3 คน รายแรกอยู่ระหว่างการผ่าตัดและรักษาตัวที่โรงพยาบาลเฉิงต้า เมืองไถหนาน รายที่ 2 บาดเจ็บเล็กน้อยขณะนี้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว และรายที่ 3 รักษาตัวที่โรงพยาบาลในเมืองเกาสง

สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง เยี่ยมแรงงานไทยที่บาดเจ็บและพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล พร้อมประสานงานกับบริษัทจัดหางานไต้หวัน เบื้องต้นทราบว่า บริษัทจัดหางานไต้หวันได้ประสานบริษัทจัดหางานไทยแจ้งญาติของแรงงานที่เสียชีวิตทราบแล้ว สำนักงานแรงงานไทยในไต้หวัน จะดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงาน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ประเทศไทยสั่งการให้กรมการจัดหางานตรวจสอบสถานะสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นสมาชิกกองทุนฯ 1 ราย และผู้บาดเจ็บเป็นสมาชิกกองทุนฯ 2 ราย

แรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์เยียวยาจากกองทุน กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทย รายละ 15,000 บาท กรณีบาดเจ็บมีการรับรองจากแพทย์ว่าทุพพลภาพ จะได้รับการสงเคราะห์ เป็นจำนวน 30,000 บาท และกรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ จะสงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่าง ประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ ชัยภูมิ สกลนคร หนองบัวลำภู และอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อลงพื้นที่เยี่ยมบ้านแจ้งข้อมูลข่าวสารปลอบขวัญให้กำลังใจ พร้อมชี้แจงการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทั้งจากการเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ สิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่พึงได้รับตามกฎหมายให้แก่ญาติทราบและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์โดยเร็ว

ขณะที่นายณัฐชยวัศ สงวนไชยกฤษณ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง กล่าวว่า สาเหตุการระเบิดคาดว่าเกิดขึ้นในระหว่างการเติมแม่พิมพ์ ระบบควบคุมการทำงานผิดปกติและระบบหล่อเย็นไม่เพียงพอ ส่วนสาเหตุที่แน่ชัดทางการไต้หวันจะสืบสวนหาสาเหตุต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/3/2567

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net