Skip to main content
sharethis

เตือน แรงงาน MOU ครบ 4 ปี ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางภายใน 30 เม.ย.ก่อน

21 เม.ย. 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน ย้ำเตือนแรงงาน 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ทำงานตาม MOU เมื่อทำงานครบ 4 ปี ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ก่อนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด หากอยู่เกินกำหนดมีความผิดตามกฎหมายคนเข้าเมือง

นายคารม กล่าวว่า แรงงาน 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) จะได้รับอนุญาตทำงาน 2 ปี ต่ออายุได้อีกไม่เกิน 2 ปี และเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปีแล้วต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ขอให้พี่น้องแรงงาน 3 สัญชาติ ที่เข้ามาทำงานตามระบบ MOU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 ธันวาคม 2566 เดินทางกลับประเทศต้นทางภายในวันที่ 30 เมษายน 2567 (มติ ครม. 3 ต.ค. 66 ในส่วน MOU ครบ 4 ปีขึ้นไป) รวมถึงแรงงานที่เข้ามาทำงานตาม MOU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ก่อนที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวสิ้นสุด (วีซ่าหมดอายุ) หากอยู่เกินกำหนดอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (over stay) จะมีความผิดตามกฎหมายคนเข้าเมือง โดยนายจ้าง/ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (นจ. 2) ได้ล่วงหน้า หากประสงค์จะนำแรงงานดังกล่าวกลับเข้ามาทำอีกครั้ง เพื่อลดระยะเวลาดำเนินการ ณ ประเทศต้นทาง

“รัฐบาล โดยการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และทางการของทั้ง 3 ประเทศข้างต้น ได้หารือเพื่อปรับปรุงขั้นตอนให้แรงงานทำงานครบวาระ สามารถกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยให้แรงงานสามารถเดินทางกลับออกไปบริเวณชายแดน และกลับเข้ามาประเทศไทยได้ทันทีถ้าเอกสารครบถ้วน (มีผลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้แรงงานของนายจ้าง/ผู้ประกอบการในประเทศไทย ให้สามารถจ้างแรงงานคนเดิมที่คุ้นเคยและมีประสบการณ์ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว” นายคารม ระบุ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 21/4/2567 

หนุ่มรับจ้างกรอกเกลือ บ่นสู้แดดไม่ไหว ขอทำงานกลางคืน สุดท้ายช็อกคานา

20 เม.ย. 2567 เวลา 07.50 น.ตร.สภ.บ้านดุง จ.อุดรธานี รับแจ้งมีเหตุคนเสียชีวิตที่นาเกลือ บ้านทุ่ง หมู่ 2 ต.บ้านชัย อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี หลังรับแจ้งจึงเดินทางไปที่เกิดเหตุพร้อมด้วย กู้ชีพ อบต.บ้านชัย แพทย์เวร รพ.สมเด็จพระยุพราชบ้านดุง

เมื่อไปถึงพบศพนายสุพจน์ จันทะบุตร อายุ 49 ปีชาวบ้านทุ่ง นอนเสียชีวิตในสภาพคว่ำหน้าในน้ำนาเกลือ ข้างๆ คันนาเกลือ แพทย์เวร รพ.สมเด็จพระยุพราชบ้านดุงและตร.ชันสูตรศพ คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ชม. สาเหตุคาดว่าผู้ตายทำงานหนักพักผ่อนน้อย อาจจะเกิดฮีทโสตรกทำให้วูบดับคานาเกลือดังกล่าว

ขณะที่ชาวบ้านและคนงานนาเกลือด้วยกันเห็นสภาพศพแล้วเกิดความสงสารนายสุพจน์ เป็นอย่างมาก เพราะเป็นคนขยันทำงาน ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย กรอกเกลือใส่ถุงเพื่อหาเงินเก็บไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิตของตนเองและไม่มีลูกไม่มีเมีย ส่วนญาติๆ ที่เดินทางมาดูศพต่างไม่ติดใจในการเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ฯ จึงมอบศพให้ญาตินำไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีต่อไป

คนงานนาเกลือด้วยกัน บอกว่า แทบช็อกเห็นศพวันนี้เพราะเมื่อวานช่วงเย็นนายสุพจน์ได้มารับจ้างกรอกเกลือใส่ถุงตลอดทั้งวันร่วมกับคนงานอื่นๆ โดยบอกว่า จะกรอกเกลือใส่ถุงตอนกลางคืนด้วยดีกว่า เพราะกลางวันแดดร้อนเกินไป พอนายสุพจน์ไปกินข้าวที่บ้านตอนเย็นประมาณ 5-6 โมงก็กลับมาที่นาเกลืออีกครั้งเพื่อมากรอกเกลือใส่ถุงคนเดียว

