Skip to main content
sharethis

คดีชาวกัมพูชาฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าเสียหายบริษัทมิตรผล ดำเนินมาถึงปีที่ 5 โดยล่าสุดศาลเลื่อนวันนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน โดยให้ทนายฝ่ายโจทก์และจำเลยกลับไปรวบรวมและแปลเอกสารใหม่ในวันที่ 27 มี.ค. 2567 โดยกำชับคู่ความทั้งสองฝ่ายว่ามีเอกสารเท่าไหร่จะใช้สืบพยานเท่านั้น

ทีมทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม และตัวแทนของชาวบ้านกัมพูชา เดินทางมาที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ตามที่ผู้พิพากษานัดพร้อมเพื่อตรวจสอบเอกสารในคดีหมายเลขดำที่ พ 718/2561 เมื่อ 6 พ.ย. 2566 (ภาพ: บุรพัฒน์ จันทร์ประทัด)

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ทนายฝ่ายโจทก์ที่เป็นชาวบ้านกัมพูชา (ภาพ: บุรพัฒน์ จันทร์ประทัด)

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 ช่วงบ่ายที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผู้พิพากษานัดพร้อมเพื่อตรวจสอบเอกสาร ในคดีหมายเลขดำที่ พ 718/2561 ที่นางฮอย ไมกับพวกรวม 2 คน เป็นโจทก์ และ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เป็นจำเลย

ทนายโจทก์-จำเลยขอรวบรวม-แปลเอกสาร ศาลอนุญาตเลื่อนตรวจพยานเอกสารใหม่ 27 มี.ค. 2567

โดยทนายโจทก์แถลงว่าเอกสารต่างประเทศที่จะต้องออกหมายเรียกที่จะนำมาส่งศาลจะต้องมีการแปลเป็นภาษาไทย และเอกสารต่างประเทศที่ได้รับมาจากศาลประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับมาแล้วแต่อยู่ในระหว่างการแปลเอกสารซึ่งสามารถรวบรวมพยานเอกสารเพื่อจะนำส่งศาลทั้งหมดได้ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ทนายจำเลยแถลงศาลว่าฝ่ายจำเลยรอหนังสือทางราชการจากประเทศกัมพูชา รวมทั้งคำพิพากษาและสัญญาสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชา ต้องใช้เวลาในการรวบรวมและแปลเอกสารดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เช่นกัน คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงขอเลื่อนการพิจารณาออกไปสักนัดหนึ่ง

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เอกสารที่ทางฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยกล่าวอ้างนั้นเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการสืบพยานของทั้งสองฝ่าย โดยอนุญาตเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานเอกสารทั้งสองฝ่ายใหม่ในวันที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ทั้งนี้ศาลกำชับคู่ความทั้งสองฝ่ายหากถึงวันนัดหน้า มีเอกสารเพียงเท่าใดให้ถือว่าทั้งสองฝ่ายประสงค์ใช้เอกสารที่มีในวันนัดใช้ในการสืบพยานของฝ่ายตน

ด้าน ส. รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) และทนายโจทก์ กล่าวว่า “มีเอกสารที่จะต้องจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยทั้งหมดในช่วงกุมภาพันธ์ 2567 และสามารถส่งศาลได้ ศาลจึงกำหนดวันนัดเป็น 27 มีนาคม 2567 ซึ่งศาลกำชับว่าหากเอกสารมีเท่าไหร่ส่งมาศาลจะรับไว้เท่านั้น จะถือว่าเอกสารอื่นที่ไม่ได้ส่งไว้ จะไม่รับเข้ามาในสำนวน ถือว่าเป็นวันนัดสุดท้ายของการตรวจพยานหลักฐาน"

ทั้งนี้ทนายจำเลยไม่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

ในวันเดียวกัน (6 พ.ย. 2566) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ได้ยื่นหนังสือเพื่อนศาล (Amicus Curiae Brief) ในคดีหมายเลขดำที่ พ. 718/2561 ดังกล่าว เสมือนให้คำแนะนำข้อกฎหมายไปยังองค์คณะที่พิจารณาคดีอีกด้วย

