Skip to main content
sharethis

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแนะรัฐคุมสโคปขึ้นค่าแรง ชี้ 'กลุ่มโลจิสติกส์' แรงงานกว่าล้านราย

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลประกาศการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวบางโซนและไม่ใช่ทั่วจังหวัดโดยจะมีผล 13 เม.ย. 2567 นี้และจะทยอยปรับขึ้นกลุ่มโลจิสติกส์ในอีก 2-3 เดือนต่อจากนี้นั้น

ทั้งนี้ ค่าแรงที่จะปรับขึ้นมาเป็นกลุ่มโรงแรมประเภท 4 ดาวขึ้นไป และมีคนงาน 50 คนขึ้นไป ซึ่งข้อมูลจากกสิกรพบว่า หากรวมค่าเซอร์วิสชาร์จปัจจุบันกลุ่มโรงแรมดังกล่าวก็เกินค่าแรงที่ปรับขึ้นอยู่แล้ว จึงมองว่าการปรับค่าแรงครั้งนี้ เป็นการปรับเชิงจิตวิทยา

อย่างไรก็ตาม จากการที่ปลัดกระทรวงแรงงานออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเฟส 2 จะปรับค่าแรงกลุ่มโลจิสติกส์ ซึ่งยังไม่ใช่ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมโดยตรง ดังนั้น มุมมองส่วนตัว มองว่าขณะนี้ดัชนีผลผลิต (MPI) ในประเทศอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากสินค้าต่างประเทศที่เข้ามาถล่ม

ดังนั้น ภาครัฐจะมาใช้กลไกเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยวก็คงจะไม่ได้ อีกทั้ง ควรเน้นด้านฝีมือมากกว่า รัฐบาลไมควรสุ่มเสี่ยงทำอะไรในสิ่งที่เรลเซคเตอร์ยังปรับตัวไม่ได้ อีกทั้งอุตสาหกรรมก็ยังไม่แข็งแรงพอ หากเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็หนักพออยู่แล้ว

"เอกชนมองว่ารัฐบาลได้ทำในสิ่งที่ควรทำแล้ว คือ การปรับให้บางเซคเตอร์ อำเภอที่มีความสามารถที่จะจ่ายได้ เพื่อให้รัฐบาลได้ดำเนินตามนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่ได้มอบนโยบายไว้ แต่จะทำหมดเลยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อุตสาหกรรมยังยืนยันเหมือนเดิมว่าหากจะปรับค่าแรงให้อิงตามระดับฝีมือแรงงานดีที่สุดและจะยั่งยืนที่สุด"  

นอกจากนี้ ให้เน้นในเรื่องการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมที่ไปอยู่ในอุตสาหกรรมที่รองรับของใหม่แห่งอนาคต (New S-curve) ที่กำลังจะเข้ามามากกว่าที่จะมามุ่งการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้ประเทศติดกับดัก สุดท้ายอุตสาหกรรมก็อยู่ไม่ได้ ลูกจ้างจะเริ่มโดนปลดและถูกเลิกจ้างจะเกิดผลเสียมากกว่า

นายอิสเรส กล่าวว่า ยืนยันว่าเศรษฐกิจแบบนี้ยิ่งไม่ควรทำ รอให้เศรษฐกิจฟื้นก่อน เช่น อุตสาหกรรมในประเทศดีขึ้น สินค้าขายได้ดีขึ้น ส่งออกได้ดีขึ้น ตอนนี้ที่ทำอยู่เป็นการทำให้เห็นว่ามีการเริ่มกลับมาแอคชั่นแล้ว แต่อย่าไปทำในสิ่งที่มีความสุ่มเสี่ยง ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ส่วนตัวจึงยังมองว่ารัฐบาลจะยังไม่ปรับค่าแรงในกลุ่มอุตสาหกรรม

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ ECONTHAI กล่าวว่า การปรับค่าแรงครั้งนี้ รัฐบาลมีธงอยู่แล้ว จากนโยบายหาเสียง จะเห็นได้ชัดจากการปรับค่าแรงเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2567 ขึ้นไปกว่า 2 บาท เป็นการหารือกันตั้งแต่ปลายปี 2566 จึงออกมาตามสูตร เพราะอยากได้ 400 บาท จากเป้า 600 บาท ใน 2-3 ปีข้างหน้า ตามเป้าหมายปรับขึ้นปีละ 100 บาท เพื่อให้ถึง 600 บาทปี 2569