ตอนเช้าวันนี้คนงานที่จะมารับจ้างกรอกเกลือใส่ถุงก็พบนายสุพจน์เป็นศพเสียแล้วก็ขอเตือนประชาชนช่วงนี้แดดแรง รักษาสุขภาพกันด้วยอย่าโหมงานหนักแม้เวลากลางคืนอาจจะทำช็อกเสียชีวิตแบบนายสุพจน์ได้

ที่มา: ข่าวสด, 20/4/2564 

สสช.สำรวจ“สูงวัย”ไทย 5 ล้านคนยังต้องทำงาน 86.8% เป็นแรงงานนอกระบบ ได้ค่าตอบแทนน้อย

น.ส.สุวรรณี วังกานต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสรุปผลการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี โดยนำข้อมูลจากการสำรวจภาวะการ ทำงานของประชากร และการสำรวจแรงงานนอกระบบ ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลในไตรมาสที่ 3 (ก.ค-ก.ย.) มาทำการประมวลผลเพิ่มเติมในส่วนของผู้มีงานทำที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 13.64 ล้านคน หรือ 19.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยเป็นผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่จำนวน 5.11 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 37.5 % ของผู้สูงอายุทั้งหมด และเป็น เพศชาย 48.1% และเพศหญิง 29.7%

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ทำงานส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ สำหรับกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ทำงานประมาณร้อยละ 25.0 ของผู้สูงอายุทั้งหมด และพบว่าเป็นผู้สูงอายุที่ทำงาน และอาศัยอยู่คนเดียวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สำหรับอาชีพของผู้สูงอายุมากกว่า 50% เป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านการเกษตรและประมง รองลงมาเป็นพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า โดยมีชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ 39 ชั่วโมง

น.ส.สุวรรณี กล่าวต่อว่า สำหรับค่าจ้าง หรือ เงินเดือนของผู้สูงอายุที่ทำงานเป็นลูกจ้าง พบว่า ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน ประมาณ 12,151 บาท โดยภาคการเกษตรได้รับค่าจ้างน้อยที่สุด 5,796 บาท นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้สูงอายุเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน มากถึง  86.8% และประสบปัญหาในเรื่องค่าตอบแทนและความไม่ปลอดภัยในการทำงาน

“ผลสำรวจครั้งนี้ สามารถใช้เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ และผู้ดูแลสิทธิการทำงาน และความคุ้มครองแรงงานไปใช้ประกอบการวางแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการและการคุ้มครองต่าง ๆ ให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์และความเป็นธรรมในการทำงานต่อไป ซึ่งควรต้องมีการวางแผน การบริหารจัดการรองรับกับผู้สูงอายุที่ทำงานเพิ่มมากขึ้น และช่วยเหลือด้านสวัสดิการ การคุ้มครอง และหลักประกันทางสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนที่เป็นธรรมกับผู้สูงอายุ” น.ส.สุวรรณี กล่าว

ที่มา: เดลินิวส์, 19/4/2567 

ทูตลาว พบ รมว.แรงงาน ปรึกษาส่งแรงงานลาว ปัจจุบันมีแล้วกว่า 4 แสนคน

18 เม.ย. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายคำพัน อั่นลาวัน (Mr.Khamphan Anlavan) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อเยี่ยมคารวะ แสดงความยินดีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง และปรึกษาหารือข้อราชการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความร่วมมือด้านแรงงาน

โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ยินดีต้อนรับท่านเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย และคณะเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเยี่ยมเยียนกระทรวงแรงงานในวันนี้ และขอขอบคุณรัฐบาลลาวที่จัดส่งแรงงานลาวเข้ามาทำงานในประเทศไทย

“ปัจจุบันมีแรงงานสัญชาติลาวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย ประมาณ 261,339 คน และที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานตาม MOU จำนวน 165,289 คน ไทยและลาวมีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน”

นายพิพัฒน์กล่าวถึงความคืบหน้าความร่วมมือด้านแรงงานภายใต้ MOU ว่า ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีการหารือเป็นการภายในแล้ว เห็นว่าควรปรับภาษาไทยและภาษาลาวให้เป็นภาษาอังกฤษฉบับเดียว ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ ฉบับภาษาอังกฤษ เพื่อเสนอฝ่ายลาวพิจารณา

