Skip to main content
sharethis
  • เครือข่ายแรงงานฯ ยื่นหนังสือถึง 'พิพัฒน์' รมว.แรงงาน แก้ระเบียบเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ไม่เลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกคน ไม่ให้กระทบการเลือกตั้งฯ ที่จะถึงนี้ 
  • อนึ่ง เลือกตั้งบอร์ดฯ จะจัดในวันที่ 24 ธ.ค. 66 และเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเลือกตั้งฯ ระหว่าง 11-31 ต.ค. 66


สืบเนื่องจากสำนักงานประกันสังคมได้ประกาศวันเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 ตรงกับวันที่ 24 ธ.ค. 2566 และเชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนเลือกตั้ง ระหว่าง 11-31 ต.ค. 2566 

29 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (29 ก.ย.) ว่า เมื่อเวลา 9.00-10.00 น. ที่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เครือข่ายแรงงานประกันสังคม นำโดย ธนพร วิจันทร์ ยื่นหนังสือถึง พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอให้เร่งแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 ที่ขัดแย้งกฎหมายตัดสิทธิผู้ประกันสนในการมีส่วนร่วม 

โดยมี บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับมอบหนังสือ แทน พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงาน ประกาศระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 เมื่อ 28 มิ.ย. 2564 มาตรา 8 ที่กำหนดให้คำนึงถึงการมีส่วมร่วมอย่างแท้จริง สัดส่วนหญิง และชาย คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส 

ระเบียบดังกล่าวมีกำหนดให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งฯ 1. ต้องเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 สัญชาติไทยเท่านั้น 2. ระเบียบระบุต่อว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง หรือผู้ประกันตน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน 3. จ่ายสมทบผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายในระยะเวลา 6 เดือน 4. ลงทะเบียนเลือกตั้ง และ 5. สามารถเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้

เครือข่ายฯ ชี้ว่า การกำหนดระเบียบดังกล่าวอาจจะเป็นการตัดสิทธิผู้ประกันตนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ซึ่งมีทั้งหมดเกือบ 1 ล้านคน ไม่มีสิทธิการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ทั้งที่จ่ายสมทบเหมือนกับคนไทย ซึ่งประเด็นนี้อาจเข้าข่ายเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 และพันธะกรณีอื่นๆ ที่ไทยไปลงนาม

นอกจากนี้ ระเบียบเลือกตั้งที่มีปัญหาอีกข้อคือ ข้อที่ระบุว่ากำหนดว่าให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง หรือผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ต้องมีการส่งเงินสมทบ "ติดต่อกัน" ไม่น้อยกว่า 36 เดือนนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งนั้น ซึ่งเครือข่ายฯ มองว่า การตั้งเงื่อนไขแบบนี้ทำให้ลูกจ้าง หรือแรงงาน ที่ถูกเลิกจ้างจำนวนมากช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโคโรนาไวรัส 2019 (พ.ศ. 2563-2565) ส่งผลให้พวกเขาอาจจะขาดส่งสมทบอย่างต่อเนื่อง และทำให้ขาดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง

ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานฯ เพื่อมิให้เป็นการเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติ และคำนึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 และหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม เพื่อไม่กระทบต่อกำหนดการเลือกตั้ง และทางเครือข่ายฯ ยินดีสนับสนุนและหารือเพื่อให้ข้อเรียกร้องบรรลุผล 

อนึ่ง ข้อมูลผู้ประกันตนเมื่อ ก.ย. 2564 ระบุว่า กองทุนประกันสังคมมีผู้ประกันจำแนกตามมาตรา มาตรา 33 มีทั้งหมดประมาณ 11 ล้านคน เป็นคนสัญชาติไทย 10 ล้านคน และสัญชาติอื่นอีกเกือบหนึ่งล้านคน มาตรา 39 มีทั้งหมดเกือบ 2 ล้านคน เป็นคนสัญชาติไทยทั้งหมด  และมาตรา 40 มีทั้งหมดกว่า 10 ล้านคน เป็นคนสัญชาติไทยทั้งหมด

รายละเอียดหนังสือ

เรื่อง ขอให้เร่งแก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 ที่ขัดแย้งกฎหมาย ตัดสิทธิผู้ประกันตนในการมีส่วนร่วม

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 

สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาตรา 8 กำหนด 

"ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการประกันสังคม" ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสํานักงบประมาณเป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละเจ็ดคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ

ให้เลขาธิการเป็นกรรมการ และเลขานุการ

ให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกําหนด

และต่อมา ได้มีการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 ประกาศเมื่อ วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ออกตามมาตรา 8 ที่กำหนดให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สัดส่วนหญิงชาย คนพิการและผู้ด้อยโอกาส กลับตัดสิทธิผู้ประกันตนเกือบล้านคนไม่ให้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้แทนผู้ประกันตน รวมถึงการสมัครเป็นผู้แทนผู้ประกันตน

การตัดสิทธิผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยเกือบล้านคนที่จ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมในแต่ละเดือนไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยได้กำหนดไว้ในหมวด 2 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ข้อที่ 16 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติ 

(1) มีสัญชาติไทย ซึ่งภายใต้กฎหมายประกันสังคมในปัจจุบันครอบคลุมทุกคนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ไม่ได้กำหนดเงื่อนการเป็นผู้ประกันตนว่าจะต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น

(2) ขึ้นทะเบียนนายจ้างหรือผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือน 

(3) จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในระยะเวลาหกเดือนก่อนเดือนมีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง 

(4) ได้ลงทะเบียนเพื่อจะใช้สิทธิเลือกตั้ง และ 

(5) กำหนดให้มีการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อผู้มีสิทธิ 

โดยที่ข้อเท็จจริงพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ไม่ได้ได้กำหนดให้ผู้ประกันตนต้องมีสัญชาติ ไทยจึงทำให้ผู้ประกันตนมีทั้งคนสัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศเป็นเป็นสมาชิกอยู่ด้วย โดยข้อมูลใน เดือนกันยายน 2564 กองทุนประกันสังคมมีผู้ประกันจำแนกตามมาตรา มาตรา 33 มีทั้งหมดประมาณ 11 ล้านคน เป็นคนสัญชาติไทย 10 ล้านคน และสัญชาติอื่นอีกเกือบหนึ่งล้านคน  มาตรา 39 มีทั้งหมดเกือบ 2 ล้านคน เป็นคนสัญชาติไทยทั้งหมด  และมาตรา 40 มีทั้งหมดกว่า 10 ล้านคน เป็นคนสัญชาติไทยทั้งหมด 

2. การกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 36 เดือน ในหมวด 3 การสมัครรับเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ข้อ 24 นั้น ที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง หรือผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ต้องมีการส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามสิบหกเดือนนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่เพิ่งผ่านการระบาดของโควิด19 มีการปลดคนงานออกเป็นจำนวนมาก สถานประกอบการการหลายแห่งมีการปิดกิจการชั่วคราว ทำให้การส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมขาดความต่อเนื่อง

ดังนั้นระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 จึงอาจเป็นการบัญญัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ 

จึงเรียนมายังรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานฯ เพื่อมิให้เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม คำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตามที่รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม ให้การรับรองและคุ้มครองโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่กระทบต่อกำหนดการเลือกตั้ง โดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนมีความยินดีในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้บรรลุข้อเรียกร้อง

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน    

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บุญยืน สุขใหม่ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก

ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง        

ลักษมี สุวรรณภักดี สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเครื่องหนังแห่งประเทศไทย

ชลิต รัษฐปานะ สหภาพคนทำงาน

ศิววงศ์ สุขทวี เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net