อย่างรก็ตาม ในการขึ้นค่าแรงมีสูตรการคำนวณมาตั้งแต่ปี 2560 ไม่ใช่การต่อรองกันแบบลอย ๆ มีการคำนวณทั้งต้นทุน อัตราสมทบแรงแรง อัตราเงินเฟ้อ คุณภาพ เป็นตัวเลขที่มีอยู่แล้ว จะเห้นได้จากในช่วงที่กทม. ปรับขึ้นค่าแรง 363 บาท โดยเฉลี่ย 2-16 บาท การเมืองอยากให้ปรับสูตร จึงตั้งคณะกรรมการ โดยมีนักวิชาการต่าง ๆ ร่วมทำสูตร แล้วพิจารณาในเดือนก.พ. 2567 ซึ่งผลการคำนวณก็ออกมาใกล้เคียงกับสูตรเดิม

"ที่ประชุมจึงหาทางออกโดยการให้นำร่องกลุ่มท่องเที่ยวก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ดี รองมาคือภาคการผลิต ดังนั้น ภาคบริการที่สูงที่สุดคือ โรงแรม จึงเคาะ 10 จังหวัดนำร่องที่มีลูกจ้าง 50 คน ซึ่งบางพื้นที่ค่าจ้างแพงอยู่แล้ว อย่างหาดใหญ่ค่าจ้างแพงกว่ากทม. อีก จึงไม่ใช่ปัญหาเพราะแรงงานไม่มาก ตามรายงานแรงงานไทยประมาณ 20,000 คนเท่านั้น เฉลี่ยค่าจ้างระดับ 465-500 บาทอยู่แล้ว แต่จะไปกดดันจังหวัดข้าง ๆ หรือบางเขตใกล้เคียง จึงต้องแข่งขันกัน การเมืองได้คะแนน แต่อาจเกิดบรรทัดฐาน ปีนี้อาจมีรอบ 3 อีก"

นายธนิต กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลจะปรับค่าแรงกลุ่มโลจิสติกส์ ยอมรับว่าเยอะมาก ซึ่งมีทั้งพัก ทัวร์ รถบรรทุก แรงงานแบกของ แวร์เฮาส์ กระจายสินค้า เครื่องบิน ฯลฯ จะกว้างไปอีกแบบ รัฐบาลอาจจะกำหนดสโคปให้ชัดเจน แต่โดยทั่วไปค่าจ้างก็แพงอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่ทำหน้าที่ดูแลการนำเข้า ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ส่วนแรงงานแบกของ หรือบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ก็ต้องมีความรู้ด้านภาษา เป้นต้น 

"คนส่งของตามห้างต้องแต่งกายเรียบร้อย มีความรู้ด้านความปลอดภัย ไฮเทคโนโลยี ถึงจะแบกของแต่ต้องมีสกิล แรงงานกลุ่มนี้มีกว่าล้านคน เช่น คนขับรถบรรทุกก็เกิน 7 แสนคนแล้ว อีกทั้ง ยังมีแรงงานต่างด้าวเยอะมากในกลุ่มนี้" นายธนิต กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 6/4/2567