กระทรวงแรงงานมีความยินดีที่จะรับแรงงานลาวเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพราะแรงงานชาวลาวเป็นแรงงานที่อดทน ขยัน และซื่อสัตย์ คล้ายกับแรงงานไทย นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่คล้ายกันในอีกหลายด้าน ทั้งภาษา ศาสนา วัฒนธรรม

แรงงานลาวมีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะมีจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายมีความแน่นแฟ้นต่อกัน และกระทรวงแรงงานพร้อมทำงานเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันต่อไป

“ผมขอขอบคุณท่านทูต และฝ่ายลาว ที่ให้ความสำคัญกับประเทศไทย และจัดส่งแรงงานเข้ามาทำงาน เพื่อช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดียิ่งขึ้น อะไรที่เราทั้งสองฝ่ายจะหารือกันได้กระทรวงแรงงานยินดีอย่างยิ่งที่จะเป็นตัวกลางประสานดำเนินการให้” นายพิพัฒน์กล่าว

นายคำพัน อั่นลาวัน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย กล่าวขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นอย่างยิ่งที่เปิดโอกาสให้เข้าพบและหารือความร่วมมือด้านแรงงานในวันนี้

“ผมต้องขอบคุณที่ทางการไทยกระทรวงแรงงานและทุกหน่วยงานที่ช่วยดูแลแรงงานลาวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นอย่างดี ซึ่งทางการลาวเองพร้อมสนับสนุนให้แรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และสนับสนุนความร่วมมือในการจัดทำบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ กับกระทรวงแรงงาน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับทั้งสองฝ่าย ที่สำคัญจะกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป”

ที่มา: ประชาติธุรกิจ, 18/4/2567 

ปลัดแรงงาน เผยสาเหตุ โรงงานน้ำแข็ง แอมโมเนียรั่ว ชี้ เข้าข่ายผิด 2 กฎหมาย

18 เม.ย.2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีการเกิดเหตุระเบิดภายในโรงน้ำแข็ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และมีสารแอมโมเนียรั่วไหล รัศมี 1 กิโลเมตร ทำให้ต้องอพยพประชาชนที่พักอยู่ใกล้กับบ้านเอื้ออาทรบางละมุง ว่าตนได้รับรายงานจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (สสค.) จังหวัดชลบุรี ว่ามีเหตุสารเคมีรั่วไหล เมื่อวันที่ 17 เมษายน เวลา 23.30 น. เกิดเหตุแอมโมเนียรั่วไหลภายใน ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงน้ำแข็งบางละมุง ตั้งอยู่เลขที่ 54 ม.12 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ประกอบกิจการผลิตน้ำแข็ง มี น.ส.ผาสุข พัฒนสิน เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ

โดย นายประสิทธิ์ ปาตังคะโร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยพนักงานตรวจแรงงาน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมี นายบุญอนันต์ พัฒนสิน ผู้บริหารโรงงานน้ำแข็งบางละมุง ให้ข้อเท็จจริงว่า โรงงานมีจำนวนลูกจ้างทั้งหมด 170 คน โดยมีลูกจ้างปฏิบัติงานในขณะเกิดเหตุจำนวน 10 คน

สาเหตุเกิดจากแทงค์เก็บสารแอมโมเนียในระบบหล่อเย็นรั่วไหลออกมา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบจุดรั่วไหลของแอมโมเนีย โดยได้ปิดทำการผลิตบริเวณที่เกิดเหตุ และรับน้ำแข็งจากสาขาอื่นมาจำหน่ายตามปกติ

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีลูกจ้าง 2 ราย ที่ยังอยู่ระหว่างรักษาอาการและคาดว่าจะออกจากโรงพยาบาลภายในวันนี้ และมีชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ ทำให้มียอดผู้บาดเจ็บอยู่ประมาณ 111 คน ส่วนใหญ่มีอาการระคายเคืองคอ

ขณะนี้สถานการณ์ปกติ มีกลิ่นแอมโมเนียหลงเหลือเพียงเล็กน้อย โดยโรงงานได้ฉีดน้ำอยู่เป็นระยะ เพื่อละลายสารแอมโมเนียลงท่อระบายน้ำให้มากที่สุด พร้อมยืนยันว่าจะดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไป

นายไพโรจน์กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ.2554 และ 2.กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ.2556