ฟ้องคดีข้ามแดนแบบกลุ่มคดีแรกที่ศาลไทย หลังชาวบ้านกัมพูชาถูกไล่รื้อที่ดินเพื่อปลูกอ้อย

ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ (ภาพ: บุรพัฒน์ จันทร์ประทัด)

สำหรับคดีดังกล่าวเริ่มฟ้องมาตั้งแต่ปี 2561 โดยเป็นการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ที่ศาลแพ่ง โดยเป็นกรณีที่นางฮอย ไม (Hoy Mai) และนายสมิน เต็ต (Smin Tet) รวมกับชาวบ้าน 23 ครอบครัว จาก 700 ครอบครัวจาก หมู่บ้านบอส (Bos) หมู่บ้านโอบัดมวน (O'Bat Moan) หมู่บ้านตะมาน (Taman) หมู่บ้านตะเพียนเวง (Trapain Veng) หมู่บ้านคะตุม (Ktum) และคอมมูนคุนเครียล (Kon Kreal Commune) อำเภอสำโรง (Samrong) จังหวัดอุดรมีชัย หรือโอดอร์ เมียนเจย (Oddar Meanchey) ทางตะวันตกของประเทศกัมพูชา ที่ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท มิตรผล จำกัด เป็นจำเลย เนื่องจากถูกละเมิดสิทธิจากการประกอบกิจการของบริษัท อังกอร์ ชูการ์ บริษัทลูกของบริษัทมิตรผล โดยเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองและสมาชิกกลุ่มรวม 23 ครอบครัว เป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป

โดยฝ่ายโจทก์ได้ฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายต่อชีวิตร่างกายเป็นค่าพยาบาลและสถานพยาบาล ค่าเสียหายต่อทรัพย์สินที่เป็นบ้านและพืชผลจากถูกเผาทำลาย และยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เหตุจากการสัมปทานในการทำไร่อ้อยจากรัฐบาลกัมพูชาที่มีนโยบายให้เอกชนเข้าไปใช้ที่ดินที่ซ้อนทับกับที่อยู่และที่ทำกินของชาวบ้าน

ฝ่ายโจทก์ที่ฟ้องละเมิดดังกล่าว นับเป็นคดีแรกในกระบวนการยุติธรรมไทยที่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อบริษัทข้ามชาติไทยที่ลงทุนและเกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ

เหตุเกิดเมื่อ 16 ปีก่อน ล่าสุดคดีไปถึงไหน?

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อชาวกัมพูชาใน อำเภอสำโรง และอำเภอจงกัล จังหวัดอุดรมีชัย หรือโอดอร์ เมียนเจย ดังกล่าว ร้องเรียนว่าบริษัทในเครือมิตรผลได้บีบให้ครอบครัวของพวกเขาต้องออกจากที่ดินจนไร้ที่อยู่ในช่วงปี 2551-2552 เพื่อแปลงสภาพเป็นไร่อ้อยขนาดใหญ่ที่จะส่งให้กับโรงงานบริษัทลูกของมิตรผลรวมถึงบริษัทน้ำตาลอังกอร์ รวม 3 บริษัท ใช้ที่ดินจำนวน 19,736 เฮคตาร์ (123,350 ไร่) ในจำนวนนั้นมีผืนป่าชุมชนที่ชาวบ้าน 26 หมู่บ้านบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งในท้ายที่สุดโครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทลูกของมิตรผลปิดตัวลง แต่ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบจนถึงปัจจุบัน โดยศาลรับฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มเมื่อ 31 กรกฎาคม 2563

กสม.เคยออกรายงานในปี 2558 แนะนำมิตรผลให้ชดเชยเยียวยา

ในปี 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแห่งประเทศไทย (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียน และต่อมา กสม. ออกรายงานว่ามิตรผลมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อการกระทำที่เกิดขึ้นในกัมพูชา และมีข้อเสนอแนะให้ชดเชยเยียวยาให้กับเหยื่อ

ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีนี้ โดยในรายงานผลการตรวจสอบที่ 1003/2558, ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2558 ระบุคำกล่าวอ้างของชาวบ้านว่าบริษัทตัวแทนของมิตรผลได้มีการยึดครองที่ดินของคนในท้องถิ่นอย่างผิดกฎหมาย โดยการพังทลายบ้านเรือนและฆ่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน มีการลอบวางเพลิงหมู่บ้าน และการทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารเสียหาย

ทั้งนี้มิตรผลนับเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศและอันดับ 3 ของโลก โดยมีนายอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล อีกทั้งยังเป็นอดีตประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

คำชี้แจงของมิตรผลต่อ กสม. ระบุว่า โครงการลงทุนของกลุ่มมิตรผลในกัมพูชา ได้ลงทุนโดยตรง 1 บริษัท และลงทุนรวมกับบริษัทอื่นอีก 2 บริษัท โดยได้รับสัมปทานที่ดินประมาณ 110,000 ไร่ ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลไม่สนับสนุนการบุกรุกพื้นที่ครอบครองของผู้อื่น รวมทั้งการบังคับไล่ที่หรือการทำลายทรัพย์สินของผู้ใด และการลงทุนของกลุ่มมิตรผลในประเทศกัมพูชาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายของประเทศกัมพูชาทุกขั้นตอน รวมทั้งยังสอดคล้องกับหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยข้อตกลงตามสัญญานั้น รัฐบาลกัมพูชาจะเป็นผู้ทำการสำรวจและจัดสรรที่ดินสัมปทานเพื่อการเกษตรให้แก่กลุ่มมิตรผล และหากจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้เจรจาจนได้ข้อยุติ

ต่อมา มิตรผลตัดสินใจที่จะยุติโครงการดังกล่าวในปี 2557 และได้คืนพื้นที่สัมปทานให้แก่รัฐบาล และทางมิตรผลยังได้แนะนำรัฐบาลกัมพูชาให้คืนสิทธิในที่ดินแก่ชาวบ้าน แต่ทนายของชาวบ้านบอกว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับที่ดินผืนเดิมคืนจากรัฐบาล

ในรายงานของบีบีซีไทยเมื่อปี 2561 บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เคยชี้แจงผ่านอีเมลระบุว่า ในโครงการนี้มิตรผลเข้าไปลงทุนด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชา และได้รับสัมปทานชั่วคราวจากรัฐบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมายระดับประเทศและระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าพื้นที่สัมปทานชั่วคราวนั้นได้มาอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย

5 ปีเส้นทางต่อสู้คดีข้ามแดนแบบกลุ่ม

สำหรับขั้นตอนการต่อสู้ทางคดีที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2561 นั้น ในเวลาต่อมา สำนักข่าว Green News รายงานว่าที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลรับฟ้องแบบกลุ่มโดยอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 หลังจากก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้รับพิจารณาแบบกลุ่ม โดยศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วได้ความว่า เหตุที่เกิดความเสียหายกับบ้านเรือนและทรัพย์สินของสมาชิกกลุ่มบางส่วนรวม 23 ครอบครัว จาก 700 ครอบครัว ถือเป็นการละเมิดต่อกลุ่มบุคคลอย่างเดียวกัน และเป็นการเฉพาะกลุ่มโดยมีข้อเรียกร้องอย่างเดียวกัน แม้ความเสียหายจะแตกต่างกันแต่การฟ้องคดีแบบกลุ่มเป็นไปเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ตลอดทั้งป้องกันความซ้ำซ้อนในการดำเนินคดีและความขัดแย้งต่อคำพิพากษา

สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ กรณีที่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น หลังจากที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมายว่า คดีนี้ฟ้องเมื่อขาดอายุความหนึ่งปีตามกฎหมายประเทศไทย ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดก่อนสืบพยาน โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้สืบพยานโจทก์จำเลยแล้วเสร็จก่อน จึงให้ยกคำร้อง และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเช่นกันว่าที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net