Grab เปิดขยายอายุเกิน 60 ปี ให้ทำงานได้

รมว. แรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมในทุกมิติ โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตภาพและการคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมถึงสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และสร้างความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย คือ ผู้ประกอบอาชีพในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สามารถสร้างเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้กว่า 21.41 ล้านล้านบาท และมีแรงงานที่ทำงานในระบบดังกล่าวกว่า 1,192,000 ราย ดังนั้น เพื่อเป็นยกระดับการดูแลสวัสดิการและความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานกลุ่มนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับบริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ขึ้น เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดูแลผู้ประกอบอาชีพธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกให้กับแรงงานในธุรกิจ สร้างแรงจูงใจและความเชื่อมั่นให้ธุรกิจแพลตฟอร์มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่โอกาสในการทำงาน เสริมสร้างอาชีพให้แก่ผู้ว่างงาน ผู้ที่ต้องการรายได้เสริม และผู้สูงอายุที่ประสงค์จะทำงาน โดยในปัจจุบันบริษัท แกร็บแท็กซี่ มีพาร์ทเนอร์คนขับเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 13,000 คน การลงนามในครั้งนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการดูแลคนทำงานในธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ยกระดับทักษะและสมรรถนะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงร่วมกันเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ด้านนางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อว่า พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการดูแลผู้ประกอบอาชีพในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และบริษัท แกร็บ แท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในวันนี้ (5 เมษายน 2567) จะก่อให้เกิดผลิตภาพการผลิตของประเทศ ทั้งในปัจจัยการผลิตและแรงงาน นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งในส่วนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองจะมีส่วนเข้าไปดูแล คุ้มครอง ส่งเสริมสวัสดิการให้เกิดขึ้น รวมถึงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสร้างความสมานฉันท์ เพื่อหาแนวทางยุติปัญหาระหว่างคนทำงานบนระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลกับผู้ให้บริการที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานที่ได้ร่วมลงนาม ได้แก่ กรมการจัดหางาน มุ่งเน้นในเรื่องการสร้างงานให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการเลือกประกอบอาชีพอิสระ ผู้ที่ต้องการหารายได้เสริม รวมไปถึงการส่งตำแหน่งงานว่างเพื่อสร้างอาชีพ และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) จะเน้นส่งเสริมการทำงานหรือสร้างมาตรฐานในการทำงานที่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพเกิดความปลอดภัยในการทำงาน และผู้ใช้บริการเกิดความพึงพอใจ โดยหน่วยงานเหล่านี้จะเข้าไปขับเคลื่อนในฐานะภาครัฐ ที่ร่วมมือกับ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนขนาดใหญ่ ที่จะเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อน และสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างได้เป็นอย่างดีเพื่อให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ของนโยบายกระทรวงแรงงาน “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 5/4/2567

รมว.แรงงาน ยืนยันค่าแรงขั้นต่ำจะถึง 600 บาท ในปี 2570

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ยืนยันผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ผ่านกลไกไตรภาคี 400 บาททั่วประเทศ ในปี 2567 กำลังดำเนินการอยู่ และจะไปถึง 600 บาท ในปี 2570 อย่างแน่นอน

วันที่ 5 เม.ย. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า เมื่อคืนวันที่ 4 เมษายน 2567 ได้ตอบคำอภิปรายของฝ่ายค้านในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 152 โดยการอภิปรายทั่วไปอาจจะสื่อสารแล้วเกิดความเข้าใจผิด

จึงขอยืนยันว่าขณะนี้การดำเนินการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท นำร่อง 10 จังหวัด ที่ดำเนินการผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ประกาศใช้วันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีการเตรียมตัวรองรับผลกระทบต่าง ๆ

“ผมเองมีการสื่อสาร จากคำว่าการขึ้นค่าแรงเกิดเป็นหย่อม ความหมายก็คือเราต้องพยายามทำให้ไปทีละเซ็กชั่น (section) ทีละอาชีพ เพื่อความมั่นคงและเพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการ เพราะฉะนั้นกระทรวงแรงงาน โดยท่านปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มีการเรียกประชุมไตรภาคี ก็คือฝ่ายนายจ้างลูกจ้าง และฝ่ายข้าราชการ ในวันที่ 26 มีนาคม 2567

ถือว่าเป็นการประกาศนำร่องใน 10 จังหวัด นั่นก็คือเราพยายามที่จะทำไปทีละขั้น ทีละตอน ซึ่งในความหมายที่ผมได้สื่อออกไปนั้น ผมคิดว่าเราทำอย่างนักวิชาการทำให้ผู้ประกอบการได้รับทราบว่า นโยบายของรัฐบาลเรื่อง 400 บาท ค่าแรงขั้นต่ำประกาศทั่วประเทศในปี 2567 เป็นเป้าหมาย” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ ให้ความมั่นใจด้วยว่า กระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาดำเนินการขึ้นค่าแรงผ่านกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี โดยจะดำเนินการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไปจนถึง 600 บาท ในปี 2570 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/4/2567

นายกฯ เผยเตรียมหารือปรับค่าจ้างขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กรณีกระทรวงแรงงานมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในภาพอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ 10 จังหวัด ว่าตามที่รัฐมนตรีแรงงานเสนอ แต่จะต้องมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูว่าประเภทธุรกิจไหน เขตไหน อำเภอไหน ที่จะต้องได้รับการสนับสนุนต่อไป

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 2/4/2567

เริ่มแล้ว ไม่เก็บค่า Re-Entry แรงงาน 3 สัญชาติ กลับบ้านสงกรานต์ 1 เม.ย. - 15 พ.ค.