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พนักงานตรวจความปลอดภัย สสค.ชลบุรี ได้ชี้แจงการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางาน ให้นายจ้างทราบ และเข้าใจดีแล้ว และได้มีหนังสือเชิญนายจ้างมาพบพนักงานตรวจความปลอดภัย เพื่อให้ข้อเท็จจริงในวันที่ 30 เมษายน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป” นายไพโรจน์กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 18/4/2567 

รัฐบาล จัดโครงการสินเชื่อเงินด่วนคนดี ให้สมาชิก อสม. และ อสส. รายละไม่เกิน 20,000 บาท ยื่นกู้ได้ ณ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มีนาคม 68

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์จัดเตรียมงบประมาณ จำนวน 10,000 ล้านบาท ให้สมาชิกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน : อสม. และอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร : อสส ผ่านโครงการสินเชื่อเงินด่วนคนดี เพื่อสนับสนุน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการอุปโภคบริโภคแทนการกู้เงินนอกระบบ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.67 ต่อเดือน ลดต้น ลดดอก ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี

นายคารม กล่าวว่า โครงการสินเชื่อเงินด่วนคนดี เพื่อสมาชิก อสม. และอสส. เป็นโครงการที่ธนาคารต้องการให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจกลุ่มสมาชิก อสม. และ อสส. ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นผู้เสียสละทำหน้าที่ดูแลสุขภาพเกษตรกร ประชาชนและสังคมส่วนรวม โดยสนับสนุนให้กลุ่ม สมาชิก อสม. และ อสส. ได้เงินทุน เพื่อนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภคในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม สามารถแบ่งเบาภาระของครอบครัวแทนการกู้เงินนอกระบบ รายละไม่เกิน 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.67 ต่อเดือน หรือ ร้อยละ 8 ต่อปี คิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก กำหนดผ่อนชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เช่น วงเงิน กู้ 20,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 48 เดือน นับตั้งแต่วันกู้

“สำหรับเงื่อนไขผู้กู้ต้องเป็นสมาชิก อสม. และ อสส. ที่ถือบัตร Smart card ของ ธ.ก.ส. รวมถึงเป็นบุคคลที่มี ความสามารถตามกฎหมาย มีสมาชิก อสม. และ อสส. เป็นผู้ค้ำประกัน (ค้ำได้คราวละ 1 คน) สมาชิกที่สนใจสามารถ แจ้งความประสงค์ได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มีนาคม 2568“ นายคารม กล่าว

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 17/4/2567 

แรงงานชาวลาว ทยอยนั่งเรือ กลับเข้ามาทำงานหลังหยุดยาวช่วงสงกรานต์

ช่วงเช้าของวันที่ 17 เม.ย. 2567 ที่ด่านศุลกากรบึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ได้มีชาวลาว ที่เป็นแรงงานได้ทยอยเดินทางกลับเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อมุ่งหน้ากลับเข้ามาทำงานในจังหวัดใหญ่ๆ ของประเทศไทย หลังจากใช้เวลาหยุดยาว 5 วันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่ต่างจากชาวไทยที่เดินทางข้ามไปเยี่ยมญาติ ฝั่ง สปป.ลาว ก็ทยอยเดินทางกลับเข้ามาเช่นกัน พร้อมหอบหิ้วสัมภาระที่จำเป็นในการดำรงชีพกลับมาด้วย

นอกจากนี้ทางด่านตรวจคนเข้าเมืองได้มีการยกเว้นค่าสงวนสิทธิ์วีซ่า ตามมติคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องชำระเงินคนละ 1,200 บาท สร้างความพอใจให้กับแรงงานชาวลาวเป็นอย่างมาก เป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย และยังได้กำชับให้เดินทางกลับตามระยะเวลากฎหมายกำหนด ภายใน 15 พ.ค. 2567

ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ทั้งด่านตรวจสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ต้องคุมเข้ม การนำสินค้าต้องห้ามเข้ามาโดยเฉพาะเนื้อสดต่างๆ พร้อมตรวจค้นสิ่งผิดกฎหมาย รวมไปถึงป้องปรามการนำเข้ายาเสพติดทุกชนิดที่จะอาศัยช่วงเจ้าหน้าที่ผ่อนปรนให้ลักลอบนำกลับเข้ามาด้วย โดยชาวลาวหลายคนบอกว่าที่ต้องกลับหลังเทศกาลสงกรานต์ก็เพราะเดินทางสะดวก ไม่ต้องไปรอเข้าคิวซื้อตั๋วหรือรอนั่งรถเป็นเวลานานๆ อีกทั้งรถก็ไม่ติดด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 17/4/2567 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net