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยไทยช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายพี่น้อง แรงงาน 3 สัญชาติ กลับบ้านเที่ยวสงกรานต์ 2567 โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2567 ไม่เสียค่า Re-Entry พร้อมย้ำเตือนหากเดินทางกลับเข้าประเทศไทยนอกระยะเวลาที่กำหนด ต้องยื่นคำขอ Re-Entry ตามปกติ

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งเข้ามาเพื่อทำงานในราชอาณาจักร ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตทำงานในเรือประมงและมีหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษสามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรกลับประเทศต้นทาง เพื่อไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ของทุกปี แรงงานไทยและแรงงานประเทศเพื่อนบ้านจะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อร่วมประเพณีสงกรานต์ หรือเฉลิมฉลองปีใหม่ไทยร่วมกับครอบครัว ดังนั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย และเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยมาโดยตลอด จึงผ่อนผันให้แรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีก (Re-Entry Permit) ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2567 ซึ่งทำให้พี่น้องแรงงาน 3 สัญชาติไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเข้า-ออก รายละ 1,000 บาท

สำหรับ แรงงานที่ได้รับการผ่อนผันจะต้องเป็นผู้ถือหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ที่ได้รับการตรวจลงตรา (VISA) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non L-A Visa) รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี และระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรต้องมีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าวันที่ 15 พฤษภาคม 2567

กรณีแรงงานประสงค์เดินทางกลับเข้าประเทศไทยหลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 หรือยังไม่ทราบกำหนดการเดินทางกลับเข้าประเทศไทยที่แน่ชัด จะต้องยื่นคำขอ Re-Entry ตามปกติ มิฉะนั้นการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนผู้นั้นเป็นอันสิ้นสุด

ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร 1694 และติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางานอย่างใกล้ชิดได้ที่ เว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/4/2567

รมว. ต่างประเทศชี้อิสราเอลอาจแค่หยั่งเชิงแรงงานไทย หลังมีข่าวหาคนงานชาติอื่นมาแทน

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามสื่อมวลชนในโอกาสแถลงข่าวผลงาน 6 เดือนว่า ทางรัฐบาลมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ในขณะที่อิสราเอลจัดหาแรงงานจากชาติอื่นมาทำงานในประเทศ อาทิ มาลาวี ศรีลังกา ชาติละตินอเมริกา รวมถึง กัมพูชา

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามสื่อมวลชนในโอกาสแถลงข่าวผลงาน 6 เดือนว่า ทางรัฐบาลมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ในขณะที่อิสราเอลจัดหาแรงงานจากชาติอื่นมาทำงานในประเทศ อาทิ มาลาวี ศรีลังกา ชาติละตินอเมริกา รวมถึง กัมพูชา

นายปานปรีย์ กล่าวว่า แรงงานไทยกลับไปทำงานในอิสราเอลยังน้อย ในขณะที่อิสราเอลยังต้องการแรงงานอยู่ เสนอผลประโยชน์ดีขึ้น แต่แรงงานไทยบางคนยังหวาดกลัวอยู่ ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพของแรงงานในการตัดสินใจ ในเวลานี้อิสราเอลต้องหาแรงงานมาทดแทน ซึ่งมองว่าอาจจริงหรือหยั่งเชิงแรงงานไทยก็ได้

อย่างไรก็ดี จากการได้พูดคุยกับทางการอิสราเอลรวมถึงเจ้าหน้าที่ รัฐมนตรีต่างประเทศ และประธานาธิบดี เห็นว่าไม่มีแรงงานประเทศไหนดีเท่าแรงงานไทย หากแรงงานกลับไปทำงานขอให้ไปทำในพื้นที่ที่ปลอดภัย

ส่วนข้อตกลงระหว่างรัฐบาล หรือ จีทูจี ว่าด้วยความร่วมมือแรงงาน 2 ประเทศอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ ปี 2567 รัฐพร้อมขยายตลาดแรงงานไทยในประเทศใหม่กว่า 1 แสนอัตรา ตามนโยบายส่งเสริมแรงงานไทยไปต่างประเทศ

ที่มา: ข่าวสด, 1/4/2567

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net